วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ...ฝาดดอกแดง

ฝาดดอกแดง



ฝาดดอกแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์: Lumnitzera littorea (Jack) Voigt
ชื่อพื้นเมือง: ฝาดดอกแดง
ชื่ออื่น ตำเสาทะเล (พังงา, กระบี่, ตรัง)
วงศ์ COMBRETACEAE



ฝาดดอกแดง เป็นไม้ต้นขนาดกลาง - ใหญ่ สูง 10 - 30 เมตร ราก มีรากพิเศษออกตามลำต้น เป็นรากหายใจรูปคล้ายเข่า





ลำต้น
เปลือกสีน้ำตาล มีรอยแตกเป็นร่องลึก เปลือกในสีแดงเข้ม หรือ สีส้ม





ใบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียนรอบกิ่ง หนาแน่นที่ปลายกิ่ง แผ่นใบหนา รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน ฐานใบรูปลิ่ม ขอบใบหยักมน มีต่อมขนาดเล็ก ปลายใบกลม เว้าตื้น ก้านใบสั้น ใบสีเขียวเข้ม



ดอก
สมบูรณ์เพศ ออกปลายกิ่ง ช่อกระจะ แต่ละช่อยาว 2 - 5 เซนติเมตร มีดอก 5 - 15 ดอกฐานรองดอกเป็นหลอด แบนด้านข้าง ใต้ส่วนปลายคอดเล็กน้อย แล้วกว้างออกไปทางกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่กว้าง สีเขียว ขอบกลีบมีขน มีใบประดับย่อย 2 ใบ ขนาดเล็ก กลีบดอก 5 กลีบ รูปรีแกมรูปขอบขนาน สีแดง แต่ละกลีบไม่ติดกัน เกสรเพศผู้ 10 อัน ยาวเป็น สองเท่าของกลีบดอก เกสรเพศเมีย มีรังไข่ใต้วงกลีบ 1 อัน ภายในมี 4 - 5 ห้อง เชื่อมรวมกันเป็นสันออกมา เท่าจำนวนกลีบเลี้ยง และเรียงตัวสลับกับตำแหน่งของกลีบเลี้ยง ก้านเกสรยาว มีเม็ดไข่ 2 - 5 เม็ด



ผล
ผลฝาดดอกแดงเป็นรูปกระสวย ป่องตรงกลาง มีสันตามยาวเล็กน้อย ผลแก่สีน้ำตาลแดง



ฝาดดอกแดง เจริญเติบโตได้ดีบริเวณด้านในของป่าชายเลน ที่เป็นดินร่วนและมีความเค็มน้อย และมักพบขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณปากแม่น้ำ ที่เป็นดินเลนแข็ง หรือ ดินทราย ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่มีลำต้นขนาดเล็ก
ออกดอก ผลเดือนพฤศจิกายน - เมษายน



ประโยชน์
เนื้อไม้ใช้สร้างบ้านเรือน ทำฟืน ทำถ่าน เปลือก นำมาทุบแช่น้ำให้สีฝาด ย้อมผ้า ย้อมจีวรพระสงฆ์



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com
http://www.aquatoyou.com




เราคงเคยได้ยินว่ามีผ้าไตร ของพระภิกษุสงฆ์เป็นสีฝาด เป็นสีที่มาต้นฝาดดอกแดงนั่นเอง ยังมีสีกลัก ( ออกคล้ำๆ แบบพระป่า) สีแก่นขนุนอีก (ปัจจุบันก็เพิ่มคำว่าสีราษฎร์ เพิ่มขึ้นมาอีกสี ) ในสมัยโบราณ พระภิกษุจะย้อมจีวรด้วยสีธรรมชาติจากแก่นไม้เหล่านี้ แต่ในปัจจุบันเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุในในกระป๋อง แต่พระภิกษุสงฆ์ ก็ยังต้องหมั่นย้อมชุด สบงจีวร และอื่น ๆ อีก เป็นระยะ ๆ



มิหนำซ้ำปัจจุบันพวกลูกศิษย์ลูกหาก็แสวงหาผ้าไครที่คิดว่าเหมาะ ดี สำหรับพระอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ มีผ้าไตรเป็นผ้าไหม (ซึ่งก็ต้องมีการย้อมสีเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ เช่นกัน) ราคาประมาณสองหมื่นบาทบวกลบ และล่าสุดพลอยโพยมทราบมาว่า ที่ประเทศพม่า มีการนำใยบัวจากก้านบัวมาทำเป็นเส้น(แบบไหมหรือฝ้าย) ย้อมและทอ ผ้าไตรด้วยมือ เป็นผ้าไตรที่มีราคาน่าตกใจ ชุดละ ประมาณ เกือบหนึ่งแสนบาท ( เก้าหมื่นแปดพันกว่าบาท) แต่คนที่ทอผ้าไตรใยก้านบัวนี้ สามารถทำได้ปีละเพียง 1 ชุดผ้าไตร เท่านั้น การทำลำบากมาก หากคิดว่าทำด้วยความศรัทธาและเลื่อมใส ก็น่าอนุโมทนาบุญ เป็นที่กล่าวขวัญว่า ผ้าใยบัวนี้ใส่แล้วไม่ร้อนไม่ยับ แต่พลอยโพยมลองเอามือลูบ ๆ คลำ ๆ ดู รู้สึกว่า เนื้อผ้าออกจะกระด้าง แต่ถ้าผ่านการซักแล้วน่าจะนุ่มนวลขึ้น

ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ก็มีผ้าใยสับปะรดที่ค่อนข่างฮิตเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ซึ่งพลอยโพยมรู้สึกว่าใส่แล้วสวยงามดี (เพราะมีลายปัก) แต่ใส่แล้วไม่สบายตัวอีกเข่นกัน สู้ผ้าฝ้ายไทยไม่ได้
ขออภัยที่ออกนอกเรื่องไปเสียไกลจากต้นฝาดดอกแดงเสียแล้ว (พลอยโพยมค่อนข้างเถลไถล แวะที่โน่นที่นี่อยู่เป็นประจำ) และความงามของดอกบัวจะข่มความงามของดอกฝาดแดงไหมละนี่ ( ทั้ง ๆ ที ฝีมือถ่ายภาพ ไม่ค่อยได้เรื่อง ทั้ง 2 ประเภทดอกไม้ )

ยังมีพรรณไม้ฝาดดอกขาวอีกขนิดหนึ่ง ฝาดดอกแดงเป็นพันธุ์ไม้ชายเลนที่ไม่มีที่ตำบลบางกรูด ตอนสมัยเด็ก ๆ พลอยโพยมไม่รู้จักต้นฝาด ต่อมาก็ได้พบต้นฝาดดอกขาวและดอกแดงที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชายฝั่งฉะเชิงเทรา ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสถานีประมงฉะเชิงเทรา และได้ต้นเล็กมาปลูกใส่กระถาง ไว้ 2 ต้น ก่อนที่จะฮิตกันที่ตลาดจตุจักร ราคาแพงหลายร้อยบาท ตามขนาดของต้นมีราคาถึง 500 บาท ซึ่งต้นไม่ใหญ่นัก พอหวนกลับมาดูต้นที่ปลูกไว้พบว่าเหี่ยวแห้งตายไป 1 ต้น อีกต้นมีลักษณะแกรน แต่กลายเป็นของดีเพราะมีคนกำลังนิยมเอาต้นฝาดดอกแดงมาเลี้ยงให้เป็นบอนไซ พลอยโพยมก็กลับมาประคบประหงมต้นฝาดดอกแดงที่ยังเหลือรอดอยู่ แต่ผลที่สุดก็ตายไปเช่นเดียวกับต้นแรก







แล้วพลอยโพยม ก็หามาปลูกใหม่เป็นต้นที่สาม สาเหตุที่ปลูกใส่กระถางก็เพื่อจะได้อยู่ใกล้บ้านดูแลรดน้ำได้ ฝาดดอกแดงต้นที่สาม กำลังประท้วงพลอยโพยมกิ่งก้านเกะกะสูงชลูด เพื่อร้องขอว่าปล่อยฉันออกจากกระถางเอาไปลงดินที่กว้าง ๆ หน่อยเถิด พยายามจะถ่ายลักษณะต้นก็ไม่มีมุมให้ถ่ายภาพได้ แต่น้องขายเขาปลูกใส่กระถาง และคอยตัดแต่งกิ่งเสมอ ๆ ทำให้ต้นฝาดดอกแดงมีทรงพุ่มที่สวยงาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น