วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2555

พรรณไม้น้ำ...ตาตุ่มทะเล

ตาตุ่มทะเล



ตาตุ่มทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์: Excoecaria agallocha L.
ชื่อพื้นเมือง: ตาตุ่มทะเล ชื่ออื่น : ตาตุ่ม (กลาง): บูตอ (มลายู-ปัตตานี)
วงศ์ EUPHORBIACEAE




ตาตุ่มทะเล เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดเล็ก - ขนาดกลาง ต้นแยกเพศ สูง 5 - 10 เมตร ผลัดใบในฤดูแล้ง




ลำต้น
ลักษณะต้นส่วนมากตรง เป็นตุ่มเป็นตา ปุ่มกระจายทั่วลำต้น มักแตกกิ่งในระดับต่ำ บางครั้งดูคล้ายไม้พุ่ม เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลอมเทา เมื่อหักหรือทำให้เป็นแผล มียางสีขาวไหลออกมามาก





ใบ
เป็นใบเดี่ยว ติดเรียงสลับ รูปรี หรือ รูปไข่แกมรีถึงรูปไข่กลับ ฐานใบมน ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบเรียวแหลมมน ก้านใบเรียวยาว ใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน แผ่นใบนิ่มคล้ายหนัง มีสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบแก่จัดใกล้ร่วง จะเปลี่ยนเป็นสีแดงเหลืองทั้งต้น




ดอก
แยกเพศต่างต้น ดอกเพศผู้เป็นช่อแยกแขนง ตามง่ามใบ มีขนาดเล็กมาก ติดกันเป็นกระจุก ช่อดอก ดอกสีเหลืองแกมเขียว เกสรเพศผู้ 5 – 10 อัน อับเรณูเปิดโดย รอยแยก ดอกเพศเมีย เกสรเพศเมีย 3 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ ภายในมี 3 ห้อง เชื่อมติดกันแต่ละห้องมีเม็ดไข่ 1 – 2 เม็ด
ผล แบบผลแห้งแตก ขนาดเล็ก มี 3 พู รูปเกือบกลมด้านแนวนอนยาวกว่าแนวตั้ง ผลเกลี้ยงสีเขียวถึงน้ำตาลเข้ม เมล็ดเกือบกลม สีดำ
ออกดอก-ผลเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน



ลักษณะเด่น ใบมีหลายสีปะปนกันบนต้นเดียวกัน เมื่อทำให้ต้นเป็นแผลมียางไหลออกมา
ตาตุ่มทะเลพบทั่วไปในที่โล่งด้านหลังป่าชายเลน หรือ ตามชายฝั่ง ตามริมแม่น้ำที่เป็นพื้นที่สูงที่มีดินเลนปนทราย หรือ ดินเลนค่อนข้างแข็งค่อนข้างแข็ง และน้ำท่วมถึงเมื่อน้ำขึ้นสูง




ประโยชน์
เนื้อไม้นำมาเผา และควันที่เกิดจากการเผาใช้รักษาโรคเรื้อน
แก่นไม้ใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงยาช่วยในการขับลมแก้ไข้ลม กัดเสมหะ
รากใช้ตำผสมกับขิงทำเป็นยาพอก หรือ ยาทาแก้อาการบวมตามมือ และเท้า
หรือ นำรากมาฝนทาแก้บวมแก้คัน ยางใช้ทารักษาโรคโลน สังคัง
ยางต้มกับน้ำมันพืชใช้ทาแก้โรคเรื้อน ทาถูนวดแก้ปวดตามข้อ และอัมพาต
กินยางของตาตุ่มทะเลในจำนวนน้อยจะเป็นยาถ่าย ใบแก้ลมบ้าหมู




ข้อควรระวัง
ยางของตาตุ่มทะเลมีสารพิษ หากเข้าตาอาจจะทำให้ปวดอักเสบมาก อาจทำให้ ตาบอด หรือ ยางนี้ถูกตามผิวหนัง อาจจะทำให้เกิดอาการเป็นผื่นคัน หรือ บวม หรือ หากจะกินเข้าไปจะทำให้ท้องเสียอย่างรุนแรงถึงตาย วิธีแก้พิษดื่มน้ำมะพร้าว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://tanhakit.blogspot.com
http://www.aquatoyou.com





ลักษณะใบของตาตุ่มทะเล มีความละม้ายคล้ายของใบไทร ในสมัยเด็กพลอยโพยมไม่ได้สนใจต้นตาตุ่มทะเล คิดว่าเป็นต้นไทร จึงไม่คุ้นเคยกับต้นตาตุ่มทะเล คนข้างตัวพลอยโพยมบอกว่า เลยจากปากแม่น้ำที่อ่าวทะเลเข้ามา ต้นตาตุ่มทะเลก็จะพบเห็นได้น้อยลงตามระดับความเค็มของน้ำ....และต้นตาตุ่มทะเลจะอยู่ลึกจากชายฝั่ง เป็นชายฝั่งชั้นบน ที่ตำบลบางกรูดพอมีต้นตาตุ่มทะเลอยู่บ้างบ้างแต่ไม่พบบ่อยนัก





ตอนพลอยโพยมดึงวัชพืขที่ปกคลุมต้นตาตุ่มทะเลออก ก็ได้รับคำเตือนว่าให้ระวังหากมีกิ่งหรือใบของตาตุ่มทะเลหักหรือขาดหรือหลุดจากต้นและกิ่ง จะมียางไหลออกมาหากเปื้อนมือแล้วลืมล้างออกหรือยังไม่ทันล้างแล้วไปเผลอหยิบอะไรเข้าปาก ยางของตาตุ่มทะเลที่ติดมืออยู่จะทำให้ถ่ายท้องรุนแรง ( อาการหนักหนาสาหัสกว่าท้องเสีย) เพราะยางมีสารพิษนั่นเองที่คนเล่าจำชื่อสารพิษนั้นไม่ได้ รู้แต่ผลที่ได้รับจากสารพิษ ฟังยังไม่จบเรื่องราวดี มือพลอยโพยมก็เปื้อนยางตาตุ่มทะเล โชคดีที่ไม่แพ้ยางเกิดอาการคันหรือมีอาการบวมแต่อย่างใด และพลอยโพยมก็เชื่อฟังคำเตือน คือล้างมือด้วยน้ำ




ยังมีเรื่องเล่าต่อที่บ้านว่า พวกสัตว์น้ำที่กินซากพืช เช่นปูแสม หรือปูทะเล ที่มีรูอยู่อาศัยใกล้ต้นตาตุ่มทะเล หลังจากกินซากพืชของต้นตาตุ่มทะเลแล้ว ปูเหล่านี้ไม่ได้รับผลอะไร แต่มีการสะสมสารพิษไว้ในตัว เมื่อถูกมนุษย์จับมากินพิษที่สะสมไว้ในตัวปูก็จะออกฤทธิ์กับมนุษย์หรือสัตว์อื่นในลำดับที่สอง ( ปูเป็นลำดับที่หนึ่งที่รับสารพิษแต่ไม่เกิดอันตราย) จะมีอาการท้องเสียในระดับถ่ายท้อง บางครังก็มีข่าวว่ามีคนกินปูแสม ปูทะเลแล้วถ่ายท้องพากันโทษว่า ปูไม่สะอาด ไม่สด ซึ่งที่จริงก็อาจมีสาเหตุมาจากปูกินซากพืชของต้นตาตุ่มทะเลด้วยก็เป็นได้




อีกประเด็นคือหากชาวประมงเอาต้นตาตุ่มทะเลไปเป็นหลักผูกเลี้ยงหอยแมลงภู่ในทะเล หากบริโภคหอยแมลงภู่จากหลักไม้ตาตุ่มทะเล ก็จะเกิดอาการถ่ายท้องด้วยเช่นกัน สรรพคุณทางสมุนไพรนี้เป็นยาสั่งทำอันตรายผู้คน อย่าง ง่าย ๆ แค่มียางของตาตุ่มทะเลอยู่ในน้ำซาวข้าว ผู้คนก็ถูกยาสั่งตาตุ่มทะเลไปเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น