มัจฉา...เริงร่าธาร ...เมื่อวานวัน
(แก้ไขใหม่) 29 มีนาคม 2555
ปลากราย
กาพย์ยานี ๑๑
ปลากรายว่ายเคียงคู่
เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่
เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
กาพย์เห่เรือ ตอนเห่ชมปลา พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐสุริยวงศ์
ปลากราย เคยเริงร่าในลำน้ำมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา จวบมาจนเพลานี้ก็ยังพอที่จะกล่าวว่า ...ยังมีอยู่ทั่วแคว้นแดนไทย..
ปลากราย
ปลากราย
ชื่อสามัญ กราย ตองกราย หางแพน
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Knife Fish , Spotted Knife Fish , Featherback
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala ornata
อยู่ในวงศ์ปลากราย Notopteridae
ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่มีรูปร่างแปลกกว่าปลาอื่น คือ ลำตัวด้านข้างแบนมากและยาว ยาวเรียวไปทางส่วนหางคล้ายมีด หัวเล็กเว้าตรงต้นคอ (ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังจึงโก่งสูง) ส่วนหลังโค้ง ปากค่อนข้างกว้าง มุมปากอยู่เลยขอบหลังลูกตา จะงอยปากสั้นทู่ นัยน์ตาเล็ก ท้องแบนเป็นสันมีหนามแหลมแข็งฝังอยู่เป็นคู่ ๆ จำนวนหลายคู่ มีฟันเล็กและแหลมอยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง
ลำตัวมีสีเงินหรือสีเงินปนเทา ลำตัวด้านหลังมีสีคล้ำ ส่วนด้านหน้าท้องสีจาง บริเวณลำตัวถึงหางมีจุดสีดำขอบสีขาวเรียงรายกันประมาณ 5-10 จุด ซึ่งมีจำนวนและขนาดแตกต่างกันออกไปในแต่ละตัว ปลากรายขนาดเล็กคล้ายปลาสลาด สีเป็นลายเสือแต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงิน ยังไม่มีจุดดำปรากฏแต่มีลายสีดำพาดขวางลำตัวแทน
ครีบก้นกับครีบหางเชื่อมติดต่อถึง กล้ามเนื้อบริเวณเหนือครีบก้นเรียกว่า" เชิงปลากราย " ครีบหลังมีขนาดเล็กอยู่ตรงกลางลำตัว ครีบอก 2 ข้างขนาดไม่ใหญ่นัก ครีบท้องเล็กมาก มีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจจึงสามารถทนในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้
นิสัยของปลากราย ชอบอยู่รวมเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามบริเวณกิ่งไม้ใต้น้ำหรือบริเวณที่มีพืชน้ำขึ้นหนาแน่น ตอไม้ หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมากจึงมักออกหากินในเวลากลางคืน ชอบผุดขึ้นมาทำเสียงที่ผิวน้ำแล้วม้วนตัวกลับให้เห็นข้างสีเงินขาว
ในฤดูวางไข่ประมาณเดือนมีนาคม-ตุลาคม แม่ปลาจะวางไข่ติดกับเสาหลักตอไม้ หรือก้อนหินในน้ำ จากนั้นทั้งพ่อและแม่ปลา จะช่วยกันดูแลไข่ โดยการโบกแพนหางเฝ้าไข่ไม่ยอมให้ศัตรูเข้ามาใกล้ ปลากรายระยะนี้จึงค่อนข้างดุร้าย
ถิ่นอาศัย พบทั่วไปในแหล่งน้ำทั้งแหล่งน้ำนิ่งตามหนองบึงขนาดใหญ่ และแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองจนถึงแม่น้ำโขง โดยอาศัยในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพรรณพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่เป็นฝูงเล็ก แต่ปัจจุบันพบน้อยลงมาก
ปลากราย
อาหาร ของปลากรายคือ ตัวอ่อนแมลงน้ำ ลูกกุ้ง ปลาผิวน้ำตัวเล็ก ๆ เช่น ปลากระทุงเหว ปลาเสือ ปลาซิว และปลาสร้อย สัตว์น้ำอื่น ๆ
มีขนาดโดยเฉลี่ย 60 ซ.ม. ใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนักถึง 15 ก.ก
ปลากรายนับเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภค เนื้อปลามีรสอร่อยโดยเฉพาะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตทอดมันหรือลูกชิ้น ราคาขายในตลาดจึงสูง ส่วนบริเวณเชิงครีบก้น เรียกว่าเชิงปลากราย ก็เป็นส่วนที่นิยมรับประทานโดยนำมาทอด แม้ว่าเนื้อจะมีก้างมาก แต่ก็เป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติอร่อยกว่าเนื้อปลาส่วนอื่น ๆ
ในภาคกลางเรียก ปลากราย ปลาหางแพน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ปลาตอง ปลาตองกราย ส่วนภาคเหนือเรียกว่าปลาตองดาว
กรมประมงเพาะพันธุ์ปลากรายได้สำเร็จโดยการฉีดฮอร์โมน ในปี พ.ศ. 2538
ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท
นอกจากใช้เป็นอาหารแล้ว ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ เช่น เลี้ยงในท้องร่องสวน และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย ที่เลี้ยง ง่าย อดทน และจะมีราคาแพงยิ่งขึ้นในตัวที่จุดมาก หรือตัวที่สีกลายเป็นสีเผือก หรือสีทอง ขาว หรือในตัวที่เป็นปลาพิการ ลำตัวสั้นกว่าปกติ
ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท
ปลากรายในสมัยเด็กเป็นปลาที่จับได้ทุกครั้งที่จับซั้งเพียงแต่จะได้น้อยหรือได้มากเท่านั้นเอง หากจับได้มากพอ แม่ละม่อมก็จะแล่กลางตัวปลาควักตับไตไส้พุง ตัดครีบออก แล้วใช้ช้อน (สมัยนั้นเป็นช้อนสังกะสี และจะเรียกกันว่าช้อนหอย) ขูดเอาเนื้อปลาล้วน ๆ ออกมากองไว้ การขูดเนื้อนี้ก็จะขูดเอาเนื้อ ออกมาทุกซอกทุกมุมของตัวปลากรายเลยทีเดียวต้องทั้งซอกซอน ชอนไช ทำนองนั้น
แล้วน้ำเนื้อปลากรายมาใส่ในครกหิน(ที่ใช้ทำครัว) ตำเนื้อปลาให้ละเอียดเข้ากัน
ปลากรายอินเดีย
ภาพจากอินเทอร์เนท
จุดมุ่งหมายคือตำเพื่อให้เนื้อปลาเหนียวหนับ เคล็ดลับ ตำนาน ๆ และนาน ๆ โดยเหยาะน้ำ( น้ำฝนที่ใช้ดื่มกิน) ลงไปเล็กน้อยในขณะตำและเนื้อปลาเริ่มเหนียว เหยาะเกลือป่น เล็กน้อยไม่มากถึงขั้นออกรสเค็ม คือแค่เค็มปะแหล้ม ๆ เท่านั้น (ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีเกลือป่นขาย จึงต้องเอาเกลือเม็ดใหญ่ ๆ มาตำและขยี้ ๆ ให้ป่นละเอียดเอง) พริกไทยป่น ( ก็ต้องป่นพริกไทยเม็ดเองอีก ) ตำไปตำมาเมื่อเนื้อปลาชักเหนียวชักจะยกสากหินขึ้นยาก ก็เหยาะน้ำลงไปเล็กน้อย แล้วตำต่อไปอีก จนแม่ละม่อมพออกพอใจว่าเหนียวได้ที่ งานตำเนื้อปลากรายนี้ เด็ก ๆ ตำได้เฉพาะตอนเนื้อปลากรายยังไม่เหนียวมากนัก เพราะเด็ก ๆ จะยกสากหินที่มีเนื้อปลาเหนียว ๆ มาก ๆ ไม่ขึ้น หรือขึ้นได้ลำบากยากเย็น แม่ละม่อมใช้เวลาตำเนื้อปลากรายนี้นานมาก เหนียวสมใจแล้ว แม่ละม่อมติดไฟตั้งหม้อแกงต้มน้ำให้เดือด แล้วปั้นเนื้อปลากรายเป็นลูก ๆ รูปทรงตามจังหวะที่หย่อนเนื้อปลาลงไป คนมาช่วยจะคลึงจะเคล้าให้ กลมหรือรีก็ตามใจ แต่เราจะไม่ทำลูกชิ้นลูกใหญ่มาก กะว่าขนาด พอดี ๆ หย่อนในน้ำเดือด พอสุกก็ได้เป็นลูกชิ้นปลากราย หากทำแกงจืดลูกชิ้นปลากรายก็ทำสำเร็จปรุงรสใส่เครื่องเคราครบในหม้อนี้เลย ถ้ามีเยอะก็แบ่งเป็นลูกชิ้นเฉย ๆ และแล้วแต่ว่าจะเอาลูกชิ้นปลากรายนี้ไปทำอาหารอะไรอีก
ปลากราย
ภาพจากอินเทอร์เนท เป็นปลากรายที่มีลายจุดไม่เหมือนปลากรายที่พลอยโพยมเคยพบ
คำว่าเครื่องเคราของแม่ละม่อม มีเพียงผักชีฝรั่งหั่นซอย และตังไฉ่เท่านั้น แล้วปรุงรส ด้วยน้ำปลาอย่างเดียว เรียกว่ากินลูกชิ้นเพียว ๆ กับน้ำแกงจืด ชูรสแค่น้ำปลาและตังไฉ่ รสหวานได้จากเนื้อปลาที่สด มีกลิ่นหอมพริกไทยป่นในเนื้อลูกชิ้นปลากรายหอมฟุ้งในตัว
หากได้ไม่มาก แม่ละม่อมก็จะเอาเนื้อและก้าง(ที่ไม่ใช่ก้างใหญ่ ) ปลากรายและปลาสลาด สับละเอียด (ขูดเอาแค่เนื้อและก้างย่อยเท่านั้น) แล้วเอาไปผัดขิงแทน
คำว่ามากน้อย คือเทียบปริมาณพอกับทุกคนในบ้าน กินแบบสบาย ๆ มื้อเย็นต่อมื้อเช้า อย่างนี้เรียกว่าทำพอกินในบ้าน
ปัจจุบันที่เรากินลูกชิ้นปลากราย ไม่น่าจะเป็นเนื้อปลากรายล้วน เพราะเนื้อปลากรายที่เมืองแปดริ้วนั่งขูดเนื้อขายกันสด ๆ ในช่วงเช้า แต่ละวัน ได้ไม่มากนัก และราคาแพงมาก เอาไปแกงเขียวหวาน ขายตามร้านข้าวแกงถึงจะขายถุงละ 50 บาท ยังไม่น่าจะขายได้
ส่วนที่ขายสำเร็จรูปเป็นลูกชื้นปลากราย ก็ไม่ได้เห็นว่าเนื้อปลากรายล้วนแน่นอนหรือไม่ แต่อย่างน้อยถึงไม่ตำให้เนื้อลูกชิ้นเหนียวขนาดของแม่ละม่อม เนื้อลูกชื้นปลากรายก็ต้องเหนียวกว่าปลาอื่น ๆ อยู่ดี แม้แต่ปลาสลาดที่เป็นปลาตระกูลวงศ์เดียวกัน ก็ทำลูกชิ้นได้อร่อยไม่เท่าเนื้อปลากราย
ปลาสลาด
ชื่อไทย สลาด ฉลาด ตอง ตองนา หางแพน วาง
ชื่อสามัญ GREY FEATHER BACK
ชื่อวิทยาศาสตร์ Notopterus notopterus
ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีรูปร่างเหมือนปลากราย แต่มีขนาดเล็กกว่า มีปากกว้างไม่เกินลูกตาเหมือนปลาในวงศ์นี้ชนิดอื่น ๆ พื้นลำตัวมีสีเรียบ ยกเว้นปลาวัยอ่อนจะมีลายบั้งเหมือนปลากราย (Chitala ornata) วัยอ่อน จมูกมีสองคู่ คู่หน้ายื่นออกมาคล้ายหลอดหรือหนวด มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่เล็กที่สุดชนิดหนึ่งของวงศ์นี้ และเป็นเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Notopterus
ลักษณะแตกต่างที่เด่นชัดคือ ปลาสลาดไม่มีจุดสีดำเหนือครีบก้นเหมือนอย่างปลากราย ปลาสลาดมีลำตัวเป็นสีขาวเงินปนเทาครีบหลังและครีบอกมีขนาดใกล้เคียงกัน ครีบท้องมีขนาดเล็กมากครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันเป็นแผ่นเดียวกัน
ปลาสลาด
ภาพจากอินเทอร์เนท
นิสัยของปลาสลาดเป็นปลาขี้อาย ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ และหลบพักตามตอไม้หรือซอกหิน ไม่ชอบแสงสว่างมาก ออกหากินในเวลากลางคืน โดยชอบผุดขึ้นมาฮุบอากาศทำเสียงที่ผิวน้ำและม้วนตัวกลับให้เห็นข้างขาวคล้ายสีเงิน
ถิ่นอาศัย พบตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึงและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและสะอาด ทั่วประเทศไทยเป็นปลาที่หาง่าย มักอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ๆ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นที่พบ เช่น ภาคเหนือเรียก “หางแพน” แต่ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ปลาวาง” ภาคอีสานมีชื่อว่า “ปลาตอง”
ในต่างประเทศพบได้ที่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์ไปจนถึงเกาะสุมาตราและชวาหรือบอร์เนียว
อาหารได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลงน้ำ สัตว์น้ำขนาดเล็ก
เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง และนิยมนำเนื้อไปทำทอดมันแทนเนื้อปลากรายซึ่งมีราคาแพงกว่าได้ นอกจากนี้ยังแปรรูปเป็นอาหารอื่น ๆ ได้อีก เช่น ลูกชิ้นสับนก หรือรมควัน เป็นต้น และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีก โดยเฉพาะปลาที่กลายสีเป็นสีเผือก
ขนาดความยาวประมาณ 15-20 ซ.ม. ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาวถึง 30 ซ.ม.
ปลาสลาด
ภาพจากอินเทอร์เนท
ปลาสลาดเป็นปลาที่พบเห็นได้ง่าย ตามตลาดสดทั่วไปทุกจังหวัด โดยเฉพาะที่เมืองฉะเชิงเทรา จะมีแม่ค้าที่ขูดเนื้อปลาสลาดขายทุกวัน นาน ๆ ครั้ง จึงจะได้พบเห็นขูดเนื้อปลากราย ราคาของปลาสลาดถูกกว่าปลากรายมาก พลอยโพยมเองหากไม่เห็นตัวปลาก่อนแล่และขูดเนื้อปลา ก็แยกไม่ออกว่าเนื้อปลาต่างกันอย่างไรเพราะไม่เคยคลุกคลีกับการขูดเนื้อปลาแบบนี้ ในสมัยเด็กแม่ละม่อมเป็นคนจัดการเมื่อได้ปลามา แต่ แม่ละม่อมไม่นำปลาสลาดมาขูดเป็นลูกชิ้น แต่จะใข้การสับเนื้อปลาสลาดโดยสับก้างปลาปนไปด้วย คือเพียงแต่เอาหัวปลา หางปลา ครีบปลา ก้างแข็ง ๆ แกนกลางตัวปลา หนังปลา ตับไตไส้พุงของปลาออก สับให้ละเอียดและคลุกเคล้ากันได้ดีในระหว่างการสับปลาแล้ว นำไปผัดกับขิงซอย รสชาติหวาน ๆ เค็ม ๆ บางครั้งก็ผัดกระเพราเพิ่มรสเผ็ด
ที่มาของข้อมูล : กรมประมง และวิกิพีเดีย
ขอแก้ไขแยกปลาตองลายออกจากบทความนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น