วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

[บทความ] นาฎกรรม...น้ำแห้งฝั่ง นั่งมองปู

นาฎกรรม...น้ำแห้งฝั่ง .นั่งมองปู



ปูก้ามดาบภาพของคุณจ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู

จากพ่างพื้นฑิฆัมพร สกุณานิกร ร่อนลงชายฝั่งแม่น้ำเพราะมีสิ่งเย้ายวนยั่วใจให้ถลาร่อนลงมา ด้วยสายตาที่แหลมคม ผสมกับความเคยชิน นกบางชนิดรู้ดีว่ามีหลายชีวิตกำลังเคลื่อนไหวท้าทายความว่องไวรวดเร็วของบรรดานกอยู่
สิ่งมีชิวิตแรกคือปูก้ามดาบมากมายที่ชายฝั่งเลน



ภาพของคุณจ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู

ปูก้ามดาบ (Fiddler Carb)


ปูมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศชายฝั่ง เพราะปูทั้งหลายเป็นสัตว์ที่คอยเก็บสารอินทรีย์ขนาดเล็กซึ่งตกตะกอนอยู่บนหาดเลนกินเป็นอาหาร เช่นสาหร่ายขนาดเล็กรวมทั้งซากสัตว์ จากนั้นนกและบางท้องที่ที่มีลิงแสมจะจับปูเหล่านั้นกินอีกทอดหนึ่ง
แต่ที่ร้ายกว่านกและลิงแสมก็คือญาติสนิทมิตรสหายบ้านใกล้เรือนเคียงของครอบครัวปู มีบ้านชิดติดกันประเภท บ้านเรือนเคียงกัน แอบดูทุกวันมองเมียง ขอเพียงแค่เผลอ ถ้าเอ้อระเหยคลานเล่น ปลาตีนเผ่นตะครุบกินลูกปู
ปูก้ามดาบทั้งตัวพ่อปูแม่ปูก็ถูกล่าโดยนกและลิงแสม ส่วนลูกปูก็มีปลาตีนคอยพิฆาตเข่นฆ่ากินเป็นอาหาร


ภาพของคุณจ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู

ปูก้ามดาบมีขาคู่แรกที่เรียกว่าก้ามปู ตัวผู้มีก้ามข้างหนึ่งมีขนาดใหญ่ (บางพันธุ์ก้ามขวาใหญ่ บางพันธุ์ก้ามซ้ายใหญ่ ) เมื่อปูยกก้ามใหญ่นี้ชูขึ้นลงมีลักษณะคล้ายคนสีซอ
การชูก้าม เพื่อเป็นการพร่ำเพรียกเรียกหาและเชื้อเชิญปูก้ามดาบตัวเมียให้เข้ามาผสมพันธุ์ด้วย ซึ่งปูก้ามดาบตัวเมียนั้นมีก้ามสองข้างเท่ากัน
โดยปกติแล้วปูก้ามดาบมีการชูก้าม บ่อยมากเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขตพื้นที่และรูปูซึ่งตนอาศัยอยู่ เมื่อมีศัตรูผ่านมาก็จะชูก้ามเพื่อแผ่อำนาจขู่ขวัญศัตรู (สำหรับบรรดาปูที่อยู่ชายเลนด้วยกันนับว่าก้ามปูก้ามดาบเขาใหญ่จริง ๆ)


รูปูก้ามดาบและรอยตีนปูก้ามดาบ

ปูก้ามดาบถือเอาว่าผู้รุกล้ำคือศัตรูไว้ก่อน โดยเฉพาะผู้รุกล้ำคือปูก้ามดาบเพศผู้ด้วยกัน การยกก้ามใหญ่ขึ้นนั่นคือเตรียมรบ ท้ารบ และประกาศแจ้งเตือนว่า อาณาเขตนี้ รูปูนี้เป็นของฉัน หากดื้อดึงเข้ามาก็ยกดาบของเจ้าเข้ามาสู้กันเลย แต่การสู้นี้ไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย ปูก้ามดาบจะประก้ามใหญ่กันแค่พอหอมปากหอมคอ ไม่ถึงขั้นมีก้ามดาบของปูตัวไหนหลุดออกมา เพียงแค่ใช้ก้ามใหญ่จับก้ามใหญ่ของปูอีกตัวหนึ่ง จับหนีบกันไว้แล้วก็ดึงกันไปมา แล้วก็จะมีปูตัวหนึ่งยอมอ่อนข้อให้ส่วนใหญ่เพราะก้ามเล็กกว่าปูอีกตัวหนึ่ง
ตัวที่เล็กกว่าก็ล่าถอยออกจากพื้นที่ตรงนั้นไป แต่บางครั้งปูก้ามดาบนี้ก็จะสละก้ามของตนเอง ประเภทเสียสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตในเวลาวิกฤตของปูตัวนั้น และก้ามที่หลุดไปนี้จะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ทดแทนได้



ปูก้ามดาบในรูปูของตน

ปูก้ามดาบมีก้านตายาวและฝังอยู่ในร่องเบ้าตาซึ่งเคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ปูต้องการ เมื่อพบอันตรายจะหดก้านตาเข้าเก็บในเบ้าตา ปากของปูอยู่ใต้ตา
ปูหายใจด้วยเหงือก โดยดูดออกซิเจนจากน้ำ ซึ่งไหลเข้าทางช่องที่อยู่หน้าก้ามหนีบ ทางน้ำออกจะอยู่บริเวณข้าง ๆ รยางค์ปาก

ปูก้ามดาบที่พบในบริเวณป่าชายเลนขุดรูอยู่ในดินเลน หรือดินเลนปนทรายบริเวณป่าชายเลนเรื่อยขึ้นไปจนถึงแนวเขตที่ติดต่อกับป่าบก เมื่อน้ำขึ้นจะฝังตัวแอบอยู่ในรู น้ำลดเมื่อใดก็จะออกมาเดินหาอาหารกิน
และจากพฤติกรรมของปูก้ามดาบตัวผู้ที่มีก้ามใหญ่และมักชูก้ามเพื่ออวด โบกไปมาประกาศอาณาเขตและอวดแก่ปูตัวเมีย นั่นอาจเป็นผลร้ายแก่ตัวเอง เพราะนกที่หากินบริเวณนั้นจะจับกินได้ง่าย ส่วนลูกปูนั้นก็เป็นที่หมายปองของปลาตีนอยู่ตลอดเวลา


ปูก้ามดาบออกมาจากรูปูของตน

ปูก้ามดาบมีประสาทการรับรู้ดีมากและขี้ตื่นตกใจถ้าได้ยินเสียงผิดปกติ ปูก้ามดาบก็จะรีบคลานลงรูทันที และจะค่อย ๆ หยั่งเชิง โดยค่อย ๆโผล่ตัวออกจากรู ชูตาอันมีก้านตาที่ยาวมากขึ้นมาสังเกตสถานการณ์โดยรอบ จนแน่ใจว่าไม่มีผู้รุกล้ำที่ก่ออันตรายให้ จึงจะโผล่ตัวออกมาทั้งตัว ดังนั้นปูก้ามดาบหากลงรูเพราะหนีภัยจะผลุบ ๆโผล่ ๆ ยึกยัก ๆ กลัว ๆ กล้า ๆ ออกมาจากรูปู

เวลาน้ำขึ้นมาจะถึงปากรู ปูจะขนเอาขี้ดินมาอุดปากรูจนมิด คล้ายกับว่าจะไม่ให้น้ำเข้าไปในรูปู แต่ถึงน้ำจะไม่เข้าไปทางปากรูแต่คงไหลซึมเข้าไปทางข้างรูได้อยู่ดี

ปูก้ามดาบสามารถรู้กำหนดเวลาน้ำขึ้นน้ำลงได้อย่างดีเยี่ยม ปูก้ามดาบจะออกจากรูก่อนน้ำลง ช้าเร็วกว่ากันราวๆ 2 ชั่วโมง


ปูก้ามดาบจะหากินอยู่ไม่ไกลจากรูของตนเพราะต้องเก็บรักษาความชื้นไว้ในร่างกาย ปูจึงวิ่งลงรูเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ได้ความชื้นและแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำจากตัว ปูก้ามดาบนี้มีความสามารถเลือกกินเฉพาะสารอินทรีย์แยกออกจากดินทรายได้ โดยใช้รยางค์ปากแบบพิเศษช่วยคือ ปลายขาของพวกปูจะมีลักษณะคล้ายช้อนคอยตักดินส่งเข้าปาก ส่วนรยางค์ปากที่มีรูปร่างเป็นตะแกรงพู่ขนนกหรือช้อน จะทำหน้าที่เลือกเฉพาะจุลชีพและอินทรีย์สารที่ปูต้องกินเท่านั้น ตะกอนดินที่ปูไม่กินก็ทิ้งกลับลงสู่พื้นในรูปของก้อนดินกลมเล็ก ๆ ปูตัวเมียจะกินได้เร็วกว่าปูตัวผู้ มีความคล่องตัวเพราะไม่มีก้ามใหญ่เกะกะ




ที่ชายฝั่งเวลาน้ำแห้งจะพบเห็นรูปูมากมาย ทั้งรูปูใหญ่ รูปูน้อย ในสมัยเด็ก หากคว่าหน้านอนพังพาบกับพื้นชานบ้าน ก้มมองดูพื้นดินชายฝั่งจะพบเห็นรูปูมากมาย ทั้งปูก้ามดาบ ปูเปี้ยว หากไปด้านใกล้ ๆ กับป่าจากก็จะพบเห็น ปูแสม ปูจาก บ้าง ลูกปูสีสวย ๆ คลานไปตรงโน่้น คลานมาตรงนี้ขวักไชว่ เด็ก ๆ ก็จะตกลูกปูเลือกตัวที่มีสีก้ามสวย ๆ ถูกใจขึ้นมา เมื่อดูชมจนเบื่อแล้วก็ปล่อยคืนพื้นเลนไป

หากพลอยโพยมไปบริเวณที่มีชายฝั่งน้ำที่ไหนจะพยายามถ่ายรูปปูไว้ การถ่ายครั้งแรกเพียงเดินเบา ๆ เข้าไปใกล้ชายฝั่งแถบนั้น บรรดาปูก็รีบคลานเข้ารูปูไป ใช้เวลาเฝ้ารอถ่ายภาพนานมาก กว่าปูจะออกจากรู แต่พอเสียงกล้องดังคลิก ๆ ปูก็รีบคลานลงรูปูไปอีก กว่าจะได้ภาพมาต้องอดทนและใจเย็น ภาพที่ได้ไม่ชัดเพราะด้อยฝีมือถ่ายภาพ



ครั้งหลังสุดพลอยโพยมไปช่วยทำขนมหวานงานประจำปีวัดผาณิตารามในปีนี้เอง ในวันแรกนั้นช่วงคอยถ่ายภาพขนมหัวผักกาดที่กวนเสร็จเรียบร้อย ได้ออกมาเดินรอเวลาที่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นช่วงน้ำแห้งฝั่งพอดี พอเดินเข้าไปใกล้ ๆ บรรดาปูก้ามดาบ ปูเปี้ยว ก็พากันคลานลงรูปูไปหมด ก็อดใจรอให้ปูหายตกอกตกใจพักใหญ่ ก็เริ่มมีปูเยื้องกรายออกมาจากรูปูใหม่ มีแต่ปูตัวเล็ก ๆ พลอยโพยมก็เลยขยับเดินเบา ๆ ค่อย ๆ มาทางด้านซ้ายมือ พอเกิดเงาวูบวาบจากการเคลื่อนที่ของตัวพลอยโพยมเองและเกิดเสียง และที่ว่าเดินค่อย ๆ อาจจะเป็นเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นพสุธาของปูก็เป็นได้ พลอยโพยมเห็นปูก้ามดาบตัวหนึ่ง คลานลงรูปูที่มีปูอีกตัวคลานลงไปก่อนแล้ว




พลอยโพยมรู้สึกว่าได้การละก็เลยถือกล้องจดจ้องรอคอย แล้วไม่ผิดหวังเลย ปูตัวที่สองที่ตามปูตัวที่หนึ่งเข้าไปถอยออกจากรูปูที่เพิ่งคลานลงไป ในลักษณะเตลิดโลดออกมาเลยทีเดียว มีปูตัวที่หนึ่งโผล่ก้ามลักษณะไล่ปูตัวสอง และค่อย ๆ เขยิบตัวขึ้นมา ชูลูกตาดูปูตัวที่สอง เมื่อเห็นปูตัวที่สองถอยห่างออกไปจากรูปูแล้ว ก็ผลุบหายลงรูปูเงียบหายไปเลย เป็นช่วงน้ำกำลังไหลขึ้น มีเสียงน้ำกระฉอกกับชายฝั่งเลนเป็นระยะ ๆ บนพื้นเลน เห็นแต่ปูตัวที่สองคลานเซซังแบบไม่มีจุดหมายปลายทางเพราะคลานออกไปทางด้านชายน้ำ ไต่ข้ามท่อนจาก แล้วคลานต่อออกไปชายน้ำอีก ดูเวิ้งว้างอยู่ตัวเดียว เสียงน้ำกระทบชายฝั่งอาจทำให้ปูตัวนี้ได้สติ จึงคลานกลับเข้ามาด้านใน อ้อมท่อนจากไม่ไต่ข้าม แล้วก็คลานไปยังชายฝั่งซ้ายมือออกไปอีกไกลจากรูปูที่ถูกปูตัวที่หนึ่งตะเพิดไล่ออกมา แล้วก็คลานลงรูปูรูหนึ่งหายเงียบไป บอกเหตุว่าไม่มีปูอีกตัวอยู่ในรูนั้น


ปูก้ามดาบตัวนี้ดูเวิ้งว้างท่ามกลางชายฝั่งเลน


เดินออกสู่ชายน้ำโดยข้ามท่อนจากท่อนนี้ไป


ปูก้ามดาบ
จะเห็นรอยเท้าปูก้ามดาบหลังข้ามท่อนจาก ว่าเดินออกไปด้านชายน้ำอีกไกลก่อนจะวกกลับเข้ามาด้านชายฝั่ง

พลอยโพยมสงสารปูตัวที่สองตัวนี้ รู้สึกโหวง ๆ ในใจ เหมือนเป็นปู เอ๋อ ๆ เพราะ รูปูที่คลานหายเงียบเข้าไปนั้นอยู่ไกลจากจุดเดิมมาก จากธรรมชาติว่า ปูจะหากินไม่ไกลจากรูของตัวเองนัก รูปูรูแรกอาจเป็นของปูตัวที่สอง แล้วเผลอไผลให้ปูตัวที่หนึ่งเข้าไปยึดครอง เมื่อมีภัยปูตัวที่สองก็จะกลับบ้านเป็นที่คุ้มภัย แต่ถูกปูตัวที่หนึ่งอัปเปหิออกมาจากรูของปูตัวที่สองเอง ปูตัวที่สองจึงต้องคลานเซซังไม่มีบ้านประเภทพลัดที่นาคาที่อยู่หรือกระไร คลานไป คลานไป เพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ จนไปเจอรูปูที่ว่างไร้เจ้าของครอบครอง ( เจ้าของเดิมอาจถูกสัตว์อื่นจับกินไปแล้ว) แต่ก็โชคดีที่ยังมีรูปูให้ได้เข้าไปอยู่ได้ทันในช่วงน้ำกำลังขึ้น หากจะขุดรูปูเป็นที่อยู่อาศัยรูใหม่ก็อาจไม่ทันเวลาน้ำขึ้น ซึ่งบรรดาปูก้ามดาบจะต้องใช้ดินอุดรูปูกันน้ำไว้ตอนน้ำขึ้น

เสียดายที่ภาพที่ถ่ายไว้อาจจะเล็กจนมองไม่เห็นตัวปู ก็ลองชมกันตามประสาภาพที่มีอยู่ก็แล้วกัน


ปูเปี้ยว

ปูลักษณะนี้ที่บางกรูดเรียกว่าปูเปี้ยว ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เมื่ออ่านข้อมูล หลายข้อมูลบอกว่า ปูเปี้ยวเป็นปูก้ามดาบชนิดหนึ่ง บางข้อมูลบอกว่า ปูก้ามดาบเป็นปูเปี้ยวชนิดหนึ่ง แสดงว่าปูเปี้ยวและปูก้ามดาบน่าจะอยู่ในวงศ์เดียวกัน










ปูเปี้ยว

ส่วนปูแสมเอง ก็มีปูแสมหลายชนิด
ปูในภาพนี้ชาวบางกรูดเรียกปูเปี้ยว แต่จะคือ
ปูเปี้ยวปากคีบ (Uca forcipata) หรือเป็น
ปูแสมก้ามแดง (Chiromanthes eumolpe)

ขณะนี้ไม่มีตัวช่วยอยู่ที่บ้าน ขอติดค้างไว้ก่อน


ปูแสม

ปูแสม (ชื่อสามัญ)
Sesarma mederi (ชื่อวิทยาศาสตร์)
MEDER'S MANGROVE CRAB (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)

ลักษณะของรูปูแสมนั้นแตกต่างจากรูปูก้ามดาบและรูปลาตีนในบริเวณเดียวกัน เราสามารถแยกแยะได้โดยรูของปูแสมมีขนาดกว้างประมาณ 4 – 7 เซนติเมตร ปากหลุมที่ขุดจะมีกองดิน อุจจาระและรอยเล็บเท้า


ปูแสม

ปูแสมเป็นปูที่ชอบพ่นน้ำออกมาเช็ดตาตัวเอง จะได้มองสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น
เป็นปูที่ใช้ดองปูเค็ม



ปูจาก ภาพของคุณจ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู

ปูจาก (ชื่อสามัญ)
ปูแป้น (ชื่อสามัญ)
Varuna litterata (ชื่อวิทยาศาสตร์)
GREEN TIDAL CRAB (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)


ปูจากภาพของคุณจ้อ นั่งจ้อเรือนลำพู

ใช้ดองเป็นปูเค็มได้ (ปูแป้น)

(อัพโหลดภาพผิดจึงได้ภาพซ้ำมา ก็ขอเลยตามเลย)


ปูทะเล

ปูทะเลก็เป็นปูที่จะหาจับได้มาในช่วงน้ำลง แต่รูปูจะไม่อยู่ลึกลงในพื่น แต่จะอยูลึกแบบขนานกับพื้น ลักษณะรูเป็นโพรงบางรูอาจลึกเป็นโพรงขนานพื้นถึง 3 เมตร


ปูทะเล

ปูทะเล (ชื่อสามัญ)
SERRATED MUD CRAB (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Scylla serrata (ชื่อวิทยาศาสตร์)



ปูทะเล

ปูเหล่านี้ล้วนเป็นสีสันอันเกิดในช่วงน้ำแห้งฝั่ง
เคยเขียนเรื่องของบรรดาปูเหล่านี้มาแล้วจึงขอไม่ลงรายละเอียดซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น