ปลาจิ้มฟันจระเข้..เร่เข้าอวน
ปลาจิ้มฟันจระเข้
ภาพจากกรมประมง
ชื่อสามัญปลา จิ้มฟันจระเข้
ชื่อวิทยาศาสตร์ Microphis boaja
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ COMMON FRESHWATER-PIPEFISH
ลักษณะทั่วไป
เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ลำตัวเรียวและมีสัณฐานเป็นเหลี่ยม เกล็ดของปลาชนิดนี้ได้เปลี่ยนรูปกลายเป็นแผ่นกระดูกแข็ง เป็นข้อ ๆ รอบตัวจะงอยปากยื่นแหลมมีลักษณะเป็นหลอด ปลายปากมีลักษณะคล้ายปากแตร ไม่มีฟัน ใช้ปากดูดอาหาร เพศผู้จะมีถุงฟักไข่อยู่ที่หน้าท้องเป็นร่องลึก ขอบของถุงฟักไข่มีส่วนของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาคลุมไว้ ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากวัตถุภายนอกที่จะมากระทบไข่
ถิ่นอาศัย
อยู่ตามผิวน้ำ ในแม่น้ำลำคลองและหนองบึง ที่มีทางน้ำติดต่อกับแม่น้ำ พบในแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำแม่กลอง ทางภาคใต้พบในทะเลน้อย
อาหาร -กินแมลงและตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ
ขนาด-ความยาวประมาณ 16-47 ซ.ม.
ประโยชน์-เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม เนื้อไม่ใช้บริโภค
ข้อมูลของกรมประมง
(ใครบริโภคปลาจิ้มฟันจระเข้ได้ ก็ใช้ชีวิตในโลกใบนี้ได้ง่ายสบายมาก เก็บกิ่งไม้ท่อนไม้กินเป็นอาหารได้ไม่ต้องยุ่งยากไปหาปลาจิ้มฟันจระเข้ในแม่น้ำให้เหนื่อยยากลำบากกาย)
ปลาจิ้มฟันจระเข้
ภาพจากกรมประมง
วงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Syngnathidae
เป็นวงศ์ปลาวงศ์หนึ่ง ในอันดับ Syngnathiformes
ปลาจิ้มฟันจระเข้ เป็นปลากระดูกแข็งมีรูปร่างประหลาดไปจากปลาในวงศ์อื่น ๆ ทั่วไป กล่าวคือ มีรูปร่างเรียวราวคล้ายกิ่งไม้ มีเกล็ดลำตัวแข็งดูคล้ายเกราะ ลำตัวแบ่งเป็นปล้อง ๆ หางยาว ตัวผู้จะเป็นผู้ที่ดูแลไข่โดยจะฟักไข่ไว้ในถุงหน้าท้องหลังจากไข่จากตัวเมียได้รับการปฏิสนธิแล้ว จนกว่าไข่จะฟักเป็นลูกปลาขนาดเล็ก ดวงตามีขนาดเล็ก ไม่มีฟันและขากรรไกร ครีบทุกครีบมีขนาดเล็ก ว่ายน้ำได้ช้า ๆ ปากยาวเป็นท่อ หากินโดยการดูดอาหาร จำพวก แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำขนาดเล็ก
พบได้ทั้งน้ำจืด, น้ำกร่อย และทะเล โดยมากจะพบในทะเลมากกว่า มีพบในน้ำจืดและน้ำกร่อย ไม่กี่ชนิด
แบ่งออกเป็น 2 วงศ์ย่อย คือ วงศ์ Hippocampinae มี 2 สกุล หรือ ม้าน้ำ กับ Syngnathinae หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ มี 52 สกุล โดยพบทั้งหมดประมาณ 215 ชนิด ใน 2 วงศ์ย่อยนี้
พบได้ทั่วโลก จัดเป็นปลาขนาดเล็ก ที่มีขนาดความยาวโดยเฉลี่ยเต็มที่ไม่เกิน 30 เซนติเมตร ประกอบกับรูปร่างที่แปลก จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ในตู้ปลาส่วนตัว หรือในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการนำไปปรุงเป็นยาสมุนไพรตามตำรับยาจีนอีกด้วย
ซึ่งคำว่า "Syngnathiformes" นั้นมาจากภาษากรีก แปลว่า "ติดกับขากรรไกร" โดยมาจากภาษากรีกโบราณ คำว่า συν แปลว่า ด้วยกัน กับ γνάθος แปลว่า ขากรรไกร และ "formes" มาจากภาษาลาตินที่หมายถึง "รูปแบบที่คล้ายคลึงกัน"
ในวิกิพีเดียมีข้อมูลของปลาจิ้มฟันจระเข้ดังนี้
1.ปลาจิ้มฟันจระเข้
2.ปลาาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์
3.ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ
1.ปลาจิ้มฟันจระเข้
ชื่อ อังกฤษ: Pipefish
ที่อยู่ในวงศ์ย่อย Syngnathinae
ในวงศ์ Syngnathidae ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกับม้าน้ำและมังกรทะเล
ปลาจิ้มฟันจระเข้ คือ ปลากระดูกแข็งจำพวกหนึ่ง มีลักษณะและพฤติกรรมโดยรวมคล้ายกับปลาชนิดอื่นและสกุลอื่นที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน กล่าวคือ มีปากที่ยื่นเป็นท่อ ลำตัวหน้าตัดเป็นเหลี่ยม แต่ยาวเรียวมากดูคล้ายกิ่งไม้ ผิวหนังเป็นแผ่นแข็งเรียงต่อกันเป็นเหลี่ยมเป็นข้อ ครีบต่าง ๆ มีขนาดเล็ก ไม่มีครีบท้อง ตัวผู้ทำหน้าที่ฟักไข่โดยเก็บไว้บริเวณหน้าท้อง ลำตัวมักมีสีน้ำตาล อาจมีลายสีเข้มพาดขวางในบางชนิด
หากแต่ปลาจิ้มฟันจระเข้ จะพบได้แม้ในน้ำจืดและน้ำกร่อยด้วย ซึ่งผิดไปจากปลาในวงศ์เดียวกันนี้ส่วนใหญ่
มีขนาดแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตรจนถึงฟุตกว่า ๆ ในชนิด ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ (Doryichthys boaja) ที่พบในน้ำจืด เป็นต้น
มีทั้งหมด 52 สกุล
มีความสำคัญต่อมนุษย์ในแง่ของการนำไปทำเป็นยาจีนเช่นเดียวกับม้าน้ำ และนิยมเลี้ยงไว้ในตู้ปลาเพื่อความเพลิดเพลิน อีกทั้งยังเป็นที่นิยมของนักดำน้ำอีกด้วย ในการถ่ายภาพใต้น้ำในแนวปะการัง เช่น ปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่าง (Corythoichthys haematopterus)เป็นต้น
(มีภาพปลาจิ้มฟันจระเข้ลายด่างด้วย)
2.ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Doryichthys boaja
อยู่ในวงศ์ม้าน้ำและปลาจิ้มฟันจระเข้ Syngnathidae
วงศ์ย่อย Syngnathinae
เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีรูปร่างแปลกไปจากปลาทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายกิ่งไม้ สัณฐานเป็นเหลี่ยม เกล็ดได้เปลี่ยนรูปกลายเป็น แผ่นกระดูกแข็ง เป็นข้อรอบตัว จะงอยปากยื่นแหลม ปลายปากคล้ายปากแตร ไม่มีฟัน ใช้ปากดูดอาหาร ลำตัวมีสีน้ำตาลเขียว และมีลายดำเป็นวงทั่วตัว ว่ายน้ำเชื่องช้า อาหารได้แก่ แมลงน้ำ, ลูกกุ้ง, ลูกปลาขนาดเล็ก และแพลงก์ตอนสัตว์ มีความยาวประมาณ 16 - 47 เซนติเมตร
ปลาในวงศ์นี้ โดยมากเป็นปลาทะเล พบในน้ำจืดเพียงไม่กี่ชนิด มีลักษณะเฉพาะ คือ เมื่อวางไข่ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายอุ้มท้องโดยตัวเมียจะวางไข่ไว้ที่หน้าท้องตัวผู้ และตัวผู้จะเป็นผู้ดูแลจนกระทั่งไข่ฟักเป็นตัว
จิ้มฟันจระเข้ยักษ์ พบอาศัยอยู่บริเวณผิวน้ำ ในแม่น้ำลำคลองและหนอง บึง ทางน้ำติดต่อกับแม่น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศ สำหรับภาคใต้พบมากในส่วนของทะเลน้อย ทะเลสาบสงขลา
ไม่ใช้สำหรับการบริโภค แต่ในสูตรยาจีน ใช้ตากแห้งเพื่อเป็นสมุนไพรทำยาเช่นเดียวกับม้าน้ำ และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่ก็เป็นชนิดที่เลี้ยงยากมาก เนื่องจากปากมีขนาดเล็ก ผู้เลี้ยงจึงหาอาหารให้กินได้ลำบาก
รูปร่างหน้าตาของปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์นี้ เหมือนภาพของกรมประมง และที่พบในลำน้ำบางปะกง
3.ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ หรือ ปลาจิ้มฟันจระเข้ลำธาร
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Doryichthys martensii
ในวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้และม้าน้ำ Syngnathidae
วงศ์ย่อยSyngnathinae
เป็นชื่อปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ (D. boaja) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีลำตัวที่สั้นกว่า จะงอยปากสั้นกว่ามาก หัวเล็ก ลำตัวมีปล้อง 15 - 17 ปล้อง หางยาวกว่าลำตัวมาก ซึ่งแตกต่างจากจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ ลำตัวสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแดง และมีจุดดำเล็ก ๆ ระหว่างปล้อง ครีบใส ครีบหางสีน้ำตาลและขอบสีจาง มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ใหญ่สุด 15 เซนติเมตร
อาหารได้แก่ แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์น้ำขนาดเล็ก อาศัยอยู่ตามลำธารแม่น้ำในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทยไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย พบมากในบางแหล่งน้ำ โดยมักหลบซ่อนอยู่ตามพื้นท้องน้ำใต้ใบไม้ที่ร่วง หากินโดยคืบคลานไปกับพื้นน้ำ ตัวผู้และตัวเมียต่างกันชัดเจนในขณะที่ปลาตัวเมียโตเต็มที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย และไม่มีถุงช่องหน้าท้องที่มีไว้เพื่อเก็บไข่และลูก ๆ
นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย
ในวิกิพีเดียมีภาพประกอบ ท่านที่จะใช้ข้อมูลและภาพของปลาจิ้มฟันจระเข้ คงต้องยึดชื่อภาษาอังกฤษชื่อวิทยาศาสตรฺ ชื่อวงศ์เป็นหลัก
มีนกรที่บ้านบอกว่า หากใช้ชื่อในท้องถิ่น (ภาษาไทยเป็นหลัก ก็จะสับสน) พลอยโพยมไม่สันทัดเรื่องนี้เพราะไม่ได้เป็นชาวมีนกร ก็เลยจัดการประมวลผลข้อมูลเรื่องปลาจิ้มฟันจระเข้ เป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ และยังไม่มีข้อมูล Up Date ของกรมประมงล่าสุด จึงขอเสนอข้อมูลดิบตามที่หามาได้ เป็นดังนี้แล
ปลาจิ้มฟันจระเข้ในลำน้ำบางปะกง
ในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เป็นช่วงที่ชาวริมแม่บางปะกงที่บางกรูดหลาย ๆ บ้าน รอเคยกะปิกันในแม่น้ำ เป็นช่วงที่น้ำกร่อยจากการที่น้ำทะเลหนุนเข้ามาในแม่น้ำบางปะกงตามปกติในช่วงน้ำขึ้น และเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง ต้นน้ำของแม่น้ำบางปะกงที่มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาไม่ค่อยมีฝนตก ปริมาณน้ำฝนที่ไหลสู่บางปะกงมีน้อยมาก หรือบางปีไม่มีเลยจึงไม่สามารถผลักดันน้ำทะเลลงทะเลไปได้ ดังนั้นในเวลาน้ำขึ้นของลำน้ำบางปะกงตั้งแต่อำเภอบางปะกง ผ่านอำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง ต่อมาก็ขึ้นถึงอำเภอบางบางคล้าจนไปถึงปราจีนบุรีจึงเป็นน้ำกร่อย เมื่อน้ำไหลงกลับสู่ปากอ่าวทะเลที่อำเภอบางปะกงไม่มีน้ำจืดไหลผลักดันลงมา เวลาน้ำขึ้นก็หมุนเวียนเอาน้ำทะเลปะปนเข้ามาเป็นน้ำกร่อยอีก น้ำกร่อยนี้ก็เริ่มกินเวลานานขื้นจากสี่เดือนกลายเป็นเจ็ดถึงแปดเดือน ( ในแถบอำเภอบ้านโพธิ์ถึงบางปะกง)
ชาวบ้านใช้ศัพท์ว่า น้ำเค็มขึ้นมาถึงบริเวณไหนกันแล้ว เช่น น้ำเค็มมาถึงแสนภูดาษแล้ว มาถึงบางกรูดแล้ว น้ำเค็มมาถึงอำเภอเมืองแล้ว
เมื่อถึงเวลาที่มีฝนตกมาก ๆ น้ำกร่อยก็จะค่อย ๆ ถอยระยะทางลงไปทางทะเล ชาวบ้านใช้คำว่า น้ำจืดลงมาถึง เช่น น้ำจืดลงมาถึงบางคล้า ลงมาถึงอำเภอเมือง ลงมาถึงบางกรูดแล้ว เป็นต้น
บางปีเราจะรู้สึกว่า น้ำเค็มขึ้นมาช้า บางปีน้ำเค็มขึ้นมาเร็ว และน้ำจืดลงมาช้า น้ำจืดลงมาเร็ว ทั้งนี้ก็ขึ้นกับปริมาณของน้ำฝนที่ลงมาผลักดันน้ำทะเลลงคืนสู่ทะเลนั่นเอง
ดังนั้นในจังหวัดฉะเชิงเทราเดียวกัน ในช่วงต้นน้ำกรอยและต้นน้ำจืด จึงใช้ระยะเวลาห่างกันพอสมควร ที่จะเป็นระบบนิเวศน้ำที่เหมือนกันทั้งจังหวัดยกเว้นบริเวณที่ใกล้ปากอ่าวบางปะกงถือเป็นที่น้ำกร่อยหรือน้ำเค็มตลอดปี
น้ำเค็มจะเริ่มดันเข้ามาในลำนำบางปะกงเมื่อหมดฝน มักเป็นเวลาหลังงานแห่หลวงพ่อโสธรแล้ว ช่วงเวลาที่น้ำกร่อยขึ้นมาถึงบางกรูดที่ค่อนข้างแน่นอนคือช่วงตรุษจีน เป็นความยากลำบากของชาวบางกรูดที่ต้องล่้างผัก ถ้วยชาม หม้อ กะทะ ครก ลังถึง (นึ่งขนมเข่ง ขนมเทียน ) หม้อต้มหมู ต้ม ไก่ ล้วนแต่เป็นภาชนะที่มันด้วยน้ำมัน การล้างภาชนะของใช้เหล่านี้ด้วยน้ำกร่อยโดยเอาไปล้างที่หัวสะพาน จะทำความสะอาดด้วยผงซักปอกที่เราเรียกติดปากว่าแฟ้บ ( ทั้ง ๆ ที่ใช้บรีสก็ตามที) เมื่อห้าสิบปีมาแล้วไม่มีน้ำยาล้างจานยี่ห้อใด ๆ ใช้กัน แฟ้บจะไม่ค่อยมีฟองในน้ำกร่อย เมื่อหน้าตรุษจีนมาถึง การล้างผัก ( ต้องใช้น้ำจืดล้วนล้าง ) การล้างหม้อและอื่น ๆ ยากลำบาก ( อุปกรณ์ทุกอย่างที่ล้างด้วยน้ำจากแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำกร่อยที่ตักไว้ในโอ่ง หรือล้างในแม่น้ำ จะต้องใช้น้ำฝนล้างเป็นน้ำสุดท้ายอีกทีหนึ่ง ทุกครั้ง ทุกฤดูกาลอยู่แล้ว)
แต่ก็เป็นช่วงสนุกสนานของการรอกุ้งกะปิกัน
มักจะรอกุ้งกะปิกันในช่วงปิดเทอมการศึกษาใหญ่ โดยเฉพาะปลายเดือนมีนาคม ในเดือนเมษายนทั้งเดือนและต้นเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีกุ้งเคยมาก การทำกะปิจะได้กุ้งเคยจากการพายกุ้งกะปิ และรออวน
ปลาจิ้มฟันจระเข้
คือเส้นดำ ๆ ที่รวมกลุ่มกับ กุ้ง กั้ง ในภาพ
จะพบเห็นปลาจิ้มฟันจระเข้และกั้งมากจากการรอกุ้งเคยมาทำกะปิ ทุกคราวที่นำเรือออกไปกู้อวนก็จะได้พบปลาจิ้มฟันจระเข้ที่เด็ก ๆ ไม่ค่อยรู้จักว่านี่เป็นตัวอะไรกันรูปร่างแปลกประหลาด รวมทั้งกั้งที่ถูกเจ้าปลาจิ้มฟันจระเข้ชักชวนมาด้วยหลงเข้ามาในอวนแทบทุกครั้ง (เพิ่งมารู็จักตอนโตแล้วว่า เจ้าตัวประหลาดนี้ชื่อ ปลาจิ้มฟันจระเข้)
เด็ก ๆ จะเลือกจับแล้วเหวี่ยงหรือโยนปลาจิ้มฟันจระเข้และกั้งเหล่านี้ลงน้ำไปตั้งแต่พบเห็นบนเรือที่เอาไปกู้อวน
นึก ๆ ดู แล้วตอนเด็ก ๆ ก็ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำหลาย ๆ ชนิดคืนสู่แม่น้ำบางปะกงก็ได้บุญหลายส่วน แม้จะมีบาปแต่เป็นบาปที่ก่อเพื่อการยังชีพ มิใช่เพื่อนำไปขาย เรายังชีพโดยตรงคือกินกันเองในครอบครัว มิใช่บาปทางอ้อมคือจับไปขาย แต่ก็บาปเท่ากันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย นั่นแหละหนอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น