อดีตกาล.....เนิ่นนานมา
สะพานท่าน้ำบ้านของพลอยโพยม เมื่อนานมาแล้ว
สภาพที่เคยเป็นสะพานท่าน้ำบ้านในวันนี้
เมื่อรื้อสะพานออก พื้นดินก็ตื้นเขินเพราะมีพันธุ์ไม้ชายเลนรุกล้ำเข้ามาปิดหน้าแม่น้ำหมด พันธุ์ไม้เช่น จาก แสม ลำพู โกงกางนี้เป็นตัวการที่ยึดดินทำให้ดินงอกขึ้นและยื่นออกไปลำน้ำ และเลนที่สะสมจนกลายเป็นดินชายฝั่งดังภาพ
นี่เป็นธรรมชาติโดยทั่วไปของฝั่งแม่น้ำฝั่งที่เรียกว่าฝั่งแหลม คือ ผืนดินจะค่อย ๆ ยื่นงอกล้ำไปในแม่น้ำ เพียงห้าสิบปีชายฝั่งน้ำก็เปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่สื่อข้างล่างนี้
สะพานท่าน้ำบ้านเรือน
ในสมัยก่อนโน้นทำยื่นได้แค่ริมฝั่งน้ำไม่ยื่นล้ำออกไปในแม่น้ำ นี่คือสะพานท่าน้ำแทนที่ภาพข้างบนเมื่อห้าสิบปีที่แล้วมา
ปัจจุบันชายในภาพอายุ 60 ปี
พี่ชายของพลอยโพยมเองยืนอยู่ระหว่างขั้นบันไดไม้สองขั้น ขั้นบันไดมีประมาณ 9 ขั้น การตั้งขั้นบันไดจะไม่ตั้งลักษณะตั้งชัน แต่ตั้งแบบลาดเอียงเหมือนบันไดในบ้านสองชั้นปัจจุบัน ระหว่างขั้นบันไดลอดศีรษะได้
หัวสะพานด้านขวามือเมื่อหันหน้าออกแม่น้ำมีหัวเสาของสะพานเคยเป็นที่ตั้งของยอสำหรับใช้ยกยอ ยอก็ทำประเภทติดตั้งและถอดออกได้เวลาไม่ต้องการใช้ยอ
ในเวลาน้ำขึ้น หัวไม้เสาสะพานด้านขวามือนี้เป็นที่ขึ้นไปยืนแล้วกระโดดลงน้ำ คนที่กระโดดไม่เป็น ก็เอาท้องตัวลงน้ำดังป๊าบใหญ่ แล้วก็เกิดอาการจุกท้อง คนที่กระโดดเป็นก็จะกระโดดท่าพุ่งหลาวลงน้ำ ถ้าน้ำขึ้นไม่มาก และกระโดดแบบเอาหัวลงน้ำไม่ทำมุมเฉียง ก็เกิดการหัวจิ้มดินได้ แต่ถ้าน้ำใหญ่ขึ้นเต็มที่หัวก็ลงไม่ถึงพื้นดิน
ผู้หญิงในภาพปัจจุบันอายุ 61 ปี
ราวไม้ไผ่ที่ยืนเกาะคือราวตากผ้า ราวล่างสำหรับตากกางเกงผู้ชายและผ้าถุงของผู้หญิง การตากโดยสอดผ้าเข้าไปในลำไม้ไผ่ซึ่งปลดหัวท้ายออกมาได้ ไม่ต้องใช้ไม้หนีบ ราวบนก็เหมือนกันแต่เป็นราวตากเสื้อ หากเป็นเสื้อติดกระดุมก็ใช้การติดกระดุมแทนการใช้ไม้หนีบ ถ้าเป็นเสื้อคอกลมไม่มีกระดุุม ก็ใช้ลำไม้ไผ่สอดร้อยแขนเสื้อทั้งสองแขน
ราวไม้ไผ่นี้ใช้ตากเสื้อผ้าอยู่กับบ้าน และมีราวไม้ไผ่อีกด้านที่ยาวกว่านี้มากและเป็นราวบนราวล่างเช่นกัน
ส่วนเสื้อนักเรียนหรือเสื้อสวยๆ ออกนอกบ้าน จะตากที่ราวลวดที่ขึงยาวเต็มหน้านอกชานบ้านและเป็นราวลวดสองชั้น ต้องใช้ไม้หนีบซึ่งไม้หนีบในสมัยนั้นเป็นไม้หนีบไม้ หรือต่อมาใช้ไม้แขวนเสื้อแขวนที่ราวลวดหรือลำไม้ไผ่ลำที่เป็นราวบน เสื้อที่ไม่ต้องการให้ถูกแดดก็จะใส่ไม้แขวนเสื้อแขวนกับหัวตะปูตากใต้แผงสังกะสี ซี่งเป็นแผงสี่แผง เปิดแผงในตอนกลางวันมีไม้ค้ำยันกลางแผง และปิดแผงนี้ในตอนกลางคืน ถือเอาแผงสังกะสีนี้เป็นฝาบ้านของหน้าบ้าน เปิดฝาบ้านหน้าบ้านโล่งในตอนกลางวัน ปิดในตอนกลางคืน แผงสังกะสีเมื่อเปิดออกและค้ำยันด้วยไม้จะเป็นที่สำหรับเอากระด้งซึ่งใส่ของที่ต้องการตากแห้งขึ้นไปตากได้อีก
ส่วนที่เป็นใต้สะพานนี้น้ำขึ้นถึงในยามน้ำขึ้น และน้ำขึ้นถึงใต้ถุนบ้านขนาดเอาเรือลำเล็กเข้ามาใต้ถุนบ้านได้ในช่วงน้ำขึ้นใหญ่
สมาชิกเด็กรุ่นหลัง มีคนรุ่นใหญ่ในภาพเพียง 1 คน (คนนี้ไม่ได้สวมเสื้อฝีมือแม่ละม่อม)
นอกชานของบ้าน
ยายขาและคุณยายเล็กกำลังเรียงหมากซอยตากที่นอกชานบ้าน มีน้องชายยืนเกาะบ่ายายขา ข้างหลังยายขามีไม้ค้ำยันแผงสังกะสี 1 ท่อน ตั้งค้ำแผงสังกะสีอยู่
จะเห็นภาพป่าจากที่อยู่ชิดนอกชาน ทำให้ เด็ก ๆ ดูปูสวย ๆ จากนอกชานบ้านนี้
ทุกคนในทุกภาพข้างบนนี้สวมใส่เสื้อผ้าด้วยฝีมือแม่ละม่อม ยกเว้นรายการที่เป็นเสื้อยืด และภาพผู้หญิงรุ่นใหญ่ในกลุ่มเด็กที่นั่งกันหลาย ๆ คนที่หัวสะพาน
เรือสำปั้นลำใหญ่
สำหรับรับส่งเด็กนักเรียนในบ้านข้ามฝั่งไปขึ้นรถประจำทางที่วัดบางกรูด นั่งได้เต็มที่ 10 คน ในลักษณะที่เรียกว่าเรือเพียบแประคือน้ำเกือบปริ่มกราบเรือ ถ้ามีคลื่นก็ไม่ควรบรรทุกคนเต็มอัตรา หรือถ้าจำเป็นก็ต้องมีคนสองคนหัวเรือท้ายเรือเปิดกระดานที่นั่งวิดน้ำในท้องเรือออกไปตลอดเวลา จึงจะพาเรือข้ามฝั่งได้ตลอดรอดฝั่งเพราะน้ำจะซัดสาดเข้ามาในเรือเป็นระยะ ๆ ของลูกคลื่น คนนั่้งก็จะถูกน้ำกระเซ็นสาดเปียกมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งมักใช้ข้ามฝั่งในเที่ยวขากลับบ้านเพราะเปียกน้ำบ้างก็ไม่เป็นไร ส่วนเที่ยวขาไปจากบ้านคือตอนเช้ามักมีคลื่นเล็ก ๆ เท่านั้น
จะเห็นปล่องโรงสี (โรงสีนายหม้อ ไม่ใช่ปล่องโรงสีกลาง) ตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งตรงกันช้าม
แม้จะเป็นภาพขาวดำก็จะเห็นภูมิทัศน์ว่าไม่เป็นป่าจาก แม้จะแนวต้นไม้ขึ้นบ้าง
ฝั่งตรงข้ามนี้เรียกว่าฝั่งคุ้ง เป็นฝั่งน้ำที่จะถูกกระแสน้ำซัดพังลงไปเรื่อย ๆ ต้นไม้ที่อยู่ริมฝั่่งแม้ตั้งใจปลูกเพื่อยึดดิน เช่น จาก ลำพู แสม หรืออื่น ๆ แต่ก็ไม่อาจทัดทานกระแสน้ำได้ ต้นไม้เหล่านั้นก็จะถูกน้ำกัดเซ่าะหลุดออกจากแผ่นดินลงมาลอยเท้งเต้งในลำน้ำ
บางบ้านก็ต้องทำสะพานท่าน้ำคอยลึกเข้ามาบ่อยครั้ง
ธรรมชาติไม่มีการให้แต่ฝ่ายเดียว มีได้ก็ต้องมีเสีย เมื่อฝั่งน้ำฝั่งหนึ่งยื่นงอกลุกล้ำลำน้ำออกมาเรื่อย ๆ ถ้ายื่นงอกทั้งสองฝั่ง วันหนึ่งนานเท่าไรไม่ทราบได้สายน้ำนี้ก็ไม่ทางรินไหลเพราะแผ่นดินงอกมาชนติดกัน ธรรมชาติจัดสรรให้ลงตัว เมื่อแผ่นดินฝั่งหนึ่งยื่นงอกออกไป อีกฝั่งหนึ่้งไซร้ก็ต้องพังไหลลื่นลงมา แม่น้ำจึงยังคงเป็นแม่น้ำ รินไหลกระแสธารได้ชั่วกาลนาน
คุณยายเล็กยุคเริ่มมีการถ่ายภาพสี
ถ่ายภาพไว้ก่อนที่พลอยโพยมย้ายบ้าน แต่ยายขาท่านสิ้นบุญไปแล้ว ด้านขวามือเริ่มมีต้นลำพูหรือต้นแสมก็ไม่แน่ใจเจริญเติบโตขึ้นโดยไม่มีคนคอยกำจัดตัดทิ้ง ปกติพ่อของพลอยโพยมมีหน้าที่กำจัดตัดแต่งต้นไม้หน้าบ้านโดยนาน ๆ ทำทีหนึ่ง ในครั้งนี้คงยังไม่ถึงรอบที่พ่อจะตัดแต่งนั่นเอง ต่อมาเมื่อครอบครัวพลอยโพยมย้ายมา คนที่อยู่ต่อไม่ได้ใส่ใจกำจัดตัดแต่งจึงกลายสภาพเป็นภาพแรกไปในที่สุด
คุณยายเล็กขณะอายุ 80 กว่าปี และต่อมาย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ โดยรื้อบ้านอายุร้อยกว่าปีที่อยู่ข้างบ้านหลังนี้ถวายวัดบางกรูดหมด ท่านมีอายุต่อมาถึง 96 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น