วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๕๔ ราชาปเสนทิโกศล
พระเจ้าปเสนทิโกศลในจินตภาพของจิตรกรไทย
ขอขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org
พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นพุทธมามกะ และเป็นศาสนูปถัมภก (ผู้อุปถัมภ์ศาสนา) ที่สำคัญในสมัยพุทธกาล ทรงมีความรักและความเคารพพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ
ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าได้เข้ามาหมอบกราบแทบพระบาทพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า
"มหาบพิตร มีอะไรหรือจึงแสดงความรักความเคารพตถาคตถึงเพียงนี้"
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เลื่อมใสในพระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว เลื่อมใสในพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปฏิบัติดีแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ชาวสาวัตถี พระองค์ทรงกระทำให้มหาชนตั้งอยู่ในกุศล อยูาในความดี"
นอกจากนั้น พระเจ้าปเสนทืโกศลได้กราบทูลความเลื่อมใสในพระธรรม เทิดทูนในพระปัญญาอันยอดยิ่ง และความรักเคารพที่มีต่อพระพุทธองค์อีกหลายประการ ในที่สุดกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังมีอีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็เท่ากับอายุของหม่อมฉันด้วยเหตุนี้แล หม่อมฉันจึงได้มีความรักเคารพนบนอบเป็นอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงแสดงอาการฉันท์มิตรเช่นนี้"
ตรัสดังนั้นแล้วกราบทูลลาหลีกไป
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปแล้วไม่นาน พระพุุทธองค์มีรับสั่งกับพระภิกษุทั้งหลายว่า
"พระเจ้าปเสนทิโกศลพระองค์นี้ตรัสธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม เธอทั้งหลายจงเรียนธรรมเจดีย์นี้ไว้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเจดีย์นี้ประกอบด้วยประโยขน์ เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์"
พระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อมีโอกาสก็จะเสด็จมาเฝ้าเนือง ๆ เพราะความรักเคารพในพระพุทธองค์ ใคร่จะสนทนาด้วย บางครั้งพระพุทธองค์ทรงอนุเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นการส่วนพระองค์ เช่น ในโทณปากสูตร อสดงไว้ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้นเสวยจุ จึงทรงมีน้ำหนักมาก เวลาประทับนั่งก็ไม่สะดวก ประทับยืนก็ไม่คล่องแคล่ว เมื่อเสด็จมาเฝ้าก็มีอาการอึดอัด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสพระคาถาว่า
" มนุษย์ผู้มีสติอยู่ทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะ ย่อมมีเวทนาเบาบาง แก่ช้า และมีอายุยืน"
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สติ ให้สุทัศนกุมาร พระนัดดาซึ่งตามเสด็จมาด้วยเรียนพระคาถานี้ไว้ เวลาที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสวยครั้งใด สุทัษนกุมารก็จะกล่าวพระคาถานี้ ทำใหเสวยแต่พอประมาณ ต่อมาปรากฎว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเป่าคล่องแคล่วขึ้น ทรงระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ตรัสว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์เราด้วยประโยชน์ทั้งสองอย่าง คือ ทิฏฐธัมมิกัตถะและสัมปรายิกัตถะ"
ยังมีบทสนทนาธรรมของพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระพุทธเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งได้มีการบันทึกไว้ในพระไตรปิฎก อีกดังนี้
๑ พบพระพุทธเจ้าครั้งแรก
พระเจ้าปเสนทโกศลทรงสนพระทัยในเรื่องศาสนามาก ในสมัยนั้นมีเจ้าลัทธิศาสนา ตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนธรรมอยู่หลายท่าน ที่มีชื่อเสียงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์ ๖ ท่าน คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล นิครนถนาฏบุตร สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล ซึ่งมักจะรวมเรียกว่าศาสดาทั้ง ๖
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบกิตติศัพท์ (เสียงเล่าลือ) ดังกล่าวมีพระประสงค์จะพบพระอรหันต์ผู้ประกาศตนว่าเป็นพุทธะเป็นสัพพัญญู (ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง) จึงโปรดให้นิมนต์ศาสดาทั้ง ๖ ไปรับพระราชทานอาหารในพระราชวัง แล้วทรงตรัสถามตรงๆ ว่าท่านทั้งหลายสามารถปฏิญาณ (ยืนยัน) ได้หรือไม่ว่าเป็นพุทธะ ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธญาณ ศาสดาทั้ง ๖ เกรงพระบรมเดชานุภาพของพระราชา คิดว่าถ้าหากทูลว่าตนเป็นพุทธะ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสถามธรรมที่ลึกซึ้งอันเป็นพุทธวิสัย จะไม่อาจทูลตอบได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะถูกลงโทษฐานหลอกลวงมหาชนว่าเป็นพุทธะจึงได้นิ่งเสีย ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิญาณว่าตนเองเป็นพุทธะ เมื่อถูกถามซ้ำอีกไม่มีทางตอบบ่ายเบี่ยงเป็นอย่างอื่น จึงต้องยอมรับว่าพวกตนมิได้เป็นพุทธะ เป็นแต่คณาจารย์ธรรมดา คำที่เล่าลือกันว่าเป็นพุทธะนั้นเป็นเรื่องของสาวกบริวารที่ยกย่องกันเอง
เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นมคธแล้วอีก ๒ ปีต่อมาก็ได้แผ่ไปถึงแคว้นโกศล มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบริจาคทรัพย์สร้างวัดในกรุงสาวัตถีเมืองหลวงของแคว้นโกศลหลายแห่ง เช่น อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดพระเชตวันมหาวิหารและนางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างวัดบุพพาราม
คราวหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดพระเชตวัน แล้วทูลถามว่าท่านพระโคดมทรงปฏิญาณได้หรือไม่ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระองค์ทรงปฏิญาณว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยมแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่าบรรพชิตเหล่าอื่น เช่น ศาสดาทั้ง ๖ เมื่อพระองค์ตรัสถามว่าท่านเหล่านั้นปฏิญาณได้หรือไม่ว่าเป็นผู้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ก็ไม่มีผู้ใดปฏิญาณสักคน ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีอายุมากแล้ว เป็นเจ้าลัทธิที่มหาชนยกย่อง ส่วนพระพุทธเจ้ายังทรงหนุ่มอยู่ ผนวชมาก็ไม่สู้นาน ไฉนพระองค์จึงกล้าปฏิญาณเล่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า
ดูก่อนมหาบพิตร สิ่ง ๔ ประการ เหล่านี้ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย คือ
๑ .กษัตริย์ ไม่ควรดูหมิ่นว่าว่ายังทรงพระเยาว์
๒. งู ไม่ควดูหมิ่นว่าตัวเล็ก
๓. ไฟ ไม่ควรดูหมิ่นว่าเล็กน้อย
๔. ภิกษุไม่ควรดูหมิ่นว่ายังใหม่ต่อเพศบรรพชิต
ของ ๔ อย่างนี้ไม่ควรดูถูกดูหมิ่นว่าเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะ
พระมหากษัตริย์ เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว เมื่อพิโรธย่อมทรงลงพระอาญาหนักแก่ชายหญิงได้
งู ที่บ้านหรือป่าก็ตามไม่พึงดูหมิ่นว่าตัวเล็ก เพราะงูเป็นสัตว์มีพิษ พร้อมที่จะฉกกัด ทำร้ายชายหญิงผู้เชลา เพราะฉะนั้นผู้พึงรักษาชีวิตตน พึงงดเว้นการดูหมิ่นว่างูนั้นตัวเล็ก
ไฟ แม้กองเล็ก แต่เมื่อได้เชื้อย่อมลุกเป็นกองใหญ่ ลามไหม้ชายหญิงผู้เขลาในบางคราว เพราะฉะนั้นผู้รักษาชีวิตตนพึงงดเว้นการดูหมิ่นไฟนั้นว่ากองเล็ก
ภิกษุใด ดูหมิ่นภิกษุผู้ยังใหม่ต่อเพศบรรพชิต แต่สูงด้วยคุณธรรม เดชแห่งศีลของภิกษุ ย่อมทำความพินาศแก่ผู้นั้น อีกทั้งทายาทจะไม่ได้รับทรัพย์มรดก บุคคลนั้นจะเป็นผู้ปราศจากเผ่าพันธุ์ เปรียบเสมือนตาลยอดด้วน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นบัณฑิต
พิจารณาเห็นกษัตริย์ผู้ทรงยศ งู ไฟ และภิกษุผู้มีศีล ว่าเป็นแก่ตน พึงประพฤติต่อสิ่งเหล่านั้นโดยชอบทีเดียว
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"ฃ้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงยกข้าพระองค์ซึ่งตกไปในอสัทธรรมไว้ในสัทธรรม เหมือนบุคคลที่หงายของที่คว่ำ ทรงเปิดพระศาสนาที่มิจฉาทิฏฐิปิดไว้ ทรงกระทำทางสวรรค์และนิพพานให้ชัดแจ้งแก่ข้าพระองค์ เมือนทรงบอกทางแก่ผู้หลงทาง ทรงชูดดวงประทีปคือพระธรรมเทศนาที่กำจัดความมืด คือ โมหะแก่ข้าพระองค์ ผู้ไม่เห็นพระรัตนตรัย เหมือนทรงส่องประทีปในความมืด ทรงประกาศธรรมแก่ข้าพระองค์โดยปริยายเป็นอันมาก ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม และภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรคมณ์จนตลอดชีวิต "
ภาพวาดพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าพบพระพุทธเจ้าครั้งที่สอง
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
๒ ทรงถวายภัตตาหารพระสงฆ์เป็นประจำ
เช้าวันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับยืนอยู่ในปราสาทชั้นบนทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์จำนวนมากเดินไปตามถนน ทรงตรัสถามราชบุรุษว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายไปไหนกัน เมื่อราชบุรุษทูลว่าพระภิกษุเหล่านี้ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง ที่บ้านของนางวิสาขาบ้างเป็นประจำทุกวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงประราชศรัทธานิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าภิกษุสงฆ์เข้าไปรับภัตตาหารในพระราชวังติดต่อกัน ๗ วัน ในวันสุดท้ายขอนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป มารับบิณฑบาตเป็นประจำ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าตามธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่รับภัตตาหารในที่แห่งเดียวเป็นประจำ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทูลขอให้พระพุทธเจ้ามอบหมายให้ภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้แทนพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบหมายให้เป็นภาระของพระอานนท์
พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเตรียมอาหารไว้ถวายพระภิกษุที่มารับบิณฑบาตวันละ ๕๐๐ รูป แต่ไม่ได้มอบหมายหน้าที่ให้ราชบุรุษผู้ใดเป็นผู้ตักบาตร ตามธรรมดาพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระราชภาระมาก บางวันเสด็จมาทรงบาตรช้าไป บางวันก็ไม่สามารถมาได้ ครั้งหนึ่งทรงลืมติดต่อกันถึง ๓ วัน พระภิกษุที่มารับบิณฑบาตก็เริ่มระอา มาสู่ที่นิมนต์ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนเหลือแต่พระอานนท์รูปเดียวเท่านั้น ครั้นวันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระลึกขึ้นได้ เสด็จมาจะทรงบาตร ก็เห็นพระอานนท์อยู่รูปเดียว อาหารที่จัดไว้เหลืออยู่มากมาย จึงตรัสถามราชบุรุษว่าพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายมิได้มาหรือ ทรงสดับว่าพระอานท์มารูปเดียวเท่านั้น ทรงพิโรธพระภิกษุว่ารับนิมนต์แล้วไม่มา จึงเสด็จไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ทรงติเตียนภิกษุ แต่ทรงชี้แจงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบว่า การที่สาวกของพระองค์ไม่เข้าไปรับบิณฑบาตในราชสำนักเพราะยังไม่มีความคุ้นเคย
๓. ทรงเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า
ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศลเมื่อเสด็จกลับไปแล้ว ทรงดำริว่าเราควรทำความคุ้นเคยกับภิกษุสงฆ์จะทำอย่างไรดีหนอ ภิกษุสงฆ์จึงจะคุ้นเคยกับเรา ทรงดำริว่าถ้าเราอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงในตระกูลศากยะ ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า ภิกษุสงฆ์ก็จะเกิดความคุนเคยกับเรา เพราะคิดว่าเราเป็นญาติของพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงส่งพระราชสาส์นไปขอธิดาของวงศ์ศากยะมาเพื่ออภิเษกเป็นพระมเหสี ปรากฏว่าทางศากยวงศ์ประชุมกันแล้วไม่เต็มใจที่จะถวาย แต่เนื่องด้วยเกรงพระราชอำนาจของพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงจำใจส่งเจ้าหญิงวาสภขัตติยา ธิดาของพระเจ้ามหานามะ ผู้เกิดจากนางทาสี (หญิงรับใช้ของพระเจ้ามหานามะ) ไปถวาย พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพอพระทัย อภิเษกไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี ต่อมาพระนางวาสภขัตติยาประสูติพระโอรสองค์หนึ่ง คือ วิฑูฑภะ ภายหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่าพระนางเป็นธิดาของนางทาสี ทรงกริ้วมาก รับสั่งให้ปลดพระนางวาสภขัตติยาจากตำแหน่งอัครมเหสีและวิฑูฑภจากตำแหน่งรัชทายาท และให้ริบเครื่องอิสริยยศที่เคยพระราชทานแก่พระนางวาสภขัตติยา และพระโอรส
ต่อมาอีก ๒-๓ วัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงทูลเรื่องนี้ ด้วยความน้อยพระทัยว่าพระญาติของพระพุทธเจ้าประทานลูกทาสีมาให้เป็นอัครมเหสี พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"มหาบพิตร พวกเจ้าศากยะไม่สมควรทำอย่างนี้ ธรรมดาเมื่อจะให้พระธิดาก็ควรให้พระธิดาที่มีพระชาติเสมอกัน"
เป็นการแสดงความเห็นใจ ทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงคลายความขุ่นพระทัยลงที่ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นฝ่ายเดียวกับพระองค์ไม่เข้าข้างฝ่ายพระญาติ เมื่อพระเจ้าปเสนิโกศลได้ระบายความน้อยพระทัย และได้รับความเห็นใจจากพระพุทธเจ้าที่ทรงยอมรับว่าพวกเจ้าศากยะทำไม่ถูก เป็นการแสดงอารมณ์ร่วมแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงชี้แจงต่อไปว่าพระนางวาสภขัตติยาเป็นราชธดาของกษัตริย์ ได้รับการอภิเษกในตระกูลของกษัตริย์ แม้วิฑูฑภะกุมารก็ถือกำเนิดจากกษัตริย์วงศ์ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สำคัญ วงศ์ตระกูลฝ่ายบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งในสมัยโบราณก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงผู้ยากจนมีอาชีพหาบฝืน และโอรสที่เกิดจากอัครมเหสีนั้นต่อมาก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับพระโอวาทแล้วทรงเห็นจริงว่าวงศ์ตระกูลของบิดาเท่านั้นเป็นสำคัญ จึงโปรดให้คืนยศและตำแหน่งแก่พระนางวาสภขัตติยาและวิฑูฑภะพระโอรสดังเดิม
๔ ทรงถวายอสทิสทาน
ขอขอบคุณภาพจากwww.dmc.tv
ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่พระเชตวันมหาวิหาร พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลปราศรัยถึงเรื่องต่าง ก่อนจะเสด็จกลับได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งภิกษุ ๕๐๐ รูปรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น ในพระราชฐานและตรัสชวนประชาชนที่มาฟังธรรมในพระเชตวันมหาวิหารให้ไปร่วมอนุโมทนาทานนั้นด้วย เมื่อถึงเวลาพระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ทรงทำภัตกิจที่ในวัง ชาวเมืองก็ไปร่วมอนุโมทนาด้วยมากมาย เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วชาวเมืองจึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้ากับภิกษุ ๕๐๐ รูป เสวยภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น และทูลเชิญเสด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล พร้อมทั้งอำมาตย์-ราชบริพารมาอนุโมทนาด้วย
พระเจ้าปเสนทิโกศลกับชาวเมืองผลัดกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระ และเชิญอีกฝ่ายหนึ่งมาร่วมอนุโมทนาอย่างนี้ถึงฝ่ายละ ๖ ครั้ง ในครั้งแรก ๆ ก็เกิดด้วยศรัทธาปสาทะ แต่ครั้งหลัง ๆ กลายเป็นแข่งขันกันไปโดยไม่รู้ตัว ชาวเมืองพยายามหาของดีๆ ของแปลกๆ เช่น พืช ผัก และผลไม้ที่หายากมาถวาย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงพยายามจัดหาของที่ดีและประณีตให้มีแปลกมีใหม่ แต่ก็สู้ชาวเมืองไม่ได้สักครั้ง เพราะชาวเมืองมีจำนวนมากร่วมกันถวายทีหลัง จึงสามารถจัดของถวายให้แปลกให้ดีกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงปริวิตกถึงเรื่องนี้จึงตรัสเล่าให้พระนางมัลลิกาเทวีทราบ
พระนางมัลลิกาเทวีทรงหาวิธีที่จะให้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะชาวเมืองจึงจัดทานที่เรียกว่า "อสทิสทาน" แปลว่าทานที่หาผู้ทำเสมอมิได้ คือทานที่ไม่มีใครเหมือน พระนางมัลลิกาเทวีเป็นผู้ฉลาด แทนที่จะเอาชนะด้วยภัตตาหารที่แปลกที่ประณีตที่หายาก พระนางกลับเอาชนะด้วยพิธีการที่ยิ่งใหญ่จนชาวเมืองทำตามไม่ได้ คือ ให้ปลูกพระมณฑปใหญ่สำหรับเป็นที่ฉันภัตตาหารสำหรับพระ ๕๐๐ รูปที่กลางสนามหลวง ที่อาสนะสำหรับพระแต่ละรูป มีช้างยืนถือเศวตรฉัตรบูชาพระอยู่เบื้องบน และให้เจ้าหญิงแห่งราชตระกูลเป็นผู้ถวายภัตตาหาร ชาวเมืองไม่มีช้าง ไม่มีเศวตรฉัตร ไม่มีเจ้าหญิง จึงไม่อาจแข่งขันกับพระเจ้าปเสนทิโกศลได้
ขอขอบคุณภาพจากpeonyice17.blogspot.com
๕. พบพระพุทธเจ้าครั้งสุดท้าย
ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เมทฬุปนิคม ในแคว้นสักกะของพวกศากยะ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จประพาสหัวเมืองผ่านมาทางนั้น โปรดให้พักกองทัพไว้ไม่ไกลวัดนัก ตั้งพระราชหฤทัยจะเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้อำมาตย์ผู้ใหญ่ชื่อว่าทีฑการายนะรักษาไว้ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีกราบทูลถึงความที่พระองค์มีความเคารพนับถือพระพุทธเจ้าด้วยเหตุต่างๆ เป็นอันมาก ในตอนสุดท้ายกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นกษัตริย์ หม่อมฉันก็เป็นกษัตริย์ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นชาวโกศล หม่อมฉันก็เป็นชาวโกศล พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ ปี หม่อมฉันก็มีอายุ ๘๐ ปีเหมือนกัน..."
ในระหว่างที่พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด้จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระคันธกุฎีแต่เฉพาะพระองค์ ทีฆการายนะอำมาตย์เห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์กลับไปกรุงสาวัตถี สถาปนาวิฑูฑภะซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี (แม่ทัพ) ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทน เหลือไว้แต่ม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทูลลาเสด็จกลับออกมาจากพระคันธกุฎีไม่พบทีฆการายนะอำมาตย์ ซึ่งพระองค์มอบให้รักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไว้จึงเสด็จไปยังค่ายที่พักพล พบเพียงม้าตัวหนึ่งกับนางสนมคนหนึ่ง สอบถามได้ความว่าทีฆการายนะอำมาตย์กับวิฑูฑภะเสนาบดียกกองทัพกลับกรุงสาวัตถีแล้วพร้อมทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ก็ทรงแน่พระทัยว่าเจ้าชายวิฑูฑภะเป็นขบถแน่ จึงเสด็จไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อขอกำลังทหารจากพระเจ้าอชาตศัตรูราชาแห่งแคว้นมคธผู้เป็นพระราชนัดดาไปกู้ราชบัลลังก์คืน แต่เนื่องด้วยทรงพระชราและทรงเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง จึงสิ้นพระชนม์อยู่นอกประตูเมืองราชคฤห์ในราตรีที่เสด็จไปถึงนั่นเอง นางสนมที่โดยเสด็จก็ร้องไห้คร่ำครวญความทราบถึงพระเจ้าอชาตศัตรู จึงโปรดให้จัดการพระบรมศพให้เสร็จสิ้นไปด้วยดี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://clubchay.tripod.com/buddha/buddha11.html
สู่แดนพระพุทธองค์อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี ( ว.ป. วีรยุทฺโธ)
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น