วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สูแดนพระพุทธองค์ ๔๗ แคว้นอวันตี





แคว้นอวันตี หรือแคว้นมาลวะ ตั้งอยู่เหนือภูเขาวินธัย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอัสสกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ นครหลวงชื่ออุชเชนี (บัดนี้คือเมืองอุเทนในประเทศอินเดีย)

แคว้นอวันตี ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเทือกเขาวินธัยหรือวินธยะ ทางใต้ของแคว้นมัจฉะ และทางตะวันตกของแคว้นวังสะ
เทือกเขาวินธัยถือเป็นแดนกำหนดเขตที่เรียกกันว่า อินเดียตอนเหนือของอินเดียตอนใต้

ผู้รู้ในปัจจุบันทั่วไปมีความเห็นว่า เขตของมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล ด้านทิศใต้คงแค่จดเทือกเขาวินธัย แล้วเริ่มจากฟากเขาด้านทิศใต้เป็นต้นไป ก็เป็นปัจจันตชนบท แคว้นอัสสกะตั้งอยู่ใต้เทือกเขาวินธัยลงไป จึงจัดว่าอยู่นอกเขตมัชฌิมประเทศ

เขตของแคว้นอวันตีเองก็มีส่วนหนึ่งที่นับเข้าในปัจจันตชนบทเทียบกับปัจจุบัน เขตของแคว้นอวันตี กล่าวอย่างคร่าว ๆ ได้แก่ อาณาเขตในบริเวณจังหวัดอุชเชน หรืออุซไชน์ นิมาร์ตะวันตก นิมาร์ตะวันออก อินโดร์ และวิทิศา รวมกับอาณาเขตใกล้เคียงด้วยทั้งหมดอยู่ในรัฐมัธยประเทศ ซึ่งมีโภปาลเป็นเมืองหลวงจากหลักฐานที่มีปรากฏในคัมภีร์ทางพุทธและอื่น ๆ



แคว้นอวันตีในสมัยพุทธกาลคงจะแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเป็นอวันตีเหนือ ซึ่งมีอุชเชนี เป็นเมืองหลวง กับอวันตีใต้ หรือ อวันติทักขิณาปถะ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อมาหิสสติ หรือมาหิศมตี อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงแคว้นอวันตี ปกติก็เป็นที่เข้าใจกันว่า มีเมืองหลวงหรือราชธานีอยู่ที่อุชเชนี และมีพระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นพระราชาผู้ครองแคว้น

อุชเชนี ปัจจุบันได้แก่เมืองอุชเชน หรืออุชไชน์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสิปรา ส่วนมาหิสสตินั้น กล่าวว่าอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาหรือ นรมทา

แต่ยังไม่มีความเห็นลงกันแน่นอนเกี่ยวกับที่ตั้งของเมืองอวันติทักขิณาปถะ
ความในบาลีจัมมักขันธกะ แห่งมหาวรรควินัยปิฎก แสดงว่า อยู่ในเขตซึ่งจัดเป็นปัจจันตชนบทพระพุทธองค์ทรงปรารภเหตุที่อวันติทักขิณาปถะนี้ ตามคำกราบบังคมทูลของพระมหากัจจายนะ ผ่านพระโสณะกุฏิกัณณะจึงได้มีพระพุทธานุญาตผ่อนปรนข้อปฏิบัติบางอย่างเกี่ยวกับพระวินัย ให้แก่ภิกษุผู้อยู่ในปัจจันตชนบท อาทิเช่น ให้สงฆ์ปัญจวรรคคือมีจำนวนภิกษุ ๕ รูป ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรได้
ซึ่งในมัชฌิมประเทศสงฆ์ทศวรรค คือมีจำนวนภิกษุ ๑๐ รูปจึงจะสามารถทำกรรมนั้นได้

ในสมัยพุทธกาล อวันตีเป็นราชอาณาจักรที่รุ่งเรืองยิ่งอาณาจักรหนึ่ง พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงเป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็งมาก พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธ และต่อมากับพระเจ้าอุเทนแห่งแคว้นวังสะหรือกรุงโกสัมพีเกี่ยวกับการศาสนา

พระพุทธศาสนาได้แผ่มายังแคว้นอวันตี และถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงตั้งแต่ในสมัยของพระพุทธองค์

มีกล่าวไว้ว่า ภายหลังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงธรรมแก่ประชุมชน และธรรมที่ทรงแสดงนั้นบริสุทธิ์แท้จริง ให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติตามเป็นธรรมมีเหตุผล ซึ่งผู้สดับสามารถนำไปปฏิบัติให้เห็นจริงได้

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงสดับข่าวนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะใคร่เชิญเสด็จพระพุทธองค์ ไปประกาศพระศาสนาที่กรุงอุชเชนี จึงได้ตรัสสั่งปุโรหิตของพระองค์ชื่อ กัจจานะ หรือกัจจายนะให้ไปเชิญเสด็จ

กัจจายนะปุโรหิตทูลลาบวชด้วยครั้นแล้วได้ออกเดินทางพร้อมกับบริวาร ๗ คน ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ทั้งหมดสดับพระธรรมเทศนาแล้ว บรรลุพระอรหัตผล และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุพุทธสาวก

หลังจากนั้นท่านพระมหากัจจายนะได้ทูลเชิญเสด็จพระบรมศาสดาไปกรุงอุชเชนี ตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต

พระบรมศาสดาตรัสให้กลับไปเอง โดยรับสั่งว่า เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าแผ่นดินจักทรงเลื่อมใส ท่านพระมหากัจจายนะถวายบังคมลา กลับไปกรุงอุชเชนีพร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นบริวาร ประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชต และประชาชนเลื่อมใสยอมรับนับถือ จนมีผู้ออกบวชในพระศาสนาเป็นจำนวนมาก

พระพุทธศาสนาจึงตั้งมั่นเป็นปึกแผ่นในแคว้นอวันตีเริ่มแต่นั้นมาท่านพระมหากัจจยนะ เป็นพระสาวกขั้นผู้ใหญ่ที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ หรือเป็นยอดแห่งภิกษุผู้มีความสามารถอธิบายความแห่งคำที่ย่อให้พิสดาร ผลงานเพื่อพระศาสนาของท่าน นอกจากที่ได้แสดงธรรมประกาศพระศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและประชาชนชาวอวันตีเลื่อมใส ประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นอวันตีเป็นผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชมดังกล่าวแล้ว

ท่านยังได้แสดงธรรมแก่พระเจ้ามธุราชอวันตีบุตร แห่งกรุงมธุราหรือมถุราดังได้กล่าวถึงแล้ว ในเรื่องของแคว้นสุรเสนะ จนพระเจ้ามธุรราช ทรงมีความเลื่อมใสยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาตามด้วยประชาชนชาวแคว้นอีกเป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นในแคว้นนี้อีก

พระเจ้าอัสสกะแห่งกรุงโปตลิกับพระราชกุมาร สดับธรรมเทศนาของท่านแล้วมีความเลื่อมใสประกาศพระองค์เป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา ผลงานของท่านนอกจากที่กล่าวนี้ยังมีอีกมาก ท่านเป็นพระสาวกซึ่งได้รับยกย่องอย่างยิ่งสูงยิ่งองค์หนึ่ง



ราวพุทธศักราช ๒๐๐ แคว้นอวันตีได้ถูกรวมเข้าในมหาอาณาจักรเมารยันแห่งปาฏลิบุตรหรือแคว้นมคธ เข้าใจกันว่าในรัชสมัยของ พระเจ้าพินทุสาร พระราชบิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ก่อนได้ราชสบัติสืบต่อจากพระราชบิดา

พระเจ้าอโศกได้มาเป็นอุปราช ปกครองแคว้นอวันตีอยู่ที่อุชเชนี ในการเสด็จจากกรุงปาฏลีบุตรมายังอุชเชนี เมื่อเสด็จกถึงวิทิศาอันเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของอวันตีทรงได้พระชายาองค์แรก คือพระนางเทวี ผู้ซึ่งตำนานกล่าวว่า เป็นเชื้อสายแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ที่หนีภัยจากการทำลายล้างของพระเจ้าวิฑูฑพภะ มาอยู่ที่วิทิศาพระมหินทเถระพระนางสังฆมิตตาเถรี ผู้นำพระพุทธศาสนาไปประกาศในลังกาทวีป ซึ่งทราบกันดีว่า เป็นพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นประสูติแต่พระนางเทวีนี้ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช

ซึ่งตามมติของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทว่า ทรงครองราชย์เมื่อพุทธศักราช ๒๑๘ และทรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา ๔๐ ปีการพระศาสนาในแคว้นนี้เจริญรุ่งเรืองมาก แคว้นนี้เป็นที่ตั้งแห่งสถูปเจดีย์จำนวนมาก เช่น พระสถูปสาญจี อันเป็นปชนียวัตถุที่สำคัญและมีชื่อเสียงยิ่งแห่งหนึ่งในปัจจุบันนี้ เป็นต้น

กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นอวันตีโดยกำเนิด มี ๒ รูป คือ พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ แต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้ว มีความประสงค์จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล จึงบอกพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ให้ทราบ

พระอุปัชฌาย์ได้มอบหมายให้ท่านทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงผ่อนผันพระวินัย ๕ ข้อ ท่านทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดียิ่ง กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงผ่อนผันให้พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทปฏิบัติได้ตามที่พระมหากัจจายนะทูลขอดังกล่าวมาแล้ว นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับพระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบท

คราวที่เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงต้อนรับท่านด้วยดี ทรงอนุญาตให้ท่านพักค้างคืนในพระคันธกุฏีของพระองค์ ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านได้แสดงสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรค ได้อย่างไพเราะ ไม่ผิดทั้งสระและพยัญชนะ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสชมท่าน ท่านอยู่กับพระพุทธเจ้า เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ทูลลากลับแคว้นอวันตี

ต่อมาโยมมารดาของท่านทราบว่า ท่านแสดงธรรมถวายพระพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ตนฟังบ้าง ขณะโยมมารดากำลังฟังธรรมอยู่นั้น โจรก๊กหนึ่งจำนวน ๙๐๐ คน ได้เข้าปล้นบ้าน ขนข้าวของมีค่าจำนวนมากไป ขณะที่โจรขนของไปเป็นระยะๆนั้น มีคนใช้มารายงานให้โยมมารดาของท่านทราบอยู่ตลอดเวลา นางหาได้หวาดวิตกแต่อย่างใดไม่ ยังคงตั้งใจฟังธรรม พร้อมบอกอนุญาตให้โจรขนของออกไป ขอเพียงอย่ามารบกวนการฟังธรรมเท่านั้น

หัวหน้าโจรทราบเรื่องราวทั้งหมดของนางจากคนใช้แล้วรู้สึกประหลาดใจ ขณะเดียวกันก็นึกได้ว่า ตนเองทำไม่ถูกที่มาประทุษร้ายคนที่ไม่ประทุษร้าย และรู้สึกเกรงกลัวผลของความชั่วขึ้นมาทันที เขาบอกบริวารให้ขนของกลับ

และเมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง หัวหน้าโจรก็เข้าไปหาโยมมารดาของท่าน ขอโทษแล้วก็ขอล้างบาปด้วยการขอบวชเป็นสัทธิวิหาริกของพระโสณกุฏิกัณณะ ท่านได้บวชให้โจรเหล่านั้นตามความประสงค์ สัทธิวิหาริกของท่านทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลเสมอเหมือนกัน เพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา



พระมหากัจจายนะ วนเวียนจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีและแคว้นสุรเสนะ ซึ่งอยู่ใกล้กับแคว้นอวันตี คราวหนึ่งมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาหาท่านขณะจำพรรษาอยู่ที่ป่าคุนธาวัน เมืองมธุรา แคว้นสุรเสนะ พราหมณ์กัณฑรายณะเข้าไปสนทนาด้วย แล้วกล่าว หาว่าท่านไม่มีสามีจิกรรม คือไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า ท่านได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องคนแก่หนุ่มไว้ว่า

คนอายุ ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ถ้ายังเสพกามอยู่ ก็ยังนับว่าเป็นคนหนุ่มสาวอยู่ แต่คนหนุ่มแม้จะอยู่ในวัยแรกรุ่น ถ้าไม่เสพกาม ก็นับว่าเป็นคนแก่ได้ พราหมณ์กัณฑรายณะ ฟังแล้วเกิดความซาบซึ้ง จึงก้มกราบท่านแล้วประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

อีกคราวหนึ่ง ที่เมืองมธุราเช่นกัน พระเจ้ามธุรราชได้เข้าไปสนทนากับท่าน เรื่องการถือตัวของคนวรรณะพราหมณ์ ที่ถือตัวว่าประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม

พระมหากัจจายนะได้กล่าวถึงความไม่มีอะไรที่แตกต่างกันของคนทุกวรรณะ(ทุกชั้น) ดังนี้



๑. คนวรรณะใดเป็นผู้มั่งคั่ง คนวรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นพวกของคนวรรณะนั้น

๒. คนวรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายแล้วคนวรรณะนั้นย่อมไปเกิดในอบายเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๓. คนวรรณะใดทำการปล้นสดมภ์ เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น คนวรรณะนั้นต้องไดัรับโทษราชอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๔. คนวรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลธรรม คนวรรณะนั้นย่อมได้รับการนับถือ การบำรุง และการคุ้มครองเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

พระเจ้ามธุรราชทรงฟังแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส ถึงขั้นประกาศนับถือพระมหากัจจายนะเป็นสรณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ และทูลพระเจ้ามธุรราชให้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

พระเจ้ามธุรราชทรงทำตามที่ท่านแนะนำ แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรู้สึกเสียดายที่มาพบพระพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ แต่ก็สันนิษฐานว่า ท่านคงอยู่ที่แคว้นอวันตีนั้นเอง และส่วนใหญ่คงจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ เมืองกุรรฆระ อันเป็นชาติภูมิของท่านเอง จนกระทั่งนิพพาน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2554 โดย ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ
http://www2.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9540000152705

1 ความคิดเห็น:

  1. การเสวนาแดนดินถิ่นพระพุทธองค์ใน"มหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล"
    ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
    สรุปที่มีการเสวนากันแล้วพร้อมภาพ มีดินแดนดังนี้
    ๑. แคว้นกัมโพชะ มีเมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
    ๒.แคว้นกาสี มีเมืองหลวงชื่อ พาราณสี
    ๓.แคว้นโกศล มีเมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
    ๔.แคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงชื่อ ตักศิลา
    ๕.แคว้นเจตี มีเมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
    ๖.แคว้นปัญจาละ มีเมืองหลวงชื่อ กัมปิลละ
    ๗.แคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์
    ๘.แคว้นมัลละ มีเมืองหลวงชื่อ กุสาวดี (แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา)
    ๙.แคว้นวังสะ มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
    ๑๐.แคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อ เวสาลี (ไพศาลี)
    ๑๑.แคว้นอังคะ มีเมืองหลวงชื่อ จัมปา
    ๑๒. แคว้นโกลิยะ มีเมืองหลวงชื่อ เทวทหะ (รามคาม)
    ๑๓.แคว้นสักกะ มีเมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์

    ได้เก็บข้อมูลการเสวนาไว้ในฐานข้อมูลและอัลบัมในไลน์นี้

    ผู้สนใจเข้า id line 0959413536

    ตอบลบ