วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๔๙ แคว้นโกศล
แคว้นโกศล หรือ โกสละ
แคว้นโกศล ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง ทิศเหนือจดภูเขาหิมาลัยตะวันตก ทิศใต้จดแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสีต่อกับแคว้นมคธ นครหลวงชื่อสาวัถี (ปัจจุบันเป็นดินแดนราวเมืองอโยธยา หรือ โอธ บัดนี้เรียกว่า สะเหต-มะเหต ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำอจิรวดีหรือรับดิ ห่างจากเมืองโอธไปทางทิศเหนือราว ๘๐ กิโลเมตร และอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเขตแดนประเทศเนปาลราว ๕๐ กิโลเมตรแคว้นโกศลคือ อุตรประเทศในปัจจุบัน)
แคว้นโกศล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นมคธ โดยมีแคว้นกาสีคั่นอยู่ในระหว่าง ดังนั้นเขตของแคว้นโกศลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จึงติดกับแคว้นกาสี ทางตะวันตกติดกับแคว้นปัญจาละ ทางเหนือติดเทือกเขาหิมาลัย ทางตะวันออก ดูตามที่ตั้งของแคว้นต่าง ๆ จะเห็นว่าติดกับแคว้นมัลละ และต่อจากมัลละไปก็เป็นแคว้นวัชชี แต่มีบางตำรากล่าวว่า ติดกับเขตของวิเทหะ ซึ่งในสมัยพุทธกาลรวมอยู่ในแคว้นวัชชี
เมืองหลวงของแคว้นโกศลในพุทธสมัยคือ สาวัตถีพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองแคว้นคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล
แคว้นโกศล มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า อูธ ชื่อนี้เลือนมาจากคำว่า อโยธยา อันเป็นชื่อเมืองสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ในฐานะ เป็นเมืองหลวงดั้งเดิมของแคว้นและเป็นเมืองของพระรามตามคัมภีร์รามายณะ หรือเรื่องรามเกียรติ์ อโยธยามีความสำคัญดังกล่าว ต่อ ๆ มาชื่อเมืองเลยเรียกกันเป็นชื่อแคว้นด้วย เมืองอโยธยา ยังมีอยู่ในปัจจุบัน เรียกกันว่า อโยธยาบ้าง ว่าอูธบ้าง และว่าอวัธบ้าง
แคว้นโกศล หรืออูธดังกล่าวนี้ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ หรือรัฐเหนือของอินเดียประมาณอย่างคร่าว ๆ ได้แก่พื้นที่เริ่มแต่จังหวัดลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศในปัจจุบันขยายออกทางเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อยไปจนจดเขตประเทศเนปาล แล้วเลยเข้าไปในเนปาลจนถึงเทือกเขาหิมาลัย
รายละเอียดเกี่ยวกับอาณาเขตของแคว้น ในสมัยพุทธกาล ไม่มีบอกไว้โดยแน่ชัดที่บอกไว้บ้างก็ขัดแย้งกัน ความเห็นของผู้รู้ ส่วนมากขณะนี้ว่า ทางตะวันออกถึงลำน้ำคัณฑักน้อย ซึ่งลงความเห็นกันว่าได้แก่ แม่น้ำหิรัญวดีในพุทธสมัย ทิศตะวันตก ถึงแม่น้ำโคมตี หรือคุมตี ทิศใต้ จดแม่น้ำไซ หรือซาอี ซึ่งเรียกในสมัยก่อนว่าสุนทริกาบ้าง สยันทิกาบ้าง ส่วนทางเหนือ ก็เลยเขตอินเดียในปัจจุบันเข้าไปในเนปาล จนถึงเทือกเขาหิมาลัยดังกล่าวแล้ว
เทือกเขาหิมาลัยที่เนปาล
ขอขอบคุณภาพจากtravel.thaiza.com
สาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลในพุทธสมัย ปัจจุบันได้แก่ซากซึ่งเรียกว่าสาเหตและมาเหต หรือสาเหฐ และมาเหฐ ที่เขตติดต่อของจังหวัดบหราอิจ และจังหวัดโคณฑา หรือคอนดา ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดลัคเนาว์ ห่างจากตัวจังหวัดบหราอิจ ๔๖ กิโลเมตร (๒๙ ไมล์) จากโคณฑา ๕๙ กิโลเมตร(๓๗ไมล์) และห่างจากพลรามปูร์ ของจังหวัดโคณฑาอันเป็นชุมทางรถยนต์และรถไฟที่ใกล้ที่สุด ไปทางตะวันตก ๑๖ กิโลเมตร หรือ ๑๐ ไมล์ได้มีการขุดค้นสำรวจ และได้พบหลักฐานบ่งให้ทราบแน่ชัดว่า ซากซึ่งเรียกว่า สาเหต คือ พระเชตวันมหาวิหาร วัดซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในพุทธสมัย และที่เรียกมาเหต ให้แก่ ตัวเมืองสาวัตถี ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน ซากตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งทิศใต้ ของแม่น้ำ ราปติ อันได้แก่แม่น้ำอจิรวดีในพุทธสมัย
ซากประตูเมืองสาวัตถี
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
ซากพระเชตวันตั้งอยู่ทางใต้ของตัวเมือง ห่างจากเขตกำแพงเมืองตอนใกล้ที่สุดราว ๑ กิโลเมตรหรือประมาณครึ่งไมล์ ซากของสาเหตหรือ พระเชตวันมหาวิหารมีเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ไร่ (๓๒ เคอร์) ได้มีการขุดค้นสำรวจพบซากกุฏิ วิหาร สถูปเจดีย์ และเสนาสนะสงฆ์อื่น ๆ แล้วมากมาย ส่วนที่มาเหตหรือตัวเมืองสาวัตถี ซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางมากกว่ามากนั้น การขุดค้นสำรวจยังทำได้ไม่มากนักบริเวณซึ่งรวมเรียกว่า สาเหตมาเหต ครอบคลุมเนื้อที่กว้างขวาง ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตโคณฑา อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตของบหราอิจ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตบหรากิจปัจจุบันชื่อ สาเหตมาเหต เรียกกันน้อยลง โดยมานิยมเรียกกันในชื่อว่า ศราวัสตีอันเป็นชื่อสันสกฤตของชื่อบาลีว่า สาวัตถี ที่เราใช้เรียกกัน
ซากพุทธสถานในวัดเชตวันมหาวิหาร
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
ในสมัยพุทธกาล แคว้นโกศลเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองและมีอำนาจมาก แคว้นกาสีในสมัยนั้นก็ขึ้นกับแคว้นโกศล มีหลักฐานมากแห่งทั้งทางฝ่ายพุทธและอื่น ๆ แสดงว่าแคว้นสักกะแห่งกษัตริย์ศากยวงศ์ของพระพุทธองค์ ก็อยู่ภายใต้อำนาจ หรือความคุ้มครองของแคว้นโกศล นครหลวงสาวัตถีของแคว้นโกศล เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับพระพุทธองค์ และการพระศาสนาในสมัยนั้น พระพุทธองค์ ประทับจำพรรษาที่สาวัตถีรวม ๒๕ พรรษา โดยเสด็จประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร ๑๙ พรรษา และที่บุพพาราม ๖ พรรษา
พระเจ้าปเสนทิโกศล และพระนางมัลลิกาอัครมเหสี ทรงมีส่วนอย่างมากในการประกาศคำสอนของพระพุทธองค์ที่สาวัตถีนี้ พระพุทธองค์ทรงได้บุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญที่สุด ในฝ่ายอุบาสกและอุบาสิกา คืออนาถบิณฑิกะเศรษฐีมหาอุบาสก และนางวิสาขามหาอุบาสิกา
นางวืสาขา
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.kunkroo.com
ท่านทั้งสองได้บริจาคทรัพย์จำนวนมหาศาลสร้างพระเชตวันมหาวิหารและบุพพารามโดยลำดับ ถวายแด่พระพุทธองค์เพื่อเป็นสังฆารามในพระพุทธศาสนา ทั้งยังได้ถวายอุปถัมภ์แก่พระพุทธองค์กับพระภิกษุสงฆ์ในด้านอื่น ๆ อีกนานัปการ ปรากฏเป็นเกียรติเด่นอยู่ในประวัติของพระศาสนาตราบจนกระทั่งปัจจุบัน พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ได้สร้างวัดถวายแด่พระพุทธองค์วัดหนึ่ง ชื่อ วัดราชการามโดยพระพุทธองค์เสด็จจำพรรษา ณ สาวัตถี รวมถึง ๒๕ พรรษา จากจำนวนทั้งหมด ๔๕ พรรษา ของระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ เหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้น ณ สาวัตถี ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธองค์ด้วย จึงมีอยู่เป็นอันมาก ยกเว้นเรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าปเสนทิโกศล เกี่ยวกับท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี และนางวิสาขาแล้ว
เรื่องอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีก็มีอีกเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เรื่องพระองคุลิมาล เรื่องปฏาจาราเถรี เรื่องนางกาลียักขินีเรื่องนางจิญจมาณวิกา เรื่องนางสีกาโคตมีเถรี เรื่องนางมัลลิกา เรื่องการถวายอสทิสทาน เรื่องพันธุละเสนาบดี และนางมัลลิกาภรรยา เรื่องพระเจ้าวิฑูฑพภะ เรื่องพระนางวาสภขัตติยา เรื่องพระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพระภิกษุไข้ เรื่องพราหมณ์จูเฬกสาฏก เรื่องพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ พระสุบินนิมิต ๑๖ ประการ ของพระเจ้าปเสนทิโกศล เรื่องทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ และเรื่องพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบ
พระสูตรต่าง ๆ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงขณะประทับอยู่ ณ สาวัตถีมีมากมายสุดที่จะนับได้ เฉพาะบางสูตรซึ่งรู้จักกันดีหรือได้ยินชื่อบ่อย ๆ มีอาทิเช่น มงคลสูตร ธชัคคสูตร ทสธัมมสูตร สาณียธัมมสูตร อหิราชสูตร เมตตานิสังสสูตรคิริมานนทสูตร ธัมมนิยามสูตร อปัณณกสูตร อนุตตริยสูตร พลสูตร มัคควิภังคสูตรโลกธัมมสูตร ทสนาถกรณธัมมสูตร อัคคัปปสาทสูตร ปธานสูตร อินทรยสูตร อริยธนสูตร และสัปปุริสธัมมสูตร ทั้งหมดทรงแสดง ณ พระเชตวันมหาวิหาร
สิ้นรัชสมัยของพระเจ้าปเสนทิโกศล อำนาจของแคว้นโกศลเริ่มลดถอยลงถึงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเชตวันมหาวิหารยังคงเป็นสำนักที่ใหญ่โตและรุ่งเรือง เมื่อหลวงจีนฟาเหียนมาสาวัตถี (ประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๙๔๔ ถึง๙๕๓) ตัวเมืองอยู่ในสภาพที่ถูกทิ้งร้าง แต่พระเชตวันยังคงเป็นสำนักสำคัญอยู่
เมื่อหลวงจีนฮวนฉางหรือถังซัมจั๋งมา (ประมาณระหว่างปี พ.ศ. ๑๑๗๓ ถึง ๑๑๘๖)เมืองคงเป็นเมืองร้าง และพระเชตวันก็ร้าง แต่จากการขุดค้นสำรวจในยุคหลังนี้ได้พบหลักฐานแสดงชัดว่า พระเชตวันได้รับการบูรณะฟื้นฟูขึ้นใหม่ ภายหลังจากการมาของหลวงจีนฮวนฉางไม่นาน และจากนั้นก็ได้เป็นสำนักสำคัญของพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งเรื่อยมา จวบกระทั่งมาถึงคราวสิ้นอายุในระยะเดียวกันกับสารนาถ หรืออิสิปตนะมฤคทายวัน ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นเมืองและสถานที่อื่น ๆ ในแคว้นโกศล ซึ่งมีชื่อปรากฏในพระคัมภีร์ และมีเรื่องเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองสาเกต เมืองอโยชฌา หรืออโยธยา เมืองเสตัพยา เมืองเกสปุตตะของชาวกาลามะ หมู่บ้านอิจฉานังคละ และป่าอันธวันใกล้สาวัตถีเป็นต้น
เมืองสาเกต เป็นเมืองที่อยู่ของธนัญชยะเศรษฐีบิดาของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของแคว้นโกศล และจัดเป็น ๑ ใน ๖ นครใหญ่ของของชมพูทวีปสมัยนั้น ดังได้กล่าวข้างต้นมีกล่าวไว้ในคัมภีร์ว่า อยู่ห่างจากสาวัตถี ๖โยชน์ แต่บางแห่งก็บอกว่า ๗ โยชน์ พระพุทธองค์เคยเสด็จเมืองนี้หลายครั้ง รวมทั้งพระสาวกผู้ใหญ่อีกมากท่าน ที่ได้มาเยี่ยมเมืองนี้
อโยชฌา หรือ อโยธยา ความในพระคัมภีร์แสดงว่าเป็นเมืองใหญ่อีกเมืองหนึ่งพระพุทธองค์เคยเสด็จเมืองนี้อย่างน้อยสองครั้ง ครั้งหนึ่งได้ทรงแสดง เผณสูตรและอีกครั้งหนึ่งทรงแสดง ทารุกขันธสูตร
ในสมัยของหลวงจีนฟาเหียน และหลวงจีนถังซัมจั๋ง อโยธยาเป็นจุดสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาผู้รู้ในปัจจุบันยังมีความเห็นขัดแย้งกัน เกี่ยวกับที่ว่าเมืองซึ่งเรียกชื่อในคัมภีร์บาลีว่า อโยชฌา เป็นเมืองเดียวกันหรือต่างเมืองกับ อโยธยา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของฝ่ายฮินดูดังได้กล่าวข้างต้นและกับที่ว่า เมืองสาเกต กับอโยธยา เป็นเมืองเดียวหรือต่างเมืองกัน หากอโยชฌาในคัมภีร์บาลีเป็นเมืองเดียวกันกับอโยธยาของทางฮินดู ดังกล่าว เมืองนี้ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งติดต่อกันกับเมืองไฟซาบาด ซึ่งเป็นจุดแห่งความเจริญใหม่ และเป็นที่ตั้งที่ทำการของจังหวัดชื่อเดียวกันคัมภีร์ทางเชนและฮินดูส่วนมาก กล่าวแสดงให้เข้าใจว่า สาเกตกับอโยธยาเป็นเมืองเดียวกัน ผู้รู้ปัจจุบันบางท่านเห็นด้วยกับการที่กล่าวนี้ แต่ก็มีหลายท่านที่ไม่เห็นด้วย โดยให้น้ำหนักแก่ ข้อที่เมืองทั้งสองมีชื่อกล่าวถึงในคัมภีร์บาลีในลักษณะเป็นคนละเมือง ฝ่ายหลังนี้สันนิษฐานว่า เมืองสาเกตได้แก่ซากที่ สุชานโกฏิ ใกล้ฝั่งแม่น้ำไช ในเขตจังหวัดอุเนา ของรัฐอุตตรประเทศห่างจาก ตัวเมืองอุเนา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๕๔ กิโลเมตร หรือ ๓๔ ไมล์ ขณะนี้ ยังไม่มีการขุดค้นสำรวจ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.vichadham.com/buddha/city16.html
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น