วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 2
ความสนุกสนานที่ไม่รู้ลืมมาจนบัดนี้เมื่อนึกถึงครั้งไร ใจก็เป็นสุขและหวนหามาโดยตลอด
เราได้ลงเล่นน้ำในลำน้ำบางปะกง แม่น้ำบางปะกงในครั้งนั้นสะอาดน่าลงไปแหวกว่ายสัมผัสความใสเย็นในเวลาน้ำขึ้น ความใสหมายถึงความใสจากลักษณะของน้ำแม่น้ำที่เป็นไปได้นั่นเอง พวกเราได้ออกไปเที่ยวเล่นในสวนที่ร่มรื่นมีผลไม้มากมายหลากหลายชนิดให้ได้เก็บกินตามฤดูกาล และยังออกไปเที่ยวท้องนาที่อยู่หลังสวนถัดไป
บางทีคุณน้าเฮียงน้องคนสุดท้องของคุณแม่อุไรก็ทำขนม ที่บ้านอื้อเฮียบหมงมีโม่หินสำหรับโม่แป้งอันใหญ่มากที่ไม่สามารถนั่งและใช้มือหมุนโม่หินอันนี้ได้ ต้องทำแขนไม้โม่หินเพื่อผ่อนแรงการใช้โม่หินนี้ โม่หินโดยทั่วไปจะประกอบเป็นสองส่วน ดังภาพประกอบ
ภาพนี้เป็นโม่หินที่เราจะพบเห็นได้ทั่ว ๆ ไปตามบ้านเรือน แม้โม่หินที่บ้านอื้อเฮียบหมงก็มีรูปทรงและลักษณะดังภาพ แต่มีความพิเศษในการใช้งานมากกว่า
ตัวโม่หินชั้นบนมีช่องสำหรับหยอดสิ่งที่ต้องโม่ด้วยการใช้ช้อนตักหยอด ที่ด้านข้างจะมีช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับใส่สลักไม้ สำหรับโม่หินทั่วไปก็เพียงนำท่อนไม้สี่เหลี่ยมหนาขนาดของช่องตอกเสียบเข้าไปในโม่หิน ปลายอีกด้านเจาะรูกลมสำหรับสอดอุปกรณ์สำหรับใช้มือจับเพื่อหมุนให้โม่หินหมุนไปได้
ดังภาพประกอบเป็นท่อพีวีซีสีฟ้าที่ถูกดัดแปลงมาจากท่อนไม้ในอดีต โม่หินทั่วไปคนโม่แป้งก็นั่งโม่ใช้มือจับด้ามจับ (ในภาพหมายถึงท่อพี่วีซี) หมุนเคลื่อนที่
แต่สำหรับที่บ้านอื้อเฮียบหมง ในช่องสี่เหลี่ยมที่ตอกสลักไม้เข้าไปเสียบต้องใช้เศษผ้าพันรอบปลายสลักไม้ที่ใช้เสียบเพื่อให้มั่นใจว่า ไม้สลักและโม่หินแน่นหนาไม่มีช่องว่างสลักไม้จะไม่เคลื่อนที่หลุดออกมาตามแรงโม่ของคนโม่
ที่ปลายสลักอีกด้านที่เป็นที่เสียบของอุปกรณ์ที่จะใช้มือจับ ( ในภาพคือท่อพีวีซีสีฟ้า) บ้านอื้อเฮียบหมงเป็นช่องเสียบของแขนโม่หิน
แขนโม่หินเป็นท่อนไม้สี่เหลี่ยมยาวประมาณ 2 เมตรเศษ ปลายท่อนไม้ที่จะเสียบในไม้สลักต้องมีขาไม้สำหรับเสียบรูยาวประมาณ2-3 นิ้ว กลึงขาเสียบให้กลมมีขนาดเท่ารูที่เสียบ ปลายอีกด้านของแขนโม่มีไม้อีกท่อนตีประกอบแขนโม่ลักษณะเป็นตัว T สำหรับให้คนโม่จับบังคับแขนโม่ให้เคลื่อนที่ ที่ปลายไม้สองด้านของหัวตัว Tใช้เชือกที่แข็งแรง พันและผูกปลายด้านหนึ่งให้แน่นหนาแล้วโยงปลายสายเชือกขึ้นไปคล้องกับขื่อบนหลังคา วนเชือกบนขื่อให้มีความแน่นหนาเชือกไม่ขยับเคลื่อนที่ ปล่อยปลายเชือกลงมาผูกมัดกับท่อนไม้หัวตัว T อีกด้าน นอกจากปลายสองด้านของหัวตัวT จะมีเชือกแล้ว ยังต้องมีไม้ตอกตะปูยึดกับลำด้ามแขนโม่ให้แข็งแรงด้วยทั้งสองด้าน ขนาดความสูงของเชือกที่ปลายไม้ หัวตัว T และขื่อบ้านระดับสูงขนาดที่คนโม่ยืนโม่ได้สบาย ๆ ไม่ต้องก้มหลังโม่ ไม่ต้องยกแขนสูงในการโม่ การโม่จะหมุนแขนโม่ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา
การใช้โม่หินนี้ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องมีคนอีกหนึ่งคนเป็นคนตักข้าวเหนียวข้าวเจ้า หรื่อสิ่งที่ต้องการโม่อื่น ๆ ลงในช่องหยอด ด้วยความใหญ่ของโม่หินซึ่งกว้างใหญ่กว่าโม่หินในภาพนี้ ทำให้รัศมีการหมุนใช้เวลาพอสมควรจึงจะหมุนรอบได้ครบรอบจึงเป็นช่วงเวลาที่คนหยอดสามารถตักสิ่งที่ต้องการโม่ลงช่องหยอดได้โดยไม่ต้องหยุดโม่
การโม่แป้งทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ก็คือนำข้าวเหนียวและข้าวเจ้าซาวล้างน้ำให้สะอาด และแช่น้ำฝนทิ้งไว้ค้างคืน
เมื่อจะโม่ การตักข้าวหยอดจะต้องตักทั้งเมล็ดข้าวและน้ำที่แช่ ( เปลี่ยนน้ำใหม่ขณะจะโม่แป้ง )ลงในช่องหยอด หากตักเมล็ดข้าวอย่างเดียวไม่มีน้ำ โม่ก็จะหมุนได้อย่างฝืด ๆ เมื่อเมล็ดข้าวถูกท่อนหินชั้นบนที่หมุนเคลื่อนไปน้ำหนักของหินก็จะบดเมล็ดข้าว (หรือสิ่งที่ต้องการโม่ ) จนเมล็ดละเอียด ได้เป็นแป้งเหลวออกมา แต่จะเป็นแป้งข้นออกมากองรอบ ๆ รอยต่อของท่อนหินสองท่อนไม่ไหลลงตามช่องของปากโม่ลงสู่ภาชนะที่รองได้ แต่ถ้าใสน้ำด้วยแป้งที่ไหลออกมาจะเหลว จะไหลลงสู่ภาชนะที่ใช้รองได้สะดวก
สำหรับภาชนะที่วางต้องทำที่วางพิเศษให้ต่ำกว่าพื้นที่วางโม่
โม่หินอันนี้มาจากเมืองจีนเนื้อหินละเอียดมีเงามันของลายเนื้อหิน เนื้อหินสีขาวนวลมีลายเป็นสีดำประปรายกระจายทั่ว
ด้วยความกว้างความใหญ่มีน้ำหนักมาก ทำให้หินชิ้นบนที่เคลื่อนหมุนสามารถบดแป้งที่โม่ออกมาเป็นแป้งที่ละเอียดมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังขึ้นกับจังหวะของการหมุนแขนโม่ด้วยคือการหมุนต้องหมุนโม่เป็นไปตามจังหวะเนิบ ๆ พอดี หากใจร้อนหมุนโม่เร็วเกินไปแป้งที่ได้จะค่อนข้างหยาบแม้โม่จะใหญ่และมีน้ำหนักของตัวโม่ชั้นบนมากก็ตามที หากแป้งที่ได้ออกมาหยาบไม่ถูกใจคุณน้าเฮียง ก็จะนำแป้งหยาบนั้นมาโม่อีกครั้ง เป็นการเพิ่มงานโม่เป็นสองรอบ
นอกจากนี้หากหมุนแขนโม่เร็ว ๆ และกระชากแรง ๆ ก็จะทำให้ไม้สลักที่เสียบอยู่กับช่องสี่เหลี่ยมของตัวโม่แม้จะพันเศษผ้าไว้แล้ว แต่ไม้สลักก็หลุดออกมาได้ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มงานต้องไปหาอุปกรณ์มาตอกสลักเข้าไปใหม่รวมทั้งถ้าไม้สลักและเศษผ้าที่หลุดติดออกมาถ้าตกลงในร่องหินของโม่ ก็ต้องควักแป้งที่อยู่รอบ ๆ สลักและเศษผ้าออก ( เพื่อสุขอนามัยความสะอาด) ดังนั้นคนใจร้อนก็จะยิ่งทำให้งานเสร็จล่าช้านั่นเอง
ด้วยเหตุนี้การโม่แป้งจึงต้องมีการสับเปลี่ยนคนหมุนแขนโม่นี้
งานทำขนมของคุณน้าเฮียงแค่ขั้นตอนโม่แป้งก็ใช้คนเกินสองคน ดูเอิกเกริกไม่น้อย บางทีเด็ก ๆ ต้องจัดคิวโม่แป้งว่าหมุนคนละยี่สิบหรือสามสิบรอบแล้วเปลี่ยนคิวคนโม่เป็นต้น
โม่หินนี้อยู่ืั้เรือนหลังที่สี่ของบ้าน
ต่อมาเมื่อรื้อบ้านอื้อเฮียบหมงถวายวัดบางกรูด โม่หินนี้มีทายาทสายคุณลุงชุนนำไปไว้ที่บ้านล่าง ต่อมาเมื่อสิ้นบุญคุณป้าเกลี้ยง เจริญวงษ์ ภรรยาคุณลุงชุน โม่หินนี้ถูกหลานเขย (เป็นเขยของน้องสาวคุณป้าเกลี้ยงที่อยู่บ้านใกล้กัน ) นำไปขายต่อเสียแล้ว
หลานอรรถโกวิท สงวนสัตย์ เคยไปเมืองจีนเมื่อ ปี พ.ศ.2537 ไปประชุมเรื่องงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เมืองไท่หยวน ประเทศจีน เล่าว่าที่เมืองไท่หยวน มีพิพิธภัณฑ์แสดงความเป็นมาของหมู่บ้านชนบทของเมืองได้ไปพบโม่หินขนาด รูปทรง สีสัน เนื้อหินเหมือนโม่หินที่ตัวเองเคยโม่แป้งทำขนมที่บ้านอื้อเฮียบหมงสมัยเด็ก ๆ เปี๊ยบเลย
ข้อมูลของเมืองไท่หยวน
ไท่หยวน (จีน: 太原; พินอิน: Tàiyuán; เวด-ไจลส์: T'ai-yüan) เป็นเมืองในประเทศจีน เมืองหลวงของมณฑลซานซี เป็นเมืองอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศจีน และเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีน
เมืองหลวงของมณฑลซานซี (ไท่หยวน) ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของแม่น้ำเหลืองทางตอนเหนือของประเทศจีน และแม่น้ำเฝินเหอซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำเหลืองไหลผ่านความยาว 100 กิโลเมตร ทิศตะวันตก ตะวันออกและทิศเหนือรายล้อมด้วยภูเขา
เมืองไท่หยวน ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหลัก 4 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมเทคนิคการทำโลหะผสม อุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องกล และอุตสาหกรรมเคมี นอกจากนั้นยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเลคโทนิค อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมพลาสติก เคมี ซีเมนต์ ปุ๋ย
นอกจากนี้ เมืองไท่หยวนยังเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศจีน อย่างไรก็ตามเมืองไท่หยวนก็ยังต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีการขุดเจาะถ่านหิน นอกจากนี้การขาดเงินทุนในการสำรวจทำให้มีผลต่อการผลิตและผลกำไร
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
กระทะทองเหลืองอุปกรณ์สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่สำคัญในการกวนขนมต่าง ๆ
ไพจิตร และเด็ก ๆ ที่โตแล้วจะช่วยกันโม่แป้ง ตัวไพจิตรเองก็ชอบการโม่แป้งเพราะสนุกดี
เพิ่มเติม
โม่หินอันนี้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตแป้งข้าวเหนียวและแป้งข้าวเจ้า สำหรับให้คุณน้าเฮียงนำมาแปรรูปเป็นขนมต่าง ๆ มากมายหลายชนิด เท่าที่จำได้ มีขนมกล้วย (จากกล้วยในสวนซึ่งกินไม่ทันสุกงอมจนต้องเอามาทำขนม ) ขนมใส่ไส้ ขนมตะโก้ ขนมถั่วแปบ ขนมต้มแดงต้มขาว ขนมถ้วย ขนมเปียกปูน ขนมชั้นเป็นต้น
วันหนึ่ง ๆ คุณน้าจะทำขนมขายแค่ 2-3 อย่าง พวกเราได้กินขนมอร่อย ๆ แทบทุกวัน เมื่อทำเสร็จคุณน้าเฮียงก็จะจัดเอาขนมลงเรือเอาไปขายตามบ้านเรือนในละแวกนั้น บางวันก็พายเข้าขายในคลองศาลเจ้าไปบ้านคุณยายปิ๋ว สูยะวณิช น้องสาวคุณยายของพี่อุทัยวรรณ ญาติสนิทของคุณลุงบุญ(ภายหลังพี่อุทัยวรรณทำขนมหวานและกระยาสารท ต้องใจ ขายเคยเป็นขนมที่โด่งดังมากของเมืองแปดริ้ว)
บางวันไพจิตรก็ขอตามคุณน้าเฮียงพายเรือไปขายขนม โดยนั่งที่หัวเรือช่วยคุณน้าเฮียงพายเรือไปตามบ้านต่าง ๆ และช่วยขายขนมสนุกสนานมาก ไม่กี่ชั่วโมงขนมก็ขายหมดได้กลับบ้าน
ไพจิตรชอบดูและชอบช่วยคุณน้าเฮียงทำขนมมาก ตั้งแต่การโม่แป้ง ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว คั้นกะทิ ผสม สัดส่วนต่าง ๆ ของแป้ง น้ำกะทิ น้ำตาล
แป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว สามารถพลิกแพลงทำขนมต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยใช้เป็นส่วนผสมกับวัตถุดิบอื่น ๆ ที่มีในแต่ละวัน ซึ่งคุณน้าเฮียงจะต้องวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำขนมอะไร วันไหน
ไพจิตรได้กินขนมอร่อย ๆ ได้ดูวิธีการทำขนมต่าง ๆ ตามประสาเด็ก เป็นเวลาประมาณ 2 ปี
ที่ชอบที่สุดคือการทำขนมชั้น หลังจากโม่แป้งข้าวเจ้าแล้ว ต้องนำแป้งที่ได้ซึ่งเหลวเพราะมีน้ำผสมอยู่ในขณะที่ตักเมล็ดข้าวหยอดลงโม่หิน เทแป้งจากการโม่แล้วนี้ใส่ในถุงผ้าดิบผูกปากถุงให้แน่นหนา แล้วใช้โม่หินชิ้นบนทับบนถุงผ้าดิบนี้ทิ้งไว้ค้างคืนน้ำในถุงแป้งจะค่อย ๆ ไหลซึมออกจากถุงผ้า วันรุ่งขึ้นตรวจสอบว่าน้ำไหลออกหมดแล้ว ซึ่งจะเหลือแต่ตัวเนื้อแป้งล้วน ๆ มีขนมหลายอย่างที่ใช้แป้งนี้ทำขนมได้เลยในขณะที่เปียกแบบหมาด ๆ แต่ ขนมบางชนิดจะต้องเอาไปซอยหั่นเป็นชิ้น บาง ๆ เรียงวางในกระด้งแล้วนำไปผึ่งแผดก่อนนานพอสมควร หลังจากตรวจสอบว่าเนื้อแป้งออกลักษณะผิวตึง ๆ แล้วค่อยนำมาทำขนม
สำหรับขนมชั้นนอกจากแป้งข้าวเจ้าแล้ว ต้องใช้แป้งเท้ายายม่อมมาเป็นส่วนผสมด้วย ซึ่งแป้งเท้ายายม่อม ก็เป็นแป้งที่สวนคุณลุงบุญคุณป้าสมใจมีต้นและหัวและนำมาทำเป็นแป้งเท้ายายม่อมทุกปี ( เป็นแป้งแห้งสนิทแล้ว ) ไพจิตรจำไม่ได้ว่านอกจากแป้งข้าวเจ้า และแป้งเท้ายายม่อมแล้ว คุณน้าเฮียงมีแป้งชนิดอื่นอีกด้วยหรือไม่เพราะยังเด็กมากในขณะนั้น
นำมะพร้าวที่ขูดด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวไปคั้นกะทิ แบ่งเป็นหัวกะทิ และหางกะทิ ( ที่ยังคงความมัน) แล้วคุณน้าก็จะนวดแป้ง ค่อย ๆ ผสมหัวกะทิ น้ำตาลทราย ผสมไปนวดไปตามสูตรอันช่ำชองเฉพาะตัวของคุณน้า นวดได้ถูกใจคุณน้าแล้วก็นำหางกะทิมาละลายแป้งและแต่งสี โดยแบ่งแป้งเป็นสามสีคือสีขาว สีเขียว และสีแดง สีละกะละมัง คุณน้าเอาน้ำใส่กระทะใหญ่ตั้งไฟจนเดือดเอาซึ้ง (ลังถึง)วางแล้วเอาถาดขนมวางบนซึ้งอีกที วางให้ร้อนพอเหมาะคุณน้าจะค่อย ๆ เทแป้งที่ผสมเสร็จและแยกสีเรียบร้อยแล้ว เทแป้งลงในถาด ปิดฝาซึ้ง คุณน้าทำทีละชั้น ๆ ใส่สีละถ้วยตวง ขนมสุกทีละชั้น ๆ ใช้เวลานึ่งชั้นละประมาณ 3-5 นาที แป้งก็จะสุก คุณน้าเทแป้งสลับสีและนึ่งสุกเช่นนี้จนขนมชั้นเต็มถาด ส่วนชั้นบนสุด (หน้าขนมชั้น) สีจะสวยสดและหนากว่าชั้นอื่น ๆ ไพจิตรยังจำรสชาติขนมชั้นของคุณน้าเฮียงได้มาจนทุกวันนี้ว่าเป็นขนมชั้นที่อร่อยมาก
คุณน้าเฮียงเองท่านก็ชอบทานขนมชั้นมาก เมื่อวัย 90 ปี เศษย้ายมาอยู่กรุงเทพที่บ้านพี่เกษม พี่อุระมิลา คุณน้าก็เรียกหาที่จะทานแต่ขนมชั้น น้องสีนวล เจริญวงษ์บุตรีคุณลุงชาญซึ่งคุณน้าเฮียงเป็นผู้เลี้ยงดูมาจนเติบโตทำงานเป็นคุณครูที่โรงเรียนอนุบาลยุคลธรและอยู่กับพี่เกษม เมื่อคุณน้าเฮียงมาอยู่ด้วยน้องสีนวลต้องจัดหาขนมชั้นเป็นของหวานบ่อยที่สุด จนท่านสุขภาพอ่อนแอและความจำเสื่อมหลาน ๆ ส่งท่านไปพักและรักษาตัวที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทเพื่อให้มีแพทย์พยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิดขนมชั้นก็กลายเป็นขนมที่ต้องจัดหาให้ทุกวันที่โรงพยาบาล
สำหรับแป้งสีเขียวนี้ คุณน้าจะใช้ใบเตยหอมซอยหั่น ตำละเอียดและคั้นเอาน้ำสีเขียวข้น ๆ ออกมาใช้ในการผสมสีขนม
นอกจากขนมชั้นแล้ว ยังมีขนมเปียกปูน ลอดช่องน้ำกะทิ ปลากริมไข่เต่า ที่คุณน้าเฮียงทำได้อร่อยที่สุด (ทั้งลอดช่องและปลากริมไข่เต่า เป็นขนมที่เป็นน้ำ จึงทำกินในบ้านไม่ได้ทำไปขาย) ขนมเปียกปูนเป็นขนมที่ต้องใช้เรี่ยวมหาศาลในการกวน และใช้เวลากวนนานมากเพื่อให้เหนียวนุ่มได้ที่ไม่มีใครเทียม เมื่อท่านสูงวัยแล้ว หลาน ๆ ทางบางกรูดเล่าว่าท่านทำขนมเปียกปูนท่านจะกวนตอนเริ่มต้น เมื่อแป้งเริ่มเหนียวหนืดต้องใช้แรงงานหลาน ๆ ผู้ชายออกแรงกวนแทน และกวนไม่หยุดมือจนเหนียวนุ่มได้ที่สุด ๆ เป็นที่พอใจของคุณน้า ขนมเปียกปูนของคุณน้าเฮียงในช่วงไพจิตรมาอยู่บางกรูดเป็นขนมเปียกปูนที่อร่อยที่สุด หอมน้ำปูนใสและใบเตยรับประทานกับมะพร้าวทึนทึก
สำหรับลอดช่องน้ำกะทิเองก็ใช้ระยะเวลาการกวนนานมากเช่นกัน แต่อย่างไรเสียก็กินเวลาการกวนน้อยกว่าการกวนแป้งขนมเปียกปูน เพราะแป้งลอดช่องจะต้องนำมาเทลงในกล่องไม้มีรูแล้วมีแป้นกดแป้งกดผ่านรูให้ได้เป็นตัวลอดช่อง กลม ๆ ยาว ๆ จะตัวสั้นหรือยาวขึ้นกับแรงกดที่แป้นกดนั่นเอง
สำหรับลอดช่องน้ำกะทิและขนมเปียกปูนนี้คุณน้าจะหั่นใบเตยหอมให้เป็นฝอยละเอียด ๆ มาก ๆ ปนไปกับเมล็ดข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าที่ในช่วงที่กำลังโม่เป็นแป้ง ก็จะได้แป้งที่ไหลออกมาจากปากโม่เป็นแป้งสีเขียวหอมกลิ่นใบเตย
ส่วนขนมอื่น ๆ คุณน้าก็ทยอยทำได้ครบ 2-3 อย่าง ก็ออกขายได้ ไพจิตรพายเรือเป็นที่แปดริ้วนี่เอง และพายเป็นเพราะออกไปช่วยคุณน้าขายขนม บางวันก็มีหลานคนอื่น ๆ ขอตามคุณน้าไปขายขนมเป็นการออกไปเที่ยว คุณน้าก็ใจดีอนุญาตให้ไปด้วยได้ บางวันที่คุณน้าจะไปซื้อของบางอย่างที่ตลาดวัดบางกรูด คุณน้าเฮียงก็พายเรือข้ามฟากเอาขนมไปขายที่ตลาดเล็ก ๆ ฝั่งวัดบางกรูดด้วย
ที่บ้านอื้อเฮียบหมง มีกระต่ายขูดมะพร้าวที่เป็นรูปตัวกระต่ายมีสี่ขา มีหูมีหาง ที่คอกระต่ายเป็นซี่เหล็กสำหรับขูดมะพร้าว ตัวกระต่ายนี้อ้วนกลมสมบูรณ์พุงป่่องเล็กน้อยเพื่อบอกว่าเป็นกระต่ายที่อ้วนพี กระต่ายตัวนี้มีรูปร่างสมส่วนมาก เสียดายที่ไม่มีภาพถ่ายของเจ้ากระต่ายขูดมะพร้าวตัวอ้วนพีมีสี่ขาไว้วาง มีคอกระต่ายอยู่ระดับเดียวกับตัวกระต่ายไว้เลย
แต่มีภาพกระต่ายขูดมะพร้าวตัวอื่นพอแสดงได้ดังภาพข้างล่างนี้ แต่กระต่ายตัวในภาพมีพื้นไม้รองขาสี่ขาอีกที และซี่เหล็กที่คอสูงเชิดขึ้น
กระต่ายขูดมะพร้าวรุ่นหลัง ๆ
บ้านอื้อเฮียบหมงที่เราไปอยู่เป็นเรือนไม้หลังใหญ่มาก หลังคามุงด้วยจาก ปลูกไว้ตั้งแต่ครั้งบรรพบุึรุษแช่อื้อท่านใดไม่ทราบได้ จะเป็นเล่ากง ก๋ง กงหงง หรือเปล่าหนอ แต่น่าจะเป็นบ้านที่ปลูกก่อนบรรพบุรุษรุ่น ก๋งโหงว แซ่อื้อ ( ซึ่งท่านเแจ๊คพอตใหญ่ ถูกหวยก.ข. รับเงินรางวัลถึง 4 หมื่นบาท หากเทียบค่าเงินในยุคนี้แล้ว น่าจะได้ ราว ๆ 40 ล้านบาทเลยทีเดียว ) เป็นบ้านที่แข็งแรงมาก ไม้กระดานแผ่นใหญ่ ๆ ยาวมาก ๆ บ้านคงอยู่ยั่งยืนมาจนถึงชั้นเหลน ๆ ได้มาอาศัยหลบภัยสงคราม บ้านกว้างขวางอยู่สะดวกสบายอยู่กันกี่สิบคนก็อยู่ได้ ตัวบ้านหันหน้าออกแม่น้ำบางปะกงมีกระดานไม้ปูกับพื้นดินยาวจนถึงริมฝั่งแล้วเป็นสะพานท่าน้ำ
หน้าประตูบ้านเป็นซุ้มประตูทรงจีน หลังคามีลายฉลุรอบและบานประตูเป็นไม้แผ่นใหญ่ยาวบานละ 1 แผ่น ใต้ซุ้มมีป้ายอักษรจีนตัวใหญ่บนแผ่นไม้เช่นกันว่า อื้อเฮียบหมงอยู่เหนือบานประตู และยังมีอักษรจีนตัวเล็กเป็นแถวที่ป้ายด้านซ้ายมือด้านล่างว่า
กรอบบานประตูบ้านอื้อเฮียบหมงที่เหลืออยู่
ทางเดินจากซุ้มประตูบ้านอื้อเฮียบหมงไปทีสะพานท่าน้ำ ถ่ายจากนอกชานบ้านคุณป้าสมใจ
ซุ้มบานประตูนี้ยกพื้นสูงจากพื้นดิน และมีแผ่นกระดานยาว 2 แผ่นปูทอดที่พื้นดินเป็นทางเดินไปสู่สะพานท่าน้ำ มีบันไดท่าน้ำหลายขั้นแต่ไม่มีขอนไม้ทอดลงเลนชายน้ำ ด้านซ้ายมือเมื่อหันหน้าสู่แม่น้ำ มีต้นมะยม ค้างต้นพลู (กินกับหมาก )และแปลงปลูกต้นยาสูบ(สำหรับไว้ทำยาสูบเพื่อการกินหมาก) และมีแผ่นกระดานทอดเป็นทางเดินไปบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ ช่วงสั้น ๆ เพราะอันที่จริงบ้านคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ ปลูกเกยกับเรือนครัว ซึ่งเป็นเรือนขวางขวามือของบ้านอื้อเฮียบหมง เมื่อหันหน้าเข้าสู่ตัวบ้านอื้อเฮียบหมง (หันหลังให้แม่น้ำ) จากซุ้มประตู เป็นนอกชานกว้างมากมีรั้วไม้แผ่นกระดาน ซี่ลูกกรงเหล็ก กั้นรอบนอกชานบ้านจนจดตัวเรือนซ้ายขวาของบ้าน
ดอกยาสูบขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
ดอกยาสูบที่คุณน้าเฮียงปลูกไว้สำหรับทำยาสูบกินหมาก
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.pharmacy.mahidol.ac.th
ภาพคุณน้าเฮียงและรั้วบ้านอื้อเฮียบหมง มองเห็นค้างใบพลู และเรือนของคุณป้าสมใจด้านหลัง
ด้านขวามือ มีต้นมะเฟืองต้นสูงใหญ่ ลูกดกแผ่ร่มเงาลงสู่นอกชานบ้านเพราะปลูกใกล้บ้านมาก มีลานดินกว้างเป็นที่ว่างไว้ทำกิจกรรมได้หลายอย่าง มีต้นมะม่วง ต้นหมาก หลายต้น ก่อนจะถึงต้นพุดซ้อนต้นใหญ่ดอกดกซึ่งปลูกติดริมคลอง ใกล้ ๆ กับต้นพุดซ้อนมีไหใส่ปูนแดงกินกับหมากที่มีน้ำแช่อยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถตักน้ำปูนใสจากไหนี้มาทำขนมต่าง ๆ
มีต้นแสม ลำพู กอเถาวัลย์ ซึ่งก็คือต้นถอบแถบขึ้นกอใหญ่ ปะปนกับต้นเหงือกปลาหมอ เบญจมาศน้ำเค็ม อยู่ด้านหนึ่งของสะพานท่าน้ำ อีกด้านหนึ่งของสะพาน เป็นที่จอดเรือข้างสะพาน มีต้นคลัก (ขลัก ) ประสัก หรือพังกาหัวสุม แสมต้นใหญ่ เหงือกปลาหมอ ต้นใบพาย ขึ้นประปรายเหนือชายฝั่งขึ้นมาเป็นนอกชานบ้านของบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ
ประตูที่ซุ้มหน้าบ้านนี้ ยกพื้นขึ้นมาจากพื้นดินด้านนอกซุ้ม มีไม้กระดานตีพื้นเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นชานของซุ้ม มีธรณีประตู บานประตู 2 บาน เป็นไม้แผ่นใหญ่ยาวบานละแผ่น มีห่วงทองเหลืองแบบจีนบานละห่วง เวลาจะปิดบ้านจากด้านนอกจะใช้ท่อนไม้เสียบห่วงทองเหลืองสองห่วงนี้ ขัดบานประตูไว้ ที่แผ่นกระดานข้างกรอบประตูทั้งสองข้าง มีแจกันไม้ตรึงติดไว้ปักธูปไหว้เจ้าได้ ข้างในซุ้มประตูคือ มีเรือนยกพื้นอีกระดับล้อมรอบนอกชานบ้านเป็นเรือนสามหลัง
เรือนซ้ายมือ เป็นเรือนที่ยกระดับจากนอกชานบ้านไม่มีประตูกั้น หน้าเรือนเปิดโล่งเป็นโถงยาวตามความยาวของเรือน มีห้องอยู่ด้านหลังโถงยาวโล่งนี้ ใช้พื้นที่ห้องประมาณ 2 ใน 3 ของขนาดของเรือน หากกั้นห้องก็ได้ 2 ห้อง เมื่อพวกเราอพยพหลบภัยสงครามโลกมา คุณยายจูยกเรือนหลังนี้ให้พวกเรา เรือนนี้สามารถกางมุ้งในเวลากลางคืนได้ 4 หลัง หากเปิดหน้าต่างเรือนด้านความยาวของเรือน มองออกไปจะเห็นคลองที่ขุดจากแม่น้ำผ่านเรือนหลังซ้ายมือแล้วอ้อมด้านหลังของเรือนกลาง จนสุดแนวของเรือนกลางก็จะสุดปลายคลอง มีเรือลำใหญ่เข้าออกคลองนี้ได้ เรือบางลำก็ขึ้นคานอยู่บนบก บางลำที่ใช้งานบ่อย ๆ ก็จอดในคลองที่สุดปลายคลองบ้าง ผูกกับรอดของบ้านที่ใต้ถุนเรือนกลางบ้าง เวลาน้ำลงในคลองนี้จะมีน้ำไม่มากบางครั้งก็ไม่มีน้ำเลย เรือก็จอดอยู่บนเลนของคลองและพื้นดินใต้ถุนบ้าน หากเปิดหน้าต่างด้านความกว้างของเรือน จะเห็นต้นไม้ และชายแม่น้ำด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเปิดแล้วจะเห็นเรือนที่มีโม่หินและตุ่มน้ำฝนมากมายตั้งเรียงรายเป็นแถว ๆ
ในเวลากลางวันเราก็นอนเล่นได้ทั้งในส่วนที่กั้นเป็นห้องและส่วนโถงยาวหน้าห้อง เพราะโปร่งโล่งสบายมาก รับลมได้ด้วย ส่วนของโถงยาวของเรือนขวางซ้ายมือนี้นี้ต่อมาภายหลังเป็นที่นั่งดื่มน้ำชา อ่านหนังสือ รับแขกพูดคุยกันระหว่างญาติ ของคุณลุงชุน คุณน้าเฮียง อีกทั้งเป็นที่นั่งกินหมากสนทนาในวงเชี่ยนหมากของคุณน้าเฮียง คุณป้าเกลี้ยง และเจ้ม่อมด้วยเมื่อไม่มีหลาน ๆ มาพักอาศัยอยู่
ส่วนเรือนขวามือซึ่งมีขนาดเท่าเรือนซ้ายมือนั้นเป็นครัวขนาดใหญ่มาก ( ก็มีขนาดเท่าเรือนขวางซ้ายมือ แต่เรือนครัวไม่มีโถงยาวหน้าเรือน) ยกระดับเท่าเรือนขวางซ้ายมือ จะมีกระดานประมาณ 3 แผ่นปูยาวหน้าเรือนไว้เป็นที่ก้าวเท้าขึ้นเรือนครัวตรงหน้าประตู พื้นที่ว่างอื่นดัดแปลงเป็นที่วางของใช้กระจุกกระจิกที่ใช้ประจำเช่น มีดโต้ มีดพร้า กระต่ายขูดมะพร้้าว กระแป๋งตักน้ำ แม้แต่ผลมะพร้าวแห้งและอื่น ๆ
เรือนขวางขวามือนี้เป็นเรือนที่มีฝาผนังเรือน สี่ด้าน ด้านหน้าเป็นประตูสูงใหญ่ลักษณะเดียวกับประตูหน้าบ้าน ซึ่งหมายถึงทั้งหนาและหนักเหมือนกันด้วย มีธรณีประตู เมื่อเปิดประตูผลักบานประตู 2 บานเข้าไปเข้าไปจะพบตู้กับข้าวใบใหญ่มาก ด้านซ้ายมือชิดผนังด้านยาวของเรือน มีแท่นยกพื้น วางเตาไฟที่ใช้ฟืน สองสามเตา ถัดไปเป็นที่วางฟืนที่จะใช้หุงต้ม ผนังอีกด้านแขวนหม้อ ฝาหม้อ อวย ขนาดต่าง ๆ กระทะ ตะหลิว และอื่น ๆ ที่เป็นของใช้ประจำวัน
ส่วนด้านขวามือมีพวกของใช้ใหญ่ ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า กระทะใบบัวใหญ่ ๆ กระด้ง กระชอน ตะแกรง หม้อ ขนาดต่าง ๆ ลังถึง (ซึ้งนึ่งของ) ถึงเวลาเทศกาล เช่นกวนกระยาสารท ในเทศกาล สารทเดือนสิบ (ซึ่งต้องใช้เวลาทำประมาณสองสัปดาห์ ในการตระเตรียมส่วนประกอบ และลงมือกวน ) การกวนกระยาสารท กวนวันละ 1-2 -3 กระทะ ใช้เวลากวน 2-3 วัน หรือมากกว่านั้นแล้วแต่จำนวนที่จะกวนว่ากวนกี่กระทะกัน หรืองานที่จะต้องทำขนมจีน ก็จะนำอุปกรณ์ของใช้ในส่วนนี้ออกมาใช้งาน รวมถึงเทศกาล ตรุษจีน สารทจีน หรืออื่น ๆ (ไหว้พระจันทร์ ขนมจ้าง ขนมอี๋ เป็นต้น) โดยเฉพาะเทศกาล ตรุษจีน สารทจีนจะมีตะกร้าแขวนขนมเทียน แยกชนิดหวานเค็มอย่างละตะกร้า ตะกร้าขนมเข่ง เชือกที่แขวนไว้มีการป้องกันมดขึ้นได้ด้วย ซึ่งไพจิตรจะเวียนเข้าเวียนออกครัวนี้นับครั้งไม่ถ้วนในแต่ละวันที่มีขนมในตะกร้า
นอกชานส่วนที่ชิดกับเรือนขวางขวาที่เป็นครัวนี้ จะเชื่อมกับทางเดินด้านข้างของเรือนกลางไปสู่ประตูหลังบ้าน มีประตูปิดเปิดมีนอกชานสี่เหลี่ยมฝืนผ้ากว้างยาวประมาณ 2-3 เมตร แล้วจึงลงสู่ลานดินกว้างขวาง มีเตาก่อด้วยดินขนาดใหญ่สำหรับวางกระทะใบบัวกวนกระยาสารทได้อยู่ข้าง ๆ สุดปลายคลองที่เก็บเรือ มีเรือลำใหญ่คว่ำขึ้นคานบนบก มีลำหนึ่งเก่ามาก ชำรุดใช้งานไม่ได้แล้วจึงเป็นที่เล่นสนุก ๆ ของ เด็ก เช่น เป็นที่เล่นซ่อนแอบโดยมุดเข้าไปซ่อนตัวใต้ลำเรือที่คว่ำอยู่ หรือ เล่น ไอ้เข้ไอ้โขงกันบนท้องเรือ (ที่คว่ำอยู่ ) เนื่องจากความแคบของลำเรือ (เรือมาดขุด) ถ้ารู้สึกว่าจะถูกจับได้ บางคนก็จะเอื้อมมือคว้าไม้ไผ่ที่มัดตับจากที่มุงหลังคายกขาขึ้นโหนตัวไว้กับหลังคาจากของโรงเรือนหลังนี้ก็มี เพราะเรือนี้อยู่ใต้โรงเรือนหลังคามุงจาก ถ้าผู้ใหญ่พบเห็นก็คงจะถูกดุแน่นอน
มีโรงเรือน 2 โรง โรงเรือนหนึ่งนอกจากมีเรือลำนี้ขึ้นคานคว่ำอยู่ และเป็นที่ว่างสำหรับเป็นช่องทางเดินอีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ที่มีไม้กระดานปูพื้น มีถังไม้กลมใหญ่และสูง 1 ใบ สำหรับใส่ข้าวเปลือกไว้กินทั้งปี (ซึ่งหากจะดูว่ามีอะไรในถังไม้นี้ ต้องหาม้าตัวอื่นปีนขึ้นไปดูู) บนแผ่นพื้นกระดานมีสัมภาระไม่ค่อยใช้งานนักเก็บอยู่มากมาย
ถัดออกไปมีเตาก่อด้วยดินของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจอยู่สุดปลายคลองที่เก็บเรืออีกเตาหนึ่งและอยู่ในส่วนโรงเรือนอีกหลังหนึ่ง คือเป็นยุ้งข้าวของคุณลุงบุญ ขวามือมีโรงเรือนเก็บของ มีผนังกั้นกับยุ้งข้าว หากเวลามีข้าวเปลือกเต็มยุ้ง ก็สามารถปีนจากห้องเก็บของนี้ ไปเหยียบบนกองข้าวเปลือกในส่วนยุ้งข้าวได้ เพราะเป็นการแบ่งส่วนจากยุ้งข้าวมานั่นเอง ถัดไปเป็นเล้าเป็ด ส่วนด้านซ้ายมือ เป็นหลังคายุ้งข้าวที่ลากพะไลหรือเพิงโถงต่อจากโรงเรือนเดิมคืออยู่ในบริเวณของ ยุ้งข้าว ใช้เป็นที่ทำประโยชน์อื่นๆ เช่นวางคานซ่อมเรือ พะไลนี้กว้างขวางทีเดียวสามารถใช้ประโยชน์ของพื้นที่ส่วนนี้ได้มากมายหลายกิจกรรม
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
I want to buy the wood ที่กดลอดช่อง
ตอบลบ