วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556
วารวันอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด ตอนที่ 1
พลอยโพยมขอกลับมาที่บ้านบางกรูดเล่าเรื่องความทรงจำอันแสนสุขของญาติผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของพลอยโพยม แล้วก็จะมีเรื่องราวของท่านผู้ประพันธ์ หนังสือภูเขาเคลื่อนได้ "ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่าบทประพันธ์" ของคุณศรินทร เมธีวัชรานนท์ สตรีผู้บริหารสถาบันการเงินระดับพันล้านแต่ชีวิตพลิกผันชั่วข้ามคืนเพราะถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 196 ล้านบาท ซึ่งพลอยโพยมได้รับอนุญาตให้เขียนเรื่องราวของท่านได้ รวมทั้งอนุญาตให้นำภาพเขียนที่งดงามมากมายของท่านมาเผยแพร่ได้ เป็นเรื่องราวต่อจากความทรงจำอันแสนสุขที่บ้านบางกรูด
"ชีวิตจริงยิ่งกว่าบทประพันธ์ "ของคุณศรินทรเป็นเรื่องราวอันโหดร้ายตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง แต่ท่านบอกกับพลอยโพยมว่า นั่นคือฟ้าลิขิต ปัจจุบันท่านพ้นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงนั้น บริสุทธิ์ผุดผ่อง มีชีวิตที่แสนสุขพรั่งพร้อมทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญ ที่สำคัญที่สุดคือความสุข สุขจากการให้ที่ยิ่งใหญ่ยากลำบากสำหรับคนทั่วไป คือการให้อภัยกับบุคคลที่ทำให้ท่านมัวหมองมีชิวิตที่ทุกข์ยากลำบากมา 14 ปี จิตใจของท่านทุกวันนี้ผ่องแผ้ว มีความสุข ที่เรียกว่าสันติสุขและปิติสุขในใจ ค้นพบขุมทรัพย์ คือหลักพระคริสตธรรมในการดำเนินชีวิต เรื่องราวของท่านน่าสนใจมาก
ขอเริ่มเรื่องที่บ้านบางกรูด
สืบเนื่องจากงานลอยอัฐิบรรพบุรุษตระกูลอื้อ คุณน้าไพจิตร จันทรวงศ์ได้เล่าเรื่องเรื่องความทรงจำที่แสนสุขที่บ้านอื้อเฮียบหมงให้พลอยโพยมฟัง พลอยโพยมจึงขอร้องให้ท่านเขียนเล่าเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้ง เพราะพลอยโพยมไม่สามารถจดจำเรื่องเล่าของท่านได้ครบถ้วน ท่านเห็นว่าพลอยโพยมเป็นคนสนใจสืบหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับบรรพบุรุษขนาดนี้จึงเมตตาเขียนส่งมาให้หลังเสร็จสิ้นงาน แต่พลอยโพยมติดภารกิจมากมายจึงขอเล่าเรื่องความทรงจำนี้ในช่วงที่จิตใจของพลอยโพยมปลอดโปร่งโล่งจากความกังวลในภารกิจหลาย ๆ เรื่อง
ผู้เล่าเรื่องนี้คือคุณน้าไพจิตร บุตรคนที่ 8 ของพันตรีหลวงสมรรถยุทธการ (ฉัตร สัตยมานะ) และคุณยายอุไร สัตยมานะ (เจริญวงษ์ ) (กุ่ยฮวย แซ่อื้อ ตระกูลอื้อรุ่นที่ 24)
บ้านอื้อเฮียบหมง
ความทรงจำอันแสนสุขที่บางกรูด
จำได้ว่าในสมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมเมื่อปิดเทอมฯใหญ่ราวเดือนเมษายน คุณแม่อุไร จะส่งพวกเราสามคนพี่น้องที่มีอายุ ไล่ ๆ กันไปอยู่กับคุณยายจู ที่บ้านอื้อเฮียบหมง ตำบลบางกรูด มีคุณน้าเฮียง (กุ่ยเฮียงหรือ ประไพ เจริญวงษ์) เป็นผู้ดูแลเลี้ยงดูพวกเราเป็นอย่างดี
บ้านคุณน้าฮั้วอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมีบริเวณด้านซ้ายมือถึงตลาดวัดบางกรูด ด้านขวามือบริเวณปล่องโรงสี
พวกเราสามคนพี่น้องใช้ชีวิตที่สนุกสนาน ได้เล่นสนุกและทำกิจกรรมแปลกใหม่ที่ไม่เคยทำที่กรุงเทพฯ กับพี่ ๆ น้อง ๆ ทางบ้านบางกรูด เช่นออกไปเก็บข้าวตกผืนนาของคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ (กุ่ยเอ็ง เจริญวงษ์ ) พี่เขย และพี่สาวคนโตของคุณแม่อุไร การเก็บข้าวตกก็คือหามีดและอุปกรณ์การใส่รวงข้าวเอาติดตัวไปที่ผืนนาที่มีการเก็บเกี่ยวแล้ว จะมีรวงข้าวที่คนเกี่ยวข้าวใช้เคียวเกี่ยวข้าวเกี่ยวรวงข้าวไม่หมดมีหลงติดกับกอข้าวซึ่งกลายเป็นซังข้าวไปแล้ว บางทีก็มีรวงข้าวตกหล่นตามซังข้าว เราต้องเดินเท้าเปล่า เพราะในผืนนาบางทีน้ำยังไม่แห้งหมดดีมีที่พุน้ำแฉะๆ เก็บข้าวตกจากผืนนาจนพอแล้วก็เอากลับมาบ้านเรียงรวงข้าวใส่ในกระบุงอีกที เต็มกระบุงเมื่อไรก็เอากระบุงข้าวลงเรือข้ามฟากไปขายให้คุณน้าฮั้ว (กุ่ยฮั้ว-มานิตย์ เจริญวงษ์) น้องชายของคุณแม่มีคุณน้าทองม้วน เป็นน้าสะใภ้ บ้านคุณน้าฮั้วอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงเช่นกันแต่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านอื้อเฮียบหมงและบ้านคุณลุงบุญ คุณป้าสมใจ ขายข้าวตกได้ราคากระบุงละ 1 บาท จะเต็มกระบุงหรือไม่เต็มกระบุง คุณน้าฮั้วก็ให้เงิน 1 บาท ซึ่งเป็นเงินที่มากสำหรับพวกเราเด็ก ๆ พวกเราดีใจมากกับเงินที่ได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง ตลาดวัดบางกรูดก็อยู่ใกล้ ๆ เดินไปไม่ไกล และเงิน 1 บาท ใช้ซื้อของได้มากมายหลายอย่างทีเดียวในขณะนั้น
พวกเราเด็ก ๆ กินอิ่ม นอนหลับสบายไม่คิดถึงบ้านที่กรุงเทพ ฯ เลย จนใกล้เปิดเทอม คุณน้าเฮียงก็จะพามาส่งที่บ้านกรุงเทพฯ พวกเราจะตัวอ้วน (จากฝีมือทำอาหารและขนมของคุณน้าเฮียง และกินผลไม้นานาชนิดในสวนของ คุณลุงบุญคุณป้าสมใจ ซึ่งมีบ้านอยู่ชิดติดกันกับบ้านอื้อเฮียบหมง ) นอกจากอ้วนขึ้นแล้วพวกเราจะตัวดำมากจากกการออกไปเล่นสนุกในแม่น้ำ ในสวน และในท้องนาหลังสวน
เด็กรุ่นหลัง ๆ ในสวนคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ
ในราวปี พ.ศ. 2485-2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลมาถึงเมืองไทยที่กรุงเทพฯ แรก ๆ ของสงครามยังไม่มีพิษภัยเท่าใดนักเพราะมีแต่ทหารญี่ปุ่นบุกเข้ามาแต่ไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับคนไทยจวบจนเมื่อพันธมิตรต่อสู้เพื่อขับไล่ทหารญี่ปุ่นออกไปจากเมืองไทย เริ่มมีการทิ้งระเบิดที่เมืองไทย มีระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่เทเวศใกล้บ้าน (บ้านบางขุนพรหม)เข้ามาทุกที พวกผู้ใหญ่ในบ้าน คุณพ่อ คุณแม่และพี่ ๆ เริ่มขยับขยายไปหาที่ปลอดภัย ครอบครัวของเราและครอบครัวคุณพี่ีอุระมิลา ซึ่งเป็นพี่สะใภ้คนโต มีคุณแม่วงษ์ และวนิดา อุรัสยะนันท์ ซึ่งยังเล็กมากอพยพออกจากกรุงเทพมาด้วยกัน ทั้งสองครอบครัวมาอยู่รวมกันที่บ้านอื้อเฮียบหมง ซึ่งใหญ่โตกว้างขวาง คุณยายยกเรือนซีกหนึ่งให้พวกเราอยู่ พี่เกษมและพี่อุระมิลายังต้องไปทำงานอยู่จึงอยู่บ้านที่กรุงเทพฯที่บ้านวัดพระยายัง ส่วนที่บ้านบางขุนพรหมของพวกเรา พี่ ๆ ผู้ชาย 4 คนอยู่ที่บ้านนี้ ส่วนคุณพ่อฉัตรคุณแม่อุไรและลูกหญิงทั้ง 5 คนไปอยู่บ้านแปดริ้ว พี่อาภรณีขณะนั้นเป็นอาจารย์สอนหนังสือโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งทางโรงเรียนปิดการสอน จึงอพยพมาแปดริ้วด้วยได้
ที่บ้านบางกรูดได้ว่าจ้างเรือแจวหัวท้ายขนาดใหญ่พอสมควร เรือมีหลังคาโค้งตรงกลางลำเรือที่มีคนนั่ง ให้เรือมารับพวกเรา ในเวลานั้นถนนพายัพยังเป็นคลองอยู่ เรือสามารถเข้ามาจอดที่ท่าน้ำหน้าบ้านของพวกเราได้ และยังไปรับคุณแม่วงษ์และวนิดาไปด้วยกัน
เพิ่มเติม
คลองบางขุนพรหม มีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใกล้ ๆ กับสะพานพระรามแปดในปัจจุบันคลองที่เคยอยู่หน้าบ้านบ้านของคุณพ่อฉัตร ต่อมาถูกถมเป็นถนนพายัพ
ที่ปากคลองบางขุนพรหมเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยไพจิตรเด็ก ๆ เป็นบ้านของพลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ เดิมชื่อว่า หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ซึ่งท่านเป็นเจ้าของบ้านนรสิงห์ ซึ่งในปี พ.ศ. 2484 ท่านเจ้าพระยา ฯ ขายบ้านนรสิงห์ให้รัฐบาล และย้ายมาพำนักที่บ้านท่าเกษม ตำบลบางขุนพรหม จนถึงปี พ.ศ. 2505 ท่านขายบ้านท่าเกษมให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (เป็นโรงพิมพ์ธนบัตร ในปัจจุบันนี้)
บ้านของท่านเ้จ้าพระยา ฯ ใหญ่โต และมีอู่เรือขนาดใหญ่มีเรือมากมายในอู่ ซึ่งท่านเจ้าพระยาจะตั้งชื่อเรือตามชื่อของบุตรสาวของท่าน
ท่านเจ้าพระยารามราฆพ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ สมรสพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ คุณหญิงประจวบ สุขุม ต.จ. ธิดาของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช และ ท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม ณ ป้อมเพ็ชร) ณ พระที่นั่งบรมพิมาน เมื่อ วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2467 และสมรสกับภรรยาท่านอื่นๆ รวมมีบุตร-ธิดา 34 ท่าน ดังนี้
มีบุตร-ธิดา 2 ท่าน กับ คุณหญิงประจวบ สุขุม (สมรสพระราชทาน) ดังรายนามต่อไปนี้
คุณรุจิรา อมาตยกุล
คุณมานน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
มีบุตร-ธิดา 7 ท่าน กับ คุณนงคราญ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณสุรางค์
คุณโสภางค์พึงพิศ
คุณจิตอนงค์
คุณบุษบงรำไพ
คุณอนงค์ในวัฒนา
คุณปิยานงราม
คุณความจำนงค์
มีบุตร-ธิดา 9 ท่าน กับ คุณบุญเรือน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณพัฒนา
คุณบุษบานงเยาว์
คุณเชาว์ชาญบุรุษ
คุณพิสุทธิอาภรณ์
คุณบทจรพายัพทิศ
คุณจักรกฤษณ์กุมารา
คุณวนิดาบุญญาวาศ
คุณพรหมาศนารายณ์
คุณเจ้าสายสุดที่รัก
มีบุตร-ธิดา 7 ท่าน กับ คุณพิศวาส พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณศิริโสภา
คุณดวงสุดาผ่องศรี
คุณกุมารีหริลักษณ์
คุณทรงจักรวรภัณฑ์
คุณรามจันทร์วรพงษ์
คุณภุชงค์บรรจถรณ์
คุณจันทรรัศมี
มีบุตร-ธิดา 6 ท่าน กับ คุณถนอม พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณระฆุวงศ์
คุณนีละพงษ์อำไพ
คุณไกรกรีกูร
คุณประยูรกาฬวรรณ
คุณนวลจันทร์ธิดาราม
คุณโสมยามส่องฟ้า
มีบุตร-ธิดา 3 ท่าน กับ คุณพยุงวดี พึ่งบุญ ณ อยุธยา ดังรายนามต่อไปนี้
คุณสู่นคเรศ
คุณทักษิณีเขตจรดล
คุณอำพลปนัดดา
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพีเดีย
เรือแจวพาพวกเรารอนแรมมาโดยเข้าสู่คลองแสนแสบ ผ่านสถานที่มากมายเช่นผ่านเขตประเวศ ลาดกระบัง หัวตะเข้ และอีกหลายสถานที่ จนมาถึงประตูน้ำท่าถั่ว อันเป็นจุดสิ้นสุดเส้นทางลำคลอง เพราะสุดคลองประเวศบุรีรมย์ที่ประตูน้ำท่าถั่วนี้ จะออกสู่แม่น้ำบางปะกง
คุณน้าเฮียงและคุณลุงชุน (กุ่ยชุน-ชาญ-เจริญวงษ์) มาคอยรับพวกเราที่ประตูน้ำท่าถั่วนี้ เป็นผู้นำทางพาเรือที่เรารอนแรมมาออกสู่แม่น้ำบางปะกง มุ่งตรงไปบ้านอื้อเฮียบหมงที่ตำบลบางกรูด
เรือนปั้นหยาของคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ
ในช่วงแรกที่มาอยู่ที่บ้านบางกรูด คุณพ่อฉัตร คุณแม่อุไรและพี่อาภรณีวิตกเรื่องการศึกษาของพวกเราพี่สุภาภรณ์ ไพจิตรและน้องผุสดี พวกเราเรียนจบชั้น ประถมปีที่สี่กันแล้ว แต่น้องปรียาซึ่งเป็นน้องเล็กสุดท้องของครอบครัวยังเล็กมาก ที่โรงเรียนวัดบางกรูดซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้ไปเรียนได้สะดวกที่สุดก็เพิ่งยุบชั้นเรียน เหลือแค่ชั้นประถมสี่จากเดิมที่มีชั้นประถมหก พี่อาภรณีจึงคิดจะให้พี่สุภาภรณ์ ไพจิตร และผุสดี ไปเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดชื่อโรงเรียนดัดดรุณี พี่อาภรณีพาพวกเราสามคนเดินทางจากบ้านอื้อเฮียบหมงเข้าตัวจังหวัดฉะเชิงเทราโดยลงเรือเมล์ที่แล่นผ่านหน้าบ้านเป็นเรือลำใหญ่ เรือแล่นผ่านคุ้งน้ำ และท่าน้ำต่าง ๆ ผ่านวัดท่าอิฐ วัดโสธร ใช้เวลาในการเดินทางทางเรือนานมากประมาณสักสองชั่วโมง เมื่อ 70 ปีที่แล้วเรือเมล์ลำใหญ่ไม่สามารถแล่นให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ได้ เสียงเครื่องเรือก็ดังมาก เมื่อไปถึงก็ขึ้นเรือที่ท่าเรือที่ชาวแปดริ้วเรียกกันว่าท่าเมล์เ้ขียว ( รู้สึกว่า มีท่าเมล์แดงอยู่ถัดเหนือขึ้นไปอีกท่าหนึ่งเป็นท่าเรือสำหรับบรรดาเรือที่แล่นมาจากอำเภอบางคล้า ) พี่อาภรณีพาพวกเราสามคนไปที่โรงเรียนดัดดรุณี โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด หลานพลอยโพยมเล่าว่า คุณครูใหญ่ในขณะนั้นชื่อคุณครูสังวาลย์ ทองคำ เป็นคุณครูใหญ่ลำดับที่ ห้า ของโรงเรียน ระหว่างปี พ.ศ. 2476-2487 ไพจิตรจำไม่ได้ว่าการเจรจาพาพวกเราสามคนมาเข้าชั้นเรียนนั้นเจรจากันอย่างไร สรุปผลออกมาคือพี่อาภรณียกเลิกความคิดที่จะให้พวกเราเข้าเรียนที่โีรงเรียนดััดดรุณีั
ขากลับพี่อาภรณีพาน้อง ๆ สามคนเดินกลับจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรามาตามเส้นทางถนนที่ไปสู่อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร จึงจะถึงทางแยกเข้าสู่วัดบางกรูด เมื่อเหนื่อยก็นั่งพักตามทางจำไม่ได้่เสียแล้วว่ากินข้าวกินน้ำกันที่ไหน จนบ่ายมากจึงเดินมาถึงศาลาพักคนเดินทางซึ่งอยู่ตรงข้ามกับปากทางเข้าวัดบางกรูดวิสุทธาราม (วัดประศาสน์โสภณในขณะนี้) หยุดนั่งพักกันอีกรอบจนพอจะมีแรงเดินต่อไปไหว พวกเราเดินข้ามถนนใหญ่มาสู่ถนนลูกรังซึ่งมีขนาดพอให้รถสามารถวิ่งผ่านได้ ระยะทางอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จึงจะถึงตลาดข้างวัดบางกรูด พวกเราเดินลัดเลาะคันนากันมาอีกสักพักก็ถึงบ้านคุณน้าฮั้ว เราลงเรือข้ามฝั่งที่บ้านคุณน้าฮั้วมาบ้านอื้อเฮียบหมง ที่พวกเราอพยพหนีสงครามมาพักอยู่กับคุณยายจู สรุปให้คุณพ่อฉัตรคุณแม่อุไรฟังว่าไม่สามารถเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนดััดดรุณีได้ คงต้องรอให้สงครามโลกยุติก่อนจึงค่อยกลับมาเรียนต่อที่กรุงเทพ ฯ ความรู้สึกในขณะนั้นไม่ห่วงเรื่องการเรียนหนังสือกลับรู้สึกว่า เป็นอันสบายไปที่จะได้ใช้ชีวิตเป็นเด็กบ้านนอกสมใจได้เต็มที่ พอถึงฤดูร้อนหลังจากคุณลุงบุญคุณป้าสมใจ เก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ พวกเราก็กลับไปทำอาชีพเดิมที่เคยทำมาก่อน ตอนตามคุณพ่อคุณแม่มาในช่วงปิดเทอมใหญ่ ก่อนการที่จะได้อพยพมาอยู่เป็นเวลานาน นั่นคืออาชีพเก็บข้าวตกแล้วเอาไปขายให้คุณน้าฮั้วอย่างเคยด้วยความสนุกสนาน
ตั้งแต่นั้นมา ไพจิตร และพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้หญิงรวมห้าคน คุณพ่อฉัตร คุณแม่อุไร คุณแม่วงษ์ และวนิดา (น้องสาวคุณพี่อุระมิลา) ก็เป็นคนบางกรูดเมืองแปดริ้ว เต็มตัว
คลองบางขุนพรหม เป็นคลอง จากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาสู่ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถึงถนนวิสุทธิกษัตริย์ หลังโรงเรียนนายร้อยทหารบก
คลองแสนแสบ
เป็นคลองที่ห่างไกลจากพระนครมาก เมื่อสมัยกว่า 100 ปีมาแล้ว แต่กลายเป็นคลอง ที่เกือบจะพูดได้ว่าอยู่ในใจกลางกรุงเทพฯ
คลองนี้ แต่เดิมตั้งแต่สี่แยกมหานาค ผ่านสระปทุม ประตูน้ำ วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) วัดบางกะปิ จนถึงวัดใหม่ช่องลม เรียกว่า คลองบางกะปิ ต่อจากนั้นไปเรียกว่า คลองแสนแสบ
คลองมหานาค
คลองแสนแสบ
คลองแสนแสบ เป็นคลองที่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขุด ตั้งแต่หัวหมาก ไปถึงบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ. 2380 (จุลศักราช 1199) เพื่อเป็นทางลำเลียงกองทัพครั้งทำสงครามกับญวน
สองฝั่งคลองแสนแสบ มีสถานที่สำคัญซึ่งสมควรจะกล่าอยู่ 2 แห่ง คือ สระปทุม กับวัดมักกะสัน
สระปทุม ปัจจุบัน อยู่หลังย่านการค้าราชประสงค์ หลังตึกกองการเงิน กรมตำรวจ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) และข้างวัดสระปทุมวนาราม เป็นสถานที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างขึ้น พร้อมกับวัดสระปทุม โดยให้ขุดสระ เป็นเกาะเล็กเกาะน้อย ปลูกบัวต่าง ๆ ส่วนบนเกาะ ปลูกไม้ดอกนานาพันธุ์ และสร้างพระที่นั่งประทับแรมพลับพลา โรงละคร ที่เจ้าจอมอยู่ โรงครัวข้างใน โรงครัวเลี้ยงขุนนาง แล้วพระองค์เสด็จทางชลมารค ตามคลองบางกะปิ มาประทับแรม ณ วังสระปทุม นานถึง 2-3 วัน ทุกปี
วัดมักกะสัน (วัดบางกะสัน) อยู่ริมคลองกลางทุ่งบางกะปิ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นที่ตัดคอประหารชีวิตนักโทษ เมื่อประมาณหลาย ปีมาแล้ว ตั้งแต่ประตูน้ำ จนถึงอำเภอบางกะปิ ยังไม่มีถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และถนนคลองตันขนาบ เช่นปัจจุบัน ปรากฏว่า มีเรือเมล์ขาว บริษัทนายเลิศ วิ่งระหว่างประตูน้ำ กับอำเภอมีนบุรี เป็นประจำ แม้เวลานี้ ก็ยังมีเรือวิ่งบริการรับส่งผู้โดยสารตามบ้านริมคลองอยู่
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=761913
http://allknowledges.tripod.com/canalinpast.html#object
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น