วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

หนังสืิอ มูลบทบรรพกิจ ๒







ในตอนท้ายเรื่องทิศ แปดทิศ ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้ิอย อาจารยางกูร)ท่านได้ใช้แสดงภาพเป็นเส้นตีตาราง
ภาพแสดงการนับ ตั้งแต่หลักหน่วยหลักสิบ.....โกฎิ

@ แต่ร้อยถึงโกฎิไซร้ สิบคูณ
โกฏิตราบอสงไขยสูญ เหล่านี้
ร้อยแสนเร่งคูณภูล เถิดพ่อ
ลักษณดังนี้ชี้ ช่องให้ปราชเห็น


มีภาพสัญลักษณ์อธิบายการเขียน จำนวน
เป็นชั่งสี่ตำลึงสามบาทสองสลึงเฟื้องสองไพ
@ ตำลึงบนเฟื้องอยู่ หนกา น่านา
บาทใส่บนสลึงตรา ครุท้าย
ไพล่าชั่งบนกา บนอยู่ กลางนา
ตีนครุตามครุย้าย ยักใช้เรือนเงิน


การเขียนสัญลักษณ์ วัน ข้างขึ้น ข้างแรม
@ วางวันนั้นน่าเส้น โดยหมาย
เดือนอยู่สุดสายปลาย เปลี่ยนใช้
ช้างขึ้นอยู่ยอดสาย ยืนอย่า ฉงนแฮ
แรมค่ำกาใต้ไซร้ สี่นี้แบบแผน




ดอกศรีตรัง

@ ไม้มลายลักษณชี้ สองสถาน
จักบอกแบบบรรหาร แห่งใช้
พวกคำมคธขาน ควรใส่ ยอแฮ
ไม้มลายล้วนใช้ ส่วนข้างคำสยาม


@ อนึ่งพึงสังเกต คำไม้มลายเป็น ๒ อย่าง คำไม้มลายที่ต้องมีตัวยอสกด ด้วยคำนั้นมาแต่ภาษามคธ เป็นอย่าง ๑ คำมีแต่ไม้มลาย ล้วนเป็นคำไทยอย่าง ๑
คำไม้มลายมีตัวยอสกด เป็นตัวอย่างดังนี้
ชลาไลย อายุไขย ราชวินิจไฉย อวยไชย ฦาไชย มหาดไทย พระหฤทัย อรไทย
ไม้มลายไม่มีตัวยอ เช่น ท้าวไทแลไพร่พล ทั้งพงไพรแลไร่นา...ทั้งผลไม้แลไมตรี ไฉไลแลไพร่หนี.....






ขอแต่งเสริมเติมใส่ไว้ฝึกสอน
ต่อมูลบทแบบเจ้าคุณศรีสุนทร
พอเด็กอ่อนอ่านเล่าได้เข้าใจ



ซึ่งขนบธรรมเนียมทำนองนับ
เป็นฉบับแบบสยามตามวิไสย
โลกนิยมนมนานบุราณไกล
คนใหม่ ๆ ยังไม่รู้ดูรำคาญ

ปุโรหิตคิดยามตามนุโยค
ตั้งแต่พรหมสร้างโลกสัณฐาน
ประสมเศษในราษีดิถีวาร
บรรจวบกาลครบเดือนไม่เคลื่อนคลาย

พระจอมพงษ์ทรงพุทธิ์มกุฎสยาม
รับสั่งให้ใช้ตามโหรถวาย
ประกาศออกบอกแจ้งจึงแพร่งพราย
จะอธิบายบอกข้อต่อกันมา



คือธรรมเนียมในหนังสือราชสาส์น
บรรทัดต้นสารบาญข้างบนหนา
จงเขียนว่าวันที่นี้ก่อนรา
ต่อนั้นมาเขียนเดือนลำดับไป

แล้วเขียนปีพระพุทธศักราช
ยกเป็นบาทปฐมนิยมไข
แล้วจับความตามกระบวนสำนวนใน
เราบอกไว้จงสำเหนียกให้แน่นอน



สิบสองเดือนเป็นปีไม่มีเศษ
แนะนิเทศทางไสยอนุสร
เมษายนต้นปีราษีจร
นามกรเดือน ๕ ภาษาไทย

ราษีท่านประสงค์เอาสัตว์แพะ
จะว่าแกะก็ได้บ้างอย่ากังไข
๓๐ วันถ้วน ๆ กระบวนใช้
ถ้าข้างไทยก็คงขาดอยู่หนึ่งวัน



เดือนที่ ๒ รองถัดเดือนปฐม
ชื่อว่าพฤษภาคมดูคมสัน
ราษีโคผู้เผือกผ่องผิวพรรณ
มี ๓๑ วัันอย่าวนเวียน

คือเดือนหกข้างไทยเป็นเดือนถ้วน
อย่าผันผวนแผกผิดคิดหาเหียร
เก่ากับใหม่จำไว้ให้แนบเนียร
เสียแรงเรียนก็ให้รู้ทั้งสองทาง



เดือนที่ ๓ ได้นามตามนุสนธิ์
คือเดือนมิถุนายนอย่าอางขนาง
ราษีนี้เป็นมนุษย์บุรุษนาง
ดูเหมือนอย่างไสยาศน์เมื่อยามเย็น

เคียง ๆ กันเป็นคู่ดูน่าขัน
จะอัศจรรย์อย่างไรแลไม่เห็น
ดวงดาราเรียงรายคล้ายกับเป็น
ฉันแลเห็นไร ๆ ไม่รู้นา

ในเดือนนี้ ๓๐ วันไม่มีเศษ
เราเรียกกันว่าเดือน ๗ เชษฐา
ขาดบ้างเต็มบ้างเป็นครั้งครา
นาน ๆ เพิ่มอธิวาห์ดิถีวัน



เดือนที่ ๔ มีศัพท์สำหรับพจน์
พ้องกับภาคมคธภาษา
ว่ากรกฎาคมเป็นสมญา
แปลออกมาศัพท์นี้ราษีปู

๓๑ ทิวากาลสมัย
โบราณใช้เรียกเดือน ๘ นะพ่อหนู
จงจำไว้เถิดหนาตำราครู
ให้พึงรู้เถิดเดือนนี้ไม่มีขาด

ถ้าครบถ้วนสามปีมีสองหน
แปดเบื้องต้นเรียกว่าบุพพาสาธ แปดเบื้องปลายแห่งกาลอาสาฬหมาศ
ชื่อว่าอุตรสาธเป็นสองนาม



เดือนที่ ๕ เรียกว่าสิงหาคม
จงนิยมจำถ้อยอย่าทวนถาม
ประสงค์สัตว์ราชสีห์สิงหนาม
โดยนิยามมีอยู่ ๓๑ วัน

ข้างไทยพร้องร้องเรียกว่าเดือน ๙
สูเขาเจ้าจงจำคำเราสรร
ถ้าเดือนคี่แล้วก็ขาดเป็นสำคัญ
จะรำพันเดือนที ๖ ยกต่อไป

คือเดือนกันยายนย้ายวิถี
สูราีษีหญิงงามตามวิสัย
๓๐ วันจงสำคัญให้เข้าใจ
เดือนนี้ไซร้เดือน ๑๐ สังเกตุดู



แล้วถัดไปเดือนที่ ๗ จำนวนนับ
จะบอกศัพท์ชื่อไว้อย่าไขหู
ตุลาคมสมญาอุส่าห์ดู
คือราษีตราชูจงรู้นาม

ราษีนี้มีวัน ๓๑
บอกไว้เสร็จสิ้นอย่างทางสยาม
ตรงกับเดือน ๑๑ อสุชนาม
ประสงค์ความตามคดีที่สำแดง

ลำดับนั้นครั้นถึงเดือนที่ ๘
คำภีร์แพทย์เพศไสยได้แถลง
ชื่อพฤศจิกายนนิพนธ์แปลง
วิจฉิกะว่าแมลงป่องถ่องกระบวน

๓๐ วันพอดีไม่มีเศษ
จงสังเกตจำให้มั่นอย่าผันผวน
เดือน ๑๒ ต้องนามตามจำนวน
จงใคร่ครวญตรึกไว้ได้ใช้การ

.


เดือนที่ ๙ เนาวมาศประสาธสรร
ชื่อว่าธันวาคมประสมสาร
ราษีนี้เหมือนธนูหน้าไม้พราน
แสดงการตามกิจไม่ค้างเกิน

๓๑ วันถ้วนจำนวนใช้
ตรงกันกับเดือนอ้ายไม่ห่างเหิน
กุมาราเรียนร่ำจำไว้เทอญ
คงเจริญสำหรับประดับตน



เดือนที่ ๑๐ หยิบยกมาแถลง
มกราคมแจ้งแห่งนุสนธิ์
คือราษีมังกรสัญจรตน
นภาดลอากาศประหลาดครัน

๓๑ ทิวาวันดิถี
ตกอยู่ในเดือนยี่สยามสรร
ที่ ๑๑ ชื่อว่ากุมภาพันธ์
จงสำคัญเข้าใจให้ชัดเจน

ราษีนี้พิกลกว่าเขาหนอ
แปลว่าหม้ออย่างใหญ่ไม่เคยเห็น
๒๘ วันถ้วน จำนวนเกณฑ์
บางทีเป็นอธิกสุรทิน

ในปีนั้นเต็มวันทวีเข้า
เป็น ๒๙ อย่าถวิล
จงจำไว้ให้มั่นหมั่นประวิน
ตามคำภีร์ปนินทินสโมธาน

กุมภาพันธ์ตรงกันกับเดือน ๓
สรุปความย่อ ๆ พอสันนิษฐาน
แล้วถึงเดือนสิบสองทำนองกาล
นามขนานชื่อว่ามีนาคม

คิดทำคำแปลให้เปลื้องปลิด
ความสงสัยสานุศิษญ์ให้งามสม
ศัพท์มินานี้ว่าปลาจงปรารมย์
โดยนิยม ๓๑ เสร็จกระบวน

เป็นเดือน ๔ ข้างเราชาวสยาม
สำเร็จความตามวิธีที่สอบสวน
ครบปีหนึ่งบริบูรณ์ประมูลมวล
๑๒ เดือนถ้วน ๆ ธรรมดา



โดยนิยมสมมุติ์คดีโลก
จงอาโภคจดจำไว้เถิดจ๋า
พอเป็นเครื่องประเทืองเรืองปัญญา
พรรณาตามเค้าสำนวนกลอน

@ อนึ่งจะสาธกยกเอาข้อ
แต่ย่อ ๆ หยืบแยกเป็นแบบสอน
จำคล่อง ๆ มิให้ต้องอนาทร
เป็นตอน ๆ ตั้งแต่ เมษายน

เมษายนคนเก่าเขาว่าเมษ
แนะนิเทศที่ ๒พฤษภาหนา
ที่ ๓ เมถุนนับลำดับมา
ที่๔ ว่ากรกฎากำหนดจำ

ที่ ๕ ว่าสิงห์น่าสำเหนียก
ที่๖ เรียกว่ากันยาน่าขันขำ
ที่๗ เรียกว่าตุลตุลากรรม
ที่ ๘ จำว่าพิจิตพึงเข้าใจ

ที่ ๙ ว่าธนูฟังถนัด
ที่ ๑๐ ว่ามังกรสุนทรไข
ที่ ๑๑ ว่ากุมภ์เหมือนกำไว้
ที่ ๑๒ ไซร้ว่ามินสิ้นกระบวน



ฉันรำพรรณวันเดือนโดยลำดับ
เป็นฉบับระบอบได้สอบสวน
จงหมั่นดูอ่านหมั่นทานทวน
หมั่นใคร่ครวญหมั่นนึกหมั่นตรึกตรา


แต่ย่อ ๆ พอคิดไม่วิตถาน
ถ้าอยากรู้พิสดารจงศึกษา
ที่ครูเฒ่าเขาดียังมีนา ให้อุตส่าห์เถิดคงรู้ได้ดูดี


ชื่อว่าเกียจคร้านบ่พานพบ
บ่ประสบความรู้ได้ชูศรี
วิชาทรามทรัพย์ก็สูญไม่พูนมี
มิตรที่ร่วมไมตรีก็หน่ายตน


ไม่มีมิตรชื่อว่าหมดความสุข
ไม่มีสุขชื่อว่าหมดกุศล
บุญไกษยแล้วไฉนจะได้ยล
ศิวโมกข์มรรคผลนิพพานเอย.



@ จบมูลบทเบื้อง บรรพกิจ
เป็นปฐมควรสถิต ที่ต้น
เป็นแบบสั่งสอนศิษย์ สายสืบ ไว้นา
ความที่ฦกลับอ้น อัดอั้น ออกขยาย





ต้นฉบับจาก มูลบทบรรพกิจ ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
คุณหญิงประเสริฐศุภกจ (จำเริญ ไกรฤกษ์)
วันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕
โดยได้รับอนุญาตจากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรในการจัดพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น