วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หนังสืิอ มูลบทบรรพกิจ ๑







แบบเรียนหลวงของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร(น้อย อาจารยางกูร) เรียงตามลำดับดังนี้

๑. หนังสือเรียน มูลบทบรรพกิจ ... เป็นการสอนเขียน สอนอ่านเบื้องต้น
ทางกรมศิลปากรเองสันนิษฐานว่าได้เค้ามาจากหนังสือจินดามณี อันว่าด้วยระเบียบของภาษา ซึ่งพระโหราธิบดีแต่งไว้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่ดัดแปลงให้เหมาะแก่กาลสมัย ท่านพระยาศรี ฯ (น้อย อาจารยางกูร) ได้ขึ้นต้นหนังสือดังนี้

หลวงสารประเสริฐน้อย นามเดิม
คิดจัดจำแนกเติม ต่อตั้ง
ใดพร่องปราชญ์เชิญเสริม แซมใส่ เทอญพ่อ
ต้นแต่นโมทั้ง หมู่ไม้เอกโท ฯ

ระบิลระบอบนี้ นามสฤษดิ์
มูลบทบรรพกิจ ประกอบถ้อย
สำหรับฝึกสอนศิษย์ แรกเริ่ม เรียนฦา
จงพ่อหนูน้อยน้อย เล่าอ้อ อ่านจำ

ถัดจากโคลงสองบทนี้ เป็นบทนมัสการคุณ องค์พระสัมมาสัมพุธเจ้า พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระรัตนตรัย บูชาคูณครูอาจารย์ ด้วยบทโคลงอีกแปดบท



ลองคิดดูว่าเมื่อเริ่มเข้าเรียนหนังสือจะโดยการเรียนที่บ้าน ที่วัด หรือที่โรงเรียน หน้าตาหนังสือจะเป็นอย่างไร หลับตาลืมตาก็ต้องนึกได้ว่า ก็ต้องเริ่มจากพยัญชนะ ๔๔ ตัว คือตัว ก.ไก่ ถึงฮ.นกฮูก ก่อน เมื่อรวมกับสระเรียกว่าอักษร อักษรเหล่านี้แยกเป็นอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ แล้วก็มีวรรณยุกต์ ๑๓ มีการประสมสระ เริ่มจาก สระอา สระอิ ไปจนถึง สระเอา สระอำ สระอะ(ท่านใช้สระอะไว้ตอนท้าย)

ท่านสอนการผันอักษรด้วย ไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา แยกตามตัวอักษรต่ำ อักษรกลาง อักษร สูง

การใช้ไม้ม้วน ๒๐ คำ

อักษรคำตาย ซึ่งท่านอธิบายว่า

อักษรคำตายในแม่ ก.กา ทั้ง ๓ หมู่นี้ ซึ่งแจงออกตัวละ ๔ คำนั้น ถึงผันด้วยไม้เอก ไม้โม ไม่ได้ ก็แค่สำเนียงเป็นหนักเบา ตามอักษรคำตาย อักษรสูง อักษรกลาง เสียงต่ำลง คือ ขิ ขึ ขุ ขะ กิกึ กุ กะ ส่วนคำตายอักษรต่ำเสียงสูงขึ้น เช่น คิ คึ คุ คะ เป็นดังนี้ทุกตัวทั้ง ๓ หมู่ พึงสังเกตดูก็จะรู้ว่า เสียงแปลกดุจคำเหล่านี้ จักขุ ไฟคุ เขะขะ เจ้าคะ ดาบฉะ น้ำชะ บวมฉุ นุ่นในกระชุ...เป็นต้น

ถึงตัวอักษรต่ำที่มีตัวสูง กลางนำหน้า ก็มีสำเนียงหนักเบา ดุจคำว่า หงำหงะ เงอะงะ เป็นตำหนิ ชาญชำนิ บางบำหรุ กินยารุ เป็นไข้หละ ต้องเลยละ เป็นต้น

ในหนังสือมูลบทบรรพกิจมีการแทรกเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ ซึ่งอ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติดี บรรจุเป็นตอน ๆ ตั้งแต่แม่ ก.กา จนถึงแม่เกย ซึ่งคนส่วนมากพอจะเคยรู้จักกาพย์เรื่องนี้กันดีจึงจะไม่กล่าวถึง

อักษรต่ำที่มีตัว ห นำหน้าในแท้ กก กด กบ นี้มีสำเนียงเสียงต่างกันกับอักษรต่ำดุจคำว่า
ผมหงอก เพาะไม่งอก ไรเหงือก นกเงือก เจ็บหงอด เง้า ๆ งอด ๆ ทำปากหงับ อ้าปากงับ ลายกนก พัดขนนก น้ำหนัก สำนัก เหนียวหนึก รู้สำนึก ผักหนอก ภายนอก เคราหนวด หมอนวด...ดังนี้เป็นต้น

ซึ่งอ่านไปเรื่อย ๆ แล้วก็สนุกสนานเพลิดเพลินดีกับการเล่นคำของท่าน ท่านยกตัวอย่างไปจนถึงแม่เกยเช่นกัน

การศึกษามีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาหนังสือชุดนี้เสื่อมความนิยมไป กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้แบบหัดอ่านเบื้องต้นอื่นอีกแต่ทุกเล่มแต่งโดยถือหนังสือชุดนี้เป็นรากฐานจนถึงปัจจุบัน



ท่านยังแจกแจงตัวอย่างการใช้ ศ ษ และส เป็นบทร้อยกรอง เช่น

การใช้ ศ

ไพศาลศีขรพิเศศ แลศัพท์ศรัทธา
ศัตรูแลศุขศุทธอา ศรพไกษยรัศมี
อาศรมศิลปศิวา ศรโศรตรเศรษฐี
อากาศพิศม์ศุลี ยศศักดิ์อัศวา...

การใช้ ษ

บุษยาแลกฤษณแลกฤษ เขษมกษัตริย์บัตรี
โอภาษจักษุมหิษี รักษโทษภูษา
อักษรรากษษและยักษ แลเกษบุษบา
พฤกษาฤาษีบุรุษมา นุษย์ภิกษุเหาะหรรษ์...

การใช้ ส

สรรเพชญ์สัทธรรม์แลสงฆ์ ประเสริฐแก่นสาร
สบสูตรสดับนิแลสังหาร แลแพทยสัตยา
โกสุมเกสรสมบัติ แลสวัสดิโสภา
เสาร์สุริยสวรรค์แลสุรา สุรสิทธิ์สมภาร ...



@ คำ ...พระภิรักขิตม้าย อมรา ต้นเอย
กลอน ... ท่านรังรจนา แนะไว้
สอน... พวกดรุณทา รกร่ำ เรียนเอย
เด็ก ...อย่าดูหมิ่นให้ เร่งรู้ ดูจำ ฯ

@ อันนี้ข้าขอกล่าว ให้เนื่องเรื่องราว วิธีนับศัพท์สังขยา
@ เด็กเอ๋ยเจ้าจงศึกษา ตำหรับนับรา จงรู้กระทู้ที่นับ
@ ห้าสองหนเป็นสิบสับ สิบสองหนนับ ว่ายี่สิบอย่าสงสัย
@ สิบสามหนเป็นต้นไป ท่านเรียกชื่อใช้ สามสิบสี่สิบตามกัน
@สิบสิบหนเป็นร้อย สิบร้อยเป็นพัน สิบพันเป็นหมื่นหนึ่งนา สิบหมื่นเป็นแสนหนึ่งหนา
@สิบแสนท่านว่า เป็นล้านหนึ่งพึงจำไว้ สิบล้านนั้นเป็นโกฏิไซร้
@ร้อยแสนโกฎิไป เป็นปฏิโกฏิหนึ่งตามมี. ฯ

@ ร้อยแสนปะโกฎินี้ เป็นโกฏิปะโกฏี พึงกำหนดอย่าคลาดคลา
@ ร้อยแสนโกฏิปะโกฏิหนา ท่านเรียกชื่อมา ว่านะหุตหนึ่งไป
@ ร้อยแสนนะหุตนั้นไซร้ ท่านเรียกชื่อไว้ ว่านินนะหุตนา
@ ร้อยแสนนินนะหุตหนา ได้นามตามมา ว่าอะโขภินีหนึ่งมี
@ ร้อยแสนอะโขภินี ได้นามตามมี ว่าพินธุอันหนึ่งนา
@ ร้อยแสนพินทธุหนึ่งหนา ท่านเรียกกันมา ว่าอัพพุทพึงจำไว้
@ ร้อยแสนอัพพุทไซร้ ได้นามตามใช้ ว่านิรัพพุทหนึ่งมา
@ ร้อยแสนนิรัพพุทหนา ท่านเรียกชื่อมา ว่าอหะหะตามมี
@ ร้อยแสนอหะหะนี้ มีนามตามที่ ว่าอพะพะหนึ่งนา
@ ร้อยแสนอพะพะนั้นหนา ท่านเรียกกันมา ว่าอฎะฎะตามมี
@ ร้อยแสนอฎะฎะนี้ มีนามตามที่ ว่าโสคันทิกะหรึ่งนา
@ ร้อยแสนโสคันทิกะหนา ท่านเรียกชื่อว่าเป็นกมุทอันหนึ่งไป
@ ร้อยแสนกมุทนั้นไซร้ มีนามตามใช้ ว่าบุณฑริกหนึ่งแน่
@ ร้อยแสนบุณฑริกแท้ ท่านเรียกกันแล ว่าเป็นปทุมหนึ่งไป
@ ร้อยแสนปทุมนั้นไซร้ ท่านตั้งชื่อไว้ ว่ากะถานะอันหนึ่งนา
@ ร้อยแสนกะถานะนั้นหนา ท่านเรียกกันมา มหากะนะหนึ่งไป
@ ร้อยแสนมหากะนะไซร้เป็นอสงไขย คือเหลือจะนับพรรณา ฯ

@ อนึ่งที่ลำดับมา ผิดจากเทศนา ของพระชิโนวาที
@ ลำดับเทศนาดังนี้ นิรัพพุทมี แล้วอพะพะ อฎะฎะมา
@ อะหะหะกมุททา โสคันทิกา แล้วอุปปละบุณฑริกนี้
@ปทุมะ กะถานะตามที่ จงรู้วิธี แล้วสังเกตุกำหนดแล

@แต่ร้อยถึงโกฏินี้แท้ เอาสิบคูณแน่ เร่งรู้หนาอย่าหลงใหล
@แต่โกฏิถึงอสงไขย เอาร้อยแสนไซร้ เร่งคูณเข้าอย่าลืมแล ฯ


คำว่า กะถานะ มหากะนะ อสงไขย เป็นคำที่ผู้สนใจเรื่องราวของพระพุทธองค์หรือศาสนาพุทธค่อนข้างคุ้นเคย หรือบางท่านก็อาจจะคุ้นเคยแค่คำว่าอสงไขยเพียงคำเดียว แต่ถ้าได้อ่านมูลบทบรรกิจของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) แล้ว คงจินตนาการตามคำอธิบายได่ว่าหนึ่งอสงไขยกินระยะเวลาเนื่นนานเพียงไร



ท่านยังสอนเรื่อง การวัด ตวง ชั่ง ดังนี้
@ อนึงโสดนับมีสามแื้ท้ นับด้วยวัดแล ด้วยตวงด้วยชั่งเป็นสาม
@โยชน์หนึ่งสี่ร้อยเส้นตามตาม เส้นหนึ่งโดยความ ยี่สิบวาอย่าสงสัย
@วาหนึ่งสี่ศอกบอกไว้ ศอกหนึ่งท่านใช้ สองคืบไซร้ตามมีมา
@คืบหนึ่งสิบสองนิ้วหนา นิ้วหนึ่งท่านว่า สี่กระเบียดจงจำเอา
@กระเบียดหนึ่งสองเมล็ดเข้า เมล็ดเข้าหนึ่งเล่า แปดตัวเหาจงรู้รา
@ ตัวเหาหนึ่งนั้นท่านว่า แปดไข่เหาหนา ไข่เหาหนึ่งแปดเส้นผม
@เส้นผมหนึ่งนั้นนิยม แปดธุลีลม ธุลีหนึ่งแปดอณูนา
@อณูหนึ่งนั้นพึงรู้หนา ท่านใช้กันมา ว่าแปดปรมาณูแล ฯ

@ อนึ่งนั้นว่านับโดยกว้างแท้ ยี่สิบวาแล ยาวยี่สิบวาเป็นไร่
@ถ้าโดยกว้างห้าวาไป ยาวเส้นหนึ่งไซร้ เป็นงานหนึ่งพึงจำ
@สี่งานท่านประสมทำ เป็นไร่หนึ่งกำ หนดไว้ให้ดีดังว่ามา ฯ

@ไม้หน้ากว้างศอกหนึ่งนา ยาวสิบหกวา เป็นยกหนึ่งพึงจำไว้
@นับด้วยวัดอย่างนี้ไซร้ นับด้วยตวงไป จงนับใช้ดังนี้นา
@ข้าวเกวียนหนึ่งนั้นท่านว่า ห้าตะล่อมหนา ตะล่อมหนึ่งยี่สิบสัด
@สัดหนึ่งยี่สิบทะนานขัด ทะนานหนึ่งสังกัด สองจังออนจงจำไว้
@จังออนหนึ่งสีกำมือได้ กำมือหนึ่งไซร้ สี่ใจมือตามมา
@ใจมือหนึ่งนั้นท่านว่า ร้อยเมล็ดข้าวหนา นับด้วยตวงเพียงนี้แล ฯ

@ ทองภาราหนึ่งแท้ ยี่สิบดุนแน่ ดุนหนึ่งยี่สิบชั่งนา
@ชั่งหนึ่งยี่สิบตำลึงหนา ตำลึงหนึ่งรา สี่บาทถ้วนจงจำไว้
@บาทหนึ่งสี่สลึงไทย สลึงหนึ่งท่านใช้ สองเฟื้อจงจำไว้นา
@เฟื้องหนึ่งนั้นสี่ไพหนา ไพหนึ่งท่านว่า สองกล่ำจงกำหนดไว้
@ กล่ำหนึ่งสองกล่อมตามใช้ กล่อมหนึ่งลงไป สองเมล็ดเข้าตามมีมา
@อันนี้นับด้วยชั่งหนา จงเร่งศึกษา เป็นสามประการวิธี ฯ



@หนึ่งโสดปีตามชื่อมี อยู่สิบสองปี นับชวดเป็นต้นไปนา
@ ปีชวดชื่อเป็นหนูนา ปีฉลูโคนา ปีขาลเป็นสัตว์เสือไพร
@ ปีเถาะเป็นกระต่ายไซร้ มะโรงงูใหญ่ มะเส็งงูเล็กแลนา
@มะเมียเป็นชื่อมิ่งม้า มะแมแพะหนา วอกว่าลิงระกาไก่
@จอสุนัขกุนหมูไซร้ สิบสองปีได้ โดยนิยมดังกล่าวมา
@ปีหนึ่งสิบสองเดือนหนา สิบสามบ้างรา นับเดือนห้าเป็นต้นไป
@เดือนหกเดือนเจ็ดไซร้ เดือนแปดเก้าไป เดือนสิบเดือนสิบเอ็ดมา
@ เดือนสิบสองเดือนอ้ายหนา เดือนยี่สามมา เดือนเป็นสิบสองไป
@ปีใดอธิกมาสใส่ เดือนเข้าอีกไซร้ ปีนั้นสิบสามเดือนนา
@เดือนหนึ่งนั้นสองปักษ์หนา คือข้างขึ้นมา ข้างแรมเป็นสองปักษ์ไป
@ข้างขึ้นสิบห้าวันได้ ข้างแรมท่านใช้ สิบห้าสิบสี่วันบ้าง
@ เดือนใดเป็นเดือนขาดค้าง ข้างแรมท่านวาง สิบสี่วันตามวิไสย
@ เพราะดังนี้เดือนถ้วนได้ วันสามสิบไป เดือนขาดยี่สิบเก้าวัน
@ เดือนหกถ้วนเดือนห้านั้น เป็นเดือนขาดพลัน ทั้งสิบสองเดือนเปลี่ยนไป
@จึงมีเดือนถ้วนหกเดือนได้ เดือนขาดเล่าไซร้ ก็ได้หกเดือนเหมือนกัน
@ ถ้ามีอธิกมาสนั้น เดือนแปดสองปัน เดือนถ้วนจึงเป็นเจ็ดนา
@วันมีชื่อเจ็ดวันหนา วันอาทิตย์มา วันจันทร์วันอังคารนี้
@ วันพุธวันพฤหัสบดี วันศุกรศักดิ์ศรี วันเสาร์ครบเสร็จเจ็ดวัน
@ กลางวันกลางคืนควบกัน ท่านนับเป็นวัน หนึ่งควรจะใส่ใจจำ
@ วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ กลางวันท่านกำ หนดไว้ว่าสี่ยามมี
@กลางคืนก็นับยามสี่ วันกับราตรี จึงเป็นแปดยามตามใช้
@ยามหนึ่งสามนาฬิกาไซร้ นาฬิกาท่านใช้ กลางวันท่านเรียกโมงนา
@กลางคืนเรียกทุ่มหนา นาฬิกาหนึ่งรา ได้สิบบาทท่านบอกไว้
@ บาทหนึ่งสี่นาทีไทย นาทีหนึ่งได้ สิบห้าเพ็ชชะนาที
@เพ็ชชะนาทีหนึ่งนี้ หกปราณตัวดี ปราณหนึ่งสิบอักษรไซร้
@ ปีหนึ่งมีนับวันได้ สามร้อยวันไป กับห้าสิบสี่วันวาร
@ ปีใดท่านเพิ่มวันกาล เป็นอธิกะวาร เพิามเข้าอกวันหนึ่งนา
@ ปีนั้นวันสามร้อยหนา กับห้าสิบห้า วันตามที่โลกยินยล
@ ถ้าปีอธิกะมาศปน เดือดแปดสองหน ปีนั้นวันมากรา
@ นับวันนั้นได้สามร้อยหนา กับแปดสิบห้า วันยิ่งตามโหรนิยมไว้ ฯ



@ อนึ่งฤดูมีสามไซร้ คือเหมันต์ไป คิมหันต์วัสสาสะนา ( คือวสันต์ )
@เดือนสิบสองแต่แรมมา เดือนสี่เพ็ญหนา สี่เดือนนี้ชื่อเหมันต์
@แต่แรมเดือนสี่จนวัน เพ็ญเดือนแปดนั้น สี่เดือนนี้คิมหันต์นา
@แรมหนึ่งเดือนแปดมา ถึงเพ็ญวารา กะติกะมาศจงรู้
@สี่เดือนถ้วนวัสสานะฤดู แบบโหรเป็นครู ว่าตามศศิโคจร ฯ



@ ทิศแปดปันโดยนามกร คือทิศบูรพ์ก่อน เป็นทิศตะวันออกนา
@แล้วอาคเณย์ทิศา ทักษิณนี้หนา เป็นทิศข้างใต้ตามมี
@แล้วต่อไปทิศหรดี จึงประจิมนี้ เป็นทิศตะวันตกหนา
@แล้วจึงทิศพายัพมา ทิศอุดรรา เป็นทิศด้านเหนือจงจำ
@แล้วจึงทิศอีสานสำ เหนียกให้แม่นยำ นั้นเป็นแปดทิศคงตรง ฯ

โปรดติดตามตอนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น