วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มุทิตา สักการะท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

มุทิตา สักการะท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)



คนยุคใหม่ในปัจจุบัันนี้มีวันมุทิตาสักการะท่านผู้มีคุณูปการต่าง ๆ กันมากมายหลายวันหลายวาระโอกาส แต่สำหรับชาวเมืองฉะเชิงเทราแล้ว วันที่ ๕ กรกฎาคม ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๓๖๕ ท่านผู้เปรียบประดุจดั่งเพชรพระมหามงกุฎเม็ดงามเม็ดหนึ่งที่ประดับพระมหามงกุฎกษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์เคยทรงมีพระราชดำรัส ถึงเหล่าข้าราชการของพระองค์ไว้ว่า


“พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น”



ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.gemsdd.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973086

จากประวัติของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นั้นท่านควรคู่ที่จะเป็นเพชรน้ำงามเม็ดหนึ่งดังกล่าว นอกจากนี้ท่านยังเป็นปราชญ์สยามสามสมัยในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยท่านถือเป็นปราชญ์ในทางธรรมในสองรัชกาลต้น และเป็นปราชญ์ในทางโลกด้านการศึกษาอย่างเด่นชัดในสมัยรัชกาลสุดท้าย ในช่วงชีวิตของท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านได้ใช้ความเป็นปราชญ์ทั้งสองด้านผสมผสานกลมกลืนกันออกมาเป็นผลงานการเขียนตำราเรียนให้กับกุลบุตรกุลธิดาได้ศึกษากันต่อ ๆ มา และเป็นต้นแบบให้มีการพัฒนาตำราเรียนหนังสือเบื้องต้นจนประยุกต์มาจนเป็นหนังสือเรียนในปัจจุบัน

ขณะนี้เมืองฉะเชิงเทรามีอนุสรณ์รำลึกถึงท่านหลายอย่าง เช่น อนุสาวรีย์ของท่านที่ตำบลโสธรบ้านเกิดของท่าน ,คำขวัญประจำจังหวัดในวรรคที่สามว่า “พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย” ,ใช้นามของท่านเป็นมงคลอนุสรณ์ที่โรงเรียนเทศบาล ๒ ,นามของสะพานข้ามแม่น้ำที่อำเภอบ้านโพธิ์ , นามของถนนซอยเชื่อมระหว่างถนนสิริโสธรและถนนศรีโสธร แต่คนรุ่นหลังทั้งประชาชนทั่วไปและนักเรียนก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักตัวท่านรวมทั้งผลงานของท่านสักเท่าใดนัก

พลอยโพยมขอถือโอกาสวันที่ชาวแปดริ้วจัดงานมุทิตาสักการะที่บริเวณอนุสาวรีย์ของท่าน น้อมระลึกถึงพระคุณของท่านและขอเชิดชูเกียรติของท่านด้วยความซาบซึ้งประทับใจในประวัติส่วนตัวและผลงานของท่าน



พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของชาติไทย ผลงานของท่านมีคุณประโยชน์อเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะในวงการศึกษา ท่านมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาขอม บาลีสันสฤต และการแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์ เป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกที่เรียกว่า "แบบเรียนหลวง” และหนังสือ กวีนิพนธ์อีกหลายเรื่อง

เกียรติประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ยุวชนและบุคคลทั่วไปควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ในการดำเนินชีวิตทั้งส่วนตัวและการประกอบหน้าที่การงานรวมทั้งใช้อบรมสั่งสอนลูกหลานของเราต่อไปตามเท่าที่อ่านพบได้ในศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเขียนโดยหลวงมหาสิทธิโวหาร บุตรชายของท่าน ในปีพ.ศ. ๒๔๓๘ นับว่าเป็นเกียรติประวัติอันงดงามยิ่งนัก ดังนี้

๑. เป็นผู้มีความเพียร วิริยะ อุตสาหะ ใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้ ความละเอียดตามประวัติของท่าน ท่านจึงรอบรู้และเชี่ยวชาญวิชาการหลายแขนงรวมทั้งด้านศาสนา

๒. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในวิชาภาษาไทย ภาษาขอม ภาษามคธ รอบรู้วิชาการอื่น ๆ ในหลายแขนง ซึ่งกรมหมื่นพิทยาลงกรณ ราชบัณฑิตยสภา เคยนิพนธ์ถึงท่านว่า เป็นใหญ่ในพวกอาจารย์หนังสือไทย ในต้นรัชกาลที่ห้าตลอดมาราวครึ่งรัชกาล เป็นศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย
เมื่อตัดสินว่ากระไรก็เป็นคำพิพากษาสุดท้าย ใครจะเถียงว่ากระไรอีกก็ฟังไม่ขึ้นในสมัยนั้น และท่านแต่งกลอน โคลงอย่างสง่าผ่าเผย ( จากคำอธิบายการจัดพิมพ์หนังสือ ปกีระณำพจนาตถ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓)
ท่านเป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย ซึ่งเรียกว่าแบบเรียนหลวง และหนังสือกวีนิพนธ์อื่น ๆ อีกมากมาย ทุกเรื่องล้วนมีคุณประโยชน์ยิ่งต่อวงการศึกษาของไทยและยังเป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง เพลงชาติไทย เป็นครั้งแรกอีกด้วย

๓. เป็นผู้มีสัตย์ธรรม สันโดษ โดยเมื่อครั้งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์นั้น จะทรงตั้งเป็นพระศรีภูริปรีชาเสนาบดีศรีสารลักษณ์เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถือศักดินา ๕๐๐๐ ท่านกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานถือศักดินาเพียง ๓,๐๐๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้เป็นที่พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ถือศักดินาแค่ ๓,๐๐๐ตามที่กราบบังคมทูลนั้น ต่อมา เมื่อได้เลื่อนเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร ก็ยังคงศักดินา ๓,๐๐๐ เท่าเดิม

๔. เป็นผู้มีความอุตสาหะตั้งใจรับราชการฉลองพระเดชพระคุณสนองเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความกตัญญูกตเวทีและจงรักภักดี มีความปรากฏอยู่ในต้นฉบับหนังสือ สยามสาธก วรรณสาทิศ ซึ่งแม้อยู่ในวัยชราท่านก็ยังได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี แต่ยังไม่ทันทูลเกล้าถวายท่านก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน และได้มาค้นพบต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ในปีพ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นลายมือเขียนท้ายเล่มมีใจความที่น่าซาบซึ้งในความจงรักภักดีของท่านดังนี้

“ ต่อไปนี้ คาถาประณิธานของข้าพระพุทธเจ้า
ปจิจุปฺปนฺเน ยถา ทานิ ตุมฺหํ ราชาธิราชิโน
สมฺมาว ปาทมูลิโก โหมิ ธมฺเมน ปาลิโก
ตถา นานาสุ ชาจีสุ นิพฺพติสฺสํ ปุนพฺภเว
ตุยฺเห วทาสโก โหมิ ยาว ชาติ ปริกฺขยา
อิทํ เม มนสา สจฺจํ สุทฺธํ วาจาย ภาสิตํ
เอเตน สจฺจวชฺเชน สทา ภทฺรานิ ปสฺสตูติ ฯ “


โดยท่านได้แปลความไว้พร้อมสรรพว่า

ในคาถาปณิธานของข้าพระพุทธเจ้าว่า ในชาติปัจจุบันนี้ ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาธิราช ผู้ดำรงสุจริตยุติธรรม พระองค์ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้า ฯ เลี้ยงข้าพระพุทธเจ้าฉันใด ข้าพระพุทธเจ้าจะเกิดต่อไปในภพชาติต่าง ๆ ภายหน้าถ้ายังไม่สิ้นชาติ ยังต้องเกิดอยู่ตราบใดขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้เป็นข้าบำเรอพระบรมบาทจงทุก ๆ ชาติ เทอญ ข้อนี้เป็นความสัตย์บริสุทธิ์ ผุดจากดวงจิตของข้าพระพุทธเจ้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอำนาจความสัตย์นี้ ขอให้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเดชพระเจ้าอยู่หัว จงประสบแต่ การ,สิ่ง ที่เจริญทุกเมื่อ การสิ่งใดพัสดุสิ่งใด ซึ่งไม่เป็นที่เจริญพระกมลราชหฤทัยขออย่าได้มีมาเกี่ยวข้องในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเลย



"สิทฺธิรสฺตุ สิทฺธํ ผลํ
รตนตฺยเตชสา"


ช่างน่าเสียดายที่หนังสือเล่มนี้แทบไม่มีคนรู้จักกันนัก

เมื่ออ่านความจงรักภักดีนี้แล้วรู้สึกว่าราชทินนามที่ได้รับพระราชทานมาช่างเหมาะสมอย่างลงตัวกับตัวตนของท่านคือ พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริพาหะ ท .จ .น .,ภ., ม., ร.,ด.,ม., (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ และองคมนตรี
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก)

ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=1843

เราล้วนคุ้นเคยกับชื่อของตำราเรียนชุดแรกที่เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ซึ่งใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก) การเขียนตำราเรียนของท่าน รจนาด้วยบทประพันธ์ร้อยกรอง โดยเน้นสื่อถึงหลักภาษาไทย ผลงานจึงไม่อ่อนหวานพลิ้วไหวไพเราะติดตาติดหู ติดใจ ติดปากคนทั่วไปเหมือนผลงานคำประพันธ์ทางด้านวรรณกรรมของกวีท่านอื่น ๆ แต่หากตั้งใจพิจารณาผลงานการสื่อความหลักภาษาไทยซึ่งซับซ้อน ยากต่อความเข้าใจจดจำแม้เป็นเพียงคำอธิบายร้อยแก้วก็ตามที ผลงานการเขียนตำราสอนภาษาไทยของท่านสะท้อนภาพที่ท่านทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญา สร้างสรรค์งานด้วยจิตเมตตากรุณาแห่งการเป็นครูผู้ให้ ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ทั้งมวลด้วยความรู้ความสามารถทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในตัวของท่านเองจนหมด และถือเป็นการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทด้วยความจงรักภักดี สมกับราชทินนามที่ได้รับระราชทานบรรดาศักดิ์มา ท่านควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติถึงบุญคุณของท่าน” ครูแห่งแผ่นดิน ครูผู้ให้ “ ให้สถิตย์อยู่ในดวงใจของผู้ที่เคยเป็นนักเรียนมาก่อน กำลังเป็นอยู่ และเหล่านักเรียนในกาลข้างหน้า ตลอดกาลนาน...

แบบเรียนหลวง ๕ เล่ม อันประกอบด้วย
มูลบทบรรพกิจ
วาหนิติ์นิกร
อักษรประโยค
สังโยคพิธาน
พิศาลการันต์

แบบเรียนหลวงทั้ง ๕ เล่มนี้นั้น ท่านพระยาศรี ฯ ( น้อย อาจารยางกูร ) เรียบเรียงขึ้นเมื่อครั้งเป็นหลวงสารประเสริฐ จัดพิมพ์ ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ .๒๔๑๔
ซึ่งต่อมาเพิ่มอีก ๑ เล่ม คือไวพจน์พิจารณ์ (สำหรับไวพจน์พิจารณ์แต่งขึ้นภายหลัง)



ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=1843

เราได้ยินชื่อหนังสือเหล่านี้กันมาตั้งแต่เด็ก แต่ถ้าจะถามว่าหนังสือเรียนแต่ละเล่มของท่านมีเนื้อหาเป็นอย่างไร คนส่วนมากก็อ้ำอึ้งมิรู้ว่าจะตอบว่าอย่างไรดี ก็ขอย้อนความจำทำความรู้จักถึงบรรดาหนังสือเหล่านี้พอเป็นสังเขป (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น