ความเป็นมา มหาสงกรานต์
เอกํ สมยํ
ในสมัยหนึ่ง ภควา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงเสด็จประทับอยู่ที่พระเชตะวันวนารามมหาวิหาร อัน อณาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างถวาย
เอกทิวสํ
ครั้นอยู่มา ณ กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เสด็จไปเฝ้า และได้ทูลถาม ขึ้นว่า
ภนฺเต ภควา
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงสวัสดิโสภาคย์เป็นอันงาม พระพุทธเจ้าข้า ก็แลพระสุริยเทพบุตรนั้น ได้เสด็จอยู่ในวิมานนานสักกี่วัน พระพุทธเจ้าข้า ฯ
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า มหาราช ขอถวายพระพร
พระสุริยเทพบุตรนั้นได้เสด็จอยู่ในวิมาน ตามปกติก็เพียง 29 วันเท่านั้น เมื่อล่วงเข้าวันที่ 30 คือครบหนึ่งเดือน แล้ว พระสุริยเทพบุตรนั้น ก็จะย้ายราศีรัศมีขึ้นไปเดินทางเบื้องบน ได้ย้ายราศีออกจากเหลี่ยมยอดเขาพระสุเมรุราช ระรัศมีของพระสุริยเทพบุตรก็ได้แผดกล้า และมีความร้อนนักหนา ซึ่งทำให้ชาวโลกเรียกกันว่า เป็นวัน สงกรานต์
เอกจฺเจ นนุสฺสา
ทำให้หมู่มนุษย์ชาวโลกทั้งหลายบังเกิดโรคาพยาธิและมีความเจ็บไข้กันเป็นอันมาก
มนุษย์บางพวกจำพวก ก็ได้เกิดโรคปัจจุบันขึ้นมาครู่หนึ่ง หรือยามหนึ่ง แล้วก็ได้ถึงซึ่งความตายลงในทันทีนั้น ก็มีอยู่มาก
หรือบางพวกอดอยาก เรื่องอาหารการกิน ที่อยู่หลับนอน แล้วถึงซึ่งความตายลงก็มี
บางปีก็ข้าวยากหมากแพง บางปีข้าวปลานาเกลือบริบูรณ์ก็มี
บางปีฝนตกในเดือนที่เป็นปฐมน้ำมากแต่ต้นปี ครั้นเมื่อถึงปลายปี น้ำนั้นก็ได้เหือดแห้งไปหมดก็ดี
บางปีเกิดอัคคีภัย ทำให้ไฟไหม้บ้านเมืองก็มี
บางปีท้าวพระยาเสนาบดี คิดทรยศต่อองค์พระมหากษัตริย์ก็มี
บางปีเมื่อสตรีตั้งครรภ์คลอดลูกแล้วล้มตายก็มี เหตุการณ์มีเป็นอย่างนี้แหละ
จะมีเหตุผลเกิดขึ้นด้วยประการใด จึงได้มีเหตุการณ์เช่นนี้ได้ พระพุทธเจ้าข้า
อถ โช ภควา
กาลครั้งนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
ขอถวายพระพร สุริยเทวปุตฺโต
อันว่าพระสุริยเทพบุตรนี้ ถ้าย้ายราศีขั้นสู่ ราศีเมษแล้ว ณ กาลใด แล้ว หญิงชายชาวนิกรชนทั้งหลายก็มักจะเกิดโรคาพยาธิกันเป็นอันมาก
และถ้าหากว่าพระสุริยเทพได้เดินไป ณ กาลใด ในปีนั้น เสนาบดีก็จะคิดทำการทรยศต่อองค์พระมหากษัตริย์
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพนอน ไป ณ กาลใด ในปีนั้นจะเกิดข้าวยากหมากแพง หมู่มนุษย์นิกรทั้งหลายจะเกิดอดอยาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรยืนไป ณ กาลใด หมู่มนุษย์นิกรทั้งหลาย ก็จะได้ความสุขเป็นอันมาก ในกาลนั้น
ถ้าแหละว่าสุริยเทพบุตรขึ้นขี่นาคไป ณ กาลใด ในปีนั้นฝนจะตกชุกในเดือนอันเป็นปฐม น้ำจะมากแต่ต้นปี ครั้นเมื่อถึงปลายปีน่ำจะน้อย และฝนในปลายปีนั้น ก็มักจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จไปโดยทางช่องลม ณ กาลใด ในปีนั้น มักจะเกิดวาตภัยชุกชุม และในปีนั้นลมจะพัดจัดมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตร ขี่ราชสีห์เสด็จไป ณ กาลใด ในปีนั้นข้าวปลานาเกลือจะอุดมสมบูรณ์และหมู่มนุษย์นิกรทั้งหลายจะอยู่เย็นเป็นสุข สบายทุกเวลา
ถ้าพระสุริยเทพขี่กวางเสด็จ เสด็จไปไซร้ ณ กาลเวลาใด ในปีนั้นชาวนิคมชนบทน้อยใหญ่ก็จะเกิดรบราฆ่าฟันซึ่งกันและกัน และสตรีทั้งหลายที่มีครรภ์ ก็จะตายด้วยการคลอดลูกเป็นอันมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศีไปข้างท่อน้ำแล้วไซร้ ในปีนั้นจะมีฝนตกน้อย น้ำจะเหือดแห้งไปหมด ฝูงมนุษย์นิกรจะทำไร่ไถนาได้ยาก
ถ้าแหละพระสุริยเทพเสด็จไปด้วยวิมาน ณ กาลใด ในปีนั้น หมู่มนุษย์นิกรและชาวโลกก็จะพากันอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์ภัย
อันตรายอันตรายใดๆในปีนั้น จะเกิด ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นอันมาก
ถ้าแหละว่า พระสุริยเทพบุตรย้ายราศีไปทางท่อไฟ ณ กาลใด ในปีนั้นจะเกิด อัคคีไฟไหม้บ้านเมือง
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรย้ายราศีเสด็จไปในเวลาเช้า ณ กาล ใด ในปีนั้นชาวมนุษย์นิกรทั้งหลาย ก็จะประกอบไปด้วยทุกข์โศก โรคภัย เป็นอันมาก
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศีไปในเวลาตะวันเที่ยง ณ กาลใด ในปีนั้น ชาวมนุษย์หญิงชายทั้งหลาย ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เกิดพยาธิเบียดเบียน
ถ้าแหละว่าพระสุริยเทพบุตรเสด็จย้ายราศี ไป ณ เพลาพลบค่ำ ในปีนั้น ท้าวพระยามหากษัตริย์ กับทั้ง นางราชกัญญาทั้งหลาย จะประกอบไปด้วยความทุกข์
ถ้าแหละว่า พระสุริยเทพบุตร เสด็จย้ายราศีไปในเวลาเที่ยงวัน ณ กาลใด ในปีนั้น สัตว์ดิรัจฉานทั้งปวง ก็จะพากันอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีโรคาพยาธิมาบียดเบียนบีฑา
เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเหตุต่างๆซึ่งมีเนื้อเรื่องนั้น เกี่ยวกับวัน สงกรานต์ แด่พระเจ้าโกศลจบลงแล้ว
“ อถ โข ปเสนทิโกสโล ราชา “
ลำดับนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลบรมกษัตริย์ จึงได้ทูลถามอีกว่า
ภนฺเต ภควา
ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ก็ในกาลเมื่อ “ วันสงกรานต์ ” คือพระสุริยเทพบุตรอยู่ในวิมานตามปกติ เพียง 29 วัน ครั้นเมื่อครบกำหนด 30 วันแล้ว ก็ได้ย้ายราศีขึ้นสู่ราศีเมษ คือเดินลอยไปเหนือยอดเขาพระสุเมรุ แล้วย้ายราศีออกจากเหลี่ยมเขาพระสุเมรุ เมื่อพระอาทิตย์ย้ายราศีออกมาเช่นนั้น จึงได้เรียกว่า “ สงกรานต์ “ จะให้มนุษย์นิกรทำอย่างไรกันดี จึงจะได้รอดพ้นจากความทุกข์ยากและความเจ็บไข้เป็นต้น
สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสว่า
เย มนุสฺสา
ถ้าแหละว่า มนุษย์ชายหญิงจำพวกใด เป็นผู้มีความปรารถนาจะให้พ้นจากความทุกข์ ภัยอันตรายต่างๆแล้วไซร้ มนุษย์ทั้งหลายจำพวกนั้น อย่าได้พึงประมาทในศีลทานการกุศลส่วนสุจริต จงอุตส่าห์ทำบุญให้ทานแก่สมณพราหมณาจารย์ ผู้มีศีลธรรมอันดี
และให้ทานแก่เหล่ายาจกวณิพพก คนกำพร้าอนาถา
เสร็จพิธีให้ทานแล้ว ก็ให้มาสันนิบาตประชุมพร้อมเพรียงกันในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วจึงได้เอาน้ำอบน้ำหอม เครื่องปรุง และจุณแห่งแก่นจันทน์แดงหรือกลิ่นแห่งดอกไม้อันหอมอื่นๆก็ดี ครั้นแล้วจึงเอาน้ำที่หอมนั้น มาทำเป็นน้ำสรงพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง สรงพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
รดผู้เฒ่า ผู้แก่ ปู่ย่า ตายาย บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ซึ่งได้เป็นผู้มีคณูปการะ แก่ตนมาก่อน ท่านเหล่านั้นจะได้ให้ศีลให้พร และเมื่อได้รับศีลรับพรจากท่านเหล่านั้นแล้ว ก็จะเป็นผู้เจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ยิ่งๆขึ้นไป
และอนึ่งเล่า
เย ชนา ชนทั้งหลายที่เป็นผู้มีจิตกรุณาเอ็นดูต่อสัตว์
มจฺฉกจฺฉปสกุณาทิโย โมนนฺจติ แล้วปล่อยสัตว์ทั้งหลาย มี ปลา เต่า นก เป็นต้น ชนเหล่านั้นก็จะได้เสวยซึ่งผลานิสงส์ คือ ความสุข ความเกษมสำราญเป็นอเนกประการ จะเป็นผู้มีอายุเจริญยืนนาน จะประกอบไปด้วยกำลัง กาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์ กำลังความเพียร เป็นอันมากนักหนา ทั้งจะเป็นผู้ที่หาโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียนมิได้ จะรอดพ้นจากทุกข์ภัย ทั้งปวง
เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับมาพระราชฐานของพระองค์ ได้ชักชวนประชาชนชาวเมืองของพระองค์ให้ประพฤติปฎิบัติตามพระพุทธวิสัชนานั้นทุกประการ
มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย
มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้...
ภาพจากการส่งเมล์ ต่อ ต่อ กันมา ขออภัยที่ไม่ทราบว่าเป็นต้นฉบับของท่านใดขออนุญาตท่านเจ้าของภาพและขอขอบคุณอย่างสูง
ที่มาของข้อมูล ข้อมูลในสมัยพุทธกาลมาจากหนังสือ ประเพณีไทย ฉบับมหาราชครูฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น