วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

[บทความ]หวนคะนึง...ถึงปลาบึก

หวนคะนึง...ถึงปลาบึก



(แก้ไข)

พลอยโพยม มารู้จักชื่อปลาบึก ตอนโต และหนังสือพิมพ์ลงเรื่องราวการจับปลาบึกในลำน้ำโขง ต่อมาก็ได้ยินข่าวว่า กรมประมงสามารถผสมเทียมปลาบึกเป็นผลสำเร็จตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และในปีต่อมาสามารถเพาะพันธุ์ได้จำนวนมากพอที่จะปล่อยในแหล่งน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ
อีกหลายปีต่อมา ก็ได้ข่าวว่ามีการแจกพันธุ์ (ลูกปลาบึก) ที่สถานีประมงจังหวัดประทุมธานี น้อง ๆ ที่ทำงานในสมัยนั้นเล่าว่า เขามีญาติอยู่จังหวัดราชบุรี เลี้ยงปลาบึกบ่อใหญ่โตมากต้องขุดลึก ๆ ด้วย และก็ไม่มีปัญหาอะไร
ระยะนีั้น พี่ชายน้องชายของพลอยโพยม เป็นเกษตรกร กุ้งกุลาดำ ทั้งบ่อเพาะและบ่อเลี้ยง เราเลยแบ่งบ่อดิน มาเตรียมทำบ่อปลาเลี้ยงปลาบึกกัน และเขียนจดหมายไปขอพันธฺุ์ปลาบึกจากสถานีประมงจังหวัดประทุมธานี

วันที่ น้อง ๆ ปลาบึก หลายร้อยตัว ย้ายบ้านมาอยู่ที่บ่อเลี้ยงพลอยโพยมไปทำงาน จึงไม่เคยได้เห็นหน้าตา น้อง ๆ ปลาบึกเหล่านั้น
ต่อมา ก็ต้องไปเจรจากับ พ่อค้า แม่ค้าในตลาดเช้าบ่อบัว ขอซื้อเศษผักเอาใส่เข่งมาเลี้ยงปลาบึก อีก สองสามปีต่อมา คุณพ่อของพลอยโพยมป่วย พี่ชายได้ตั้งอธิษฐานจิต ว่า ถ้าพ่อหายป่วยจะปล่อยปลาบึกไปให้หมด ซึ่งก่อนหน้านี้ น้องชายอีกบ้านหนึ่งก็เคยมาขอแบ่งปลาบึกไปบางส่วน และคนเลี้ยงเริ่มรู้สึกว่าปลาไม่ค่อยเจริญเติบโตนัก แล้วพ่อก็หายป่วยออกจากโรงพยาบาลได้

ปัญหาคือ เราจะปล่อยปลาบึกไปไว้ที่ไหนดี ในแม่น้ำบางปะกงไม่ได้แน่เพราะเป็นน้ำสองนิเวศ จะคืนสถานที่เดิมก็ไม่ได้เพราะเขาไม่มีการเลี้ยงปลาตัวโตมีแต่พันธุ์ลูกปลาที่ไว้จ่ายแจกเท่านั้น

ในที่สุด ก็ได้สถานีประมงบางพระจังหวัดชลบุรีตกลงมารับปลาบึกอายุประมาณ 5 ปี ให้ ในวันมารับปลาเจ้าหน้าที่ประมงใช้อวนลาก ลากปลาไปได้ ประมาณ 200 ตัว แต่เจ้ากรรมจริง ๆ มีปลาบึก ไปแอบซ่อนตัวในกอหญ่้า ไม่ติดอวนไป 3-4 ตัว เป็นเวลานาน คนที่บ้านจึงรู้ว่า มีปลาบึกหลงอยู่ และปล่อยให้หากินเองในบ่อ ต่อมามีปีหนึ่งฝนแล้งมาก น้ำในบ่อแห้งจัด แต่ปลาบึก 3-4 ตัวนี้ ก็ยังรอดชีวิต เมื่อถึงหน้าฝนพอฝนตกหนักหญ้าในบ่อที่แห้งคาบ่อเกิดเน่าเสีย (ทุกปี น้ำไม่แห้งจนหญ้าในบ่อแห้งตายมาก่อน) ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่ไม่ได้จัดการเรื่องหญ้าแห้งเหล่านั้นก่อนที่น้ำในบ่่อจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น มารู้ตัวเมื่อน้องปลาบึกน้ำหนักประมาณ 10 กว่า กิโลกรัม ลอยขึ้นมาและตายหมดทั้ง 4 ตัว

พลอยโพยมก็ยังไม่เคยเห็นหน้าตาน้องปลาบึกอยู่ดี

น้องปลาบึก 4 ตัวนี้ อุตส่าห์สมัครใจ จะอยู่กับบ่อเลี้ยงที่บ้านแต่ในที่สุดก็ตายหมด
ส่วน น้อง ๆ ปลาบึกที่ไปอยู่ สถานีประมงบางพระ ฯ ได้ยินข่าวว่า เอาไปปล่อยในอ่างเก็บน้ำบางพระ ในปัจจุบัน ( สิบหก สิบเจ็ดปีแล้ว) ก็คงไม่มีปลาบึกเหลือแล้วเพราะถ้าปลาบึกเหล่านั้นสามารถแพร่พันธุ์ต่อได้ ก็คงเป็นแหล่ง ที่จะต้องระบุว่าพบว่ามีปลาบึก อาจจะถูกชาวบ้านริมอ่างเก็บน้ำจับไปกินกันหมด อาจจะมีปลาบึกตายในระหว่างการขนย้ายด้วย หรือไปป่วยตายในอ่างในภายหลังอีกต่างหาก

พลอยโพยม และคนในบ้าน ไม่เคยมีใครเคยกินปลาบึกจนป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไร และพลอยโพยมก็ตั้งใจ ว่า ชาตินี้จะไม่กินปลาบึกอย่างเด็ดขาด เพื่อรำลึกไว้อาลัยให้น้องปลาบึก หลายร้อยตัวดังกล่าว



ฉันชื่อปลาบึกจ้ะ

ชื่อไทยอีกชื่อของฉันเรียกฉันว่า ไตรราช ก็ได้จ้ะ (แต่ฉันเองไม่ค่อยคุ้นกับชื่อไตรราชสักเท่าไหร่ )
แล้วบางทีคนไทยอื่น ๆ ที่ไม่ได้สนใจเรื่องของฉันนัก ก็คงไม่รู้ ว่า ปลาไตรราช ก็คือปลาบึก คำว่า ปลาบึก ดูจะถ่ายทอด คุณสมบัติ คุณลักษณะของฉัน ได้ดีแท้แน่นอน ถึงไม่เคยพบเห็นฉัน หลับตามองภาพปลาที่จะใช้ชื่อว่า ปลาบึก ก็น่าจะมีจินตภาพ ได้ใกล้เคียงกับตัวฉัน เธอรู้สึกอย่างนั้นไหมจ๊ะ



แต่ว่ามารู้จักตัวตน และความเป็นมาของฉันกันตามที่มีผู้คนเขียนถึงเรื่องราวของฉันกันหลายบทความดีกว่า

ชื่อไทย ปลาบึก หรือปลาไตรราช
ชื่อสามัญ MEKONG GIANT CATFISH
ชื่อวิทยาศาสตร์ Pangasianodon gigas

ถิ่นอาศัย แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแหล่งเดียวในโลกที่เป็นถิ่นอาศัยของปลาบึก



ปลาบึก เป็นปลาไม่มีเกล็ดหรือที่เรียกกันว่า ปลาหนัง นับเป็นปลาน้ำจืดซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก
ปลาบึกถือเป็นปลาเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pangasinodon




ลักษณะทั่วไป

ลำตัวยาวด้านข้างแบน หัวค่อนข้างเล็ก จะงอยปากสั้นทู่ ตามีขนาดเล็กและอยู่ในระดับเดียวกับมุมปากมีหนวดสั้นมากมีอยู่ 2 คู่ ปากเล็ก ปลาวัยอ่อนจะมีฟันอยู่บนขากรรไกร เมื่อปลาเจริญวัย ฟันจะหลุดหายไป ลำตัวมีสีเทาปนดำ หรือออกแดงบริเวณหลัง แล้วค่อย ๆ กลายเป็นสีเทาแหมฟ้าทางด้านข้าง ด้านท้องใต้แนวเส้นข้างตัวลงเป็นสีเหลือง ส่วนล่างสุดจะเป็นสีขาวเงิน มีจุดดำจุดหนึ่งทางด้านข้างตรงตำแหน่งปลายสุดของครีบหู และจุดดำอีกสามจุดบนครีบหาง ครีบทุกครีบเป็นสีเทาจางๆ

ลักษณะภายนอกที่สามารถแยกแยะปลาบึกออกจากปลาในสกุล Pangasius ซึ่งเป็นปลาในสกุลที่ใกล้เคียงที่สุด ได้แก่ลักษณะของฟันและหนวด ปลาบึกไม่มีฟันและเกือบจะไม่มีหนวด โดยที่ปลาวัยอ่อนมีฟันและกินปลาอื่นเป็นอาหาร แต่เมื่อโตขึ้นฟันจะหลุดไป และตาซึ่งจะอยู่ต่ำกว่ามุมปากเมื่อมองจากด้านหน้าตรง ๆ จะไม่เห็น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการใช้หากินตามพื้นน้ำ อีกทั้งปลาบึกมีซี่กรองเหงือกเล็กกว่า และ ปลายถุงลมจะลงถึงบริเวณช่วงท้องไม่เกินครีบก้น อีกทั้งความกว้างของปากและส่วนหัวของปลาบึกก็มีมากกว่า



ถิ่นอาศัย -แม่น้ำโขงบริเวณประเทสลาวเป็นแม่น้ำแหล่งเดียวในโลกที่เป็นถิ่นอาศัยของปลาบึก แต่ก็เคยพบในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในแคว้นฉานของประเทศพม่า และแคว้นยูนาน ในประเทศจีนตอนใต้
ปลาบึกชอบบริเวณแม่น้ำที่มีความลึกมากกว่า 10 เมตร พื้นท้องน้ำเป็นกรวด และควรจะมีเพิงหินหรือถ้ำใต้น้ำด้วย


นิสัย - รักสงบ ตื่นตกใจง่าย ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึกที่มีกระแสน้ำไหล

การสืบพันธุ์ เชื่อว่าฤดูผสมพันธุ์วางไข่ของปลาบึก เรื่มต้นหลังจากสิ้นฤดูฝน จะตกอยู่ราวเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะที่ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลง ระยะนี้ปลาบึกที่หากินบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่างจะอพยพขึ้นสู่ตอนบนเพื่อวางไข่ผสมพันธุ์โดยปลาบึกจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่เหนือขึ้นไปจากประเทศไทย บริเวณหลวงพระบางในประเทศลาวซึ่งเป็นบริเวณนำลึกมีเกาะแก่งมากสะดวกในการผสมพันธุ์และวางไข่ในฤดูแล้ง พอถึงฤดูน้ำหลาก ปลาบึกจะว่ายตามน้ำลงมายังแม่น้ำโขงตอนล่าง

การผสมพันธุ์เริ่มโดยตัวเมียจะลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ แล้วค่อย ๆ ตะแคงข้างและหงายท้องขึ้น จากนั้นตัวผู้จะลอยตามขึ้นมา และคอยจังหวะเลื่อนตัวขึ้นทับตัวเมีย แล้วจะจมสู่ก้นน้ำพร้อมกัน ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนกว่าตัวเมียจะปล่อยไข่หมด แล้วจะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นอีก หรือเพาะพันธุ์โดยการผสมเทียมก็ได้

ความเชื่อของชาวเขมรและชาวลาว
ปลาบึกมีประวัติความเป็นมายาวนานมีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาร้อยปี โดยชาวเขมรและลาวเชื่อกันว่า ปลาบึกตัวเมียมีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะในทะเลสาบเขมรเท่านั้น เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์จะเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำโขง ผ่านประเทศลาว ไทย พม่า ขึ้นถึงทะเลสาบตาลีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผสมกับตัวผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในทะเลสาบดังกล่าว
ปลาบึกตัวผู้มีลักษณะพิสดารกว่าตัวเมีย คือ จะมีเกล็ดเป็นสีทอง และสิงสถิตอยู่แต่ในทะเลสาบตาลีเท่านั้น



ในธรรมชาติยังไม่มีผู้พบปลาบึกวัยอ่อน

อาหารธรรมชาติ อาหารของปลาบึกในธรรมชาติคือพืชชนิดต่าง ๆ เช่น ตะไคร่น้ำ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงก็สามารถรับอาหารชนิดอื่นได้ เช่น ลูกปลาวัยอ่อน กินไรน้ำ ลูกปลาขนาดเล็ก


ขนาด ปลาบึกสามารถโตได้ถึง 3 เมตรและหนัก 150-200 กิโลกรัม ใน 5 ปี ปลาที่หนักที่สุดเท่าที่เคยจับได้เป็นตัวเมีย (บางรายงานระบุผิดว่าเป็นตัวผู้) ยาว 2.7 เมตร และหนัก 293 กิโลกรัม (646 ปอนด์) เจ้าหน้าที่กรมประมงสามารถรีดไข่ได้สำเร็จแต่ปลาตัวนี้ก็ตายก่อนที่จะปล่อยกลับธรรมชาติ



ปลาบึก เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจถือเป็นอาหารที่ราคาสูงในประเทศลาว ในอดีตมีการประกอบพิธีกรรมร่วมกับการจับปลาชนิดนี้ ซึ่งมีการจับเพียงครั้งเดียวต่อปี และเนื้อปลาก็พบเห็นได้น้อยตามตลาด นอกจากเนื้อแล้ว ตับและไข่ปลาหมักเป็นอาหารรสชาติดี และนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย

ทุก ๆ ปี ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จะมีประเพณีจับปลาบึก โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ทำให้ปลาบึกที่โตเต็มที่พร้อมผสมพันธุ์ถูกจับทุกปี เพื่อนำเอามาขายเป็นอาหารราคาแพง ทำให้ปริมาณของปลาบึกในแม่น้ำโขงลดจำนวนลงทุกปี ๆ




ปลาบึกมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า "ไตรราช"
ปลาบึกที่มีขายในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมเทียม โดยกรมประมงสามารถผสมเทียมและได้ลูกออกมานำไปปล่อยไปในแหล่งน้ำหลายแห่งในประเทศ อาทิ เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา บ่อน้ำภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม


ปลาบึก เป็นปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เนื่องจากการจับปลามากเกินไป คุณภาพน้ำที่แย่ลงจากการพัฒนาและการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ปัจจุบัน IUCN จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่ม Critically Endangered ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มาก


ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย กรมประมง และประทีปพันธุ์ปลา
http://www.bestfish4u.com/MEKONG-GIANT-CATFISH.php
http://www.fisheries.go.th/sf-ratburi/Fish/Fish.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น