วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555
ปลาบู่ทราย..ปลาบู่ทอง..ของคนไทย
ปลาบู่ทรายจากวิกิพีเดีย
ชื่อสามัญไทย ปลาบู่ทราย
ชื่ออังกฤษ Sand Goby, Marbled Sleeper goby
ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oxyeleotris marmorata
วงศ์ปลาบู่ทราย Eleotridae
ชื่่ออื่น ๆ บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต
ปลาบู่ เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง
ลักษณะทั่วไป
มีลักษณะลำตัวกลมยาว ส่วนหางค่อนข้างแบน ปากกว้างเฉียงขึ้นข้างบนเล็กน้อย นัยน์ตาเล็กโปนกลมตั้งอยู่ค่อนไปทางบริเวณหัว ถัดริมฝีปาก มีรูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาติดกับร่องเหนือริมฝีปาก ครีบหลังมีสองอัน ครีบหางกลมมน มีลวดลายดำและสลับขาว สีลำตัวสีน้ำตาลเหลืองมีรอยปื้นสีดำกระจายไปทั่วตัว สีตัวของปลาบู่ทรายแตกต่างกันไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย ในบางตัวสีอาจกลายเป็นสีเหลืองทองได้ จึงทำให้ได้ชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า "ปลาบู่ทอง" ปลาบู่ทรายจัดเป็นปลาขนาดกลางและเป็นปลาชนิดเดียวในครอบครัวนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
ถิ่นอาศัย
ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่พบได้ทั่วไปในน้ำจืดและน้ำกร่อยเล็กน้อยในหลายประเทศโดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะมลายู ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ไทย สำหรับในประเทศไทย พบปลาบู่ขยายพันธุ์ทั่วไปตามแม่น้ำลำคลอง และสาขาทั่วทุกภาคตามหนองบึง และ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ
นิสัย และพฤติกรรม
ปลาบู่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ตามดินอ่อน พื้นทรายและ หลบซ่อนตามก้อนหิน ตอไม้ เสาไม้ รากหญ้าหนา ๆ เพื่อรอให้เหยื่อผ่านมาแล้วเข้าโจมตีทันทีด้วยความรวดเร็ว ปลาบู่เคลื่อนไหวช้าในระดับกลางน้ำ แต่จะปราดเปรียวเมื่ออยู่บนพื้นดินก้นแหล่งน้ำและสามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้อย่างกระทันหัน ตามปกติแล้วในเวลากลางวันปลาบู่จะทรงตัวนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทำให้บางคนเข้าใจว่าปลาหลับ
(เพิ่มเติม )เมื่อถึงเวลาผสมพันธุ์
ปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่ได้แก่ ตอไม้ เสาไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่ โดยธรรมชาติแล้วปลาบู่มีการจับคู่ผสมกันเป็นคู่ไม่เหมือนกับปลาตะเพียนที่ไล่ผสมพันธุ์กันเป็นหมู่ ปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มมีการ ผสมพันธุ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วแต่ความพร้อมของคู่ผสมตั้งแต่ตอนค่ำจนถึงเช้ามืด ธรรมชาติของปลาบู่นั้นผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา คือ ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้วตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมโดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้ เสาไม้ หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติด และตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบกไปมา ไข่ที่ได้รับการผสมจะเป็นตัวภายในเวลา 28 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส
. อาหาร
ปลาบู่ทรายเป็นปลากินเนื้อได้แก่สัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าทั้งลูกกุ้ง ลูกปลาและหอย เป็นปลาที่กินจุ สามารถกินอาหารหนักเท่ากับน้ำหนักของตัวปลาเอง ต่อวันและทุก ๆ วัน
ขนาด
มีขนาดลำตัวประมาณ 30 เซนติเมตร ใหญ่ที่สุด 60 เซนติเมตร จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Oxyeleotris
ประโยชน์
เป็นปลาเนื่้อนุ่ม รสดี มีก้างน้อย โดยทั่วไปนำมาทำอาหารจำพวกนึ่ง ต้มยำ ต้มเค็ม
ปัจจุบันนิยมเพาะเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง จัดเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง มีราคาขายที่แพง ส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สามารถทำรายได้เข้าประเทศแต่ละปีมีมูลค่าหลายสิบล้านบาท ได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ
นอกจากนี้แล้วในตัวที่มีสีกลายไปจากสีปกติ เช่น สีทองหรือสีเงิน พบมีการเลี้ยงเป็นปลาสวยงามอีกด้วย
ปลาบู่ทราย จัดเป็นปลาที่ผูกพันกับวิถีชีวิตคนไทยมากชนิดหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากนิทานพื้นบ้านเรื่อง ปลาบู่ทอง เป็นต้น
คนไทยไม่นิยมกินเพราะรังเกียจผิวหนัง ที่มีลักษณะคล้ายหนังงูและยังมีความเชื่อถือเกี่ยวกับนิทานปรัมปราว่าเป็นปลาที่หลายร่างมาจากคน
ส่วนคนจีนนิยมกินเพราะเชื่อว่าให้พลังทางเพศ
นิทานพื้นบ้าน (folktales)
ในวิชาคติชนวิทยา (folklore) หมายถึง เรื่องเล่าที่เล่าต่อๆ กันมา จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้แต่ง เช่น เราไม่สามารถบอกได้ว่า ใครแต่งนิทานเรื่องสังข์ทอง ปลาบู่ทอง โสนน้อยเรือนงาม ไกรทอง นางสิบสอง เพราะนิทานเหล่านี้ ถ่ายทอดโดยการเล่าจากความทรงจำต่อๆ กันมา เช่น ปู่ย่าตายายเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่เล่าให้ลูกหลานฟัง หรือมีการแพร่กระจายจากท้องถิ่นหนึ่งไปสู่อีกท้องถิ่นหนึ่ง นิทานเรื่องเดียวกัน เช่น นิทานเรื่องสังข์ทอง จึงอาจมีหลายสำนวนได้ ขึ้นอยู่กับผู้เล่าแต่ละคน ผู้เล่าที่ต่างวัยกัน ผู้เล่าที่เป็นผู้หญิง ผู้เล่าที่เป็นผู้ชาย ผู้เล่าในแต่ละท้องถิ่น อาจเล่านิทานเรื่องเดียวกันต่างกันออกไป ทำให้เกิดนิทานสังข์ทองสำนวนต่างๆ ขึ้น ดังนั้น เมื่อเราศึกษานิทานพื้นบ้าน เราจึงไม่ควรตั้งคำถามว่า นิทานสำนวนใดถูกต้อง หรือสำนวนใดเป็นสำนวนต้นแบบ หากแต่เราควรยอมรับความหลากหลายของนิทานสำนวนต่างๆ ที่เล่ากันในท้องถิ่นต่างๆ หรือในบริบทต่างๆ และควรทำใจให้สนุกสนานไปกับรายละเอียด ที่อาจต่างกันไปในแต่ละสำนวน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
(http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=26&chap=1&page=t26-1-infodetail01.html)
นิทานพื้นบ้านเรื่องปลาบู่ทอง
มีชายคนหนึ่งคนหนึ่งมีอาชีพหาปลามีภรรยา 2 คน คนแรกชื่อขนิษฐา มีลูกสาวชื่อ เอื้อย ส่วนคนที่สองชื่อ ขนิษฐี มีลูกสาวชื่อ อ้าย และ อี่
วันหนึ่งได้ออกไปหาปลาโดยมีนางขนิษฐา นั่งพายท้ายเรือให้ และไม่ว่าจะเหวี่ยงแหไปกี่ครั้งก็ได้เพียงปลาบู่ทองตัวเดียวเท่านั้น จนกระทั่งเย็นก็ตัดสินใจที่จะเอาปลาบู่ทองที่จับได้เพียงตัวเดียวกลับบ้าน แต่ขนิษฐาผู้เป็นภรรยาเกิดความสงสารปลาบู่ ขอให้ปล่อยปลาไป จึงบันดาลโทสะฟาดนางขนิษฐาจนตายและทิ้งศพลงน้ำไป เมื่อกลับถึงบ้านเอื้อยก็ถามหาแม่ ผู้เป็นพ่อจึงตอบไปว่าแม่ของเอื้อยได้หนีตามผู้ชายไป และจะไม่กลับมาบ้านอีกแล้ว
นับตั้งแต่วันนั้นขนิษฐีผู้เป็นแม่เลี้ยงของเอื้อย และอี่กับอ้ายน้องสาวทั้งสองก็กลั่นแกล้งใช้งานเอื้อยเป็นประจำโดยที่พ่อไม่รับรู้และไม่สนใจ
เอื้อยคิดถึงแม่มากจึงมักไปนั่งร้องไห้อยู่ริมท่าน้ำ และได้พบกับปลาบู่ทองซึ่งเป็นนางขนิษฐากลับชาติมาเกิด เมื่อเอื้อยรู้ว่าปลาบู่ทองเป็นแม่ก็ได้นำข้าวสวยมาโปรยให้ปลาบู่ทองกิน และมาปรับทุกข์ให้ปลาบู่ทองฟังทุกวัน
นางขนิษฐีและลูกสาวเห็นเอื้อยมีความสุขขึ้น เมื่อถูกกลั่นแกล้งก็อดทนไม่ปริปากบ่นจึงสืบจนพบว่านางขนิษฐาได้มาเกิดเป็นปลาบู่ทอง และได้พบกับเอื้อยทุกวัน ดังนั้นเมื่อเอื้อยกำลังทำงานนางขนิษฐีก็จับปลาบู่ทองมาทำอาหารและขอดเกล็ดทิ้งไว้ในครัว
เอื้อยได้พบเกล็ดปลาบู่ทองก็เศร้าใจเป็นอย่างมาก นำเกล็ดไปฝังดินและอธิษฐานขอให้แม่มาเกิดเป็นต้นมะเขือ เอื้อยมารดน้ำให้ต้นมะเขือทุกวันจนงอกงาม เมื่อขนิษฐีทราบเรื่องเข้าก็โค่นต้นมะเขือ และนำลูกมะเขือไปจิ้มน้ำพริกกิน
เอื้อยเก็บเมล็ดมะเขือที่เหลือไปฝังดินและอธิษฐานให้แม่ไปเกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองในป่า และไม่ให้ผู้ใดสามารถโค่น ทำลาย หรือเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้
วันหนึ่งพระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสป่าได้พบกับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทอง โปรดให้นำเข้าไปปลูกในวัง แต่ไม่มีผู้ใดสามารถเคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงประกาศว่าผู้ใดที่เคลื่อนย้ายต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้จะให้รางวัลอย่างงาม
ขนิษฐีและอ้ายกับอี่เข้าร่วมลองถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองด้วยแต่ไม่สำเร็จ เอื้อยขอลองบ้างและอธิษฐานจิตบอกแม่ว่าขอย้ายแม่เข้าไปปลูกในวัง เอื้อยจึงถอนต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองได้สำเร็จ
พระเจ้าพรหมทัตถูกชะตาเอื้อยจึงชวนเข้าไปอยู่ในวังและแต่งตั้งให้เอื้อยเป็นพระมเหสี ฝ่ายขนิษฐีและลูกสาวอิจฉาเอื้อยจึงส่งจดหมายไปบอกเอื้อยว่าพ่อป่วยหนักขอให้เอื้อยกลับมาเยี่ยมที่บ้าน
เมื่อเอื้อยกลับมาบ้าน นางขนิษฐีก็ได้แกล้งนำกระทะน้ำเดือดไปวางไว้ใต้ไม้กระดานเรือน และทำกระดานกลไว้ เมื่อเอื้อยเหยียบกระดานกลก็ตกลงในหม้อน้ำเดือดจนถึงแก่ความตาย ขนิษฐีให้อ้ายปลอมตัวเป็นเอื้อยและเดินทางกลับไปยังวังของพระเจ้าพรหมทัต
เอื้อยได้ไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้า เมื่อเกิดใหม่แล้วก็บินกลับเข้าไปในพระราชวัง พระเจ้าพรหมทัตเห็นนกแขกเต้าแสนรู้ ไม่รู้ว่าเป็นเอื้อยกลับชาติมาเกิดก็เลี้ยงไว้ใกล้ตัว อ้ายเห็นดังนั้นก็ไม่พอใจ สั่งคนครัวให้นำนกแขกเต้าไปถอนขนและต้มกิน
แม่ครัวถอนขนนกแขกเต้าและวางทิ้งไว้บนโต๊ะ นกแขกเต้าจึงกระเสือกกระสนหลบหนีเข้าไปอยู่ในรูหนู มีหนูช่วยดูและจนขนขึ้นเป็นปกติ แล้วเอื้อยก็บินเข้าป่าไปจนเจอกับพระฤๅษี
พระฤๅษีตรวจดูด้วยญานพบว่านกแขกเต้าคือเอื้อยกลับชาติมาเกิดจึงเสกให้เป็นคนตามเดิม และเสกเด็กให้มีชีวิตเพื่อให้เป็นลูกของเอื้อย เมื่อเด็กนั้นโตขึ้นก็ขอเอื้อยเดินทางไปหาบิดา เอื้อยจึงเล่าเรื่องทั้งหมดให้บุตรชายฟังและร้อยพวงมาลัยเพื่อให้บุตรชายนำไปให้พระเจ้าพรหมทัต
เมื่อพระเจ้าพรหมทัตได้พบกับบุตรชายของเอื้อยและพวงมาลัย ก็ขอให้เด็กชายเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังว่าได้มาลัยมาอย่างไร เด็กชายก็เล่าตามที่เอื้อยเล่าให้ฟัง เมื่อทราบเรื่องทังหมดแล้วพระเจ้าพรหมทัตก็สั่งประหารชีวิตอ้าย อี่ และขนิษฐี และไปรับเอื้อยเพื่อให้กลับมาครองบัลลังก์ร่วมกันอีกครั้ง
นิทานเรื่องปลาบู่ทองได้ถูกนำมาสร้างทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้งดังนี้
ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2508)ภาพยนตร์ 16 มม.นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน, ภาวนา ชนะจิต อ้าย - ปรียา รุ่งเรือง
ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2510)นำแสดงโดย พัลลภ พรพิษณุ กับ เยาวเรศ นิศากร (รับบท เอี้อย-อ้าย)
ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2522)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย ปฐมพงษ์ สิงหะ ,ลลนา สุลาวัลย์
ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2527)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย สุริยา ชินพันธุ์, เพ็ญยุพา มณีเนตร
ภาพยนตร์ ปลาบู่ทอง (2537)ภาพยนตร์ 35 มม. นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, ขวัญภิรมย์ หลิน
ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2537)นำแสดงโดย ปริญญา ปุ่นสกุล ,อัจฉรา ทองเทพ
ละครโทรทัศน์ ปลาบู่ทอง (2552)นำแสดงโดย วสุ ประทุมรัตน์วัฒนา, พีชญา วัฒนามนตรี
ที่มาของข้อมูล
ภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย โดย สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์
http://ppnf.igetweb.com/index.php?mo=3&art=501347
วิกิพีเดีย
ที่มาภาพนิทาน จากอินเทอร์เนท
ปลาบู่ เป็นปลาที่ไม่เคยเป็นเมนูของแม่ละม่อม และเป็นปลาที่พลอยโพยมรังเกียจว่าเหมือนงูเสียมากกว่าปลา เนื้อนุ่มรสดีปานใดก็ไม่เคยลิ้มลองสักที แต่ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ทราบหรอกว่า ปลาบู่ทองก็คือปลาบู่ธรรรมดาที่พบเห็นอยู่ นิทานเรื่องปลาบู่ทองอ่านแล้วก็น้ำตาไหลสงสารแม่ขนิษฐาและเอื้อยมาก ส่วนละครจักร ๆ วงศ์ ก็แสนตราตรึงใจกับเยาวเรศ นิศากร กับบทนางเอกเอื้อย ที่ไม่มีใครมาลบเลือนความตรึงตรานี้ได้
ปลาบู่สิงโต
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น