วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ชลวิถี.....ที่บางกรูด 7.......


ภาพ ข้อง และสุ่ม 3 อัน

ยังมีอุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องการกับการ จับสัตว์น้ำ เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับใส่สัตว์น้ำ คือ ข้อง ตะกร้าปลา กระชังขังปลา ตะแกรงไม้ไผ่สาน
อุปกรณ์ เหล่านี้ล้วนทำด้วยไม้ไผ่ และ ถือเป็นงานจักสาน บางบ้านเป็นงานหัตกรรมในครัวเรือนด้วย





ข้อง
เป็นเครื่องมือในการขังสัตว์น้ำชั่วคราว เวลาที่ชาวบ้านออกไปหาปลา หากบ เป็นเครื่องจักสานทำจากไม้ไผ่ รูปร่างและขนาดแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น บางท้องถิ่นรูปร่างคล้ายหม้อดิน มีข้องนอนรูปร่างคล้ายเป็ดก็มี สี่เหลี่ยมแบบกระเป๋าถือก็มี ข้องจะมีเชือกผูกอยู่เส้นหนึ่งสำหรับใช้สะพายไหล่ หรือผูกติดเอว เพื่อเอาติดตัวไปใส่สัตว์น้ำเมื่อออกไปจับสัตว์น้ำ ด้วยเครื่องมือจับสัตว์น้ำต่างๆ ข้องมีฝาปิดทำเป็นรูปกรวยแหลม เพื่อป้องกัน ปลาหรือสัตว์น้ำอื่น กระโดดออกจากข้องไปได้
ทุกบ้านในชนบท มีข้องเป็นของใช้ประจำบ้าน แขวนไว้ตาม มุมบ้าน ข้างครัว ข้างยุ้งข้าว ใต้ถุนบ้านที่ยกพื้นสูง เป็นต้น

กระเตง
มีของใช้ที่ใช้งานคล้ายข้อง แต่มีรูปร่างที่แตกต่างจากข้อง สานด้วยเส้นหวาย รูปร่างเหมือนปลีกล้วย หัวค่อนข้างแหลมมีปากวงกลม เหมือนคอขวด ค่อยๆผายป่องออกตรงกลาง แล้วค่อยๆเรียวลงจนท้ายแหลม เรียกว่ากระเตง ใช้สะพายไหล่และผูกติดเอวเช่นกัน ซึ่งเรียกกระเตงตามลักษณะการแกว่งโตงเตง
ซึ่งในบางท้องถิ่น มีเครื่องมือจักสาน สานด้วยไผ่รูปร่างเป็นทรงกระบอก คล้ายตะกร้าขอบสูง ประมาณ 40 เซนติเมตรช่องตาค่อนข้างห่าง ใช้สำหรับช้อนปลาริมตลิ่ง ภาชนะนี้ เรียกกระเตงเช่นกัน
กระเตงมีใช้กันที่จังหวัดพิษณุโลก และบริเวณใกล้เคียงเป็นต้น




ตะกร้าปลา
ภาชนะสานโปร่งด้วยไม้ไผ่ช่องตาค่อนข้างห่าง ปากกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ก้นตะกร้าทรงสี่เหลี่ยมมน สูงกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางไม่มากนัก ประมาณให้รูปทรงสมส่วน ไม่มีหูหิ้ว ถ้าจะทำหูหิ้ว ต้องเอาเชือกมาคล้องเอง แต่ไม่เหมาะสำหรับใช้ใส่ของหิ้ว เพราะตะกร้าค่อนข้างบอบบาง
ใช้สำหรับใส่ปลา ตัวค่อนข้างโตพอที่จะไม่ลอดจากช่องตาของตัวตะกร้าได้ หรือใส่ปลาที่ทำแล้วแล่เป็นชิ้นๆ และใช้ตะกร้านี้สำหรับล้างปลา ด้วยวิธีการ เอาปลาใส่ตะกร้านำไปส่ายในน้ำ ใช้สองมือจับขอบตะกร้าแล้วส่ายไปมาในน้ำ



กระชัง
เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สําหรับขังปลาชนิดหนึ่ง ใช้ไม้ไผ่ทําเป็นกง ๔ อัน แล้วผูกด้วยซี่ไม้ไผ่โดยรอบรูปกลมหัวท้ายเรียว ตอนบนเจาะเป็นช่องมีฝาปิด ใช้ไม้ขัดฝา ๒ ข้าง ใช้ไม้ไผ่กระหนาบเพื่อให้ลอยน้ำได้ในขณะออกไปจับปลาตามกร่ำ เมื่อจับปลาหรือกุ้งได้ก็เอาใส่ไว้ในนั้นชั่วคราว
อีกชนิดหนึ่ง สานด้วยไม้ไผ่ มีปากเปิดกว้างคล้าย ๆ ตะกร้าหรือเข่งใส่ของ แต่ใหญ่กว่า กระชังชั่วคราวนั้นหลายเท่า เป็นที่สําหรับจับปลาขนาดใหญ่ มาขังไว้หรือเลี้ยงลูกปลาให้โตตามที่ต้องการ เพื่อบริโภคหรือ ค้าขาย และเอากระชังนี้ผูกติดหลักแช่ลอยน้ำไว้



อีจู้
เป็นเครื่องมือจักสานเช่นเดียวกับตุ้ม ลักษณะและวิธีการใช้เช่นเดียวกับตุ้มและไซ
อีจู้มีรูปร่างต่างกันไปบ้าง ส่วนใหญ่อีจู้มีรูปร่างคล้ายแจกันตรงกลางป่องมีช่องเทปลาออกอยู่ทางปาก และมีช่องกลมติดงาแซงอยู่ที่ด้านข้างของพื้นก้นซึ่งปลาก็จะเข้าทางด้านนี้ อี้จู้นี้จึงคล้ายกับตุ้มยืนมาก (ตุ้มยืนรูปร่างคล้ายขวด ) อีจู้ใช้ในแหล่งน้ำตื้น อาจมีเหยื่อล่อและมีหลักปักเพื่อป้องกันการเคลื่อนที่ ถ้าใส่เหยื่อส่วนใหญ่จะได้ปลาไหลเป็นส่วนมาก


ในสมัยเด็กเล็กรุ่นของพลอยโพยมจะมีหนังสือเรียนเรียกกันว่าแบบเรียนเร็ว มีการใช้คำว่าอีจู้ เข้ามาอยู่ใน แบบเรียนเร็วเร็วเล่ม ๑ ตอนต้น ชั้นประถมปีที่ ๑
ซึ่งอยู่ ในบทที่ ๒

เริ่มจากป้ากู้อีจู้
และ ป้าปะปู่กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้
แปลว่า ปู่เป็นคนกู้อีจู้ แล้วป้า มาพบ มาเจอ เห็น ปู่กำลังกู้อีจู้

ปัจจุบันมีวงดนตรี เอา อีจู้ มาเขียนในบทเพลง ชื่อเพลงว่า ป้ากะปู่กู้อีจู้ เป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์ เรื่องแฟนฉัน เนื้อร้องเล่าถึงตอนเรียนหนังสือในวัยเด็ก มีบทอาขยานให้ท่อง เนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า
พวกเราเปล่งเสียง อาขยานท่องร่วมกัน ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว ยังจำเธอได้ เธอร้องไห้เป็นเด็กงอแง…
แบบเรียนรุ่นใหม่ และอาขยานรุ่นใหม่ ก็คงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสมัย พลอยโพยมยังเด็ก
ป้ากะปู่กู้อีจู้ แปลว่าทั้ง สองคนไปกู้อีจู้กัน ทีนี้พอป้าไม่อยู่ ปู่ไปเที่ยว วันนั้นก็เลยไม่มีคนไปกู้อีจู้ นั่นเอง


สำหรับแบบเรียนของเด็กเล็กสมัยพลอยโพยมนั้นมี
แบบเรียนเร็วเร็วเล่ม ๑ ตอนต้น ชั้นประถมปีที่ ๑
บทที่ ๑
สอนวิธีผสมพยัญชนะกับสระ ถ้าทบทวนให้จำสระ ให้อ่านจากซ้ายไปขวา ถ้าทบทวนพยัญชนะ ให้อ่านจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรืออ่านจากข้างล่างขึ้นไปข้างบนเป็นแถวๆ
และมีแบบฝึกหัดในหน้า ๒
กะ จะ ปะ อา กา ตา ปา ติ บิ อี ดี ตี ปึ ตึ อื จุ ดุ บุ ปุ อู จู ดู ตู ปู
บิดา ตาดี จะปะ อีกา กะบะ กะปิ
อีกาตาดี ปะปู อีกาดูปู
บิดาปะอีกาดูปู
บิดาดูอีกา

บทที่ ๒
สอนวิธีผันอักษรกลาง
แบบฝึกหัด คือ
กู้อีจู้ ตากะปู่ อากะป้า ตาตีกะบี่ ป้ากู้อีจู้
ป้ากะปู่
ป้ากะปู่ดูตาอู๋ตีกะบี่กะตาอี่ ป้าจ๋า ตาอี่ตีกะบี่ดี ตาอี่จะตีบ่าตาอู๋ ตาอู๋ดูตาตาอี่
ป้าปะปู่กู้อีจู้ ป้าดูปู่กู้อีจู้
มีภาพ เล็กๆประกอบ ขณะที่ปู่กำลังเอาสองมือจับอีจู้ที่อยู่ในผืนน้ำในนา ป้านุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อแขนยาวสวมงอบกระเดียดกระจาดไว้ที่เอวข้างขวา ยืนมองปู่กู้อีจู้ อยู่บนฝั่ง (ป้าคนนี้ดูสาวกว่าพลอยโพยมมาก แต่ไม่สวยกว่าแน่นอน....จริงๆค่ะ )
ในบทนี้มี คำว่า กะบี่ กะจ่า ด้วย
(ใช้ตามอักขระ เดิมในสมัยนั้น ไม่ได้เขียนผิดแต่อย่างใด)


วันนี้มานึกย้อนถึงหนังสือเรียนชั้นเด็กเล็กในสมัยก่อน รู้สึกว่า ครูบาอาจารย์ในสมัยนั้นท่านเขียนบทเรียนให้เด็กเล็กอ่านได้อย่างมีเสน่ห์ เท่ห์ มีมนต์ขลัง ยากที่จะลืมเลือนได้จริงๆ ต้องไปแสวงหามาอ่านใหม่ อ่านไปยิ้มไปเลยทีเดียว (ยังพอหาหนังสือพวกนี้ได้ตามร้านหนังสือเก่าแต่ราคามหาโหด หน้าปกเล่มเล่มละไม่กี่สิบสตางค์ ปัจจุบันเล่มละ 150-200 บาท เล่มบางๆเท่านั้นเช่น สิบกว่าหน้า หรือไม่ถึงสิบหน้าก็มี ตามเรื่องราวเนื้อหาของหนังสือนั่นเอง)

มีบทอาขยานภาษาไทย ดอกสร้อยสุภาษิต ชั้นประถมปีที่ ๑-๒ สมัยพลอยโพยมยังเด็ก ๑๐ บท
๑. เด็กน้อย
๒. แมวเหมียวแยกเขี้ยวยิงฟัน
๓. ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
๔. นกขมิ้นเหลืองอ่อน
๕. จิงโจ้โล้สำเภา
๖. ซักส้าวมะนาวโตงเตง
๗. ตุ๊ดตู่อยู่ในรูกระบอก
๘. นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง
๙. เรือแล่นสามเส้นสิบห้าวา
๑๐. นกอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า
ทุกบทจะบอกที่มาของบทดอกสร้อยท้ายหน้า

ตัวอย่าง บทที่ ๑

เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
ความรู้เจ้ายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เจ้าจะได้มีวิชา
เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน
จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน
เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ

ร้องลำฝรั่งรำเท้า




ภาพจากหนังสือเรียน นิทานร้อยบรรทัด


สำหรับชั้นประถมปีที่๒-ประถมปีที่๗ จะเป็น นิทานร้อยบรรทัด เล่มที่๑ถึงเล่มที่ ๖
เป็นบทกลอนแปด เล่มละร้อยบรรทัด คือ ยี่สิบห้าบท สมัยพลอยโพยมเรียนหนังสือ โรงเรียนใช้นิทานร้อยบรรทัดเป็นอาขยานท่องตอนเย็นก่อนเลิกเรียนกลับบ้าน ค่อยๆท่องวันละหน้าจนจบเล่ม

นิทานร้อยบรรทัด เล่ม ๑ เรื่องบ้านที่น่าอยู่ ตอนที่ ๑
เริ่มต้นด้วย….
เรื่อง”ข้าเป็นลูกคุณแม่ด้วยก็ได้ “

เจ้านกน้อย น่ารัก ร้องทักว่า
“ ไปไหนมา หนูเล็ก เด็กชายหญิง
ทั้งรูปร่าง หน้าตา น่ารักจริง
ข้ายิ่งดู ก็ยิ่ง จำเริญตา “
สองพี่น้อง เห็นวิหค นกพูดได้
ก็พอใจ อยากจะรัก ให้นักหนา
ต่างนึกชอบ ชิงกันตอบ สกุณา
“ทั้งสองข้า ไปโรงเรียน เพียรประจำ “

ขอยกตัวอย่างมาพอสังเขป...หลายๆท่านอ่านแล้วคงพอจำกันนะคะ



คนโบราณนอกจากเจ้าบทเจ้ากลอนแล้ว ยังช่างคิดสรรหาคำเปรียบเปรยบ้าง คำสอนใจบ้าง โดยโยงใยเชื่อมผูกของใช้รอบๆตัว ออกมาเป็นคำพูด เป็นประโยคออกมาเป็นคติเตือนใจผู้คน

ตัวอย่างเช่น
เครื่องมือประมงกับ คำพังเพยและสำนวนไทย

ลอบ
ดักลอบให้หมั่นกู้ ริเจ้าชู้ให้หมั่นเกี้ยว

ตกปลา
ตกปลาอย่าเสียดายเหยื่อ เสียเกลืออย่าให้เนื้อเน่า

ไซ
ตีปลาหน้าไซ

ไซ มีที่กล่าวในบทอาขยานชั้นมัธยมปลาย( ม.ศ.๕ ) ในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ขึ้นต้นว่า

โส โพธิสัตฺโต ปางนั้นสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์......

(เมื่อประทานสองกุมารให้ชูชก ชูชกใช้เถาวัลย์รัดมัดมือพาออกไป ทั้งยื้อยุดฉุดลากเฆี่ยนตีสองกุมาร หวังเพื่อกำราบข่มขู่สองกุมารให้หวาดกลัวและเชื่อฟังตนเอง ชูชกเหยียบหินพลาดเถาวัลย์ที่รัดมัดมือสองกุมารหลุด สองกุมารกลับมาหาพระบิดาร้องไห้อ้อนวอนขอรอพบพระมารดาก่อน ชูชกย้อนตามมาทัน ก็ฉุดคร่าโบยตีสองกุมารต่อหน้าพระพักตร์พระบิดา มีขณะหนึ่งที่พระเวสสันดรทรงหวั่นไหวในพระทัย ..ว่า...)

วาริชสฺเสว เม สโต
เสมือนหนึ่งพรานเบ็ดมาตีปลาที่หน้าไซ บรรดาปลาจะเข้าไปให้แตกซ่าน
ตัวเราผู้ทำทานเหมือนตัวปลา พระโพธิญาณในภายหน้านั้นคือไซ
ปรารถนาจะเข้าไป จึงยกพระลูกให้เป็นทานบารมี พระลูกรักทั้งสองศรีดังกระแสร์สินธุ์
พราหมณ์ประมาทหมิ่นมาด่าตี เสมือนกระทุ่มวารีให้ปลาตื่น..........

ข้อง
ปลาข้องเดียวกัน

แห
ปลาติดหลังแห

กระชัง
แม่หญิงแม่หยัง แม่กระชังหน้าใหญ่

ตะกร้า
ใส่ตะกร้าล้างน้ำ หมายถึงทำให้หมด ราคี หมดมลทิน (น่าจะมีความหมายถึงตะกร้าปลา)

ยอ
ยกยอปอปั้น

วันนี้พาผู้อ่านย้อนกลับเข้าโรงเรียน ไปเสียแล้ว.......

(เพิ่มเติม หมายเหตุ สมัยพลอยโพยมเรียน มีชั้นอนุบาล ประถมปีที่๑ ถึง ประถมปีที่ ๔ รวมเรียกว่าชั้นประถมต้น
ชั้น ประถมปีที่๕ ถึงประถมปีที่๗ เรียกว่าชั้นประถมปลาย
แล้วขึ้นชั้น ม.ศ.๑ ถึง ม.ศ ๓ เรียกว่าชั้นมัธยมต้น
แล้วต่อด้วยชั้นเรียน ม.ศ.๔ และ ม.ศ.๕ (คือ ม.๖ ในปัจจุบัน) เรียกชั้นมัธยมปลาย

ส่วนก่อนหน้ารุ่นพี่รุ่นใหญ่ จบประถมปีที่๔
ขึ้นขั้นประถมปีที่ ๕ กลับเรียก เป็น ม.๑ ไล่ไปจนเป็นชั้น ม. ๘ ( ม.ศ.๓ รุ่นพลอยโพยม คือ ม.๖ ของรุ่นพี่ๆ ม.ศ.๕ ของพลอยโพยม คือ ม.๘ ของรุ่นพี่ แต่ปัจจุบันคือ ม.๖ รุ่นลูกๆของพลอยโพยม)

.และจบบทความนี้พลอยโพยมก็ขอตัวว่างเว้นเขียนเรื่องเล่า ไปเข้าปฏิบัติธรรม อีก 12 วัน กับพี่ชาย บาปกรรมที่สร้างไว้ในวัยเด็กก็มีมากยากหลบหนีผลกรรมที่ทำไว้ พอมาถึงวันนี้ก็ได้แต่พยายามหมั่นเพียรสร้างกรรมดี พี่ชายน้องชายที่สันทัดจัดเจนในการหาจับกุ้ง ปูปลา ต่างหันหน้าเข้าหาธรรมเป็นที่พึ่ง
ทุกวันนี้ได้แต่ขอให้บรรดาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายโปรด อโหสิกรรมให้พวกเรา....ด้วยเทอญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น