วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชำมะเลียง...เจ้าเอย

ชำมะเลียง...เจ้าเอย



กลับมาสู่เส้นทางเดินเท้าเปล่าเข้าโรงเรียนวัดผาณิตารามกันต่อจากความเดิม
ในเส้นทางเดินตัดท้องนาจะเดินในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วต้องเดินตามคันนา ขอเลยข้ามเรื่องราวในท้องนาไปก่อน ขึ้นสู่เส้นถนนคันดินเลย
บนถนนคันดินที่ยกสูงไม่กว้างนัก หากมีรถวิ่งก็น่าจะขับได้คันเดียว จะขับสวนจะขับแซงกันไม่ได้ แต่เจตนาในขณะนั้นมิได้ทำให้ให้รถวิ่ง ขนาดจักรยานถีบก็ยังไม่มีสักคันเดียว เป็นถนนคนเดินจริง ๆ และก็ไม่เคยเห็นมีใครจูงควายขึ้นมา้เดินบนถนนเส้นนี้เลยสักครั้งเดียว (ถ้าพาเจ้าทุยขึ้นมา้เืดินบนถนนได้ เจ้าทุยก็ต้องออกแรงเดินขึ้นทางชันมากทีเดียว) สองข้างทางของคันถนน ก็เป็น ป่าสะแก มีแ่อ่งน้ำ หนองน้ำ ให้ได้ชื่นชม ดอกบัวผัน ดอกบัวเผื่อนพื้นเมือง เป็นระยะ ๆ บัวสายก็พอมีบ้าง
ในป่าสะแก ก็พอจะมีพันธุ์ไม้อื่น ๆ ขึ้นแซมบ้าง เป็นวัชพืชบ้าง เป็นไม้ต้นบ้าง เช่น ต้นมะกล่ำ ต้นหว้า และชำมะเลียง เป็นต้น



ในช่วงขาเดินกลับจากโรงเรียนในตอนเย็น เด็ก ๆ ก็จะเดินไปสอดส่ายสายตาหาของต้องใจไป ก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะพบของปองหมาย เช่นเก็บฝักมะกล่ำกลับไปเล่นที่บ้าน ลูกหว้า ผลพวงชำมะเลียง
ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะไปเก็บเพราะข้างทางก็รกมากและยังค่อนข้างชัน ก็ได้แต่มองแล้วเป็นของล่อตาล่อใจเด็ก ๆ ยิ่งลูกหว้าก็ได้แต่มองเฉย ๆ กัน แต่ชำมะเลียงยังพอมีเด็กลงไปเก็บบ้าง ทั้งลูกหว้าและชำมะเลียงพอจะมีแม่ค้านำมาขายที่โรงเรียนแต่ก็จะไม่ค่อยเห็นเด็ก ๆ ซื้อกันนัก เพราะพอจะหาได้ตามสวนของตนเอง สู้เอาเงินไปซื้ออย่างอื่นที่ไม่มีในบ้านในสวนดีกว่า



ต้นชำมะเลียงนี้มีในสวนของยายขา แต่ไม่มากนัก ต้นชำมะเลียงจะขึ้นอิงกับต้นฝรั่งริมคลองหลังบ้านคุณยายเล็ก
แต่ชื่อต้นไม้ต้นนี้เป็นที่คุ้นหู เด็ก ๆ ในบ้าน ว่า พุมเรียง และในช่วงที่โตเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้ยินเพลงชื่อชำมะเลียง ขับร้องโดยคุณวินัย พันธุรักษ์ และคุณหยาด นภาลัย
ตอนที่ได้ยินเพลงนี้ใหม่ ๆ พลอยโพยมก็ออกจะ งง งง ว่า ชำมะเลียง ไปสุขสกาวเคียงข้างดาวดวงใหญ่อย่างไร ชำมะเลียงไปเหิรฟ้า ลืมดิน ได้อย่างไร หรือว่าชำมะเลียงไม่ใช่ต้นชำมะเลียงที่เคยรู้จัก แต่ในเนื้อเพลง ก็พูดถึงต้น ถึงใบ เหมือนกัน แต่ก็มีคำว่า ยุพิน ก็เลยคิดเอาเองว่าคงเปรียบหญิงที่รักเป็นต้นชำมะเลียง หรือ หญิงคนนี้ชื่อชำมะเลียง กระมัง

เพลง : ชำมะเลียง
ศิลปิน : วินัย พันธุรักษ์
เนื้อเพลง :
..ชำมะเลียง เจ้า เอย
เจ้า เลย พื้นดินถิ่นไป
สุขสกาว เคียงข้างดาวดวงใหญ่
กิ่งต้นมีใบไฉไลกานดา

..ชำมะเลียง เจ้า ลอย
หลงคอย เจ้าคงไม่มา
เด่นบนฟ้า เหิรนภาเริงร่า
บานเบ่งดารา
เจ้า มา ลืม คำ

..ใบ ต้นโรย เจ้า โบย กลิ่นสีดำ
เจ้า บินสูง สักวันลงต่ำ
กลีบดอกใบช้ำ
ชำมะเลียง เพียงใคร

..ชำมะเลียง แก้ว ตา
สัญญา ข้ามีด้วยใจ
จากชาวดิน
ที่ยุพิน ลืมได้ หลงเพลินกับใคร
เหิร ฟ้า ลืม ดิน
(ดนตรี.....)

..ใบ ต้นโรย เจ้า โบย กลิ่นสีดำ
เจ้า บินสูง สักวันลงต่ำ
กลีบดอกใบช้ำ
ชำมะเลียง เพียงใคร

..ชำมะเลียง แก้ว ตา
สัญญา ข้ามีด้วยใจ
จากชาวดิน
ที่ยุพิน ลืมได้
หลงเพลินกับใคร
เหิร ฟ้า ลืม ดิน...



เด็ก ๆ ลูกหลานพ่อมังกร จะคุ้นกับคำว่าพุมเรียง และตอนเด็ก ๆ เราก็เรียกต้นชำมะเลียงกันว่าต้น "พุมเรียง โดยเรียกว่า พุม- มะ -เรียง " กัน
ชื่อต้นพุมเรียง จะเป็นชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบทกล่อมเด็ก บทหนึ่ง



ชื่อบทกล่อมว่า คล้องช้าง

วันเอ๋ยวันนี้ ตัวพี่จะไปคล้องช้าง
ข้ามห้วยบึงบาง ข้ามเขาพนมทอง

คล้องเจ้ามาได้ ใส่ไว้ในจำลอง
เกี่ยวหญ้ามากอง ช้างน้อยก็ไม่กิน

ยกงวงขึ้นพาดงา น้ำตาก็ไหลอยู่ริน ริน
ช้างน้อยเจ้าไม่กิน คิดถึงถิ่นมารดา

เจ้าเคยอยู่ป่า กินแต่หญ้าในไพรสณฑ์
กินทั้งดอกอุบล กินทั้งต้นพุมเรียง
ป่านฉะนี้แม่จะคอย ใจละห้อยถึงลูกยา
ปล่อยช้างน้อยเนื้อเกลี้ยง กลับไปเลี้ยงมารดาเถิดเอย



พ่อมังกรของพลอยโพยม จะทอดเสียงเศร้ามากตอนที่ร้องว่า " น้ำตาก็ไหลอยู่ริน ริน"
"คิดถึงถิ่นมารดา"
"ใจละห้อยถึงลูกยา"



ในตอนที่พลอยโพยมยังเป็นเด็ก ๆ ฟังพ่อมังกร ไกวเปลเห่กล่อมบทนี้ ก็คงเคลิ้ม เคลิ้ม และหลับไป ด้วยความเพลิดเพลินในเสียงกล่อม ด้วยแรงโยกของเปล และสายลมที่พัดเฉื่อยโชยโรยริ้วเป็้นละลอก เพราะฝีมือไกวเปลของพ่อมังกร สม่ำเสมอไม่มีใครเหมือน ไม่ไกวแรง ไกวเอื่อย ๆ บางทีเสียงลำไม้ไผ่ที่พ่อมังกรสอดกับขื่อบ้านไว้สำหรับคล้องเชือกสี่ด้านของมุมเปลผ้าดิบ ก็ส่งเสียงสอดประสาน ออดแอด เบา ๆ คลอสำเนียงกล่อมของพ่อมังกร

แต่พอตอนพลอยโพยมโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเมื่อได้ยินพ่อมังกร ไกวเปลเห่กล่อมหลาน ๆ ก็รู้สึกน้ำตาซึมสงสารช้างน้อยตัวนี้เสียจริง ๆ รู้สึกว่าอันตัวพี่คนที่ไปคล้องช้างได้มา ช่างใจร้ายเสียจริงพรากลูก พรากแม่ เขามา ถ้าเจ้าช้างน้อยร้องวิงวอนออกมาได้ ตัวพี่คนนี้จะรู้สึกอย่างไรหนอ อันที่จริงตอนน้ำตาเจ้าช้างน้อยไหลริน ริน ก็ แย่แล้ว แล้วยังไม่พอคนแต่งเนื้อเพลงกล่อมนี้ ยังหยอดท้ายบทว่า ปล่อยช้างน้อยเนื้อเกลี้ยง กลับไปเลี้ยงมารดาเถิดเอย
โดยปกติสัตว์ทั้งหลายก็มีแต่ พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูก แต่คนสมัยโบราณก็อดสอดแทรกคำสอนให้ลูก ๆ มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ตอบกลับคืนในตอนร้องเพลงกล่อมเด็ก โดยยกตัวอย่างว่า แม้เป็นสัตว์ก็ยังต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ดังบทกล่อมเด็กบทนี้



บทกล่อมบทนี้ เป็นบทกล่อมที่พ่อมังกรชอบร้องมากพอ ๆ กับบทแม่กาเหว่า ที่ไข่ไว้ให้แม่กาฟัก กว่าเด็กจะหลับบางทีพ่อมังกรก็ร้องบทนี้ สองสามเที่ยว พ่อมังกรจะไม่ค่อยชอบร้องบทกล่อมที่สั้น ๆ นัก ส่วนใหญ่จะเลือกร้องกล่อมบทที่มีเนื้อหายาว ๆ และ พ่อมังกรก็จะเรียกหลานชายลูกของน้องชายพลอยโพยม ว่า เจ้าช้างน้อย จนเจ้าช้างน้อยเติบโตขึ้นมา แต่พ่อมังกรก็ยังเรียกว่าเจ้าช้างอยู่ (โดยตัดคำว่าน้อยออก) ซึ่งเจ้าช้างของพ่อมังกร ขณะนี้ก็เป็นหนุ่มใหญ่วัยสามสิบกว่า หล่อเหลาเอาการ รูปร่างสูงใหญ่ แบบใหญ่ยาวเข่าดีเสียด้วย



เจ้าช้างน้อยของพ่อมังกร




พลอยโพยมไปอ่านพบบทเห่เด็กบทหนึ่ง มีชื่อว่า ไปคล้องช้าง มีเนื้อความในบทเห่เด็กว่า
ไปคล้องช้าง
วันเอ๋ยวันนี้ พี่จะไปคล้องช้าง
ข้ามทุ่งเหวบาง ข้ามเขามะโนรมย์

ข้ามเขินเนินไศล ข้ามไม้ไพรพนม
ปากพี่ก็ร้องชม มือก็ไขว่ฃลอมพลาง

มือข้างโน้นจะไขว่ถี่ มือข้างนี้จะไขว่ห่าง
เก็บได้ใส่หลังช้าง มาฝากเอวบางอุแม่นา



บทกล่อมไปคล้องช้าง บทหลังนี้กับบทกล่อมคล้องช้างของพ่อมังกร แตกต่างกันบ้าง แต่บทหลังไม่มีคำกล่าวถึงต้นพุมเรียงเลย แต่มีชลอมเอาไปใส่ของแต่ก็ไม่รู้ว่าเก็บอะไรได้มาฝากแม่เอวบางของคนร้อง



ต้นพุมเรียงหรือชำมะเลียงนี้เป็นต้นไม้ที่พลอยโพยมระลึกถึงด้วยรายละเอียดหลายเรื่อง มีอีกเรื่องคือ ผลชำมะเลียงก็เป็นของกินอย่างหนึ่งที่รอคอยเวลาเห็นต้นพุมเรียงออกดอกทุกวันนี้ก็ยังคอยหา เวลามีผลสุกดำแล้วพลอยโพยมก็เก็บมากินในบ้าน น้องชายก็จะถามพี่สาวว่า ไม่มีอะไรกินหรือไงไปเก็บลูกชำมะเลียงมากินอร่อยหรือไง พลอยโพยมก็ตอบว่า ไม่อร่อยหรอกฝาดจะตายแต่กินเพราะนึกถึงวัยเด็ก ๆ ว่า เจ้าชำมะเลียงรสชาติ ฝาด ๆ แบบนี้ สมัยโน้น ก็เป็นของดีที่เด็กๆ เฝ้าคอยที่จะเก็บมากิน



มาวันนี้มีของกินอร่ิอยมากมาย แต่ชำมะเลียงมีเรื่องเตือนความจำถึงเรื่องสนุกสนานและความสุขสมัยเด็ก ที่ของอร่อย ๆ ในสมัยนี้ไม่มีให้พลอยโพยมนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น