วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระวิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์ อู ญาณรังสี




พระวิปัสสนาจารย์ พระอาจารย์ อู ญาณรังสี

ท่านเป็นชาวมาเลเซีย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2503 อายุ 53 ปี
ท่านสนใจศึกษาพุทธธรรมมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา จนกระทั่งจบปริญญาตรีสาขาการบัญชีในปี พ.ศ. 2528 ก็เริ่มศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น น้อยนักที่ท่านจะพลาดการฟังธรรมบรรยายของ พระอาจารย์ ดร. ศรีธัมมานันทะ ที่ Buddhist Maha Vihara แห่ง Brickfields ในนครกัวลาลัมเปอร์


ปี พ.ศ. 2532 ท่านเริ่มฝึกกรรมฐานกับพระอาจารย์ อู วิมาละ ที่ Subang Jaya Buddhist Association (SJBA) และฝึกฝนเพิ่มเติมกับพระอาจารย์ ชวนะปัญโญ ที่กลันตัน และที่วัดศรีลังกาเมือง Sentul หลังจากที่พากเพียรฝึกฝนกรรมฐานอย่างจริงจังอยู่หลายปี ครูบาอาจารย์ได้สนับสนุนให้ท่านเดินทางไปอุปสมบทที่สำนักเชมเย ยิกต้า นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยมีพระอาจารย์ เชมเย สยาดอ เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ได้รับฉายาว่า อู ญาณรังสี ปีต่อมาท่านย้ายไปฝึกกรรมฐานเข้มข้นที่สำนักเชมเย ยิกต้า สาขามอบี ซึ่งเป็นสำนักวัดป่า โดยฝึกกรรมฐานอย่างเข้มข้นกับพระอาจารย์ อู อินทะกะ เจ้าสำนักวัดป่าแห่งนั้น


ขณะที่ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและฝึกฝนอย่างเข้มข้นในประเทศพม่านั้น ท่านมุ่งมั่นทำความเพียรอย่างจริงจังจนก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างน่าทึ่ง เป็นที่ชื่นชมของครูบาอาจารย์ หลังจากนั้นไม่นาน ท่านได้รับมอบหมายให้ช่วยสอนกรรมฐาน สอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติ และเป็นล่ามให้แก่นักปฏิบัติที่ใช้ภาษาจีนกลางอีกด้วย


พ.ศ. 2546 หลังจากที่จำพรรษาอยู่ในประเทศพม่าถึง 8 ปี Subang Jaya Buddhist Association (SJBA) ได้กราบนิมนต์ท่านให้กลับมาสอนธรรมะ และวิปัสสนากรรมฐานแก่ชาวพุทธในประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันนอกจากท่านจะทำหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ประจำ SJBA แล้ว ท่านยังรับนิมนต์ไปอบรมวิปัสสนากรรมฐานทั้งในประเทศไต้หวัน และอินโดนีเซียอยู่เนืองๆ




พระอาจารย์ อู ญาณรังสี ท่านมาสอนวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศไทยในหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐานเข้มข้น พระอาจารย์เชมเย สยาดอ ซึ่งพระอาจารย์เชมเย สยาดอ จะมีพระอาจารย์ อู โสภิตะ (พระวิปัสสาจารย์พม่า)พระอาจารย์ อู ญาณรังสี พระอาจารย์ปัญญานันทะ (พระวิปัสสาจารย์พม่า) มาร่วมเป็นพระวิปัสสนาจารย์ให้ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.) และที่สำนักวิปัสสนาธัมโมทยะ เป็นหลักสูตรฝึกอบรมเมตตาภาวนาและวิปัสสนากรรมฐาน



พระอาจารย์ อู โสภิตะ (พระวิปัสสนาจารย์พม่า) และพระอาจารย์ อู ญาณรังสี

สำหรับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ฯ เป็นสถานที่ที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว แต่สำนักวิปัสสนาธัมโมทยะ อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักนักของบุคคลทั่วไป พลอยโพยมขอถือโอกาสประชาสัมพันธ์ดังนี้
สำนักวิปัสสนาธัมโมทยะ

๔๕/๑ หมู่๔ ตำบลถนนขาด
อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ๗๓๐๐๐
อีเมล์ : dhammodaya@yahoo.ca
ขอเชิญท่านผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน


เสียดายที่พลอยโพยม ไปส่งพี่ชายคนโตก่อนบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ ไปปฎิบัติธรรมอยู่เนือง ๆ หลายปี ไม่เคยถ่ายภาพสถานที่ไว้ แต่ท่านที่สนใจค้นหาได้ในอินเทอร์เนท
เผอิญพลอยโพยมไปพบธรรมบรรยายของพระอาจารย์ อู ญาณรังสี โดยคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย เลยขอนำมาเผยแพร่ต่อ




ธรรมบรรยาย

ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี
พระอาจารย์ อู ญาณรังสี พระภิกษุชาวมาเลเซีย ผู้ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวพม่า ได้แสดงธรรม ณ หอประชุมพุทธคยา สำนักพิมพ์ดีเอ็มจีและบริษัท ดีซีคอนซัลแทนส์ฯ เมื่อเย็นวันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ .2552 โดยท่านแสดงธรรมเป็นภาษาจีนกลาง และแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณแทนคุณ จิตต์อิสสระ ในหัวข้อ ‘สารณียธรรม 6’ คือ ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี
ในการสัมพันธไมตรีกับผู้ร่วมงาน พรรคพวกเพื่อนฝูง สมาชิกในหมู่คณะ และพี่น้องในครอบครัว ไม่ว่าองค์กรใดก็ตาม การใช้หลักธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี 6 หรือที่เรียกว่า “สารณียธรรม 6” (ธรรมเป็นเหตุให้ระลึกถึงกัน ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี) มาเป็นหลักปฏิบัติ จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง




(1) เมตตากายกรรม ( Metta-kayakamma ) การมีเมตตา มีไมตรีจิต ต่อกันทางการกระทำ ในเพื่อนสมาชิก คือช่วยเหลือกิจธุระของสมาชิกในหมู่คณะด้วยความเต็มใจ จริงใจ และแสดงกิริยาสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
(2) เมตตาวจีกรรม ( Metta-vacikamma ) การมีเมตตา มีไมตรีจิตต่อกันทางวาจา คือช่วยบอกสิ่งที่เป็นประโยชน์ สอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี มีมิตรไมตรี กล่าวแต่วาจาสุภาพ เคารพนับถือซี่งกันและกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
(3) เมตตามโนกรรม ( Metta-manokamma ) มีเมตตา มีไมตรีจิตต่อกันอย่างจริงใจ คือตั้งจิตปรารถนาดี ต่อกัน คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตาท่าทาง ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความชื่นชมยินดีต่อกัน พัฒนาจิต เริ่มต้นจากจิตใจที่เบิกบานสู่จิตใจที่สงบ และอิสระ ในการพิจารณาจัดการสิ่งใด พวกเราต้องคำนึงถึงจุดยืนของผู้อื่น ภิกษุอาวุโสป๋อหยวน กล่าวไว้ว่า เราควรปฏิบัติจนถึงขั้น “จิตใจใสสะอาดบริสุทธิและสงบ”




(4) สาธารณโภคิตา ( Sadharana-bhogi ) “มีความเสมอภาค ไม่เห็นแก่ส่วนตัว” มีชีวิตเรียบง่าย ได้รับมาเท่าใดก็ ให้ไปเท่านั้น แบ่งปันซึ่งกันและกันให้เท่าเทียมกัน เมื่อได้ของสิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็นำมาแบ่งปันกันให้มีส่วนได้ใช้โดยทั่วกัน
(5) ศีลสามัญญตา ( Sila-samannata ) รักษาและปฎิบัตให้มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อสมาชิกทั้งหลาย คือมีความประพฤติสุจริตดีงามถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะหรือทำลายหมู่คณะ
(6) ทิฏฐิสามัญญตา ( Ditthi-samannata ) มีทิฏฐิงามเสมอกันกับเพื่อนสมาชิกทั้งหลาย ให้ความเคารพ และให้เกียรติต่อความคิดของผู้อื่น มีความเห็นชอบร่วมกัน ในเรื่องกรรมและผลแห่งกรรม และหลักการสำคัญอันจะนำไปสู่ความหลุดพ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุด
พวกเราร่วมกันปฏิบัติ “สารณียธรรม 6” อาศัยพลังแห่งหมู่คณะ และคำสอนของพระพุทธองค์ ใน“สารณียธรรม 6” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เป็นแนวทางอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้พวกเราสามารถดำรงอยู่อย่างสันติสุขร่มเย็นในสังคมได้ต่อไป




แต่การแสดงธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ฯ พระอาจารย์จะแสดงธรรมเป็นภาษาอังกฤษ และมี คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา เป็นล่ามแปลไทยให้ผู้เข้าปฎิบัติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น