วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระอาจารย์ เอส. ธัมมิกะ และหนังสือตำถามดี มีคำตอบ




พระอาจารย์ เอส. ธัมมิกะ ( Venerable Shravasti Dhammika)

ขอขอบคุณที่มาของภาพ http://www.e4thai.com/e4e/index.php?view=article&catid=23:dharmma&id=157:good-question-good-answer

ประวัติของพระอาจารย์ เอส. ธัมมิกะ

เกิดที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในครอบครัวคริสเตียนท่านเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเมื่ออายุได้ ๑๘ ปี หลังจากที่ได้จาริกไปในดินแดนของชาวพุทธในประเทศไทย ลาว พม่า และอินเดีย ในที่สุดท่านได้อุปสมบทที่ประเทศอินเดียเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ แล้วจำพรรษาอยู่ในประเทศศรีลังกาและสิงคโปร์นานหลายปี
นอกจากจะรับนิมนต์บรรยายธรรมและสอนกรรมฐานอยู่เนืองๆ แล้ว ท่านยังได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้กว่า ๒๕ เล่ม




หนังสือธรรมะภาษาอังกฤษ Good Question Good Answer
แต่งโดยพระภิกษุชาวออสเตรเลีย คือ พระอาจารย์เอส. ธัมมิกะ แปลเป็นไทย ในชื่อ คำถามดี... มีคำตอบ
โดยคุณอรพิมล จินดาเวช ซูเตย์รันท์
จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมทาน โดย ชมรมเพื่อนบุญเพื่อนธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งมีคุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา คุณสุนทรา สว่างวงศากุล คุณสุพรรณา ธรรมศรี และสมาชิกอีกหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้กล่าวนามมา
พระอาจารย์ อู ญาณรังสี แห่งสำนักSubang Jaya Buddhist Association ประเทศมาเลเซีย ได้ให้ความอนุเคราะห์มอบหนังสือเล่มนี้และหนังสือธรรมะที่มีค่าอีกหลาย ๆ เล่มมา แจกจ่ายให้ผู้แปลและกัลยาณมิตรได้ศึกษาอยู่เนือง ๆ อีกทั้งท่านยังได้ช่วยดำเนินการขออนุญาตจากท่านเจ้าของหนังสือให้แปลเป็นภาษาไทยและพิมพ์เผยแพร่อีกด้วย
หนังสือเล่มนี้มีพระอาจารย์คันธสาราภิวงศ์แห่งวัดท่ามะโอผู้ตรวจและค้นคำแปลจากพระสูตรต่างๆ ตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ รวมทั้ง คุณผาณิต เจตจิราธิวัฒน์ ที่ได้ให้ความอุปถัมภ์เรื่องคำแปลในพระสูตรด้วยอีกท่านหนึ่ง มีรองศาสตราจารย์ ดร.สมพร พุทธาพิทักษ์ผล แห่งสาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้แปลส่วนที่เป็นหนังสือวิชาการของ โทมัส ฮักซเลย์และดร.จูเลียน ฮักซเลย์
คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา ประธานชมรมเพื่อนบุญเพื่อนธรรม เป็นผู้แนะนำให้ผู้แปลแปลหนังสือเล่มนี้ โดยทำหน้าที่บรรณาธิการตรวจแก้ไขสำนวนและจัดพิมพ์




คำนำของพระอาจารนย์ เอส. ธัมมิกะ

สืบเนื่องจากเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้ว (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ๒๕๔๗) อาตมาได้พบกับกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสิงคโปร์กลุ่มหนึ่งหนุ่มสาวกลุ่มนั้นกราบเรียนอาตมาว่า มักมีคนถามเกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งพวกเขาตอบไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องยากมาก อาตมาจึงได้ขอให้เขาช่วยยกตัวอย่างคำถามเหล่านั้นให้ฟังบ้าง
คำถามของนักศึกษากลุ่มนี้ทำให้อาตมาตกใจและแปลกใจว่า เหตุใดหนุ่มสาวชาวพุทธที่ดูฉลาดปราดเปรื่อง มีการศึกษาดี จึงมีความรู้เกี่ยวกับศาสนาของตนเองน้อยเช่นนี้
จนไม่สามารถให้ความกระจ่างกับผู้อื่นได้ อาตมาจึงได้รวบรวมคำถามเหล่านั้นและยังได้เพิ่มเติมคำถามที่อาตมามักจะได้รับบ่อยครั้ง รวมกันขึ้นมาเป็นหนังสือ “คำถามดี...มีคำตอบ” เล่มนี้
แรกเริ่มทีเดียว อาตมาตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเพื่อผู้อ่านชาวสิงคโปร์เท่านั้น แต่ก็ต้องประหลาดใจและยินดียิ่งที่ได้ทราบว่า หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่แพร่หลายออกสู่สายตาผู้อ่านทั่วโลก ฉบับภาษาอังกฤษถูกตีพิมพ์ออกมาแล้วกว่า ๑๕๐,๐๐๐ เล่ม และได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย อินเดีย ไทย ศรีลังกา และไต้หวัน อีกทั้งยังได้มีการแปลเป็นภาษาต่างๆ อีก ๑๔ ภาษา เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซีย(บาฮาซา) และภาษาสเปน
ในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ นี้มีการปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มขึ้น โดยอาตมาได้เพิ่มคำถามและคำตอบที่หวังว่าคงเป็นคำตอบที่ดีและน่าสนใจเข้ามาอีกและยังได้เพิ่มบทใหม่ที่เกี่ยวกับพระพุทธดำรัสขึ้นอีกด้วย
ขอขอบคุณคุณลีเต็งย้งที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดเตรียมการพิมพ์ครั้งนี้ และหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยกระตุ้นชาวโลกให้สนใจพระศาสนาของพระศาสดาสืบต่อไป
พระอาจารย์ เอส. ธัมมิกะ
สิงคโปร์ ปี พ.ศ. ๒๕๔๗




ถาม
พุทธศาสนาคืออะไร
ตอบ
คำว่า พุทธศาสนา มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า พุทธ ซึ่งแปลว่า ตื่น จึงอาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาเป็นหลักปรัชญาคำสอนแห่งการตื่นรู้ หรือการรู้แจ้ง นั่นเอง หลักคำสอนในพุทธศาสนามีรากฐานมาจากประสบการณ์ของบุคคลผู้หนึ่งทรงพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะ โคดม หรือที่เราขานพระนามกันว่า พระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งได้บรรลุพระสัพพัญญุต-ญาณเป็นผู้ตื่น ผู้รู้แจ้ง ด้วยพระองค์เองเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา
พุทธศาสนามีอายุยืนยาวมากว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว และมีพุทธศาสนิกชนทั่วโลกประมาณ ๓๖๐ ล้านคน พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่ในทวีปเอเชียเป็นส่วนใหญ่ จวบจนเมื่อประมาณร้อยปีที่ ผ่านมาจึงได้ขยายขอบเขตออกสู่ศาสนิกชนในทวีปยุโรป ออสเตรเลียและอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ



ถาม
ถ้าเช่นนั้นพุทธศาสนาก็เป็นเพียงปรัชญาแขนงหนึ่งเท่านั้นใช่ไหม
ตอบ
คำว่า “ปรัชญา” ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากศัพท์ภาษาลาตินสองคำรวมกัน คือ คำว่า philo ที่แปลว่า ความรัก และคำว่า sophiaซึ่งแปลว่า ปัญญาหรือความรู้ ดังนั้น คำว่า “ปรัชญา” ในภาษาอังกฤษจึงแปลว่า ความรักในปัญญา หรือ ความรักและปัญญา ซึ่งความหมายทั้งสองนี้ต่างอธิบายความหมายของพุทธศาสนาได้สมบูรณ์ยิ่ง เพราะพุทธศาสนานั้นสอนให้เราพยายามพัฒนาปัญญาของเราจนถึงขั้นสูงสุด เพื่อการรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง ทั้งยังสอนให้เราเผื่อแผ่ความรักและความปรารถนาดีไปยังทุกๆ ชีวิต เพื่อสร้างสัมพันธภาพอันแท้จริงต่อทุกสรรพสัตว์ เราจึงอาจถือได้ว่าพุทธศาสนาเป็นปรัชญาแขนงหนึ่ง แต่ก็มิใช่ปรัชญาในระดับธรรมดาๆ เท่านั้น แต่เป็นอภิปรัชญา




ถาม
พระพุทธเจ้าคือใคร
ตอบ
เมื่อ ๖๒๓ ปีก่อนคริสตศักราช มีทารกน้อยผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นในพระราชวงศ์ผู้ครองราชอาณาจักรทางอินเดียตอนเหนือเจ้าชายพระองค์น้อยทรงเจริญเติบใหญ่ภายในพระราชวัง แวดล้อมด้วยความร่ำรวยและหรูหรา แต่ในที่สุด พระองค์ทรงพบว่าความสะดวกสบายและความมั่นคงทางโลกเหล่านั้น หาได้เป็นหลักประกันว่าจะสามารถนำความสุขที่แท้มาให้ได้เลย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นแต่ความทุกข์ที่มีอยู่โดยรอบ จึงทรงตัดสินพระทัยออกแสวงหาหนทางสู่ความสุขที่แท้พระองค์ทรงละทิ้งพระชายาและพระโอรส เสด็จออกผนวชเมื่อทรงพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา และทรงฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น แต่ก็ทรงพบว่า สิ่งที่อาจารย์เหล่านั้นสอนไม่สามารถอธิบายถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ของมวลมนุษยชาติได้อย่างแท้จริง และยังไม่ สามารถให้คำตอบเรื่องการพ้นจากทุกข์นั้นได้ ในที่สุด ทรงพากเพียรบากบั่นเจริญสมณธรรมด้วยพระองค์เองต่อไปเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้ทรงรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งมวล ทำลายความไม่รู้ทั้งปวงได้สำเร็จ
นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้รับการขนานพระนามว่า พระพุทธเจ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตลอด ๔๕ ปีที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์อยู่ ได้ทรงเดินทางรอนแรมไปทั่วอินเดียตอนเหนือ เพื่อสั่งสอนเวไนยชนถึงสิ่งที่ทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณาและความอุตสาหะในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนนั้นจนมีผู้ตรัสรู้ตามนับพันนับหมื่นคน จนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา



ถาม
ไม่เป็นการเห็นแก่ตัวไปหน่อยหรือ ที่ทรงละทิ้งพระชายาและพระโอรสออกผนวช
ตอบ
การละทิ้งครอบครัวไปก็คงไม่ใช่เรื่องที่ทรงกระทำได้โดยง่าย ในเมื่อพระองค์ทรงมีหนทางให้เลือกเดินอยู่สองสายคือ จะอุทิศพระองค์ให้ครอบครัวและราชบัลลังก์ หรือจะอุทิศพระองค์เพื่อมวลหมู่มนุษยชาติและสรรพสัตว์ทั้งปวง พระองค์น่าจะทรงใช้เวลาในการตัดสินพระทัยอยู่นานก่อนจะทรงตัดสินพระทัยออกผนวชในที่สุด พระกรุณา คุณอันประมาณมิได้ของพระองค์นำให้พระองค์ตัดสินพระทัยเสียสละเพื่อมนุษยชาติ และมนุษยชาติก็ยังคงได้รับประโยชน์จากการเสียสละของพระองค์ตราบจนถึงทุกวันนี้ การเสียสละเช่นนี้ย่อมไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวหรือไร้ความรับผิดชอบแน่ๆ แต่ควรจะกล่าวว่าเป็นการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมาจึงจะเหมาะสมกว่า



ถาม
ในเมื่อพระพุทธองค์ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว จะยังมาช่วยพวกเราได้อย่างไร
ตอบ
นายฟาราเดย์ ผู้ค้นพบกระแสไฟฟ้าก็เสียชีวิตไปแล้วแต่กระแสไฟฟ้าที่เขาค้นพบยังคงให้ประโยชน์กับเราอยู่ทุกวันนี้ หลุยส์ปาสเตอร์ ผู้ค้นพบยารักษาโรคต่างๆ มากมายก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ยาที่เขาค้นพบก็ยังคงรักษาโรคให้เราได้จนทุกวันนี้ ลีโอนาร์โด ดา วินชี ผู้สร้างงานศิลปะชิ้นเอกของโลกจำนวนมากก็เสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงานของเขายังคงสร้างความดื่มด่ำให้แก่ผู้เข้าชมจนถึงทุกวันนี้ วีรบุรุษและวีรสตรีอีกมากมาย ที่ได้อุทิศตนเพื่อผู้อื่นล้วนแต่เสียชีวิตไปนานแล้วแต่ยามใดก็ตามที่เราศึกษาหรืออ่านชีวประวัติรวมทั้งวีรกรรมของท่านเหล่านั้น เราก็ยังคงชื่นชมการกระทำของท่านได้อยู่เสมอ การที่เรายังคงยึดถือท่านเหล่านั้นเป็นแบบอย่างได้แม้ท่านจะเสียชีวิตไปนานแล้ว

ฉันใดพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังคงอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ได้จวบจนทุกวันนี้แม้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปกว่า ๒,๕๐๐ ปีแล้ว ฉันนั้นพระพุทธองค์ยังคงทรงเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้เรา และพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ก็ยังคงนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตมนุษย์ได้อีกเหลือคณานับ มีเพียงพระพุทธองค์เท่านั้นที่ทรงมีพุทธานุภาพที่เปี่ยมพลังยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ แม้จะเสด็จดับขันธ์ไปนานนับศตวรรษแล้วก็ตาม



ถาม
พระพุทธเจ้าคือพระเจ้าใช่ไหม
ตอบ
พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้า พระองค์ไม่เคยตรัสว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า ไม่ได้ทรงเป็นบุตรของพระเจ้า และไม่ได้ทรงเป็นผู้นำสาสน์ของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ได้พัฒนาศักยภาพของพระองค์เองได้จนสมบูรณ์ที่สุด และได้ทรงสอนด้วยว่า หากเราดำเนินตามทางสายเดียวกับพระองค์ เราก็สามารถพัฒนาศักยภาพของเราเองได้จนถึงที่สุดเช่นกัน

ถาม
ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้า เหตุใดชาวพุทธมากมายจึงยังกราบไหว้บูชาท่านอยู่
ตอบ
การกราบไหว้บูชานั้นมีหลายประเภท ในกรณีของผู้ที่เชื่อในพระเจ้า เขาจะสวดสรรเสริญ บวงสรวง และอ้อนวอนร้องขอต่อพระเจ้าเพราะเชื่อว่าพระเจ้าจะได้ยินเสียงอ้อนวอนสรรเสริญและได้รับสิ่งของที่พวกเขาพากันเซ่นสรวงบูชาเพื่อให้พระเจ้าประทานสิ่งที่เขาร้องขออ้อนวอนนั้น แต่ชาวพุทธไม่ได้กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยเหตุผลเช่นนี้ยังมีการกราบไหว้บูชาอีกประเภทหนึ่ง คือ เราจะกราบไหว้หรือแสดงความเคารพต่อผู้ที่เราชื่นชมยกย่องหรือต่อสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ที่เราเคารพ เช่น เวลาที่ครูเดินเข้ามาในห้อง นักเรียนจะลุกขึ้นยืนทำความเคารพ เวลาที่เราพบผู้ที่มีเกียรติยศสูงกว่า เราก็ยกมือไหว้ หรือ เวลาที่มีเสียงเพลงชาติดังขึ้น เราก็จะลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพ การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกของการคารวะ ชื่นชม เคารพบูชาทั้งสิ้น การกราบไหว้บูชาเช่นนี้คือการแสดงความเคารพอย่างที่ชาวพุทธกระทำ พระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ พระหัตถ์วางอยู่บนพระเพลา พระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา พระโอษฐ์แย้มน้อยๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธทั้งมวลให้พากเพียรพัฒนาตนเพื่อสร้างความสงบและสันติสุขให้เกิดขึ้นภายในตน กลิ่นหอมของธูปเตือนใจให้ระลึกถึงบรรยากาศแห่งคุณธรรม แสงไฟจากตะเกียงน้ำมันเตือนใจให้ระลึกถึงแสงแห่งปัญญาและดอกไม้หอมซึ่งจะต้องแห้งเหี่ยวเฉาไปในที่สุดก็เป็นเครื่องเตือนใจเราถึงความไม่เที่ยงแท้ถาวร เมื่อเราก้มลงกราบพระพุทธรูป เราระลึก ถึงพระมหากรุณาคุณของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงสั่งสอนพระธรรมแก่เราการกราบไหว้บูชาของชาวพุทธจึงเป็นการกราบไหว้บูชาในลักษณะนี้



ถาม
แต่ผมได้ยินมาว่าชาวพุทธนั้นกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นรูปปั้น รูปเคารพ
ตอบ
คำกล่าวนี้เป็นเพียงความเข้าใจผิดของผู้พูดเท่านั้นพจนานุกรมภาษาอังกฤษแปลความหมายของคำว่า “รูปเคารพ” ว่า“รูปปั้นหรือรูปภาพที่คนเคารพบูชาดุจพระเจ้า” ดังที่อาตมาได้อธิบายแล้วว่า ชาวพุทธไม่คิดและไม่ได้เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้า เพราะฉะนั้น ความคิดที่ว่าชาวพุทธเห็นไม้ท่อนหนึ่งหรือโลหะชิ้นหนึ่งเป็นเหมือนพระเจ้าจึงเป็นความคิดที่เลื่อนลอยเหลวไหล ทุก ๆ ศาสนาต่างก็มีสัญลักษณ์แทนความเชื่อของตน
เช่น ลัทธิเต๋าก็มีรูปหยินและหยางเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นเอกภาพระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกัน
ศาสนาซิกข์ก็มีดาบเป็นสัญลักษณ์แทนการต่อสู้เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณ
ศาสนาคริสต์ก็มีรูปปลาเป็นสัญลักษณ์แทนการปรากฏของพระเยซูและไม้กางเขนแทนการเสียสละของพระองค์
พุทธศาสนาก็มีพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์เตือนใจเราถึงพระธรรมคำสอนที่มีต่อมวลมนุษย์ เพื่อเตือนใจว่าศูนย์กลางของพุทธศาสนาหาใช่พระเจ้า แต่เป็นมนุษย์เราเองและเพื่อให้ระลึกอยู่เสมอว่า หนทางที่เราจะพัฒนาตนสู่ความรู้แจ้งนั้นหาใช่การร้องขอหรือแสวงหาจากภายนอก แต่จะต้องศึกษาเข้าไปภายในจิตตนเอง
ดังนั้น การพูดว่า ชาวพุทธเคารพสักการะรูปปั้น จึงไร้สาระพอ ๆ กับการกล่าวว่าชาวคริสต์เคารพสักการะรูปปลาหรือรูปเรขาคณิตนั่นเอง



ถาม
ทำไมชาวพุทธมักทำพิธีอะไรแปลก ๆ ในวัด
ตอบ
ถ้าเราไม่เข้าใจ หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเห็นก็ดูจะเป็นของแปลกประหลาดสำหรับเรา แต่แทนที่เราจะคิดว่าเรื่องเหล่านั้นแปลกประหลาด เราน่าจะลองทำความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นจะดีกว่า กระนั้นก็ตาม ยังมีพิธีกรรมบางอย่างที่ชาวพุทธบางคนทำขึ้นโดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อดั้งเดิมหรือมาจากความเข้าใจผิดของเขาเอง ซึ่งมิใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสสอน ความเข้าใจผิดเช่นนี้มีแทรกอยู่ในทุกศาสนาเสมอมา คำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นคำสอนที่ชัดเจนและละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ดังนั้น หากจะมีชาวพุทธคนใดเข้าใจคำสอนของพระองค์ผิด ก็คงจะไปตำหนิพระองค์ไม่ได้
ในพระสูตรเองก็มีพระพุทธดำรัสว่า “คนผู้เจ็บป่วยเมื่อหมอรักษาโรคมีอยู่ ไม่ยอมให้รักษาความเจ็บป่วยนั้น ข้อนั้นหาเป็นความผิดของหมอนั้นไม่ ฉันใด คนผู้ได้รับทุกข์ถูกความเจ็บป่วย คือกิเลสเบียดเบียนแล้ว ไม่ไปหาอาจารย์นั้น ข้อนั้น หาเป็นความผิดของอาจารย์ผู้แนะนำไม่ ฉันนั้นเหมือนกัน”

อรรถกถาชาดก (ชา. อ. ๑.๗)
เราจะตัดสินศาสนาใดก็ตามจากการกระทำของศาสนิกชนผู้ไม่ได้สดับตรับฟังจนเกิดความเข้าใจคงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่พุทธศาสนาดังนั้น หากท่านต้องการที่จะเข้าใจคำสอนของพุทธศาสนาก็พึงหาความรู้จากพระพุทธพจน์ หรือสนทนาธรรมกับท่านผู้รู้ที่เข้าใจพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้จะเหมาะสมกว่า



ถาม
ถ้าพุทธศาสนาดีอย่างนั้น ทำไมประเทศที่เป็นชาวพุทธบางประเทศยากจน
ตอบ
ถ้าหากคำว่า “ยากจน” ของผู้ถาม หมายถึง ความยากจนทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะจริงที่ประเทศชาวพุทธหลายๆ ประเทศยากจน แต่หากคำว่า “ยากจน” ของผู้ถาม หมายถึง การมีชีวิตที่น่าสงสารไร้คุณภาพชีวิตละก็ อาจกล่าวได้ว่าประเทศพุทธบางประเทศก็ร่ำรวยพอควรทีเดียว ขอยกตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เป็นประเทศมหาอำนาจ มีความร่ำรวยทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีอัตราการก่ออาชญากรรมสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่งผู้สูงอายุนับล้านคนถูกลูกหลานปล่อยให้อยู่เพียงลำพังโดยขาดการเหลียวแล และที่สุดก็ถูกทอดทิ้งให้เสียชีวิตอย่างเดียวดายในบ้านพักคนชรา การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ และการติดยาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอเมริกัน รวมทั้งคู่สมรสถึงหนึ่งในสามจบลงด้วยการหย่าร้าง สหรัฐอเมริกาอาจร่ำรวยทางเศรษฐกิจแต่ไม่ได้ร่ำรวยด้านคุณภาพชีวิต
เรามาลองสังเกตดูประเทศที่เป็นชาวพุทธบางประเทศ ก็จะเห็นว่าสถานการณ์เหล่านี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้สูงอายุหรือบุพการีจะได้รับความเคารพยกย่องอย่างสูงจากลูกหลาน อัตราการก่ออาชญากรรมค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร อัตราการหย่าร้างและการฆ่าตัวตายมีน้อย จารีตประเพณีดั้งเดิม เช่น ความสุภาพอ่อนน้อม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การสงเคราะห์ผู้อื่น ความอดทนอดกลั้นและการเคารพซึ่งกันและกัน ยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและพบได้ทั่วไป แม้จะเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นสังคมที่มีความสุขมากกว่า มีคุณภาพ ชีวิตที่เหนือกว่าสังคมร่ำรวยทางเศรษฐกิจเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างไรก็ตาม หากคำว่า “ร่ำรวย” หมายถึง “ร่ำรวยทางเศรษฐกิจ” เท่านั้นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและมีพลังทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกปัจจุบัน ก็คือประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรส่วนใหญ่ประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ ( หนังสือพิมพ์ ครั้งที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗)



ถาม
ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเราจึงไม่ค่อยได้ยินว่ามีการทำกุศลเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นในแวดวงชาวพุทธเท่าใดนัก
ตอบ
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะชาวพุทธคิดว่าทำกุศลแล้ว ไม่มีความจำเป็นจะต้องป่าวประกาศให้ประชาคมโลกรับรู้ เมื่อหลายปีก่อนมีผู้นำทางพุทธศาสนาชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งชื่อ นิกโกะ นิรวาโน ได้รับรางวัลเทมเพิลตัน เพื่อเชิดชูเกียรติที่เขาเป็นผู้สนับสนุนความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาต่างๆ และเคยมีพระภิกษุชาวไทยได้รับรางวัลแมกไซไซ จากงานที่ท่านทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดมาแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ พระภิกษุชาวไทยอีกรูปหนึ่งคือ พระครูขันตยาภิวัฒน์ ก็เคยได้รับรางวัลสันติภาพดีเด่นเพื่อเยาวชนจากประเทศนอร์เวย์ จากการที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าในเขตชนบท
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวพุทธตะวันตกที่ทุ่มเททำงานเพื่อบรรเทาความยากจนในประเทศอินเดีย ด้วยการสร้างโรงเรียน ศูนย์เลี้ยงเด็ก โรงพยาบาลท้องถิ่น รวมทั้งช่วยสร้างอุตสาหกรรมขนาดเล็กเพื่อให้ผู้ยากจนสามารถเลี้ยงตนเองได้ ชาวพุทธก็ทำกุศลด้วยการให้ทานกับผู้อื่นเช่นเดียวกับที่คนในศาสนาอื่นกระทำ แต่ในหมู่ชาวพุทธ เราเชื่อว่าการทำกุศลทั้งหลายควรทำอย่างเงียบๆ ไม่จำเป็นต้องโอ้อวดตน



ถาม
เหตุใดพุทธศาสนาจึงมีนิกายต่างๆ แยกย่อยมากมาย
ตอบ
น้ำตาลที่เราใช้บริโภคนั้นมีหลายประเภทต่างกัน เช่นน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลกรวด น้ำเชื่อม และน้ำตาลป่น แต่ทั้งหมดนี้ก็คือน้ำตาลและเป็นสารที่ให้รสหวานเหมือนกันทั้งสิ้นน้ำตาลมีหลายรูปแบบ ถูกผลิตขึ้นเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกันและเพื่อใช้ในการปรุงอาหารที่ต่างกัน
พุทธศาสนาก็เช่นกัน มีทั้งพุทธแบบเถรวาท พุทธเซ็น พุทธนิกายเพียวแลนด์(PureLand) พุทธโยคาจาร(หรือวิญญาณวาท-ผู้แปล) และพุทธวัชรยาน

แต่ทั้งหมดนั้นก็สอนเรื่องเดียวกันคือ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทุกนิกายสอนถึงรสชาติเดียวกันหมดคือรสชาติของความเป็นอิสระ(จากกิเลสทั้งปวง-ผู้แปล)
พุทธศาสนามีวิวัฒนาการไปตามแต่ละสังคมที่พุทธศาสนาได้แผ่ไปถึง เพื่อปรับให้เข้ากับความเข้าใจในแต่ละวัฒนธรรมนั้นๆ รวมทั้งได้พัฒนามาตลอดหลายศตวรรษเพื่อให้ยังคงเข้าถึงจิตใจของพุทธศาสนิกชนรุ่นใหม่ในแต่ละยุค
ถ้าเราจะมองแค่ลักษณะภายนอกของแต่ละนิกาย อาจจะเห็นว่ามีความแตกต่างกันมาก แต่หากมองที่แก่นแท้ของคำสอนแล้ว จะพบว่าศูนย์กลางของคำสอนทั้งมวลรวมลงที่ อริยสัจ ๔ และอริยมรรคมีองค์ ๘
เหมือนกันหมด
ศาสนาที่สำคัญๆ ของโลกทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาเอง ล้วนมีวิวัฒนาการแยกย่อยออกเป็นลัทธิและนิกายต่างๆ ตามวันเวลาที่ผ่านมา เพียงแต่อาจมีข้อแตกต่างประการหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาต่างจากศาสนาอื่นๆ คือ แม้จะมีนิกายแตกแขนงออกมามากมาย แต่ทุกนิกายก็มีความเป็นเอกภาพและเคารพซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติภายใต้ความแตกต่างนั้น



ถาม
ท่านอาจารย์มองพุทธศาสนาว่ายอดเยี่ยมที่สุด จึงดูเหมือนกับว่าท่านเชื่อว่าพุทธศาสนานั้นสอนถูกต้องที่สุด ในขณะ ที่ศาสนาอื่นสอนผิดหมด
ตอบ
ไม่มีชาวพุทธที่เข้าใจคำสอนของพระพุทธองค์อย่างถ่องแท้คนไหนจะคิดอย่างนั้นแน่ๆ และก็คงไม่มีคนไหนที่อุตสาหะตั้งใจศึกษาคำสอนของศาสนาอื่นๆ ด้วยใจที่เปิดกว้างจะคิดอย่างนั้นด้วย สิ่งสำคัญที่เราจะเห็นได้ชัดเมื่อศึกษาเรื่องของศาสนาต่างๆ ประการแรกก็คือ ทุกศาสนามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกันมาก ทุกศาสนาเชื่อว่าชีวิตมนุษย์นั้นคือสภาพที่ไม่น่าปรารถนา เต็มไปด้วยทุกข์ และทุกศาสนาก็เชื่อเหมือนกันว่า เราจำเป็นต้องแก้ไขท่าที มุมมองและการกระทำของเราที่มีต่อชีวิตให้ถูกต้อง เพื่อจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพเหล่านั้น ทุกศาสนาสอนเรื่องจริยธรรมหลัก อันรวมไปถึงความรักความปรารถนาดี ความอดทน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งทุกศาสนายอมรับการมีอยู่ของสภาวะอันสูงสุด ซึ่งแต่ละศาสนาจะใช้ภาษา ชื่อเรียก และสัญลักษณ์ที่ต่างกันออกไป มีเฉพาะคนที่จิตใจคับแคบยึดติดในความเชื่อของตนเองเท่านั้นที่จะมองผู้อื่นด้วยความไม่ยอมรับ ด้วยความทะนงตน และด้วยความคิดว่าตนเท่านั้นที่ถูกต้อง่

เรามาลองจินตนาการกันดูว่า ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่ประกอบด้วยชายชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส จีนและอินโดนีเซีย มองดูถ้วยใบหนึ่งอยู่ คนอังกฤษจะบอกว่า “นี่คือ cup” คนฝรั่งเศสกลับบอกว่า “ไม่ใช่ นี่คือ tasse ต่างหาก” คนจีนจะตอบว่า “คุณผิดทั้งคู่เลย นี่มันคือ pei ต่างหาก” คนอินโดนีเซียหัวเราะแล้วพูดว่า “พวกคุณนี่เหลวไหลจริงๆ นี่มัน cawan ชัดๆ” เมื่อได้ยินดังนั้น คนอังกฤษก็หยิบพจนานุกรมขึ้นมาเล่มหนึ่งเพื่อยืนยันว่า “ผมจะพิสูจน์ให้พวกคุณดู นี่ไง พจนานุกรมบอกว่า มันคือ cup” คนฝรั่งเศสเถียงทันทีว่า “ถ้าอย่างนั้นพจนานุกรมของคุณก็ผิดแน่ๆ เพราะพจนานุกรม ของผมเขียนไว้ชัดเจนว่า มันคือ tasse” คนจีนก็ลุกขึ้นท้วงทันควันว่า“พจนานุกรมของผมบอกว่า มันคือ pei พจนานุกรมของผมอายุเป็นพัน ๆ ปีแล้ว เก่าแก่กว่าพจนานุกรมของพวกคุณเสียอีก ของผมนี่แหละถูกต้องที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ภาษาจีนยังมีคนพูดมากที่สุดในโลก เพราะฉะนั้น มันต้องเป็น pei แน่ๆ” ขณะที่คนกลุ่มนี้กำลังถกเถียงกันอย่างรุนแรงอยู่นั้นก็มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามา ยกถ้วยนั้นขึ้นแล้วดื่มน้ำในถ้วยจนหมด แล้วพูดว่า “ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอะไร cup, tasse, pei หรือ cawan ก็ตาม แต่มันก็มีไว้เพื่อใส่นำให้เราดื่ม เพราะฉะนั้น เลิกเถียงกันได้แล้ว มาดื่มนำดับกระหายกันดีกว่า” นี่คือตัวอย่างของทัศนะที่พุทธศาสนามีต่อศาสนาอื่น



ถาม
คนมักพูดกันว่า ศาสนาทุกศาสนาเหมือนกันหมดท่านอาจารย์มีความเห็นว่าอย่างไร
ตอบ
ความจริงเรื่องของศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ละเอียด ลุ่มลึกและมีความเป็นอิสระจากกันมากเกินกว่าที่เราจะมาสรุปลงที่คำพูดง่าย ๆ สั้นๆ แบบนั้นได้
สำหรับชาวพุทธอาจมีความเห็นต่อประโยคนี้ว่ามีทั้งผิดและถูกในขณะเดียวกัน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะมองด้านไหน หากจะยกตัวอย่างเปรียบเทียบ
พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาเทวนิยม จึงต่างจากศาสนาคริสต์ที่เชื่อในเรื่องพระเจ้า
แต่ในคัมภีร์ไบเบิ้ลมีบทหนึ่งที่มีความไพเราะในเนื้อหามาก ที่กล่าวว่า
"ความรักนั้นต้องอดทนนานและกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนเองฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียวไม่ช่างจดจำความผิด ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อประพฤติผิด แต่ชื่นชมยินดีเมื่อประพฤติชอบ ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่นและเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง"
๑ โครินธิ์ บทที่ ๑๓ ข้อที่ ๔-๗
คำกล่าวนี้ตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาทุกประการ ที่สอนว่าไม่ว่าผู้ใดจะมีอำนาจเลิศล้ำประการใด มีความสามารถพิเศษสามารถพยากรณ์อนาคตได้ขนาดไหน มีพลังแห่งศรัทธาเหนืออื่นใด หากปราศจากจิตใจที่ดีงาม อำนาจเหล่านั้นก็ไม่มีความหมายใด ๆ เลย
ถ้าเราจะเปรียบเทียบคำสอนของทั้งสองศาสนาในแง่ของทฤษฎีหรือหลักปริยัติแล้ว ทั้งสองย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมาก แต่ถ้าเราจะมองในแง่ของคำสอนที่เป็นจริยธรรม เป็นคุณค่าของจิตใจ และเป็นข้อควรประพฤติปฏิบัติแล้ว ทั้งสองก็เหมือนกันมาก



ถาม
พุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่
ตอบ
ก่อนจะตอบคำถามนี้ เราน่าจะมาพิจารณาความหมายของคำว่า “วิทยาศาสตร์” กันก่อน พจนานุกรมได้อธิบายคำว่า “วิทยาศาสตร์”ไว้ว่า คือ “ความรู้ที่ได้โดยการสังเกตและค้นคว้าจากการประจักษ์ทางธรรมชาติ แล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ หรือ วิชาที่ค้นคว้าได้หลักฐานและเหตุผลแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ”
มีบางแง่มุมของพระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาที่ไม่อาจจัดเข้าในคำจำกัดความนี้ได้ แต่เรื่อง อริยสัจ ๔ ที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนานั้น จัดอยู่ในคำจำกัดความของ “วิทยาศาสตร์” ได้ดีทีเดียว
กล่าวคือ ทุกขอริยสัจ ซึ่งเป็นอริยสัจประการแรก
เป็นสิ่งที่เราสามารถประจักษ์ได้ กำหนดได้ และวัดได้จากประสบการณ์จริง
อริยสัจประการที่สอง คือ สมุทยสัจ-เหตุแห่งทุกข์
อธิบายว่าต้นเหตุทั้งมวลของความทุกข์ก็คือ ตัณหา ความทะยานอยาก ความยึดติดผูกพัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราประจักษ์ได้จากประสบการณ์จริงโดยไม่ได้อ้างอิงหลักอภิปรัชญาหรือตำนานเทพนิยายที่เลื่อนลอยใดๆ เลย
อริยสัจประการที่สามคือ นิโรธสัจ–ความดับทุกข์
ซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการเชื่อมั่นศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติมิได้มาจากการอ้อนวอนร้องขอหรือด้วยการสวดสาธยายมนต์ หากแต่ประจักษ์ชัดได้ว่ามาจากการกำจัดต้นเหตุแห่งทุกข์เสียได้
อริยสัจประการที่สี่ มรรคสัจ-หนทางสู่ความดับทุกข์
ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำอธิบายตามหลักอภิปรัชญา หรือตำนานเทพนิยายใดๆ อีกเช่นกันหากแต่เป็นวิถีทางของการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ถูกต้องพุทธศาสนาปราศจากความคิดเรื่องพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งตรงกับความเห็นทางวิทยาศาสตร์




อีกทั้งพุทธศาสนายังได้อธิบายถึงที่มาและการมีอยู่ของจักรวาลในแง่ของกฎธรรมชาติ คำอธิบายเหล่านี้คือด้านที่ตรงกับความหมายของวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนอยู่เสมอว่า อย่าเชื่อโดยไม่พิสูจน์ หรืออย่าเชื่อดั่งคนมืดบอด แต่จงตั้งคำถามจงพิจารณา จงค้นคว้า และในที่สุด จงเชื่อมั่นตามประสบการณ์จริงที่ตนได้ประสบ พระดำรัสนี้ตรงกับความหมายของวิทยาศาสตร์เช่นกัน ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงมีพระดำรัสไว้ในกาลามสูตร ว่า
“มาเถิด กาลามะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะอย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผลอย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้าได้กับทฤษฏีที่พินิจไว้แล้ว อย่าปลงใจเชื่อเพราะ มองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา กาลามะทั้งหลาย เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองเท่านั้นว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้สรรเสริญธรรมเหล่านี้ที่บุคคลถือปฏิบัติบริบูรณ์แล้วย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขเมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่”

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เกสมุตติสูตร (องฺ. เอกก. ๒๐.๖๖.๑๘๕)

ดังนั้น แม้จะกล่าวได้ว่าพุทธศาสนาไม่ได้เป็นวิทยาศาสตร์เสียทั้งหมด แต่พุทธศาสนาก็เป็นศาสนาที่มีความใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ที่สุด และมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงสุดกว่าศาสนาอื่นใดในโลก
อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญที่สุดของโลกในศตวรรษที่ ๒๐ ได้กล่าวถึงพุทธศาสนาไว้ว่า“ศาสนาของโลกในอนาคตจะเป็นศาสนาที่มีความสัมพันธ์กับจักรวาล จะต้องเป็นศาสนาที่อยู่เหนือความคิดเรื่องพระเจ้าและหลีกเลี่ยงหลักคำสอนที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์หรือความเชื่อตามหลักเทววิทยา เป็นศาสนาที่เกี่ยวเนื่องด้วยธรรมชาติกับจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประจักษ์แจ้งในธรรมชาติของสรรพสิ่ง เป็นศาสนาที่มีความเป็นเอกภาพระหว่างความคิดด้านจิตวิญญาณและธรรมชาติอย่างแท้จริง พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องด้วยคุณลักษณะเหล่านี้ครบถ้วน หากจะมีศาสนาใดในโลกที่ตอบสนองความต้องการของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ ศาสนานั้นก็คือ พุทธศาสนานั่นเอง”



ถาม
กระผมได้เคยฟังว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องทางสายกลางคำสอนนี้มีความหมายว่าอย่างไร
ตอบ
พระพุทธองค์ได้ตรัสเรียก อริยมรรคมีองค์ ๘ ไว้อีกชื่อหนึ่งคือ มัชฌิมาปฏิปทา
ซึ่งมีความหมายว่า ทางสายกลางนั่นเอง
ชื่อเรียกและความหมายนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการชี้แนะให้ผู้ปฏิบัติตามเกิดความเข้าใจว่า ไม่เพียงแค่เราจะเดินตามทางสายนี้เท่านั้น แต่จะต้องเดินตามทางสายนี้อย่างถูกต้องด้วย บางคนอาจปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาของตนอย่างเคร่งครัด ยึดมั่นในกฎเกณฑ์และหลักการจนกลายเป็นความคลั่งศาสนาไป แต่ในพุทธศาสนานั้น ชาวพุทธต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในพระศาสนาด้วยความสมดุล และมีเหตุผล ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงความเคร่งครัดหรือความหย่อนยาน
เคยมีคำพังเพยของชาวโรมันว่า “จงมีความพอดีในทุกสิ่ง” คำพังเพยนี้ก็ตรงกับคำสอนของพุทธศาสนาเช่นกัน



ถาม
กระผมเคยอ่านพบว่า ที่จริงแล้วพุทธศาสนาก็คือลัทธิหนึ่งของศาสนาฮินดู เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
ตอบ
ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน พุทธศาสนากับศาสนาฮินดูอาจมีความคล้ายคลึงกันในบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำศัพท์ที่ใช้ เช่น คำว่ากรรม สมาธิ และนิพพาน อีกทั้งศาสนาทั้งสองนี้ยังมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียเหมือนกัน ความพ้องกันในบางเรื่องเช่นนี้จึงเป็นเหตุให้บางคนเข้าใจว่าสองศาสนานี้สอนเรื่องเดียวกัน หรือเป็นศาสนาเดียวกัน แต่ถ้าเราลองพิจารณาดูให้ดีแล้วก็จะพบว่า ในความพ้องกันหรือคล้ายกันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก และในความคล้ายนั้นก็คล้ายกันอย่างผิวเผินมากในพระธรรมคำสอนเบื้องลึกแล้ว ทั้งสองศาสนาแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดมากก็คือ ศาสนาฮินดูเชื่อในเรื่องพระเจ้า แต่พุทธศาสนาไม่เชื่อเรื่องนี้ คำสอนที่สำคัญทางสังคมเรื่องหนึ่งของฮินดูคือการแบ่งวรรณะ แต่พุทธศาสนาปฏิเสธไม่ยอมรับเรื่องวรรณะ การบูชาบวงสรวงสังเวยเทพเจ้าเพื่อความบริสุทธิ์เป็นพิธีกรรมที่สำคัญของฮินดูในขณะที่พุทธศาสนาไม่มีพิธีกรรมเหล่านี้ ดังจะเห็นได้ในพระสูตรหลาย ๆ แห่งที่พระพุทธองค์ตรัสตำหนิหรือปฏิเสธคำสอนของบรรดาพราหมณ์ซึ่งเป็นนักบวชในศาสนาฮินดู แม้เหล่าพราหมณ์เองก็ปฏิเสธคำสอนของพระพุทธองค์ด้วยเช่นกัน ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ พระสูตร สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ หากศาสนาทั้งสองนี้เป็นศาสนาเดียวกัน



ถาม
แต่พระพุทธเจ้าก็เอาความคิดเรื่องกรรมจากศาสนาฮินดูไปใช้ ใช่หรือไม่
ตอบ
จริงอยู่ ศาสนาฮินดูและพุทธศาสนานั้นสอนเรื่องกรรมและการเกิดใหม่เหมือนกัน แต่คำสอนของทั้งสองศาสนาก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากคือ ขณะที่ฮินดูสอนว่า กรรม เป็นตัวกำหนดชีวิตของมนุษย์
พุทธศาสนาสอนว่า กรรม เป็นเพียงปัจจัยหรือเงื่อนไขหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
ในขณะที่ฮินดูเชื่อเรื่องการมีวิญญาณนิรันดร์ที่เรียกว่า “อาตมัน” ที่เกิดใหม่จากภพนี้ไปภพหน้า
พุทธศาสนาปฏิเสธความคิดนี้อย่างสิ้นเชิง เพราะพุทธศาสนาไม่เชื่อในการมีอยู่ของวิญญาณที่เป็นตัวตนถาวรซึ่งล่องลอยไปเกิดใหม่ หากแต่เชื่อในเรื่องของการสืบต่อของนามธรรมหรือจิตที่นำไปสู่การเกิดใหม่ในภพต่อไป

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นว่าฮินดูกับพุทธศาสนานั้นสอนต่างกันในเรื่องกรรมและการเกิดใหม่ แต่ถึงกระนั้น หากสมมุติว่าทั้งสองศาสนาจะสอนเรื่องเดียวกัน คิดและเชื่อเหมือนกัน ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงลอกเลียนความคิดของฮินดูมา เพราะบางครั้งคนสองคนอาจค้นพบความจริงในเรื่องเดียวกันหรือได้บทสรุปของการศึกษาบางเรื่องได้เหมือนๆ กันโดยที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็ได้เรื่องแบบนี้เคยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน
เช่น เรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ในปี ค.ศ. ๑๘๕๘ หลังจากที่ชาร์ลส์ ดาร์วินได้เผยแพร่ทฤษฎีที่สำคัญของท่านในหนังสือชื่อ กำเนิดสปีชี่ส์ ( The Origin ofthe Species) ก็ได้พบว่ามีนักวิทยาศาสตร์อีกผู้หนึ่งชื่อ อัลเฟรด รัสเซลวอลเลซ ก็ได้ค้นพบทฤษฎีเดียวกันนี้ ทั้งสองท่านไม่เคยรู้จักกันมาก่อนและไม่ได้ลอกเลียนความคิดของกันและกันด้วย แต่ทั้งสองท่านต่างก็ ศึกษาปรากฏการณ์เดียวกัน จึงได้บทสรุปที่เหมือนกัน
ดังนั้น แม้ว่าทั้งฮินดูและพุทธศาสนาจะสอนเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบกัน อันที่จริงแล้ว ทั้งสองศาสนาก็หาได้สอนเหมือนกัน เพียงแต่มีศัพท์ที่พ้องกันบ้าง ทั้งสองศาสนามีความรู้แจ้งโดยผ่านการเจริญสมาธิเหมือนกัน แต่นักบวชฮินดูอธิบายเรื่องกรรมและการเกิดใหม่อย่างค่อนข้างเลื่อนลอยจนกระทั่งต่อมาภายหลังเมื่อมีพุทธศาสนาอุบัติเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิบายเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดได้สมบูรณ์และถูกต้องแม่นยำกว่า



ขอขอบคุณข้อมูลจากwww.goodquestiongoodanswer.net/downloads/GQGA_Thai.pdf





คำถามคำตอบนี้ เป็นเพียงคำถามคำตอบในหมวดหมู่ ที่ ๑ พุทธศาสนาคิออะไรในสารบัญ ซึ่งมี ๑๔ หัวข้อ
สารบัญ

๑. พุทธศาสนาคืออะไร หน้าที่ ๑๑
๒. หลักคำสอนพื้นฐานในพุทธศาสนา หน้าที่ ๓๑
๓. พุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องพระเจ้า หน้าที่ ๓๙
๔. ศีล ๕ หน้าที่ ๔๗
๕. ภพชาติ หน้าที่ ๕๙
๖. กรรมฐานในพุทธศาสนา หน้าที่ ๗๓
๗. ปัญญา และ กรุณาหน้าที่ ๘๓
๘. มังสวิรัติ หน้าที่ ๘๗
๙. ความมีโชคลาภ กับโชคชะตา หน้าที่ ๙๓
๑๐. ภิกษุ และ แม่ชีหน้าที่ ๙๗
๑๑. พระไตรปิฏก หน้าที่ ๑๐๓
๑๒. ประวัติและวิวัฒนาการของพุทธศาสนา หน้าที่ ๑๑๑
๑๓. การเป็นชาวพุทธ หน้าที่ ๑๒๑
๑๔. บางบทตอนแห่งพระพุทธพจน์ หน้าที่ ๑๒๙
รายนามผู้ร่วมบริจาคเป็นเจ้าภาพ หน้าที่ ๑๔๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น