วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

สามัคคี..วิถีชาวคลอง..การลากค้อน(คำท้องถิ่น)

สามัคคี ..วิถีชาวคลอง




ก่อนจะถึงเรื่องมัศยาตัวจริงคือ บรรดาปลาทั้งหลาย พลอยโพยม อยากเล่า เรื่องราวของภูมิปัญญาไทยพื้นบ้านอีกหนึ่งเรื่อง เกี่ยวพันกับอุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ที่ไม่ได้เล่าในครั้งก่อนเพราะ อุปกรณ์นี้ ไม่มีใช้ที่บ้านในวัยเด็ก แต่ มีใช้ที่อีกบ้านหนึ่งซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ อุปกรณ์ชิ้นนี้ หาไม่พบข้อมูลในหนังสือที่เกี่ยวกับการประมงทั้งหลายที่พลอยโพยม มีอยู่ในมือ
ผู้ที่ใช้วิธีการและอุปกรณ์นี้ เรียกขบวนการนี้ว่าการ ลากค้อน






เป็นงานที่ต้องอาศัยความสามัคคีกลมเกลียวร่วมด้วยช่วยกัน จึงจะสามารถจับปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่จะเป็นผลพลอยได้ตามมา แต่วัตถุประสงค์หลัก คือต้องการจับปลาตัวโต เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลากระสง ปลาบู่ เป็นต้น หรือปลาอื่นๆ ที่ตัวโตก็แล้วกัน ในแหล่งน้ำที่เป็นลำคลอง กว้างและยาว เพื่อให้คุ้มค่ากับต้นทุนของเรี่ยวแรงบรรดานักประมงมืออาชีพ ในการลากค้อนนี้
ลากค้อนประกอบด้วย

กิ่งไม้ที่จมน้ำได้ ขนาดใหญ่ประมาณ ข้อมือของคนทั่วไป ไม่เกี่ยงว่าข้อมือของคนอ้วนหรือผอม เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้ชายหรือผู้หญิง ( เพราะใช้คำว่าประมาณกำกับแล้ว) ตัดเป็นท่อน ยาวประมาณ 1 ศอก ที่ปลายท่อนไม้ ทั้ง2 ด้าน ใช้มีด บากเป็นร่อง เพื่อใช้เชือกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณนิ้วก้อยผูก ต่อเรียงเป็นแถวๆ ( เชือกในสมัยนั้นไม่มีเชือกไนลอน )ส่วนใหญ่ เป็นเชือกที่ทำจากใยของกาบมะพร้าว ร่องที่บาก ต้องลึกพอให้ เชือก ไม่หลุดหรือเลื่อนจากร่องไม้แต่ละท่อน ระหว่างหัวไม้แต่ละท่อน เว้นช่วงห่างระหว่างฝ่ามือคน ถึง 1 คืบ เพื่อให้ท่อนไม้สามารถไหวตัวขยับท่อนไม้แต่ละท่อนได้นั่นเอง ท่อนไม้ที่ผูกกับเชือกเรียงต่อกันเป็นสายยาว ประมาณ 1 เท่าครึ่ง ของความกว้างของลำคลองที่ต้องการไปจับปลา โดยปลายสายของท่อนไม้ของท่อนสุดท้ายจะผูกด้วยเชือกยาว สำหรับให้คนใช้ลาก โดยการเอาปลายสายท่อนไม้แต่ละท่อนสุดท้ายผูกรอบเอวคนลาก และเว้นช่วงระหว่างเอวคนลาก กับปลายท่อนไม้พอประมาณว่ามีความคล่องตัวในการทำงาน เสร็จแล้วแช่น้ำไว้




การลากค้อนมักทำกันช่วงหลังจากน้ำที่เคยท่วมทุ่งลดลงหมดและเพราะบรรดาปลาในทุ่งจะคืนย้อนกลับมายังแหล่งน้ำใหญ่ ดังนั้นที่บริเวณบางกรูด ปลาจะมารวมกันอยู่ตามลำคลองหนองบัวเพื่อกลับคืนสู่แม่น้ำบางปะกง

ในการลากค้อน
ต้องใช้ความสามัคคี ของคนอย่างน้อย 4 คน คนที่หนึ่งพายเรือ และคนนี้ต้องรักษาการบนเรือตลอดรายการ คนที่สองนั่งหัวเรือ ใกล้สุ่มปลาออ คนที่สามและสี่ ลงน้ำ ลากเชือกปลายสายให้เคลื่อนที่เป็นคู่ขนานโดยแยกกันไปคนละฟากคลอง จังหวะการเดิน หรือว่ายน้ำของคนสองคนที่ลากสายท่อนไม้จะทำให้หัวท่อนไม้กระทบกัน เกิดเสียงดังใต้น้ำเหมือนเหมือนการใช้ค้อนตีตะปู และท่อนไม้เหล่านี้ก็จะถูกลากอยู่เหนือพื้นคลอง ทำให้เลนของบริเวณพื้นคลองที่ท่อนไม้ลากผ่านฟุ้งขึ้นมาทำให้น้ำขุ่น อีกทั้งสายท่อนไม้นี้นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และมีการเคลื่อนไหวเป็นสายยาว คล้ายงูใหญ่หากผ่านไปในบริเวณที่มีปลาช่อน ปลาชะโด ปลากระสง ปลาบู่ และอื่นๆ อยู่ ปลาก็จะตกใจ ด้วยธรรมชาติของปลา ปลาก็จะรีบมุดหมกโคลนของพื้นคลองเพื่อหลบซ่อนตัวให้พ้นภัย

อนึ่ง การเดินลากสายท่อนไม้นี้ ท่อนไม้ที่เรียงไว้จะมีลักษณะคล้ายท้องช้าง หรือเป็นรูปตัว U จุดกึ่งกลางที่โค้งเป็นตัว U จะมีทุ่นลอยเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งอาจเป็นลูกมะพร้าวแห้ง ผูกเชือกโยงเป็นทุ่นลอย สัญลักษณ์นี้ เพื่อเป็นจุดสังเกตของคนบนเรือ

บนเรือ ที่มีคนอยู่อีก 2 คน จะพายเรือตามคนลากค้อนในน้ำสองคนไปเรื่อยๆ เว้นระยะห่าง ประมาณ 10 เมตร คนที่อยู่หัวเรือ จะถือสุ่มปลาออหงายไว้ในลักษณะเตรียมพร้อมตลอดเวลาเมื่อปลาตกใจมุดหมกโคลน จะเกิดกลุ่มฟองอากาศ ผุดขึ้นมาเหนือผิวน้ำ คนถือสุ่มอยู่ที่หัวเรือก็ส่งเสียงบอกคนลากให้หยุดเดิน พร้อมกับชี้เป้าให้คนพายเรือหันหัวเรือเข้าไปหาบริเวณที่กลุ่มฟองอากาศผุดแล้วตัวเองก็ใช้สุ่มครอบลงไป ออกแรงกดปลายซี่สุ่มให้จมโคลน จนกระทั่งถึงดินค่อนข้างแข็ง โดยตัวคนครอบสุ่มก็อยู่ในน้ำด้วย

สุ่มที่ใช้กับการลากค้อนนี้คือสุ่มปลาออ เป็นสุ่มขนาดใหญ่ขนาดเท่าสุ่มไก่ใหญ่ แต่ปากสุ่มกว้างขนาดให้ตัวคนลอดปากสุ่มลงไปในสุ่มได้ ที่ปากสุ่มติดขอบสวิง ก้นสวิงรูดปิดเปิดได้




สุ่มไก่ใช้ตามบ้านทั่วไป สุ่มปลาออใหญ่กว่านี้ ปากกว้างกว่านี้ ปลายซี่แหลม และมีสวิงที่ปากสุ่ม


หลังจากที่ครอบสุ่มลงไปในบริเวณที่มีฟองผุดและปลายซี่สุ่มจมโคลนแน่นหนาดีแล้ว เปิดก้นสวิงแล้วดำน้ำเข้าไปในสุ่ม ควานหาตัวปลาที่หมกโคลน เจอตัวปลาและจับได้แล้ว ตัวคนโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ ส่งปลาขึ้นมา ใส่ท้องเรือหรือภาชนะที่เตรียมมาใส่ เสร็จแล้วถอนสุ่มขึ้นมาวางบนหัวเรือ พร้อมทั้งปีนกลับขึ้นมานั่งบนหัวเรือ
ในขณะ ที่ปฏิบัติการจับปลาในสุ่ม ก็เป็นช่วงพักผ่อน ของคนเดินลากค้อน และคนพายเรือ เมื่อคนจับปลา ขึ้นเรือเรียบร้อย คนลากค้อน สองคน ก็เริ่มต้นลากค้อนนี้รุดหน้าไปอีก คนพายเรือก็เริ่มต้นพายเรือตามหลังคนลากค้อน โดยทิ้งระยะห่างเท่าเดิม
วิธีการนี้ทำไปเรื่อยๆ จนได้ปลามาเป็นที่พอใจว่าคุ้มค่าแรงเหนื่อยที่ลงไปแล้ว หรือ หมดแรงผู้ร่วมก่อการนี้แล้วก็เป็นอันเลิกภารกิจลากค้อน ย้อนกลับบ้านกันได้

หากไม่มีการเคลียร์พื้นที่ก่อนอาจมี ตอไม้ กิ่งไม้ อยู่บนพื้นคลองใต้น้ำ เวลาที่ค้อนไม้สดลากผ่านตอไม้เหล่านี้ก็อาจทำให้เกิดฟองพรายน้ำผุดขึ้นมาที่ผิวน้ำ คนที่นั่งอยู่หัวเรือต้องพิจารณาให้ดี หากสุ่มสี่สุ่มห้าผลีผลามโดดครอบสุ่มลงมา จะเสียแรงเสียเวลาฟรีๆ ไม่ได้ปลาพบแต่ตอไม้ กิ่งไม้ แทนตัวปลา

ที่ดีที่สุด คือมีคนเคลียร์พื้นที่ไว้ล่วงหน้า
ปลาที่ได้จากภารกิจนี้ ส่วนใหญ่ เป็น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาบู่ เป็นต้น

คลองที่จะปฏิบัติภารกิจนี้มักเป็นคลองใหญ่มีความยาวและมักเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำอื่น เช่น เป็นที่ระบายของคลองหลอดข้างถนนใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลุมหลา
คลองหนองบัวที่อยู่ใกล้วัดบางกรูด เป็นคลองที่ทะลุเชื่อมไปยังแหล่งน้ำหลายตำบลเช่น หนองบัว ดอนทราย สิบเอ็ดศอก เป็นต้น






นอกจากนี้แล้ว

ที่หลุมหลา ตามแนวถนนจากวัดพรหมสุวรรณ (ตำบลคลองนา ) เลาะมาตำบลดอนทราย เป็นระยะทางยาว หลุมหลาเหล่านี้จะมาบรรจบกับคลองหนองบัว ที่รอยต่อระหว่าดินแดนดอนทรายกับคลองหนองบัว ในฤดูน้ำหลากบริเวณปากท่อของคันระหว่างคลองนี้ จะเป็นแหล่งที่กุ้งฝอย และปลามาอออยู่กันชุกชุมมาก จะมีชาวบ้านละแวกนั้นมักจะ เตรียมสวิงตาถี่มารอจับกุ้งฝอย หรือเตรียมแห มาทอดแบบเรียงต่อคิวทีเดียว เป็นความสามัคคีเอื้อเฟื้อแบ่งปันซึ่งกันและกัน โดยไม่เคยมีปัญหาต้องโต้เถียงวิวาทกันเลย เมื่อถึงคิวของใครก็เอาสวิงไปรอปากท่อ ประมาณเวลาว่าสมควรแล้วก็เอาสวิงออกแล้วถอยออกมาให้คนอื่นเข้าไปเอาสวิงรอบ้าง เป็นเช่นนี้แล้วแต่ว่าใครพอใจว่าได้กุ้งฝอยตามต้องการแล้ว ก็เอากุ้งฝอยกลับบ้าน ใครยังไม่จุใจก็รอคิววนต่อไปเรื่อยๆ

นี่เป็นการแบ่งปันซึ่งกันและกันของชาวบ้านแถบๆแถว ๆ รอบๆ บางกรูด ที่ฝั่งบ้านของพลอยโพยมไม่มีคลองยาวใหญ่แบบคลองหนองบัวจึงไม่มีกิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น



เคยมีการพบเห็นกิจกรรมลากค้อนในลักษณะนี้ อีกที่คลองเจ้า คลองประเวศน์บุรีรมย์ในช่วงวัดเทพราช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น