วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

ทุย...ท่อง คลองละหาน

ทุยท่อง...คลองละหาน

เห็นชื่อเรื่องแล้วคงดูแปลกกว่าทุกครั้ง เพราะมีแต่เรื่องสัตว์น้ำ แถม ทุยควรจะลุยทุ่งรวงทองมากกว่าลงมาท่องคลองละหาน
ขอแนะนำคำว่าทุย..สักเล็กน้อย

ส่วนใหญ่ ผู้คนได้ยินคำว่าทุย ก็ต้องนึกถึงควาย แต่ถ้าเป็นชาวสวน พูดคำว่าทุย บางทีก็นึกถึงควายบางทีก็นึกถึงมะพร้าว

ในพจนานุกรม แปลคำว่าทุย ดังนี้

ทุย ว.กลมรีอย่างผลมะตูม เรียกผลมะพร้าวที่เจริญเติบโตตามปรกติจนเปลือกแห้ง รูปรีๆ กะลาลีบ น้ำหนักเบาเพราะไม่มีเนื้อและน้ำว่ามะพร้าวทุย นิยมตัดครึ่งท่อนเพื่อทำกวาดวงถูบ้านเป็นต้น ; เป็นคำ เรียกควายที่มีเขาสั้นหรือหงิกว่าควายทุย
แต่พลอยโพยมว่ายังมีช่างทำผมที่นึกถึงคำว่าทุย ไปในอีกความหมาย คือคนหัวทุย ช่างใช้คำว่าทุยบ่อยๆ กับลูกค้า ว่า ลูกค้าหัวทุย ซอยผมทรงนี้แล้วสวย

แต่ทุย...ท่อง คลองละหาน คืออะไร มะพร้าวท่องคลองละหานหรือ ควาย ท่องคลองละหาน

พลอยโพยมรู้สึกเอาเองว่า หากเราจะเรียกควายด้วยความรู้สึก รัก เอ็นดู เ รามักจะเรียก ทุย แทนคำว่าควาย คำว่าไอ้ทุย กับไอ้ควาย ให้อารมณ์การเรียกและการได้ยินคนละอารมณ์กัน
ทุย ...มักใช้ในคำประพันธ์ เช่นบทเพลง
ตัวอย่างเช่น
เจ้าทุยอยู่ไหนได้ยินไหมใครมากู่ กู่ ... เรียกหาเจ้าอยู่ อยู่ ...หนใดรีบมา...
เพลงของคุณรวงทอง ทองลั่นทม เจ้าของฉายา เสียงเซาะทราย นั่นเอง
แล้วคุณ ชรินทร์ นันทนาคร ก็ มาร้องโต้ตอบ แทนตัวเอง ว่า
ทุย..ฝันร้าย อย่างโน้น ทุย..อย่างนี้ ทุย....ระกำช้ำใจเหลือเกิน ....

ลองนึกดูนะคะว่า ถ้าร้องว่า เจ้าควายอยู่ไหน ได้ยินไหมใครมากู่.กู่.. คุณรวงทอง ก็รวงทองเถอะ น้ำเสียงเซาะทรายขนาดไหน เพลงขาดอรรถรสของความไพเราะไปเลยทีเดียว
แล้วคุณชรินทร์ มาร้องตอบว่า ควาย... ฝันร้ายอย่างโน้น ควาย...อย่างนี้ คงแปลกพิลึกกึกกือแน่นอน



ดังนั้นพลอยโพยมก็จะเรียกควายว่า ทุย เช่นกัน โดยไม่คำนึงว่า เขาสั้นหรือเขายาว เขาหงิกหรือไม่หงิก
ดังนั้นเรื่องที่เขียนนี้ ไม่ใช่มะพร้าวทุย( ที่บ้านสวนก็ขัดถูบ้านด้วยมะพร้าวทุยนี่แหละค่ะ) ไม่ใช่หัวทุย แต่เป็นควายทุย


เจ้าทุยตัวนี้อายุ 4 ปี ชื่อเจ้าแสน

เมื่อสองปีก่อนถูกไถ่ชีวิตมา โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ฯ ประทานให้วัดเทพราชฯ เลี้ยงดู เจ้าแสนมองดูสง่างามทีเดียว


ทุย แม่ลูก ที่ลำพระเพลิง

ส่วนละหาน แปลว่า ห้วงน้ำ และคลอง ก็คือคลองตรงตัวไม่ต้องแปล
นอกจากกุ้ง หอย ปู ปลา จระเข้ เต่า แล้ว ยังมี เจ้าทุยอีกด้วยที่มาเที่ยวท่องลำคลอง ไม่ใช่การเดินลุยข้ามคลองจากฝั่งคลองหนึ่งไปยังอีกฝั่งคลองหนึ่ง เจ้าทุยที่นี่เดินลุยคลองตามความยาวของคลองหนองบัวในอดีต......

เรื่องที่เล่านี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอีกเรื่องหนึ่งที่พลอยโพยมชื่นชมมาก

ทั้งในด้านของภูมิปัญญา และความสามัคคี ยิ่งกว่าการลากค้อน การเอาสวิงรอกุ้งฝอย หรือทอดแห ที่ปากท่อคลอง

จากที่เคยเล่าว่ากรมชลประทานจะส่งเรือขุดที่มีเครื่องขุดเป็นเหล็ก ล่องไปมาผ่านแม่น้ำบางปะกง พร้อมขบวนแพเหล็กซึ่งมีบ้านของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน อยู่บนแพเหล็กแพละหนึ่งหลัง สำหรับขุดลอกคลองต่างๆ
ที่คลองหนองบัวดูว่ากว้างใหญ่และยาว สำหรับคลองของผู้คนทั่วๆไปแถบบางกรูด( เพราะเป็นคลองออกสู่แม่น้ำ ที่ไหลผ่าหลายตำบล) แต่หากเทียบกับคลองทั่วจังหวัด ก็กลายเป็นคลองใช้ในระดับหมู่บ้าน คลองหนองบัวจึงเป็นส่วนเกินที่กรมชลประทานจะขึ้นบัญชีที่จะมาขุดลอกคลองให้ แม้ว่า ความกว้างของคลองหนองบัวประมาณ 16 วา (หรือ 32 เมตร ) ความยาวของคลองประมาณ 2 กิโลเมตรสำหรับระยะ ที่ใช้เรียกชื่อว่าคลองหนองบัว แต่คลองนี้แตกชื่อเป็นคลองอื่นๆตามสถานที่ที่ลำคลองไหลผ่าน
และลำคลองก็จะแคบเข้าไปเรื่อยๆ ไหลผ่านไปอีกหลายตำบลจนถึงตำบลแหลมประดู่เลยทีเดียว

ธรรมดาลำคลอง หรือท้องร่องสวน จะตื้นเขินจากการตกตะกอนของสายน้ำเอง รวมทั้งดินโคลนที่ถูกน้ำชะไหลจากชายฝั่งตลิ่งของคลองและท้องร่องสวนยามฝนตก ไหลลงไปในพื้นคลอง พื้นท้องร่องสวน
การขุดลอกท้องร่องสวนเป็นเรื่องง่ายทำกันได้เองของแต่ละบ้านที่มีสวน จะทำกันเองหรือจ้างแรงงานก็แล้วแต่
แต่คลองหนองบัวที่ทั้งกว้างยาว จะทำอย่างไรดี

คนไทยมักจะเหลียวมองสิ่งของรอบๆตัวนำมาสร้างสรรค์ผลงานได้เสมอมา คนที่คลองหนองบัวก็ไม่สิ้นคนดีมีวิธีแก้ไขปัญหา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอาศัยความสามัคคี จึงเป็นอีกเรื่องราวของ สามัคคี ... วิถีชาวคลอง และภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ผู้คนที่อยู่ริมคลอง หรือใกล้เคียง มักมีนาจะโดยทำเองหรือให้เช่าก็แล้วแต่ เมื่อมีนาก็ต้องมีควาย เพราะสมัยก่อนควายกับนาถือว่าเป็นของคู่กัน ต่างมีกันและกัน ถึงขั้น เป็นของกันและกันเลยทีเดียว


ฝูงทุยที่อำเภอบางน้ำเปรียว

พ่อกำนันหนองบัวจึงมีการนัดหมายลูกบ้านริมคลองให้นำควายของทุกบ้านที่มีควาย ร่วมกันช่วยล้างคลองซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกันมาช้านาน
ซึ่งจะดำเนินการกันในช่วงน้ำหลาก และน้ำลงมากในช่วงกลางวัน โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าทั่วกัน
เมื่อถึงวันเวลานัดหมาย ชาวบ้านต่างพากันมาที่ริมคลอง นำมีด พร้า คราด เพื่อร่วมกันกำจัดวัชพืชและพรรณไม้ที่กีดขวางการคมนาคมทางน้ำ
ส่วนบ้านที่มีเจ้าทุยก็จะจูงเจ้าทุยมาลงท่องคลองหนองบัว พร้อมๆกัน เจ้าทุยก็เดินลุยล่องเลนไปตามคลอง เลนที่พื้นคลองก็จะฟุ้งกระจายขึ้นมาไหลปนไปกับกระแสน้ำตามน้ำในคลองที่ไหลออกสู่แม่น้ำบางปะกง
เลนที่บรรดาเจ้าทุยทั้งหลายของเราช่วยกันลุย เป็นการลอกคลองให้ลึกลงนั่นเอง




คำเรียกขานของวิธีการนี้ ที่คลองหนองบัว เรียกว่า การล่องควาย

การล่องควายนี้ จะทำกันอย่างน้อยปีละครั้ง ช่วงน้ำหลาก

ในบางครั้งก็นัดหมายกันเฉพาะชาวตำบลหนองบัว แต่บางครั้งก็จะนัดหมายไปยังตำบลที่เลยตำบลหนองบัว ซึ่งเป็นตำบลข้างเคียง เช่นตำบลดอนทราย ตำบลสิบเอ็ดศอก โดยลำคลองก็จะมีแยกสายเหมือนแม่น้ำ และมีชื่อเรียกใหม่ตามหมู่บ้านที่คลองผ่าน เช่นคลองสามขา คลองหนองอ้อ หรือบางทีผ่านตำบลอื่นก็เรียกชื่อตามตำบลนั้นๆ ซึ่งก็คือลำคลองสายเดียวกัน มาออกสู่แม่น้ำบางปะกงที่ตำบลท่าพลับ ( แต่เรียกคลองหนองบัว) นั่นเอง ตรงจุดที่ตั้งของปากคลองเป็นเขตตำบลท่าพลับ



จึงบางครั้งก็เป็นความสามัคคีระหว่างคนต่างตำบลที่ล้วนอาศัยสายน้ำลำคลองเดียวกัน

เขียนแล้วก็รู้สึกครึกครื้นกับการล่องควายของชาวคลองหนองบัวมากๆเลย
ตอนเจ้าทุยลงน้ำพร้อมๆกันในแต่จุด เดินไล่หลังกันไปยังปากคลอง คงเป็นภาพที่งดงามเกินพรรณา ของ เจ้าทุย...ลำคลอง..ท้องน้ำ..ทิวเขียวขจีมีระเบียบของสองฝั่งคลองหนองบัว รวมทั้งผู้คนทั้งสองฝั่งที่มาร่วมแรงร่วมใจ คงส่งเสียงเฮฮาลุ้นเจ้าทุยกันลั่นคลอง

หากเป็นการลอกคลองย่อยเช่นคลองส่วนตัวของบ้านโดยฝีมือมนุษย์
มีวิธีการคือการตักเลนในลำคลองเอาขึ้นมาโปะข้างชายตลิ่ง โดยมีคนยืนแถวหน้ากระดานตามความกว้างของคลองยืนรับส่งเลนเป็นทอดๆจากกลางคลอง (ภาชนะใส่เลน ก็มีทั้งบุ้งกี๋ กระแป๋ง กะละมัง แล้วแต่ภาชนะที่หาได้ในครัวเรือน )ขึ้นมาที่ชายฝั่งคลอง ค่อยๆกระชับพื้นที่รุดหน้าไปเรื่อยๆจนสุดคลอง และทำทีละชายฝั่งคลอง
วิธีนี้ก็ทำให้คลองลึกลง และได้เสริมชายฝั่งคลองให้สูงขึ้นอีกด้วย




ต่อมาก็มีการทำประตูน้ำกั้นน้ำในคลอง สำหรับเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้อุปโภค ทำนา
ในช่วงที่น้ำจืดก็มีการเปิดรับน้ำเข้าไป ชาวนา ก็นำน้ำไปใช้ทำนา เมื่อน้ำในทดพร่องลงก็เปิดรับน้ำเข้าไปอีก
จนน้ำในแม่น้ำบางปะกง เป็นน้ำกร่อย ก็จะปิดตายเก็บกักน้ำข้างในทดไว้จนกว่าน้ำในแม่น้ำจะจืด

การทำประตูน้ำนี้ ต้องมีการขุดดินลงไปลึกเพื่อการก่อสร้างประตูน้ำ ระหว่างนั้นก็ได้พบว่าใต้ดิน มีซาก เขากวาง กระโหลกหัวจระเข้ จมอยู่ใต้ดิน เด็กๆยุคนั้นก็เอามาเล่นกันสนุกสนาน หากหวนคิด ก็ต้องสันนิษฐานแบบชาวบ้านๆว่า บริเวณรอบๆ หรือใกล้เคียงนี้เดิมเป็นป่าแน่นอน ที่คลองหนองบัว คงเป็นหนองน้ำ ที่บรรดาสัตว์ข้างต้นใช้เป็นแหล่งน้ำ และคงมีการวิวาทจับกินเป็นอาหารของสัตว์ผู้ล่า ทิ้งซากกระดูกสัตว์ที่เป็นเหยื่อ ไว้ที่บริเวณนี้

เมื่อสร้างประตูกั้นน้ำเสร็จ ชาวคลองหนองบัว ก็มีวิธีลอกเลนแบบใหม่ไม่ต้องใช้เจ้าทุย แต่ใช้ระดับของน้ำมาเป็นตัวขับเคลื่อนเลนออกจากคลองโดยมีวิธีการดังนี้คือ

เมื่อกรมชลประทานสร้างประตูน้ำกั้นคลองเสร็จ ชาวคลองหนองบัวก็มีการใช้ประตูทดน้ำเก็บกักและระบายน้ำ ร่วมกันล้างทำความสะอาดคลองด้วย
โดยอาศัยการขึ้นลงของน้ำตามกลไกธรรมชาติให้เป็นกองกำลังร่วม แทนเจ้าทุย

ทั้งนี้ก่อนจะถึงช่วงนัดหมายล้างคลองจะเปิดประตูรับน้ำจากแม่น้ำช่วงน้ำขึ้น แล้วปิดประตูเก็บกักน้ำไว้ก่อนช่วงน้ำลง เมื่อถึงช่วงเวลานัดหมายล้างคลอง เป็นช่วงที่น้ำนอกประตูน้ำไหลลงเกือบหมดคลอง ( คือ น้ำในแม่น้ำบางปะกงเป็นช่วงน้ำลงนั่นเอง)
ระดับน้ำในประตูส่วนในคลองที่เก็บกักน้ำไว้ต่างระดับกับน้ำนอกประตูส่วนนอกมาก จึงทำการเปิดประตูน้ำออก จะก่อให้เกิดกระแสน้ำไหลแรงมากอย่างกะทันหัน ซึ่งมีแรงมากพอเพียงที่จะพัดพาเลนที่พื้นคลองไปกับกระแสน้ำได้ด้วย
ในปัจจุบันก็ไม่มีทั้งเจ้าทุย ลงลุยคลอง ไม่มีทั้งกองกำลังร่วมจากกลไกธรรมชาติ เสียแล้ว




พลอยโพยมไปถ่ายภาพประตูน้ำของคลองหนองบัวมา เห็นแล้วเศร้าใจ เนื่องจากในปัจจุบัน คนก็เลิกทำนา เอานาข้าวไปทำนากุ้งนาปลา อีกทั้งชาวบ้านก็มีน้ำประปาใช้ทุกครัวเรือน ลำคลองหนองบัวส่วนใน รกเรื้อ สกปรก น้ำเน่า ภาพของความร่วมมือร่วมใจของคนริมฝั่งคลองเป็นเพียงภาพในอดีตตามคำบอกเล่ากันมาเท่านั้น ในสมัยนั้นไม่ได้มีการบันทึกภาพเหล่านี้ไว้
และภาพของ
สามัคคี...วิถีชาวคลองหนองบัวนี้ ก็มีแต่จะเลือนลับดับสูญไปกับผู้คน......ที่ค่อยๆล่วงลาลับโลกเหมือนใบไม้ที่ค่อยๆปลิดขั้ว ปลิวร่วงทีละใบ ๆ ตามโมงยามที่เคลื่อนคล้อยไป




แม้ จะมี พุทธภาษิตว่า
อตีตํ นานุวาคเมยย , ไม่พึงหวนคะนึงถึงอดีต
และ
นปฺ ปฏิกงฺ เข อนาคตํ , ไม่พึงวิตกกังวลถึงอนาคต

แต่อดีต เป็นเครื่องบ่งชี้ วัฒนธรรม ภูมิปัญญาของคนไทยในชนบท หากไม่จดจารึก เล่าสู่กันไว้ ก็ช่างน่าเสียดาย ที่อนุชนรุ่นหลังไม่มีโอกาสรู้ว่า ปู่ย่า ตายาย พ่อ แม่ของเรา มีความเป็นอยู่ ตามวิถีไทย ที่น่าเลื่อมใสในความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความผูกพันรักใคร่ สามัคคีกลมเกลียว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปัน กันอย่างไรในกาลก่อน.



อีกทั้งพลอยโพยมเองจบการศึกษาด้านสถิติศาสตร์ วิชาที่ร่ำเรียน ล้วนแต่ต้องเก็บข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา ไปประมวลผล เป็นข้อมูล ไว้ใช้ ในการตั้งสมมติฐานสำหรับปัจจุบันและอนาคต อย่างไรเสีย ก็ควรใช้วิชาที่อุตส่าห์พากเพียรเรียนมาด้วยความยากลำบากให้เกิดประโยชน์ ถึงแม้สะดุดกับพุทธสุภาษิต ก็ต้องชั่งใจว่า อดีตที่หวนหานี้เกิดประโยชน์หรือไม่ อาจไม่มีประโยชน์สำหรับคนหมู่มาก แต่อย่างน้อยก็เป็น การบอกเล่าถึงวิถีไทยในชุมชน ที่เลือนหายไปแล้วให้ลูกหลานในชุมชนได้รับทราบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น