วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๕๙ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ๒
มีเรื่องราวของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ขอนำมาเล่าขานบางเรื่องราวดังนี้
ต้นแบบการทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย
วันหนึ่งหลานของอนาถบิณฑิกเศรษฐ๊ เล่นตุ๊กตาที่ทำจากแป้งแล้วหล่นลงแตก หลานร้องไห้ด้วยความเสียดายตุ๊กตา เพราะไม่มีตุ๊กตาจะเล่น ท่านเศรษฐีได้ปลอบโยนหลานว่า
“ไม่เป็นไร เราช่วยกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตากันเถิด”
ปรากฏว่าหลานหยุดร้องไห้ รุ่งเช้า ท่านจึงพาหลายช่วยกันทำบุญเลี้ยงพระแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตา
ข่าวการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตุ๊กตาของท่านเศรษฐี แพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วประชาชนชาวพุทธบริษัททั้งหลาย เห็นเป็นเรื่องแปลกและเป็นสิ่งที่ดีที่ควรกระทำ ดังนั้นเมื่อญาติผู้เป็นที่รักของตนตายลงก็พากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เหมือนอย่าที่ท่านเศรษฐีกระทำนั้น และถือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
การมอบหมายภารกิจกับบุตรหลาน
ตามปกติทุก ๆ วัน ภิกษุทั้งหมดผู้อยู่ในกรุงสาวัตถีจะรับนิมนต์เพื่อฉันภัตตาหารในบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี และในบ้านของนางวิสาขาดังนั้น บุคคลอื่น ๆ ผู้ประสงค์จะถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ก็ต้องมาขอโอกาสแก่ท่านทั้งสองนี้ เมื่อนิมนต์พระได้แล้วก็ต้องเชิญท่านทั้งสองนี้ไปเป็นประธานที่ปรึกษาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะท่านทั้งสองทราบดีว่าควรประกอบควรปรุงอาหารอย่างไรให้ต้องกับอัธยาศัยและวินัยของพระ ควรจัดสถานที่อย่างไรจึงจะเหมาะสม นอกจากนี้ก็เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้านเรือนที่จัดงานอีกด้วย ดังนั้นท่านทั้งสองจึงไม่ค่อยมีเวลาอยู่ปฏิบัติเลี้ยงดูพระภิกษุที่นิมนต์มาฉันที่บ้านของตน นางวิสาขาจึงได้มอบหมายภารกิจหน้าที่นี้แก่หลานสาว
ส่วนอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มอบให้แก่ลูกสาวคนโตชื่อว่า “มหาสุภัททา” นางได้ทำหน้าที่นี้อยู่ระยะหนึ่ง ได้ฟังธรรมจากพระคุณเจ้าแล้วได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ต่อมาได้แต่งงานแล้วก็ติดตามไปอยู่ในสกุลของสามี
จากนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ได้มอบหมายให้ลูกสาวคนที่สองชื่อว่า “จุฬสุภัททา”
นางก็ทำหน้าที่แทนบิดาด้วยดีโดยตลอด และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นกัน ต่อจากนั้นไม่นาน นางก็ได้แยกไปอยู่กับครอบครัวของสกุลสามี อนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงได้มอบหน้าที่ให้ลุกสาวคนเล็กชื่อว่า “สุมนาเทวี” กระทำแทนสืบมา
สุมนาเทวี ทำหน้าที่ด้วยความขยันเข้มแข็ง งานสำเร็จลงด้วยความเรียบร้อยทุกวันทั้ง ๆ ที่นางอายุยังน้อย จากการที่นางได้ทำบุญถวายภัตตาหาร พระภิกษุสงฆ์และได้ฟังธรรมเป็นประจำ นางก็ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี แต่ต่อมานางได้ล้มป่วยลงมีอาการหนัก ใคร่อยากจะพบบิดา จึงให้คนไปเชิญบิดามา
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี พอได้ทราบว่าลูกสาวป่วยหนักก็รีบมาเยี่ยมโดยเร็ว พอมาถึงได้ถามลูกสาวว่า
“แม่สุมนา เจ้าเป็นอะไร ?”
“อะไรเล่า น้องชาย ?” ลูกสาวตอบ
“เจ้าเพ้อหรือ แม่สุมนา ?” บิดาถาม
“ไม่เพ้อหรอก น้องชาย” ลูกสาวตอบ
“แม่สุมนา ถ้าอย่างนั้น เจ้ากลัวหรือ ?” บิดาถาม
“ไม่กลัวหรอก น้องชาย”
นางสุมนาเทวี พูดโต้ตอบกับบิดาได้เพียงเท่านั้นก็ถึงแก่กรรม
ท่านเศรษฐี แม้จะเป็นพระโสดาบัน ก็ไม่อาจจะกลั้นความเศร้าโศกเสียใจเพราะการจากไปของธิดาได้ เมื่อเสร็จงานศพและได้ร้องไห้น้ำตานองหน้าไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่า
“อนาถบิณฑิกะ ก็ความตายเป็นสิ่งเที่ยงแท้ของสรรพสัตว์มิใช่หรือเหตุไฉนท่านจึงร้องไห้อย่างนี้ ?”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนั้นข้าพระองค์ทราบดี แต่นางสุมนาเทวีธิดาของข้าพระองค์ เมื่อใกล้เวลาจวนจะตาย นางไม่สามารถคุมสติได้เลย นางบ่นเพ้อจนกระทั่งตาย ข้าพระองค์โทมนัสร้องไห้เพราะเหตุนี้ พระเจ้าข้า”
พร้อมทั้งได้กราบทูลถ้อยคำที่นางสุมนาเทวีเรียนตนเองว่าน้องชาย ถวายให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคได้สดับแล้วตรัสว่า
“ดูก่อนมหาเศรษฐี บุตรของท่านมิได้เพ้อหลงสติอย่างที่ท่านเข้าใจ แต่ที่นางเรียกท่านว่าน้องชายนั้น ก็เพราะท่านเป็นน้องของนางจริง ๆ นางเป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล เพราะท่านเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ธิดาของท่านเป็นพระสกทาคามี เป็นอริยบุคคลสูงกว่าท่าน และบัดนี้ นางได้ไปเกิดเสวยสุขอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตแล้ว นี่แหละคฤหบดี ธรรมดาบุคคลไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ถ้าอยู่ด้วยความไม่ประมาท ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ก็ย่อมเสวยสุขเพลินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ฟังพระพุทธดำรัสแล้วหายจากความเศร้าโศกเสียใจกลับได้รับความปีติเอิบอิ่มใจขึ้นมาแทน เมื่อควรแก่เวลาแล้วก็กราบทูลลากลับสู่เคหสถานของตน
เพราะความที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหว ฝักใฝ่ในการทำบุญให้ทาน ไม่มีผู้ใดจะเปรียบเทียบได้ พระพุทธองค์ยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสกทั้งหลาย ผู้ยินดียิ่งในการถวายทาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.84000.org/one/3/05.html
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น