วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557
สู่แดนพระพุทธองค์ ๕๖ พระนางมัลลิกา แห่งกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ
พระนางมัลลิกาเป็นราชธิดาของมัลลกษัตริย์พระองค์หนึ่งในเมืองกุสินาราแห่งแคว้นมัลละ
พระนางเป็นหญิงเบญจกัลยาณีที่มีความงามพร้อมทุกสัดส่วน คือ มีผมงาม ริมฝีปากงาม ฟันงาม ผิวพรรณงาม และวัยงาม ( นอกจากนางวิสาขาแห่งนครสาวัตถี)
เมื่อเจริญวัย พระนางมัลลิกาก็ได้สมรสกับเสนาบดีพันธุละ โอรสของมัลลกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งในเมืองกุสินาราเช่นกัน จากนั้นได้พากันอพยพไปอยู่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล เพื่อไปพึ่งบารมีพระเจ้าปเสนทิโกศลผู้เป็นพระสหายสนิท พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบว่า เสนาบดีพันธูละ พระสหายมีฝีมือในการทำสงคราม จึงโปรดแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดีบัญชาการกองทัพ
เมื่อพระพุทธองค์ ได้เสด็จมาประกาศพระศาสนา ณ แคว้นโกศล ทำให้ศาสนาได้แพร่หลายที่เมืองสาวัตถี ประชาชนพากันนับถือพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก ได้มีการสร้างวัดพระพุทธศาสนาขึ้น ๒ วัด คือ วัดเชตวันมหาวิหาร สร้างถวายโดยอนาถบิณฑิกเศรษฐี และวัดบุพพาราม สร้างถวายโดยนางวิสาขา เสนาบดีพันธุละและพระนางมัลลิกาได้มีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าและได้ นับถือพระพุทธศาสนาจากวัดทั้งสองแห่งนี้
เสนาบดีพันธุละและ พระนางมัลลิกาได้สมรสกันแล้วหลายปี แต่ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยนั้นถือว่าเคร่งครัดว่า ถ้าสตรีใดไม่มีบุตรกับสามี สตรีนั้นเป็นอัปมงคล เสนาบดีพันธุละจึงส่งพระนางมัลลิกากลับเมืองกุสินารา การส่งพระนางมัลลิกากลับนั้นเท่ากับไม่ยอมรับความเป็นภรรยาสามี
พระนางมัลลิกาจึงยอมกลับบ้านเมืองของตน ก่อนกลับให้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้าที่เชตวัน พระพุทธเจ้าตรัสถาม ทรงทราบความจริงแล้วตรัสแก่พระนางมัลลิกาว่า ไม่ต้องกลับไปบ้านหรอก กลับไปอยู่กับท่านเสนาบดีพันธุละเถิด
เสนาพันธุละได้เห็นพระนางมัลลิกากลับมา จึงถามว่า กลับมาทำไม เมื่อพระนางมัลลิกาเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังแล้ว เสนาพันธุละจึงรำพึงว่า พระพุทธเจ้าคงเห็นการณ์ไกลบางอย่าง จึงให้พระนางมัลลิกากลับ เสนาบดีพันธุละจึงรับพระนางมัลลิกาไว้เป็นชายาตามเดิม
ต่อมาไม่นานนัก พระนางมัลลิกาได้ตั้งครรภ์ เมื่อครบกำหนดแล้วคลอดบุตรแฝดเป็นชายทั้งคู่ เสนาบดีพันธุละกับพระนางมัลลิกาอยู่ร่วมกันมีบุตรชายอีก ๓๒ คน ล้วนแฝดทั้งสิ้น เมื่อทุกคนเติบโตก็ได้รับการศึกษาเล่าเรียน และได้เข้ารับราชการทหารในกองทัพ
เสนาบดีพันธุละเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นคนซื่อตรง จนได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าปเสนทิโกศลให้เป็นผู้มีหน้าที่ปราบปรามข้าราชการที่ทุจริต ซึ่งเสนาบดีพันธุละได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดี เป็นที่เคารพเชื่อถือของประชาชนทั่วไป แต่การปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามข้าราชการที่ทุจริตคดโกงนี้ได้ทำให้เสนาบดีพันธุละมีศัตรูมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการที่สูญเสียผลประโยชน์และอำนาจ จึงได้ยุยงและใส่ความว่า เสนาบดีพันธุละคิดจะแย่งอำนาจราชบัลลังก์จากพระเจ้าปเสนทิโกศล
ครั้งแรกพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงไม่เชื่อ แต่หนักๆ เข้าก็มีพระทัยหวั่นไหว ทั้งนี้เพราะได้สังเกตเห็นความนับถือของประชาชนชาวเมืองที่มีต่อเสนาบดีพันธุละ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงทรงให้คณะนายทหารวางแผนฆ่าเสนาบดีพันธุละ พร้อมกับบุตรชายทุกคนที่เป็นนายทหาร
พระนางมัลลิกาทรงทราบข่าวร้ายจากผู้ที่หวังดีที่แอบเขียนจดหมายส่งข่าวมาบอกว่า สามีและบุตรชายของนางทุกคนถูกฆ่าตาย ซึ่งในขณะนั้นพระนางมัลลิกากำลังทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน การทำบุญเลี้ยงพระในครั้งนั้น พระนางมัลลิกาได้นิมนต์พระสารีบุตรมาเป็นประธานสงฆ์ ขณะที่กำลังทำบุญเลี้ยงพระอยู่นั้น หญิงรับใช้ได้ยกถาดอาหารออกมาเพื่อจะถวายพระสารีบุตรหกล้ม ทำให้ถาดอาหารหลุดมือตกลงแตกกระจายต่อหน้าพระสารีบุตรและพระนางมัลลิกา พระสารีบุตรจึงกล่าวเป็นทำนองให้สติพระนางมัลลิกาว่า สิ่งของแตกสลายเป็นเรื่องธรรมดา มันแตกสลายไปแล้วก็ช่างเถอะ อย่าได้คิดเสียใจเลย
เมื่อพระนางมัลลิกาได้ยินพระสารีบุตรกล่าวดังนั้น ก็ได้หยิบจดหมายลับซึ่งแจ้งข่าวร้ายเกี่ยวกับการตายของสามีและลูก ๆ ของนางออกมาอ่านให้พระสารีบุตรฟัง พร้อมกับกล่าวว่า สิ่งของที่แตกสลายนี้ดิฉันทำใจได้ ไม่คิดเสียใจแต่อย่างใด แม้แต่ข่าวร้าย คือ การตายของพระสวามีและลูก ๆ ของดิฉันยังทำใจได้ไม่เสียใจเลย
เมื่อพระสารีบุตรพร้อมด้วยพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วได้กล่าวอนุโมนทาแก่พระนางมัลลิกาว่า ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ไม่มีเครื่องหมายบอกให้รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครรู้ได้ ทั้งลำบาก ทั้งอายุสั้น ซ้ำเต็มไปด้วยความทุกข์
ภายหลังทำบุญ เลี้ยงพระเสร็จแล้ว พระนางมัลลิกาได้เรียกลูกสะใภ้ทุกคนมา และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง พร้อมกับสอนลูกสะใภ้ว่า พวกเจ้าอย่าได้พยาบาทอาฆาตพระเจ้าปเสนทิโกศล ขอให้คิดว่าบิดาและสามีของพวกเจ้าต้องตายครั้งนี้ไม่มีความผิด เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ตายเพราะถูกคำยุยง เนื่องมาจากความอาฆาตริษยา ขอให้คิดว่าบิดาและสามีของพวกเจ้าตายเพราะกรรมเก่าที่เคยทำมาก่อน ขอให้พวกเจ้าทุกคนอย่าได้โกรธและอาฆาต เพราะจะเป็นเวรติดตัวต่อไปอีก ขอให้อภัยแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล
เมื่อเสนาบดีพันธุละและบุตรชายทั้งหมดถูกฆ่าตายแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ส่งหน่วยสืบราชการลับติดตามความเคลื่อนไหวของพระนางมัลลิกาทุกฝีก้าว ทรงทราบเรื่องพระนางมัลลิกาทำบุญเลี้ยงพระ และเรื่องที่พระนางมัลลิกาประชุมลูกสะใภ้ที่บ้าน เพื่อให้อภัยแก่พระองค์ พระองค์ทรงเสียพระทัยยิ่งนัก แต่ก็สายเสียแล้ว พระองค์จึงเสด็จไปที่บ้านของพระนางมัลลิกา แล้วทรงสารภาพว่าพระองค์เป็นฝ่ายผิด ขอให้พระนางมัลลิกายกโทษให้พร้อมกับพระราชทานโอกาสแก่พระนางมัลลิกาว่าต้องการอะไรขอให้บอก จะพระราชทานให้ทุกอย่าง พระนางมัลลิกาจึงฉวยโอกาสขอพระราชทานอนุญาตกกลับไปเมืองกุสินารา บ้านเดิมของตน
พระเจ้าปเสนทิโกศลจำต้องพระราชทานโดยไม่เต็มพระทัยนัก แต่เพื่อชดเชยกับเรื่องนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ทรงแต่งตั้งนายทหารผู้หนึ่งชื่อ ทีฆการายนะ ซึ่งเป็นหลานชายของเสนาบดีพันธุละขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่สืบแทนตำแหน่งของเสนาบดีพันธุละ.
พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้ได้กลับมาอยู่ที่เมืองกุสินาราด้วยความผาสุก โดยวางใจตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จมาเมืองกุสินาราและเสด็จปรินิพพานที่นั้น พระนางมัลลิกาและลูกสะใภ้ก็ได้พากันไปนมัสการพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า ด้วย พระนางมัลลิกาได้อยู่ที่เมืองกุสินาราด้วยความสุขจนสิ้นชีวิต คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง
๑.เป็นสาวิกาที่ดีของพระพุทธเจ้า ข้อนี้เห็นได้ชัดจากกรณีทีพระนางมัลลิกาถูกสามีส่งกลับบ้านเกิด เพราะไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ ก็คิดถึงพระพุทธเจ้าก่อนอื่น นี่เป็นตัวอย่างที่ดีว่า คนเรานั้นต้องมั่นคงในพระรัตนตรัย ก่อนจะทำอะไรก็ให้ “นึกถึงพระ” ก่อน แล้วโอกาสจะทำผิดพลาดย่อมมีน้อย หรือไม่มีเลย
๒ เข้าใจโลกและชีวิต พระนางมีความเข้าใจธรรมดาของโลกและชีวิตเป็นอย่างดี คือ เข้าใจว่าทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกฏธรรมชาติ เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ย่อมมีจิตปล่อยวางไม่ดีใจเกินไปเมื่อมีสุข ไม่เสียใจเกินไปเมื่อได้ทุกข์ ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อทราบว่าสามีและบุตรถูกฆ่า พระนางยังคงมีจิตใจมั่นคง ไม่แสดงอาการเศร้าโศกให้ปรากฏให้ปรากฏ
๓ เป็นผู้ที่มีความอดทน จากตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าพระนางมีขันติธรรมสูงยิ่ง เสมือนหนึ่งว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น สู้อดกลั้นความเสียใจ ยังคงปฏิบัติหน้ที่คือการเลี้ยงภัตตาหารแด่พระสงฆ์ตามปกติ
๔.เป็นผู้มีใจกว้าง มีความเมตตาสูงยิ่ง สามีและบุตรถูกฆ่าตายทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด พระนางแม้จะมีความเสียใจ เสียดาย แต่ก็ทำใจได้ ไม่ผูกอาฆาตพยาบาทผู้เป็นเหตุให้พวกเขาตาย และยังสั่งสอนให้สะใภ้ทั้ง 32 คน ไม่ให้ผูกอาฆาตพยาบาทด้วย ให้ถือว่าเป็นผลกรรมของแต่ละคนที่ทำมา นับว่าเป็นผู้มีเมตตากรุณาแท้จริง น้อยคนจะทำได้อย่างนี้
๕. เป็นภรรยาที่ดี แม้ถูกสามีส่งกลับมาตุภูมิเพราะหาว่าเป็นหมัน พระนางก็ยินดีปฏิบัติตาม ทั้งๆ ที่การที่สามีและภรรยาแต่งงานกันแล้วไม่มีบุตรนั้น ยังไม่แน่ว่าเป็นความบกพร่องของใคร อาจจะเป็นความบกพร่องของสามีก็ได้ แต่พระนางก็ยอมรับว่าตนบกพร่อง นับเป็นภรรยาที่ดีตามคติของชาวชมพูทวีปสมัยโบราณ ปัจจุบันคุณสมบัติข้อนี้ ถึงเราจะไม่นำมาใช้ทั้งหมด ก็สามารถปรับใช้ได้ในประเด็นที่ว่า เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นในครอบครัว ภรรยาหรือสามี ก็ไม่ควรโทษแต่ฝ่ายหนึ่งแต่อย่างเดียว ควรหันมาพิจารณาตนเองด้วยว่าตนเองก็อาจมีข้อบกพร่องอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://jiab007.wordpress.com
http://www.geocities.com/sak_note/manlega.htm
http://larnbuddhism.com
เรื่องราวของพระนางมัลลิกาแห่งแคว้นมัลละไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงเรื่องราวของพระนางมากนัก แต่เมื่ออ่านพบก็อดที่จะต้องนำเรื่องราวของพระนางมาเผยแพร่ไม่ได้
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น