แป๊ะลี้...เมืองนี้มีอยู่ที่ใด
โรงเจวัดโสธร
เมือง "แป๊ะลี้" ที่ถูกกล่าวถึงในจดหมายเหตุของจีนในราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นบทความของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้กล่าวถึงเจิ้งเหอ ศาลซำปอกง และเมืองแป๊ะลี้ ของชาวจีนในยุคสมัยนั้น ทำให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนทร คัยนันท์ นำมาวิเคราะห์ว่า แป๊ะลี้ ..เมืองร้อยลี้... น่าจะหมายถึงเมืองแปดริ้ว คำว่า แปดริ้ว เป็นการเรียกเพี้ยนสำเนียงจีนมาจากคำว่า "แป๊ะลี้
โรงเจวัดโสธร
ในสมัยราชวงศ์หมิง การทอผ้าไหมและการผลิตเครื่องเคลือบดินเผามีความก้าวหน้ารุ่งเรือง การทำเหมืองเหล็ก การหล่อเครื่องทองเหลือง การผลิตกระดาษ การต่อเรือ ก็มีการพัฒนาอย่างมาก การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมระหว่างประเทศมีบ่อยครั้ง "เจิ้งเหอ"ซึ่งชาวไทยเรียกกันว่า"ซำปอกง"ได้นำกองเรือจีนมาเยือนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการสำรวจทางทะเลอย่างกว้างขวางของประเทศจีนในยุคราชวงศ์หมิงในตอนต้น โดยมีการเดินทางทางทะเลรวมถึง 7 ครั้ง
ด้วยกองทัพเรือที่ทั้งมหึมาและทั้งมโหฬารพรั่งพร้อมเพื่อปฎิบัติงานทั้งการบุ๋นและการบู๊ ( เพื่อการทูตสันถวไมตรี และพร้อมทำสงครามได้ทันที ) ในการท่องท้องทะเลและสมุทรยาตราของมหาขันที เจิ้งเหอ อันเนื่องจากพระประสงค์หลายประการดังที่กล่าวไว้แล้วของจักรพรรดิหย่งเล่อ หมิงเฉิงจู่
(ซำปอกงเป็นคำเรียกขานเฉพาะตัวของเจิ้งเหอ มิใช่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น)
โรงเจวัดโสธร
ประเด็นที่น่าสนใจว่าเพื่อบุกเบิกกิจการค้า สืบสานเส้นทางสายไหมทางทะเล ค้าขายแลกเปลี่ยน แพรไหม ผ้าปักอันงดงาม เครื่องเคลือบกังไส ใบชา เครื่องทอง สัมฤทธิ์ และน้ำมันพืชสมุนไพรต่างๆ จากประเทศจีน สู่ชาวโลกในยุคจักรวรรดิต้าหมิง
เส้นทางสายไหมทางทะเลที่ยิ่งใหญ่อลังการณ์ กว่ากองคาราวานใด ๆ ในทางบก และยิ่งกว่ายุคใด ๆ
มีความเป็นไปได้ที่เจิ้งเหอ จะมาเยือนลุ่มน้ำบางปะกง ได้สร้างศาลซำปอกงที่เมืองแปดริ้วในอดีตกาล เนื่องจากที่ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีเป็นเมืองโบราณและชุมชนใหญ่มาก่อน เป็นที่รู้จักกันดีแม้แต่สมัยขอมเรืองอำนาจ การจะไปโคกปีบต้องผ่านแปดริ้ว และบริเวณที่ตั้งศาลซำปอกงที่แปดริ้วเองนั้น ก็เป็นชุมชนใหญ่ของคนจีนโบราณของแปดริ้วด้วย อาจเป็นไปได้ว่า เจิ้งเหอ ลงเรือเล็กเข้ามาสำรวจลุ่มน้ำบางปะกง และเกิดเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลที่แยกผ่านเข้ามาในลุ่มน้ำบางปะกง เจิ้งเหอได้ทิ้งร่องรอยของเส้นทางสายไหมเส้นทางนี้ ให้ชาวจีนรุ่นหลัง ๆ ได้ตามเข้ามาค้าขาย หรืออพยพเข้ามาตั้งถื่นฐานอยู่ที่เมืองแปดริ้วตามสองริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง (แม่น้ำบางปะกงไหลผ่านเมืองนครนายกเมืองปราจีนบุรีเมืองฉะเชิงเทราและไหลออกอ่าวไทยที่เมืองฉะเชิงเทรา)
ท้องน้ำปากอ่าวบางปะกงอาจเคยมีขบวนสมุทรยาตรา เป็นเรือสำเภาใหญ่เล็กหลายร้อยลำ ทอดสมอลอยเด่นเป็นที่ละลานตามาแล้วในครั้งนั้น
โรงเจวัดโสธร
ฉะเชิงเทรา ที่น่าจะเป็นเมือง "แป๊ะลี้" ของชาวต้าหมิง เป็นเมืองที่คนหลายเชื้อชาติเข้ามาอาศัยอยู่ ซึ่งล้วนแต่มีเหตุปัจจัย ของแต่ละชนชาติที่ได้เข้ามาอยู่กัน ทั้งกลุ่มชาวลาว กลุ่มชาวเขมร กลุ่มชาวมอญ กลุ่มชาวมุสลิม และกลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มชาวจีน
กล่าวได้ว่าชาวจีนเป็นชนกลุ่มใหญ่ ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองฉะเชิงเทรา
ปัจจัยที่ทำให้ชาวจีนอพยพถิ่นฐานมาที่เมืองไทยและเดินทางต่อมายังเมืองฉะเชิงเทราคือ
1.อพยพตามญาติ คนร่วมแซ่ และร่วมภูมิลำเนาเดียวกันโดยการชักชวนกันจากเครือญาติ เพื่อให้เข้ามาทำงาน และการที่ผู้หญิงเข้ามาเพื่อติดตามมาอยู่กับสามีที่ได้เดินทางเข้ามาอยู่ก่อนแล้ว
ปัจจัยนี้จะพบเห็นได้ชัดเจนจากนวนิยาย ซึ่งนำมาถ่ายทอดเป็นละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ที่สามีเข้ามาทำมาหากินจนเจริญรุ่งเรืองก็มักจะรับภรรยาและบุตรจากเมืองจีนตามมาภายหลัง บางทีถ้าร่ำรวยมากก็จะมีภรรยาไทยและมีบุตรในเมืองไทย ทำให้เกิดมีคุุณนายใหญ่ คุณนายรอง คุณนายสาม สี่ และห้า คุณชายใหญ่ คุณชายรอง และมีเรื่องวุ่นวายกับทรัพย์สมบัติ มีนวนิยายแนวนี้หลายเรื่องหลายนักประพันธ์ซึ่งมักเป็นการหยิบยกแบบอย่างเรื่ีองราว มาจากคนจีนที่เข้ามาประสบผลสำเร็จมีธุรกิจใหญ่โตในเมืองไทย
2.อพยพตามคำชักชวนของผู้ที่เคยเดินทางมาก่อน
3. มาเพื่อขายแรงงานของตนเองให้กับผู้ออกค่าเดินทาง
คนจีนเหล่านี้เมื่อเดินทางมาแล้วมักมาพักอาศัย อยู่กับญาติ คนร่วมแซ่ หรือเถ้าแก่ในย่านชุมชนคนจีน
โรงเจวัดโสธร
ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพมาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองไทยกันเป็นจำนวนมากและได้รับการยกย่องให้เป็น " จีนหลวง " เนื่องจากพระองค์สืบเชื้อสายมาจากจีนแต้จิ๋ว ทรงสนับสนุนให้ชาวจีนแต้จิ๋ว อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทย รวมทั้งบริเวณเมืองฉะเชิงเทรา เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงธนบุรี และการเดินทางสะดวก
จากการวิจัยของ สกินเนอร์ จี วิลเลียม กล่าวว่าชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในสยาม ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ ที่ 19 มักจะอยู่ในเขตชายฝั่งทะเล และบริเวณที่ลุ่มแถบแม่น้ำใหญ่ ๆ มีการตั้งหลักแหล่งชาวจีน ในทุก ๆ เมืองรวมทั้งเมืองฉะเชิงเทราด้วย หลักแหล่งของชาวจีนตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำบางปะกง เรื่อยมาจนถึงปราจีนบุรี...
เส้นทางการอพยพเข้ามาในเมืองฉะเชิงเทราของคนจีน มักเป็นคนจีนที่เดินทางมาจากประเทศจีนโดยทางเรือ ผ่านมาทางทะเลจีนแล่นเข้าสู่อ่าวไทย ชาวจีนเหล่านี้อาจจะขึ้นเมืองท่าที่จันทบุรี หรือเมืองท่ากรุงเทพ ฯ แล้วเดินทางต่อมาฉะเชิงเทราทางเรือ โดยใช้เส้นทางแม่น้ำบางปะกงและคลองสาขาต่าง ๆ ในตอนแรกจะอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำแล้วค่อย ๆ ขยายเข้าไปในดินแดนตอนในของเมืองฉะเชิงเทรา
ตระกูลภาษาของชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทรามีลักษณะแตกต่างกันแต่ละตระกูลตามถิ่นที่อยู่อาศัย คือ จีนแต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง ฮกเกี่้ยน จีนแคระ และพวกอื่น ๆ ที่มาจากไต้หวัน เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนน้อย
วัดซำปอกงฉะเชิงเทรา
การอาศัยตามบริเวณริมฝั้งน้ำบางปะกงในเขตตัวเมือง โดยอาศัยในเรือนแพ เป็นหมู่บ้านริมฝั่งน้ำ ในเวลาต่อมาบริเวณดังกล่าว พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เป็นย่านการค้า ตลาด มีศาลเจ้าและโรงเจ ได้แก่บริเวณต่อไปนี้
ที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ได้แก่ ชุมชนโสธร ชุมชนคลองบางพระ หน้าเมือง บ้านใหม่ ท่าไข่ บ้านจุกเฉอ บางขวัญ บางตีนเป็ด
ที่อำเภอบางคล้า ได้แก่ตำบลบางคล้า บริเวณชุมชนปากน้ำเจ้าโล้ หรือชุมชนวัดปากน้ำ ชุมชนตลาดล่าง ชุมชนตลาดบน ชุมชนตลาดวัดแจ้ง สาวชะโงก ชุมชนบ้านหมู่
อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ได้แก่ชุมชนตลาดเก่าบางน้ำเปรี้ยว ชุมชนบางขนาก หมอนทอง
อำเภอพนมสารคาม ได้แก่บริเวณชุมชนตลาดท่าเกวียน เกาะขนุน
อำเภอบ้านโพธิ์ ได้แก่ตำบลบ้านโพธิ์ บางกรูด ท่าพลับ เทพราช สนามจันทร์
อำเภอบางปะกง ได้แก่ตำบลบางปะกง ท่าสะอ้าน
ป้ายทางเข้าโรงเจโรงสีกลาง
ต่อมาชุมชนชาวจีนเหล่านี้เป็นชุมชนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการพาณิชยกรรม เกษตรกรรม อุตสาหกรรมของเมืองฉะเชิงเทรา
คนจีนเหล่านี้มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพ มีนิสัยมัธยัสถ์อดทน สามารถสร้างฐานะได้รวดเร็ว มักเขยิบฐานะเป็นเจ้าของร้านค้า กิจการโรงสี โรงงานผลิตน้ำตาลจากอ้อย เจ้าของกิจการอื่น ๆ
ชาวจีน ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในฉะเชิงเทรา เป็นจำนวนมาก ในรุ่นต่อ ๆ มา มักเข้ามาเพื่อ ทำสวน ทำไร่อ้อย และตั้งโรงหีบอ้อยสำหรับทำน้ำตาล ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งนี้ ยังมีกิจการโรงสีข้าว ซึ่งในระยะแรกๆ เรียกว่า โรงสีมือ ซึ่งนอกจากสำหรับบริโภคภายในประเทศแล้วได้เริ่มมีการส่งออกไปนอกประเทศ กิจการโรงสีข้าวส่วนใหญ่มักดำเนินการโดยชาวจีน ต่อมากิจการโรงสีข้าวมีการขยายตัวมากขึ้น
ด้านหลังโรงเจโรงสีกลาง
ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีขุนนางเข้ามาสร้างโรงสีข้าวแบบเครื่องจักรไอน้ำ ขนาดใหญ่ โรงสีข้าวแบบนี้เรียกกันว่า "โรงสีกลไฟ" หรือ "กลไฟสีข้าว" ถึง 3 โรง เกิดเป็น โรงสีบน โรงสีกลาง โรงสีล่าง ที่ตำบลท่าพลับซึ่งอยู่ตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำกับตำบลบางกรูด ในรัศมีระยะทางห่างกันระหว่างโรงสีบนและโรงสีล่างประมาณ 6 กิโลเมตร ที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง และต่อมาได้เกิดชุมชนคนจีน ที่ตลาดโรงสีล่าง ชุมชนประตูน้ำท่าถั่วขึ้นตามมา
ชาวจีนก็ยิ่งหลั่งไหลกันเข้ามาเป็นคนงานมากขึ้น แต่ละโรงสี มีคนงานชาวจีน ที่เรียกกันว่า จับกัง เป็น ร้อย ๆ คน
(ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย และปริญญานิพนธ์ของ อังคณา แสงสว่าง )
ป้ายเข้าโรงเจโรงสีล่าง
ตามริมฝั่งบางปะกงไล่จากอำเภอบางปะกง ขึ้นไปทางตัวจังหวัด จะมีโรงเจ หลายแห่งด้วยกัน แต่ในปัจจุบันเนื่องจากเป็นการสัญจรทางบก มีการตัดถนนเข้าสู่ด้านหลังโรงเจเหล่านั้น โรงเจที่ค่อนข้างใหญ่ก็คือโรงที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร รวมทั้งศาลเจ้าริมน้ำก็มีหลายแห่ง
มีคุณย่าของเพื่อนภายหลังใช้ ชื่อไทยว่า ย่าลอย แซ่ลิ้ม เป็นคนจีนที่เข้ามาอยู่ตำบลบางกรูด ด้วยการเดินเท้ามาจากเมืองจีน ( ซึ่งไม่ทราบว่าท่านมาจากเมืองอะไร ในประเทศจีน ) ท่านไม่ได้มาทางเรือ เข้าใจกันว่า ย่าลอย ท่านนี้น่าจะเดินเท้าจากแผ่นดินจีน เข้ามาทางเวียตนาม ไม่มีใครรู้ว่าใช้เวลานานเท่าใด และผ่านเส้นทางใดมา เมื่อคราวมีงานสังสรรค์ เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียน รุ่น พ.ศ. 2512 เจอเพื่อนคนนี้ ถามเรื่องย่าลอย เพื่อนบอกว่า เขาก็ไม่เคยถามย่าลอยไว้เลยไม่รู้อะไรเลย แสดงว่าย่าลอยท่านนี้ ไม่เป็นคนช่างพูดช่างเล่า ลูกหลานเลยไม่รู้เรื่องราวความเป็นมา รู้เท่าชาวบ้านคนอื่น ๆ แค่ว่า ย่าลอยเดินทางด้วยเท้าของตัวเองมาจากแผ่นดินจีน เท่านั้นเอง และลูกหลานก็ไม่เป็นคนช่างซักถาม น่าเสียดายมากจริง ๆ
ย่าลอย เป็นตัวอย่างที่ผู้คนรุ่นผู้ใหญ่ ๆ ยกย่อง ในความ อดทน พากเพียรพยายาม ในการบรรลุวัตถุประสงค์ ที่ตั้งไว้ ให้สำเร็จ สัมฤทธ์ผล
ภาพจากอินเทอร์เนท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น