วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] เจิ้งเหอ....เจ้าแห่งท้องทะเล

เจิ้งเหอ....เจ้าแห่งท้องทะเล



ขบวนเรือของเจิ้งเหอ

เมื่อติดตามเรื่องราวของเจิ้งเหอ ก็น่าประหลาดใจว่าเจิ้งเหอช่างเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ที่เลิศล้ำ ดูเก่งกาจสมกับที่มีการกล่าวว่าเจิ้งเหอเก่งทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่าบบู๊ เวลาจินตนาการกองเรือของเจื้งเหอลองนึกภาพของสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ

(ภูมิหลังของโจโฉ ก็เกี่ยวข้องกับขันที คือโจโฉเป็นบุตรบุญธรรมของมหาขันทีในวังหลวง ว่ากันว่า โจโฉฉลาดปราดเปรื่องในราชสำนักราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีชิวิตอยู่ในข่วง พ.ศ. 698 - พ.ศ. 763 โจโฉมีกองทัพเรือที่เกรียงไกรจำนวนมาก)

การเดินทางของเจิ้งเหอ ในเวลานั้นได้แสดงถึงแสนยานุภาพทางทะเลของจีนที่ได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งในด้านวิทยาการด้านการเดินเรือ การทูต การทหาร ตลอดจนการค้าทางทะเล

ขบวนเรือของจีนยุคราชวงศ์หมิงภายใต้แม่ทัพใหญ่หรือผู้บัญชาการกองเรือผู้ทรงพรสวรรค์ เจิ้งเหอ

ขบวนเรืออันเกรียงไกรของเจิ้งเหอ แม้จะไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยในการติดต่อสื่อสาร ในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ เจิ้งเหอสามารถนำพากองเรือฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร

ขบวนเรือที่มีเจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการสูงสุดนี้ จัดรูปแบบตามกองเรือรบ มีขนาดใหญ่โตมโหฬารในสมัยนั้น กล่าวได้ว่า เป็นการแสดงแสนยานุภาพทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคหรือของโลกทีเดียว กล่าวคือ ทั้งขบวนเรือ (อาทิ เรือ ข้าวของเครื่องใช้ อาวุธยุทโธปกรณ์) บุคคลากรและการจัดการ อีกทั้งวิทยาการของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ยังถือเป็นวิทยาการระดับแนวหน้าของแผ่นดินในยุคนั้นอีกด้วย

จากบันทึกการเดินทางของเจิ้งเหอและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่รวบรวมได้ พบว่าขบวนเรือของเจิ้งเหออย่างน้อยประกอบด้วยเรือ 7 ชนิด ได้แก่ เรือมหาสมบัติหรือเรือใหญ่ เรือบรรทุกม้า เรือรบ เรือกำลังพล เรือเสบียง เรือบรรทุกน้ำ เป็นต้น

เรือมหาสมบัติ
หรือเรือใหญ่เป็นเรือบัญชาการ และใช้บรรทุกทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เรือบรรทุกม้า เป็นเรือสำรองยามฉุกเฉิน บรรทุกเครื่องบรรณาการและสินค้าจากนานาประเทศ สามารถใช้ในการรบเมื่อถึงคราวจำเป็น เรือรบ ใช้ในการรักษาความปลอดภัยของขบวนเรือ มีขนาดเล็กเพรียว มีความคล่องตัวสูง ประกอบด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ (อาวุธปืนไฟของจีน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง) และทหารประจำการณ์ เรือกำลังพล เป็นหน่วยป้องกันการปล้นสะดมหรือโจมตีโดยโจรสลัด พร้อมสำหรับการต่อสู้แบบสะเทินน้ำสะเทินบก เรือเสบียง และ เรือน้ำ บรรทุกเสบียงอาหารและน้ำจืด ซึ่งการเดินเรือในสมัยนั้น ยังไม่เคยมีการจัดเตรียมเรือน้ำเป็นการเฉพาะมาก่อน



ลูกเรือ
การเดินทางแต่ละครั้งของเจิ้งเหอ ใช้เรือมากกว่า 200 ลำ มีลูกเรือที่ร่วมเดินทางในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 27,000 คน ประกอบด้วยผู้ที่ทำหน้าที่ด้านต่างๆมากมาย อาทิ ขุนนาง ทหาร เจ้าหน้าที่พิธีทางการทูต พ่อค้า ช่างฝีมือ แพทย์ ล่าม นักสอนในศาสนาอิสลาม และพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นต้น มีการจัดแบ่งกองกำลังออกเป็น 5 หน่วย หน่วยละ 5,000 – 5,500 คน ตามหน้าที่ภารกิจในกองเรือ ได้แก่ กองบัญชาการ กองปฏิบัติการเดินเรือ กองการค้าและการระหว่างประเทศ กองเสบียง และกองกำลังป้องกัน

กองบัญชาการ รับหน้าที่ในการวางแผนและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ตลอดจนนโยบายด้านการทูต การค้าและการศึกสงครามทั้งหมด นำโดยเจิ้งเหอ กองปฏิบัติการเดินเรือ มีหน้าที่ในการเดินเรือ ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย การพยากรณ์อากาศ เป็นต้น กองการค้าและการทูต ดูแลด้านพิธีการการทูต ล่าม และการติดต่อค้าขายกับต่างแดน กองเสบียง จัดการสนับสนุนด้านเสบียง ยุทโธปกรณ์และอำนวยความสะดวกทั่วไป รวมถึงหน่วยแพทย์ที่คอยดูแลสุขภาพให้กับลูกเรือ เป็นต้น ส่วนกองกำลังป้องกันทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยทั่วไปของขบวนเรือ

การบัญชาการในกองเรือและขบวนลูกเรือ

ในกองเรือนอกจากมีมหาขันทีเจิ้งเหอผู้เป็นผู้บัญชาการกองเรือแล้ว มีขันทีอีก 7 คนเป็นตัวแทนของพระจักรพรรดิและเป็นคณะทูตของประเทศ ขันที 10 คนเป็นผู้ช่วยฑูต และขันทีอีก 52 คนทำงานด้านอื่น การบัญชาการทัพเรือยังมีนายพลเรือ 2 นาย ดูแลกองเรือทั้งหมด มีผู้บังคับกองพล 93 นาย ผู้บังคับกองพัน 104 นาย และผู้บังคับกองร้อย 103 นาย

กัปตันเรือแต่ละลำได้รับการแต่งตั้งจากพระจักรพรรดิและมีอำนาจที่จะ สั่งเป็นสั่งตายได้ เพื่อความเป็นระเบียบของกองเรือ นอกจากนี้ในกองเรือยังมีเลขานุการ 2 คนเป็นผู้ดูแลด้านเอกสาร เลขานุการอาวุโสคนหนึ่งมาจากกรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นกรมที่ต้องจัดหาข้าวสารและฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับกองเรือ มีเจ้าหน้าที่จากกรมการศาสนา 2 คนมาดูแลด้านพิธีการทูต มีโหร 1 คนสำหรับทำนายและพยากรณ์ดินฟ้าอากาศ ดูปฏิทินและอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อีก 10 คน ผู้รู้หนังสือต่างประเทศ มาเป็นล่ามบนเรือ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีล่ามภาษาอาหรับ และผู้ที่รู้ภาษาเอเชียกลาง (เตอร์ก - เปอร์เซีย)รวมอยู่ด้วย

กองเรือมีหมอและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ 180 คนเพื่อเก็บรวมรวบสมุนไพรจากต่างแดน มีสัดส่วนเจ้าหน้าที่การแพทย์ 1 คนต่อลูกเรือ 150 คน นอกจากนี้ยังมีช่างฝีมือด้านต่างๆ ไว้ซ่อมแซมเรือหากมีปัญหากลางทะเล ลูกเรือทุกคนตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงสูงสุด จะได้รับรางวัลเป็นเงินทอง และเสื้อผ้าจากพระจักรพรรดิเมื่อเดินทางกลับถึงเมืองจีน พวกเขาและครอบครัวจะได้รับรางวัลเป็นพิเศษ หากเสียชีวิตลงหรือบาดเจ็บระหว่างการเดินทาง



การสื่อสารในกองเรือ

การสื่อสารในท้องทะเลระหว่างเรือลำต่างๆ ของกองเรือมหาสมบัติทำได้ด้วยระบบเสียงและแสงที่ประณีตมาก เรือทุกลำจะมีธงใหญ่หนึ่งผืน ระฆังเตือนสัญญาณ ธงสีต่างๆ 5 ผืน กลองใหญ่ 1 ลูก ฆ้องหลายลูก และโคมไฟ 10 อัน สัญญาณเสียงใช้เพื่อออกคำสั่งบนเรือ ใช้กลองในการเตือนเรือลำอื่นๆ สำหรับหลบภัยจากพายุ ใช้โคมไฟเป็นสัญญาณยามค่ำคืนหรือยามอากาศขมุกขมัว ใช้นกพิราบสำหรับการสื่อสารทางไกล เรือแต่ละลำจะปักธงสัญญาณสีต่างๆ กันเพื่อแยกความแตกต่าง และธงดำที่มีตัวอักษรขาวจะบ่งบอกว่าเรือลำนั้นอยู่ในกองใด หมวดใด

เมื่อเทียบกับกองเรือจากตะวันตกที่ออกสำรวจโลกทางทะเลในภายหลัง นำโดย คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส(Christopher Columbus) ค้นพบทวีปอเมริกาในปี 1492 มีจำนวนลูกเรือเพียง 90 – 1,500 คน วาสโก ดา กามา(Vasco da Gama) เข้าเทียบฝั่งเมืองท่าคาลิคัทของอินเดีย ในปี ค.ศ.1498 มีลูกเรือ 265 คน และเฟอร์ดินัน แมคแจลลัน(Ferdinand Magallen) ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังโลกตะวันออกในปี ค.ศ. 1521 ด้วยลูกเรือจำนวน 170 คนเท่านั้น

ในเวลานั้น กองเรือของเจิ้งเหอที่มีเพียงเรือไม้ อาศัยคลื่นลมทะเลตามธรรมชาติ ออกสู่ท้องทะเลกว้าง ไม่เพียงต้องอาศัยวิทยาการทางด้านการเดินเรือ การต่อเรือ ประสบการณ์ ภูมิความรู้สติปัญญา และยังต้องมีความกล้าหาญและจิตใจที่รักการผจญภัยอย่างมากทีเดียว
วิทยาการที่ใช้ในการเดินเรือในยุคนั้น ที่สำคัญได้แก่ ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ในการคำนวณหาตำแหน่งดวงดาวบนท้องฟ้า ที่ตั้งของกองเรือและกำหนดทิศทางการเดินเรือ ความรู้เกี่ยวกับท้องทะเล เพื่อช่วยในการพยากรณ์ลมฟ้าอากาศ ผสมผสานกับการใช้เครื่องมือต่างๆ อาทิ เข็มทิศ มาตรวัด เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีโทรคมนาคมและเครื่องไม้เครื่องมือเช่นในยุคปัจจุบัน บนท้องทะเลอันกว้างใหญ่ ด้วยจำนวนคนและกองเรือขนาดมโหฬารนี้ พวกเขาสามารถฟันฝ่าคลื่นลมพายุกลับมาโดยปลอดภัยทุกครั้งได้อย่างไร คำตอบอยู่ที่ภูมิปัญญาในการจัดระเบียบการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือแต่ละลำ ซึ่งมีเพียง เรือเร็ว สัญญาณจากธง เสียงและแสง เป็นต้น โดยในเวลากลางวัน เรือแต่ละลำจะแขวนธงสัญญาณสีสันต่างกัน เพื่อบ่งบอกทิศทางและภารกิจของตน ขณะที่ยามค่ำคืนก็ใช้สัญญาณจากโคมไฟ เมื่อมีลมฝนหรือหมอกหนา คอยบดบังทัศนะวิสัย ก็ใช้การเคาะเกราะ สัญญาณระฆัง หรือสัญญาณจากแตรสังข์ ฯลฯ การบัญชากองเรือในรูปแบบของการจัดทัพนี้ ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของความสำเร็จในการเดินทางไกลของเจิ้งเหอ

อนึ่ง ภาพแผนที่การเดินเรือของเจิ้งเหอ ปัจจุบันถือเป็นแผนที่การเดินเรือที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จัดทำขึ้นในราวปีค.ศ. 1425 – 1430 ภายหลังการเดินทางครั้งที่ 6 ของเจิ้งเหอ (เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว จักรพรรดิหมิงเซวียนจงมีดำริที่จะรื้อฟื้นกองเรือให้ออกเดินทางอีกครั้งหลังจากต้องชะงักงันไปในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้มีการรวบรวมจัดทำแผนที่การเดินทางที่ผ่านมาขึ้น) ต้นฉบับเดิมเป็นม้วนภาพยาว ภายหลังได้มีการจัดพิมพ์เป็นเล่ม โดยแบ่งเป็น 20 แผ่น 40 หน้ากระดาษ จดบันทึกรายชื่อเมืองท่าชายฝั่งทะเลไว้กว่า 300 แห่ง แผนที่ดังกล่าวแสดงจุดเริ่มการเดินทางตั้งแต่เมืองหนันจิง จนกระทั่งถึงปลายทางที่เมืองมอมบาซา เมืองชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา แผนที่แสดงตำแหน่งของเมือง กระแสน้ำในแต่ละฤดูกาลทิศทางตำแหน่งดวงดาว สภาพเกาะแก่งและร่องน้ำในการเดินทางไว้อย่างชัดเจน

(มีภาพวาดเจิ้งเหอปราบโจรสลัดบริเวณช่องแคบมะละกา)



เจิ้งเหอออกเดินทางท่องสมุทรรวม 7 ครั้ง ระหว่างปี (ค.ศ.1405-1433)
ในการเดินทางครั้งที่หนึ่งสองและสาม การเดินทางของเจิ้งเหออยู่ในแถบเอเชียอาคเนย์ และเอเชียใต้ โดยมีจุดหมายเพื่อสร้างไมตรีอันดีและคลี่คลายปมปัญหาความขัดแย้งของดินแดนแถบนี้

การเดินทางครั้งที่สี่ ห้า หก และเจ็ด ได้มีการขยายขอบเขตการเดินทางออกไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ทะเลแดง และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา โดยมีเป้าหมายสำคัญนอกจากสร้างสันถวไมตรีทางการทูต ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้า

การเดินทางครั้งที่สี่ ถือเป็นการเดินทางครั้งสำคัญของเจิ้งเหอ เพราะนอกจากจะบุกเบิกเส้นทางการค้าใหม่ ขยายขอบเขตการเดินทางสู่คาบสมุทรอาระเบียและเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาได้เป็นผลสำเร็จแล้ว เจิ้งเหอยังนำคณะทูตจากดินแดนอันไกลโพ้นจากหลายประเทศ ติดตามกลับมาเพื่อเยี่ยมเยือนจีนเป็นครั้งแรกอีกด้วย และหนึ่งใน “ของขวัญ” ที่พวกเขานำมาถวายให้กับจักรพรรดิจีน ก็คือ “กิเลน” (ยีราฟ) ซึ่งถือเป็นสัตว์มงคลในเทพตำนานของจีน ดังนั้นจึงมี ‘ผลตอบรับ’จากราชสำนักในเวลานั้นไม่น้อย




ในปี ค.ศ.1425 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่สวรรคต* จักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า หมิงเหยินจง( จักรพรรดิหงซี) ราชสำนักมีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายขันทีให้การสนับสนุนการเดินทางของเจิ้งเหอ ขณะที่ฝ่ายขุนนางฝ่ายอนุรักษ์นิยมนำโดยเซี่ยหยวนจี๋ เห็นว่าการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากต่างประเทศ เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและไร้ประโยชน์ จักรพรรดิองค์ใหม่ให้การสนับสนุนฝ่ายขุนนางจึงสั่งระงับการเดินทางของขบวนเรือ รวมทั้งการเตรียมการทั้งหมด ** จิ้งเหอได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาเมืองหนันจิง แต่หมิงเหยินจงครองราชย์ได้ไม่ถึงปี ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลง หมิงเซวียนจง เป็นจักรพรรดิองค์ถัดมา (จักรพรรดิซวนเต๋อ)

มีหมายเหตุว่า

*ปลายรัชสมัยหมิงเฉิงจู่ ทรงย้ายเมืองหลวงไปยังปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นไม่นาน พระราชวังต้องห้ามก็เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ กล่าวกันว่า เป็นเหตุให้การเดินทางครั้งที่หกของเจิ้งเหอต้องล้มเลิกแต่กลางครัน ทั้งส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงภายในราชสำนัก ในการนำกองเรือสู่ท้องทะเลอีกครั้งหนึ่ง

**ได้มีข้อสันนิษฐานว่า ข้อมูลการเดินเรือ และบันทึกการเดินทางส่วนใหญ่ของเจิ้งเหอได้ถูกทำลายลงในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีการรื้อฟื้นการเดินทางขึ้นอีก เป็นเหตุให้หลักฐานและข้อมูลที่ได้จากการเดินทางทั้งหมดสูญหายไป บ้างสันนิษฐานว่า หลักฐานการเดินทางของเจิ้งเหอได้ถูกปกปิดไว้โดยเซี่ยหยวนจี๋ และถูกทำลายไประหว่างการชำระประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิงในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งในกระบวนการดังกล่าว เอกสารที่ “ไม่สำคัญ” จะถูกทำลายทิ้ง




ภายหลัง เนื่องจากบรรณาการจากประเทศต่างๆลดน้อยลงไปมาก ประกอบกับเซี่ยหยวนจี๋ ขุนนางคนสำคัญที่คัดค้านการเดินเรือของเจิ้งเหอ ล้มป่วยเสียชีวิตลง จักรพรรดิหมิงเซวียนจง ทรงอนุญาตให้เจิ้งเหอและหวังจิ่งหง ออกนำขบวนเรือเดินทางไกลอีกครั้งในปี ค.ศ. 1430 ซึ่งเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเจิ้งเหอและกองเรืออันยิ่งใหญ่ ก่อนการเดินทางครั้งสุดท้ายนี้ ขบวนเรือของเจิ้งเหอได้แวะพักที่เมืองฝูเจี้ยน ทำพิธีจัดตั้งป้ายศิลาจารึกเพื่อบูชาเจ้าแม่เทียนเฟย (มาจู่ )(เจ้าแม่ทับทิม) อันเป็นที่เคารพบูชาของชาวเรือทั้งหลาย โดยป้ายศิลาจารึกดังกล่าว ได้จารึกเรื่องราวการเดินทางก่อนหน้านั้นเอาไว้ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานชิ้นสำคัญในการเดินทางของเจิ้งเหอที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน


การเดินทางของเจิ้งเหอ ยังได้ทิ้งปริศนาที่ยังไม่อาจคลี่คลายเอาไว้มากมาย เช่นว่า

เจิ้งเหอได้เดินทางถึงทวีปออสเตรเลียหรือไม่
ได้เป็นผู้ค้นพบทวีปอเมริกาก่อนโคลัมบัส หรือเคยเดินทางรอบโลกมาแล้วหรือไม่
เหตุใดข้อมูลการเดินทางของเจิ้งเหอจึงสูญหายไปจนหมดสิ้น
เหตุใดขบวนเรือขนาดมโหฬาร และการค้าทางทะเลที่รุ่งเรืองขนาดนี้จึงจบสิ้นลงพร้อมกับการตายของเจิ้งเหอ
การเดินทางสมุทรยาตราที่ 7 ครั้งเป็นปัจจัยเร่งให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมโทรมลงหรือไม่
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร แต่ในความเป็นจริงคือ นับแต่นั้นมา ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายปิดกั้นทางทะเล ตัดขาดจากโลกภายนอกต่อมาเป็นเวลากว่า 400 ปี นำมาซึ่งการถดถอยของวิทยาการความรู้และความยิ่งใหญ่เหนือน่านน้ำที่เคยมี การเดินทางสมุทรยาตราของเจิ้งเหอ กลายเป็นเส้นแบ่งระหว่างยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองและความเสื่อมในประวัติศาสตร์อารยธรรมของชนชาติจีน

อนึ่ง เรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางครั้งยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเดินเรือของชนชาติจีนและของโลก แต่บันทึกเรื่องราวการเดินทางของเจิ้งเหอเป็นลายลักษณ์อักษรโดยตรงที่หลงเหลืออยู่กลับมีไม่มากนัก ผู้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้โดยมากจึงได้แต่อาศัยการขุดค้นทางโบราณคดีและจากบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในยุคนั้น เป็นร่องรอยในการศึกษาวิจัยเรื่องราวความเป็นไปเกี่ยวกับเจิ้งเหอและกองเรือมหาสมบัติของเขา

ภายหลังยังมีการขุดพบ รูปหล่อสำริดของเจิ้งเหอในอินเดีย

ที่มาของข้อมูล เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” โดยปริวัฒน์ จันทร
และwww.santitham.org
ภาพจาก อินเทอร์เนท


ศาลเจ้าซำปอกง
ทั้งๆ ที่เจิ้งเหอเป็นมุสลิม แต่มีศาลเจ้าซำปอกงในแถบตะวันออกเฉียงใต้มีที่สะมารัง จ.ชวาตะวันออก ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย มะละกา ปีนัง กูชิง กัวลาตรังกานู ในประเทศมาเลเซีย ซูลู ในประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไนและในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น