วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] ชาวลาว...เนาเนื่องเมืองไทย

ชาวลาว...เนาเนื่องเมืองไทย


วัดในเมืองหลวงพระบาง

ในบทความที่กล่าวถึงความเป็นมาของชนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่ในเมืองฉะเชิงเทรานั้น เป็นเพียงกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมืองฉะเชิงเทราเท่านั้น ในความเป็นจริง ขนชาติเพื่อนบ้านของเราเหล่านั้นมีที่มาที่ไป กระจายกันทั่วทุกภูมิภาค แต่ละภูมิภาค แต่ละท้องถิ่น ก็ล้วนมีความเป็นมาของการอพยพถิ่นฐานย้ายเข้ามาอยู่ของแต่ละชนชาติ แต่ละท้องถิ่นเอง



แต่โบราณกาลเนิ่นนานมา เมื่อเกิดศึกสงครามระหว่างอาณาจักร หากฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำแพ้สงคราม ก็เป็นธรรมเนียมศึกในการกวาดต้อนผู้คนในเมืองที่พ่ายสงครามไปเป็นเชลยศึก และเกิดเป็นรากฐานของแต่ละอาณาจักรที่จะมีขนชาติอื่น ๆ เข้ามาปะปนและต่อมาก็กลายเป็นอาณาประชาราษฏร์ของอาณาจักรนั้นไปในที่สุด



การกวาดต้อนผู้คนของเมืองที่พ่ายศึกเป็นมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงยุคกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งขอยกตัวอย่างจากชนชาวลาว ดังนี้

ชาวลาวเวียง คือ ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเวียงจันทน์ หลวงพระบาง และจำปาศักดิ์ ในช่วงสงครามตีเมืองเวียงจันทน์ของกองทัพไทย ตั้งแต่สมัยธนบุรี - ต้นสมัยรัตนโกสินทร์

หลังจากที่ฝ่ายไทยยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ครอบครัวเชลยชาวลาวเวียงจันทน์ถูกกวาดต้อนเข้ามาไทยในการตีเมืองเวียงจันทน์

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2521 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี

เนื่องจากเจ้าศิริบุญสารแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต(นครเวียงจันทน์)ได้นำเครื่องบรรณาการไปมอบแก่พระเจ้าอังวะและขอให้กองทัพพม่าไปช่วยตีพระยาวรราชภักดีที่เมืองจำปานคร(หนองบัวลำภู)
พระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ยกกองทัพเข้าล้อมนครเวียงจันทน์ไว้ 4 เดือนถึงสามารถตีเมืองได้ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งพระยาสุโภ ขุนนางเมืองล้านช้างให้อยู่รั้งเมือง แล้วนำครอบครัวเชลยชาวเมืองเวียงจันทน์หลายหมื่นครัวเรือน ขุนนางทั้งปวง และราชบุตรพระเจ้าศิริบุญสารทั้งสามองค์คือเจ้านันทเสน เจ้าอินทวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ กับทรัพย์สิ่งของเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า เป็นอันมาก และอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต กับ พระบาง กลับยังกรุงธนบุรีโดยข้ามแม่น้ำโขงมาอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี จันทบุรี และบางยี่ขัน



ครั้ง 2 ปี พ.ศ. 2335 ตรงกับสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านันทเสนผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ได้ยกทัพไปตีเมืองพวนและเมืองแถง พร้อมกวาดต้อนครอบครัวลาวพวนและลาวพุงดำ มาถวายเพื่อแลกเปลี่ยนกับครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ที่อยู่ในไทย แต่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงไม่ประทานให้และทรงปลดเจ้านันทเสนออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองเวียงจันทน์ พร้อมกับทรงยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์กวาดต้อนครอบครัวชาวเวียงจันทน์เข้ามาในหัวเมืองชั้นในอีก



ครั้งที่ 3 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากเจ้าอนุสุริยวงษ์หรือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 หรือเรียกสั้น ๆว่าเจ้าอนุวงศ์ เจ้านครวียงจันทน์ ได้มีพระราชสาส์นกราบบังคมทูลขอพระราชทานครอบครัวชาวเวียงจันทน์ซึ่งได้ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยมาครั้งเมื่อตีกรุงเวียงจันทน์ในครั้งแรกและได้ตั้งครัวเรือนชาวลาวอยู่ที่เมืองสระบุรี นอกจากนี้ยังได้ขอละครผู้หญิงไทยในราชสำนักไทยไปเวียงจันทน์ ซึ่งไม่ทรงโปรดประทานให้ จึงเป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์ไม่พอใจ

ในขณะนั้นเป็นเวลาที่ราชทูตอังกฤษได้เข้ามาติดต่อขอให้ไทยช่วยรบพม่าเพราะอังกฤษกับพม่ากำลังมีปัญหากัน แต่ไทยยังมิได้ตัดสินใจแต่อย่างใด เจ้าอนุวงศ์เข้าใจว่าอังกฤษจะยกทัพมาตีไทย เห็นเป็นโอกาสจึงได้คิดตั้งแข็งเมืองทันที เจ้าอนุวงศ์ได้แต่งให้เจ้าราชวงษ์ (เหง้า) ยกทัพมาตามแควป่าสักจนถึงเมืองสระบุรี เพื่อกวาดต้อนชาวเวียงจันทน์เดิมที่สระบุรีกลับไป ส่วนเจ้าอนุวงศ์ยกมาอีกทัพหนึ่งทางนครราชสีมาโดยใช้คำลวงเมืองต่างๆ ที่กองทัพลาวผ่านมาว่า สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งให้ยกทัพมาเพื่อช่วยป้องกันราชอาณาจักรไทยเพราะรบกับอังกฤษ การติดต่อระหว่างหัวเมืองต่าง ๆ กับกรุงเทพฯในขณะนั้นติดต่อกันได้ยาก บรรดาเจ้าเมืองต่าง ๆ จึงพากันหลงเชื่อถ้อยคำไม่มีผู้ใดขัดขวาง การเดินทัพของเจ้าอนุวงศ์จึงมาได้โดยง่าย เจ้าอนุวงศ์ได้ยกทัพมาตั้งอยู่ในนครราชสีมา กรมการเมืองก็จัดการรับรอง



ยังมีชาวลาวอีกส่วนหนึ่งที่พากันอพยพเข้ามาในเมืองไทยเองมิได้ถูกกวาดต้อนมา เนื่องจากการเป็นกบฎของเจ้าอนุวงศ์ในครั้งนั้นเป็นที่ไม่พอใจของท้าวพญาและชาวเวียงจันทน์ด้วยกันเอง ได้แก่พระอินทอาษาหรือท้าวทุม ชาวเวียงจันทน์ ไม่เข้าด้วยกับพวกเจ้าอนุวงศ์จึงได้รวบรวมท้าวพญาและเหล่าครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์ พากันเดินทางจากกรุงเวียงจันทน์เข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทย เพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดรับไว้และจัดให้ออกไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ชายเมืองระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทราต่อกัน

พระอินทอาษากับเหล่าท้าวพญาและครอบครัวชาวลาวกรุงเวียงจันทน์ เมื่อได้รับพระราชทานที่ทางทำมาหากินเช่นนั้น ก็พากันขมักเขม้นสร้างที่ดินซึ่งขณะนั้นเป็นป่าอยู่ทั่วๆไป ได้ประกอบการทำมาหากินโดยซื่อสัตย์สุจริต จนตั้งหลักฐานเป็นหมู่บ้านใหญ่มีผู้คนอยู่กันเป็นปึกแผ่นแน่นหนาและเรียกชื่อในขณะนั้นว่าบ้านแดนป่าพระรศตามนิยายเก่าเรื่องพระรถ-เมรี

ต่อมาภายหลังทรงโปรดให้ยกหมู่บ้านแดนป่าพระรศ ขึ้นเป็นเมืองเรียกว่า "เมืองพนัสนิคม" โปรดเกล้าให้ตั้งพระอินทอาษาเป็นผู้ปกครองเมือง เรียกกันในสมัยนั้นว่าผู้สำเร็จราชการเมืองพนัสนิคม และให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมือง โดยรวมระยะเวลาที่พนัสนิคมได้ตั้งเป็นเมืองมีเจ้าเมืองประมาณ 80 ปี

พระอินทอาษา หรือท้าวทุม ผู้สำเร็จราชการเมืองพนัสนิคมคนแรก ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสกุล ทุมมานนท์



ส่วนทางด้านเจ้าอนุวงศ์นั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ยกกองทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ ได้กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวเวียงจันทน์เข้ามาในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง การกวาดต้อนชาวลาวเวียงครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ชาวลาวเวียงถูกกวาดต้อนมา ซึ่งอาจมีครอบครัวเชลยศึกชาวลาวเวียงนับแสนคนถูกกวาดต้อนมา และถูกจับแยกกันให้ไปอาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ของไทย เพื่อง่ายแก่การปกครองและเพื่อไม่ให้ชาวลาวเวียงรวมกลุ่มกันได้



กองทัพไทยได้นำพาครอบครัวเชลยลาวเวียง ชาวเมืองเวียงจันทน์ข้ามแม่น้ำโขงและแบ่งแยกให้ไปอาศัยอยู่ตามที่สถานที่ต่างๆ ดังนี้
(1) จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์(หัวเมืองเขมรป่าดง) การยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทร์ จำปาศักดิ์จนได้รับชัยชนะ ได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์มาเป็นจำนวนมาก มาอยู่ที่ ต.สิ ,ต.ขุนหาญ ต.ห้วยจันทน์ อ.ขุนหาญ ต.หมากเขียบ อ.เมืองศรีสะเกษ ,บ้านตาอุด บ้านโสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ส่วนในจังหวัดสุรินทร์มีชาวลาวเวียงในเขตเมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ

(2) จังหวัดสระบุรี ซึ่งน่าจะมีชาวลาวเวียงจันทน์เยอะที่สุด เพราะถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สงครามตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งแรกในสมัยธนบุรี ชาวลาวเวียง คือชาวลาวจากเวียงจันทน์ ปัจจุบันมีอยู่มากที่อำเภอแก่งคอย อำเภอหนองแค อำเภอหนองแซง อำเภอวิหารแดง อำเภอเสาไห้ และอำเภอบ้านหมอ ลาวแง้ว คือชาวลาวที่มาจากชนบทชานเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันอยู่ที่บ้านตาลเสี้ยน บ้านหนองระกำ อำเภอพระพุทธบาท และบางหมู่บ้านในอำเภอหนองโดน


ประตูชัยเมืองเวียงจันทน์

(3) จังหวัดลพบุรี มีชุมชนชาวลาวเวียงในลพบุรี แต่ถูกเรียกว่า "ลาวแง้ว" เพราะชาวลาวแง้วมาจากเขตชานเมืองเวียงจันทน์

(4) จังหวัดราชบุรี ไทยลาวตี้ หรือไทยลาวเวียง เป็นคนเชื้อสายลาวจากเมืองเวียงจันทน์ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเมืองราชบุรี(จริงๆแล้วถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึก) ตั้งแต่สมัยธนบุรีตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เขาแร้ง อำเภอเมือง ฯ บ้านฆ้อง บ้านบ่อมะกรูด บ้านเลือก บ้านสิงห์ บ้านกำแพงเหนือ บ้านกำแพงใต้ บ้านดอนทราย บ้านหนองรี บ้านบางลาน อำเภอโพธาราม บ้านดอนเสลา บ้านหนองปลาดุก บ้านหนองอ้อ บ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง บ้านนาสมอ บ้านสูงเนิน บ้านทำเนียบ บ้านเกาะ บ้านหนอง บ้านเก่า บ้านวังมะเดื่อ อำเภอจอมบึง

(5) จังหวัดในแถบภาคตะวันออกมีชุมชนชาวลาวเวียงกระจายกันอยู่ทั่วไป เช่น นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา อ. พนัสนิคม จ.ชลบุรี

(6) จังหวัดอ่างทองและอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ก็มีชุมชนลาวเวียงเช่นกัน
(7) จังหวัดเพชรบุรี มีชุนชนลาวเวียงบ้านสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
(8) จังหวัดสุพรรณบุรี มีชุมชนลาวเวียงในเขต อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
(9) บางกอก หรือ กรุงเทพมหานคร ฯ ชาวลาวเวียงที่ได้ถูกนำเข้าไปอยู่ในเขตพระนคร ส่วนใหญ่จะเป็นขุนนางที่มีการศึกษาหรือบรรดาเชื้อพระวงศ์เวียงจันทน์ทั้งหลาย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวบางกอกนิยม "แอ่วลาว" หรือ "เล่นแคน" กันมากจนต้องสั่งห้ามไม่ให้ชาวบางกอกเล่นแคนในเขตพระนคร ต่อมาชาวลาวเวียงในเขตพระนครได้เข้ารับราชการและเป็นใหญ่เป็นโตมากมาย เช่น พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น

ที่มาของข้อมูล วิกิพีเดีย

1 ความคิดเห็น: