วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

[บทความ] เนิ่นนาน..ด้วยกาลเวลา

เนื่นนาน..ด้วยกาลเวลา


เรือกระแชงขนาดเล็กที่ล่องไปล่องมาในลำน้ำเมื่อห้าสิบปีที่แล้วมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเมื่อสอง สามร้อยปีมาแล้ว
ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ได้รับการชักชวน ให้อพยพมาอยู่เมืองไทย โดยมีชื่อเมือง " แป๊ะลี้ " เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเดินทาง คำว่า ฉะเชิงเทรา อาจเป็นชื่อที่ไม่เคยกล่าวถึงในหมู่คนจีนที่แผ่นดินใหญ่ แม้แต่ "สยาม "อันเป็นนามสื่อถึงประเทศไทยก็กลายเป็นเสียนหลอ (เซียนหลอ) และคนจีนเหล่านั้นเมื่ออพยพมาอยู่เมือง "แป๊ะลี้ "แล้ว คำว่าแป๊ะลี้ จึงแพร่หลายในกลุ่มคนจีนในเมืองไทย และคนไทยเรียกตามคนจีน ไป ๆ มา ๆ ก็กลายเป็น แปดริ้ว ประจวบเหมาะกับเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ ปลาช่อนของเมืองนี้จึงตัวใหญ่กว่าที่เมืองอื่นเมื่อแล่เพื่อตากเป็นปลาแห้ง จึงต้องแล่ เป็น ริ้ว ริ้ว ได้แปดริ้ว จะแล่ปลาช่อนเพียงห้าหรือหกริ้วไม่พอ รวมถึงชาวลาว เมื่อย้ายไปอยู่ในถิ่นฐานใด ก็จะมีนิทานเรื่อง พระรถ เมรี เป็นเรืองเล่าประจำชนชาติลาว และมีการเรียกชื่อสถานที่ให้เกี่ยวข้องกับนิทานพระรถ เมรี อีกประเด็นด้วย

หากได้เคยพบบทความ เรื่องของเจิ้งเหอ มาก่อน ก็คงไปถามย่าลอย ของเพื่อนแล้วว่า ตอนตัดสินใจออกจากเมืองจีน ย่าลอย ตั้งใจเดินมาเมือง แป๊ะลี้ ใช่หรือไม่ แต่ว่า ย่าลอยท่านนี้เดินทางจากแผ่นดินจีนเข้ามาที่เมืองฉะเชิงเทราในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นับถอยหลังก็ร้อยกว่าปีเท่านั้น

บ้านของพลอยโพยม มีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า บรรพบุรุุษฝ่ายคุณตาเป็นคนจีนที่อพยพมาจากเมืองซัวเถา ในราวปลายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงให้แก่พม่าเป็นครั้งที่สอง
ในวัยเด็ก มีคุณตาน้องชายคนเล็กสุดของคุณยาย ที่เราเรียกกันว่า ก๋งหนวด (เพราะท่านมีหนวดนั่นเอง ที่จริงท่านชื่อ กุ่ยชุน ท่านเรียนหนังสือด้วยภาษาจีน เวลาอารมณ์ดี ๆ ท่านจะเล่าเรื่องเมืองจีนให้ฟัง (จากตำราเรียนจีน) มักเป็นเรื่องทางภูมิศาสตร์มากกว่าประวัติศาสตร์ ในบางคราวที่ท่านขึ้นมาทีบ้านบางกรูดที่เป็นบ้านดั้งเดิมของท่าน ซึ่งอยู่เขตบริเวณชิดติดกันกันกับบ้านที่พลอยโพยมเติบโตขึ้นมา บ้านดั้งเดิมนี้มีตู้ โต๊ะ ตะเกียงแขวน ตะเกียงชักรอก ถ้วย ชาม จาน ช้อน กาน้ำชา ถ้วยน้ำชา ตะเกียบงาช้้าง แบบจีนโบราณ จำได้ว่า รู้จัก เครื่องเคลือบกังไส มาตั้งแต่เด็ก ก๋งท่านนี้จะหยิบมาใช้เวลาที่ท่านมาพัก ท่านจะดื่มแต่น้ำชา กาน้ำชาเป็นรูปตัวเป็ดสวยงาม โดยเฉพาะปีกเป๊ดทั้งสองข้าง ถ้วยน้ำชาเนื้อบางเชียบ เวลารินน้ำชาออกจากกา น้ำก็ไหลออกทางปากเป็ด เวลาเด็ก ๆ หยิบถ้วยน้ำชา ท่านจะบอกว่าทำดี ๆ นี่ถ้วยกังไสมาจากเมืองจีน ของเก่าก่อนก๋งอีกนะ รวมทั้งของใช้อื่น ที่เราไม่กล้าแตะเพราะกลัวแตก ก๋งหนวด ก็จะเอามาใช้เวลาจะไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษตามเทศกาลต่าง ๆ เท่านั้น ไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ล้างเก็บด้วยตัวเอง ตะเกียงก็แขวนไว้เฉยๆ ไม่ได้ชักรอกลงมาจุดไฟ ตะเกียบงาช้างที่ก๋งบอกว่า ใช้เช็คสอบว่า ของกินมียาพิษหรือไม่ด้วย ตอนเด็กๆ ไม่ได้สนใจ พอตอนโต เห็นในละครซีรีย์จีนเกาหลี ก็เลยถึงบางอ้อกับคำบอกเล่าเมื่อสี่สิบห้าสิบปีก่อนโน้นของก๋งหนวด มิหนำซ้ำตะเกียบนี้มีหมุดเล็ก ๆ ตรึงสามารถถอดแยกได้ ออกมาเป็น 2 ท่อน ประโยชน์ที่ทำให้ถอดได้ เพื่อให้เจ้าของตะเกียบนำตะเกียบงาช้างนี้พกติดตัวไปไหนมาไหนได้สะดวก ไม่เกะกะเก้งก้างเพราะความยาวของตะเกียบ เมื่อจะใช้งานก็ประกอบต่อท่อนตะเกียบเป็นท่อนเดียว

เมื่อ เด็ก ๆ ก็เข้าใจว่าของใช้เหล่านั้นเป็นของซื้อที่ตลาดโรงสีล่าง แต่เดี๋ยวนี้ก็เข้าใจแล้วว่าไม่ใช่แน่นอน ในเมื่อโรงสีล่าง ( โรงสีพระยาสมุทร) เพิ่งเกิดในรัชกาลที่ 5 แต่สิ่งของเครื่องใช้เหล่านั้น มีมาตั้งแต่ก่อน คุณยาย และก๋งหนวดเกิด ของเหล่านี้ซื้อหาได้ที่ไหน ยิ่งเป็นของใหญ่ เช่น ตูู้ โต๊ะ ซื้อมาจากไหนขนมาได้อย่างไร วันนี้ไม่เหลือผู้ใหญ่ให้เรียนถามเสียแล้ว แต่ก็พอจะได้คำตอบว่า เป็นของที่มีคนนำจากเมืองจีนมาขายด้วยเรือสำเภาเข้ามาตามลำน้ำบางปะกง จอดตามย่านชุมชนใหญ่ที่มีคนจีน เมื่อนานมากก่อนรัชกาลที่ห้า กระมัง

ในสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อมีการขุดคลองเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง

เมืองฉะเชิงเทรา มีทำเลที่ตั้งอยู่บนเส้นคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองด้านชายทะเลฝั่งตะวันออก เมืองทางตะวันออก หัวเมืองอีสานและหัวเมืองเขมร เมืองฉะเชิงเทราสามารถติดต่อกับดินแดนอื่น ๆ โดยรอบทั้งใกล้และไกล ทั้งทางบกและทางน้ำ
เส้นทางน้ำโดยอาศัยแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแม่น้ำไหลผ่านเมืองนครนายก เมืองปราจีนบุรีและเมืองฉะเชิงเทรา มีคลองต่าง ๆ แยก สาขา ไหลผ่านชุมชนต่างๆ เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกัน โดยเฉพาะหากตั้งต้นจากกรุงเทพ ฯ

จากกรุงเทพฯ ไปตามคลองพระโขนง คลองแสนแสบ คลองบางขนาก ไปออกแม่น้ำบางปะกง สามารถล่่องเรือขึ้นลง ไปฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี แล้วเดินทางต่อไปทางอีสาน และหัวเมืองเขมรได้

จากกรุงเทพฯ ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าคลองสำโรง ออกแม่น้ำบางปะกงล่องเรือไปเมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจีนบุรี เมืองนครนายก
หรือจากคลองสำโรงเข้าแม่น้ำบางปะกงเลียบชายฝั่งทะเลออกไปเมืองชลบุรี และหัวเมืองตามรายทาง ไปจนถึงเมืองระยอง เมืองจันทบุรี แล้วเดินทางต่อไปยังเขมรและญวนได้
เส้นทางจากแม่น้ำบางปะกง เมืองฉะเชิงเทรา เดินทางเข่้าคลองบางขนาก (คลองแสนแสบ) เข้ากรุงเทพ ฯ

คนจีนอพยพเข้ามาประเทศไทยกันมากในปลายสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เนื่องจากความไม่สงบทางภาคใต้ของจีน เช่นเกิดทุพภิกขภัย เกิดสงครามฝิ่น เกิดกบฏไต้เผ็ง และการจราจลอื่น ๆ ทำให้ชาวจีนอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย และประเทศไทยในขณะนั้นมีนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพเข้ามาโดยไม่จำกัดจำนวน เพราะได้ประโยชน์จากการที่ชาวจีนเข้ามาทำกิจการต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม

อาชีพของคนจีนที่มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองฉะเชิงเทรา
ชาวจีนภาษาแต้จิ๋ว ซึ่งอาศัยอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเข้ามาอยู่ที่เมืองฉะเชิงเทรา ส่วนใหญ่มาจากเมืองเฉาโจวหรือเมืองแต้จิิ๋ว ซึ่งเป็นมณฑลตลาดการค้า คนจีนกลุ่มนี้มีความชำนาญพิเศษในด้านการค้า นอกจากนี้ก็มีการประกอบอาชีพเป็นกรรมกรในโรงสี ไร่อ้อย ไร่ยาสูบ โรงงานน้ำตาล

ชาวจีนภาษากวางตุ้ง ส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางตุ้ง และตามภาคต่าง ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางสี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของจีน จึงมีความชำนาญด้านการช่าง งานเครื่องจักรกล ชาวจีนกลุ่มนี้จึงมีอาชีพด้านโรงเลื่อย โรงสี การก่อสร้าง การช่างต่างๆ รวมทั้งเป็นกรรมกรในงานก่อสร้าง

ชาวจีนภาษาไหหลำ ส่วนใหญ่เป็นประชากรชองเกาะไหหลำ เป็นกลุ่มที่มีความละเอียดถี่ถ้วน ทำงานปราณีต จึงเป็นช่างที่มีฝีมือดี และยังเป็นกลุ่มที่มาจากแหล่งอุตสาหกรรมต่อเรือของจีน จึงเข้ามาประกอบอาชีพ เป็นช่างต่อเรือ ช่างไม้ ช่างเหล็ก นอกจากนี้ก็ประกอบอาชีพค้าขาย ทำสวนปลูกผักเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นอาชีพที่คนไทยไม่นิยม เพราะความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงหลีกเลี่ยงการเลี้ยงและฆ่าหมู

ชาวจีนภาษาแคะ เป็นชาวจีนที่อาศัยตามนอกเมืองทางตะวันออกและตะวันตกจากมณฑลฟูเกี้ยนไปจนถึงกวางสีและในระหว่างช่องเขาที่เป็นแนวทางไปจนถึงตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง มักประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานฝีมือต่าง ๆ เช่นช่างไม้ ช่างหนัง ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างตัดผม ช่างทองและพ่อค้าเร่

ชาวจีนภาษาฮกเกี้ยน เป็นประชากรที่อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของมณฑลฟูเกี้ยน ชาวจีนกลุ่มนี้ มักประกอบอาชีพในการทำเหมืองแร่ พ่อค้า ทำประมง เป็นนายเรือ ลูกเรือของเรือสำเภา ทำสวน เช่นสวนหมาก สวนมะพร้าว สับปะรด และปลูกผัก

ชาวจีนที่เข้ามาอยู่ เมืองไทยมากที่สุดคือจีนภาษาแต้จิ๋ว
อาชีพของชาวจีนซึ่งมาตั้งถิ่นฐานในเมืองฉะเชิงเทราไม่นิยมคืออาชีพ ทำนา อาจเป็นเพราะการทำนาต้องใช้พื้นที่มาก ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ช้า ต้องเสี่ยงภัยธรรมชาติ และการทำนาต้องใช้แรงงานคนหลายคน
(ข้อมูลปริญญานิพนธ์ คุณอังคณา แสงสว่าง)

ภาพชุดศาลเจ้าเก่าแก่ที่บ้านบางกรูด อายุสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

เส้นทางเดินที่รกรุงรัง ศาลเจ้าอยู่ในดงป่าจาก






ชื่อศาลเจ้า
มีผู้อ่านว่า ท้งเซี่ยงโกวเม่ย


สันนิษฐานว่าเป็นป้ายชื่อเจ้าพ่อประจำศาลเจ้านี้
ถูกปลดลงเพราะรื้อส่วนนอกออกและวางแผ่นป้ายกลับด้านตัวอักษร
มีผู้อ่านว่า ปีงเท่ากงกง


เจ้าพ่อประจำศาลเป็นไม้สักแกะสลักทาสี


แท่นบูชา


รายนามผู้ร่วมบริจาคสร้างศาลเจ้า


ป้ายชื่อผู้วายชนม์ แซ่พัว และภรรยา


อักษรจารึกในแผ่นป้ายชั้นใน
ระบุวัน เวลา พ.ศ. ที่วายชนม์ของสามีและภรรยาแซ่พัว มีผู้อ่านว่า ประมาณ ปี พ. ศ. 2347 และ 2348

ศาลเจ้านี้ปลูกด้วยไม้สัก เดิมหลังใหญ่กว่าปัจจุบันสามเท่า แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหน้า ซึ่งรื้อออกไปแล้ว ในภาพเป็นส่วนกลางซึ่งตัดขนาดกว้างยาวให้เล็กลง และส่วนด้านหลังหลังซึ่งเคยเป็นห้องพักสำหรับผู้ดูแลศาลก็ถูกรื้อออกด้วย คงไว้เพียงส่วนกลาง
ในอดีตกาล ศาลเจ้านี้มีผู้คนมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าว มีผู้คนที่ได้รับพรสมปรารถนา มาแก้บน มีงิ้ว ประจำปีที่ลานกว้างหน้าศาลหน้าศาลเจ้าติดริมแม่น้ำ ด้านขวาของศาลมีคลองลึกเข้าไปในชุมชนแต่แคบเข้าไปเรื่อย ๆ ทำให้เรียกกันว่าคลองศาลเจ้า
เมื่อผู้คนในยุคก่อน ๆ ร่วงโรย...ลาลับสังขาร กันไปหลาย ๆ รุ่น ก็ถึงคราวที่ศาลเจ้าของเจ้าพ่อองค์นี้ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้รับการดูแล ไม่ได้ซ่อมแซม จนทรุดโทรมอย่างในภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น