เมืองฉะเชิงเทรา
แม่น้าบางปะกงแหล่งชีวิต
จากหลาย ๆ บทความของ "วันวานของบางกรูด" อัน เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำบางปะกง ทั้งเรื่องชลมารคยาตราในลำน้ำ ชลวิถีต่างๆ ของชาวบางกรูดริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เรื่องราวของวัดโสธร ฯ ตำนานหลวงพ่อโสธร เรื่องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) และเขาอ่างฤาไน ก็เพื่อปูพื้นฐานที่มาของ คำขวัญประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา ใน ปัจจุบัน คือ
" แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤาไนป่าสมบูรณ์ "
และนี่คือภาพรวมของจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดที่อยู่ใกล้ชิดติดกับกรุงเทพมหานคร ฯ จังหวัดเล็ก ๆ ที่ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักจังหวัดนี้เพียง การมากราบไหว้นมัสการหลวงพ่อโสธร และต่อมาภายหลังก็มีผืนป่าของเขาอ่างฤาไน เข้ามาเพิ่มเติมสีสันสดใสให้กับความเป็น ฉะเชิงเทราขึ้นอีก หากท่านผู้อ่านจะพิจารณาจังหวัดฉะเชิงเทราตามคำขวัญทั้งสี่ข้อความที่ร้อยเรียงเรื่องราวของเมืองฉะเชิงเทราแล้ว ฉะเชิงเทราก็เป็นเมืองที่มีความโดดเด่นด้วยองค์ประกอบโดยรวม ที่ไม่ด้อยกว่าจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย
แม่น้ำบางปะกงหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร
และผู้ที่ได้มากราบไหว้นมัสการหลวงพ่อโสธรแล้ว ถ้าจะย้อนเข้าตัวเมืองของฉะเชิงเทรา ก็จะผ่านอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าเป็นอนุสาวรีย์ของท่านใด มีความสำคัญอย่างไรกับจังหวัดฉะเชิงเทรา เด็กนักเรียนรุุ่นหลัง ๆ ก็ไม่รู้จักว่าท่านเป็นปราชญ์สยามสามสมัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีคุณูปการต่อวิชาภาษาไทยภาษาประจำชาติของเราอย่างไร
พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร
ผู้เขียนถามลูกชายที่ปัจจุบัน เป็นหนุ่มเต็มตัวคือเบญจเพศแล้ว ไม่ใช่หนุ่มน้อยอีกต่อไป ว่า รู้จักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ไหม ลูกชายตอบว่า รู้จักซีแม่ คนเขียนหนังสือภาษาไทย ให้เด็กๆ เรียน เป็นคนแปดริ้ว แม่ถามลูกชายต่อว่า รู้จักท่านแค่นี้หรือ ลูกชายบอกว่า แค่นี้แหละแม่ ตอนเด็กๆ เรียนหนังสือ เขาก็มีสอน แม่ไม่ต้องกลัวหรอก ว่าคนจะไม่รู้จักท่าน หนังสือเรียนเด็ก ๆ ก็มีสอนนะแม่ ดูสิแม่ห่วงจังกลัวคนไม่รู้จักพระยาศรี ฯ
แม่ของลูกชายคนนี้ ก็ได้แต่ถอนใจด้วยความรู้สึกบอกไม่ถูกว่าถอนใจทำไม มันปะปนกันระหว่าง ความโล่งใจ ( อ้อยังพอรู้จักท่านบ้างก็ยังดี) เหนื่อยหน่ายใจ (รู้จักเแค่้นี้เองหรือ) ไม่ได้ดังใจ ( รู้สึกว่าถูกกระแนะกระแหนเล็กน้อย) ทำนองนั้นจริงๆ
พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย
เคยมีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ มีความว่า
พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น
ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ท่านก็เป็นเพชรนิลจินดา และถือได้ว่าเป็นเพชรน้ำเอก เม็ดหนึ่งที่ประดับพระมหามงกุฎแห่งกษัตริย์สยามถึงสามสมัย
และท่านคือครูของแผ่นดินโดยแท้
อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ฉะเชิงเทรา คือถิ่นกำเนิดของท่านพระยาศรีฯ โดยเฉพาะตำบลโสธร อันเป็นสถานที่ตั้งอนุสาวรีย์ของท่าน ท่านเกิดที่บ้านคลองโสธร และเป็นตำบลที่ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด คุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์ สร้างอนุสารีย์เพื่อเชิดชูเกัยรติท่านขึ้นมา
แม่น้ำบางปะกง คราฟ้าสางสว่างวัน
จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมาย เริ่มตั้งแต่ชื่อจังหวัด แปลกประหลาดกว่าจังหวัดอื่นๆ ว่าทำไมใช้ชื่อนี้ ผู้เขียนขอรวบรวมความเป็นมาของชื่อนี้ว่า
ดวงตะวันเริ่มรุ่งอรุโณทัย
ที่มาของชื่อจังหวัด “ฉะเชิงเทรา” และคำเรียกขาน เมือง “แปดริ้ว”
จากการศึกษาเรื่องเมืองฉะเชิงเทรา ของผู้ช่วยศ่าสตราจารย์ สุนทร คัยนันท์ อดีตหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ หนึ่งในจำนวนคนเด่นเมืองแปดริ้ว ท่านมีผลงานศึกษาเกี่ยวกับ ฉะเชิงเทราในประวัติศาสตร์ ความรู้เรื่องเมืองแปดริ้ว ประวัติเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งท่านได้ลงไปศึกษาอย่างละเอียดนั้น ท่านได้ให้ความเห็น ในเรื่องที่มาของชื่อจังหวัด “ฉะเชิงเทรา” และคำเรียกขาน เมือง “แปดริ้ว” ในหนังสือ ความรุู้เรื่องเมืองฉะเชิงเทรา ว่ายังไม่อาจหาข้อสรุปได้ เพียงแต่อาศัยภูมิปัญญาของท่านผู้มีความรู้ซึ่งได้เขียนถ่ายทอดไว้และนำมารวบรวมได้ดังนี้
1. ส. พลายน้อย
สันนิษฐานว่า ฉะเชิงเทราเป็นทางผ่านไปทำศึกสงครามของกษัตริย์ในสมัยก่อน เมื่อจับเชลยศึกได้ ก็จะร้อยขาต่อ ๆ กันเพื่อมิให้เชลยคุดทะราด (ภาษาเขมรคือจะเชิงตะเมา) ซึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนทร ฯ เอง มีความเห็นว่า ฉะเชิงเทรา น่าจะมีความหมายตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของเมืองฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทราเป็นเมืองที่มีดินดี ข้าวงอกงามมาก ต้นข้าวที่งอกงาม ขึ้นเป็นต้นใหญ่หนาทึบ แทบไม่มีช่องว่างจะวางเท้าลงไปเก็บเกี่ยวได้ จึงมีความหมายในภาษาเขมรว่า ก้าวไปทางไหนเหยียบแต่ต้นข้าว ( จะ แปลว่าแทง เชิง แปลว่าเท้า เทรา แปลว่าข้าว) ซึ่งหมายความว่าต้นข้าวแทงเท้า
แม่น้ำบางปะกง
2. พลตรี ดำเนิน เลขะกุล ได้ให้ความเห็นว่า ฉะเชิงเทรา เป็นคำเรียกขานในทางราชการ ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นหลาย ๆ คนว่า เพี้ยนมาจากภาษาเขมร ซึ่งเคยมีอำนาจการปกครองในพื้นที่นี้ในช่วงอาณาจักรลพบุรี โดยมาจากคำว่า “สตรึงเตรา” ซึ่งเป็นภาษาเขมร 2 คำ คือ สตรึง และ เตรา
สตรึง แปลว่า คลอง และ เตรา แปลว่า ลึก เมื่อรวมความหมายก็ได้ว่า คลองลึก ซึ่งหมายถึงแม่น้ำบางปะกงนั่นเอง และฉะเชิงเทรา เป็นเมืองที่ตั้งอยู่สองริมฝั่งแม่น่ำบางปะกง
แม่น้ำบางปะกง
แต่ก็มีข้อสันนิษฐานอื่นว่า น่าจะมาจากชื่อเมือง “แสงเซรา” หรือ “แซงเซา” ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช ที่ 1แห่งอาณาจักรอยุธยา เสด็จไปตีเมืองได้ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งมีความว่า เมื่อ พ.ศ. 1914 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า (พังคา) และเมือง แสงเซรา ...........
เมื่อประกอบกับความว่า เมืองฉะเชิงเทราตั้งขึ้นในตอนต้นกรุงศรีอยุธยาในสมัยเดียวกับเมืองนนทบุรี นครไชยศรี และสาครบุรี (ซึ่งเป็นเมืองที่มีเชื้อสายไทยอิทธิพลอินเดีย) ในเวลานั้นไม่น่าจะมีคำเขมรมาปนอยู่ในชื่อเมืองฉะเชิงเทราแล้ว น่าจะเป็นคำไทยที่เพี้ยนมาจากชื่อเมืองในพงศาวดารนี่เอง
อันเมืองพังค่า และเมืองแสงเซรา นี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงยอมรับว่า ไม่ทรงทราบแน่าว่า เป็นเมืองอะไรต่อมา ( พระอธิบายในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา)
สวนแบบเก่า โดยทั่วไปของฉะเชิงเทรา
3. นายกิจจา วัฒนสินธุ์ อดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทรา อดึตรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเกษตราธิการ อดึตกรรมการสภาหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า น่าจะเพี่้ยนมาจากภาษาเขมร
พลอยโพยมขอคัดข้อความของคุณกิจจา จากหนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายยง วัฒนสินธุ์ มาดังนี้
" ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปพบ มหายิ้ม ปัณฑยางกูร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองจดหมายเหตุในกรมศิลปากร และได้ปรารภถึงชื่อเมืองฉะเชิงเทรา มหายิ้มได้กรุณาแนะนำให้ข้าพเจ้าพบกับมหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ซึ่งเป็นผู้อธิบายศัพท์ คำว่า " ฉะเชิงเทรา " นี้ไว้โดยละเอียด และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สามทหาร ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2503 เนื่องจากได้อ่านพบเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ประชุมพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 4 ภาคปกิณกะภาค 1 ความตอนหนึ่งว่า
"ชื่อบ้านเมืองเหล่านี้เป็นชื่อไทยบ้าง ชื่อเขมรบ้าง เป็นสองชื่อทั้งไทยทั้งเขมรบ้าง อย่างเมืองฉะเชิงเทราเป็นชื่อเขมร เมืองแปดริ้วเป็นชื่อไทย....."
มหาฉ่ำ ทองคำววรณ จึงเริ่มแปลคำว่า "ฉะเชิงเทรา " ในภาษาเขมร ว่าหมายความว่าอย่างไร และนำคำแปลนี้สอนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ยังไม่แพร่หลายสู่ภายนอก
ในหนังสือสามทหาร ฉบับปีที่ 1 เล่มที่ 4 หน้า 19
...
คำว่าจะทิ้งหม้อ เป็นชื่อตำบลในอำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
จะทิ้งพระ เป็นชื่อเดิมชองอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ฉะเชิงเทรา เป็นชื่อจังหวัด
เชียงแตง เป็นชื่อจังหวัเในประเทศกัมพูชา
คำว่าจะทิ้ง ฉะเชิง และเชียง ทั้ง 3 คำนี้น่าจะเพี้ยนมาจาก จฺทิง ฉฺทิง หรือ สฺทึง ในภาษาเขมร แปลว่าคลอง ดังจะอธิบายดังนี้
1. คำว่าคลอง เขมรโบราณ เรียก จฺทิง เพี้ยนมาเป็น จะทิ้ง เช่น จะทิ้งหม้อแปลว่า คลองหม้อ จะทิงพระ แปลว่าคลองพระ หรือบางพระ
2.คำว่าคลอง ในสมัยต่อมาเขมรเขียนเป็น ฉฺทิง เพี้ยนมาเป็น ฉ่ทรึง หรือฉะเชิง เช่น ฉ่ทึงเทรา หรือฉะเชิงเทรา แปลว่าคลองลึก คือ ฉทรึง หรือฉะเชิง แปลว่าคลอง เทรา นั้นภาษาเขมรเขียน เซรา อ่านว่า โจฺร็ว เป็นวิเศษณ์ แปลว่าลึก เมื่อแผลงเป็นนามตามหลักแผลงที่ลงนิคหิตอาคม " ๐ " เป็น ชํรา อ่านว่า จุมโร็ว แปลว่า ส่วนลึก หรือ ที่อันลึก (ดูหลักภาษาเขมร ข้อ 2 หน้า 51) อนึ่งคำว่าคลอง หรือแม่น้ำ ในวรรณคดีไทยใช้ ฉทึง เช่น ฉทึงธารคีรีเหวผา (ดุษฎีสังเวย) และบางแห่งใช้ ชรทึง สทึง หรือสรทึง ก็มี แล้วต่อมาคำว่า สทึงแตรง และอ่านว่า สตึงแตรง ส่วนคำว่า เชียง อื่น ๆ ทั่มิได้แปลว่าคลอง ก็ไม่อยู่ในแนวนี้......
ส่วนชื่อ แปดริ้ว เพราะมีปลา(ช่อน) ในเมืองชุกชุมมากและเป็นปลาขนาดใหญ่ เมื่อแล่เนื้อตากทำเป็นปลาแห้ง จะทำเป็น สี่่ริ้ว หรือ ห้าริ้วไม่ได้ ต้องแล่ทำเป็นปลาแห้งถึง แปดริ้ว จากคำบอกเล่าของผู้ใหญ่ดังกล่าว
และในพรระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 มีความเกี่ยวกับ ชื่อแปดริ้วว่า
เมืองนครเสียมราฐ ทุกวันนี้เขมรเรียกว่า นักกร แต่คำโบราณเขมร เรียกว่า เสียมเงียบบ้าง เสียมเรียบบ้าง ไทยเรียกว่า เสียมราฐตามคำเขมรโบราณ ก็คำนั้น แปลว่าเมืองไทยทำปลาแห้ง คือแต่ก่อนเป็นบ้านเมืองไทยทำปลาแห้งขายอย่างเมืองฉะเชิงเทรา ที่ไทยเรียกเรียกว่าเมืองแปดร้ว นั้น
โดยเหตุนี้จึงมีเหตุทำให้น่าเชื่อว่า เมืองฉะเชิงเทรา ตกอยู่ในอำนาจปกครองของไทยเราโดยเด็ดขาดในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ "
สวนหมาก
แต่ดูราวกับชาวฉะเชิงเทราเองพากันเชื่อว่าชื่อฉะเชิงเทรามาจากภาษาเขมร อันเนื่องมาจากเป็นคำบอกเล่า ต่อ ๆ กันมา และ มีผู้คนน้อยคนที่จะไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม อย่างที่คุณกิจจา วัฒนสินธุ์ ได้ค้นคว้าไว้ รวมทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนทร คัยนันท์ ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ถึงแก่กรรม ไปหลายปีแล้ว เหลือเพียงเรีื่องราวที่ท่านค้นคว้ามาและเขียนไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป
พระราชพงศาวดารฉบับของหลวงประเสริฐนี้ ชาวบ้านผู้สูงวัยทั่ว ๆ ไป ที่ฉะเชิงเทรา ไม่ค่อยมีการกล่าวขวัญถึงนัก
บ้านนาริมคลอง
เขมรกับไทยทางภาคตะวันออกใกล้กันมาก นอกจากด้านจังหวัดสระแก้วที่ตลาดโรงเกลือแล้ว ทางด้านจันทบุรีก็มีบ้านสวนส้มตำบลสะตอนอำเภอสอยดาวที่เป็นชายแดนข้ามไปข้ามมาระหว่างคนไทยกับคนเขมรรวมทั้งทางด้านจังหวัดตราด
คุณพ่อของพลอยโพยมเองสมัยหนุ่ม ๆ ท่านก็เคยไปเป็นครูที่โรงเรียนในจังหวัดพระตะบองมาหลายปี ในเวลานั้นเมืองพระตะบอง และเมืองศรีโสภณยังเป็นของไทยอยู่ คุณพ่อซื้อพลอยมาจากคนขายของป่า ที่หาบของป่ามาขาย 2 เม็ด ไม่ใหญ่นัก เป็นทับทิมและไพลิน ลักษณะของทับทิมแบบเดียวกับทับทิมพม่าเม็ดรีนูนเป็นหลังเบี้ยลักษณะที่มักเรียกว่า กิมบ่อเชี่่ยง
ส่วนไพลินสีน้ำเงินสวยใสเจียรแบบเหลี่ยม พ่อบอกว่า ไพลินแพงกว่าทับทิมมาก ราคาเป็น 2 เท่า ( จำไม่ได้ว่าราคากี่ร้อยบาทในสมัยนั้น) ต่อมาพลอยโพยม นำพลอยทั้ง 2 เม็ด มาทำแหวน แปลกใจมากที่ไพลินกลายเป็นพลอยสังเคราะห์ คุณแม่ของเพื่อน ท่านเป็นชาวจันทบุรี ค้าของประดับเพชรพลอย ท่านอธิบายว่าเมื่อก่อนตอนที่มีพลอยสังเคราะห์ คนก็นิยมกันเพราะพลอยจะมีสีเข้มสวยใสน้ำสวยกว่าพลอยธรรมชาติมาก คนขายของป่าคงไม่ได้หลอกขายคนซื้อหรอก เพราะคนเห่อกันในตอนนั้น เท็จจริงประการใดไม่ทราบเหมือนกัน พ่อบอกว่าไม่รู้เรื่องพลอยหรอก เห็นมันสวยดีก็ซื้อมาและคิดว่าเป็นของดีเพราะราคาแพงกว่าทับทิม ตกลงก็เลยมีไพลินเก๊ เก็บไว้ตั้งเกือบเจ็ดสิบปี
ตอนเด็กๆ จำได้ว่าคุณแม่มีผ้าไหมผืนหนึ่งสวยมากลวดลายก็แปลก แม่ตัดเป็นผ้าถุงสำเร็จ ใส่เวลาไปงานต่างๆ แม่บอกว่า เป็นผ้าไหมที่พ่อซื้อมาจากพระตะบอง เสียดายที่มีภาพถ่ายของแม่ในชุดผ้าถุงสำเร็จรูปแต่เป็นภาพขาวดำจึงไม่อาจสื่อสีสันและลวดลายของผ้าได้
เจ้าทุยใต้ร่มไม้
อีกที่มาหนึ่ง เล่าว่าชื่อ “แปดริ้ว” ได้มาจากนิทานพื้นบ้านของเมืองพนมสารคาม เรื่อง “พระรถ-เมรี” ที่ยักษ์ฆ่านางสิบสองแล้วชำแหละศพเป็นชิ้นๆ รวม 8 ริ้ว ก่อนนำไปทิ้งในลำน้ำท่าลาด
นิทานเรื่องนี้เป็นนิทานเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก( พระรถ เมรี ยังเป็นนิทานพื้นบ้านของอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีด้วย เนื่องจากนิทานเรื่องพระรถ เมรี นี้แพร่หลายในหมู่ลาวสองฝั่งโขง แม้ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปอยู่ อำเภอ พนัสนิคม (จังหวัดชลบุรี) กับ อำเภอ พนมสารคาม, และ อำเภอราชสาส์น (จังหวัด ฉะเชิงเทรา) ชาวลาวเหล่านี้ยังบอกเล่าเรื่องพระรถ เมรี ผูกกับสถานที่ต่าง ๆ ที่นั่นด้วยจนทุกวันนี้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 23 กันยายน 2552)
“ฉะเชิงเทรา” เป็นชื่อที่ใช้ในทางราชการ ส่วน “แปดริ้ว” เป็นภาษาท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้เรียกกันมาช้านาน
เล้าไก่และบ่อเลี้ยงปลา
หากแต่ยังมียังมีเอกสารบางฉบับที่มีข้อมูลของคำว่า "แปดริ้ว " ที่แตกต่างออกไป ว่า แปดริ้ว อาจมาจากคำว่า แป๊ะลี้ หรือเมืองร้อยลี้ของชาวจีนในราชวงศ์หมิง ที่เรียกขานถึงเมือง เมืองหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งจะขอเสนอเรื่องราว ในครั้งหน้า
อาทิตย์อัสดงตรงนาข้าว
แต่คำว่าแปดริ้ว ของคนแปดริ้วเอง มักใช้เรียกขานตัวจังหวัดหรือคืออำเภอเมืองนั่นเอง เช่นคนอำเภอบ้านโพธิ์จะไปทำธุระที่ตัวจังหวัด มักพูดว่า ไปทำธุระที่แปดริ้ว ทั้ง ๆ ที่ ตนเองก็อยู่ในแปดริ้วอยู่แล้ว จะไม่เป็นที่นิยมที่จะพูดว่า ไปทำธุระที่อำเภอเมือง ไปทำธุระที่ตัวจังหวัด
ส.พลายน้อย มีชื่อจริงคือ สมบัติ พลายน้อย ปัจจุบันอายุ 82 ปี เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านได้รับการตัดสินเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2553 ท่านมีผลงานเขียนหนังสือและพิมพ์จำหน่าย 100 เรื่อง ซึ่ง พลอยโพยมลงไล่รายชื่อหนังสือของท่านทั้ง 100 เรื่อง เพื่อจะเดาว่า เรื่องที่ท่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุนทร ฯ กล่าวถึง อยุู่ในเรื่องใด ก็เดาไม่ถูก (ไม่มีรายชื่อหนังสือในเชิงอรรถท้ายเล่ม ในรายชื่อ ส. พลายน้อย อาจจะเป็นการการอ้างอิงอยู่ในหนังสือที่เป็นเชืงอรรถเล่มใดเล่มหนึ่งอีกทีหรือเปล่าไม่แน่ใจ)
เมื่อวันก่อน ส.พลายน้อย ถูกสัมภาษณ์เรื่องน้ำท่วม เพราะท่านมีที่อยู่ ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาแถวสะพานพุทธ เขตคลองสาน ตามข่าวคือท่านอายุ 82 ปี แต่ต้องขนบรรดาหนังสือที่สะสมไว้หนีน้ำขึ้นชั้นสองเพียงคนเดียว ท่านเป็นคนรักการอ่านมากมีหนังสือมากมายรอบตัวท่านทั้งห้อง ท่านบอกว่าขนขึ้นมาไม่หมด ยังมีอีกหลายลังเอาขึ้นมาไม่ได้ แม้ว่าหนังสือเหล่านั้นจะเป็นของรักของมีค่าของท่านอย่างที่สุด แต่ สุดแรงของท่านแล้วก็คือเก็บขึ้นมาได้เท่าที่เก็บ ได้แต่ต้องทำใจปล่อยไปตามยถากรรม สงสารท่านมากเลยหากหนังสือเหล่านั้นจะถูกน้ำท่วม ท่านมีภรรยาและบุตรชาย 1 คน
เรียนคุณพลอยโพยม ดิฉันเป็นนักเขียนค่ะ ตอนนี้กำลังเขียนถึงฉะเชิงเทรา อาจมีบางอยากจะขอรบกวนขอความรู้จากคุณพลอยโพยม จะพอมีเวลากรุณาหรือไม่คะ
ตอบลบด้วยความยินดีค่ะ ถ้าหากพลอยโพยมพอจะมีความรู้ที่จะตอบเรื่องราวมี่คุณถามมา จะส่งข้อความมาที่ amornbyj@gmail.com ก็ได่ค่ะ
ลบ