วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] ประวัติความเป็นมาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน


ประวัติความเป็นมาของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบม - สียัด ซึ่งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

ในปี พ.ศ. 2517 จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีหนังสือถึงกรมป่าไม้รายงานว่า ในเขตสัมปทานป่าไม้ของบริษัทเอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด บริเวณป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.2) ส่วน ก. ตอนที่ 8 ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอสนามชัยเขต 69 กม. และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดฉะเชิงเทรา 120 กม. ได้สำรวจ พบน้ำตกแห่งหนึ่งมีความสวยงามและบริเวณดังกล่าวเป็นป่าดงดิบ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า นานาชนิด เห็นควรจัดตั้งให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต่อไป กรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม และได้พิจารณาแล้วเห็นควรดำเนินการจัดตั้งพื้นที่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเสนอมานั้นให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และได้ดำเนินการประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าโครงการคลองตะเกรา (ฉช.2) ส่วน ก. ตอนที่ 7,8,9 เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2520 กำหนดให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน รวมเนื้อที่ 67,562.5 ไร่ มีหน่วยพิทักษ์ป่า 4 หน่วย ทั้งนี้ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไม่ให้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นและหมดไป

ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2535 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาขยายพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาอ่างฤาไน เพิ่มอีก 5 แสนกว่าไร่ รวมเป็น 643,750 ไร่ โดยผนวกพื้นที่รอยต่อของจังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี บางส่วนเข้ามาร่วมอยู่ด้วยและพื้นที่ดังกล่าวเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อรักษาป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า และแหล่งต้นน้ำลำธารของรอยต่อ 5 จังหวัด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ในพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด




ปัจจุบัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน มีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ทั้งหมด 16 หน่วยฯ ถาวร กับอีก 2 หน่วยฯ ชั่วคราว มีหน่วยงานอื่นของกรมป่าไม้อยู่ในพื้นที่ คือ สวนพฤกษศาสตร์ 100 ปี กรมป่าไม้ สถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ( ศูนย์วิจัยสัตว์ป่าภูไท) หน่วยจัดการต้นน้ำ 6 หน่วย และสถานีควบคุมไฟป่าภาคกลางที่ 3 ฉะเชิงเทรา (หน่วยควบคุมไฟป่าภูไท)

ภูมิประเทศ พื้นที่ตอนบนและตอนกลางของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลูกฟูก มีความลาดชันปานกลาง จึงเป็นบริเวณที่ราษฎรบุกรุกแผ้วถางและถือครองที่ดินกันมากก่อนที่จะมีการอพยพออกจากพื้นที่

ส่วนพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูเขาสูง ความสูงของพื้นที่จากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 30 - 802 เมตร ยอดเขาสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตฯ คือ เขาสิบห้าชั้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 802 เมตร

พื้นที่ทางตอนใต้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด และเทือกเขาจันทบุรี ประกอบด้วยภูเขาที่มีความลาดชันต่อเนื่องกัน เช่น เขาอ่างฤาไน เขาใหญ่ เขาชะมูนและเขาชะอม เป็นต้น

ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นที่เกิดของลำห้วยและลำธารที่สำคัญหลายสาย ไหลลงสู่แม่น้ำสำคัญๆ คือ แควระบม - สียัด ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำบางปะกง ที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองลำพระเพลิงใหญ่ คลองพระสะทึง จากเขาสิบห้าชั้น ไหลไปรวมกับแม่น้ำปราจีนบุรี คลองตะโหนด ไหลลงสู่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และคลองประแสร์ที่ต้นน้ำมาจากเทือกเขาใหญ่ ไหลผ่านอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ออกสู่ทะเลที่จังหวัดระยอง เป็นต้น




สภาพภูทิอากาศ
พื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ฝนตกค่อนข้างชุกและเนื่องจากมีเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ จึงทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวมีฝนตกมากกว่าทางตอนเหนือ
นอกจากอิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่านแล้วยังได้รับอิทธิพลจากทะเล ลักษณะของภูมิอากาศจึงมีทั้งแบบสะวันนาทางตอนบนของพื้นที่และแบบมรสุมเขตร้อนทางตอนล่างของพื้นที่

ด้วยเหตุของภูมิอากาศที่แตกต่างกันของพื้นที่โดยรอบผืนป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ดังนั้น จึงเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและสังคมสัตว์ในพื้นที่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสังคมพืชนั้นมีการกระจายของพรรณพืชจาก 2 ภูมิภาคด้วยกัน คือ ภูมิภาคอินโดจีน (Indo-China) และภูมิภาคอินโดมาลายา (Indo-Malaya)

ทางด้านธรณีวิทยา พื้นที่ตอนใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาจันทบุรี ซึ่งเกิดจากการดันตัวของหินอัคนีชนิดเย็นตัวภายใน





ลักษณะป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน

เป็นป่าลุ่มต่ำที่ไม่ผลัดใบและเป็นป่าพื้นที่รอยเชื่อมต่อ (transitionzone) ระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity) อย่างมาก ป่าดงดิบส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบแล้ง มีเพียงเล็กน้อยที่เป็นป่าดงดิบชื้น สังคมพืชเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้ากับไร่ร้าง
ป่าดงดิบแล้ง [ Dry Evergreen forest ] เป็นป่าที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเกือบทั้งหมด ยกเว้นพื้นที่ตามสันเขาหรือในบริเวณที่มีดินตื้นจะมีสังคมพืชชนิดอื่นขึ้นแทรกอยู่เป็นหย่อมๆ

เพื่อนของผู้เขียนได้ติดตามผู้ว่าราชการจังหวัดไปเยือน เขาอ่างฤาไน โดยพักค้างคืนหนึ่งคืน ผู้เขียนไม่ทราบว่า ผู้ใหญ่ทางกรมป่าไม้ได้เคยมาเยือน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนบ้างหรือไม่ แต่เพื่อนเล่าว่า เป็นการไปเยือนครั้งแรกของทางส่วนราชการของจังหวัดฉะเชิงเทราของสมัยการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของ คุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์ และคณะผู้ติดตามเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2538 โดยพักค้างคืนที่เรือนรับรองของที่ทำการ ฯ การไปครั้งนี้มิได้มีเจตนาเข้าไปในป่าลึก ทางที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ได้จัดเตรียมโปรแกรมในลักษณะการทำ presentation เสนอด้วย วีดีโอ ที่เสนอภาพ ป่าที่อุดมสมบูณณ์ด้วยพันธุ์ไม้ พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์นานา ชนิด ซึ่งอยู่ลีกเข้าไปอีกมาก ทุกคนที่ร่วมคณะ พากันตื่นตาตื่นใจ ว่าพวกเขาที่นั่งอยู่ ณ สถานที่นั้นอยู่ไม่ไกลเกินไปจนเหมือนฝัน กับ ภาพที่โลดแล่น บนจอภาพนั้นอยุู่ นอกจากภาพของป่าเขาลำเนาไพร ต้นไม่ใบหญ้า และสรรพสิ่งที่มีชีวิต ต่างๆ แล้ว ทางสำนักงานเขต ฯ ยังมีบทความเชิงวิชาการในด้านการบริหารจัดการงานวนอุทยาน อธิบายอย่างละเอียด เป็นความรู้ที่ไม่ค่อยได้รู้กันนักอีกด้วย




ซึ่งก่อนชมภาพ วีดีโอ ทางสถานที่ทำการ ฯ ได้เตรียมการ แผ้วถางทาง ใหม่ ๆ สด ๆ จนเห็นร่องรอย พอให้เป็นทางเดินได้ นำพาคณะของจังหวัด เดินชมสถานที่ และไปออกกำลังกายปีนเขาเตี้ย ๆ ลูกหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก มีการอำนวยความสะดวก ทำราวไม้ไผ่ให้เกาะยึด ในการเดินขึ้นไปชมวิวบนยอดเขา ( ไม่สูงนัก ) สูดอากาศบริสุทธิ์แสนชื่นใจ ชมความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า รอบ ๆ บริเวณ พักจนหายเหนื่อยเมื่อยล้ากายา อิ่มเอมใจกับภูมิทัศน์แล้วก็ไต่ราวไม้ไผ่กลับลงมา เพื่อน อธิบายสภาพของป่า ว่า ไม่เหมือนป่าที่เขาใหญ่ ผู้เขียนอ่านพบมาว่า สิ่งที่เขาพยายามอธิบายผู้เขียนนั้น เขาเรียกป่าดงดิบแล้ง เพื่อนดีใจบอกว่า เออ ใช่ ใช่เลย ต้องเรียกแบบนั้น เพราะมันไม่ดิบชื้นจริงๆ


แต่ผู้เขียนเข้าใจเองว่า คำว่าป่าดงดิบชื้น และป่าดงดิบแล้ง เพื่อเป็นการจำแนกพันธ์ไม้ที่อยู่กระจัดกระจายในผืนป่า นา นา ชนิด (ผิดถูกประการใด ก็ขอภัย เพราะที่บ้าน มีแต่ชาว "มีนกร " "วิศวกร " ไม่มีพวก "วนศาสตร์ " ไม่รู้ว่า เรียก ชาวอะไรกร ให้ถามไถ่ได้ ผู้เขียนเรียกเอาเองว่า พวก วนากร ก็แล้วกัน) ได้คำตอบจากชาวมีนกร ว่า เขาเรียกพวก วนกร หรือเรียกอีกอย่างว่า พวก วอ.นอ. ส่วนพวกสัตว์แพทย์ ก็เรียกว่าพวก สอ.พอ.ซึ่งนิสิตคณะอื่นจะแกล้งเรียกให้เป็นพวกสอพลอ มีสร้อยต่อท้าย อีก 2 คำด้วย ม. ม.

เนื่องจากบ้านพักมีไม่มาก เรื่อนที่คณะไปพัก เป็นเรือนพักของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ฯ เอง ทั้งหมด หรือมีเรือนรับรองบางส่วน เพื่อนเขาไม่แน่ใจ สรุปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์ตามตำแหน่งสำคัญของจังหวัดเท่านั้นที่เป็น ชาย จึงจะได้พักบนเรือน ส่วน สุภาพสตรีไม่ต้องใช้ตำแหน่งงาน ใช้เพียงความเป็นเพศอ่อนแอกว่า ชาย ที่ได้รับสิทธิพิเศษทุกคนเท่าเทียมกันในความเป็น หญิง ได้พักบนเรือน ประดาชายอื่น ๆ ต้องกางเต้นท์นอน หลังการสังสรรค์ เฮอา ปาร์ตี้ อิ่มหนำสำราญใจกันดีแล้ว ก็แยกย้ายกันไปที่พัก ตามสถานะภาพของตนในขณะนั้น น้ำที่อาบ เย็นเจี๊ยบจับขั้วหัวใจ แต่ก็เป็นห้องน้ำที่ทันสมัยอาบน้ำได้จากฝักบัว ไม่ต้องใช้ขันตักจ้วงน้ำในโอ่งน้ำ แต่น้ำที่ใช้โดยผ่านการเปิดก๊อกน้ำจะมีเวลาเปิดปิดแจ้งให้ทราบ





เหตุการณ์น่าจะดีที่ได้นอนหลับพักผ่อนในท่ามกลางป่าดงพงไพร มีเสี่ยงจักจั่นหรีดหริ่งเรไรขับกล่อมนิทราให้หลับฝันดีว่าได้เข้าไปเที่ยวป่าลึกสัมผัสธรรมชาติตามที่ได้ฃมวีดีโอในตอนเย็น ส่วนเสียงนกไพรนั้นเขาขับกล่อมเฉพาะเวลากลางวันไปแล้ว ตอนนี้ก็หมดหน้าที่ของบรรดาเหล่าสกุณาทั้งหลาย นกก็ต้องนอนเหมือนกัน พลันจู่ ๆ สายฝนก็กระหน่ำโปรยปรายลงมาเสียงดังซู่ ใหญ่ ในกลางดึก ตอนแรก คนที่ตื่นขึ้นมาก็นอนฟังเสียงสายฝนเพลิดเพลินดีไปอีกแบบ แต่พักใหญ่ ก็เกิดความโกลาหล กับผู้โชคร้ายที่นอนเต๊นท์ เนื่องจากน้ำท่วม ต้องออกจากเต๊นท์ หอบข้าวของสมบัติส่วนตัวของตัวเอง ขึ้นเรือนมาเคาะประตูห้องร้องเรียกกันวุ่นวายกับเรือนผู้หญิง เพราะเรือนผู้ชาย เป็นผู้ใหญ่ของจังหวัด จึงมีความเกรงอกเกรงใจ คนที่มีรถส่วนตัวของตัวเองมา ก็เปลี่ยนใจหันกลับขนข้าวของตัวเองขึ้นรถ ขับกลับบ้านในคืนนั้นเลย หอบสมัครพรรคพวกที่สมัครใจกลับคืนนั้น ไปด้วยบางส่วน


คณะที่ยังอยู่ใน สำนักงานเขต ฯ กว่าจะลงตัวเรียบร้อยดี ได้นอนอีกรอบก็หมดแรง ไม่ได้ชื่นชมกับ เสียงสรรพสัตว์รอบ ๆ ตัวเสียแล้ว ผู้เขียนจินตนาการว่า คงมีเสียง กบ อึ่งอ่าง เขียด ปาด ส่งเสียงเริงร่ารับสายฝนกันอื้ออึงคนึงไพรระงมข่มเสียงหรีดหริ่งเรไร

เสียดายที่ผู้เขียนเองไม่ได้ร่วมคณะด้วย มิฉะนั้น คงมีเรื่องเล่าที่มีรายละเอียดมากมายกว่านี้มาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน เพียงได้เรื่องมาเป็นสังเขปแค่นี้เอง จะเซ้าซี้ ซักโน่นซักนี่กับเพื่อนก็เกินเหตุที่เขาต้องมานั่งนึกลำดับความที่นานมากทีเดียว






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น