วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

[บทความ] คงคาสวรรค์....

คงคาสวรรค์



ในราตรีข้างแรมที่ฟ้ามืดสนิท บางครั้งจะแลเห็นทางสายขาว ๆ ทอดผ่านไปในอากาศอันเวิ้งว้าง คนโบราณเรียกทางสีขาวในท้องฟ้านั้นว่า ทางช้างเผือก ซึ่งจะเป็นอะไรก็ตามแต่ ในทัศนะของคนหลายร้อยล้านคน ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เชื่อกันว่านั่นคือ อากาศคงคา หรือแม่น้ำคงคาในสวรรค์

.

ใคร ๆ ก็รู้ว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในโลกมนุษย์ มีความยาว 1,600 ไมล์เศษ ไหลจากทิวเขาหิมาลัย ผ่านท้องที่ราบกว้างใหญ่ตอนเหนือของอินเดียมาออกทะเลทางทิศตะวันออกที่อ่าวเบงกอล แม่น้ำคงคาในทางภูมิศาสตร์ ไม่มีอะไรผิดแปลกไปกว่าแม่น้ำสายอื่นๆ ในขนาดเดียวกัน คือเป็นประโยชน์ ในทางคมนาคมและบำรุงหล่อเลี้ยงสาลีเกษตรให้อุดมสมบูรณ์ แต่ในทางจิตใจของคนอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวฮินดู แม่น้ำคงคาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวิญญาณของเขาทีเดียว แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ชาวฮินดูเทิดทูนบูชาว่า เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะไหลมาจากสรวงสวรรค์ เป็นแม่น้ำที่ชำระบาปให้หมดสิ้นไป ถ้า อสุภและอังคารธาตุได้ลอยลงในแม่น้ำนี้ ผู้ตายจักได้ไปสวรรค์

เหตุใดแม่น้ำคงคาจึงได้ชื่อว่าเป็น แม่น้ำในสวรรค์ และ เหตุใดจึงเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่ถือว่าชำระบาปได้
ถ้าจะเอาเหตุและผลและความจริงเข้ามาจับก็จะเห็นว่าเหลวไหล ไม่มีความจริง แต่ในด้านของจิตใจ เหตุผลและความจริง ก็ไม่เป็นสิ่งสำคัญเสมอไป ที่สำคัญที่สุด คือศรัทธาและความเชื่อ นั่นต่างหาก ความศรัทธาหรือความเชื่อนี้ได้ฝังลงในจิตใจของชาวฮินดูอย่างลึกซึ้งมาแล้วนับพันๆปี ฉะนั้น ไม่จำเป็นจะต้องคิดค้นหาเหตุผล หรือข้อเท็จจริงอันใดมาทักท้วงศรัทธาอันนั้นให้เสื่อมสูญไป ในเมื่อถึงอย่างไร ศรัทธานั้นก็เป็นความหวังอย่างเดียวที่หล่อเลี้ยงจิตใจคนให้มีความสุขตลอดระยะเวลาที่ต้องทนทุกข์ และผจญกับความวุ่นวายของโลกนี้




ศาสนาพราหมณ์แต่ดึกดำบรรพ์ได้สร้างบรรดาเทพเจ้า และได้ให้ความหวังอันงดงามแก่มนุษย์ในการที่จะได้พึ่งพาเทพเจ้าเหล่านั้น แม่นำคงคาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกยกย่องว่าเป็นเทพเจ้า และมีประวัติอันพิสดารมากมาย บางตอนก็อ้างอิงใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุด จนกระทั่งถ้าไม่คำนึงถึงเหตุผลแล้ว เรื่องของแม่น้ำคงคาก็น่าจะเป็นเรื่องที่สมบูรณ์ ที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นผลสัมฤทธิ์จากความฝันอันบรรเจิดของพราหมณ์ผู้สอนศาสนาแต่โบราณ

พระคงคาเทพธิดาแห่งสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นธิดาองค์โตของท้าว หิมวัต เจ้าแห่งขุนเขาหิมาลัย และพระนางเมนา เป็นพระพี่นางของพระอุมาหรือบรรพตี มเหสีของพระศิวะ ผู้เป็นพระเจ้าอันสูงสุด ว่าโดยชาติกำเนิดของพระคงคาก็นับว่าบริสุทธิ์อย่างยิ่งเพราะเป็นชาวสวรรค์ และถ้าจะคิดว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำธรรมดา ก็ยังเห็นว่าบริสุทธิ์ อยู่ดี เพราะมีถิ่นกำเนิดจากหิมะบนยอดเขาหิมาลัย อันสูงค้ำฟ้ายากที่ใครๆ จะขึ้นถึง (เมื่อสมัยก่อน) ความคิดฝันของพราหมณ์ที่ว่าพระคงคาเป็นชาวฟ้า และเป็นความจริงที่ว่าแม่น้ำคงคาไหลมาจากภูเขาสูงตระหง่านฟ้า ก็น่าจะยุติลงรอยเดียวกัน คือบริสุทธิ์ อย่างยิ่งทั้งในด้านความคิดฝันและในด้านความจริง




เหตุใดพระคงคาจึงลงมาสู่โลกมนุษย์
มีรายละเอียดตามเรื่องราวของอากาศคงคา คือ ท้าวสคร มีมเหสีเอกชื่อ เกศินี เป็นราชธิดาพระราชาวิทรรภ์ มีพระราชโอรสชื่อ อัสมัญชะ พระมเหสีรอง สุมติ เป็นธิดาพระกาศยปพรหมฤาษี มีโอรสหกหมื่นองค์...............
และเมื่อหลังจากที่พระศิวะปล่อยพระคงคาให้ไหลลงสู่เชิงเขาหิมาลัยนั้น พระคงคาไหลผ่านภูเขาอันสลับซับซ้อน ลงสู่แอ่งใหญ่ก่อนจะถึงที่ราบเบื้องต่ำ ตรงแอ่งใหญ่นั้นได้ชื่อว่า คงคาทวาร หรือหรทวาร แล้วไหลผ่านที่ราบตัดเข้าสู่มณฑลพิธีของ ชหนุฤาษี และถูก ชหนุฤาษีกลืนกระแสน้ำนั้นไว้หมดด้วยฤทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ จนในกาลต่อมาเมื่อความโกรธบรรเทาลงแล้ว จึงปล่อยให้กระแสน้ำนั้นไหลออกทางหูของตน พระคงคาจึงแยกเป็นสองสาย (กล่าวกันว่าสายหนึ่งกลายเป็นแม่น้ำ ยมุนา ซึ่งในที่สุดไหลมาบรรจบกับแม่น้ำคงคา ที่ตำบลประยาค) เมื่อ ไหลผ่านมาถึงหลุมใหญ่ซึ่งเป็นสุสานกองอัฐิดังภูเขาเลากาของเจ้าชายทั้งหกหมื่นองค์ แม่คงคาก็ท่วมท้นหลุมนั้นจนกลายเป็นอ่าวอันกว้างใหญ่ต่อเนื่องกับมหาสมุทร อินเดีย เรียกกันว่า “คงคาสาคร” หรือ “มหาสาคร” (ปัจจุบันคืออ่าวเบงกอล ) เมื่อพระคงคาได้ชำระล้างบาปแล้ว โอรสหกหมื่นองค์ของพระเจ้า สคร ก็มีวิญญาณอันบริสุทธิ์ได้ไปสู่สรวงสวรรค์
และในกาลต่อมา มหาชนชาวชมพูทวีป ก็พลอยได้รับประโยชน์จากแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์นั้น เช่นเดียวกับเจ้าชายทั้งหกหมื่นองค์ทุกประการ
ด้วยเหตุฉะนี้แล แม่น้ำคงคาจึงทรงความศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่อยู่ในศรัทธาของชาวภารตวรรษทุกยุคทุกสมัยเรื่อยมา

เพราะเหตุที่ในกาลต่อมาพระคงคา ได้เป็นมเหสีของพระราชาในแดนดิน คือพระเจ้า ศานตนุ กษัตริย์แห่ง จันทรวงศ์ โอรสของพระนางจึงได้นามว่า คังเคยะ (มีกำเนิดจากพระคงคา) ซึ่งในมหาภารตยุทธ์ เรียกว่า เจ้าชาย ภีษมะ
เพราะเหตุที่พระคงคา เป็นแม่น้ำที่ไหลอยู่ในสรวงสวรรค์ อันอาจแลเห็นได้เป็นทางสีขาวพราวระยิบระยับในเดือนมืด คนทั้งหลายจึงเรียกทางขาวระยับนั้นว่า “อากาศคงคา “ หรือแม่น้ำ คงคาในสวรรค์
และในประการสุดท้าย เพราะเหตุที่ แม่พระคงคา เป็นผู้ชำระบาปให้ทุกๆคนได้ไปสวรรค์ ชาวฮินดูทั้งหลายผู้มีความหวังเต็มเปี่ยมในหัวใจ จึงไม่ละเว้นที่จะหาโอกาสไปตายในที่ใกล้แม่น้ำคงคาในกาลเมื่ออวสานแห่งชีวิตของตนใกล้จะมาถึง เพื่อว่าร่างกายของตนจะได้รับการเผาไหม้ และซากศพของตนจะได้ถูกโยนลงสู่แม่น้ำคงคา รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ เพื่อจักได้เข้าสู่แดนสวรรค์ต่อไป ในการเผาศพโยนทิ้งแม่คงคานั้น จะทำที่ไหนก็ไม่ประเสริฐเท่าที่ฝั่งแม่น้ำคงคา หน้าเมืองพาราณสี และที่ท่าน้ำไหนๆ ในเมืองนั้น ก็ไม่มีท่าใดจะประเสริฐและศักดิ์สิทธิ์เท่า ท่า “ มณีกรรณิการ์”



แม่น้ำคงคาจะดำรงความศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่อยู่ในศรัทธาของชาวฮินดูผู้นับถือศาสนาฮินดูต่อไปอีกนานแสนนานตราบเท่าที่ชาวฮินดูทั้งมวล ยังมีศรัทธาอันแข็งกล้าอยู่ และนานแสนนาน จนกว่า....พราหมณ์จะเลิกฝัน

ภารตวรรษ หรือประเทศอินเดีย เป็นอู่อารยธรรมหนึ่งของโลก และทรงอิทธิพลต่อหลายประเทศในภูมิภาคนี้.



เรื่องคงคาสวรรค์นี้ท่านศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เคยเมตตากรุณาอนุญาตให้นำมาจัดพิมพ์บทประพันธ์บางเรื่องของท่าน ในหนังสือที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ คุณยายสมใจ พัวพันธุ์ ของพลอยโพยม เมื่อ ปี พ.ศ. 2528 ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดหลายข้อ เกี่ยวกับพระคงคาไว้ เลยขออนุญาตคัดลอกมาอีกครั้งใน เรื่อง คงคาสวรรค์ ซึ่งเป็นการขยายความเนื้อเรื่องของอากาศคงคานั่นเอง

ฤษี - น. ฤาษี คือ นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบำเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น ผู้แต่งพระเวท ; ป.อิสิ)
คำอธิบาย น. ส. ป.
น . คือ นาม
ส.คือ สรรพนาม
น.และ ส. บอกชนิดของคำตามหลักไวยากรณ์
ป. คือ ปาลิ (บาลี) เป็นการบอกที่มาของคำ


เนื่องจาก ฤษี ฤาษี คือผู้ แสวงหาความสงบ บำเพ็ญพรต ด้วยการ เข้า ณาน ในทาง ธรรม ถือว่า เป็นการปฏิบัติ สมถะกรรมฐาน อันเป็นอุบายสงบใจ สิ่งที่ได้ คือ ฌาน อิทธิฤทธิ์ ต่างๆ ไม่ได้ตัด ซึ่งกิเลศ ตัณหา และอุปาทาน ยังคงมี รัก โลภ โกรธ และหลง หรือ คือ โลภะ โทสะ โมหะ มี เป้าหมาย สูงสุด คือ พรหม แม้จะเป็นพรหม แต่ก็ยังคงต้องเวียนว่าย อยู่ใน สังสารวัฏ 31 ภพภูมิ มิได้ไปสู่ ความหลุดพ้นคือ นิพพาน
จึงมิต้องแปลกใจ หากอ่านเรื่องราวต่างๆ ของฤาษี หลาย ๆ องค์ ที่ยังมีอารมณ์แบบปุถุชน ทั่วไป มีฌาน และเสื่อมฌาน ตามวาระจิต

ส่วนวิปัสสนากรรมฐาน เป็น อุบายเรืองปัญญา

ภาพจากอินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น