มัศยา....เยื้องกรายสายนที.1
ภาพจากหนังสือประถม ก กา
มัศยา ในบทความต่อไปนี้ นับรวมถึงสัตว์น้ำทุกประเภทในลำแม่น้ำบางปะกง คือ กุ้ง หอย ปู และปลา เป็นผลพลอยได้จากการจะเล่าสู่ถึงความหลากล้วนหมู่มวลมัจฉาที่มากมายในสายนทีนี้ในอดีต เนื้อหาบางส่วนอาจจะดูเป็นวิชาการไปบ้าง ก็เพราะเป็นครอบครัวของชาวมีนกรถึง 2 รุ่น แต่จุดประสงค์หลักเพียงเรื่องเล่าตามประสบการณ์บ้านอยู่ริมฝั่งชล เท่านั้น ส่วนของวิชาการขอให้นึกว่าเป็นส่วนเกินประเภทของแถมทำนองนั้นก็แล้วกัน
ขอเริ่มจาก...ปู... ก่อนสัตว์น้ำอื่น สาเหตุที่เริ่มต้นจากปู เพราะยังติดใจจำหนังสือ คำกลอนสอนอ่าน ประถม ก กา แบบเรียนเล่มแรกของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นฉบับ เจ้าหมื่นศรีสะรักษ์ (หม่อมราชวงศ์จิตร์) รวบรวม
...บท แม่ไก่อยู่ในตะกร้า...
ก ข แล ก กา
ให้อุส่าห์จำไว้ดี
ทำแต่ ก กานี้
มิได้มีอะไรคละ
ใครใครให้อุส่าห์
เล่า ก กา จำไว้หนะ
ให้ดีมีมานะ
จำได้จะให้ต่อไป
แม่ไก่อยู่ในตะกร้า
ไข่ ไข่ มาสี่ห้าใบ
อีแม่กาก็มาไล่
อีแม่ไก่ไล่ตีกา
หมาใหญ่ก็ไล่เห่า
หมูในเล้าแลดูหมา
ปูแสมแลปูนา
กะปูม้าปูทะเล
เต่านาแลเต่าดำ
อยู่ในน้ำกะจระเข้
ปลาทูอยู่ทะเล
ปลาขี้เหร่ไม่สู้ดี
ซื้อเขาเบาราคา
ปลาขี้ข้าใช่ผู้ดี
ก กา ว่าเท่านี้
ดูต่อไปมีในกก
บรรยากาศของเนื้อหาอ่านแล้วชวนให้หวนระลึกถึงความเป็นอยู่ของตัวเองในสมัยเด็กๆ ที่ได้กระโดดโลดเต้นไปกับสภาพสิ่งแวดล้อม เหมือนคำประพันธ์โบราณข้างต้นจริงๆ มี ไก่ อีกา หมา หมู ปู เต่า อยู่รอบๆตัวเราในครั้งกระนั้น การที่หมูในเล้าแลดูหมาเพราะอยากเห่าได้ หรืออิจฉาหมาที่ได้อยู่นอกเล้าวิ่งไปไหนมาไหน ใช่หรือเปล่าหนอ ในความจริงบางทีไก่ก็ไล่จิกตีหมาด้วยซ้ำไป คงรำคาญเสียงเห่าเสียละกระมัง คำกลอนสอนอ่านบทนี้ช่างรวบรวมเอาสรรพสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำจืด สัตว์น้ำทะเล สัตว์บก สัตว์ปีก สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกมาอยู่รวมกันได้อย่างเหมาะเจาะ อ่านแล้ว จดจำมาแต่เล็กจนโต..จนสูงวัย จนบัดนี้
ปูทะเล SERRATED MUD CRAB
ชื่อไทย : ปูทะเล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Scylla serrata
ปูในป่าชายเลนในไทยมีประมาณ 30 ชนิด ปู...หายใจด้วยเหงือก โดยดูดออกซิเจนจากน้ำ ซึ่งไหลเข้าทางช่องที่อยู่หน้าก้ามหนีบ ทางน้ำออกอยู่บริเวณข้างๆ ระยางค์ปาก ปูตัวแรกเป็นเรื่องของปูทะเล พระเอกตัวเอ้ของสรรพปู ( เอ้แปลว่า สำคัญ หัวโจก)
ปูทะเลมีส่วนหัวกับอกรวมกัน ส่วนนี้จะมีกระดองห่อหุ้มไว้ กระดองกลมรีเป็นรูปไข่ ลักษณะภายนอกที่เห็นได้ชัดเจนคือ ลำตัวของปูเป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า "จับปิ้ง" พับอยู่ใต้กระดอง จับปิ้งเป็นอวัยวะที่ใช้เป็นที่อุ้มพยุงไข่ของแม่ปู นอกจากนี้ยังเป็นอวัยวะที่ใช้แยกเพศ คือ ในเพศเมียจับปิ้งจะมีลักษณะกว้างปลายมนกลมกว่าของเพศผู้ ซึ่งมีรูปเรียวและแคบ ส่วนยาวแคบกว่าส่วนกว้างของกระดองด้านหน้า ระหว่างตามีหนามแหลม 6 อัน เรียงกันและมีหนามเรียงจากตาไปทางด้านซ้าย-ขวาของกระดองด้านละ8- 9 อันตาของปูทะเลเป็นตารวม ประกอบด้วยตาเล็กๆ จำนวนมาก มีความรู้สึกไวต่อสิ่งเคลื่อนไหวอยู่รอบตัว และยังมีก้านตาช่วยในการชูลูกตาออกมาภายนอกเบ้า และหดกลับเข้าไปได้ ทำให้ปูมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อย่างดียิ่งขึ้น
ปูทะเลมีขา 5 คู่ ขาคู่แรกอยู่หน้าสุดมีขนาดใหญ่มากเรียกว่า "ก้ามปู" ก้ามปูจะมีหนามแหลม ปลายก้ามปูแยกออกเป็น 2 ง่ามมีลักษณะคล้ายคีมใช้จับเหยื่อกินและป้องกันตัว ขาอื่นๆไม่มีหนาม ปลายสุดของขาคู่ที่ 2-4 มีลักษณะแหลมเรียกว่า "ขาเดิน" ทำหน้าที่ในการเดินเคลื่อนที่ ส่วนขาคู่ที่ 5 เป็นคู่สุดท้ายเรียกว่า "ขาว่ายน้ำ"ตอนปลายสุดของขาคู่นี้มีลักษณะแบนคล้ายใบพาย
ปูตัวผู้จะมีก้ามใหญ่และแข็งแรงกว่าตัวเมีย...ปู มีเลือดสีฟ้าใสๆ มีสารประกอบพวกทองแดงปนอยู่ในเลือด เมื่อได้รับบาดเจ็บ เช่น กระดองแตก หรือก้ามหลุด เลือดใส ๆ จะไหลออกมามีลักษณะข้น ๆ เมื่อโดนความร้อนจะกลายเป็นสีขาวขุ่นคล้ายครีม (จะสังเกตได้หากปูสดจริงๆแล้วนำมาต้มสุกจะพบครีมลักษณะนี้ทั้งในกระดอง และนอกกระดองปู) มีสำนวนไทยว่า 'หาเลือดกับปู หรือ รีดเลือดจากปู หรือ เอาเลือดกับปู' โดยมีความหมายว่า ปูไม่มีเลือด เพราะเลือดปูไม่เป็นสีแดงนั้นเอง จึงพากันเข้าใจว่าปูไม่มีเลือด สำหรับอวัยวะภายในทั้งหมด ได้แก่ หัวใจ กระเพาะอาหาร ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ จะรวมกันอยู่ภายในกระดอง
ปูทะเลเจริญเติบโตโดยอาศัยการลอกคราบ...เนื่องจากกระดองของปูเป็นสารประกอบพวกหินปูนที่มีความแข็งแรงมาก จึงไม่สามารถยืดขยายตัวออกไปได้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่คือ มีเนื้อแน่นเต็มกระดอง ก็จะมีการลอกคราบ เพื่อขยายขนาด (การเพิ่มน้ำหนักและขนาดตัว) โดยการสร้างกระดองใหม่มาแทนที่ ตรงขอบหลังกระดองเผยให้เห็นกระดองใหม่ยังเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ซึ่งเรียกกันว่าปู สองกระดอง ระยะเวลาในการลอกคราบของปูจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของปู
เมื่อปูทะเลลอกคราบใหม่ ๆ นั้น กระดองใหม่จะนิ่ม ผิวเปลือกย่น เรียกว่า "ปูนิ่ม" ซึ่งต่อมาจะค่อย ๆ ตึงและแข็งตัวขึ้น ในระยะที่เป็นปูนิ่มจะเป็นระยะที่ปูมีความอ่อนแอมากที่สุด แทบจะเคลื่อนไหวไม่ได้ จึงต้องหาที่หลบซ่อนตัวให้พ้นจากศัตรู ระยะเวลาตั้งแต่ลอกคราบหลบซ่อนจนกระทั้งกระดองใหม่แข็งแรงสมบูรณ์เต็มที่แล้ว สามารถออกมาจากที่ซ่อนได้ กินเวลาประมาณ 7 วัน ปูทะเลในเขตร้อนจะใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตจนถึงขั้นสมบูรณ์เพศ ประมาณ 1.5 ปี เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้จะอุ้มตัวเมียไว้รอจนกว่าตัวเมียจะลอกคราบแล้วจึงผสมพันธุ์ ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจะถูกปล่อยออกมาอุ้มไว้ที่หน้าท้องจนกระทั่งฟักออกไปเป็นตัวอ่อน
ฤดูกาลวางไข่ผสมพันธุ์ของปูทะเลอยู่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม แม่ปูจะมีไข่ในระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม สามารถ วางไข่ได้ตลอดทั้งปี โดยจะวางไข่ชุกชุมในระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม ไข่ของปูทะเลจะมีสีส้มแดง เมื่อไข่แก่ขึ้นจะเป็นสีน้ำตาลเกือบดำ ซึ่งจะถูกปล่อยออกมานอกกระดองบริเวณใต้จับปิ้ง
ปูทะเลเป็นสัตว์น้ำกร่อยประเภทหนึ่งที่มีการอพยพย้ายถิ่น เพื่อการแพร่พันธุ์ โดยปูเพศเมียจะอพยพจากแหล่งหากินในบริเวณเขตน้ำกร่อยออกไปวางไข่ในทะเล ซึ่งจากการอพยพนี้ จะมีขึ้นภายหลังจากที่ได้ผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว และในขณะที่กำลังเดินทางสู่ทะเล ปูบางตัวอาจจะปล่อยไข่ออกมาไว้ที่ส่วนท้องแล้วก็ได้ ชูชาติ, 2528 ได้อ้างถึงการศึกษา Hill ในปี ค.ศ. 1975 และ 1983 จึงกล่าวว่า ลูกปูวัยอ่อนมีอยู่ 2 ระยะได้แก่ ระยะ Zoea 1-5 และ Megalopa 1 ระยะ ในระยะ 'Zoea' เป็นระยะที่ระยางค์ว่ายน้ำยังไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ จึงล่องลอยหากินไปตามกระแสน้ำ เมื่อเข้าระยะ 'Megalopa' จะมีการว่ายน้ำสลับกับการหยุดเกาะอยู่กับที่เป็นครั้งคราว ซึ่งถือได้ว่าระยะนี้เริ่มมีการแพร่กระจายเข้ามาหากินในบริเวณน้ำกร่อย เมื่อลูกปูลอกคราบจากระยะ Megalopa เป็นตัวปูที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่ทุกประการ จะท่องเที่ยวหากินอยู่ในแหล่งน้ำกร่อยได้อย่างอิสระ หลังจากนั้นปูเพศเมียที่สมบูรณ์เพศและผ่านการจับคู่ผสมพันธุ์แล้ว จะอพยพออกไปวางไข่เช่นเดียวกับแม่ของปูเอง เป็นวัฎจักรเช่นนี้สืบไป
ปูทะเล มีชื่อสามัญที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ปูทะเล ปูดำ ปูขาว ปูทองหลาง ปูทองโหลง ปูทองแดง เป็นต้น ปูทะเล มีลักษณะภายนอก และพฤติกรรมบางอย่างที่สังเกตพบว่าแตกต่างกัน เช่น ปูขาว และปูดำ นั้นมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ สีลำตัว โดยที่ปูดำจะมีสีเข้มค่อนข้างคล้ำ มีนิสัยดุร้ายกว่าปูขาว ซึ่งมีสีเขียวขี้ม้าจาง ๆ และดุร้ายน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ลักษณะที่แตกต่างกันดังกล่าวนั้นอาจจะเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมของแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่สนับสนุนว่าลักษณะที่แตกต่างกันดังกล่าวนั้น แสดงชนิด (Species) ที่แตกต่างกัน
ส่วนแม่กระแซงหรือกระแซงนั้นเป็นปูตัวเมียที่มีขนาดใหญ่และมีไข่อยู่ที่จับปิ้ง ส่วนปูกระเทยเป็นปูที่ยังไม่โตเต็มที่ จับปิ้งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย ปูทะเลพบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำกร่อย ป่าชายเลน และปากแม่น้ำที่มีน้ำทะเลท่วมถึง โดยขุดรูอยู่ตามใต้รากไม้หรือเนินดินบริเวณชายฝั่งทะเลทั้งฝ่ายอ่าวไทยและอันดามัน โดยเฉพาะที่ชุกชุมในบริเวณที่เป็นหาดโคลน หรือเลนที่มีป่าแสม โกงกาง ป่าจาก และปูทะเลสามารถอยู่ในรูได้นานๆในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง
ปูทะเลเป็นสัตว์ออกหากินในเวลากลางคืนโดยออกจากที่หลบซ่อน หลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง และเข้าที่หลบซ่อนก่อนหน้าดวงอาทิตย์ขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือหลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ดังนั้น แสงและอาหารจึงมีอิทธิพลต่อการปรากฏตัวอยู่ภายนอกที่หลบซ่อน อาหารของปูทะเล ได้แก่ หอยฝาเดียว หอยสองฝา กุ้ง ปู ปลา และเศษพืช ซึ่งปูจะชอบกินปูด้วยกันเองมากที่สุด ปกติแล้วปูทะเลจะไม่กินอาหารที่มีการเคลื่อนที่ หรือสามารถหลบหลีกได้ดี เช่น ปลาและกุ้ง
เมื่อปูทะเลกินอาหาร พบว่าอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการดักจับเหยื่อ และตรวจสอบวัสดุต่าง ๆ ว่าเป็นอาหารหรือไม่ คือ ส่วนปล่อยของขาเดิน อาหารจะถูกส่งเข้าไปในปากผ่านไปถึงกระเพาะแล้วออกสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งทอดผ่านจับปิ้ง ในที่สุดกากอาหารจะถูกถ่ายออกมาทางปล้องปลายสุดของจับปิ้ง
ปูก้ามดาบ (Fiddler Crab)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Uca vocans
วงศ์ : Ocypodidae
คำว่า fiddle หมายถึงคันชักของไวโอลินซึ่งก็หมายถึงลักษณะเด่นของก้ามนั่นเอง บางที่เรียกปูก้ามดาบว่า ปูผู้แทน ปูก้ามดาบเป็นปูเปี้ยวชนิดหนึ่ง ทั่วโลกมีปูก้ามดาบประมาณ 97 Species ในประเทศไทยพบ 11 Species ปูก้ามดาบ 4 Species ที่ปูเพศผู้มีก้ามใหญ่อยู่ด้านขวามากกว่า 50 %ของประชากรปูก้ามดาบ ส่วนที่เหลือก้ามใหญ่อยู่ทางด้านซ้ายนั่นเอง พบปูก้ามดาบได้ตามป่าไม้ชายเลน ป่าไม้โกงกาง ฝั่งอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามัน ฝั่งอันดามันมีความหนาแน่นของประชากรปูก้ามดาบมากกว่าฝั่งอ่าวไทย
ลักษณะทั่วไปของปูก้ามดาบ
เป็นปูขนาดเล็ก กระดองมีรูปร่างเหมือนสี่เหลี่ยมคางหมู ด้านหน้าโค้งมน ด้านข้างปลายสอบเข้าหากัน ด้านหลังนูนออกเล็กน้อย นัยน์ตามีก้านยาว เคลื่อนไหวไปตามทิศทางที่ปูต้องการ เมื่อพบอันตรายจะหดก้านตาเข้าเก็บในเบ้าตา ปากของปูอยู่ใต้ตา มีฟันกราม 6 คู่ และระยางค์เล็กคล้ายเขี้ยวอีก 1 คู่ ก้ามสองข้างขนาดไม่เท่ากัน บางพวกมีขนาดก้าม แตกต่างกัน มากอย่างเด่นชัด ลักษณะโดดเด่น ของปูก้ามดาบนั้น จะมีก้ามใหญ่ เป็นพิเศษ ไม่สมกับลำตัวอยู่ข้างหนึ่ง บางพันธ์อยู่ข้างซ้าย บางพันธ์อยู่ข้างขวาสีสันหลากหลาย เช่น แดงส้มเหลือง หรือฟ้าแซม ก้ามใหญ่นี้จะชูชันสูงอยู่ตลอดเวลา เมื่อปูยกก้ามที่ชูขึ้นลงจะมีลักษณะคล้ายคนสีซอเป็นลักษณะพิเศษนี้มีเฉพาะปูตัวผู้เท่านั้น ส่วนปูตัวเมียมีก้ามทั้งคู่เท่ากัน
ที่ปูตัวผู้ชูก้าม เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขต ซึ่งตนอาศัยอยู่ เมื่อมีศัตรูผ่านมา (ยกเว้น นางสาวปู คือปูก้ามดาบตัวเมียแล้ว สิ่งมีชีวิตอื่นถูกปูก้ามดาบตัวผู้เหมารวมว่าเป็น ศัตรูหมดเลย) นอกจากการชูก้าม เพื่อแสดงอำนาจเจ้าของถิ่น และฉันก้ามใหญ่นะจ๊ะแล้ว การชูก้ามของปูก้ามดาบ เป็นการชูก้ามเพื่อเรียกความสนใจจากปูตัวเมียอีกด้วย ทั้งเรียกและล่อ ตัวเมีย (ดูซิพี่หล่อแค่ไหน ก้ามใหญ่ขนาดนี้แล้วน้องปูสนใจไหมครับผมขอสมัครเป็นแฟน)
รวมทั้งเมื่อถึงเวลาต้องโรมรัน พันตู ต่อสู้ หรือขับไล่ ปูตัวอื่น ก้ามใหญ่นี้ใช้เป็นอาวุธ หากคู่ต่อสู้เป็นปูก้ามดาบด้วยกัน ดาบสองเล่ม ของปู สองตัว ก็ได้ฟาดฟันกันละแต่ไม่ถึงกับบัลลัยไปข้างหนึ่งหรอก ยังไม่เคยเห็น ปูต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย ปะทะกันเพียงเล็กน้อย ด้วยการใช้ก้ามใหญ่จับก้ามใหญ่ของปูอีกตัวหนึ่ง จับหนีบกันไว้แล้วก็ดึงกันไปมา แล้วก็จะมีปูตัวหนึ่งยอมศิโรราบ(บางทีก็เพราะมีก้ามดาบเล็กกว่าด้วย) ปูที่ยอมแพ้จะคลานหนีจากวงต่อสู้กลับเข้ารูของตัวเอง ปู ตัวที่ชนะ ก็ไม่ได้ติดใจไล่ตามแต่ประการใด เป็นทำนองว่าอาณาเขตชั้นใครอย่ามาแหยม เพียงแค่นั้นเอง ฉันแค่รักษาสิทธิ์ครอบครองอาณาจักรนี้เท่านั้น
ก้ามของปูก้ามดาบที่มีประโยชน์จริง ๆ คือก้ามเล็ก เพราะใช้สำหรับหาอาหาร หากก้ามเล็กนี้มีอันเป็นไป ปูก็จะตาย เพราะหาอาหารไม่ได้ ก็ก้ามที่เป็นดาบใหญ่โตเก้งก้างเกินตัวออกขนาดนั้น คีบจับอะไรก็ไม่สะดวก
ปูก้ามดาบที่พบในบริเวณป่าชายเลนมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อระบบนิเวศชายฝั่งและท้องทะเล เพราะปูเป็นสัตว์ที่กินซากสัตว์ คอยเก็บอินทรีย์สารขนาดเล็กซึ่งตกตะกอนอยู่บนหาดเลนกินเป็นอาหาร โดยมีความสามารถเลือกกินเฉพาะสารอินทรีย์แยกออกจากดินทรายได้ โดยใช้รยางค์ปากแบบพิเศษช่วยคือ ปลายขาของพวกมันจะมีลักษณะคล้ายช้อนคอยตักดินส่งเข้าปาก ส่วนรยางค์ปากที่มีรูปร่างเป็นตะแกรงพู่ขนนกหรือช้อน จะทำหน้าที่เลือกเฉพาะจุลชีพและอินทรีย์สารที่มันต้องกินเท่านั้น ตะกอนดินที่ปูไม่กินก็ทิ้งกลับลงสู่พื้นในรูปของก้อนดินกลมเล็กๆ
จากนั้นนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด อาทิ ลิงแสม นกกระเต็น นกยางทะเล และนากใหญ่ จะจับปูเหล่านั้นกินอีกทอดหนึ่ง แต่ศัตรูที่สำคัญจริงๆและอยู่ใกล้ตัวปูก้ามดาบตามชายเลนมาก ก็คือปลาตีน นั่นเอง ปลาตีนจะคอยจับกินลูกปูตัวเล็กๆ
ปูตัวเมียจะกินอาหารได้เร็วกว่าปูตัวผู้เพราะมีความคล่องตัวไม่มีก้ามใหญ่มาเกะกะนั่นเอง ปูก้ามดาบ ขุดรูอยู่ในดินเลน หรือดินเลนปนทรายบริเวณป่าชายเลนเรื่อยขึ้นไปจนถึงแนวเขตที่ติดต่อกับป่าบก เมื่อน้ำขึ้นมันจะฝังตัวแอบอยู่ในรู น้ำลดเมื่อใดก็จะออกมาเดินหาอาหารกิน
ปูก้ามดาบชนิด Uca rosea ถือว่ามีสีสวยงามที่สุด ปูก้ามดาบจะหากินอยู่ไม่ไกลจากรูของมันเพราะต้องเก็บรักษาความชื้นไว้ในร่างกาย มันจึงวิ่งลงรูเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ได้ความชื้นและแก้ปัญหาการสูญเสียน้ำจากตัว
ปูก้ามดาบมีสายตาที่ไวมาก หากมีการเคลื่อนหรือขยับของสิ่งมีชีวิตอื่นปูก็คลานลงรูอย่างรวดเร็ว รออึดใจใหญ่ ปูจะค่อยๆโผล่มา ชูสายตาออกมาสอดส่ายสำรวจความปลอดภัยก่อนจนแน่ใจว่าไม่มีอันตรายอะไร ปูก็จะคลานขึ้นมาจากรู ในเวลาน้ำขึ้น ปูจะขนดินมาอุดปากรูจนมิด ปูก้ามดาบถอยหลังลงรู ใช้ก้ามใหญ่เป็น การ์ด รักษาความปลอดภัยให้ตัวเอง เมื่อออกจากรู ก็โผล่ก้ามใหญ่ ขึ้นมาก่อนเช่นกัน
ก้ามของปูก้ามดาบหลุดง่าย เวลาถูกตะครุบจับตรงก้ามของปู ปูก้ามดาบมักจะบิดตัวให้หลุดออกไปจากก้าม ก้ามปูเหล่านี้เวลาหลุดไปแล้วมันจะงอกก้ามใหม่ขึ้นมาใช้แทนก้ามเก่าได้อีก ธรรมชาติเร้นลับ ของปูก้ามดาบที่น่าอัศจรรย์ใจ อย่างหนึ่งก็คือ สามารถรู้กำหนด เวลาน้ำขึ้นน้ำลง ได้อย่างดีเยี่ยม แม่นยำ ปูก้ามดาบ จะออกจากรูก่อนน้ำขึ้นน้ำลง ช้าเร็วกว่ากันราวๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่า มหัศจรรย์ ต้องกล่าวขวัญเป็นพิเศษ
เคยมีการทดลองนำปูก้ามดาบขึ้นมาจากแหล่งน้ำ มาอยู่ในห้องทดลอง ปูในห้องทดลองก็แสดงอาการขุดรูทั้งที่ปูไม่เห็นแหล่งน้ำ และในวันถัดไปปูจะขุดรูช้ากว่าเดิมราว 50 นาที ซึ่งตรงตามเวลาการขึ้นลงของน้ำขึ้นน้ำลงตามธรรมชาติ แต่ภายหลังจากนั้นสองถึงสามสัปดาห์ ปูก้ามดาบจะค่อยๆสูญเสียวงจรชีวิตของตัวเอง
ปูก้ามดาบจำเป็นต้องอาศัยวงจรธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อกระตุ้นให้นาฬิกาภายในของปูเอง บอกเวลาที่ ถูกต้องเที่ยงตรงแม่นยำมีสัตว์น้ำอื่นที่มีวงจรชีวิตเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ มีสัตว์ที่อาศัยตามชายฝั่งจะเคลื่อนไหวว่องไวเมื่อกระแสน้ำซัดขึ้นกระทบฝั่งเท่านั้น เพรียง หอย และปูบางชนิด โผล่ออกจากโพรงหรือรูของมันเพื่อหาอาหารก็ต่อเมื่อกระแสน้ำขึ้นท่วมตัวเท่านั้น เช่นปูทะเล
ปูก้ามดาบนี้ มีเห็นกลาดเกลื่อนตามชายฝั่งเลน ที่บ้านบางกรูด มีทั้งนอกชานและสะพานท่าน้ำขึ้นลงเรือ ในเวลาน้ำแห้ง ไม่รู้จะทำอะไรดี แดดร่มลมตกไม่ร้อน ก็นอนพังพาบ ก้มหน้าก้มหัวลง ทอดสายตาทัศนาครอบครัวปูหลายชนิดเคลื่อนไหวไปมาบนพื้นเลน ปูก้ามดาบที่บ้านจะปลอดภัยไม่มีมนุษย์รบกวน เพราะมีปูชนิดอื่นดึงดูดใจมากกว่า...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น