วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

..ปฎิบัติบูชา...วิถีธรรมของชาวพุทธ...





ผลงานนักเรียนอาชีวะศึกษา ฉะเชิงเทรา


อัทธุวัง เม ชีวิตัง,ธุวัง เม มะระณัง,อะวัสสัง มะยา มะริตัพพัง, มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง ,ชีวิตะ เมวะ อะนิยะตัง,มะระณัง นิยะตัง.

ชีวิตของเราเป็นของไม่ยั่งยืน, ความตายเป็นของยั่งยืน , เราจะต้องตายแน่ ,เพราะว่าชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด,ชีวิตเป็นของไม่แน่นอนแท้, เป็นโชคอันดี เป็นลาภอันประเสริฐ, ที่เราได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน,ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา


อะหัง สุขิโต โหมิ . นิททุกโข โหมิ, อะเวโร โหมิ ,อัพพะยาปัชโฌ โหมิ, อะนีโฆ โหมิ ,สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข , ปราศจากความทุกข์, ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน, ไม่มีความลำบาก, ไม่มีความเดือดร้อน, ขอให้มีความสุขรักษาตนอยู่เถิด


สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ, นิททุกขา โหนตุ,อะเวรา โหนตุ, อัพพะยาปัชฌา โหนตุ, อะนีฆา โหนตุ ,สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

ขอให้สัตว์ทั้งหลายทุกตัวตน จงเป็นผู้มีความสุข,ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย , ไม่มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน, ไม่มีความลำบากไม่มีความความเดือดร้อน,ขอให้มีความสุข,รักษาตนอยู่เถิด

(ส่วนหนึ่งของคำสมาทานกรรมฐาน)




ดอกสาละ

ธรรมบรรยาย
โดย...ท่านอาจารย์ พระสว่าง ติกฺขวีโร
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ คณะ ๓
ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร

สิ่งไหนที่เราคิดว่าดีแล้ว ท่านว่าให้รีบทำเลย โอกาสที่เราจะได้สร้างกุศลนั้นยากมาก เพราะฉะนั้น เมื่อคิดว่าจะทำ พึงทำทันที ถ้าไม่ทำอกุศลมันจะได้ช่อง พออกุศลได้ช่องแล้วโอกาสที่จะทำกุศลตรงนั้นก็น้อยลงไปหรือไม่มีโอกาสเหลือเลย ท่านจึงบอกว่า หากคิดจะทำเมื่อใดอย่าเปิดโอกาสให้อกุศลเข้า พึงลงมือทำทันที ในชีวิตหนึ่งโอกาสที่เราจะได้ประพฤติปฏิบัติเป็นพุทธบูชา อาจาริยบูชา มาตาปิตุบูชา นั้นหาได้ยาก สมมติว่านานออกไปเมื่อเราไม่มีโอกาสได้ทำอีก ช่วงที่เราไม่มีโอกาสจะทำอีกแล้วนั้น พอเราระลึกถึงกุศลในส่วนนี้ก็จะเกิดความสบายใจว่า ครั้งหนึ่งเราเคยทำสิ่งนี้ลงไปด้วยความยากลำบากมาก จะรู้สึกภูมิใจว่าได้เคยกระทำสิ่งนี้ แต่ถ้ากลับกัน บางครั้งเราเผลอทำสิ่งที่เป็นบาปอกุศล เช่น เผลอโกรธ แล้วไปด่าว่าหรือทำร้ายบุคคลที่มีบุญคุณต่อเรา ทุกครั้งที่เราย้อนนึกถึงขึ้นมาเราย่อมเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น จึงเปิดโอกาสให้โยมทั้งหลายได้ทำกุศลให้เต็มที่ในวันนี้ ในสมัยก่อนก็ได้เคยมีตัวอย่างที่ทำอย่างนี้มาและได้ผลมาแล้ว

ครั้งพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า“ปลงอายุสังขาร”กำหนดวันที่จะปรินิพพานนั้น มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ พระอานนท์ได้ทูลถามถึงสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเหตุอันก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในครั้งพุทธกาลไว้ว่า มีแผ่นดินไหวใหญ่ทั้งสิ้น ๖ ครั้ง คือ สมัยที่พระโพธิสัตว์ลงจากดุสิตสู่ครรภ์พระมารดา๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ประสูติ๑ สมัยที่พระโพธิสัตว์ตรัสรู้๑ สมัยที่แสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร๑ สมัยที่พระพุทธองค์ปลงอายุสังขาร๑ และ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน๑ ) และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จปรินิพพาน ผู้คนต่างมาเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมดอกไม้บูชามากมาย เทวดาทั้งหลายก็โปรยดอกไม้ทิพย์ที่เรียกว่า ”ดอกมณฑารพ”ลงมาบูชาพระพุทธองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมเทศนาถึงการบูชาไว้สองประการด้วยกัน คือ “อามิสบูชา”(บูชาด้วยดอกไม้ของหอมต่างๆ) และ“ปฏิปฏิบูชา”(บูชาด้วยการประพฤติปฏิบัติ)

การบูชาอันเป็นเลิศที่สุดได้แก่ปฏิปฏิบูชา ก่อนจะเสด็จปรินิพพานพระอานนท์ได้ทูลถามว่า ผู้ใดจะเป็นตัวแทนของพระองค์หลังจากพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ดูก่อนอานนท์...พระธรรมกับพระวินัยที่เราแสดงไว้ดีแล้ว บัญญัติไว้ดีแล้ว จะเป็นตัวแทนของเราตถาคต หลังจากที่ตถาคตปรินิพพานแล้ว” เพราะฉะนั้นที่เรามาประพฤติปฏิบัติตรงนี้ก็ถือว่าได้บูชาพระพุทธเจ้า พระวินัยตั้งอยู่ พระธรรมตั้งอยู่ ศาสนาจึงตั้งอยู่ได้ พระธรรมวินัยจะตั้งอยู่ได้ก็เพราะเราประพฤติปฏิบัติกัน ณ วันนี้ อาจารย์จึงได้ชักชวนให้โยมทั้งหลายทำปฏิปฏิบูชา





ต้นสาละ :

คัมภีร์อังคุตตรนิกายกล่าวถึงเหตุที่จะทำให้พระศาสนาหมดไปหรือสิ้นไปไว้ ๕ ประการ คือ “ภิกษุทั้งหลายไม่สนใจในการฟังธรรม๑ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน๑ ไม่สนใจในการท่องบ่นสาธยายจนขึ้นใจ๑ ไม่สนใจศึกษาจนขึ้นใจ จดจำไว้จนขึ้นใจ๑ ปฏิบัติผิด๑” ทั้งห้าประการนี้เป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมหรือหมดไป “ภิกษุ”ในที่นี้แปลว่า”ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร” ผู้ปฏิบัติที่มาประพฤติปฏิบัตินี้เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะฉะนั้น ตราบเท่าที่ยังสนใจในการศึกษา สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ก็ได้ชื่อว่าช่วยยืดอายุของพุทธศาสนาด้วย พระศาสนาจะหมดไปก็เพราะเราไม่สนใจในการประพฤติปฏิบัติ ไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น แม้ว่าเบื้องแรกผู้ได้ประโยชน์เต็มๆจากการปฏิบัติคือตัวเราเองก็ตาม แต่เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยยืดอายุพระศาสนาโดยอ้อมด้วย

ในครั้งพุทธกาล ช่วงเข้าพรรษาพระภิกษุทั้งหลายจะแยกย้ายไปหาสถานที่ที่สงบสงัดประพฤติปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณธรรม และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าเมื่อออกพรรษาแล้วจะต้องมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ดังนั้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงยังมีพระภิกษุมากมายที่จำพรรษาอยู่ไกลๆได้ออกเดินทางมาเฝ้าพระพุทธองค์โดยยังไม่ได้ข่าวการปรินิพพานที่กุสินารา เมื่อเดินทางสวนกันกับภิกษุจากกุสินาราจึงถามข่าวคราวกัน ครั้นทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานเสียแล้ว ปุถุชนก็พากันร้องไห้ พระโสดาบันก็ร้องไห้ ส่วนพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี ต่างก็เกิด“ธรรมสังเวช” เกิดความสลดใจ

ระหว่างที่พระมหากัสสปะกำลังเดินทางมาถวายพระเพลิงพระศาสดานั้น ท่านได้พบเห็นว่า มีภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นปุถุชนผู้บวชตอนแก่ เมื่อเห็นภิกษุทั้งหลายร้องไห้ก็มีเจตนาดี เข้าไปปลอบว่า “ท่านจะร้องห่มร้องไห้เสียใจไปใย เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ เราอยากจะทำอะไรก็ทำไม่ได้ จะทำตรงนี้ก็ผิด ตรงนั้นก็ไม่ถูก ทรงบัญญัติสิกขาบทนั้น สิกขาบทนี้ เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว น่าจะเป็นการดีแล้ว เราอยากจะทำอะไร ก็จะได้ทำตามอำเภอใจ” พระมหากัสสปะผู้เป็นบัณฑิตได้ยินดังนั้น ท่านคิดในใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานยังไม่นานก็มีคนทำให้พระศาสนามัวหมองเสียแล้ว แต่ท่านก็ยับยั้งมิได้ว่ากล่าวตรงนั้นเลย ท่านกลับรอจนพร้อมหมู่สงฆ์ ท่านจึงแจ้งให้สงฆ์ทั้งหลายได้ทราบ แล้วเสนอให้ทำสังคายนาขึ้น การคัดเลือกภิกษุเพื่อประชุมสังคายนานั้น ได้คัดเลือกเฉพาะแต่พระอรหันต์ที่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น (“เอหิภิกขุอุปสัมปทา” หมายถึงภิกษุที่บวชกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัชฌาย์ ทุกท่านได้ญาณอภิญญาทั้งหมด) คัดเลือกได้ทั้งสิ้นสี่ร้อยเก้าสิบเก้ารูป เหลือไว้ที่หนึ่งสำหรับพระอานนท์ แต่ขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่

แม้ว่าขณะนั้นพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันอยู่ แต่พระมหากัสสปะท่านก็รู้ว่าที่ตรงนี้สมควรแก่พระอานนท์ เพราะตอนที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ พระอานนท์ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นพหูสูตร ทรงจำไว้มาก เพราะพระอานนท์เคยทูลขอพรไว้ข้อหนึ่งก่อนที่จะเป็นพุทธอุปัฏฐากว่า ไม่ว่าครั้งใดก็ตามที่พระพุทธองค์เสด็จไปทรงแสดงธรรม ณ แห่งหนใดที่พระอานนท์มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ขอให้พระพุทธองค์มีพระกรุณาแสดงธรรมต่อท่านอีกครั้งด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมะซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงที่พระอานนท์ไม่รู้จึงไม่มี การกระทำสังคายนาครั้งนั้นจึงขาดพระอานนท์ไม่ได้

เมื่อภิกษุทั้งหลายประชุมคัดเลือกกันแล้ว ก็แจ้งให้พระอานนท์ทราบว่าจะกระทำสังคายนาในวันรุ่งขึ้น พระอานนท์จึงร้อนใจ ด้วยว่าตนยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ยังไม่สำเร็จกิจ ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ เดินจงกรมตลอดทั้งคืน จนใกล้สว่างแล้วก็ยังไม่สำเร็จมรรคผลที่เหลืออยู่อีกสามขั้น จึงมาพิจารณาว่าชะรอยตนเองคงประพฤติปฏิบัติบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่ง การเดินจงกรมเป็นการเพิ่มวิริยะ วิริยะได้สามส่วน สมาธิได้ส่วนหนึ่ง อินทรีย์ไม่สมดุลกัน จึงไม่เอื้อต่อมรรคผล พระอานนท์ตั้งใจระลึกถึงพระดำรัสของพระพุทธเจ้าซึ่งเคยตรัสไว้ว่า พระอานนท์มีเหตุมีปัจจัยพร้อม ถ้ามีความพยายามพอ อีกไม่นานก็สามารถยังมรรคยังผลให้เกิดขึ้นในชาตินี้ได้

พระดำรัสของพระพุทธเจ้าเป็นหนึ่งไม่มีสอง เมื่อพิจารณาถึงตรงนั้นจึงตั้งใจจะเข้าไปพักสักครู่ ท่านเดินไปด้วยการกำหนดอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยไปตามลำดับ ขณะที่นั่งลง ย่อตัวลงนั่ง ก็กำหนดรู้อาการตรงนั้น ขณะที่เอนลงไปก็รู้อาการเอนตรงนั้น ขณะที่เอนลงๆในอาการกึ่งนอนกึ่งนั่ง ศีรษะกึ่งนอน ท่านก็ได้ยังอริยมรรคอริยผลที่เหลือทั้งสามขั้น( สกทาคามี อนาคามี และ อรหัตต์)ให้เกิดขึ้น จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ณ ขณะนั้น เมื่อพระอานนท์ท่านบรรลุมรรคอภิญญาแล้ว ท่านก็แสดงความพิเศษไปปรากฏตรงที่สงฆ์กำลังประชุมกันอยู่ บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านดำดินไปโผล่แล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูลาดรออยู่เลย บางคัมภีร์กล่าวว่าท่านเหาะไปแล้วลงนั่งตรงอาสนะที่ปูไว้





ผลสาละ (ตัดมาบางส่วน)


ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล
บุญกุศลนี้แผ่ไปให้ไพศาล
ถึงมารดา บิดา ครู อาจารย์
ทั้งลูกหลาน ญาติชิด สนิทกัน

อีกผู้เคยร่วมกิจการงานทั้งหลาย
มวลสหาย ได้กุศล ผลของฉัน
ทั้งเจ้ากรรม นายเวร เทพเทวัญ
ทุกท่านพลันได้กุศลผลนี้เทอญ


คำแผ่เมตตาของท่านอาจารย์เรณู ทัศณรงค์

ขอให้ทุกท่านได้อนุโมทนารับผลบุญกุศล
ที่ "พลอยโพยม" ไปปฎิบัติธรรมมา เมื่อ 10-17 กุมภาพันธ์ 2554 นี้ กันนะคะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น