วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2568

ภาษามคธ

ภาษามคธ



เคยได้ยินชื่อภาษามคธ มานานมาก โดยเฉพาะเมื่อได้ศึกษาประวัติของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปรมาจารย์ภาษาไทย ศาลฏีกาในเรื่องหนังสือไทย ในสมัยต้นรัชกาลพระบาทสเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าที่านเชี่ยวชาญภาษา ไทย อักษรขอม ภาษามคธ เห็นผลงานท่านมีภาษาบาลีแทรกไว้หลายผลงาน โดยเฉพาะในผลงานสุดท้ายของท่าน คือ สยามสาธก วรรณสาทิส

ในท้ายเล่มสองหน้าสุดท้ายของหนังสือ "สยามสาธก วรรณสาทิศ" ซึ่ง "พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)ได้คิดคัดศัพท์ภาษามคธ ต่าง ๆ รวมเป็นพวกไว้ เพื่อฉลองพระเดชพระคุณ เฉลิมปัญญาบารมี มีความดังนี้ว่า

ศัพท์ภาษามคธอย่างนี้ ในพระคัมภีร์มีมาก ข้าพระพุทธเข้าคิดรวบรวมแต่ที่จำได้ในเวลาเล่าเรียนมาจัดเปนหมวดๆ เรียบเรียงขี้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อเปนเครื่องอบรมพระญาณปรีชา ประดับพระปัญญาบารมี โดยสังเขปเท่านี้ ขอเดชะ (ใช้ตามอักขระเดิมของท่าน)

ก็งง งง กับภาษามคธ และภาษาบาลี มานาน เมื่อได้เข้าปฎิบัติธรรม กับพระวิปัสสนาจารย์ พระคันธสาราภิวงศ์ จะนมัสการเรียนถามหลายครั้ง แต่ไม่สบโอกาส เพราะเป็นคำถามนอกเหนือเรื่องการปฏิบัติธรรม แต่ในที่สุดก็ได้หนังสือ วัมมิกสูตร ปริศนาแห่งจอมปลวก ผลงานแปลและเรียบเรียงของท่าน โดยแปลจากผลงานรจนาของพระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ)

วัมมิกสูตรหมายถึงธรรมะที่แสดงโดยเปรียบร่างกายเหมือนจอมปลวก พระธรรมเทศนานี้ได้มีการสังคายนาและบันทึกไว้ในมัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โอปัมมวรรค ซึ่งเป็นนิกายหมวดหนึ่งในจำนวนห้านิกายของพระไตรปิฎก

ตตฺถ เสสา โอฏฏกิราตอนุธกโยนกทมิฬภาสาสาทิกา............... "ในบรรดาภาษาเหล่านั้น ๑๘ ภาษาที่เหลือมีภาษาโอฏฏะ ,กิราตะ,อันธกะ,โยนก และภาษาทมืฬ เป็นต้น ย่อมเปลี่ยนแปลงได้ แต่ภาษามคธอย่างเดียวที่เรียกว่าภาษาของพรหมและพระอริยะตามความเป็นจริงนี้ ย่่อมไม่เปลี่ยนแปลงไป แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกขึ้นสู่ภาษาที่เป็นแบบแผน ก็ทรงขึ้นด้วยภาษามคธเท่านั้น "



."คำว่าเสสา ปริวตฺตนฺติ (ภาษาที่เหลือย่อมเปลี่ยนแปลง) หมายความว่า ภาษาที่เหลือย่อมมีอย่างอื่นและวิบัติไปในกาลอื่นแน่นอน แต่ภาษามคธแม้เปลี่ยนแปลงไปในบางคราวบางแห่ง ก็ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดเสมอในสถานที่ทุกแห่ง จึงดำรงอยู่แม้ในยามกัปวินาศ ฉะนั้นจึงกล่าวว่า อยเมเวกา น ปริวตฺตติ ( แต่ภาษามคธ อย่างเดียวนี้ย่อมไม่เปลี่ยนแปลง )"

อนัญฺญถา โหนฺตีติ........... "คำว่าอนัญฺญถา โหนฺติ (ย่อมมีได้เป็นอย่างอื่น) หมายความว่า เปลี่ยนแปลงบางส่วนในยุคของผู้คนแต่ละสมัย จึงมีลักษณะอื่นในกาลอื่น



คำว่าวินสฺสนฺติ (วิบัติไป) หมายความว่า ไม่ปรากฎด้วยการพินาศของมนุษย์ผู้พูดภาษานั้น ๆ ภาษามคธแม้เปลี่ยนแปลงบางคราวในบางที่บางแห่งด้วยการศึกษาไม่ดีของชาวโลก ก็ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งหมดเสมอในสถานที่ทุกแห่ง เพราะยังดำรงอยู่ในพรหมโลกเป็นต้นตามสภาพเดิม ฉะนั้นจึงกล่าวว่า กปฺปวินาเสปิ ติฏจติเยว (จึงดำรงอยู่ในในยามกัปวินาศ "

คัมภีร์ฉันโทสารัตถเมทินี (คำอธิบายคาถา ๓-๔) กล่าวสรุปความในเรื่องว่า


มูลภาสาติ สา วุตฺตา โปราณา.... "ภาษาใดเป็นภาษาดั้งเดิม คนต้นกัปใช้พูดกัน ปรากฎว่าเป็นภาษาที่ใช้ในแตว้นมคธ ภาษาประเสริฐ และภาษาน่าพึงใจ ภาษานั้นเรียกว่ามูลภาษา (ภาษาดั้งเดิม )" พฺรหฺมภาสา ยถาภุจจ-ภาสา.... "ภาษานั้นเป็นภาษาของพรหม คงอยู่เสมไม่เปลี่ยนแปลง และพูดได้ตามธรรมชาติ ไม่มีใครทำให้สาบสูญไป"

นิรเย เทวโลเก จ พฺรหฺมโลเก าสาตเล..... ภาษามคธนั้นนิยมใช้มากในนรก เทวโลก พรหมโลก และนาคโลก อัพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงสรรเสสริญแล้ว "

<อมนุสฺเส พฺรหารญฺเญ........... "บุคคลผู้ไม่เคยได้ยินคำของคนอื่น เกิดในป่าใหญ่อันไม่มีมนุษย์ เมื่อจะเจรจา ก็จักพูดภาษามคธนั้นตามปกติของตน"


วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2568

บทสวดสรภัญญะ ผลงานนิพนธ์ของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)


สรภัญญะ มาจากคำบาลีว่า สร แปลว่าเสียง และ ภญฺญ แปลว่าสวดหรือกล่าว รวมกันเป็นสรภญฺญ หมายถึง การสวด โดยการเปล่งเสียงเป็นทำนอง
ในสมัยพุทธกาล มีวัตรในการสวดสรภัญญะ ถึง ๓๒ วัตร มี ตรงฺควตฺค คือ ทำนองดังคลื่น โทหกวตฺต คือทำนองดังรีดนมโค คลิวตฺต คือทำนองดังของเลื่อน เหมือนฝนตก เป็นต้น (อฏฺฐ. พระวินัยปิฏก จุลวรรค เบอร์ ๙ หน้า ๘๓)
จาก หนังสือ พระรัตนตรัยที่พึ่งสูงสุด โดย ธมฺมรกฺขิตภิกฺขุ นามปากกาว่า ภิกษุรูปหนึ่ง
คือ พระอาจารย์สันติ อุตตมปุญโญ ท่าน เป็นที่นับถือ ของพวกเรียนพระอภิธรรมโดยกว้างขวาง



ความเป็นมาในครั้งพุทธกาล
ครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับในที่แจ้งจนดึกจึงเสด็จเข้าพระวิหาร ฝ่ายพระโสณะก็ใช้เวลาในที่แจ้งจนดึกจึงเข้าพระวิหาร พอใกล้รุ่งพระพุทธองค์ทรงลุกขึ้นแล้วทรงเชื้อเชิญท่านพระโสณะว่า ภิกษุเธอจงกล่าวธรรมตามถนัดเถิด พระโสณะทูลสนองพระดำรัส ได้สวดพระสูตรทั้งหมด ในอัฏฐกวรรคโดยทำนองสรภัญญะ เมื่อสวดทำนองจบแล้ว พระพุทธองค์ทรงชื่นชมอย่างยิ่งจึงได้ประทานสาธุ ว่า ดีละ ดีละ ภิกษุ เธอเล่าเรียนสูตรในอัฏฐกวรรคมาดีแล้ว จำได้แม่ยำดี เปล่งเสียงสวดได้ไพเราะ เพราะพริ้ง ไม่มีที่ตำหนิ บอกความหมายชัดเจน เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ (วิ.ม.(ไทย)๕/๒๕๘/๓๖,อง.สทก.(ไทย)๒๕/๕๖/๒๗๓. )


ขอขอบคุณภาพวาดของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

นอกจากนี้ยังมีกล่าวเรื่อง การสวดสรภัญญ์ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อีกความว่า (หนังสือ คนละหมวด ของ หมวดหมู่หนังสือ พระไตรปิฎก ตามชื่อ ที่ระบุ ในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อีกความว่า)
สมัยหนึ่งท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะจาริกไปที่ ทักขิณาคีรีชนบท พร้อมหมู่พระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ในเวลาใกล้รุ่ง นันทมาตาอุบาสิกาชาวเมืองเวฬุกัณฏกะ ลุกขึ้นสวด ปารายนสูตรเป็นทำนองสรภัญญะ ท้าวเวสวัณมหาราชมีกรณีกิจบางอย่าง เสด็จจากทิศเหนือไปทิศใต้ ได้สดับเสียงของนันทมาตา กำลังสวดปารายยนสูตรเป็ทำนองสรภัญญะ ได้ประทับยืนสดับจนสวดจบ ครั้นนันทมาตาอุบาสิกาสวดปารายนสูตรจบแล้วก็นิ่งอยู่ ท้าวเวสวัณมหาราชทรงทราบว่า นันทมาตาอุบาสิกาสวดจบ จึงอนุโมทนาว่า ดีละ น้องหญิง ดีละ น้องหญิง

ความเห็นผู้วิจัย ..บทขับสรภัญญ์มีวิวัฒนาการมาจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีสงฆ์สาวกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ท่องบ่นส่าธยายพระธรรมวินัย โดยใช้ทำนองสรภัญญะ หรือเป็นคำฉันท์
จุดกำเนิด น่าจะมาจากการสวดสรรเสริญบูชาพระเจ้า หรือการร่ายมนต์ที่มีปรากฏในคัมภีร์พระเวท หรือไตรเพท ของศาสนาพราหมณ์
จากวิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร มหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย ของ มจร. ปี ๒๕๕๐



ความเป็นมาของการสวดสรภัญญะเป็นภาษาไทย
ในหนังสือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่ง ประพัฒน์ ตรีณรงค์ เป็นผู้เขียนใจความว่า

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงผนวชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ อำเภอบางประอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระองค์ได้จัดโรงเรียนขึ้นที่วัดนั้น ได้ทรงจัดให้มีตำราเรียนเร็วขึ้น ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้สอย พระนิพนธ์เรื่องนี้ต่อมาได้ใช้เป็นตำราเรียนของเด็กนักเรียนด้วย

นอกจากจะทรงคิดแต่งตำราเพื่อให้เรียนหนังสือได้เร็วแล้ว ยังทรงสังเกตเห็นว่าในโรงเรียนขาดการสอนคดีธรรม ครั้งแรกทรงคิดที่จะให้พระเทศน์ให้เด็กฟัง ก็ทรงเกรงว่าจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร? เพราะเด็กฟังแล้วไม่เข้าใจ สำหรับข้อนี้ทรงแก้ไขด้วยวิธีเล่าไว้ในหนังสือประวัติอาจารย์ว่า

“แต่จะเทศน์ให้เด็กฟังก็ไม่เข้าใจ เห็นว่า ถ้าแต่งเป็นคำกลอนให้เด็กท่องสวดจะดีกว่า ข้าพเจ้าบอกความที่ปรารถนาไปยังพระศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ขอให้ท่านแต่งคำนมัสการส่งขึ้นไปให้ ท่านก็แต่งให้ตามประสงค์ เป็นคำนมัสการ ๗ บท ขึ้นด้วยบทบาลีแล้วมีกาพย์กลอนเป็นภาษาไทยทุกบท

นมัสการพระพุทธเจ้า ขึ้นต้นว่า
องค์ใดพระสัมพุทธ สุวิสุทธสันดาน เป็นต้น บท ๑
นมัสการพระธรรมเจ้าบท ๑
นมัสการพระสงฆ์เจ้าบท ๑
สามบทนี้ให้เด็กสวดเมื่อเริ่มเรียนตอนเช้า
มีคำบูชาคุณบิดามารดาบท ๑
บูชาคุณครูบท ๑
สำหรับใช้สวดเมื่อเริ่มเรียนตอนบ่าย
และมีคำบูชาพระคุณพระบุรพกษัตริย์บท ๑
คำขอพรเทวดาบท ๑
สำหรับใช้สวดเมื่อจะเลิกเรียน
เริ่มสวดกันในโรงเรียนนิเวศน์ฯ ตั้งแต่ข้าพเจ้ายังบวชอยู่”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้วางระเบียบว่าด้วยการสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียนเพื่อส่งเสริมศีลธรรม จรรยามารยาท และฝึกอบรมจิตใจและนิสัยอันดีงาม ประพฤติตนในทางที่ดีที่ชอบ
ซึ่งระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการ สวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๐๓
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/watwangphikun/posts/ประวัติการสวดมนต์และทำนองสรภัญญะสมัยรัตนโกสินทร์/2227821590588399/
โพสต์ของ วัดวังพิกุลวราราม อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙) ·



สันนิษฐานกันว่า การสวดสรภัญญะได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นการสวดภาษาบาลีในหมู่พระสงฆ์
ข้อสันนิษฐานอ้างอิงมาจาก หนังสือโคลงเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ แลประชุมกวีแต่ง ในงานพระเมรุ เมื่อปีกุญ พ.ศ.๒๔๓๐



และในส่วนที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร ) ได้ประพันธ์ ไว้ มีเนื้อหาดังนี้ คือ



สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ หมายถึง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ากลาง (๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๓๖๒ - ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๒๙) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทองสุก ซึ่งเป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์) พระองค์เป็นต้นราชสกุล มาลากุล และเป็นพระโสทรอนุชาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ (ต้นราชสกุล อาภรณ์กุล) ทั้งสองราชสกุลจึงถือเป็นญาติใกล้ชิดกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย



และในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์บทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และคุณานุคุณอื่น ๆ รวม ๗ บท เป็นภาษาไทย จึงมีการสวดสรภัญญะเป็นภาษาไทยขึ้น เพื่อให้นักเรียน โรงเรียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ใช้สวด ดังข้อมูลข้างต้น

การสวดสรภัญญะที่บทสวดเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ ซึ่งมีข้อบังคับคำครุ ลหุ ผู้สวดพึงคำนึงถึงจังหวะความหนักเบา สั้นยาวของเสียง และรูปลักษณ์ของฉันทลักษณ์ด้วย
ต้นแบบการสวดสรภัญญะที่จัดทำขึ้นนี้ เพื่อเป็นการฉลอง ๒๐๐ ปีชาตกาล พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) โดยใช้ทำนองสวดที่สืบทอดกันต่อๆ มาจากความทรงจำของคนไทยปัจจุบันซึ่งมีอายุ ๕๐ ปีเศษขึ้นไป

ติดตามชมการสวดสรภัญญะเพื่อการเฉลิมฉลองที่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้รับการประกาศรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำ ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ จาก

จังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดทำบทสวดคุณานุคุณซึ่งมีทั้งสิ้น ๗ บท โดยมีทั้งชายนำสวด และ หญิงนำสวด สำหรับบทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยมีการจัดพิมพ์หนังสือมีวัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์เนื้อหาคำสวดเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมคำแปลบทสวดเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อการเผยแพร่ไปยังโรงเรียนวัดไทยในต่างประเทศ
โดยได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สมศีล ฌานวังศะ ราชบัณฑิต เป็นผู้แปล มี อาจารย์ณัฏฐกฤษฎิ์ อกนิษฐธาดา หรือเสภาอาเซียน เป็นผู้นำสวดชาย และ นางสาวกาจฐา ขันขาว เป็นผู้นำสวดฝ่ายหญิง

ชายนำสวด

https://www.youtube.com/watch?v=7OZxqUjUUYI



หญิงนำสวด

https://www.youtube.com/watch?v=byq91R0FwTI



วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

งาน CU Band ฉลอง ๑๐๐ ปีจุฬาฯ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์


งาน CU Band ฉลอง 100 ปี จุฬาฯ เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์
เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๐
ณ. โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซต์ พระราม ๓






เหตุที่ได้ จัดงาน ในวันนี้
กอปรด้วยสี่ ประการ ขอขานไข
หนึ่งเป็นเพราะ เลขมงคล นั้นดลใจ
คือเลขเก้า ชาวไทย ให้ศรัทธา






วันที่เก้า เดือนเก้า เป็นเป้าหมาย
เพื่อเชื่อมสาย สัมพันธ์แน่น ดุจแผ่นผา
สองโอกาส ครบรอบ ร้อยปีจุฬาฯ
พระเมตตา สองล้นเกล้า เราเทิดทูน






องค์สมเด็จ พระปิยะ มหาราช
ปวงข้าบาท น้อมดวงใจ แด่ไอศูรย์
สัญญามั่น หมั่นทำดี ที่เพิ่มพูน
เพื่อแทนคุณ สถานศึกษา สง่าพระนาม






สามใกล้วัน ถวายพระเพลิง พระบรมศพ
ถวายความเคารพ จากบัญชี รุ่นสามสิบสาม
พวกเราพร้อม น้อมรวมใจ ในทุกยาม
พร้อมติดตาม เป็นข้าบาท ทุกชาติไป






สี่รู้จัก คนดนตรี ซียูแบนดฺ์
จึงมีแผน ชวนเพื่อนยา อย่าไปไหน
มาฟังเพลง พระราชนิพนธ์ ล้นเกล้าไทย
เพลงจุฬาฯ ฝากไว้ ให้ยลยิน

เน้นรำลึก ถึงพระองค์ สองกษัตริย์
พระปิยะ พระภัทร ศาสตร์และศิลป์
พระคุณล้น แผ่นฟ้า ท่วมแผ่นดิน
ชั่วชีวิน ติดตรึงอยู่ มิรู้ลืม......


ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.tip.grad.chula.ac.th/wp_cutip/?p=949

นี่คือบทกวีของ เพื่อนชาวบัญชีรุ่น ๓๓ ของเรานี่เอง ที่บอกเล่าถึงที่มาของงาน CU Band ในวันนี้ ทำให้นึกถึงพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ศาลฎีกาภาษาไทยในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ท่านเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และมีความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมากควรเป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลัง และเราชาวบัญชี รุ่น ๓๓ ก็จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ดังบทกวีข้างต้น


ซึ่งก่อนการตัดสินใจไปร่วมงานครั้งนี้ ของพลอยโพยม ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรรณพร วีรวัฒน์ อาจารย์เกษียณจากสถาบันภาษาและอดีตนายกสโมสรอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรืออาจารย์เป้า  บอกว่า งานนี้รุ่นเรายกวง CU Band มาตั้งวงที่โรงแรมที่จัดงาน นอกจากชมคอนเสิร์ตแล้ว งานนี้ก็เพื่อฉลองวาระโอกาสที่จุฬา ฯ ครบร้อยปีและเทิดพระเกียรติพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ คณะกรรมการจัดงานจึงขอเชิญ เพื่อน ๆ ไปฟังเพลง และสนุกร่วมกันพร้อมอาหารกลางวัน


บรรยากาศหน้าห้องจัดงาน



ภาพบรรยากาศของงาน บางส่วน ภายในห้องเจ้าพระยา ชั้น ๓





เมื่อได้เวลาตามโปรแกรมของงานและชาวบัญชีจุฬา รุ่นที่ ๓๓  ได้ทักทายกันพอหอมปากหอมคอ ซึ่งคราวนี้ผู้จัดงานให้เวลาในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เพราะในปี ๒๕๖๐  ชาวบัญชีจุฬา รุ่นที่ ๓๓ ได้มีกิจกรรมร่่วมกันเท่าทีทราบ คือ

๑.การไปร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้เพื่อนๆ ร่วมรุ่นที่เสียฃีวิตไปแล้ว ที่โรงพยาบาลสงฆ์  ทราบว่าปีนี้ เพื่อนๆ ไปร่วมงานกันมากรวมทั้งเพื่อน ๆ ที่ไม่ได้ไปร่วมทำบุญ แต่ฝากเงินมาร่วมทำบุญ เหลือเงินเมื่อหักค่าใช้จ่าย(ในการทำบุญ) แล้ว แสนบาทเศษ และได้จัดสรรเงินนี้เพื่อการกุศล แบ่งเป็นห้าองค์กร และมีตัวแทนนำไปดำเนินการ

๒. งานสังสรรค์บัญชีรุ่นที่ ๓๓ ซึ่งก็จัด ณ สถานที่เดียวกับวันนี้  มีการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาหลายปีในปี ๒๕๖๐ ก็ได้มีการจัดงานไปแล้ว

๓.การเป็นเจ้าภาพพระพิธีกรรมสวดพระอภิธรรมพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พอน้องๆ CU Band ขึ้นดนตรี เพลง มหาจุฬากรณ์ ทุกคนก็ยืนตรงร่วมร้องกันทุกคน





พิธีกร ก็เริ่มงาน มี โดยเชิญรุ่นพี่รุ่นที่ ๓๓  กล่าวเปิดงาน






มีการกล่าวเปิดงานด้วยบทกวีดังกล่าวข้างต้น บอกวัตถุประสงค์ของการจัดงานในวันนี้และเชิญชวนผู้มาร่วมงานสนุกสนานกันให้เต็มที่กับวงดนตรี CU Band





หลังการกล่าวเปิดงานแล้วน้องพิธีกรก็เสริมว่า วันนี้พวกรุ่นน้องได้มามองเห็นภาพอนาคตของพวกเขาในวันหน้าแล้วว่าจะมีภาพเช่นไร (ทำเอาพวกพี่ๆ ไม่ค่อยกล้าเต็มที่กับความสนุกสนานสำราญใจ คือต้องกั๊กไว้บ้างเล็กน้อยเพราะฃักเกิดอาการเขินอาย น้องๆ ที่ห่างรุ่นกันแค่สี่สิบกว่าปีนัั่นเอง) น้องบอกว่าขอให้พี่ ๆ สนุกกันให้เต็มที่ อยากทำอะไรก็ทำได้เลยยกเว้นห้ามแย่งไมค์นะครับ



แล้วก็มีเสียงห้าวใหญ่ทรงพลังดังขึ้นว่า Ba Ka
แล้วผู้อยู่ในห้องทุกคนก็ประสานเสียง
Bow Bow
Cheerka Chow Chow
Ba Bow Cheer Chow
Who are we?
Chulalongkorn
Can you see?…..LA



แน่นอน นี่คือเพลง Boom Cheer จุฬาฯ ที่เคยเร้าใจพวกเรามาเนิ่นนานถึง ๔๕ ปีแล้ว พอ LEADER ขึ้นต้นเสียง เลือดในตัวพวกเราทุกคนก็ร้อนฉ่าด้วยบรรยากาศเก่า ๆ ทันที ทุก ๆ เพลงเชียร์และเพลงมหาวิทยาลัยทุกเพลงซึมซับในจิตวิญญาณของพวกเรามาเนิ่นนานไม่ขึ้นกับกาลเวลา เพราะอยู่ในใจพวกเราอมตะนิรันดร์กาลนั่นเอง



หลังจากนั้น น้อง ๆ วง CU Band ก็เริ่มต้น ร้องเพลงบรรเลงดนตรีแสนเสนาะไพราะโสตให้พวกเราดื่มด่ำรำลึกเรื่องราวครั้งยังเป็นนิสิต   นึกถึงบรรยากาศวันรับน้องใหม่ ครั้งเราเป็นรุ่นน้อง การขึ้นแสตนเชียร์ การร้องเพลงเชียร์ต่าง ๆ    และพวกเรายังมีโอกาสรับเสด็จวันทรงดนตรีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และร่วมในหอประชุมขณะทรงดนตรี  และการเลื่อนระดับเป็นรุ่นพี่  จนเป็นซีเนียร์ จวบจนวันรับพระราชทานปริญญาบัตร










เท่าที่จำได้ว่ามีเพลงดังรายชื่อข้างล่าง ที่น้อง CU Band ร้องมอบให้รุ่นพี่ ๓๓ และ ๓๕ คือ
เกียรติภูมิจุฬาฯ
ขวัญใจจุฬาฯ
จามจุรีประดับใจ
จามจุรีศรีจุฬาฯ
ดาวจุฬาฯ
ลาแล้วจามจุรี
อุทยานจามจุรี








และโดยเฉพาะ C.U.POLKA

Come – on and play the C.U.POLKA Come – on and do our “boom boom bam” ! Come – on and play the C.U.POLKA And you will pass the re -exam ! Come – on and play the C.U.POLKA Let’s go – a – boom – boom night and day ! Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – examLet’s go our C.U. way : “Boom – ba – la -ka Bow -bow – bow Chik – a – la – ka Chow – chow – chow Boom -a – lak – a – bow Chik – a – lak – a – chow Who are we ? Chulalongkorn ! Can’t you see ? Rah !” Come – on and play the C.U.POLKA And you will know that life is gay Come – on and play the C.U.Polka Throw all those gloomylooks away ! Come – on and play the C.U.Polka Forget those lectures and be gay Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – exam Let’s go our C.U. way : “Boom….. ………….Rah….! When C.U. boys say “Boom – ba – la – ka !” They mean to say “Dear,I love you !” When C.U.girls say “Chick – a – la – ka ! ‘ They mean to say ” I love you too !” So let us sing this C.U..POLKA Let’s fall in love on C.U.DAY ! Don’t ever stop to boom – boom – bam And you will pass the re – exam Let’s go our C.U.way!




เพลงนี้ก็มีการเต้นดวลกันโดยยืนละฝั่งระหว่างรุ่นพี่ฟากหนึ่งรุ่นน้องฟากหนึ่ง ดวลกันจนพรมปูพื้นแทบลุกเป็นไฟปานฉะนั้นทีเดียว และรุ่นพี่ก็แอบหอบแฮกไม่ให้รุ่นน้องรู้




ซึ่งนอกจากเพลงของเราชาวจุฬาฯแล้ว นักร้องก็นำเพลงไพเราะมากมายมาขับกล่อมแกล้มอาหารเลิศรสและหรูด้วยเมนูเด็ดมากมาย




และมีเพลงหกสิบยังแจ๋วหยอดเป็นยาหอมแจกพี่ ๆ ให้กระชุ่มกระชวยในหัวใจ
น้อง ๆ ย้ำว่า พี่รุ่น ๓๓ หกสิบยังแจ๋วจริง ๆ มีส่วนร่วมกับนักร้องนักดนตรีมาก ขนาดไปงานของอายุจริงสามสิบกว่า ๆ หรือ วัยอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะเงียบเหงาไม่ครึกครื้นแบบนี้  คนร้องก็ร้องไป คนเล่นดนตรีก็เล่นไป คนฟังก็ ฟังไป กินไป คุยไป ไม่เหมือนรุ่นนี้เลยมีส่วนร่วมกับวงและนักร้องตลอด พวกเขาสนุกกันมาก






แต่งานเลี้ยงก็ย่อมต้องเลิกรา CU Band มีคิวต้องไปแสดงต่อที่อื่นอีก พูดกันว่าคิวการแสดงต่อแถวกันยาวเป็นหางว่าวแบบว่าวจุฬา








รุ่นพี่ โดยตัวแทนรุ่นพี่่ ๓๓ คนหนึ่งมอบช่อดอกไม้ อีกคนเป็นตัวแทนรุ่นพี่ที่มางานในวันนี้มอบน้ำใจไมตรีอันอบอุ่นให้แด่น้อง ๆ โดยร่วมกันบรรจุความรักความชื่นชมน้องๆ ไว้ในซองสีขาว ปิดผนึกด้วยสายสัมพันธ์ชาวสีชมพู  อีกทั้งมีตัวแทนรุ่นพี่รุ่นที่ ๓๕ มอบช่อดอกไม้อีกช่อหนึ่งด้วย

















ชาวสถิติ ๕



หกสิบยังแจ๋วทั้งสวยและหล่อจริงๆ

แล้วเวทีก็ต้องปิดม่านและอำลาจากกันด้วยการถ่ายภาพร่วมกันหน้าเวที

พลอยโพยมขอเป็นตัวแทนเพื่อน ๆ ที่ไปร่วมมีความสุขในวันนี้ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ทำให้เกิดงานวันนี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้อง ๆ วง CU Band ทั้งนักร้อง นักดนตรี หัวหน้าวง ผู้อยู่เบื้องหลังของวง ที่หยิบยื่นความสุขสนุกสนานให้พวกเรา ขอให้ทุกท่านจงเจริญ คิดเงินให้ได้เงิน คิดทองให้ได้ทอง สุขภาพแข็ง ไร้ทุกข์ ไร้โศก ไร้โรค ไร้ภัย ตลอดไป
สำหรับภาพที่พลอยโพยมนำมาประกอบมีหลายภาพที่ไม่ชัด (เพราะด้อยฝีมือ) และอาจมีไม่ครบทุกมุม ก็ต้องขออภัยเพื่อน ๆ ส่วนภาพที่คมชัดนั้นเพราะอาศัยภาพจากห้องไลน์นั่นเอง