วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2568

วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๔





พระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยา ปางสมาธิ ๑ องค์ พระนามว่าหลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง ๑๒๗ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๒๕ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวาปิดพระอังสาซ้าย สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ชายสังฆาฏิหลังพับแบบสามเหลี่ยม พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ขวามี ๖ นิ้ว ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๕)



ภาคผนวก
หลักฐานจากเอกสาร
ชื่อคำว่า แสนภูดาษ (ในปัจจุบัน) ที่สื่อความถึงสถานที่มีหลักฐานปรากฏ ดังนี้
โคลงนิราศฉะเชิงเทรา พ.ศ. ๒๓๖๙ พระนิพนธ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ปรากฏคำว่าสามภูดาษ ในโคลงบทที่ ๗๙ ดังนี้
เรือดลสามภูดาษด้าว แดนคาม
แสดงโศกภูดาษสาม สดับถ้อย
จดระบบระบิลความ ทุกข์เทวษ เรียมรา
วานช่วยสื่อสารสร้อย โศกน้องนางฟัง ฯ


นิราศปราจีนบุรี (สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นราว พ.ศ. ๒๓๗๒) ปรากฏชื่อ บ้านไส้ภูดาษ ต่อมาเพี้ยนเป็น สำภูดาษ ดังบทกลอนที่ว่า
ถึงหย่อมย่านบ้านไส้ภูดาษแดง
กระจ่างแจ้งในนิทานบุราณไข
เขาแทงออภูดาษให้ขาดใจ
แล้วสาวไส้พันเข้าให้เล่าลือ
ใครถามไถ่บอกว่าไส้ออภูดาษ
อาเชื้อชาตินามเช่นมาเป็นชื่อ
คนที่ไม่แจ้งเรื่องก็เลื่องลือ
กลับเรียกชื่อสำภูดาษด้วยหลายเดา”
คำว่า ภูดาษ ที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ภูดาษ - ภูดาษแต่ซ้ายขวา (กฎหมาย,หน้า ๘๘)
ผู้ดาษ - สุภากระลาการจ่าผู้ดาษเสมียร (กฎหมาย,หน้า ๑๙๘)
ภูดาษ,ผู้ดาษ พจนานุกรมสะกดว่า ภูดาด (โบ) น. เสมียน. (ราชบัณฑิตยสถาน, ๒๕๓๙, หน้า๖๒๒) ในที่นี้คือเสมียนศาล

พ.ศ. ๒๔๔๑ (ร.ศ. ๑๑๗) บัญชีวัดและสงฆ์ สามเณร เมืองฉะเชิงเทรา และเมืองขึ้น จำนวน ปรากฏชื่อ บ้านแสนปูดาด ภาพประกอบที่ ๑๔ ในแผนที่ มท ๓๖ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ไม่ระบุวัน ปรากฏชื่อ) บ. สำภูดาด




บัญชีวัดและสงฆ์ สามเณร เมืองฉะเชิงเทราและเมืองขึ้น จำนวน ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑)


บาญชีวัดและพระสงฆ์สามเณร อำเภอเมือง,ฉะเชิงเทราจำนวนศก ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ลำดับที่ ๓ นามวัดแสนปูดาด ตำบลบ้านแสนปูดาด


แผนที่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ปรากฏชื่อ วัดแสนภูดาษและบ้านแสนภูดาษ
ที่มา แผนที่ฉะเชิงเทรา พุทธศักราช ๒๔๖๔ ต้นฉบับจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณหนุ่มรัตนะ (สวพล สุวนิช)


แผนที่แสดงตำแหน่งของพื้นที่และที่ดินที่ถูกระบุว่า เคยเป็นที่ตั้งวัดแสนภูดาษเดิม
ภาพจาก SmartLands Application ของกรมที่ดิน
นมัสการขอบพระคุณ พระครูสุตธรรมาภรณ์ (ผศ.,ดร.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น