วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๓





ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่เกี่ยวข้องกับวัดแสนภูดาษ

วัดแสนภูดาษ เป็นวัดในตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางปะกง ตำบลแสนภูดาษ ปัจจุบัน มี ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านด่านเก่า บ้านนอก และบ้านหมู่ใหญ่ จากข้อมูลของเทศบาลตำบลแสนภูดาษซึ่งได้เรียบเรียงความเป็นมาของชุมชน โดยนางประไพ พันธนะวรพิน อาจารย์โรงเรียนวัดแสนภูดาษได้เรียบเรียงความเป็นมาของชุมชนจากการสัมภาษณ์นายถนอม หร่ายเจริญ ผู้อาวุโสในชุมชนแสนภูดาษและศึกษาข้อมูลจากวัดและโรงเรียนพอจะสรุปได้ว่า

ประชากรตำบลแสนภูดาษเป็นคนพื้นที่เดิมและพวกที่อพยพมาจากถิ่นอื่นบ้าง ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งด่านเก็บภาษีเรือสินค้าที่ขึ้นล่องตามแม่น้ำบางปะกงระหว่างเมืองชลบุรีกับเมืองฉะเชิงเทรา เสมียนผู้ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีจะถูกส่งมาจากคลองด่านและเมืองสมุทรปราการ อยู่ไปนาน ๆ ก็มีญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง อพยพมาอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้ยกเลิกด่านจัดเก็บภาษี ผู้คนเหล่านี้มิได้อพยพกลับคงตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม บริเวณแห่งนี้จึงได้ชื่อวา“ด่านเก่า”เพราะเป็นสถานที่ตั้งด่านเก่าเก็บภาษีทางเรือ

ประวัติการสร้างวัดแสนภูดาษ เนื่องจากไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานปีที่มีการสร้างวัด จึงได้ศึกษาค้นคว้าประวัติจากเอกสารที่เกี่ยวข้องและคำบอกเล่าจากคนในชุมชน ได้ข้อมูลดังนี้

จากคำกล่าวที่ว่า วัดแสนภูดาษเคยตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษห่างจากปากคลองที่บรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ประมาณ ๑ กิโลเมตรมาก่อน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเกิดความไม่สงบเรื่องจีนตั้วเหี่ย ได้มีการย้ายวัดออกมาอยู่ที่ปากคลองแสนภูดาษ ข้อมูลดังกล่าวมีความสอดคล้องกับคำบอกเล่าของบุคคลที่ได้ไปสัมภาษณ์ดังนี้

๑. เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้สัมภาษณ์ พลตรี สนิท หร่ายเจริญ อายุ ๙๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๗ หมู่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ข้อมูลมาว่า บรรพบุรุษของท่านเดินทางมาพร้อมกับพวกมาตั้งด่านเก็บภาษี แล้วเลยตั้งหลักฐานอยู่ที่แสนภูดาษสืบเนื่องต่อมา ถือได้ว่าเป็นคนเก่าแก่ของตำบลท่านเล่าให้ฟังว่า แต่เดิมวัดแสนภูดาษตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษ บริเวณใกล้เคียงวัดเป็นบ้านของเครือญาติตระกูล กุลละวณิชย์ ต่อมาได้มีการย้ายวัดแสนภูดาษมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง



๒. วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ได้สัมภาษณ์ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ อายุ ๘๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๑/๕ ซอยเจริญพร ๒ ถนนประดิพัทธ์ แขวง/เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ในวาระที่ท่านเป็นประธานการทำบุญครบรอบ ๑๐๐ ปี การพระราชทานนามสกุล กุลละวณิชย์ ที่วัดพิพิธประสาทสุนทร (วัดลาดขวาง) ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับคำบอกเล่าว่า ต้นตระกูลเดิมอยู่ที่ตลาดพลู ริมคลองบางกอกน้อย ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เกิดอหิวาตกโรคระบาดรุนแรงราว พ.ศ. ๒๓๖๓ จึงได้อพยพโยกย้ายหนีภัยมาอยู่ที่บ้านริมคลองบ้านจากขาด ตำบลแสนภูดาษ (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านในตำบลลาดขวาง) อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ซึ่งจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก ปัจจุบันไม่มีบุคคลในตระกูลสายตรงของท่านเองอยู่ในบริเวณบ้านจากขาดแล้ว



๓. วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อายุ ๗๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๓๑/๑ ซอยลาดพร้าว ๙๖ ถนนลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ท่านเล่าว่าต้นตระกูลได้ย้ายมาจากกรุงเทพมหานครคราวเกิดโรคระบาดในกรุงเทพฯ มาตั้งถิ่นฐานที่ ตำบลแสนภูดาษ ราวปี พ.ศ. ๒๓๖๓ บรรพบุรุษรุ่นต่อมา คือหลวงลุงเจียม (พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปุญโญ) ด. เจียม กุลละวณิชย์ ได้เล่าถึงสภาพพื้นที่ว่า มีวัดแสนภูดาษตั้งอยู่ที่ปากคลองแสนภูดาษแล้ว และมีวัดนี้แล้ว



๔. วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ ได้สัมภาษณ์ นางวารุณี พงษ์พิพักษ์ (อินทุลักษณ์) อายุ ๘๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๓ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งบ้านอยู่ริมคลองแสนภูดาษ ห่างจากปากคลองแสนภูดาษที่ไหลสู่แม่น้ำบางปะกง ประมาณ ๑ กิโลเมตร และมีการสร้างทดกั้นน้ำระหว่างคลองและแม่น้ำ โดยมีนางมณี กุลละวณิชย์ ซึ่งเป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมของตำบลแสนภูดาษเป็นผู้พาไปพบ ได้ข้อมูลว่า คุณแม่ทองอยู่ อินทุลักษณ์ เล่าให้นางวารุณีฟังตามคำบอกเล่าของคนเก่าแก่เล่าสู่คนในครอบครัวสืบทอดกันมาว่า ที่ดินฝั่งคลองตรงข้ามกับบริเวณหน้าบ้านของตนมีพื้นที่ ๙ ไร่เศษ เคยเป็นวัดมาก่อน ต่อมาได้มีการย้ายวัดออกไปอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง บริเวณปากคลองแสนภูดาษ ส่วนบ้านจากขาดนั้นอยู่เลยเข้าไปในคลองแสนภูดาษห่างไกลจากบริเวณบ้านอินทุลักษณ์ และคนในตระกูลอินทุลักษณ์นี้ได้สมรสกับบรรพบุรุษตระกูลกุลละวณิชย์ซึ่งอพยพมาจากกรุงเทพมหานคร อนึ่ง ที่ดิน ๙ ไร่เศษของวัดแสนภูดาษเดิม ปัจจุบันเป็นที่ธรณีสงฆ์และได้เปลี่ยนแปลงเป็นที่ดินอยู่ในเขตตำบลลาดขวาง มีผู้เช่าทำนา ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา



๕ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๕ ได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์นายโสภณ พันธนะวรพิน อดีตนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลแสนภูดาษ อายุ ๕๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ยืนยันว่า ที่ดินประมาณ ๙ ไร่เศษซึ่งอยู่ฝั่งคลองตรงข้ามบ้านของนางวารุณี พงษ์พิทักษ์ (อินทุลักษณ์) คนเก่าแก่ของครอบครัวเล่าสืบต่อกันมาว่า เคยเป็นวัดเก่าดั้งเดิมของวัดแสน- ภูดาษในปัจจุบัน และมีผู้เช่าทำนา ทำบ่อดินเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้คุณแม่ประไพ พันธนะวรพิน ได้เล่าเพิ่มเติมอีกว่า แต่เดิมนั้นบริเวณนี้เป็นพื้นที่ส่วนบนของป่าชายเลนมีปูมากมาย ทั้ง ปูทะเลและปูประจำถิ่นป่าชายเลนทั่วไป ชาวบ้านจึงเรียกถิ่นฐานนี้ว่า บ้านแสนปูดาด และเรียกวัดว่า วัดแสนปูดาด





๖. วันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๕ ได้ตรวจสอบที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษแปลงดังกล่าวพบว่า ปัจจุบันเป็นที่ดินซึ่งเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๓๓๓ ระวาง ๕๒๓๖ เลขที่ดิน ๔๔๕ ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที ๙ ไร่ ๑ งาน ๕๓ ตารางวา และเมื่อไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง พบว่า ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ กรมที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดินว่า เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษ มีการครอบครองที่ดินแปลงนี้มาแล้วประมาณ ๖๖ ปี (พ.ศ. ๒๔๓๒) และที่ดินแปลงนี้ได้นำทำการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ระบุว่าสภาพที่ดินเป็นนาฟาง ทิศข้างเคียงที่สำคัญคือ ที่ดินทิศใต้และทิศตะวันตก จดคลองแสนภูดาษ เนื้อที่ดิน ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๔๘ ตารางวา



๗. ได้ข้อมูลเกี่ยวกับวัดแสนภูดาษจากหนังสือ The Journey Life of Mg Sanit Raicharoen ซึ่งเป็นบันทึกของพลตรี สนิท หร่ายเจริญ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี สนิท หร่ายเจริญ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ ในบทที่ ๑ ปฐมวัย หน้าที่ ๔๑ - ๔๒ มีความตอนหนึ่งว่า
“ชื่อตลาดแสนภูดาษนั้นเป็นเรื่องแปลกแต่จริง คือตัวตลาดตั้งอยู่ปากคลองแสนภูดาษ คนละฝั่งกับวัด แต่ไปปลูกอยู่ในตำบลลาดขวาง ชาวบ้านเลยเรียกตลาดลาดขวาง ตลาดแสนภูดาษนับเป็นตลาดใหญ่ตลาดหนึ่งในสมัยนั้น ใหญ่กว่าตลาดท่าสะอ้านที่เป็นที่ตั้งอำเภอบางปะกง ใหญ่กว่าตลาดสนามจันทร์ที่เป็นที่ตั้งอำเภอบ้านโพธิ์จะเล็กกว่าตลาดคลองสวนและตลาดบางวัว นอกจากที่พวกเราจะไปซื้อเครื่อง อุปโภคบริโภคตามความจำเป็นแล้วยังเป็นสถานที่ที่พวกเราไปรับประทานอาหาร และหนุ่มสาวใช้เป็นที่ดูตัวและพบปะสังสรรค์ด้วย
วัดแสนภูดาษนับว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง สร้างมาแต่สมัยใดไม่มีใครทราบ ทราบแต่ว่าเดิมมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่คนละฝั่งคลองกับบ้านเกิดของข้าพเจ้า เพิ่งจะย้ายไปตั้ง ณ ที่ตั้งปัจจุบันสมัยรัชกาลที่ ๓ ฟังผู้ใหญ่เล่าดูเหมือนจะย้ายไปในระยะเวลาใกล้เคียงกับที่พวกจีนอั้งยี่เข้ายึดเมืองฉะเชิงเทรา ที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ขณะนั้นกำลังปราบปรามขบถอยู่ในกัมพูชายกกำลังมาปราบจีนอั้งยี่ เจ้าคุณบดินทร์ฯ ได้ สั่งการให้ พระยาอินทราษาเจ้าเมืองพนัสนิคมยกกำลังล่วงหน้ามาก่อน ท่านยกกำลังกองทัพจากเขมรตามมา ได้ทำการปราบจีนอั้งยี่ที่กำแหงถึงฆ่าเจ้าเมืองและยึดเมืองไว้จนราบคาบ คุณพ่อเคยเล่าว่าหลังจากปราบจีนอั้งยี่เสร็จใหม่ ๆ ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำในแม่น้ำไปหลายวันเพราะมีศพอั้งยี่ลอยอยู่เกลื่อน สำหรับหลักฐานของวัดเก่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนเด็ก ๆ ก็คือกระดูกและหม้อใส่กระดูกที่ยังเหลืออยู่ที่ป่าช้าเก่าด้านตะวันออกของบ้านพี่อ๊อย”
หมายเหตุ พี่อ๊อย คือนางอ๊อย ศรีวัฒนะ (หร่ายเจริญ) พี่สาวคนโตในจำนวนพี่น้อง ๖ คน โดย พลตรี สนิท หร่ายเจริญ เป็นบุตรคนที่ ๖ ของครอบครัว



๘. วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๕ พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล) เจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษ พระครูสุตธรรมาภรณ์ (ผศ.,ดร.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ รองเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง นางอมร ตันสุตะพานิช ได้เดินทางไปสำรวจที่ดินแปลงตามโฉนด เลขที่ ๒๒๓๓๓ ตำบลลาดขวาง อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ธรณีสงฆ์ของวัดแสนภูดาษ เนื้อที่ดิน ๙ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา ได้พบนายอำนาจ โรจิน เป็นผู้เช่าพื้นที่ที่ดินแปลงดังกล่าวสืบทอดมาหลายชั่วคนโดยเริ่มต้นจากการทำนา แต่เมื่อการทำเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นที่นิยมในจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงได้เปลี่ยนการทำนาเป็นการเลี้ยงสัตว์น้ำมีการปรับปรุงพื้นที่นาทำบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จากการสำรวจพบก้อนดินเผาคล้ายเศษอิฐสมัยโบราณ
การไปสำรวจพบว่าพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ มีเพียงส่วนหนึ่งของบริเวณด้านทิศตะวันออกจากบ้าน นางอ๊อย ศรีวัฒนะ (หร่ายเจริญ) เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้มีต้นกล้วยและมันสำปะหลังเป็นส่วนใหญ่



๙. วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ได้ไปสัมภาษณ์นายประสิทธิ์ สุขสะอาด ไวยาวัจกรของวัดแสนภูดาษ อายุ ๙๒ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๘/๑ หมู่ที่ ๓ บ้านใน ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซี่งนางเพลิน อยู่ในศีล ได้ให้ข้อมูลว่า มีบรรพบุรุษอยู่ร่วมในเหตุการณ์ซ่อมแซมอุโบสถหลังเดิม (วิหารในปัจจุบัน) ได้ข้อมูลดังนี้
นายประสิทธิ์ สุขสะอาด ได้รับฟังคำบอกเล่าจากคุณยาย คือ นางสา นากสุข เล่าให้ฟังว่า เดิมอุโบสถของวัดแสนภูดาษเป็นอุโบสถหลังคามุงด้วยจาก ต่อมาวัดได้มีการมีการสร้างอุโบสถหลังที่ ๒ โดยสร้างคร่อมทับอุโบสถหลังเดิม ซึ่งมีหลังคามุงด้วยจากและมีเครื่องบนเป็นไม้สัก โดยไม่มีการขุดลูกนิมิตออกมาประกอบพิธีปิดทองฝังลูกนิมิตใหม่ ไม่มีคำบอกเล่าว่าผนังของอุโบสถหลังคามุงด้วยจากนั้นเป็นผนังไม้หรือก่ออิฐถือปูน นายประสิทธิ์ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นผนังไม้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๖๒ วัดได้มีการช่อมแซมอุโบสถ โดยมีนายช่างใหญ่ คือนายเปลี่ยน สามีนางอ้น (ไม่มีบุตรธิดา) และมีคุณตาของนายประสิทธิ์ ชื่อนายด้วง นากสุข เป็นนายช่างรองได้ร่วมกันบูรณะอุโบสถ ซึ่งปัจจุบันคือวิหาร มีการสร้างซุ้มประตูทางเข้าอุโบสถและจารึกปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ไว้บนซุ้มประตูดังกล่าว


ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๕ หลวงพ่อบุญลือเจ้าอาวาสวัดแสนภูดาษได้ดำเนินการสร้างอุโบสถหลังใหม่ เพื่อการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ โดยคงอุโบสถหลังเดิมไว้ แต่ได้ขุดลูกนิมิตขึ้นมาทำพิธีปิดทองและฝังลูกนิมิตใหม่ในการสร้างอุโบสถหลังที่ ๓ ได้ย้ายใบเสมาหินไปยังอุโบสถหลังใหม่ และรื้อซุ้มประตูอุโบสถหลังที่ ๒ ออก ส่วนอุโบสถ พระประธาน พระพุทธรูปอื่น ๆ บนแท่นชุกชีและพระพุทธบาทจำลอง คงไว้เช่นเดิม และเรียกอุโบสถเดิมเป็นวิหาร



ส่วนศาลาการเปรียญมีการรื้อศาลาการเปรียญหลังเก่าแล้วนำวัสดุที่ยังใช้งานได้ใช้รวมกับวัสดุใหม่ ในการสร้างศาลาการเปรียญใหม่ ณ สถานที่เดิมใน พ.ศ. ๒๕๐๕




ในส่วนของที่ดินแปลงที่พลตรี สนิท หร่ายเจริญ นางวารุณี พงษ์พิทักษ์ (อินทุลักษณ์) และนางประไพ พันธนะวรพิน ระบุตรงกันว่าเคยเป็นสถานที่ตั้งของวัดแสนภูดาษเดิมซึ่งอยู่ในคลองแสนภูดาษ ก่อนมีการย้ายวัดไปอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงบริเวณปากคลองแสนภูดาษ ซึ่งมีระยะทางห่่างกันประมาณ ๑ กิโลเมตร นายประสิทธิ์ทราบแต่เพียงว่าเป็นที่ดินของวัด (ทราบโดย สำนักงานที่ดินจังหวัดฉะเชิงเทรา สาขาบางปะกง มีหนังสือแจ้งให้ทางวัดแสนภูดาษไปดำเนินการออกเอกสารการครอบครองสิทธิ์ที่ดิน (โฉนด) ซึ่งที่ดินนี้ชาวบ้านเช่ามาหลายชั่วคน และชำระค่าเช่าต่อสำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดฉะเชิงเทรา ปีละ ๘๐๐ บาท จนเมื่อประมาณ ๒ ปี ที่ผ่านมา (ปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๖๖) เจ้าอาวาสวัดแสนภู-ดาษได้ไปแจ้งความจำนงขอให้วัดแสนภูดาษเป็นผู้รับรายได้จากผู้เช่าที่ดินแปลงนี้ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์น้ำ และนายประสิทธิ์ สุขสะอาด ยืนยันว่าที่ดินแปลงนี้อยู่ตรงข้ามคนละฝั่งคลองของบ้านนางวารุณี (พงษ์พิทักษ์) และบ้านบิดามารดาของพลตรี สนิท หร่ายเจริญ ที่ดินแปลงนี้นั้นที่ตนเคยเห็นมา เดิมมีการทำนา ต่อมาได้ขุดพื้นที่ทำบ่อ เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา




หมายเหตุ
๑. การออกโฉนดที่ดิน
การออกโฉนดที่ดินเริ่มทดลองทำครั้งแรกที่เมืองกรุงเก่าเมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ มีการตั้งหอทะเบียนและนายทะเบียนจัดเก็บเอกสาร เมื่อได้ผลแล้วจึงขยายไปยังกรุงเทพฯ และมณฑลอื่นฯ ตามลำดับ (พ.ศ. ๒๔๔๔) มีการออกพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ซึ่งได้รวบรวมการดำเนินการเรื่องที่ดินแต่ดั้งเดิมหลายฉบับไว้เป็นฉบับเดียว และถือเป็นมูลฐานของกฎหมายเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินต่อมา และได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดินอีกหลายฉบับ ฉบับสุดท้ายคือพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๔๗๙ ซึ่งได้วิวัฒนาการเป็นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ใช้บังคับเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินและหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่าง ๆ สืบมาจนถึงปัจจุบัน



๒. จีนอั้งยี่
จีนอั้งยี่ คือกลุ่มชาวจีนที่ก่อความไม่สงบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนต้องตรา พ.ร.บ.อั้งยี่ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ซึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยมีกลุ่มชาวจีนก่อความไม่สงบขึ้นในหลายจังหวัดถึงขั้นต้องปราบปราม เรียกคนจีนกลุ่มนี้ว่า จีนตั้วเหี่ย



ข้อสันนิษฐานเรื่องการย้ายวัดแสนภูดาษ (โดยนางอมร ตันสุตะพานิช ผู้รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล)
๑. จากคำบอกเล่าของ พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ ว่า ได้มีบรรพบุรุษที่โยกย้ายมาจากตลาดพลู ริมคลองบางกอกน้อยที่มาอาศัยที่บ้านจากขาด แล้วต่อมาย้ายออกมาอยู่ที่บ้านหมู่ใหญ่ แต่เนื่องจากตระกูลกุลละวณิชย์ ได้มีการขยายวงศ์ตระกูลเพิ่มขึ้นหลายสาย นางมณี กุลละวณิชย์ ภรรยากำนันปรีชา กุลละวณิชย์ ได้ให้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ ว่า ยังมีเชื้อสายของกุลละวณิชย์สายอื่นอาศัยอยู่ที่บ้านจากขาด และเคยได้ยินคำบอกเล่าว่า นานมาแล้วบริเวณบ้านจาก-ขาดมีน้ำท่วมขังจริง ปัจจุบันบ้านจากขาดเป็นเขตตำบลลาดขวางและอยู่ลึกจากปากคลองแสนภูดาษมาก จึงสันนิษฐานว่าบริเวณที่น้ำท่วมขังคือบริเวณฝั่งซ้ายของคลองแสนภูดาษเมื่อหันหน้าสู่ปากคลองตลอดแนวคลอง



๒. จากการเปิดประเทศสยามให้คนจีนอพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระราโชบายผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยส่งเป็นสินค้าออกของสยามประเทศ โรงหีบอ้อยและการทำไร่อ้อยล้วนอาศัยชาวจีนอพยพเข้ามาที่เมืองฉะเชิงเทรา ชาวจีนเหล่านี้ทำงานเป็นลูกจ้างและตั้งหลักแหล่งโดยการแต่งงานกับคนพื้นถิ่น และชอบการอาศัยตามริมชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงจึงกลายเป็นชุมชนหนาแน่นเกิดความเจริญขึ้นมีการสร้างบ้านเรือน ศาลเจ้า ตลาดค้าขาย วัดแสนภูดาษเองก็คงทั้งหนีภาวะน้ำท่วมและเพื่อออกมาตั้งอยู่ในย่านชุมชนที่มีความเจริญ สอดคล้องกับประวัติศาสตร์บอกเล่าและลักษณะเดิมของวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) ใบเสมาหิน ซึ่งมีรูปแบบทางศิลปกรรมเปรียบเทียบได้กับหลักฐานพบในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน



ความเป็นมาเรื่องสวนอ้อยและโรงหีบอ้อยโบราณของจังหวัดฉะเชิงเทราโดยสังเขป

ข้อมูลจากวิทยานิพนธ์ของ อังคณา แสงสว่าง เรื่องบทบาททางเศรษฐกิจของชาวจีนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๘ - ๒๔๗๕ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ พ.ศ. ๒๕๕๐ กล่าวถึงในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสนับสนุนให้ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในประเทศไทยรวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย และจากการวิจัยของ สกินเนอร์ จี วิลเลี่ยม กล่าวถึงชาวจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในสยามในช่วงต้นศตวรรษที่ ๑๙ มักอยู่เขตชายฝั่งทะเลบริเวณที่ลุ่มแถบแม่น้ำใหญ่ ๆ มีการตั้งหลักแหล่งชาวจีนในทุก ๆ เมืองรวมทั้งเมืองฉะเชิงเทรา หลักแหล่งของชาวจีนตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำบางปะกงเรื่อยมาถึงปราจีนบุรี.. แสดงว่าชาวจีนเข้ามาอยู่ในฉะเชิงเทราบริเวณบางปะกง บ้านโพธ์ บางพระ.. ในสมัยปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากความไม่สงบทางภาคใต้ของประเทศจีน ชาวจีนจำนวนมากจึงอพยพหนีภัยไปอยู่ดินแดนอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศไทย และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนอพยพมาโดย ไม่จำกัดจำนวน รวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย



พระสังฆราชปาลเลกัวร์ พระสหายในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ ได้กล่าวถึงคนจีนในฉะเชิงเทราว่า “ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มอุดมด้วยนาข้าว สวนผลไม้ และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน” พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งโรงงานทำน้ำตาลทรายเป็นโรงหีบอ้อยหลวงที่ นครไขยศรี ๒ โรง ฉะเชิงเทรา ๑ โรง พนัสนิคม ๑ โรง โดยเฉพาะที่ฉะเชิงเทราเป็นโรงหีบอ้อยหลวงขนาดใหญ่ พระยาวิเศษฤาไชยเจ้าเมืองฉะเชิงเทราเป็นผู้ดูแลการใช้จ่ายเงิน จากข้อมูลดังกล่าวชาวจีนจำนวนมากเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อทำไร่อ้อยและตั้งโรงหีบอ้อยในอำเภอบ้านโพธิ์ บริเวณดินแดนตำบลสนาม-จันทร์ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับตำบลแสนภูดาษ ปรากฏมีชุมชนสวนอ้อย ชุมชนห้วยโรงหีบอ้อย (ปัจจุบันเรียกเพียงโรงหีบ)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น