วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568
วัดแสนภูดาษ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒
ประวัติวัดแสนภูดาษ
วัดแสนภูดาษปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๓๖ บ้านนอก หมู่ที่ ๒ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา พิกัด : ๑๓.๕๘๑๑๕๙๙๙๑๗๖๔๙๒๒ . ๑๐๑.๐๒๙๖๖๔๑๐๕๓๒๒๒๗
วันเดือนปี ที่สำรวจ : ธันวาคม ๒๕๖๔
ผู้สำรวจ : นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง
สภาพทั่วไป
บริเวณวัดตั้งอยู่บนฝั่งขวาริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงติดกับคลองแสนภูดาษ พื้นที่ตัววัดอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒ เมตร มีพันธุ์พืชประเภทพืชป่าชายเลน ขึ้นอยู่ริมฝั่งน้ำ มีบ้านเรือนราษฎรที่เป็นพุทธศาสนิกชนอยู่ใกล้เคียง เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยกร่องและทำนา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอาชีพประมงเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นส่วนใหญ่ เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย ปัจจุบันมีพระสงฆ์จำพรรษาจำนวน ๗ รูป (ณ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๖) ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ สำหรับสร้างอุโบสถหลังใหม่ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
การเดินทางสู่วัด
ทางบก
ออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทาง ๓๑๔ ถนนสิริโสธร (ฉะเชิงเทรา–บางปะกง) หลักกิโลเมตรที่ ๙ ถึง ๑๐ เลี้ยวซ้ายเข้าสามแยกแสนภูดาษ ถนนเทศบาล (วัดแสนภูดาษ) ระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ถึงวัดแสนภูดาษ
ทางน้ำ
ออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดใกล้สะพานฉะเชิงเทรา ข้ามแม่น้ำบางปะกง ล่องเรือไปยังปากแม่น้ำผ่านวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (วัดเมือง) กม.ที่ ๐.๑๕ วัดโสธรวรารามวรวิหาร กม.ที่ ๓.๓ วัดไชยภูมิ-ธาราม (วัดท่าอิฐ) กม.ที่ ๕.๘ วัดผาณิตาราม กม.ที่ ๑๔.๕ วัดเกาะชัน กม.ที่ ๑๖.๔ วัดสนามจันทร์ กม.ที่ ๒๐.๙ คิดเป็นระยะทางรวมจากต้นทางถึงวัด เป็นระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
ศาสนสถาน
สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินบริเวณที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๒ งาน ๘๖ ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ ๔๖๓๙ ตำบลแสนภูดาษ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาณาเขต
ทิศเหนือ จด ลำประโดง
ทิศใต้ จด ที่ดินเอกชน
ทิศตะวันออก จด แม่น้ำบางปะกง
ทิศตะวันตก จด ที่ดินเอกชน
ที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๓ แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๙๐, ๒๓๓๔๑ และ ๒๒๓๓๓ เนื้อที่รวม ๓๖ ไร่ ๒ งาน ๕๓ ตารางวา
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย
๑. อุโบสถ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๔ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕
๒. วิหาร (โบสถ์หลังเก่า) กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๕ เมตร ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ อาคารหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วอย่างน้อยในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพที่ ๒)
๓. พระปรางค์ประธาน ๑ องค์ พระเจดีย์เก่าเหลืออยู่ ๔ องค์
๔. ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๓๐ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓
๕. หอสวดมนต์ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖
๖. กุฏิสงฆ์ จำนวน ๗ หลัง เป็นอาคารไม้ ๑ หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๔ หลัง และตึก ๒ หลัง
๗. ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน ๒ หลัง
โบราณวัตถุที่สำคัญ
๑. พระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยา ปางสมาธิ ๑ องค์ พระนามว่าหลวงพ่อโต หน้าตักกว้าง ๑๒๗ เซนติเมตร สูง ๑๔๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๒๕ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวาปิดพระอังสาซ้าย สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ชายสังฆาฏิหลังพับแบบสามเหลี่ยม พระพุทธรูปองค์นี้มีพุทธลักษณะพิเศษคือพระหัตถ์ขวามี ๖ นิ้ว ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๕)
๒. พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ สมัยอยุธยา ปางมารวิชัย ๑ องค์ หน้าตักกว้าง ๗๕ เซนติเมตร สูง ๘๖ เซนติเมตร พระรัศมี ๑๔ เซนติเมตร ครองจีวรห่มเฉียงเปิดพระอังสาซ้ายปิดพระอังสาขวา สังฆาฏิยาวเสมอพระนาภี ด้านหน้าพับตัดตรง ด้านหลังม้วนแบบเขี้ยวตะขาบ ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๖)
๓. พระศรีอริยเมตไตร (เขียนตามจารึกเดิมที่ฐานพระพุทธรูป) ครองจีวรลายดอกพิกุล อายุสมัยประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพที่ ๗) พร้อมจารึกนามผู้บริจาคสร้าง ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๘)
๔. ใบเสมาหินแกรนิต อายุสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๘ ใบ ขนาด สูง ๖๑.๕ เซนติเมตร ฐานกว้าง ๓๕ เซนติเมตร หนา ๙.๕ เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ (ภาพที่ ๙)
๕. พระพุทธบาทสัมฤทธิ์มงคล ๑๐๘ ประการ ๑ องค์ ยาว ๑๔๖ เซนติเมตร กว้าง ๕๘.๕ เซนติเมตร ประดิษฐานในวิหาร (อุโบสถหลังเก่า) (ภาพที่ ๑๐)
การบริหารการปกครอง
รายชื่อเจ้าอาวาส ( เท่าที่ทราบนาม )
๑. พระแหยม ๒. พระกอย
๓. พระพินิจ วิรุฬหภโร (พ.ศ. ๒๔๗๓ - พ.ศ. ๒๔๘๖)
๔. พระครูฉันทโสภณ (พ.ศ. ๒๔๘๖ - พ.ศ. ๒๕๒๒)
๕. พระครูพิพิธพิพัฒนพิธาน (บุญลือ จั่นนิล พ.ศ. ๒๕๒๒ - ปัจจุบัน)
การศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ (ปัจจุบันใช้เป็นหอสวดมนต์)
ข้อมูลเอกสารบัญชีวัดและคณะสงฆ์
สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๑๗ (พ.ศ. ๒๔๔๑) ระบุว่า วัดแสนปูดาด บ้านแสนปูดาด อธิการเชื้อชาติไทย พระเชื้อชาติไทย ๑๖ รูป สวดมนต์ได้ ๑๖ รูป มากกว่า ร.ศ. ๑๑๖ จำนวน ๔ องค์ (รูป) (ภาพที่ ๑๔)
การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น
จากหลักฐานที่พบสามารถสันนิษฐานได้ว่า วัดแสนภูดาษมีมาแล้วอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และอาจเก่าไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา (ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑)
สมัยอยุธยา เนื่องจากสมัยนี้เป็นช่วงเวลาที่นิยมการสร้างพระพุทธรูปหินทราย ที่วัดแสนภูดาษมีการสำรวจพบพระพุทธรูปหินทรายภายในวัด ซึ่งนำไปสู่การเทียบเคียงอายุของวัดได้จากกลุ่มวัดที่อยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน ซึ่งมีการสำรวจพบพระพุทธรูปหินทรายเช่นเดียวกัน ได้แก่ วัดท่าลาดเหนือ วัดท่าลาดใต้ วัดแจ้งบางคล้า วัดสัมปทวน และวัดโสธร เป็นต้น นอกจากนี้คำว่าภูดาษยังอาจจะเชื่อมโยงไปถึงการสันนิษฐานจากบริบทที่ว่า พื้นที่แสนภูดาษนี้เคยเป็นด่านเก่าที่คอยตรวจตราเรือเข้าออกของเมืองฉะเชิงเทรา โดยสังเกตจากชื่อ สำภูดาษ หรือ สามภูดาษ อันเป็นชื่อเดิมก่อนที่จะเรียกว่า แสนภูดาษ ในสมัยปัจจุบัน โดยที่คำว่า ภูดาษ นั้นแปลว่า เสมียน ซึ่งอาจหมายถึงเสมียนด่านก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีคำนี้เป็นคำโบราณที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏถ้อยคำสำนวนในกฎหมายตราสามดวงที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (สมัยรัตนโกสินทร์ไม่นิยมใช้คำนี้)
ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงปรากฏชื่อแสนภูดาษ (สำภูดาษ) ในโคลงนิราศฉะเชิงเทรา พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายทินกร) คราวยกทัพไปปราบเจ้าอนุวงศ์ที่เวียงจันทน์ (พ.ศ. ๒๓๖๙) และนิราศปราจีนบุรีซึ่งไม่ปรากฏนามผู้แต่ง กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. ๒๓๗๒ (ประพันธ์หลังศึกเจ้าอนุวงศ์ แต่แต่งก่อนการขุดคลองแสนแสบและการย้ายเมืองฉะเชิงเทรา) นิราศเรื่องนี้ได้กล่าวถึงเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่า มีการแทงออภูดาษตายแล้วเอาไส้มาแขวนไว้ และสมัยต่อมาเรียกว่า สำภูดาษ เรื่องราวที่ปรากฏในโคลงนิราศปราจีนบุรีนี้จะจริงหรือไม่นั้นไม่สามารถทราบได้ แต่อย่างน้อยก็สะท้อนได้ว่าชุมชนแห่งนี้น่าจะมีมาก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นไปได้ว่ามีอายุเก่าถึงสมัยอยุธยา โดยอาศัยข้อมูลจากผลการวิเคราะห์พระพุทธรูป ใบเสมาหินแกรนิต และวิหาร (อุโบสถหลังเก่า)
รวมทั้งการสัมภาษณ์ประวัติศาสตร์บอกเล่าที่มีหลักฐานแวดล้อมอย่างชัดเจนจากผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน สามารถสันนิษฐานได้ว่าที่ตั้งวัดในปัจจุบันแต่เดิมเป็นด่านเก่าเก็บภาษีทางเรือที่ขึ้น ล่องตามแม่น้ำบางปะกง ส่วนวัดแสนภูดาษสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถระบุอายุได้อย่างชัดเจน เดิมตั้งอยู่ริมคลองแสนภูดาษ ห่างจากปากคลองเข้าไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ต่อมามีหลักฐานจากประวัติศาสตร์บอกเล่าว่าได้ย้ายออกมาตั้งอยู่บริเวณปากคลองแสนภูดาษเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการย้ายที่ตั้งเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลแสดงให้เห็นว่าวัดแสนภูดาษได้สถาปนาขึ้น มีการปรับเปลี่ยนย้ายสถานที่ตั้ง และมีการพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ผู้ค้นคว้าศึกษาประวัติศาสตร์วัดแสนภูดาษ
นายอัฐพงษ์ บุญสร้าง
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์/โบราณคดี หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา นักประวัติศาสตร์และนักอนุรักษ์เข็มพระราชทาน นักอนุรักษ์ดีเด่น ปี พ.ศ. ๒๕๕๙
นายอาณัติ บำรุงวงศ์
ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี และสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช
นายบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ
ผู้อำนวยการกลุ่มประวัติศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น