วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บางปะกง…นามนี้ได้แต่ใดมา....




ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น
ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน
เหม็นแต่กลิ่นคาวอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่
ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพสไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย
ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย

จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่

อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เคยอธิบายในหนังสือชีวิตและงานของสุนทรภู่ โดยสันนิษฐานว่าบ้านบางมังกง อาจหมายความถึงบ้านที่มีปลามังกง ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง คำว่าบางปะกงอาจเรียกย่อมาจากบางปลามังกง เป็นบางปะกง ก็เป็นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วปลาที่มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำนี้คือปลาอีกงซึ่งเป็นปลาแขยงสายพันธุ์หนึ่งนั่นเอง ปลาอีกงจะออกหากินเป็นฝูงใหญ่ตามชายฝั่งเป็นปลาที่รักษาความสะอาดให้แก่แหล่งน้ำได้ดีมาก

หรือว่า.....บางปะกงอาจมาจากคำจีน ว่า มัง-ก๋า-กง
เล่ากันว่า ในอดีตที่อำเภอบางปะกง พลบค่ำมียุงชุกชุมมาก ถึงขนาดต้องกินข้าวกันในมุ้ง เคยมีเรือสำเภาจีนมาจอดทอดสมอถูกยุงรุมตอมกัดได้พูดเป็นภาษาจีนว่า มัง-ก๋า-กง ชาวบ้านได้ยินก็ขบขัน ต่อมาเวลาที่ยุงมากๆ ชาวบ้านก็จะพูดคำว่า มัง-ก๋า-กง และยุงเพิ่งลดปริมาณลงเมื่อไม่นานมานี่เอง
( ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙ พ.ศ. 2550)

ปลาแขยงเป็นปลาที่กินทุกอย่างที่ขวางหน้าหากสามารถกินได้

เรื่องที่อำเภอบางปะกงมียุงชุกชุมมากนี้ ยังเป็นตำนานที่มาของตำบลท่าสะอ้านของอำเภอบางปะกงด้วยกล่าวคือ การเดินทางในสมัยก่อนที่อำเภอบางปะกงยังไม่มีการสร้างถนน ต้องใช้การลัดเลาะมาทางป่าจากและป่าแสม ทางส่วนใหญ่พุเป็นโคลนมียุงชุกชุมมาก กว่าจะมาถึงบริเวณท่าข้ามแม่น้ำตรงที่ตั้งตำบลท่าสะอ้านในปัจจุบัน ผู้เดินทางมาถึงกับสะอื้นเพราะความยากลำบากในการเดินทาง จึงพากันเรียกท่าข้ามนี้ว่า “ท่าสะอื้น” ต่อมาคงเห็นว่าคำว่า “สะอื้น” เป็นคำไม่ไพเราะจึงเรียกเพี้ยนไปเป็น “ท่าสะอ้าน” ต่อมามีชุมชนหนาแน่นขึ้นทางการจึงได้ตั้งเป็นตำบลเรียกว่าตำบลท่าสะอ้าน

ปลาอีกง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mystus gulio

เป็นปลาน้ำจืดที่พบบริเวณแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ติดต่อกับทะเล โดยเฉพาะบริเวณน้ำกร่อย สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย เนื่องจากมีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำระหว่าง 0-30 ส่วนในพันส่วน ชอบว่ายน้ำรวมกันเป็นฝูง แพร่กระจายทั่วไปในอินเดีย พม่า ศรีลังกา คาบสมุทรมาเลย์ สุมาตรา บอร์เนียว และไทย
ปลาอีกงมีชื่อท้องถิ่นหลายชื่อ ได้แก่ ปลามังกง ปลาแขยงกง ปลากด ปลาแขยงหมู

ลำน้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคตะวันออกที่มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาในผืนป่าดงพญาเย็นไหลสู่ลำห้วยลำธารสายเล็กสายน้อยหลายสายแล้วไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำจนในที่สุดมารวมเป็นแม่น้ำสายใหญ่ไปสิ้นสุดออกสู่ปากอ่าวไทยที่อำเภอบางปะกงทำให้เรียกแม่น้ำทั้งสายว่าแม่น้ำบางปะกงตามความนิยมการเรียกชื่อแม่น้ำด้วยชื่อสถานที่สุดท้ายของลำน้ำนั้นๆ ระบบนิเวศของน้ำจึงเรียกตามธรรมชาติจริงที่เกิด คือ แหล่งน้ำจืด แหล่งน้ำเค็ม พื้นที่สองน้ำ ดินแดนสามน้ำ ซึ่งน้ำก็มีธรรมชาติของตัวเองที่จะส่งผลเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของสัตว์น้ำและผู้คนริมฝั่งน้ำ และยังมีเรื่องของความเชื่อถือตามธรรมเนียมไทย ธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันจนแยกไม่ออกกับวิถีไทยเสมอๆ





ปรากฏการธรรมชาติของน้ำ

น้ำขึ้น- น้ำลง เป็นไปตามแรงดึงดูดระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ขึ้น-ลง วันละ ๒ ครั้ง ครั้งละ ๖ ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

น้ำเกิด หรือ ชอบน้ำ หรือ น้ำใหญ่ ปรากฏการณ์ที่น้ำเริ่มสูง หรือไหลแรงมีปริมาณมากกว่าปกติ เกิดขึ้นประมาณ ๑๒ ค่ำ มากที่สุดถึง ๑๕ ค่ำ จนถึง ๑ ค่ำ

น้ำตาย หรือ น้ำทาม หรือน้ำเท้อ หมายถึงน้ำที่ไหลไม่ค่อยแรง ทรงตัว น้ำขึ้นลงค่อนข้างน้อยและช้า หรือไหลอ่อนลง มักจะได้เคยจำนวนมาก มักจะเริ่มตั้งแต่ ๗ ค่ำ จนถึง ๑๑ ค่ำ น้ำไหลลง จะจับเคยได้มากในช่วงนี้

น้ำเช้า หมายถึงน้ำที่ไหลขึ้น ตั้งแต่ ตี ๑๒ ขึ้นมาจนเช้า น้ำเกิดเต็มฝั่งจนอยู่ตัวในตอนเช้า จากนั้นน้ำก็ลงไปเรื่อยๆ พอลงถึงจุดต่ำสุด ก็เริ่มขึ้น และขึ้นเต็มที่ตอน ๖ โมงเย็น

น้ำเย็น คือปรากฏการณ์ที่น้ำเต็มฝั่งตอนเย็น

น้ำขอด คือช่วงเวลาที่น้ำที่แห้งลงสุดๆ ประมาณช่วง ๑-๓ ค่ำ น้ำจะแห้งขอดมาก

น้ำสอด เป็นปรากฏการณ์ในช่วงรอยต่อ ฤดูฝนกับหนาว ที่น้ำจืดและน้ำเค็มกำลังเปลี่ยนพื้นที่ เกิดขึ้นราวเดือนตุลาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน น้ำเค็มที่มีความเข้มข้นและหนักกว่าจะไหลแทรกในระดับล่างของแม่น้ำ น้ำจืดเบากว่าและไหลลอยอยู่ข้างบน สมัยก่อนช่วงน้ำสอดเช้าจะได้กุ้งเคยมาก ช่วงน้ำสอดจะมีเศษขี้ผงที่แขวนปนมากับน้ำจืดตอนบนจำนวนมาก ขี้ผงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ขี้กะปิ เหล่านี้จะไปอุดตามตาอวน ชาวประมงจะลดปัญหาโดยการรีบชักอวนขึ้นให้ทัน

น้ำสองกระดอง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นราวเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ที่กลางวัน น้ำจะมีน้อย กลางคืนมีน้ำขึ้นมา วันละเพียงครั้งเดียว เกิดขึ้นเป็นระยะสั้นๆ เพียง ๒-๓ วัน จากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นการขึ้น-ลง วันละ ๒ ครั้งตามปกติ

ดินแดนสามน้ำ
บริเวณบางปะกงเป็นเขต สามน้ำ คือ จืด กร่อยเค็ม ช่วงฤดูฝน น้ำจืดจากต้นน้ำจะไหลผลักดันน้ำทะเลออกสู่อ่าวไทย พอถึงฤดูแล้ง น้ำทะเลจะหนุนเข้ามามาก ทำให้บริเวณปากแม่น้ำเค็ม ลึกเข้าไปหน่อย น้ำจะกร่อย สาเหตุนี้เองทำให้บางปะกง มีความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร เป็นแหล่งที่รวมของสัตว์น้ำนานาชนิด มาชุมนุมกันอย่างมากมาย
(ที่มา : ทุ่งโลมาที่ปากแม่น้ำบางปะกง เอกสารเผยแพร่สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ฉบับที่ ๒๙)

เรื่องของน้ำจืด น้ำเค็มนี้ ยังมีตำบลในอำเภอบางปะกงชื่อตำบลสองคลอง เป็นตำบลที่มีคลอง 2 สาย สายหนึ่งเป็นคลองน้ำเค็ม ซึ่งมีพื้นที่ติดกับทะเลด้านอ่าวไทย อีกสายหนึ่งเป็นคลองน้ำจืด แต่น้ำไม่จืดตลอดปี หลังจากราชการได้สร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านกั้นน้ำเค็ม ทำให้คลองน้ำจืดมีน้ำจืดตลอดปี ต.สองคลอง จึงถูกแบ่งพื้นที่ซึ่งมีสภาพแตกต่างกันจนสังเกตได้เป็น 2 ส่วน คือ คลองน้ำจืด และ คลองน้ำเค็ม


จากประสบการณ์ชาวน้ำของตนเองพบว่า

ในฤดูร้อน เป็นฤดูที่น้ำจะขึ้นไม่เต็มที่ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
ในฤดูฝน จะมีน้ำใหญ่ น้ำเกิด ในช่วงกลางคืนและช่วงกลางวันน้ำลงแห้งฝั่ง
ในฤดูหนาว จะมีน้ำใหญ่ น้ำเกิดในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืน น้ำจะแห้งฝั่ง

จากเนื้อเพลงที่เราได้ยินกัน คือ เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสอง น้ำทรง และ วันเพ็ญเดือนสิบสองน้ำนองเต็มตลิ่ง นั้น หมายถึงช่วงเวลากลางวัน พอกลางคืนในวันลอยกระทง น้ำไม่เคยเต็มตลิ่งเลย กลับเป็นเวลาที่ น้ำก็รี่ไหลลง ไหลลง ยิ่งดึกก็ยิ่งน้ำแห้งฝั่งลงทุกขณะ

ผู้เขียนไม่เคยสังเกต ปรากฏการการบางอย่างของน้ำ เพิ่งมาพบเห็นในช่วงที่ไปรอคอยถ่ายภาพพระอาทิตย์ขึ้นที่ริมแม่น้ำ


วันหนึ่งเมื่อไปถึงชายฝั่งพบว่าเป็นช่วงน้ำไหลลงมองเห็นกอผักตบชวาไหลลอยลงไปทางขวามือของตนเอง ดวงตะวันก็ยังไม่อรุโณทัยสักที เฝ้ามองท้องฟ้าอยู่นานก็เบื่อเลยก้มมองสายน้ำที่เบื้องหน้าและเลยฝั่งไปไม่ไกลนัก มองเห็นผักตบชวาที่ริมฝั่งลอยไปช้าๆผ่านหน้าไปหลายกอไปทางขวามือเป็นปกติของน้ำไหลลง แต่ที่ห่างฝั่งออกไปกระแสน้ำจะแรงกว่า ผักตบชวาจะลอยลิ่วเร็วกว่าริมฝั่ง จู่ๆก็มีกอผักตบชวากอหนึ่งไหลลอยผ่าน เลยหน้าไปแล้วจู่ๆ ก็หยุดลอยแล้วกลายเป็นว่ากอผักตบชวาค่อยๆหมุนตัวเองวนกลับ แล้วเปลี่ยนทิศทางหมุนกลับลอยย้อนไปทางด้านซ้ายมือ กำลังงงว่าโดนผีพรายในน้ำเล่นกลให้ดูหรือไร

แต่แล้วก็ได้แจ้งใจ เมื่อมีกอผักตบชวาที่ลอยห่างฝั่ง อีก 2 กอ ลอยไหลผ่านหน้าไปทางซ้ายมืออีก สังเกตกระแสน้ำที่ห่างฝั่งก็พบว่า กระแสน้ำไหลขึ้นไปทางซ้ายมือ ถึงเข้าใจว่า กระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางไหลขึ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชายฝั่งยังไหลลงอยู่เลย แล้วในที่สุดกระแสน้ำที่ไหลขึ้นมาแรงกว่า ก็ผลักดันกระแสน้ำที่ไหลลงริมฝั่งที่อ่อนแรงลงแล้วกลับไหลขึ้น ลองหลับตานึกภาพกระแสน้ำไหลขึ้นปะทะกับกระแสน้ำไหลลง หากตัวเราเป็นปลาอยู่ตรงนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกันหนอ

ต้องขอบคุณพระอาทิตย์ที่วันนั้นตื่นสายเลยทำให้ได้มีเวลามองกระแสน้ำเห็นความเปลี่ยนแปลงกับสายตาตัวเอง และรู้สึกดีใจที่ตนเองมีเวลามากพอ ไม่ต้องเร่งรีบปฎิบัติภารกิจแข่งกับเวลาจึงมีเวลาที่จะพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติที่ไม่เคยใส่ใจมองมาก่อน คงคล้ายๆปรากฏการน้ำสอดข้างบน


ส่วนดวงอาทิตย์ก็ค่อยๆเลื่อนที่ของการโผล่ขึ้นที่ขอบฟ้าวันละนิดๆ เช่นกันหากเรายืนมองประจำที่ในจุดเดิมทุกๆวัน




ยังมีความเชื่อตามธรรมเนียมจีนที่เกี่ยวพันกับแม่น้ำบางปะกงดังนี้

สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว
ได้อ่านพบความเชื่อของชาวจีนที่เปรียบเทียบแม่น้ำบางปะกงเป็นสายน้ำแห่งมังกรตัวเล็ก เลยขอคัดย่อมาดังนี้

สายน้ำแห่งมังกร ของ เมืองแปดริ้ว เป็นชื่อเรียกขานตามการสันนิษฐานที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยหลายๆ เหตุผล ประการหนึ่งคือด้วยลักษณะทางกายภาพของสายน้ำบางปะกงที่มีความคดโค้งไปมาดุจดั่ง พญามังกร พาดผ่านเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ทรัพย์ในดิน สินในน้ำ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินให้สร้างวัดจีนแห่งหนึ่งขึ้นบริเวณเยาวราช คือ วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ในปัจจุบัน

ตามหลักฮวงจุ้ยของคณาจารย์จีนวังส์สมาธิวัตร (สกเห็ง) ผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นโดยถือว่าวัดเล่งเน่ยยี่เปรียบเป็น ตำแหน่งหัวมังกร และกำหนด ตำแหน่งท้องมังกร ไว้ที่ วัดเล่งฮกยี่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (พ.ศ. 2450 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาส แล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดจีนประชาสโมสร” ) สำหรับ ตำแหน่งหางมังกร อยู่ที่ วัดเล่งฮัวยี่ หรือ วัดมังกรบุปผาราม จังหวัดจันทบุรี

ตำแหน่งต่างๆ ที่พระอาจารย์สกเห็งได้วางไว้นั้น เป็นตำแหน่งของความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ทรัพย์สิน เงินทอง การค้าขาย และความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในบริเวณนั้นอย่างมีความสุข

ตำแหน่งท้องมังกรนี้ได้ผสมผสานความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า และประวัติศาสตร์ของสถานที่สำคัญต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ทำให้เกิดการเรียกขานแม่น้ำบางปะกงว่า

สายน้ำแห่งมังกร โดยมี มังกรตัวเล็ก พาดอยู่ตามลำน้ำบางปะกง

ตำแหน่งหัวมังกร อยู่บริเวณ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อพุทธโสธร อันศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพ นับถือของชาวไทย ทั่วประเทศ

ตำแหน่งท้องมังกร อยู่ตำแหน่งเดิมที่ วัดเล่งฮกยี่ (วัดจีนประชาสโมสร) ซึ่งภายในวัดนั้นมีสิ่งน่าสนใจมากมาย ประกอบด้วย องค์พระประธาน และ 18 อรหันต์ ที่เป็นประติมากรรมโบราณ ทำจากกระดาษ อายุกว่า 100 ปี (ลักษณะเปเปอร์ - มาเช่) ภูมิปัญญาชาวจีนจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เทพเจ้าไฉ้เซ่งเอี้ย (เทพเจ้าแห่งโชคลาภ) , ระฆังศักดิ์สิทธิ์ใบใหญ่ หนึ่งในสามใบในโลก และ พระสำเร็จ ร่างสังขารเจ้าอาวาสที่มรณภาพแล้วไม่เน่าเปื่อย

ตำแหน่งหางมังกร คือตำแหน่งที่พระเจ้าตากสินได้เดินทัพผ่านสู่เมืองจันทบุรี เพื่อระดมไพร่พลในการกู้กรุงศรีอยุธยา และเมื่อเดินทัพถึงบริเวณปากน้ำโจ้โล้ จึงได้เจอทัพพม่าซุ่มโจมตี และสู้รบกันจนได้รับชัยชนะ จึงได้สั่งให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบริเวณแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และพักทัพ ณ บริเวณวัดโพธิ์ บางคล้า (สถานที่ชมค้างคาวแม่ไก่)

บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ประกอบ “พระราชพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์” เพื่อนำน้ำไปใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งแม่น้ำบางปะกงเป็นหนึ่งใน “เบญจสุทธิคงคา” (คือแม่น้ำสายสำคัญ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำบางปะกง
ที่มา http://www.bpkcruise.com

หมายเหตุ บริเวณการตักน้ำในแม่น้ำบางปะกง มีหลานสถานที่ตามกาลเวลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น