วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มัจฉา....เยือนวารี...วันนี้ที่ลุ่มน้ำบางปะกง


ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวของ ฉะเชิงเทรา
สำหรับข้าวคงใช้ข้อมูลของเรือกระแชง บอกกล่าวเล่าความได้พอสังเขปแล้ว ก็ขอเล่าในส่วนของ ในน้ำมีปลา...

ในปี พ.ศ.2526
มีเอกสารวิชาการของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ เรื่องสภาวะประมง ชนิด และการแพร่กระจายของสัตว์น้ำในแม่น้ำบางปะกง ของสันทนา ดวงสวัสดิ์ เป็นเอกสารที่เจาะรายละเอียดตามอำเภอต่างๆด้วย พบว่ามีสัตว์น้ำที่พบในแม่น้ำบางปะกง 106 ชนิด ทั้งสัตว์น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม จากอำเภอเมืองฉะเชิงเทราถึงจังหวัดปราจีนบุรีและนครนายก พบปลาน้ำจืดเป็นส่วนมาก และบริเวณอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ลงมาอำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง พบสัตว์น้ำกร่อยและน้ำเค็มอยู่มากในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนเท่านั้น
กุ้งก้ามกรามพบทุกจุดที่สำรวจ
พบเครื่องมือประมงที่ใช้กัน 20 ชนิด ที่นิยมทำเป็นอาชีพอย่างจริงจังได้แก่เครื่องมือ โพงพาง เฝือกรัง และสวิงรอกุ้งรอเคย
( การทำโพงพาง ยกเว้นเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม จะไม่ทำการประมง)
หมายแหตุ
โพงพางก็คือ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เป็นถุงตาข่ายรูปยาวรี ใช้ผูกกับเสาใหญ่ 2 ต้น ที่ปักขวางลำน้ำ บางแห่งก็มีไม้ช่วยค้ำยัน2 อันต่อ1 เสาเพื่อกันหงายบางที่ก็ไม่มีไม้ค้ำยัน ผู้ที่ทำโพงพางเป็นอาชีพส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อยู่ริมน้ำ ที่ได้ยื่นขออนุญาตจากทางราชการไว้ เจ้าของโพงพางต้องเสียค่าน้ำให้ราชการ ต่อมามีนโยบายให้ยกเลิกการทำโพงพาง เจ้าของโพงพางเดิมหากเสียชีวิต ทายาทจะไม่ได้รับอนุญาตให้สืบต่อกิจการ ให้ทำได้แค่ชั่วชีวิตของผู้ยื่นขอไว้ครั้งแรกเท่านั้น ดังนั้นปัจจุบันจึงแทบไม่มีการทำโพงพางกันแล้ว บางโพงพางทิ้งร้างเพราะทายาทแยกย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยไม่ทำการรื้อถอนหลักไม้ปักโพงพางออกไปก็มี

อีก25 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ.2551

มีการวิจัยของสำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดถึงความหลากชนิดของพรรณปลาในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงและลุ่มน้ำปราจีนบุรี ของ อภิชาติ เติมวิชชากรและ อภิรดี หันพงศ์กิตติกูล
(ผู้สนใจรายละเอียดไปตามหางานวิจัยนี้ได้ที่อาคารปรีดากรรณสูต กรมประมง บางเขน )
พบชนิดปลาในลุ่มน้ำบางปะกง 146 ชนิด และลุ่มน้ำปราจีนบุรี 135 ชนิด เป็นปลาน้ำจืด 135 ชนิด และปลาน้ำกร่อย 38 ชนิด โดยพบปลาในวงศ์ปลาตะเพียน ปลาสร้อย และปลาซิว มีความหลากชนิดมากที่สุด 47 ชนิด ชนิดพันธุ์ปลาที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาก้างพระร่วง ปลาหนวดพราหมณ์หนวด 14 เส้น ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย ปลาบู่สมิธ ปลาค้อเกาะช้าง และปลากะทิ


ส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยมีโครงการติดตามและประเมินผลการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศของลุ่มน้ำบางปะกง นิเวศชายฝั่งทะเล
(บริเวณอำเภอบางปะกง) พบว่า
1.พรรณไม้ชายเลน มีจำนวนชนิดลดลง บางชนิดพบได้เพียงประปรายเท่านั้น และความสามารถ
ในการสืบพันธุ์ลดลงจากในอดีต 2-3 เท่า
2. จำนวนชนิดของปลาพบเพียง 170 ชนิด จากจำนวนชนิดปลาที่เคยรายงานทั้งหมด 281 ชนิด
โดยเป็นปลาที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด คือ ปลาตองลาย วงศ์Notopteridae และปลาตะโกกหน้าสั้น วงศ์ Cyprinidae

และอีก 5 ชนิดมีแนวโน้มสูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาหางไก่ ปลาแมวหูดำ วงศ์Engraulidae ปลากะทิงไฟวงศ์ Mastacembembelidae ปลากดหัวลิง วงศ์ Ariidae และปลาดุกด้าน วงศ์ Clariidae

ในขณะที่มีปลาหลายชนิดมีจำนวนลดน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปริมาณและการกระจายในเขตน้ำกร่อยในประเทศไทย เช่นปลาจิ้มฟันจระเข้ วงศ์ Syngnathidae ปลาตะโกก ปลาสร้อยนกเขาหน้าหมอง ปลาร่องไม้ตับ ปลาแมว ปลาแมวหนวดยาว ปลากดหัวลิง (Ketengus typus) และกลุ่มปลาปักเป้าเขียว และรวมทั้งปลาโลมาพบว่ามีความชุกชุมลดลง และพบห่างไกลจากปากแม่น้ำบางปะกงมากขึ้น
ในรายงานมีอ้างอิงข้อมูลกรมประมง ปี พ.ศ. 2550 จึงน่าเป็นโครงการในปี พ.ศ.2551



บางกรูดถือเป็นดินแดน สองน้ำ คือน้ำจืดและน้ำกร่อย ในอดีตน้ำจะกร่อยเพียงสี 4 เดือน น้ำจืด8 เดือน และน้ำกร่อยนี้จะขึ้นไปไม่ถึงปราจีนบุรี แต่ในปัจจุบันเมื่อหมดฤดูฝนประมาณต้นเดือน พ.ย.ของทุกปี น้ำทะเลจะหนุนน้ำจืดดันขึ้นไปจนถึง จ.ปราจีนบุรี เมื่อถึงฤดูฝนประมาณเดือน พ.ค. น้ำจืดจะดันน้ำเค็มถอยลงมาจนถึงปากแม่น้ำที่ อ.บางปะกง ในเดือน ก.ค. ก่อนจะถูกน้ำเค็มหนุนกลับขึ้นไปอีกครั้งเมื่อถึงหน้าแล้ง เท่ากับว่าในสถานการณ์ปกติที่ฝนตกตามฤดูกาล แม่น้ำบางปะกงในหลายพื้นที่ จะเป็นน้ำจืดได้เพียง 4 เดือน (ก.ค.- ต.ค.) เท่านั้น
ในด้านของสัตว์น้ำทำให้ มีพันธุ์สัตว์น้ำทะเลหลงเข้ามาในลำน้ำบางปะกงมากขึ้น หลายชนิดได้ปรากฏในลำน้ำที่ปราจีนบุรี
ดังนั้นที่บางกรูดก็มีพันธุ์ปลามากกว่าเดิม อีกทั้งกรมประมงเองก็ส่งเสริมปล่อยพันธุ์กุ้งพันธุ์ปลาลงในแม่น้ำทุกปี แต่กระนั้นความอุดมสมบูรณ์ในลำน้ำก็ยังน้อยกว่าเมื่อ ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว แม้จะมีพันธุ์สัตว์น้ำมากประเภทขึ้นและบางชนิดก็คาดว่าสูญพันธุ์ ไปแล้วคือปลาหวีเกศ ซึ่งเคยเป็นชนิดพันธุ์ประจำถิ่นของพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง (หมายถึงฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ) บางชนิดก็ใกล้สูญพันธุ์ จากรายงานข้างต้น รวมทั้งมีปลานำเข้าเริ่มเข้าไปอยู่ในบางแหล่งน้ำคือปลายี่สกเทศและปลานิล เนื่องจาก เป็นปลาที่นิยมใช้เป็นปลาปล่อยเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำ

(ปัจจุบันมีการสร้างเขื่อนทดน้ำ ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่เสวก ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง ฉะเชิงเทรา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนป้องกันน้ำเค็ม ใช้อุปโภคบริโภค และจัดสรรน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก)

ข้างต้นเป็นข้อมูลด้านวิชาการที่ เมื่อได้อ่านมาแล้ว ก็ อยาก..ปันสู่ผู้อ่านในเรื่องของเหตุการณ์ภาพรวมของ มัจฉา .... วันนี้ ..... ที่แม่น้ำบางปะกง

แล้ววันวานของบางกรูดเป็นอย่างไร…
ก็เป็นวิถีชาวบ้าน ชาวบ้าน.....ริมวารี...คลุกคลีกับ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่ธรรมชาติจัดสรรไว้ให้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น