พุทธคยา ๒
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net
พุทธคยา ( ฺBodh Gsya )
สถานที่ตรัสรู้ ( Enlightenment Place )
เป็นสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ (รู้แจ้ง) ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อน พุทธศักราช ๔๕ ปี
ที่ตั้ง หมู่บ้านพุทธคยาตำบลพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
ขอขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย
สิ่งก่อสร้างหรือวัตถุที่มีึความสำคัญ
๑.องค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา ทรงสี่เหลี่ยมปิรามิด สูง 170 ฟุต
๒.พระพุทธเมตตา ปางมารวิชัย (ภูมิผัสสะ) อายุกว่า ๑๔๐๐ ปี
๓.ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันเป็นต้นที่ ๔ )
๔.พระแท่นวัชรอาสน์ บัลลังก์ที่เจ้าชายสิิทธัตถะประทับนั่งใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขอขอบคุณภาพจาก https://ssl.panoramio.com
สิ่งสำคัญในบริเวณใกล้เคียง
๑. แม่น้ำเนรัญชรา สถานที่ลอยถาดทองคำอธิษฐาน
๒.สถูปที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างบริเวณที่เชื่อว่าเป็นบ้านนางสุชาดาเพื่อระลึกถึงนางสุชาดาผู้ถวายข้าวมธุปายาส
๓.ภูเขาดงคสิริ สถานที่บำเพ็ญทุกกริยา เป็นเวลา ๖ ปี ก่่อนการตรัสรู้ของเจ้าชายสิิตธัตถะ
๔.ภูเขาคยาสีสะ สถานที่แสดงธรรมอาทิตปริยายสูตรโปรด ชฎิืล (นักบวชเกล้าผม) สามพี่น้องและบริวาร จำนวน ๑,๐๐๐ ได้บรรลุอรหันต์
มีวัดไทยพุทธคยา เป็นวัดไทยแห่งแรกที่รัฐบาลไทยสร้างในต่างประเทศ
ความสำคัญอื่น เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.puthakun.org
แผ่นดินที่แพงที่สุดในโลก
คือพื้นที่กว้างหนึ่งเมตรยาวหนึ่งเมตรใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่แพงที่สุดในโลกเพราะพระมหาบุรุษทรงได้ครอบครองเพราะเอาบารมีที่ทรงบำเพ็ญเพียรมาเป็นระยะเวลาสี่อสงไขยและแสนกัปป์ และทรงสละชีวิตของพระองค์เข้าแลกดังทรงเปล่งอธิษฐานว่า
กามัง ตะโจ นะหารู จะ อัฎฐิ จะ อะวะสิสสะตุ
อะวัสสุสสะตุ เม สะรีระ สัพพันตัง มังสโลหิตัง
สัพพังปี หิทัง สะรีเร มังสะโลหิตัง อุปะสุสสะตุ
ถึงแม้เนื้อและเลือดในร่างกายนี้จะละลายหายไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตาม ตราบใดที่ไม่ได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ เราจะไม่ลุกจากที่นั่งนี้
หากจะนับระยะเวลาที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ อย่างครบถ้วน ๓ ระดับคือ ปกติ ขั้นกลาง (อุปบารมี) และขั้นสูงสุด (ปรมัตถะบารมี) แล้ว ก็ยาวนาน หรือจะประเมินราคาของความดีนั้นไม่สามารถประเมินได้ว่าราคาเท่าไร มีใบประกาศนียบัตรรับรองสักเท่าไร
หนึ่งครั้งในชีวิตพุทธบริษัทคควรต้องเดินทางมาก้มกราบและทำความดีบนแผ่นดินที่มีราคาแพงที่สุดในโลกนี้
พื้นดินดังกล่าวปัจจุบันคือพระแท่นวัชรอาสน์
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.puthakun.org/
๑.องค์พระมหาเจดีย์พุทธคยา
มหาเจดีย์มหาโพธิ์ นี้ สันนิษฐานกันว่าสร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช คงมีขนาดเล็กกว่านี้ แต่ด้วยแรงศรัทธาต่อพระพุทธองค์จึงมีผู้ต่อเติมเสริมสร้างและบูรณะสังขรณ์กันเรื่อยมาตามยุคสมัย เช่นราว พ. ศ ๖๗๔ พระเจ้าหุวิชกะ กษัตริย์แคว้นมคธ เสริมให้เป็นศิลปสถูปขนาดใหญ่ ซึ่งหลวงจีนถังซำจั๋ง เรียกว่ามหาโพธิ์วิหารในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ โดยมีบันทึกว่า
"ทางตะวันออกของต้นโพธิ์ มีวิหารสูงประมาณ ๑๖๐-๑๗๐ ฟุต กำแพงเบื้องล่างสูงประมาณ ๒๙ หรือกว่านั้น ตัวอาคารทำด้วยกระเบื้อง (อิฐ) สีฟ้า ทาทับด้วยนปูนขาว ทุกห้องในชั้นต่าง ๆ บรรจุรูปที่ทำด้วยทองคำมากมาย ตัวตึกทั้งสี่ด้านประดับประดาด้วยลวดลายอันมห้ศจรรย์ รูปไข่มุกที่ร้อยเป็นสายประดับไว้ที่หนึ่ง
ตัวอาคารล้อมรอบด้วยทองแดงชุบ ประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลวดลายวิจิตร ประดับด้วยทอง เงิน มุก และรัตนะต่าง ๆ ด้านขวาซ้ายประตูนอก เป็นซอกคล้าย ๆ ห้อง ด้านซ้ายมีรูปพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ด้านขวาเป็นรูปพระเมตไตรยโพธิสัตว์ รูปเหล่านี้ทำด้วยเงินขาวสูง ๖๐ ฟุต "
คันนิ่งแฮมถือว่าวิหารหลังปัจจุบันแม้จะซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้วก็คือวิหารเดียวกัน
พระมหาเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ทางตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยมีแท่นวัชรอาสน์อยู่ตรงกลาง สูงตามรูปทรงกรวย ประมาณ ๑๗๐ ฟุต วัดรอบฐานประมาณ ๘๕ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนอาคารรองรับ ๒ ชั้น มีเจดีย์บริวาร ๔ ด้าน รอบบริเวณมีเสาหินทรายของพระเจ้าอโศกมหาราช มีรั้วล้อมไว้ มีการบูรณะหลายครั้ง
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net
การตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ
ณ ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี นางสุชาดา ธิดาของคหบดีผู้มั่งคัั่งในตำบลได้ถวายข้าวมธุปายาสอันประณีตใส่ในถาดทองคำให้พระมหาบุรูษซึ่งประทับนั่งโคนต้นไทร ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกมีรัศมีแผ่ซ่านออกไปเป็นปริมณฑลงดงามยิ่งนัก พระมหาบุรุษไม่มีบาตรจะถ่ายข้าวออก นางจึงถวายถาดทองคำนั้น
ขอขอบคุณภาพ ส.ค.ส. อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ
พระมหาบุรุษลุกจากที่ประทับทรงถือถาดข้าวมธุปายาสเสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงปั้นข้าวมธุปายาสได้ ๔๙ ปั้น เสวยจนหมด ทรงถือถาดเสี่ยงทายพระบารมีถ้าจะได้ตรัสรู้ขอให้ถาดนี้ลอยทวนกระแสชึ้นน้ำไป ทรงลอยถาดทองคำลงในแม่น้ำเนรัญชรา ถาดทองคำลอยทวนน้ำไปประมาณ ๑ เส้น ก็จมลงตรงสู่นาคภพพิมานแห่งพญากาฬนาคราช
มีท่าน้ำตรงจุดที่ทรงลอยถาดทองคำเรียกว่าท่าสุปปติฏฐะ ปัจจุบันอยู่ตรงข้ามมหาเจดีย์พุทธคยา
ตอนบ่ายพระมหาบุรุษทรงพบกับนายโสตถิยะถือหญ้ากุศะมา ๘ กำ และได้ถวายฟ่อนหญ้ากุศะ ๘ กำ ให้พระมหาบุรุษและพระองค์ก็ได้ทรงนำไปที่โคนต้นอัสสัตถะ ที่ภายหลังมาเรียกกันว่าต้นโพธิ์
พระมหาบุรุษได้ทรงวางหญ้าลง โดยวิธีที่ทรงเอาโคนหญ้าลง เอาปลายหญ้าขึ้นสุมทับกันขึ้นไป ฟ่อนหญ้าที่ทรงวางนี้มีสัณฐานเหมือนดอกบัว และได้ทรงวางฟ่อนหญ้าทั้งหมดนี้ที่โคนต้นอัสสัตถะทางด้านตะวันออก ครั้นทรงวางหญ้าสำหรับที่จะประทับนั่งเสร็จแล้ว ก่อนที่จะประทับนั่ง ได้ทรงตั้งพระปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า เลือดเนื้อในสรีระทั้งสิ้นนี้จะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกเท่านั้นก็ตามที เรายังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกขึ้นจากที่นี้ดั่งนี้
หญ้ากุศะ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Desmostachy bipinnata Stapf) เป็นหญ้าในวงศ์ Gramineae (Poaceae) มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดียและเนปาล ชอบขึ้นในที่แห้งแล้งริมฝั่งแม่น้ำ โดยจะขึ้นเป็นกอเหง้าใหญ่ ใบอวบรูปยาวเหมือนหอก ขอบใบคม ดอกเป็นช่อรูปพีระมิด หรือเป็นแท่งตั้งตรง แข็ง สีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และแยกกอ
หญ้ากุศะเป็นหญ้าชนิดหนึ่งซึ่งถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก เนื่องจากเป็นหญ้าที่ปรากฏในพุทธประวัติว่า พระมหาบุรุษได้นำหญ้ากุศะไปปูรองนั่งเป็นพุทธบัลลังก์ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ ทำให้ชาวพุทธถือว่าหญ้านี้มีความสำคัญมาก และจัดให้หญ้านี้เป็นต้นไม้สำคัญชนิดหนึ่งในพุทธประวัติ และชาวพุทธนิยมนำหญ้าชนิดนี้มาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น นำมาทำเป็นที่ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เป็นต้น
หญ้ากุศะ
ในปฐมสมโพธิเล่าเรื่องราวไว้ว่า
เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จขึ้นประทับบนบัลลังก์แล้วขัดสมาธิ ผินพระพักตร์ไปทางปราจีนทิศ (ทิศตะวันออก) หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นอัสสัตถะ (ต้นโพธิ์ )ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน และเริ่มเพ็ญเพียรด้วยสมาธิจิต เทพยดาพากันมาสโมสรสันนิบาตห้อมล้อมแซ่ซ้อง ชื่นชมโสมนัส พญาวััสวตีมาราธิราช น้อยใจ คิดริษยา เคียดแค้น เรียกพลเสนามารมา พญามารทรงช้างคีรีเมขล์ นิรมิตมือพันมือถืออาวุธกรีฑาทัพ มาที่ประทับพระมหาบุรุษ บรรดาเทพเทวาพากันหลบหนีไปหมดทิ้งพระมหาบุรุษไว้เพียงลำพัง บรรดาสรรพาวุธศาสตรายาพิษที่พุ่งไปที่พระมหาบุรุษ กลายเป็นบุปผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษจนสิ้น พญามารตรัสด้วยสันดานหยาบว่า
" ดูกร สิทธัตถะ บัลลังก์แก้วนี้เกิดด้วยบุญเรา เพื่อเรา ท่านเป็นผู้ไม่มีบุญ ไม่สมควรจะนั่งบนบัลลังก์แก้วนี้ จงลุกไปเสียโดยเร็ว "
พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงตรัสตอบว่า "ดูกรพญามาร บัลลังก์แก้วนี้เกิดด้วยบุญญาธิการของเราที่ได้บำเพ็ญมานับ สี่อสงไขยแสนกัปป์ จะนับประมาณมิได้ เราผู้เดียวเท่านั้นสมควรจะนั่งบัลลังก์แก้ว "
ดอกหญ้ากุศะ
พญามารร้องหาพยานรับรอง พระมหาบุรุษจึงรับสั่งหานางวสุธราเจ้าแม่แห่งธรณี นางขึ้นมาประคองอัญชลีถวายอภิวาทประกาศว่าพระมหาบุรุษเมื่อเสวยพระชาติเป็นบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้บำเพ็ญบารมีมามากมายตลอดกาล เหลือจะประมาณนับได้ แต่กรวดน้ำที่ข้าพเจ้าเอามวยผมมารองรับไว้เหนือเศียรเกล้า ก็มีมากพอจะถือเป็นหลักฐาน กล่าวแล้วก็ประจงหัตถ์อันงามปล่อยมวยผม บีบน้ำกรวดที่สะสมไว้เอนกชาติให้ไหลหลั่งออกมาดุจทะเลหลวง กระแสน้ำท่วมบ่าทับเสนามารทั้งปวงจมลงวอดวาย กำลังน้ำได้พุ่งซัดช้างคีรีเมขล์ให้ถอยร่นไปจนติดขอบจักรวาล พญามารตกตะลึงเห็นเป็นอัศจรรย์ ด้วยมิเคยเห็นมาแต่กาลก่อนก็ประนมหัตถ์ถวายนมัสการยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระมหาบุรุษ
พระมหาบุรุษทรงพิชิตมารตั้งแต่เวลาสายัณห์มิทันที่พระอาทิตย์จะอัสดง พระมหาบุรุษทรงเจริญสมถภาวนา กระทำจิตให้แน่วแน่ จนถึงรูปสมาบัติ ๔ บริบูรณ์ ก็ทรงเจริญญาณจนยามสามของราตรีการเจริญญาณปัญญาก็บรรลุปฐมญาณ มัชฌิมาและสุดท้ายที่ปัจฉิมญาณตามลำดับ
ในปฐมญาณ ทรงบรรลุ ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ สามารถระลึกชาติที่ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้น
ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ (บางแห่งเรียก ทิพยจักษุ) สามารถหยั่งรู้การเกิดการตายตลอดจนการเวียนว่ายของสรรพสัตว์อื่นได้หมด
ในปัจฉิมญาณ ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงสามารถทำลายกิเลศทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา
ทรงพิจารณาปฎิจจสมุปบาทโดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาแต่กาลก่อน ทรงเปล่งพระอุทานถึงตัณหาอันเป็นตัวการให้เกิดสังสารวัฎฎทุกข์แก่พระองค์มาเป็นเอนกชาติได้ว่า "อเนกชาติสํสารํ "เป็นอาทิ
" นับแต่ตถาคตท่องเที่ยวสืบเสาะหาตัวนายช่างผู้ทำเรือน คือตัวตัณหา ตลอดชาติสงสาร จะนับประมาณมิได้ ก็มิได้พานพบ ดูกร ตัณหา นายช่างผู้สร้างเรือน บัดนี้ตถาคตพบท่านแล้ว แต่นี้สืบไปท่านจะทำเรือนให้ตถาคตอีกไม่ได้แล้ว โครงสร้างของเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว ช่อฟ้าหลังคาของเจ้าเราก็หักทำลายเสียแล้ว จิตของเราเข้าถึงพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่ปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งใด ๆ ให้ถึงความดับสูญสิ้นไปแห่งตัณหา อันหาส่วนเหลือมิได้โดยแท้ "
อาจารย์นิศา เชนะกุล วิทยากรบรรยาย "โครงสร้างสัทธรรมของพระพุทธเจ้า "ที่ยุวพุทธิสมาคม มักจะกล่าวสรุปท้ายการบรรยายด้วยภาษาบาลีทำนองสวดอินเดีย (คล้าย ๆ สวดธัมมจักฯ ในเสียงเพลงของ Blog นี้ ) ไพเราะมาก พร้อมทั้งคำแปลไทย ที่ไพเราะ ท่านอาจารย์ใช้คำว่า " นี่แน่ะนายช่างผู้สร้างเรือนบัดนี้เรือนของเจ้าเราก็ทำลายเสียแล้ว หลังคาของเจ้าเราก็รื้อลงเสียแล้ว เสาเรือนของเจ้าเราก็หักทิ้งเสียแล้ว เจ้าจะสร้างเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป.... ( ประมาณนี้ แต่ใจความยาวกว่านี้ ..พลอยโพยมก็จำมาแบบคลับคล้ายคลับคลา ตอนฟังประทับใจมาก ซื้อเทปคาสเซ็ทท่านมา แต่ปัจจุบัน 10 ปีแล้วไม่มีเครื่องเปิดเทปคาสเซ็ทนี้เสียแล้ว)
ขอขอบคุณภาพจาก
http://mahamodo.com
หมายเหตุ
บัลลังก์แก้วนี้มีข้อมูลว่า
พระมหาบุรุษ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วขอให้บัลลังก์ที่ประทับนั่งจงเกิดเป็นรัตนบัลลังก์แก้วขึ้นรองรับพระสัพพัญญุตญาณในที่นี้ ทันใดนั้น บัลลังก์แก้วอันวิจิตรงดงาม ก็ผุดขึ้นสมดังพระทัยประสงค์ ควรจะอัศจรรย์ยิ่งนัก ( ข้อมูลจาก http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/buddhist42.htm )
พระโพธิสัตว์ หมายถึง บุคคลที่บำเพ็ญบารมีหรือกระทำความดีต่าง ๆ เพื่อให้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล มีพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากตามความเชื่อในฝ่ายเถรวาท และมหายาน แต่มีความแตกต่างกันไป
อัศจรรย์บังเกิดมี พื้นมหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็ไหวหวั่น พฤกษชาติทั้งหลายก็ผลิดอกออกช่องามตระการ เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าพากันแซ่ซ้องสาธุการโปรยปรายบุปผามาลัย ถวายสักการะ เปล่งวาจาว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้
ในปฐมสมโพธิกล่าวว่า ในวันที่ทรงตรัสรู้นั้น หมื่นโลกธาตุทั้งสิ้นมีการตบแต่งประดับประดาแผ่นผ้าธงทิวทั้งหลายที่ปลายขอบจักรวาล ทั่วสารทิศตลอดพื้นดินจรดพรหมโลก ต้นไม้ดอกไม้ในหมื่นจักรวาลก็ออกดอกออกผลไปทั่ว
ปทุมชนิดมีลำต้นก็ออกดอกที่เครือเถา
ปทุมชนิดที่ห้อยในอากาศก็ออกดอกในอากาศ
ปทุมชนิดที่เป็นก้านก็ทำลายพื้นศิลาทึบชูช่อขึ้นซ้อน ๆ กัน
หมื่นโลกธาตุก็เกลื่อนกลาดไปด้วยบุปผานานาพันธุ์ โลกันตริกนรกกว้าง ๘ พันโยชน์ในระหว่างจักรวาลทั้งหลายไม่เคยสว่างด้วยแสงอาทิตย์ ๘ ดวง ในกาลนั้นก็สว่างไปทั่ว
น้ำในมหาสมุทรลึก ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ได้กลายเป็นน้ำหวาน
แม่น้ำทั้งหลายหยุดนิ่งไม่ไหล
คนตาบอดแต่กำเนิดได้แลเห็นรูป
คนหูหนวกแต่กำเนิดได้ยินเสียง
คนง่อยเปลี้ยแต่กำเนิดก็เดินได้
บรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายคือ ขื่อคา ก็ขาดหลุดไป
หลังจากทรงตรัสรู้แล้วทรงเสวยวิมุตติ ๗ แห่ง แห่งละ ๗ วัน รวม ๔๙ วัน เพื่อพิจารณาพระโพธิญาณที่ทรงตรัสรู้นั้นให้แน่พระทัยตามสถานที่ต่าง ๆ คือ โพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ ต้นอชปาลนิโครธ ต้นมุจรินทร์ ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) สถานที่เหล่านี้เรียกว่า สัตตมหาสถาน นับเป็นพุทธเจดีย์ด้วย
และที่บริเวณต้นโพธิ์นี้ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ และมีการบูรณะกันสืบต่อมาจนเป็นมหาโพธิ์วิหาร เป็นพระมหาเจดีย์พุทธคยานั้นในกาลต่อมานั้น มีการบูรณะสังขรณ์อีกหลายยุคสมัย
สืบเนื่องจากศาสนาพุทธมีน้ำใจให้ทุกคนเสมอต่อมาศาสนาพราหมณ์จึงเข้าสู่สถานที่แห่งนี้โดยง่าย มีปรากฎในจารึกว่าตอนปลายราชวงศ์ปาละ (ศตวรรษที่ ๑๐ ) ว่ามีการใช้กำลังบังคับเพื่อเปลี่ยนแดนพุทธนี้ให้เป็นดินแดนพราหมณ์ โดยนำรูปศิวพรหม หรือมหาเทวาจตุรมุขเข้ามาประดิษฐานในวิหารมหาโพธิ์นี้
เมื่อ พ.ศ. ๑๔๙๑ (ค.ศ.๙๔๘ ) พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์แห่งเมืองมัลวาชื่อ อมรเทวะ แต่งหนังสือ อมรโฆษะ บอกว่าได้ออกแบบวิหารมหาโพธิ์ใหม่ โดยเอาเค้าเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์ผสมกับเจดีย์มหาโพธิ์ของพุทธศาสนา คือยอดเป็นสถูป ตอนกลางเป็นปรางค์ ตอนล่างเป็นวิหาร แล้วด้ดแปลงวิหารมหาโพธิืให้เป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ความมุ่งหมายเพื่อให้เห็นว่าพุทธกับพราหมณ์นั้นเป็นวัฒนธรรมอินเดีย
มหาโพธิ์สังฆารามถูกสร้างอย่างสง่างามเมื่อถึงกาลก็ผุพังไปตามกาลเวลา กระแสศรัทธาปรับเปลี่ยนไปตามยุค จากน้ำมือพราหมณ์ ผ่านยุคมุสลิม มหาสังฆารามก็ตกเป็นเมืองร้างถูกเผาผลาญราบเรียบถูกทอดทิ้งเช่นเดียวกับนาลันทา มหาสังฆารามแห่งพุทธคยาจึงหลุดมือชาวพุทธไปอย่างเด็ดขาดตั้งแต่พ.ศ. ๒๑๓๓ (ค.ศ. ๑๕๙๐ )ตกอยู่ในความปกครองของนักบวชมหันต์ในนิกายทัสนามิสันยาสีคนหนึ่งชื่อ โคสายฆมัณทีคีรี ในลัทธิฮินดู
โดยอ้างว่า พ.ศ ๑๒๘๒ จักรพรรดิ์โมกุล ชื่อ มูฮัมหมัดซาห์ ได้พระราชทานหมู่บ้านมัสตุปุระและตาราทิห์ให้เป็นสมบัติของมหันต์องค์ที่ ๔ ชื่อลาลคีรี วิหารมหาโพธิ์อยู่ในหมู่บ้านตาราทิห์ นักบวชมหันต์จึงถือว่าวิหารและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธคยาเป็นของมหันต์ด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔ กษัตริย์พม่าเคยเสด็จมาทรงเห็นว่าวิหารมหาโพธิ์ย่อยยับทรุดโทรมอย่างหนัก มหันต์ไม่สนใจไยดี
แก้ไขเพิ่มเติม
( พระเจ้าโบดอพญา (Bodawpaya ) แห่งราชวงศ์อลองพญา(ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๔-๒๓๖๒ พระเจ้าบาคยีดอว์ (Bagyidaw) ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๖๒-๒๓๘๐ พระเจ้าปะกัน (Pagin Min, ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๘๙-๒๓๙๖)
พระเจ้ามินดงกษัตริย์พม่าแห่งราชวงศ์อลองพญา (พ.ศ. ๒๓๕๑-๒๔๒๑) ครองราชย์ พ.ศ. พ.ศ ๒๓๙๖ -๒๔๒๑
(ที่มาจากประวัติศาสตร์พม่า http://www.oceansmile.com )
ในปีพ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดงทรงเจรจากับรัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นของอังกฤษ ทรงขอบูรณะพุทธคยา มหันต์ยินยอมให้บูรณะัได้แต่มิให้ทำลายเทวรูปของศาสนาฮินดู พระเจ้ามินดงพระราชทานเครื่องเงินเครื่องทองคิดเป็นราคา ๖๐.๐๐๐ รูปีให้แก่มหันต์ ขอให้ตั้งบูชาต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ศาลาบริโภคที่พระเจ้ามินดงทรงสร้างไว้หลังหนึ่งด้วยช่างพม่า มิได้อาศัยหลักวิชาศิลปกรรมในการบูรณะ อังกฤษจึงส่งช่าง เอก ๒ นายมากำกับ คือเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลามิตร แต่งานบูรณะพุทธยายังไม่แล้วเสร็จตามความปรารถนาของพระเจ้ามินดง พม่าก็เกิดรบกับอังกฤษจึงยุติการบูรณะไว้
ในประเทศพม่า พระเจ้ามินดงโปรดให้จารึกพระไตรปิฎกทั้งชุดรวมทั้งคำอธิบายลงบนเสาหินกว่า 5,000 ต้น และทรงสนับสนุนพระสงฆ์ผู้เคร่งวินัยให้อพยพไปพม่าตอนล่าง(ที่มาจากหม่องทินอ่อง,ประวัติศาสตร์พม่า, หน้า 244)
ขอขอบคุณภาพจาก http://www.oceansmile.com
ภายหลังการบูรณะเรียบร้อย ประมาณ พ.ศ.๒๔๒๓ ไม่มีบันได และนายพลคันนิ่งแฮมได้สร้างเจดีย์ที่มุมทั้งสี่เพิ่มขึ้น
พุทธยาร่วงโรยอับเฉาเพราะรัฐบาลอังกฤษในอินเดียเกรงใจมหันต์เป็นอย่างมาก มหันต์ก็ไม่สนใจบูรณะพุทธคยา ชาวบ้านลักโขมยข้าวของในบริเวณมหาวิหารไปมากมาย ชาวพุทธได้แสดงออกในเรื่องมหาเจดีย์พุทธยากันมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนล์ ชาวอังกฤษ ซึ่งเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ได้มาเห็นพุทธยาในระหว่าการซ่อมแซม เห็นว่าสถานที่นี้ควรตกเป็นของขาวพุทธจึงจะถูกต้องชอบธรรม ได้ประพันธ์พุทธประวัติเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า THE LIGHT OF ASIA ( ประทีปแห่งเอเชีย )
และมีหนังสือขอให้รัฐบาลอินเดียยกพุทธคยาให้แก่ชาวพุทธ แต่ไม่เกิดผล
จนปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวลังกา อายุเพียง ๒๙ ปีในขณะนี้นได้เดินทางมากราบพุทธคยา และเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้เพื่อให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นของชาวพุทธ
พระแท่นวัชรอาสน์ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นที่ ๔ ผู้ชายที่นั่งคือท่านอนาคาริกธรรมปาละ
มีการก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ขึ้น เรียกร้องชาวพุทธทั่วโลก มีญี่ปุ่น ไทย กัมพูชา พม่า อังกฤษ เนปาล ธิเบต ยะไข่ อเมริกา เปิดการเจรจาขอซื้อที่ดินส่วนหนึ่ง นำภิกษุ ๔ องค์ ไปพักที่พุทธคยา มหันต์ยินยอมจะขายที่ดินให้ แต่ภายหลังกลับใจไม่ขายเกรงผลประโยชน์รายได้จากวิหารพุทธคยาจะลดน้อยลง มีเจรจาต่อรองกันอีกครั้ง มหันต์เปลี่ยนใจจะขายให้ยังไม่ทันวางเงินแบ่งโฉนดกัน ทางการอังกฤษเข้าแทรกแซงช่วยมหันต์ ขอเลื่อนเวลาการแบ่งโฉนดและให้ท่านธรรมปาละกลับลังกา
เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ มีการประชุมพุทธศาสนิกสากลขึ้นที่พุทธคยา มีผู้แทนจาก ลังกา จีน ญี่ปุ่น ร่วมประชุม ญี่ปุ่นประกาศว่าจะพยายามหาเงินมาซื้อวิหารมหาโพธิ์ให้ได้ ทุกคนมีความหวังถึงกับยกธงชาติญี่ปุ่นคู่ธงศาสนาภายใต้ต้นโพธิ์ตรัสรู้ แต่การก็ไม่สำเร็จ
ในปี พ. ศ.๒๔๓๖ ท่านธรรมปาละกลับมาอีกพบว่าพระภิกษุ ๔ องค์ที่พบณ กุฏิพระพม่า ถูกลูกศิษย์มหันต์ทุบตีเกือบตาย ขณะกำลังนั่งท่องพระวินัยและวิสัชนาธรรมกันอยู่ หยดเลือดเประอยู่กับพื้น มีการแจ้งให้มหันต์นำตัวผู้ร้ายมาลงโทษ มหันต์ไม่ยอมและยกเลิกไม่ยอมขายที่หรือให้เช่าที่ดินใด ๆ ในเขตพุทธคยา แม้แต่ธรรมยาตราก็ไม่อนุญาต
ต่อมาชาวพุทธขอนำพระพุทธรูปอายุ ๗๐๐ ปี ที่พระสงฆ์ญี่ปุ่นมอบให้เข้าไปประดิษฐานภายในมหาวิหารมหาโพธิ์ มหันต์ไม่ยินยอม อ้างว่าพุทธเป็นเพียงพระนารายณ์อวตาลปางที่ ๙ และวิหารนี้เป็นสมบัติของชาวฮินดู ชาวพุทธถือสิทธิ์มากเกินไป ขู่ท่านธรรมปาละว่าถ้านำพระพุทธรูปเข้ามาตั้งในวิหาร มหันต์จะเอาเงินบริจาคในตู้ของชาวพุทธ แสนรูปี ไปจ้างคนห้าพันคนมาฆ่าท่านธรรมปาละ
ในคืนนั้นท่านธรรมปาละนั่งสมาธิที่ต้นศรีมหาโพธิ์ด้วยจิตที่แน่วแน่ แล้วรีบไปปลุกพระสงฆ์ให้ลุกขึ้นในเวลาที่ใกล้เที่ยงคืนทุกองค์ ไำด้ร่วมกันตั้งส้ตย์ถึง ๗ ครั้ง ขออุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปเข้าประดิษฐานในวิหารมหาโพธิ์ชั้นบน เสร็จแล้วเตรียมจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย
ทันใดนั้นลูกศิษย์ของมหันต์สองคนมาเห็นเข้า เดินไปบังคับให้เอาพระพุทธรูปออกจากวิหารและไปตามพวกเอามาอีก ๕๐ คน กรูทำร้ายท่านธรรมปาละและพระภิกษุสงฆ์ด้วยไม้พลอง ตะบองสั้นครบมือ ด่าทอพระสงฆ์ จับพระพุทธรูปโยนลงจากที่ตั้งออกนอกวิหารพระพักตร์คว่ำลงดิน
ข่าวการโยนพระพุทธรูปออกจากวิหารมหาโพธิ์แพร่ไปทั่วโลก ท่านธรรมปาละนำเรื่องฟ้องศาล ศาลตัดสินจำคุกลูกศิษย์มหันต์ ๓ คน จำคุกคนละ ๑ เดือน ปรับคนละ ๑๐๐ รูปี พิพากษาให้ท่านธรรมปาละนำพระพุทธรูปออกไปเสียให้พ้นจากพุทธคยาด้วยแม้ว่าเวลานั้นพระพุทธรูปตั้งอยู่ในกุฎิพระพม่า
พ.ศ.๒๔๔๕ มีการเคลื่อนไหว มีการเปิดไฮปาร์คในนครนิวยอร์ค เมืองชิคาโก้ เมืองซานฟรานซิสโก จนถึงแคนาดา แม้ชาวพุทธจะเพิ่มพลังขึ้น แต่ชาวมหันต์กลับเพิ่มความรังเกียจชาวพุทธมากขึ้น รัฐบาลเบงกอลพยายามไกล่เกลี่ย ท่านธรรมปาละจ้างทนายความต่อสู้คดีชนะทั้งสองศาล เป็นชัยชนะที่ต้องจ่ายเงินจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวแต่ก็มีผลดีมากขึ้น
พ.ศ.๒๔๖๗ ชาวพุทธในพม่า ลังกา เนปาล เข้าร้องเรียนสภาคองเกรสของอินเดีย จนต้องออกกฎหมายบังคับการดูแลพุทธคยาเป็นชาวพุทธ ๕ คน ชาวฮินดู ๕ คน
ความพยายามของท่านธรรมปาละ สำเร็จโดยใช้เวลา ถึงกว่า ๓๐ปี และท่านธรรมปาละได้เสียชีวิตไปก่อนความสำเร็จที่ท่านได้ใช่้จิตวิญาณต่อสู้เรื่องในครั้งนี้ ชาวพุึทธทั้งหลายควรยกย่องท่านเป็นอย่างยิ่ง
ท่านมหาตมคานธี เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ว่า วิหารพุทธคยานี้ควรเป็นสมบัติของชาวพุทธโดยชอบธรรม ไม่มีอะไรสงสัยอีกแล้ว ข้อยุ่งยากทางกฎหมายควรยุติเสียที ท่านมหาตมคานธี ยังกล่าวอีกว่า การนำสัตว์ไปฆ่าทำพิธีกรรมในวิหารมหาโพธิ์นั้นถ้าข่าวเป็นจริงย่อมไม่สมควรที่จะละเมิดต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์พุทธศาสนาโดยตรง ย่อมเป็นการประทุษร้ายต่อจิตใจชาวพุทธทั่วไปอย่างแน่นอน
ท่านระพินทรนาถ ฐากูร เขียนไว้ว่า บรรดาชาวฮินดูที่มีสัจจะต่อตนเองต้องยอมรับว่า ที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนี้ จะตกอยู่ในความดูแลของศาสนาอื่นไม่ได้ เพราะตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร และไม่มีเยื่อใยอะไรต่อศาสนาพุทธ ทั้งการประกอบพิธีกรรมก็ไม่เหมือนกัน
เมื่อบุคคลสำคัญของอินเดียแสดงความเห็นในทำนองเดียวกันเช่นนี้ พวกมหันต์รู้สึกตกใจ ไปว่าจ้างศาสตราจารย์คนหนึ่งในมหาวิทยาลัยปัตนา ให้ออกรับและโฆษณาต่อต้่านความเห็นของบุคคลสำคัญเหล่านั้น
วิหารพุทธคยาพ.ศ.๒๔๘๔
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ อินเดียได้รับเอกราชคืนอย่างสมบูรณ์จากอังกฤษ มหาโพธิสมาคมได้พยายามรบเร้าอย่างเต็มที่ ดร. ศรีกฤษณะ ซิงห์ นายกรัฐพิหาร ได้เสนอร่างรัฐบัญญัติวิหารพุทธคยา
ในที่สุด พ.ศ. ๒๔๙๒ ร่างรัฐบัญญัติวิหารพุทธคยาก็ผ่านสภาแคว้นพิหาร จัดตั้งคณะกรรมการดูแลพุทธคยา ๙ คน เป็นพุทธ ๔ คน เป็นฮินดู ๔ คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดคยาเป็นประธานกรรมการ ถ้าหากผู้ว่าราชการจังหวัดคยามิใช่ชาวฮินดู ก็ให้เลือกผู้คนที่เป็นฮินดูเข้ามาแทน
ท่านอูนุนายกรัฐมนตรีพม่ามาไหว้พระที่พุทธคยาได้เจรจาให้มหันต์ให้คืนพุทธคยาให้ชาวพุทธ ในตอนมอบพุทธคยาให้แก่กรรมการใหม่ตามกฎหมาย ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ มหันต์ได้เจรจากับฑูตพม่าอย่างยิ้มแย้มแจ่มใสว่า ช่วยไปบอกท่านอูนุว่ามหันต์ยกพุทธคยาให้แก่ชาวพุทธแล้ว
ต่อมาท่านเนรูห์ นายกรัฐมนตรีของอินเดียได้เชิญชาวพุทธทั่วโลกให้มาสร้างวัดที่อินเดียเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา วัดไทยพุทธคยาสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินและทุนของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อปี พ. ศ . ๒๕๐๐
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เกิดมีขบวนชาวพุทธผู้รักความเป็นธรรมจากมหาราชตะ มีภิกษุไซไซ ชาวญี่ปุ่นจากนาคปุระเป็นหัวหน้า และชาวพุทธเป็นอันมากเดินทางมาเรียกร้องสิทธิืให้ชาวพุทธได้ครอบครองพุทธคยาโดยสมบูรณ์ เรียกร้องให้นำศพมหันต์ที่ฝังไว้ในบริเวณวิหารมหาโพธิ์ออกไปพร้อมกับวิหารปัญจปาณฑปและศิวลิงค์ที่กลางวิหาร ขบวนชาวพุทธใหม่ได้ออกเดินทางไปทุกสถานที่ขอร้องให้ไปร่วมเดินเรียกร้อง คณะรัฐบาลจึงขอร้องพระผู้มีคุณวุฒิจากวัดต่าง ๆ เช่น ธิเบต ลังกา พม่า ญี่ปุ่นไปเจรจา วัดไทยพุทธยาได้มอบหมายให้พระครูสังฆกิจวิสุทธิ์ (วีรยุทฺโธ)ไปร่วมเจรจาที่กรุงราชคฤห์ ก่อนขบวนผู้เรียกร้องจะมาถึงโพธิวิหาร
ขอขอบคุณภาพจากhttp://www.dhammajak.net
เราชาวพุทธควรต้องรำลึกถึงท่านผู้มีจิตวิญญาณ เคารพศรัทธาพุทธคยาแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้ามินดง และท่านอูนุชาวพม่า ท่านอนาคาริกธรรมปาละ ชาวลังกา เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนล์ ชาวอังกฤษ ท่านมหาตมคานธี ท่านระพินทรนาถ ฐากูรรวมทั้งท่านเนรูห์ ชาวอินเดีย อีกทั้งท่านอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายตามเรื่องเล่า ที่พลอยโพยมคัดลอกมาจากหนังสือของพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ) อ่านไป เขียนไป น้ำตาคลอไป
ขออนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ
มหาสังฆารามพุทธคยา
มหาสังฆาราม ปัจจุบันคือบริเวณตลาดพุทธยาที่ตั้งอยู่บนเนินสูงนั้น กล่าวกันว่าเป็นซากของมหาสังฆารามมาในครั้งโบราณ ที่เคยเป็นสำนักที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสงฆ์ถึง ๒,๐๐๐ รูป ตามความที่หลวงจีนถังซำจั๋งบันทึกไว้ว่า
"พระสงฆ์เหล่านี้ใฝ่ใจในการศึกษา มีมารยาทงดงามตามพระวินัย ในวันหนึ่ง ๆ มีมหาชนทั่วทุกทิศมาชุมนุมเพื่อฟังคำสอนและบริจาคทานกันเป็นจำนวนมาก "
พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทรุ่งเรืองบนแผ่นดินนี้ถึงประมาณปี พ.ศ. ๗๐๐ ก็อ่อนกำลังลง
พุทธคยาอยู่ในเขตอิทธิพลของคยาเกษตรมาแต่เดิม ในคยาเกษตรมีสถานที่บูชาของพวกฮินดูที่มาถวายบิณฑ์ ๑๖ แห่ง คือ ศิวะคะยา พรหมคะยา เปรตคะยา รามคะยา ยุธิษฐิรคะยา ภีระมะคะยา และพุทธะคะยา เป็นต้น ในคะยามหาตมยา เรียกพุทธคยาเป็นโพธคยา หรือธรรมารัณย์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ที่นี้ คำว่าโพธคยาจึงเปลี่ยนมาเป็นพุทธคยา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
ภาพเก่าเล่าเรื่องพระพุทธองค์ โดย พระมหาสุวิทย์ ธัมมสิริ (นาลาด) นักธรรมเอก เปรียญธรรม ๖ ประโยค ปวศ. ศน.บ (มหามงกุฏราชวิทยาลัย) MA PhD
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น