วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๗ พระพุทธวาจาในเวลาสุดท้าย





พระพุทธองค์ประทับใต้ไม้สาละทั้งคู่ที่ผลิดอกออกบานสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้เหล่านั้นโปรยปรายลงเฉพาะพระสรีระเพื่อบูชาพระตถาคต
แม้ดอกมณฑารพ ดอกไม้สวรรค์ก็ตกลงมาจากอากาศ
แม้จุลแก่นจันทน์อันเป็นทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ
โปรยปรายลงเฉพาะพระสรีระเพื่อบูชาตถาคต แม้เทวดาในหมื่นโลกธาตุก็มาชุมนุมกันเพื่อเฝ้าพระตถาคตที่ป่าสาลวัน เมืองกุสินารา



ในอรรถกถากล่าวว่า ในเมล็ดทรายแห่งกรุงกุสินารา เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มิได้ถูกต้องแล้วไม่มี
เทวดาบางพวกสำคัญว่าอากาศเป็นแผ่นดิน สยายผมคร่ำครวญล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา
บางพวกสำคัญว่าเท้าขาดแล้ว พากันรำพันว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเสียเร็วนัก
เรียกว่าเทวดาหมื่นโลกธาตุมาชุมนุมกันที่นี่ แม้เมล็ดทรายหรือช่องว่างของอากาศจะไม่มีเทวดานั้นไม่มี





ดอกมณฑารพ
ขอขอบคุณภาพจาก www.dhammajak.net

ก่อนจะเสด็จปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถึงสถานที่เพื่อการระลึกถึงและเจริญในกุศลทั้งหลายใหกุลบุตรผู้ศรัทธาควรเห็น ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ คือสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ผู้จาริกไปยังเจดีย์สถานด้วยความเลื่อมใสแล้ว จักเข้าถึงโลกสวรรค์ได้ เมื่อคราวทำกาละ

ทรงประทานโอวาทรับสั่งกับพระอานนท์ว่า

"เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว บางทีพวกเธอจะพึงมีความคิดว่า พระบรทศาสดาของเราไม่มี ข้อนี้พวกเธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้วแก่พวกเธอ ธรรมวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเธอ เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว



ขอขอบคุณภาพจาก www.madchima.org

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสั่งเป็นปัจฉิมวาจากับภิกษุทั้งหลายว่า
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า"
วะยะธัมมา สังขารา
"สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา"
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
"พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

นี้เป็นพระวาจาสุดท้ายของพระพุทธองค์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๖ (เรื่องแทรกก่อนเสด็จปรินิพพาน)





เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์

ก่อนเสด็จกรุงกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระอานนทฺทูลถามพระพุทธองค์ว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! พระองค์เป็นดุจพระเจ้าจักรพรรดิในทางธรรม ทรงสถาปนาอาณาจักรแห่งธรรมขึ้น ทรงเป็นธรรมราชา สูงยิ่งกว่าราชาใดๆ ในพื้นพิภพนี้ ข้าพระองค์เห็นว่าไม่สมควรแก่พระองค์เลยที่จะปรินิพพานในเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ขอพระองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี จำปา สาเกต โกสัมพี พาราณสี เป็นต้น เถิด พระเจ้าข้า ในมหานครเหล่านั้น กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คหบดี และทวยนครทุกชั้นที่เลื่อมใสพระองค์ก็มีอยู่มาก จักได้ทำมหาสักการะแด่สรีระแห่งพระองค์เป็นมโหฬาร ควรแก่ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอุดมบุรุษรัตน์ในโลก"

"อานนท์! เธออย่ากลัวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย! ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้

เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี
เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร

เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี

ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน

"อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองเล็ก แต่ในโบราณกาลกุสินารา เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ นามว่ามหาสุทัสสนะ นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์



ก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์แห่งหนึ่ง
ขณะที่พระพุทธองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่า ปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสิการาเพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งามซึ่งมีสีเหลืองทองสิงคีเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ผืนหนึ่งแก่พระองค์ผืนหนึ่ง

พระอานนท์ให้เห็นว่าผ้านั้นไม่ควรแก่ตน จึงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงที่ปราศจากควันและเปลว พระฉวีของพระพุทธองค์เล่าก็ช่างผุดผ่อง งดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใด เปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ! บัดนี้พระองค์มีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่า เวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก มีอาการแห่งผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุไฉนผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก?"

"อานนท์! พระศาสดาตรัสตอบ "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ คือคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงาม ประดุจรัศมีแห่งสุริยา เมื่อแรกรุ่งอรุณและจวนจะอัศดง ดูก่อนพระอานนท์! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนามีดอกเป็นช่อชั้น"

ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงสรงเสวยสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรปูลาดสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นแล้ว บรรทมด้วยสีหไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียรซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า



ทรงตรัสกับพระอานนท์เรื่องนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัททวะว่า

"อานนท์! เมื่อเรานิพพานแล้วอาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้น จุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสาร เดือดร้อนใจไปเองว่า เพราะเสวยสูกรมัทวะ อันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน ดูก่อนอานนท์! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรช่างทองแล้ว เราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอจึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ และถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้ อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"

ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร



ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นอันมาก จากทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า

"อานนท์! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"

พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด?"

"อานนท์! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือ
สถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน
สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกคือ อิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี
สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสสิ้นไปคือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้คือ ป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอย! สถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยบาทแห่งเรา"



"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?"

"อานนท์! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"
"ถ้าจำเป็นต้องดูแล้วเห็นเล่า พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก
"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"

"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย ก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์ และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"

"แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่?"
"ไม่เป็นซิ อานนท์? เธอระลึกได้อยู่หรือเราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"


พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองทบทวนพระพุทธวจนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้



"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จะปฏิบัติเกี่ยวพระพุทธสรีระอย่างไร"
"อย่าเลยอานนท์" พระศาสดาทรงห้าม
 "เธออย่างกังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมาก ที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"

"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกอย่างไร"
"อานนท์! ชนทั้งหลายเมื่อจะปฏิบัติต่อพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"

"ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"
"อานนท์! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่ หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธารด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทาง ๔ แพร่งในสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"

แลแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐธาตุไว้ในพระสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมหาชนไว้ ๔ จำพวก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dhammajak.net/book/anon/anon24.php

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๕ ศาสดาของภิกษุสงฆ๋หลังปรินิพพาน





ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสสั่งพระอานนท์ว่า เมื่อเราปรินิพพานไปแล้วพวกเธออย่าคิดว่าพระบรมศาสดาของเราไม่มี ธรรมวินัยอันตถาคตได้แสดงแล้ว ได้บัญญัติไว้แล้ว พระธรรมและวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ

อานนท์บัดนี้ภิกษุเรียกกันด้วยวาทะว่า อาวุโส โดยกาลล่วงไปแห่งเรา ไม่ควรเรียกกันเช่นนั้น
ภิกษุแก่กว่า พึงเรียกภิกษุที่อ่อนกว่า โดยชื่อโดยโคตร
ภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงเรียกภิกษุผู้ปก่กว่าว่า ภันเต (ผู้เจริญ) หรืออายัสมา (ผู้มีอายุ)
อานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา หากสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล้กน้อยเสียบ้าง ก็จงถอนเถิด
อานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา สงฆ๋พึงลงพรหมทัณฑ์ แก่ฉันนะภิกษุ




พระอานนท์ทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรหมทัณฑ์เป็นไฉน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
 ปล่อยฉันนะภิกษุให้พูดได้ตามที่ตนปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าว ไม่พึงตักเตือน ไม่พึงสั่งสอน

ในที่สุดพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ภิกษุรูปใดมีึวามเคลือบแคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ๋ พวกเธอจงถามเถิด อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังว่า พระผู้มีพระภาคอยู่เฉพาะหน้าเราแล้ว ก็ยังมิกล้าทูลถามพระองค์
แม้พระบรมศาสดจะตรัสถามถึง ๓ ครั้ง ภิกษุเหล่านั้นต่างก็ยังพากันนิ่ง



พระอานนท์กราบทูลว่า
น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมา ข้าพระองค์เลื่อมใสในภิกษุเหล่านี้ว่า ไม่มีสักรูปหนึ่งที่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือข้อปฏิบัติใด

พระบรมศาสดาตรัสว่า
อานนท์ ความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในมรรคผล หรือในปฏิปทาข้อปฏิบัติ จะไม่มีแก่ภิกษุแม้รูปเดียวในที่นี้ เพราะในบรรดาภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ รูปที่มีคุณธรรมต่ำที่สุดก็เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้ที่จักตรัสรู้ในภายหลังแน่นอน



(เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จปรินิพพานไปแล้ว พระฉันนะได้ฟังพรหมทัณฑ์ที่พระอานนท์เถระยกขึ้นแสดง ก็เป็นทุกข๋ตรมตรอมใจ ล้มสลบลงถึง ๓ ครั้ง
อ้อนวอนพระอานนท์ว่า ท่านผู้เจริญ อย่าทำให้กระผมพินาศเลย
ครั้นแล้วตั้งใจบำเพ็ญวัตรปฏิบัติของพระบรมศาสดาให้บริบูรณ์ ไม่นานนักพระฉันนะเถระ ก็ได้บรรลุพระอรหัต พร้อมปฏิสัมภิทาทั้งหลาย)


ขอขอบคุณข้อมูลจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย โสตถินิรันตระ คุณแม่สุรีย์ รักเกิดผล

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๔ สุภัททปริพาชกบรรลุพระอรหัต



ขอขอบคุณภาพวาดของอาจารย์พันธ์ศักดิ์ จักกะพาก


พระพุทธองค์ตรัสดังนี้แล้ว
สุภัททะได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก เหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ บอกทางแก่คนหลง หรือส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีจักษุเห็นรูป ฉันใดพระผุ้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย ก็ฉันนั้น ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า

พระบรมศาสดารับสั่งกับพระอานนท์ว่า เธอจงให้สุภัททปริพาชกบวชเถิด

สุภัททะกล่าวกับพระอานนท์ว่า
อาวุโสเป็นลาภของท่านแล้ว ในการที่พระบรมศาสดาทรงยกกระผมให้เป็น อันเตวาสิก
คือศิษย์ของท่าน ในเฉพาะพระพักตร์

อรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร หน้า ๔๓๗ กล่าวว่า เมื่อพระบรมศาสดาตรัสอนุญาตให้บวชแล้ว พระอานนท์ได้นำสุภัททปริพาชกไปในที่อันสมควรแห่งหนึ่ง เอาน้ำจากคนโทรดศรีษะ ปลงผมและหนวด ให้ครองผ้ากาสาวะ ให้รับไตรสรณคมน์ แล้วนำไปเฝ้าพระพุทธองค์


ขอขอบคุณภาพวาดของอาจารย์พันธ์ศักดิ์ จักกะพาก

พระบรมศาสดาทรงประทานอุปสมบท แล้วตรัสบอกกัมมัฏฐาน สุภัททะรับกัมมัฏฐานแล้วหลีกไปอยู่แต่ผู้เดียว อธิษฐานจงกรม ณ ที่ส่วนหนึ่งของสาลวโทยาน พากเพียรเจริญวิปัสสนา ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง

พระสุภัททะจึงเป็นสาวกรูปสุดท้าย ที่ได้รับฟังพระธรรมเทศนา จากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงไดชื่อว่า อรหันตปัจฉิมสักขิสาวก
คือภิกษุผู้ได้อุปสมบทและบรรลุอรหัตผลเป็นองค์สุดท้าย ในขณะพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์อยู่


ขอขอบคุณภาพวาดของอาจารย์พันธ์ศักดิ์ จักกะพาก

อรรถกถามหาปรินิพพานสูตรหน้า ๔๓๕ กล่าวไว้ว่า
ในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า สุภัททะเกิดเป็นน้องชายของพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเจ้าของแปลงนาข้าวสาลีร่วมกัน พี่ชายได้ถวายโภชนะที่ทำจากข้าวสาลีตั้งแต่เรื่มออกรวงจนกระทั่งถึงเวลาเก็บเกี่ยวรวม ๙ ครั้งส่วนน้องชายคือสุภัททะหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจึงถวาย ด้วยวิบากแห่งกุศลนั้น ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้เอง
พระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้เป็น ปฐมสาวก
พระสาวกองค์แรก ในพระพุทธศาสนา
ส่วนสุภัททะได้เป็น ปัจฉิมสักขิสาวก
พระสาวกองค์สุดท้าย ในพระพุทธศาสนา


ขอขอบคุณข้อมูลจาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย โสตถินิรันตระ คุณแม่สุรีย์ รักเกิดผล

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๓ สุภัททปริพาชก




สมัยนั้น สุภัททปริพาชก อาศัยอยู่ในกรุงกุสินารา ได้ทราบข่าวว่า พระสมณโคดมจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้
 เขามีความดำริว่า พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมอุบัติขึ้นในโลกในกาลบางคราว ธรรมอันเป็นที่สงสัยที่เกิดขึ้นแก่เรายังมี เราเลื่อมใสในพระสมณะโคดม ว่าจะสามารถแสดงธรรมให้เราสิ้นสงสัยได้

สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปหาพระอานนท์ที่สาลวันอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามความที่สงสัย

พระอานนท์กล่าวว่า อย่าเลย สุภ้ททะ อย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระองค์ทรงพระประชวรอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ สุภัททะก็ยังอ้อนวอนพระอานนท์อยู่เช่นนั้น




ขอขอบคุณภาพจากจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

พระบรมศาสดาสดับคำของพระอานนท์และสุภัททปริพาชกแล้วตรัสว่า

อานนท์เธอจงอย่าห้ามสุภัททะเลยนะ จงให้สุภัททะเข้าเฝ้าตถาคตเถิด สุภัททะจักถามปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งกับเรา สุภัททะมาเพื่อความรู้ มิใช่มุ่งมาเฝ้าเพื่อเบียดเบียนเรา อนึ่งเราจักให้ความแจ่มแจ้งแก่สุภัททะได้ เขาจักรู้ข้อความนั้นโดยพลัน


พระอานนท์จึงกล่าวกับสุภัททะว่า

มาเถิดสุภัททะ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทานโอกาสแก่ท่านแล้ว


สุภัททปริพาชกจึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บรรดาคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเป็นเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียง ชนอันเป็นอันมากยกย่องเลื่อมใส ข้าพระองค์อยากทราบว่า ท่านเหล่าน้้นทั้งหมดได้ตรัสรู้แล้ว หรือยังมิได้ตรัสรู้ หรือตรัสรู้แต่เพียงบางท่าน นี่คือข้อสงสัยของข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุภัททะเราจักแสดงธรรมนั้นแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี

สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ หาไม่ได้ในพระธรรมวินัยใด
สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็หามิได้ในพระธรรมวินัยนั้น

สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วองค์ ๘ หาได้ในพระธรรมวินัย นี้

สมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่๔ ก็มีอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
ตราบใดที่ภิกษุดำรงอยู่ในมรรคมรองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ตราบนั้นโลกนี้ จักไม่ว่างจากอรหันต์ทั้งหลาย




ขอขอบคุณภาพจากจากhttp://www.dhammatalks.net/Articles/Life_of_the_Buddha_in_Pictures.htm

สมณะที่ ๑ คือ พระโสดาบันบุคคล ย่อมมี
สมณะที่๒ คือ พระสกกทามีบุคคล ย่อมมี
สมณะที่ ๓ คือ พระอนาคามียบุคคล ย่อมมี
สมณะที่ ๔ คือ พระอรหันตบุคคล ย่อมมี
ส่วนลัทธิอื่น ที่มิได้เจริญมรรคมีองค์ ๘ ย่อมว่างจากสมณะผู้รู้
สุภัททะ ธรรมอันเป็นเครื่องนำออกจากสังสารวัฏ ไม่มีอื่นนอกจากในธรรมวินัยนี้เท่านั้น


(พระสูตร และอรรกกถา มหามงกุฏราชวิทยาลัย ) (ทีฆนิกายมหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ และชินมหานิทาน )

ขอขอบคุณข้อมูลจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย โสตถินิรันตระ คุณแม่สุรีย์ รักเกิดผล

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๒ สาลวโนทยาน ๒




ขอขอบคุณภาพจาก http://board.palungjit.org/3352426-post1.html


สาลวโนทยาน สวนสาธารณะของมัลลกษัตริย์ ในปัจจุบันทางรัฐบาลเข้าไปจัดเป็นสวน มีรั้วรอบขอบชิด ยังมีต้นสาละ แม้จะปลูกขึ้นใหม่ก็ดูร่มรื่นกลมกลืนกับธรรมชาติและประวัติศาสตร์ สาลวโนทยานนี้ เป็นของกษัตริย์มัลลพระองค์หนึ่ง เรียกว่า อุปวัตนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดสินพระทัยเลือกสาลวโนทยานนี้เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะเป็นสถานที่เงียบสงบร่มรื่น เมื่อพระพุทธองค์ประทับบรรทมสีหไสยาสน์ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่แล้ว ได้รับสั่งให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวแก่มัลลกษัตริย์ด้วยพระดำรัสว่า " อานนท์ เธอจงเข้าไปเมืองกุสินารา แล้วบอกแก่มัลลกษัตริย๋ว่า คืนนี้ในยามสุดท้ายแห่งราตรี ตถาคตจักปรินิพพาน ท่านควรจะเห็นตถาคตเสียก่อนจะปรินิพพาน ไม่เช่นนั้นพวกท่านจะร้อนใจในภายหลังว่า พวกเราไม่ได้เข้าเฝ้าพระตถาคตเจ้าในครั้งสุดท้าย "

พระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระพุทะองค์แล้ว ถือบาตรเข้าไปในกรุงกุสินาราลำพังแต่ผู้เดียวเพื่อแจ้งข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ ตามพระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า





มัลลกษัตริย์มีการปกครองแบบรีปีบลิกอย่างเดียวกับกษัตริย์ลิจฉวี กล่าวคือมีอองค์คณะปกครองเรียกว่า สังฆะ หรือ คณะรัฐมนตรี แต่ละคนเรียกว่าราชา มีที่ประชุมเรียกว่าสัณฐาคาร เป็นที่ปรึกษาทั้งการเมืองและการทหาร พระพุทธองค์ทรง เรียกมัลลกษัตริย๋ว่า "วาเสฏฐโคตร" แต่ในคัมภีร์พระมนูของพวกพราหมณ์สาธยายไว้ว่า พวกลิจฉวี และมัลลเกิดจากบุคคลที่แม่เป็นวรรณะกษัตริย์ และพ่อเป็นวารชตย์

พวกมัลลว่าโดยนิสัยชอบดีฬามากเช่นกัฬามวยปล้ำ เป็นต้น นอกจากนั้นยังชอบศึกษาหาความรู้จต่าง ๆ ด้วย ดังจะเห็นได้จาก พันธุละ โอรสมัลลกษัตริย์ เสด็จไปศึกษาศิลปศาสตร์ ณ กรุงตักศิลา กษัตริย๋เหล่านี้เคยนับถือศาสนาชิน จนเมื่อศาสดามหาวีระนิพพานแล้ว เกิดความแตกแยกในหมู่ศิษย์ พระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในกรุงกุสินารา



ครั้งนั้นพวกมัลลกษัตริย์กรุงกุสินารา กำลังประชุมกันอยู่ที่สัณฐาคาร ด้วยเรื่องพระพุทธองค์จะปรินิพพาน พระอานนท์ได้เข้าไปที่ประชุุมนั้น บอกข่าวแก่พวกมัลลกษัตริย์ว่า

"วาเสฏฐะทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าจักปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ท่นทั้งหลายจงรีบออกจากที่ประชุมเถิด จงรีบไปเฝ้าพระพุทธองค์เสียเป็นครั้งสุดท้าย จักไม่เสียใจภายหลัง "

เจ้ามัลละ โอรส สุนิสา และปชาบดี ได้สดับคำของพระอานนท์แล้วเป็นทุกข๋เสียพระทัย เปี่ยมด้วยความเศร้าโศก บางพวกสยายพระเกศา ประคองพระหัตถ์ทั้งคู่คร่ำครวญอยู่ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมาเหมือนมีพระบาทอันขาดแล้ว พร่ำพรรณนาพระพุทธคุณ รำพันว่า "ดวงตาของโลกจักดับเสียแล้ว" บ้างก็พรรณนาว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานเร็วเหลือเกิน " บ้างก็ว่า "ต่อแต่นี้พวกตนจะหมดที่พึ่งเป็นแน่แล้ว " " พระองค์ผู้ประเสริฐในโลกจักอันตรธานเร็วนัก "และต่างบอกกันต่อ ๆ ไป


ขอขอบคุณภาพจากwww.dhammajak.net
ต่างพากันเสด็จตามพระอานนท์ไปที่อุทยานเพื่อเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จนอุทยานเต็มไปด้วยพวกมัลละ ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์จะเข้าเฝ้าก่อน บ้างก็อ้างสิทธิ์ที่เหนือกว่า ไม่มีใครยอมใครโต้เถียงกันขรม

พระอานนท์ดำริว่า ถ้าเราให้พวกมัลลกษัตริย์เมืองกุสินาราเข้าไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าทีละองค์ก็คงไม่ทันเวลา ราตรีคงจะสว่างเสียก่อน พระอานนท์จึงจัดให้กษัตริย๋เหล่านั้นเข้าถวายบังคม ตามลำดับสกุล โดยให้กราบทูลว่ามัลลกษัตริย์องค์นี้ มีนามอย่างนี้ พระชายา พระโอรสธิดา พร้อมทั้งอำมาตย์ราชบริพารของสกุลนี้ ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า โดยอุบายเช่นนี้ พระอานนท์ยังพวกมัลลกษัตริย์กุสินารา ให้ถวายบังคมพระพุทธองค์เสร็จเรียบร้อยในปฐมยาม

หลังจากเข้าเฝ้าแล้วต่างไม่ยอมกลับพระราชวัง ยังคงเฝ้าพระอาการของพระพุทธองค์อยู่ที่อุทยานนั้น


ขอขอบคุณภาพจากhttp://amazingthaisea.com/ทัวร์สังเวชนียสถาน/
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดย โสตถินิรันตระ คุณแม่สุรีย์ รักเกิดผล

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

นครกุสินารา ๑๑-สาลวโนทยาน ๑





กลับมาที่นครกุสินารา หลังจาก ออกนอกนครนี้ไปนานมากหลายเดือน





ครั้งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่นครกุสินาราเพื่อปรินิพพานที่เมืองนี้นั้น ชาวบ้านยังเรียกชื่อเดิมว่า              กุศินาคาร์ หรือกุสินารา บางส่วนนิยมเรียกกันในชื่อว่า "มถา กุนวาร์" หรือ "มถากัวร์" ซึ่งเลือนมาจากคำว่า "มฤตกุมาร" แปลว่า "เจ้าชายสิ้นชีพ" หมายถึงพระพุทธองค์เสด็จมาเข้าปรินิพพานนั่นเอง

ในมหาปรินิพพานสูตร เรียกที่นี่ว่า สาลวัน ซึ่งแสดงว่ามีต้นสาละเป็นหลัก อยู่ในคัมภีร์ สารัตถัปกาสินี เรียกที่นี่ว่า อุปวัตตนะ ซึ่งหมายถึงปรินิพพาน คือเมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงที่นี่ ได้เสด็จขึ้นประทับบนกูฎาคาร ศาลาของมัลลกษัตริย์ ซึ่งสร้างไว้เป็นที่พักผ่อนในระหว่างที่เสด็จมาประพาส

กูฏาคารศาลานี้ตั้งอยู่ระหว่างไม้สาละคู่หนึ่ง ซึ่งมีลำต้นกลมงามประดุจต้นตาล มียอดน้อมเข้าหากัน


ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.craftsonsales.com/crossstitch-CX-EV-TB24.html

พระพุทธองค์ตรัสขอให้พระอานนท์จัดตั้งที่นอน ผินศรีษะไปทางด้านเหนือระหว่างไม้สาละคู่นั้น เมื่อพระองค์ประทับสีหไสยาสน์ก็ปรากฏสิ่งอัศจรรย์ขึ้น

กล่าวคือต้นสาละผลิดอกออกผลผิดฤดูกาล หล่นพรูมาถวายสักการะพระตถาคต พระบรมศาสดาจึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ การบูชาก็เท่านี้แหละ ตถาคตมิได้ยินดีเท่ากับ
ภิกษุ ภิกษูณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ได้ประพฤติตาม ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติธรรมด้วยดี เป็นการบูชาอย่างสูงต่อพระตถาคต"

นายวินเซนต์ สมิธ เข้าใจว่าเมืองกุสินาราอยู่ในประเทศเนปาล ห่างจาก กาฐมาณฑุ ประมาณ ๓๐ ไมล์ แต่ยังหาสถานที่ไม่พบ ในพุทธประวัติธิเบตบอกว่า เมืองกุสินาราอยู่ในแคว้นอัสสัม และทุกวันนี้ชาวพุทธธิเบต ลาดัค ภูฐานและจีนตะวันตกเฉียงใต้ ยังนิยมไปนมัสการเมืองกุสินาราในแคว้นอัสสัม มีวัดแห่งหนึ่งเรียกว่า ฮาโซ ใครจะอธิบายว่า ฮาโซ ไม่ใช่กุสินารา ก็ไม่เชื่อ



สมเด้จพระเทพรัตนราขสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงนิพนธ์ไว่ในทัศนะจากอืนเดีย เมื่อคราวเสด็จกุสินารา เมื่อ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ ว่า

 "สถานที่นี้ชวนให้คิดถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่มีสิ่งใดอยู่ค้ำฟ้า สถานที่ซึ่งพระตถาคตเจ้าตรัสว่าเป็นเมืองใหญ่แห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช เต็มไปด้วยความบันเทิงสุข ครั้นถึงสมัยพุทธกาล กลับกลายเป็นเพียงต้นสาละ มาถึงสมัยเราก็ไม่มีอะไรหลงเหลือจากสมัยพุทธกาล อย่าว่าแต่เหตุการณ์นานเช่นนี้ ดูกรุงศรีอยุธยาของเราบ้าง ตามเอกสารโบราณว่าเป็นเมืองเจริญรุ่งเรือง ขณะนี้ปราสาทราชวังล้วนเหลือแต่กองอิฐ ชวนสังเวชในความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย สิ่งที่เหลือคือคุณงามความดี ธรรมอันประเสริฐ"

( ทัศนะจากอินเดีย หน้า ๑๐๖)

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล โดยพระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

หมายเหตุ มีเอกสารข้อมูลหลายแห่งระบุว่าพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานใต้ต้นรังคู่ แต่พลอยโพยมขอใช้ข้อมูลตามหนังสือที่อ้างถึงข้างต้น

แก้ไขเพิ่มเติม มีนาคม พ.ศ ๒๕๕๙


ภาพดอกสาละข้างต้นคือ ต้นสาละลังกา มิใช่สาละในพระพุทธประวัติ

ขอเสนอภาพต้นและดอกสาละที่สาลวโนทยาน หรือป่าไม้สาละที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน กรุงกุสินารา



























ขอขอบคุณภาพจากกัลยาณมิตร คุณอัคคภูมิ ศาสนานันทน์