วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558
นครกุสินารา ๑๖ (เรื่องแทรกก่อนเสด็จปรินิพพาน)
เกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์
ก่อนเสด็จกรุงกุสินาราเพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระอานนทฺทูลถามพระพุทธองค์ว่า
"พระองค์ผู้เจริญ! พระองค์เป็นดุจพระเจ้าจักรพรรดิในทางธรรม ทรงสถาปนาอาณาจักรแห่งธรรมขึ้น ทรงเป็นธรรมราชา สูงยิ่งกว่าราชาใดๆ ในพื้นพิภพนี้ ข้าพระองค์เห็นว่าไม่สมควรแก่พระองค์เลยที่จะปรินิพพานในเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย ขอพระองค์ไปปรินิพพานในเมืองใหญ่ๆ เช่น ราชคฤห์ สาวัตถี จำปา สาเกต โกสัมพี พาราณสี เป็นต้น เถิด พระเจ้าข้า ในมหานครเหล่านั้น กษัตริย์ พราหมณ์ เศรษฐี คหบดี และทวยนครทุกชั้นที่เลื่อมใสพระองค์ก็มีอยู่มาก จักได้ทำมหาสักการะแด่สรีระแห่งพระองค์เป็นมโหฬาร ควรแก่ความเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอุดมบุรุษรัตน์ในโลก"
"อานนท์! เธออย่ากลัวอย่างนั้นเลย ชีวิตของตถาคตเป็นชีวิตแบบอย่าง ตถาคตนิพพานไปแต่เพียงรูปเท่านั้น แต่เกียรติคุณของเราคงอยู่ต่อไป เราต้องการให้ชีวิตนี้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด อานนท์เอย! ตถาคตอุบัติแล้วเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชน เมื่ออุบัติมาสู่โลกนี้
เราเกิดแล้วในป่านามว่าลุมพินี
เมื่อตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เราก็ได้บรรลุแล้วในป่าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองราชคฤห์มหานคร
เมื่อตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรก ได้สาวกเพียง ๕ คน เราก็ตั้งลงแล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี
ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแห่งเรา เราก็ควรนิพพานในป่าเช่นเดียวกัน
"อนึ่ง กุสินารานี้ แม้บัดนี้จะเป็นเมืองเล็ก แต่ในโบราณกาลกุสินารา เคยเป็นเมืองใหญ่มาแล้ว เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าจักรพรรดิ นามว่ามหาสุทัสสนะ นครนี้เคยชื่อกุสาวดี เป็นราชธานีที่สมบูรณ์
ก่อนจะถึงกุสินารา ราชธานีแห่งมัลลกษัตริย์ ณ ใต้ร่มพฤกษ์แห่งหนึ่ง
ขณะที่พระพุทธองค์หยุดพัก มีบุตรแห่งมัลลกษัตริย์นามว่า ปุกกุสะ เคยเป็นศิษย์ของอาฬารดาบส กาลามโคตร เดินทางจากกุสิการาเพื่อไปยังปาวานคร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงน้อมนำผ้าคู่งามซึ่งมีสีเหลืองทองสิงคีเข้าไปถวาย รับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ผืนหนึ่งแก่พระองค์ผืนหนึ่ง
พระอานนท์ให้เห็นว่าผ้านั้นไม่ควรแก่ตน จึงน้อมเข้าไปถวายพระผู้มีพระภาคอีกผืนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงนุ่งและห่มแล้ว ผ้านั้นสวยงามยิ่งนัก ปรากฏประดุจถ่านเพลิงที่ปราศจากควันและเปลว พระฉวีของพระพุทธองค์เล่าก็ช่างผุดผ่อง งดงามเกินเปรียบ ท่านได้เห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงกราบทูลพระพุทธองค์ว่า
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ข้าพระองค์สังเกตเห็นพระฉวีของพระองค์ผุดผ่องยิ่งนัก เกินที่จะเปรียบด้วยสิ่งใด เปล่งปลั่งมีรัศมี พระองค์ผู้ประเสริฐ! บัดนี้พระองค์มีพระชนมายุถึง ๘๐ แล้ว อยู่ในวัยชราเต็มที่ เหมือนผลไม้สุกจนงอม อนึ่งเล่า เวลานี้พระองค์ทรงพระประชวรหนัก มีอาการแห่งผู้มีโรคเบียดเบียน แต่เหตุไฉนผิวพรรณของพระองค์จึงผุดผ่องยิ่งนัก?"
"อานนท์! พระศาสดาตรัสตอบ "เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าที่เป็นอย่างนี้ คือคราวจะตรัสรู้คราวหนึ่ง และก่อนที่จะนิพพานอีกครั้งหนึ่ง ผิวพรรณแห่งตถาคตย่อมปรากฏงดงาม ประดุจรัศมีแห่งสุริยา เมื่อแรกรุ่งอรุณและจวนจะอัศดง ดูก่อนพระอานนท์! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีนี้ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในระหว่างต้นสาละทั้งคู่ซึ่งโน้มกิ่งเข้าหากัน มีใบใหญ่หนามีดอกเป็นช่อชั้น"
ตรัสดังนั้นแล้ว จึงเสด็จนำพระอานนท์ไปสู่ฝั่งน้ำกกุธานที เสด็จลงสรงเสวยสำราญตามพระพุทธอัธยาศัยแล้ว เสด็จขึ้นจากกกุธานที ไปประทับ ณ อัมพวัน รับสั่งให้พระจุนทะน้องชายพระสารีบุตรปูลาดสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้นแล้ว บรรทมด้วยสีหไสยา คือตะแคงขวาเอาพระหัตถ์รองรับพระเศียรซ้อนพระบาทให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ตั้งพระทัยว่าจะลุกขึ้นในไม่ช้า
ทรงตรัสกับพระอานนท์เรื่องนายจุนทะผู้ถวายสุกรมัททวะว่า
"อานนท์! เมื่อเรานิพพานแล้วอาจจะมีผู้กล่าวโทษจุนทะ ว่าถวายอาหารที่เป็นพิษ จนเป็นเหตุให้เราปรินิพพาน หรือมิฉะนั้น จุนทะอาจจะเกิดวิปฏิสาร เดือดร้อนใจไปเองว่า เพราะเสวยสูกรมัทวะ อันตนถวายแล้ว พระตถาคตจึงนิพพาน ดูก่อนอานนท์! บิณฑบาตทานที่มีอานิสงส์มาก มีผลไพศาล มีอยู่ ๒ คราวด้วยกัน คือ เมื่อนางสุชาดาถวายก่อนเราจะตรัสรู้ครั้งหนึ่ง และอีกครั้งหนึ่งที่จุนทะถวายนี้ ครั้งแรกเสวยอาหารของสุชาดาแล้วตถาคตก็ถึงซึ่งกิเลสนิพพาน คือการดับกิเลส ครั้งหลังนี้เสวยอาหารของจุนทะบุตรช่างทองแล้ว เราก็นิพพานด้วยขันธนิพพานคือดับขันธ์ อันเป็นวิบากที่ยังเหลืออยู่ ถ้าใครๆ จะพึงตำหนิจุนทะ เธอจึงกล่าวให้เขาเข้าใจตามนี้ และถ้าจุนทะจะพึงเดือดร้อนใจ เธอก็พึงกล่าวปลอบให้เขาคลายวิตกกังวลเรื่องนี้ อาหารของจุนทะเป็นอาหารมื้อสุดท้ายสำหรับเรา"
ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ และมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ถึงกรุงกุสินารา เสด็จเข้าสู่สาลวโนทยาน คืออุทยานซึ่งสะพรึงพรั่งด้วยต้นสาละ รับสั่งให้พระอานนท์จัดแท่นบรรทมระหว่างต้นสาละ ซึ่งมีกิ่งโน้มเข้าหากัน ให้หันพระเศียรทางทิศอุดร
ครั้งนั้นมีบุคคลเป็นอันมาก จากทิศต่างๆ เดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระเป็นปัจฉิมกาล แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปสุดสายตา สมเด็จพระมหาสมณะทรงเห็นเหตุนี้แล้ว จึงตรัสกับพระอานนท์เป็นเชิงปรารภว่า
"อานนท์! พุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำสักการะบูชาเราอยู่ด้วยเครื่องบูชาสักการะทั้งหลายอันเป็นอามิส เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น หาชื่อว่าบูชาตถาคตด้วยการบูชาอันยิ่งไม่ อานนท์เอย! ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติธรรมให้เหมาะสม ผู้นั้นแลชื่อว่าสักการะบูชาเราด้วยบูชาอันยอดเยี่ยม"
พระอานนท์ทูลว่า "พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อก่อนนี้ออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต่างพากันเดินทางมาจากทิศานุทิศเพื่อเฝ้าพระองค์ ฟังโอวาทจากพระองค์ บัดนี้พระองค์จะปรินิพพานเสียแล้ว ภิกษุทั้งหลายจะพึงไป ณ ที่ใด?"
"อานนท์! สถานที่อันเป็นเหตุให้ระลึกถึงเราก็มีอยู่คือ
สถานที่ที่เราประสูติแล้วคือ ลุมพินีวันสถาน
สถานที่ที่เราตั้งอาณาจักรแห่งธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกคือ อิสิปตนมิคทายะ แขวงเมืองพาราณสี
สถานที่ที่เราตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ บรรลุความรู้อันประเสริฐทำกิเลสสิ้นไปคือ โพธิมณฑล ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
และสถานที่ที่เราจะนิพพาน ณ บัดนี้คือ ป่าไม้สาละ ณ นครกุสินารา อานนท์เอย! สถานที่ทั้ง ๔ แห่งนี้เป็นสังเวชนียสถาน สารานียสถานสำหรับให้ระลึกถึงเราและเดินตามรอยบาทแห่งเรา"
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ในพรหมจรรย์นี้มีสุภาพสตรีเป็นอันมากเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ เป็นมารดาบ้าง เป็นพี่หญิงน้องหญิงบ้าง เป็นเครือญาติบ้าง และเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยบ้าง ภิกษุจะพึงปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร?"
"อานนท์! การที่ภิกษุจะไม่ดูไม่แลสตรีเพศเสียเลยนั้นเป็นการดี"
"ถ้าจำเป็นต้องดูแล้วเห็นเล่า พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลซัก
"ถ้าจำเป็นต้องดูต้องเห็น ก็อย่าพูดด้วย อย่าสนทนาด้วย นั้นเป็นการดี" พระศาสดาตรัสตอบ
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วยเล่า พระเจ้าข้า จะปฏิบัติอย่างไร"
"ถ้าจำเป็นต้องสนทนาด้วย ก็จงมีสติไว้ ควบคุมสติให้ดี สำรวมอินทรีย์ และกายวาจาให้เรียบร้อย อย่าให้ความกำหนัดยินดี หรือความหลงใหลครอบงำจิตใจได้ อานนท์! เรากล่าวว่าสตรีที่บุรุษเอาใจเข้าไปเกาะเกี่ยวนั้น เป็นมลทินของพรหมจรรย์"
"แล้วสตรีที่บุรุษมิได้เอาใจเข้าไปเกี่ยวเกาะเล่า พระเจ้าข้า จะเป็นมลทินของพรหมจรรย์หรือไม่?"
"ไม่เป็นซิ อานนท์? เธอระลึกได้อยู่หรือเราเคยพูดไว้ว่า อารมณ์อันวิจิตร สิ่งสวยงามในโลกนี้มิใช่กาม แต่ความกำหนัดยินดีที่เกิดขึ้นเพราะความดำริต่างหากเล่าเป็นกามของคน เมื่อกระชากความพอใจออกเสียได้แล้ว สิ่งวิจิตรและรูปที่สวยงามก็คงอยู่อย่างเก้อๆ ทำพิษอะไรมิได้อีกต่อไป"
พระผู้มีพระภาคบรรทมสงบนิ่ง พระอานนท์ก็พลอยนิ่งตามไปด้วย ดูเหมือนท่านจะตรึกตรองทบทวนพระพุทธวจนะที่ตรัสจบลงสักครู่นี้
"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จะปฏิบัติเกี่ยวพระพุทธสรีระอย่างไร"
"อย่าเลยอานนท์" พระศาสดาทรงห้าม
"เธออย่างกังวลกับเรื่องนี้เลย หน้าที่ของพวกเธอคือคุ้มครองตนด้วยดี จงพยายามทำความเพียรเผาบาปให้เร่าร้อนอยู่ทุกอิริยาบถเถิด สำหรับเรื่องสรีระของเราเป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ที่จะพึงทำกัน กษัตริย์ พราหมณ์ และคหบดีเป็นจำนวนมาก ที่เลื่อมใสตถาคตก็มีอยู่ไม่น้อย เขาคงทำกันเองเรียบร้อย"
"พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูล "เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ก็จริงอยู่ แต่ถ้าเขาถามข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะพึงบอกอย่างไร"
"อานนท์! ชนทั้งหลายเมื่อจะปฏิบัติต่อพระสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร ก็พึงปฏิบัติต่อสรีระแห่งตถาคตอย่างนั้นเถิด"
"ทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า"
"อานนท์! คืออย่างนี้ เขาจะพันสรีระแห่งพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่อีก ทำอย่างนี้ถึง ๕๐๐ คู่ หรือ ๕๐๐ ชั้น แล้วนำวางในรางเหล็กซึ่งเต็มไปด้วยน้ำมัน แล้วปิดครอบด้วยรางเหล็กเป็นฝา แล้วทำจิตกาธารด้วยไม้หอมนานาชนิด แล้วถวายพระเพลิง เสร็จแล้วเชิญพระอัฐิธาตุแห่งพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไปบรรจุสถูปซึ่งสร้างไว้ ณ ทาง ๔ แพร่งในสรีระแห่งตถาคตก็พึงทำเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อผู้เลื่อมใสจักได้บูชาและเป็นประโยชน์สุขแก่เขาตลอดกาลนาน"
แลแล้วพระพุทธองค์ทรงแสดงถูปารหบุคคล คือบุคคลผู้ควรบรรจุอัฐธาตุไว้ในพระสถูป เพื่อเป็นที่สักการบูชาของมหาชนไว้ ๔ จำพวก คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก และพระเจ้าจักรพรรดิ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.dhammajak.net/book/anon/anon24.php
ป้ายกำกับ:
[บทความ]
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น