วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผืนนาเป็นรูรัง.. เลนชายฝั่งดั่งคูหา.ปูนา ปูเปี้ยว

มัศยา....เยื้องกรายสายนที 3


ภาพจากหนังสือ บทกลอนกล่อมเด็ก ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ปูนา

จับปูดำ ขยำปูนา
จับปูม้า คว้าปูทะเล
สนุกจริงเอย แล้วเลยนอนเปล
ชะโอละเห่ นอนเปลจนหลับเอย

เพลงกล่อมเด็ก ที่เราเคยได้ยิน คุณพ่อ คุณแม่ ร้องกล่อมพวกเรา ยังพอจำกันได้ไหมคะ ( ใครจำได้ก็เยี่ยมยอดมาก ขอปรบมือให้ดังๆ หลายๆทีเลย สำหรับพลอยโพยมเองจำไม่ได้ว่าตัวเองได้ยินเพลงกล่อมนี้ตอนเด็กๆ ) แต่ ตัวเองต่างหากที่ร้องให้ลูก ๆ ฟังกับได้ยิน คุณพ่อ คุณแม่ของตัวเองร้องกล่อมหลานๆ และรู้ว่า เพลงกล่อมมากมายที่คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ร้องให้หลานๆ และลูกของตัวเองฟัง เหล่านี้ เป็นเพลงที่พลอยโพยมและพี่ๆน้องๆ ถูกร้องกล่อมมาก่อนตอนเด็ก

คุณพ่อมีสมุดเล่มใหญ่ยาว จดเพลงกล่อมเด็กไว้มากมายด้วยลายมือคุณพ่อ สีหมึก จางซีด บางแห่งก็เลือนราง กระดาษบางเฉียบ ( สมุดเล่มนี้เป็นของมีค่ายิ่งของพลอยโพยม) แม้ปัจจุบันมีหนังสือบทร้องเพลงกล่อมเด็กมากมายหลายสำนักพิมพ์ แต่รับรองว่าพลอยโพยมยังมีบทเพลงของคุณพ่อที่ไม่มีในหนังสือเหล่านั้นอีกมากเลยทีเดียว

เปลที่บ้านเป็นเปลผ้าดิบขอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่คุณแม่เย็บตัวเปลเอง ขอบเปลก็ทำพิเศษถอดได้ เป็นไม้สอดสลักสี่ชิ้น ขนาดกว้างถูกกำหนดตายตัวตามขนาดของไม้ขอบเปล แต่ความลึกของเปลก็เย็บขนาดได้ตามใจชอบในการเย็บแต่ละครั้ง คือแต่ละรุ่นของเด็กที่จะต้องนอนเปล จะเอาเมาะนอนใส่เปลด้วยก็ได้หรือปูแค่ผ้ารองในเปลก็ได้ เมื่อประกอบเปลแล้วมีเชือก 2 เส้น คล้องสี่มุมเปล คือ ซ้ายขวาเปล หมายถึง หัวเปล คล้องมุมด้านซ้ายมัดให้แน่นที่ขอบเปล ปลายเชือกคล้องผ่านขื่อพันตรึงไม่ให้เลื่อนรูด แล้วปลายเชือกย้อนลงมาผูกหัวเปลด้านขวา นี่คือ เชือก 1 เส้น ส่วนอีกเส้นทำที่ปลายเปลเหมือนกับหัวเปล ที่สำคัญคือเชือกทั้งสองเส้นที่คล้องกับขื่อบ้านนั้น บนขื่อต้องยึดตรึงเพื่อไม่ให้เชือกรูดเคลื่อนที่ไปมาได้

ความยาวของเชือกจากเปลถึงขื่อบ้านจะค่อนข้างยาว เพราะบ้านโบราณต้องการความโปร่ง ดังนั้นจากพื้นบ้านถึงหลังคาบ้านจึงค่อนข้างสูงทีเดียว ซึ่งทำให้เปลแบบนี้จะไกวได้แรงเพื่อให้เด็กที่นอนเปล มึนงง ง่วงนอนจะได้หลับเร็วๆ จากการโยนตัวของเปล และการไกวเปลยังเพื่อไม่ให้มี ยุง ริ้นไร มด มารบกวนเด็กในเปล อีกทั้งมีลมผ่านเย็นสบาย

ในสมัยก่อนเรายังไม่มีไฟฟ้าใช้จึงไม่มีพัดลมใช้กัน มีแต่พัดเฉยๆ( แต่พัดแล้วก็ได้ลมเหมือนกัน )ให้ใช้กันในบ้าน เป็นพัดทำจากกาบหมากในสวนเอามาเจียนตัดเป็นรูปพัด โดยเจียนตัดโค้งเป็นตัวพัด ส่วนด้ามจับก็เจียนเรียวเกือบเป็นสี่เหลี่ยมขนาดเหมาะมือของแต่ละคน ขนาดพัดเล็กใหญ่ต่างๆกันเป็นพัดประจำตัวแต่ละคนกันเลยทีเดียว ถ้าเป็นพัดซื้อจะเป็นพัดทำจากใบลานแผ่ทั้งใบมีผ้าสีแดงเย็บขอบรอบตัวพัด ด้ามเป็นแกนของใบลานเอง (ยังไม่มีพัดทำจากไม้ไผ่สาน เส้นๆ สีสวยลายสองแบบที่เห็นกันสมัยนี้ในร้านขายของที่ระลึกเลย )


จากเปลมาพัดเสียอีกแล้ว ยังมีแซ่ปัดยุงทำจากก้านของดอกจากอีกนะ แต่ยังไม่เล่าละค่ะ


คนไกวเปลมีเชือกผูกยาวจากกลางขอบเปล แล้วคนไกวก็นั่งหรือนอนกับพื้นห่างเปลตามระยะเชือกไกวเปล การดึงเชือกไกวเปลทีหนึ่ง ปฏิกิริยาของเปลที่แกว่งจะโยนตัวเปลต่อไปอีกหลายครั้งจนหมดแรงเหวี่ยง คนไกวก็ดึงเชือกใหม่ การไกวเปลแบบนี้ไม่ต้องใช้แรงมาก ( ใช้หลักเหมือนการใช้เครื่องผ่อนแรง)และไม่ต้องไกวเปลตลอดเวลา สำหรับเด็กที่ไม่โยเย งอแง แกว่งไป ร้องเพลงกล่อมไป ไม่ช้านาน ก็หลับปุ๋ย พอเด็กหลับปุ๋ยคนไกวเปลก็หลับตามสะลึมสะลือ พอคนไกวรู้สึกตัวก็เอามือดึงเชือกเสียทีหนึ่ง

อ่านแล้วเหมือนการไกวเปลก็ง่ายๆดี แต่อันที่จริงไม่ง่ายอย่างนั้นเพราะเด็กจะนอนหลับได้ยาวนานจริงๆนั้น จังหวะเปลต้องเอื่อยๆ สม่ำเสมอ ไม่ใช่กระตุก ๆ เดี๋ยวแรงเดี๋ยวค่อยอย่างที่เขียน คุณพ่อไกวเปลเก่งมาก ไกวในลักษณะที่ไม่ต้องดึงเชือกทุกครั้งที่เปลโยนตัว แต่จังหวะทำได้สม่ำเสมอ ลมที่พัดผ่านเด็กในเปลเพียง เรื่อย ๆ ริน ริน คุณพ่อจึงเป็นมือไกวเปลชั้นเยี่ยม เพลงร้องกล่อมก็ทอดเสียงยาว

มีเปลอีกแบบ ง่ายมาก คือใช้ผ้าขาวม้า รวบหัวท้ายแล้วมีเชือกผูกโยงกับหัวขมวดของผ้าขาวม้า ปลายอีกด้านของเชือกผูกกับเสาบ้าน 2 เสา ที่หัวขมวดผ้าขาวม้ามีไม้ขวางตัวผ้า เพื่อเป็นการขยายความกว้างของการที่ผ้าขาวม้าห่อตัวเข้าหากัน เป็นหัว - ท้ายเปล เปลผ้าขาวม้าจะให้ความรู้สึกเหมือนเด็กถูกห่อหรือถูกกอด แต่เด็กที่นอนเปลแบบนี้จะนอนได้ไม่นาน เพราะความเมื่อยจากการนอน มือขา ถูกจัดท่าที่ขยับตัวไม่ได้ เหมาะสำหรับการนอนระยะสั้น ลักษณะการนอนเปลผ้าขาวม้าน่าจะทำให้เด็กหลังงอ

สำหรับเด็กงอแง โยเย มากๆ ก็จับใส่เปลผ้าขาวม้าก่อน เด็กจะรู้สึกอบอุ่นมีผ้าขาวม้าห่อตัวเหมือนถูกกอด ไกวแกว่งไปมาก็จะหลับง่ายแต่หลับไม่นาน ดังนั้น เมื่อเด็กหลับแล้วก็อุ้มมาใส่เปลสี่เหลี่ยมผ้าดิบ

พลอยโพยมนอนเปลแกว่งมากไป ปัจจุบันพอนั่งรถ เมื่อรถเคลื่อนที่ปุ๊บก็ตาปรือแล้วไม่นานก็หลับปุ๋ย พอรถหยุดเพราะติดไฟแดงนานหน่อยก็ตื่น เป็นที่รู้กันและน่าเป็นห่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุคงคอหักตายในรถเพราะไม่ได้ตั้งตัว แต่จะทำอย่างไรได้นั่งรถเมล์ก็หลับ โชคดีว่าถ้าขับเองก็ไม่ง่วงหลับยกเว้นขับไกลๆ แดดจ้าๆ (เพื่อนๆ ก็อย่าจับลูกหลาน นอนไกวเปล มากเกินไปก็แล้วกัน) อะไรที่มากเกินไปก็เกิดโทษ ประเภท มีคุณอนันต์ก็มีโทษมหันต์
นี่คือวิถีชาวบ้านในการนอนของเด็กอ่อนในสมัย ห้า -หกสิบปีที่แล้ว

แล้วเพลงกล่อมบทนี้ ก็เป็นการร้องประกอบการฝึกหัดให้เด็กน้อยกำมือ คลายมือ ในท่าจับและขยำด้วย เมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกระยะหนึ่ง โตขนาดนั่งได้ ผู้ใหญ่ก็จะสอนให้เล่น แมงมุมขยุ้มหลังคา
เนื้อร้องว่า

แมงมุม ขยุ้มหลังคา
แมวกินปลา หมากัดกระโพร้งก้น

แล้วผู้ใหญ่ก็เอาสิบนิ้วมือตัวเองตะกุยแบบโหย่ง ๆ นิ้วมือที่ก้นเด็กๆ เด็กๆ ก็จะหัวเราะชอบใจดิ้นไปมาเล็กน้อย คงเพราะจั๊กจี้นั่นเอง ( อย่าทำบ่อยนัก เดี๋ยวลูกหลานจะติดอาการบ้าจี้ขึ้นมา) หรือบางคนรักมากก็เอาปากตัวเองก้มลงกัดย้ำงับเบาๆที่ก้นเด็ก (ผู้ใหญ่คนนี้ก็เลยเป็นหมาเสียเอง)

จะเล่าเรื่องปูก็ไปเรื่องเปลเสียยาวทีเดียว เพราะปูกับเปลเผอิญมีเรื่องที่มีนัยสัมพันธ์กันตามเนื้อร้องข้างต้นที่ใช่เปิดประเด็นของคราวนี้

ทีนี้ก็เรื่อง ปู กันเสียที อารัมภบทมาเสียยาวเลย

เป็น ตอนสุดท้ายของปู ที่บางกรูด




ปูนา

ปูนา (rice field crab)

ปูนาเป็นปูน้ำจืดที่พบมีอยู่ทั่วไปตามทุ่งนาและในที่ลุ่มของประเทศไทย เป็นกลุ่มปูที่มีวิถีชีวิต มีระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่อาศัย แตกต่างไปจากปูลำห้วย (creek crab) ปูน้ำตก (waterfall crab หรือ stream crab) และปูป่า (land crab) ด้วยเหตุนี้นักอนุกรมวิธานจึงได้แยกปูนาออกจากปู 3 กลุ่มข้างต้น และจัดให้อยู่ในวงค์ Parathelphusidae

ในประเทศไทยพบมี 8 ชนิด ในภาคต่าง ๆ ดังนี้ :
1. Somanniathelphusa germaini พบใน 27 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 22 จังหวัด ภาคตะวันตก 2 จังหวัด ภาคตะวันออก1จังหวัด ภาคใต้1 จังหวัดและภาคเหนือ 1 จังหวัด

2. S. bangkokensis พบใน 18 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 4 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด

3. S. sexpunetata พบใน 19 จังหวัดคือ คือ ภาคกลาง 1 จังหวัด ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด

4. S. maehongsonensis เป็นปูชนิดใหม่ ที่พบในแห่งเดียวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

5. S. fangensis เป็นปูชนิดใหม่ที่พบใน จังหวัดลำปางและเชียงใหม่

6. S. denchaii เป็นปูชนิดใหม่ที่พบใน จังหวัดแพร่

7. S. nani เป็นปูชนิดใหม่ล่าสุดที่พบใน จังหวัดน่าน และ

8. S. dugasti (Esanthelphusa dugasti) พบใน ภาคกลาง 10 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคเหนือ 9 จังหวัด และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด

ปูนาบางชนิดเช่น S. dugasti มีอาณาเขตการแพร่กระจายกว้างมากถึง 40 จังหวัด ในภาคกลางมีปูอยู่ถึง 3 ชนิด ในภาคใต้พบมี 2 ชนิด ทางภาคเหนือบางจังหวัดพบมีชนิดเดียว

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดการแพร่กระจายของปูแต่ละชนิด เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีค่าควรแก่การศึกษา เช่นกรณีของปูนา S. denchaii ที่พบในอำเภอเด่นชัยจังหวัดแพร่ และปูนา S. nani ที่พบใน จังหวัดน่าน เป็นต้น จังหวัดทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก และพื้นที่ก็เป็นผืนแผ่นดินติดต่อกัน สภาพดินฟ้าอากาศ หรือปริมาณน้ำฝนก็ใกล้เคียงกัน


ปูนาชนิด S. dugasti แม้จะมีขอบเขตการแพร่กระจายคลอบคลุมถึง41 จังหวัดก็ตาม แต่ก็เป็นปูชนิดเดียวเท่านั้นที่พบมีในภาคอีสาน ด้วยเหตุผลนี้ ปูชนิดนี้เมื่อครั้งหนึ่งเคยใช้ชื่อว่า Esanthelphusa dugasti ซึ่งบ่งบอกถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของปูชนิดนี้เป็นอย่างดี ปูชนิดนี้ถ้าจะถือว่าเป็นมรดกดินของชนชาวอีสานก็คงไม่ผิด เพราะเป็นทรัพย์ติดแผ่นดินที่คนอีสานมีสิทธิที่จะเก็บเกี่ยวหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่จะใช้ประโยชน์อย่างไรถึงจะคุ้มค่าและยั่งยืน ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตัวเองหรือผู้อื่นนั้นขึ้นอยู่กับภูมิปัญญาของแต่ละท่านชาวอีสานเอง

ปูนาจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสัตว์ราคาถูกและหาได้ง่ายในธรรมชาติ เป็นปูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ที่ประมงและเกษตรกรรายย่อยในภาคอีสานทุกคนรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นปูที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนเหล่านั้น




แหล่งที่อยู่อาศัย
ปูนาชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามทุ่งนา คันนา บริเวณชายคลอง คันคู และคันคลองชลประทานต่าง ๆ โดยมีแหล่งอาหารและน้ำเป็นปัจจัยหลัก ลักษณะและตำแหน่งของรูปูนาจะแตกต่างกันตามสภาพของพื้นที่ ดินฟ้าอากาศและน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต บริเวณที่มีน้ำ ปูจะขุดรูในที่ ๆ น้ำท่วมไม่ถึง รูปูจะเอียงเล็กน้อยและไม่ลึกนัก ปากรูจะอยู่เหนือน้ำ หรือต่ำกว่าระดับน้ำเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเข้าออก รูปูส่วนใหญ่จะเป็นแนวเอียง 30-60 องศากับแนวระดับ รูจะตรง ไม่คดเคี้ยว ในที่ ๆ มีความชื้นสูงหรือบริเวณที่มีระดับน้ำตื้นมากรูปูจะไม่ลึกและมีรูขนาดไปกับพื้นดิน

ตามทุ่งนาที่มีน้ำเฉอะแฉะ เช่นระยะหลังการเก็บเกี่ยว ปูจะขุดรูอาศัยอยู่ตามพื้นนามีความลึกประมาณ 1 เมตร ในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม พื้นนาแห้ง ดินขาดน้ำ ระดับน้ำใต้ดินลึก ปูจะขุดรูทำมุมกับแนวระดับลึกมาก และจะลึกที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคมและใช้ดินปิดปากรูเพื่อรักษาความชุ่มชื้นภายในรู หรือไม่ก็อพยพจากท้องนาไปยังหนองน้ำใกล้เคียง ในกรณีที่เกิดฝนตก เกิดอุทกภัย น้ำท่วมคันนา ปูจะหลบอาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้าริม ๆ น้ำ โดยใช้ก้ามเกาะต้นหญ้าพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำ

การผสมพันธุ์

เมื่อปูเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ขนาดประมาณ 20 มิลลิเมตร อายุ 90 วัน หรือลอกคราบประมาณ 7-9 ครั้ง ปูเพศผู้จะมีก้ามซ้ายใหญ่กว่าก้ามขวาอย่างเห็นได้ชัด ส่วนท้องที่เรียกว่าจับปิ้งจะมีฐานกว้างปลายเรียวแหลมคล้ายตัวที ส่วนเพศเมียก้ามเล็ก ก้ามทั้งสองมีความแตกต่างกันไม่มาก จับปิ้งที่มีลักษณะเล็กเรียวในระยะที่ยังไม่สมบูรณ์เพศ (ที่เรียกว่าปูกะเทย) ก็จะขยายเป็นแผ่นกว้างครึ่งวงกลมเกือบเต็มส่วนท้อง ปลายมน ที่ขอบมีขนละเอียดเพื่อประโยชน์ในการอุ้มไข่ เมื่อเปรียบเทียบขนาด ถ้าอายุเท่ากันปูเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าปูเพศเมียเสมอ

เมื่อเข้าฤดูฝน ปูจะออกจากรูเพื่อหาอาหาร ตามแหล่งน้ำ และผสมพันธุ์ ในฤดูผสมพันธุ์ปูเพศเมียจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว ดุ เมื่อตัวผู้เข้าใกล้ ปูเพศผู้จะมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยแสดงอาการปกป้องตัวเองพร้อมกับไล่ปูเพศเมียเป็นระยะ ๆ เมื่อได้จังหวะ ปูเพศผู้ตัวจะขึ้นคร่อมและใช้ขาเดินคู่ที่ 2-4 พยุงปูเพศเมียไว้ข้างล่าง การจับคู่ในลักษณะนี้จะดำเนินต่อเนื่องกันประมาณ 3-4 วัน จนกระทั้งปูเพศเมียลอกคราบ ในช่วงที่ปูเพศเมียกระดองนิ่มนี้ ปูเพศผู้จะทำหน้าพยุงปูเพศเมียไว้ เพื่อไม่ให้ปูเพศเมียที่ตัวนิ่มและบอบบางนั้นได้รับอันตราย ทำหน้าที่ปกป้องถ้ามีศัตรูเข้าใกล้ เมื่อจะผสมพันธุ์ ปูเพศผู้จะจับปูเพศเมียหงายกลับเอาด้านท้องขึ้น


ปูเพศเมียเมื่อได้รับน้ำเชื้อเพศผู้เรียบแล้วก็จะกลับตัวอยู่ในท่าปกติ ปูเพศผู้ยังคงเกาะหลังปูเพศเมียต่อไปอีกประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ความคุ้มครองปูเพศเมียจนกว่าปูเพศเมียจะแข็งแรงและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ จึงละจากปูเพศเมียออกไปหากินตามแหล่งน้ำหาอาหาร เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่ตัวเอง เพื่อเตรียมตัวพร้อมสำหรับเผชิญกับชีวิตในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคมซึ่งอากาศเย็นและมีอาหารจำกัด วิธีที่ปูนาใช้ปฏิบัติและได้ผลดีจนกลายเป็นกิจกรรมหนึ่งในวิถีชีวิตของปูนา คือการลงรูจำศีลในช่วงเดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม ในช่วงนี้ปูจะไม่กินอาหารและไม่เคลื่อนไหวถ้าไม่จำเป็นเพื่อประหยัดพลังงานที่มีอยู่จำกัด ปูจะขึ้นจากรูออกมาหากินอีกครั้งหนึ่งเมื่อ เมื่อระดับน้ำลด ซึ่งเป็นช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ วัชพืชต่าง ๆ งอกงาม และจะเริ่มผสมพันธุ์อีกครั้งหนึ่งในช่วงต้นฤดูฝนตามวิธีชีวิตปูนาต่อไป


การวางไข่
ปูนาจะวางไข่ปีละครั้งในช่วง เดือนกุมภาพันธุ์-กรกฎาคม โดยมีน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่าน้ำนั้นจะมาจากน้ำฝนหรือจากชลประทาน ปูเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์แล้วจะขุดรูใหม่หรือซ่อมรูเก่าที่มีอยู่ตามคันนาสูงจากระดับน้ำ หรือตามทุ่งนาที่น้ำไม่ขัง เพื่อเตรียมอุ้มไข่ และจะไม่ลอกคราบจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว

ประมาณ 10-12 วัน ไข่ที่ผสมแล้วที่ติดกับจับปิ้งในบริเวณหน้าอกก็จะฟักเป็นลูกปูขนาดเล็ก แต่ลูกปูเหล่านี้คงเกาะอาศัยอยู่กับจับปิ้งอยู่ โดยแม่ปูจะใช้รยางค์ที่บริเวณหน้าท้องโบกพัดกระแสน้ำมีอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงตัวอ่อน ประมาณ 20-23 วัน ลูกปูก็จะลอกคราบ เป็นลูกปูวัยอ่อนที่มีลักษณะครบถ้วนเหมือนพ่อและแม่ เมื่อแม่ปูเห็นว่าลูกปูแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตด้วยตัวเองแล้ว ก็จะใช้ก้ามเขี่ยลูกปูให้หลุดออกจากจับปิ้ง แต่ถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะ เช่นไม่มีน้ำ หรือแล้งเกินไป การพัฒนาของลูกปูในช่วงนี้อาจจะช้า บางครั้งอาจจะยึดเวลาอีก 1- 2 เดือน ถึงจะลอกคราบ แม่ปูถึงจะเขี่ยออกจากจับปิ้ง

การกินอาหาร

ปูนากินอาหารทุกชนิด ตั้งแต่สารอินทรีย์ในดินจนกระทั้งพืชหรือสัตว์ที่มีชีวิตและตายแล้ว ปูนามีบทบาทสำคัญและมีส่วนช่วยทำให้ระบบนิเวศในแผ่นดินอีสานเกิดความสมบูรณ์ เพราะปูนามีระบบย่อยอาหารที่สามารถดูดซึมสารอินทรีย์จากดินได้ ดังนั้นปูนาสามารถกินดินที่มีสารอินทรีย์ที่เน่าเปื่อยได้โดยตรง สัตว์ที่เป็นอาหารของปูนาในธรรมชาติได้ แก่ ไรน้ำ ลูกน้ำ กุ้งฝอย ลูกหอย ปลาขนาดเล็ก และตัวอ่อนของแมลงที่เจริญเติบโตในน้ำ รวมทั้งปูด้วยกันที่มีขนาดเล็กหรือที่กำลังลอกคราบ สำหรับพืช ปูจะกินพืชที่มีลำตันอ่อน เช่นต้นข้าว หญ้าและวัชพืชน้ำต่าง ๆ ปูนาส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน

ปูนา เป็นศัตรูสำคัญในนาข้าว
ปูนา กัดทำลายข้าวในระยะต้นกล้า (ข้าวกล้าอ่อน ในช่วง 7-10 วันแรกหลังจากปักดำ ) โดยกัดกินเฉพาะส่วนที่อ่อนและอวบน้ำ ได้ตลอดทั้งวัน ยกเว้นช่วงมีแดดจัด ปูนาชอบอากาศเย็น โดยเฉพาะตอนหัวค่ำที่ฝนตกพรำ ๆ
การที่ปูนากัดกินเฉพาะส่วนที่อ่อนและอวบน้ำ โดยเฉพาะเนื้อเยื่ออ่อนตรงกลางลำต้น กัดกินต้นข้าวในช่วงนั้นก็เพราะ
ปูเพิ่งพ้นช่วงการจำศีล ซึ่งกำลังหิวและต้องการอาหาร ในช่วงนั้นในนาไม่มีวัชพืชอื่น นอกจาก ต้นข้าวที่ชาวนาปักดำใหม่ และเป็นพืชชนิดเดียวที่มีอยู่ในผืนนา ในขณะที่วัชพืชชนิดอื่น ๆ ยังไม่มีโอกาสเติบโตเจริญงอกงามให้ปูกัดกินนั่นเอง



ปูนาไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ต้นข้าวเป็นไร่ ๆ หรือร้อยไร่อย่างแมลงหรือหนู ในเนื้อที่1 ไร่ ปูนา จะกัดกินต้นข้าวเพียง 1-3 หย่อม คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 2-3 ตารางเมตรเท่านั้น บริเวณที่ปูชอบกัดต้นข้าว คือบริเวณพื้นนาที่เป็นหลุมเป็นบ่อ มีน้ำลึกและขุ่นมากกว่าปกติ อาจเป็นมุมใด มุมหนึ่ง หรือตรงกลางผืนนาก็ได้ที่ปูสามารถใช้พรางตัวหรือหลบซ่อนตัวได้

ส่วนมากปูจะกัดต้นข้าวในระดับสูงจากพื้นดินประมาณ 2 ซม. โดยจะใช้ก้ามทำหน้าที่ยึดและโน้มต้นข้าวเข้าปาก และใช้ ขากรรไกร (mandible) กัดต้นข้าว ปูไม่กินต้นข้าวทุกต้นที่ปูกัด ปูขนาดเล็กที่กำลังเจริญเติบโตจะกัดต้นข้าวมากกว่าปูเต็มวัย

ปูจะทำความเสียหายให้แก่นาดำมากที่สุด และจะกัดกินต้นข้าวในช่วง 7-10 วันแรกหลังจากปักดำเท่านั้น เมื่อต้นข้าวตั้งตัวได้ ลำต้นแข็งแล้วปูนาก็จะหยุดกัดต้นข้าว ในนาหว่านพบว่าปูนาทำลายต้นข้าวน้อยมาก โดยเฉพาะข้าวที่งอกจากตอซังของการปลูกในระบบล้มตอซังจะมีขนาดใหญ่และต้นแข็ง ปูนาไม่ชอบและไม่กัดกินแต่อย่างไร



ปูนาเลี้ยงได้เช่นเดียวกับปูทะเลหรือปูม้า

ปูนามีการเจริญเติบโตโดยการลอกคราบเช่นเดียวกับปูชนิดอื่น ๆ หลังจากฟักเป็นตัวแล้วปูนาจะลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ก็จะโตเป็นปูเต็มวัย ต้องใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน

ปูที่จะลอกคราบสังเกตได้จากรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองจะกว้างมากกว่าปกติ เมื่อใกล้จะลอกคราบปูจะนิ่งและเหยียดขาออกไปทั้งสองข้าง จากนั้นรอยต่อทางส่วนท้ายของกระดองก็จะเปิดออก ส่วนท้ายพร้อมกับขาเดินคู่สุดท้ายจะออกมาก่อน ขาคู่ถัดมาจะค่อย ๆ โผล่ออกมาตามลำดับ ส่วนก้ามคู่แรกจะโผล่ออกมาเป็นอันดับสุดท้าย ระยะเวลาที่ใช้เวลาลอกคราบทั้งหมดประมาณ1ชั่วโมง

เมนูปูนา

ปูนามีรสชาติดี มีเอกลักษณ์ กลมกลืนกับวิถีการกินของคนอีสานและคนเหนือ ปูนาจึงจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนราคาถูก ที่คนอีสานสามารถจับหรือแสวงหาจากธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหา ปูนาสามารถทำอาหารได้หลายชนิด นอกจากนำไปเผา ต้ม นึ่ง ทอด แกงส้ม แกงป่า อ่อมปูนา ยำ และอุกะปู อาหารพื้นบ้านของอีสาน ก็ยังสามารถนำไปประกอบได้อีกหลายชนิด เช่น นำตำให้ละเอียดใส่แป้งและไข่ทอดเป็นแผ่นแบบทอดมัน จิ้มกับน้ำจิ้ม ถ้าเป็นปูขนาดเล็กก็ชุบแป้งทอดทั้งตัว ทางจังหวัดนครพนมนำไปปรุงเป็นลาบปู ผัดปู ส่วนจังหวัดอุดรธานี นำไปทำน้ำยาปูกินกับขนมจีน ปูนายังนำไปดองเค็ม เพื่อนำไปปรุงเป็นส่วนประกอบของส้มตำ ที่เป็นอาหารหลักของคนอีสานและคนในภาคอื่น ด้วย


นอกจากเป็นศัตรูที่คอยกัดกินต้นข้าว แล้ว การขุดรูตามคันนาของปูนา ทำให้คันนาไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้
และ ปูนาบางตัวยังเป็นพาหะของตัวอ่อนพยาธิใบไม้ปอด พยาธิตัวนี้ตัวเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในปอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น แมว หนู สุนัก และคน การนำปูนามาทำอาหารควรระมัดระวัง เพราะปูนาอาจจะมีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ปอด ชนิดพาราโกนิมัส ไซเนนซิส (Paragonimus sianensis) ปนเปื้อนอยู่ ที่ผู้บริโภคปูนั้นอาจเป็นโรคพยาธิใบไม้ปอดได้ จึงควรกินปูนาปรุงสุก

ปูนามีไคตินสูง

ปูนามีไคตินที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตไคโตซานได้เช่นเดียวกับเปลือกกุ้ง เปลือกปูม้าและเปลือกปูทะเล ปูนาตัวหนึ่งมีปริมาณไคตินสูงถึงร้อยละ 19.27 (น้ำหนักแห้ง) ในขณะที่ปูทะเลมีปริมาณของไคตินเพียงร้อยละ 14.14 เท่านั้น

ไคโตซานที่ได้จากเปลือกกุ้งและปูนั้นมีประโยชน์ นำไปใช้ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง


1.ทางด้านโรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำไปใช้ในขบวนการบำบัดน้ำเสียในโรงงานฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตเครื่องสำอาง ที่มีปริมาณอินทรีย์สาร ที่มีโลหะหนักพวก ทองแดง นิคเกิล สังกะสี โครเมียม เหล็ก และแคดเมียม ในน้ำทิ้ง

2.ทางด้านโภชนาการ สามารถนำไปใช้เป็นองค์ประกอบของอาหารเสริม เพื่อลดปริมาณไขมันและโคเลสเตอรอล บำรุงกระดูก นำไปใช้ในการตกตะกอนไวน์ขาว ไวน์แดง ทำเป็นฟิลม์สำหรับเคลือบอาหาร และผลไม้ ช่วยลดจำนวนแบคทีเรียและยืดอายุในการเก็บให้ยาวนานขึ้น ใช้เป็นสารปรุงแต่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลต่าง ๆ ให้มีกลิ่นกุ้ง หรือปู เช่น ผลิตภัณฑ์ซอสรสกุ้ง เป็นต้น

3.นำไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่นสบู่ ยาสีฟัน แป้งฝุ่น โลชั่นบำรุงผิว บำรุงผม

4.ทางด้านผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร เช่นนำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพดินทางด้านอินทรีย์วัตถุ นำไปผสมอาหารสำหรับสัตว์ปีก กุ้ง ปูและปลา เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงโคเร็ว แข็งแรงมีความต้านทานโรค นำไปใช้ในการกำจัดเชื้อรา Sclerotium rolfsii ที่ทำให้เกิดโรคโคนเน่าในพืชตระกูลถั่ว ช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดผักและการเจริญเติบโตของกล้วยไม้

5.ด้านผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งทอ สามารถนำไปใช้ผลิตไส้กรอง สำหรับกรองน้ำและกรองอากาศ หรือใช้ทำบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ใช้เป็นส่วนผสมในสิ่งทอเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกลิ่นและเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการผื่นคัน เป็นต้น

6.ทางด้านการแพทย์และเภสัชกรรม ไคโตซานสามารถทำเป็นเยื่อไคโตซานสำหรับใช้เป็นผ้าพันแผล ช่วยในการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ สามารถนำมาแปรรูปเป็นยาสมานแผล ช่วยลดการปวด และลดการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในด้านโรคกระดูก โรคฟัน โรคตา และโรคไขมัน

ที่มา
http://www.crab-trf.com/na_crab.php

ปูนาในบทความนี้ เป็นเรื่องราวของปูนาที่บางเรื่องบางรายละเอียดไม่ได้เกิดที่บางกรูด แต่พลอยโพยมนำบทความมาเผยแพร่ต่อทั้งต้นฉบับ เพราะอ่านแล้วพบว่า ปูนา ในบางท้องที่มีเรื่องราวรายละเอียดที่น่าสนใจมากทีเดียว ขนาดเจ้าของบทความใช้คำว่า มรดกดิน ทรัพย์ติดแผ่นดิน เอกลักษณ์ การเป็นสัตว์เศรษฐกิจ มีความสำคัญกับชีวิต รวมทั้งเมนูปูนาที่หลากหลาย


ปูนาปรากฎมี...ที่บางกรูด เป็นปูนาดำ
น่าจะเป็น ปูนา ชนิดใดชนิดหนึ่ง ใน 8 ชนิด ข้างต้น (น่าจะเป็นชนิดที่ 3 )

มีข้อความในวิกิพีเดียระบุว่า
ปูนา เป็นสิ่งมีชีวิตประเภทปูน้ำจืดในวงศ์ Parathelphusidae (ทั้งวงศ์ไม่ได้เป็นปูนาทั้งหมด) แหล่งที่อยู่มักจะอยู่ในนาข้าวจึงเรียกว่าปูนา อาจหมายถึงหลายสปีชีส์
• ปูนาสกุล Sayarmia เช่นปูนาดำ (ปูดำ)
• ปูนาสกุล Esanthelphusa
แต่ไม่มีรายละเอียดอะไรอีกเลย

สำหรับข้อมูลจากภาพปลาและสัตว์น้ำของไทย กรมประมง เกี่ยวกับปูนาดำ มีดังนี้



ชื่อสามัญปูนาดำ Somanniathelphusa spp.
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sayarmia spp
ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ BLACK RICE-FIELD CRAB

ลักษณะทั่วไป

เป็นปูน้ำจืด ซึ่งกระดองเป็นรูปหกเหลี่ยมมีขอบ 6 ด้าน ด้านหน้าอยู่ระหว่างเบ้าตาอยู่ตรงข้ามกับขอบหลัง อีกสองขอบอยู่ถัดจากตา ขอบทั้งสองริมหยักเป็นฟันเลื่อย ข้างละ 4 ซี่ ส่วนอีก 2 ขอบเรียบ ส่วนโคนสอบเข้าหากัน นัยน์ตามีขนาดเล็กอยู่บนก้านสั้น ๆ สามารถขยับเคลื่อนไหวได้เมื่อมีอันตรายหรือเวลาตกใจจะพับเก็บเข้าไว้ในเบ้าตา ขามี 5 คู่ คู่แรกใหญ่ที่สุดมีลักษณะเป็นก้ามหนีบหรือที่เรียกกันว่า ก้ามปู อีก 4 คู่ เป็นขาเดินมีปลายแหลม ลำตัวสีน้ำตาลไหม้ ก้ามหนีบสีน้ำตาลปนดำตัวผู้จะมีก้ามหนีบใหญ่กว่า ก้ามหนีบตัวเมีย เมื่อจับหงายท้องเราจะเห็นส่วนที่เราเรียกว่า จับปิ้ง คือส่วนท้องของสัตว์ประเภทนี้ ตัวเมียมีจับปิ้งขนาดใหญ่กว้างเกือบเต็มส่วนอก ปลายกลมมน จับปิ้งของตัวผู้มีขนาดเล็กเรียวแหลม

ถิ่นอาศัย
ขุดรูอยู่ตามท้องนาหรือในที่น้ำขังชื้นแฉะ และออกมาเดินเพ่นพ่านตอนต้นฤดูฝน

อาหาร

กินพืชโดยเฉพาะต้นข้าว ซากสัตว์และซากพืช

ขนาด
กระดองมีความยาวประมาณ 4-7 ซ.ม.


ปูนาดำ นี้ ไม่ใช่ ปูดำ ในบทร้องเพลงกล่อมเด็ก ปูดำในบทกล่อมเป็นปูทะเลซึ่งบางท้องถิ่นเรียกปูทะเลที่มีตัวสีดำว่า ปูดำ

ปูนาดำ ที่บางกรูดไม่มีใครจับมากิน
ปูนาดำ ถึงเดินในลักษณะที่เรียกว่าเพ่นพ่านได้อย่างปลอดภัยสง่าผ่าเผย ปลอดภัยจากเงื้อมมือมนุษย์
ในฤดูการทำนา ในท้องนายังมีต้นข้าวและมีน้ำในนา ปูนาดำจะออกมาเดินกินลมชมวิวตามคันนาในช่วงที่แสงแดดยังไม่แผดจ้านักในตอนเช้า เช่นช่วงที่เคยเดินเท้าไปเรียนหนังสือในสมัยเด็ก หรือไม่ก็เป็นยามเย็นที่ตะวันรอนอ่อนแสงแล้ว

หลังจากที่ได้กัดกินต้นข้าวในขณะเป็นต้นกล้าอยู่ไปแล้ว ( ช่วงนั้น ปูนาดำกำลังขะมักเขม้น อยู่กับลำต้นข้าวอวบอ้วนขาวผ่อง ไม่สนใจอย่างอื่นหรือทำกิจกรรมอื่น )



พอข้าวตั้งต้นแข็งแรง ปูนาดำก็มักแอบพรรคพวกขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์กัน พบเห็นตรงนั้นสามสี่ตัว ตรงนี้ สี่ห้าตัว ส่วนใหญ่จะพบปูนาดำตัวอวบอ้วน พอพบคนปูนาดำก็จะชูก้ามขู่ขวัญคนที่พบก่อน โดยตั้งการ์ดทั้งสองก้ามแล้วจึงจะคลานหนีอย่างว่องไว การคลานหนี ไม่ใช่ คลานแบบตาลีตาลานตาเหลือกแบบปูก้ามดาบ ปูเปี้ยว คลานกัน ปูนาดำจะคลานแบบคลานเร็วก็จริงแต่ไม่ทิ้งลายเสือว่า " ข้าก็แน่นะ ลองมาแหยมดูสิ จะหนีบให้ดู ดูสิ ดูสิ ก้าม สองก้ามของฉัน มันพร้อมสู้นะจะบอกให้ เห็นไหนว่าก้ามฉันแข็งแกร่งเพียงไร ลองไหมล่ะ มนุษย์คนสวย "
ปูดาดำจะคลานลงท้องนา หรือบางทีคลานเข้าไปหลบในกอหญ้าริมคันนาแล้วก็กลมกลืนกันไปกับกอหญ้า


เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในผืนนาก็จะแห้งไม่มีน้ำ ระยะนี้ ปูนาดำ ก็พยายามคลานไปแสวงหาหนองน้ำใหม่ บางทีตามถนนของหมู่บ้าน ( Local Road ) ที่มีรถวิ่งสัญจรไปมา ในช่วงนี้จะพบเห็นซากปูนาดำที่ถูกรถทับตายแบนแต๋คาถนน เพราะคนสมัยนี้ใจร้าย เห็นปูนาดำกำลังคลานข้ามถนนจากฝั่งที่ท้องนาแห้งเพื่อข้ามไปหาท้องนาที่มีน้ำอีกฟากถนน ก็ไม่มีหลบหลีกช่วยรักษาชีวิตให้เหล่าปูนาดำ
ปูนาดำไม่ถูกจับมากินก็จริง แต่ก็ไม่พ้นภัยจากยานพาหนะของมนุษย์อยู่ดี
โธ่...ถัง ... เจ้าปูนาดำ ....... ช่วยมีเมตตา ปูนาดำตัวน้อยกันหน่อยเถิด




ปูเปี้ยว
ปูเปี้ยวและปูก้ามดาบ รวมทั้ง ปูแสม บนฝั่งงเลนที่บางกรูด จะอยู่ใกล้ชิดกันทั่วไปบนพื้นเลนด้วยกัน จนสับสนกันว่า ปูก้ามดาบเป็นปูเปี้ยวชนิดหนึ่ง หรือปูเปี้ยวเป็นปูก้ามดาบชนิดหนึ่ง
แต่เมื่อมีการกล่าวถึงปูเปี้ยว จะพบข้อความว่า

ปูเปี้ยวปากคีบ (Uca forcipata)
เป็นปูก้ามดาบอีกชนิดหนึ่ง มีกระดองสีดำก้ามสีน้ำตาลอมม่วง ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่เป็นดินโคลน

ปูเปี้ยวขาแดง (Uca tetragonon)
เป็นปูก้ามดาบชนิดที่มีกระดองสีฟ้าแต้มด้วยจุดดำ ตรงมุมกระดองมีสีเหลืองขาเดินมีสีส้มแดงตัวเมียมีก้ามขนาดเล็กทั้งสองข้างเช่นเดียวกับปูก้ามดาบทั่วไป พบอาศัยอยู่ตามหาดโคลนใกล้แนวป่าชายเลนทางฝั่งทะเลอันดามัน

ปูเปี้ยวก้ามยาว Uca spinata Crane, ปูเปี้ยวก้ามยาว, long-finger fiddler crab, Ocypodidae.
เป็นปูที่มีขนาดใหญ่ 8-10 เซนติเมตร ตัวผู้มีก้ามสีเหลือง ลำตัวมีสีดำลายน้ำเงิน อาศัยอยู่บริเวณพื้นดินเลนอ่อนตามริมคลอง

แล้วก็พบชื่อ ปู อีกหลายชื่อว่ามี
ปูเปี้ยวก้ามขาว (Uca perplexa)
ปูเปี้ยวชนิด Uca manii
ปูก้ามดาบชนิด Uca dussumieri พบที่บางปูและ ในอ่าวไทย
Uca marionis พบแถวบางปะกง
Uca annutipes พบแถวเกาะสมุย
Uca manonis พบที่จังหวัดภูเก็ต


พลอยโพยมไม่แน่ใจว่า ปูเปี้ยวที่บางกรูดคือปูเปี้ยวชนิดใด ด้วยลักษณะดูจะคล้ายเป็นปูเปี้ยวปากคีบ (Uca forcipata) ส่วน Uca marionis ที่ว่าพบแถวบางปะกง ไม่มีการบอกรายละเอียดของปูชนิดนี้ ก็เลยไม่แน่ใจในปูชนิดนี้ว่าเป็นปูเปี้ยวชนิดใด




ในช่วงที่น้ำกร่อย รอเคยกะปิได้ บนเลนจะพบลูกปูตัวเล็กๆ มีก้ามสีสวย เช่น สีส้ม สีฟ้า คลานเข้าออกรูปูมากมาย แต่ไม่เคยเห็นปูตัวโตๆ มีก้ามเป็น สีฟ้า สีส้ม ก็ไม่ทราบว่า ปูตัวเล็กๆที่มีก้ามสดใสเหล่านี้ เป็นปูอะไร แต่เป็นปูที่เด็กๆ ชอบกันมาก เราจะนิยมตกปูตัวเล็กๆ เหล่านี้ มาใส่ให้คลานเล่นในกระแป๋ง ดูเบื่อแล้วก็ปล่อยปูไปบนเลนตามเดิม

การตกปู ก็เพียงเอาหนังยางคล้องกับปลายสุดแกนกลางของใบจาก คือตัดใบจากมา1 ใบ ลิดเอาใบออก จะเหลือแกนกลางเล็กๆ ที่โคนจะแข็งแล้วค่อยๆเล็กบางไปจนสุดปลายเหมือนปลายก้านมะพร้าว สั่นไหวโค้งงอ ยืดหยุ่นได้ จะได้เบ็ดที่มีสายเป็นก้านใบจาก ใช้ปลายสุดผูกหนังยาง คนตกปูทอดตัวลงพังพาบกับนอกชานบ้านเอาหนังยางปล่อยวางบนพื้นเลน (ที่ไม่เหลวนักเพราะเป็นบนฝั่งของแม่น้ำ) พอปูเดินเข้ามาในวงยาง ซึ่งเราต้องใจเย็นรอคอยไม่ทำให้ยางเคลื่อนที่ ปูก็จะหลงคลานผ่าน พอได้จังหวะที่ก้ามปูอยู่ในตำแน่งขอบหนังยาง ก็ยก ก้านใบจากขึ้นมา หนังยางจะคล้องที่ก้ามปูพอดี เมื่อยกก้านขึ้นมาหย่อนในกระแป๋ง ปูก็จะลอยละลิ่วขึ้นมาลงไปอยู่ในกระแป๋ง ใช้เวลาไม่มาก ก็จะได้ลูกปูตัวเล็กสีสวยคลานไต่ไปมาในกระแป๋งหลายๆตัว เป็นกิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ ว่าใครจะตกปูสวยได้กี่ตัว ( ดูเบื่อแล้ว ก็ปล่อยคืนที่อยู่ของปู)

ปัจจุบัน ด้วยความเห็นแก่ได้ของนักหากุ้งหาปลาที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านด้วยสาเหตุต่างๆกัน ใช้สารเคมีโรยตามชายฝั่ง ขนาดกุ้งก้ามกรามลอยตัวขึ้นมาให้จับง่ายๆ ปลาบางชนิดลอยตายเป็นแพเลยก็มี คนเหล่านี้เมื่อจับกุ้งปลาที่ขึ้นลอยริมฝั่งต้องเอาไปขายที่อื่น เพราะคนในหมู่บ้านไม่มีใครซื้อ ด้วยสารเคมีเหล่านี้ ที่ชาวบ้านเรียกว่าการหยอดยา ได้ทำลายพิฆาตฆ่าสัตว์น้ำหลายประเภทรวมทั้งลูกปูและหอยๆต่างๆ นอกจากทำให้ปูสีสวยๆ กำลังจะสูญพันธุ์เกือบไม่มีให้คนบางกรูดได้พบเห็นกันแล้ว ยังทำให้หิ่งห้อยพลอยหายลับไปจากต้นลำพูอีกด้วย น่าเศร้าจริง ๆ..... เนื่องเพราะหิ่งห้อยจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามกาบหอย ซอกจาก ที่พื้นชายฝั่งในเวลากลางวัน เมื่อระบบนิเวศถูกทำลาย หิ่งห้อยและสัตว์น้ำชายฝั่งหลายชนิดรวมทั้งพันธุ์ไม้ชายฝั่ง เช่นต้น ใบพาย ก็ไม่สามารถดำรงพันธุ์ให้คนรุ่นหลังได้พบเห็นกันเสียแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น