วันจันทร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2554

เจ้าสุดสายสวาสดิ์..ปลาช่อน..ปลาชะโด

เจ้าสุดสายสวาดิ์...เอย
อันชนก ชนนี.... นี้รักเจ้า ..เฝ้าฟูกฟักเลี้ยงรักษา..เจ้ามาจนเติบใหญ่

ต้องขออภัยที่เรื่องเล่าขาดช่วงไป และภาพที่ประกอบเรื่องเล่าไม่งามเท่าที่ควร เหมือนช่วงแรกๆ
เวปไซด์ จะต้องมีการปรับใหม่อีกครั้งค่ะขอเวลาอีกสักเล็กน้อย

เจ้าสุดสายสวาสดิ์

กลับมาสู่หมู่บ้านบางกรูด ของพลอยโพยมอย่างเคย

นอกจากมนุษย์แล้วสัตว์ทั้งหลายในโลกก็ล้วนมีลูกเป็นสุดสายสวาสดิ์ กันทั้งนั้น ไม่ว่า สัตว์บกสัตว์น้ำ
ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา กบ
ทุกสัตว์น้ำ ก็รักลูกของตนกันทั้งนั้น แม้แต่ แม่กบ ที่เลี้ยงดูลูกอ๊อด เยาว์วัย ของ พ่อ ( แม่ )กบ


ภาพนี้มีกบเกาะบนใบบัว

ลูกอ๊อด เป็นชื่อเรียกของตัวอ่อนของกบ เมื่อโตเต็มวัย ลูกอ๊อดจะมีรูปร่างเช่นเดียวกบปกติทั่วไป

เคยมีรายการในทีวีที่สื่อภาพ

พ่อ(แม่)กบและลูกอ๊อดฝูงหนึ่ง ที่อยู่ในแอ่งน้ำซึ่งค่อยๆ งวดแห้งลง ลูกอ๊อด พากันทุรนทุราย ทยอยล้มหายตายจากไป พ่อ(แม่)กบ ปีนข้ามแอ่งดินเดิมไปหาแหล่งน้ำใหม่ได้แล้ว  พ่อ(แม่)กบไม่ไปแล้วไปลับ .... พ่อ(แม่) กบ หันกลับมา... ทั้งคุ้ย ทั้งเขี่ย ทั้งมุด ทั้งดัน ด้วยลำพัง ขา หัว ตัว ของพ่อ(แม่)กบ ที่พยายามทะลายดินในฝั่งที่มีน้ำ ไปสู่อีกฝั่งของแอ่งที่ลูกอ๊อด ของพ่อ (แม่) กบจำนวนมากออกันอยู่

ภาพโพสต์ไปที่ดวงอาทิตย์ที่เบื้องบนท้องฟ้าแผดจ้าร้อนแรง ราวจะเผาทุกอย่างเบื้องล่างให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลี สุริยะรังสียามนี้ ดูเหี้ยมโหด พิโรธ ราวจะพิฆาตฆ่าสรรพสัตว์ทั้งมวลบนพื้นพิภพ



ภาพวาดติดผนังของกรมประมง

นาน... แสนนาน ....ที่ พลอยโพยม นั่งลุ้นระทึกว่าพ่อ (แม่) กบฝั่งนี้จะหมดแรงเสียก่อน แล้วลูกอ๊อด ฝั่งโน้นเองก็พากันโรยแรง แพ้ความร้อนแรงแห่งแสงตะวัน ลูกอ๊อดตัวแล้วตัวเล่าค่อย ๆ ตายไป ตายไป...พ่อ(แม่)กบ ดูจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆ... แต่ก็พยายามสุดแรงพ่อ(แม่).... ที่ห่วงหวง ลูกรัก สุดชีวัน...

ในที่สุด อานุภาพแห่งความรักของพ่อ(แม่)... ก็ บรรลุผลได้สำเร็จ ผืนดินที่กั้นอาณาเขตพ่อ(แม่) ลูกคนละฝั่งพังทลายลง พ่อ(แม่) กบคงส่งเสียงบอกลูกรัก บรรดา ลูกอ๊อด ทั้งหลาย ที่เหลือรอดอยู่พากันแหวกว่าย มาหาพ่อ(แม่) .... แล้วพ่อ (แม่)..ก็พาลูก ๆ ว่ายไปสู่ แหล่งน้ำใหม่ได้ในที่สุด ทิ้งซากลูกอ๊อดที่หมดแรงตายไปแล้วคาแอ่งน้ำแห้งผากแอ่งเดิม………….

ซาบซึ้งกับความรัก ของ พ่อ (แม่)ทั้งมวล.........
(แก้ไขเดิมเขียนว่าแม่กบ)

และวันนี้ พลอยโพยมขอกล่าวขวัญอีกความรักหนึ่ง ของแม่ปลา ๒ ชนิด ที่มีต่อบรรดา ลูก ๆ

ความรักของแม่ ปลาช่อน และ พ่อปลาชะโด ที่มีต่อลูกปลาช่อนและลูกปลาชะโด

ลูกปลาช่อน และลูกปลาชะโด มีศัพท์ ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขาน กันว่า ลูกครอก
ในพจนานุกรม ลูกครอก มีสองความหมาย
คือหมายถึง ลูกทาสเกิดในเรือนเบี้ย และหมายถึง ลูกปลาจำพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูง ๆ

แต่ จริงๆแล้ว ลูกครอก ปลาช่อน จะตามแม่ปลาช่อน
ส่วน ลูกครอกปลาชะโด จะตาม พ่อชะโด แม่ชะโด
ลูกครอกปลาชะโดและลูกครอกปลาช่อน เมื่อเล็ก ๆ ตัวจะเป็นสีแดง
แต่เมื่อโตขึ้น ลูกครอกชะโด ตัวโต กว่าลูกครอกปลาช่อน แถมมีลายคาดตามยาว



ภาพจากหนังสือชีวิตของฉัน

พลอยโพยมเคยซื้อหนังสือภาพสำหรับเด็กชุดจรรโลงใจ เรื่องชีวิตของฉัน เขียนโดย คุณเปรมจิตต์ รัตนาภินันท์ชัย
เป็นเรื่องของลูกครอกปลาช่อน เล่าชีวิตลูกครอกของตัวเอง จัดพิมพ์ โดยบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕

มีหนังสือมากมายหลายเล่มที่พลอยโพยม ซื้ออ่านให้ลูกฟังและดูประกอบตอนเด็ก ประเภทอ่านไปชี้ภาพในหนังสือไป ทั้งนิทาน และเรื่องสั้นของเด็ก ๆ ล้วนมีภาพประกอบ แต่ก็กระจัดกระจายไปหมด เพราะมีหลาน ต่อ ๆ มาอีก เหลือเก็บเรื่องชีวิตของฉันไว้ในที่แห่งหนึ่ง

เมื่อเขียนเรื่องปลา ก็เลยเล่าเรื่องลูกครอกให้ลูกชายฟัง ใบไผ่ ลูกชายที่ปัจจุบัน อายุ ๒๕ ปีแล้ว ตอบว่า เขาเคยอ่านเรื่องลูกปลาที่แม่เลี้ยงดูลูกปลามาตลอด พอแม่ตายเพราะถูกคนจับแม่ไปกิน ลูก ๆ ก็เศร้ามาก ล้มตายไปเกือบหมด เขาจำได้ เคยอ่านชั้นประถมเด็กเล็ก แม่เคยซื้อไว้ เขาอ่านแล้วเศร้ามากเลย เขาบรรยายรูปร่างของหนังสือ ลักษณะหน้าปก แม้กระทั่งสี พลอยโพยม นึกขึ้นมาได้ ค้นเสียนานจึงพบหนังสือเล่มนี้

เจอหนังสือแล้ว ลูกชายยังบอกอีกว่า ทีนี้แม่จะซื้อปลา แม่ต้องถามก่อนว่า ตัวผู้หรือตัวเมียถ้าเป็นปลาตัวเมีย แม่อย่าซื้อนะ เผื่อปลาตัวนั้นเป็นแม่ปลา จะได้ไม่เหมือนในหนังสือ เขาพูดแบบโจ๊ก หัวเราะด้วยแต่แฝงความจริงจังไว้ในสีหน้า พลอยโพยม อึ้งเลย

เลยถือโอกาสขออนุญาตเจ้าของหนังสือ ณ ที่นี้ ขอเผยแพร่ หนังสือเล่มนี้ ที่ตราตรึงอยู่ในดวงใจ ของเด็กผู้ชาย ซนๆ คนหนึ่ง อายุประมาณ  ๕-๖ ขวบ จดจำรายละเอียดได้ จนแม่ของเขา อึ้งและทึ่งมาก

แต่อย่างน้อย ตัวพลอยโพยมเอง ก็ประทับใจกับหนังสือเล่มนี้ ถึงแยกเก็บไว้อย่างดี เมื่อ...นานมาแล้ว เกือบ ยี่สิบปีทีเดียว


เป็นเรื่องของลูกปลาช่อนฝูงหนึ่ง มีตัวหนึ่งเล่าว่า แม่ช่อนมีลูกดก ฉันมีพี่น้องมากมาย เกิดเมื่อตอนน้ำมากในกอผักบุ้งริมทุ่ง ตัวของพวกฉันเป็นสีแดงลอยเล่นน้ำเป็นแพสวยงามมาก แม่จะอยู่ใกล้ ๆ คอยว่ายเวียนวนระวังภัย แม่มีร่างกายแข็งแรง ปราดเปรียว ว่ายน้ำไว สามารถมุดดำดินได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามีอะไรทำให้พวกฉันตกใจ แม่จะพุ่งปราดกระโดดฮุบทันที พวกอันธพาลที่เจอแม่ จะหนีไปไม่เหลียวหลังทีเดียว แม่ช่างรักและห่วงใย พวกฉันเหลือเกิน แม่ขอร้องไม่ให้พวกฉันไปเล่นบนผิวน้ำนานนัก แต่ลูก ๆไม่ค่อยเชื่อฟังเพราะความไร้เดียงสา


ภาพจากหนังสือชีวิตของฉัน
มีครั้งหนึ่ง ลูกปลาช่อนมัวแต่ขึ้นมาเล่นบนผิวน้ำสนุกสนาน ดูแสงเงินแสงทองจับขอบฟ้า ว่ายไล่หยอกล้อกัน ก็มีคนเอาเบ็ดมาตกแม่ปลาช่อน แม่ปลาช่อนถูกเบ็ดเกี่ยวปาก คนตกปลาตวัดเบ็ดขึ้นมา แม่ปลาช่อน ดิ้นรนเต็มที่ หลุดจากเบ็ด (ที่ลูกปลาเรียกว่าสิ่งลึกลับ) แม่ปลาช่อนฟุบตัวลงนอนนิ่งที่พื้นใต้น้ำ เลือดสีแดงไหลออกมา จากมุมปาก ปะปนกับสายน้ำเป็นทางยาว


แม่ปลาช่อนได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสไม่สามารถพาลูก ๆไปหากินได้ แม่ปลาช่อนต้องนอนกบดานเพราะพิษบาดแผล ลูกปลาได้แต่ว่ายวนรอบๆตัวแม่ปลา นาน ๆ ลูกปลาจึงจะขึ้นมาเล่นบนผิวน้ำ ( อันที่จริง คือลูกปลาต้องขึ้นมาหายใจ นั่นเองตามธรรมชาติ) ลูกปลาช่อนต้องหาอาหารกินกันเองตามมีตามเกิด น้องเล็กๆที่อ่อนแอสู้ธรรมชาติไม่ไหวล้มตายไปตัวแล้วตัวเล่า

แม่ปลาช่อนเองก็ซูบผอม เพราะไม่ได้กินอาหาร

แม่ปลารู้ดีว่าลูก ๆ อดอยากมาหลายวัน ด้วยความรักและห่วงใย แม้แม่ปลายังไม่หายดี ก็ สะเปะสะปะพาลูกๆ ไปหากิน เมื่อเจออาหาร แม่ปลาจะ เคี้ยวด้วยปากที่ยังบาดเจ็บไม่หายดี แล้วแม่ปลาก็จะพ่นอาหารที่เคี้ยวแล้วออกมา ให้บรรดาลูกปลากิน


เมื่อหายดีแม่ปลาก็พาลูก ๆ ว่ายไปหาที่ปลอดภัยใหม่ น้ำลึกและไหลเชี่ยว ลูกปลา ก็พากันลอยไปตามน้ำ ตามแม่ปลาไป จนได้พบที่ใหม่ เป็นแอ่งน้ำใหญ่ชายทุ่ง ที่อุดมสมบูรณ์และปลอดภัยกว่าเก่า

แม่และลูกปลาอยู่ดีมีสุข เรื่อยมา จนกระทั่งหน้าแล้ง น้ำเริ่มลดน้อยลง แม่ปลากระวนกระวายใจ จะพาลูกออกไปหากินในน้ำลึก ก็ห่วงว่าลูกยังเล็กไป ได้แต่รอคอยให้น้ำมากเหมือนเดิมอีก แม่ปลาหากินลำบาก ต้องหลบซ่อนในกอผักตบชวา



ภาพจากหนังสือชีวิตของฉัน

แต่แล้ว ค่อนดึกของคืนหนึ่ง ก็มีคนมาส่องไฟดวงใหญ่ มายังฝูงปลา แม่ปลาสะดุ้งขยับตัวอย่างลุกลี้ลุกลน แล้วคนหาปลาก็ใช้เหล็กแหลมแทงลงมาที่ลำตัวของแม่ปลา ดังสวบ แม่ปลาดิ้นพลาด ขดตัวโค้งลงไปกับเหล็กที่ปักคาร่างด้วยความเจ็บปวดแสนสาหัส…..

แม่ปลาหวีดร้อง คำว่า ลูกแม่.. ก้อง ไปทั่ว

เขา...คนหาปลา งัดร่างของแม่ปลาช่อนขึ้นจากน้ำ เอาใส่ภาชนะที่ผูกเอวอยู่
“เขาเอาแม่ฉันไปไหน แม่ฉันทำอะไรผิดหรือ..”

คืนนั้นหากแม่ปลาเอาตัวรอด ก็คงหนีไปได้ เพราะความปราดเปรียวว่องไวของแม่ แต่เพราะแม่ปลาห่วงลูก ๆ ชีวิตของแม่ปลาเลยต้องสังเวย ให้กับความรักความผูกพันใน ลูกปลา แท้ ๆ ( ลูกปลาคิดในใจ )
เมื่อขาดแม่ พวกฉันก็หมดที่พึ่งพา ถูกเขาข่มเหงรังแกเรื่อยมา จนต้องกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง

เดี๋ยวนี้ฉันมีชีวิตอย่างเลื่อนลอย ไร้จุดหมายปลายทาง จดจำเหตุการณ์ ไม่ลืมเลย ร่างของแม่บิดโค้งไปกับเหล็กด้วยความเจ็บปวด เสียงร้องของแม่.... และเสียงร้องไห้ระงมของพวกฉัน…

เมื่อไรหนอ มนุษย์จะเลิกไล่ล่าพวกฉันเสียที พวกฉันต่างก็รักชีวิต อยากมีชีวิตอยู่ยืนนานเช่นเดียวกับมนุษย์ พวกฉันไม่เคยไปรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลยมิใช่หรือ แล้วทำไมพวกฉันจึงต้องได้รับความทุกข์ ทรมาน ตลอดมา เช่นนี้ด้วยเล่า ?...
ภาพหน้าสุดท้ายของหนังสือ เป็นภาพปลาช่อนน้ำตาไหล...



ภาพจากกรมประมง

เศร้ามากเลย เจ้าของหนังสือ มีภาพประกอบรายละเอียด ช่างเข้าอกเข้าใจเหล่าปลาช่อนดีจริงๆ เหมือนคนเขียนถอดหัวใจตัวเองไปเป็นลูกปลาช่อน

เด็กๆ ในชนบท แม้แต่พลอยโพยม ล้วนเข้าใจ ความรักของแม่ปลาช่อน ที่มีต่อลูกครอกของตัวเองดี

แม่ปลาเฝ้าฟูมฟักเลี้ยงดูลูกอ่อนไม่เคยออกห่างตัวลูก ขณะที่ลูกๆพากันว่ายโผล่หัวขึ้นมาสูดอากาศหายใจแล้วดำลง แล้วก็ผุดขึ้นมาอีก วนเวียนหันจนมองว่าหมุนเป็นวง แม่ปลาจะว่ายน้ำนิ่งอยู่ใต้ตัวลูกปลา เมื่อแม่ปลาเห็นปลาตัวอื่น กุ้ง ปู หรือสัตว์อื่นว่ายเข้ามาใกล้ แม่ปลาจะว่ายวนรอบตัวลูกเตือนให้ลูกรู้ตัวว่ามีอันตรายให้รีบหนี หากลูกตัวไหนหนีไม่ทัน แม่ปลาก็จะอมลูกปลาเข้าไปไว้ในปากทันที เมื่อสัตว์อื่นว่ายผ่านไปและปลอดภัยแล้ว แม่ปลาก็จะอ้าปากปล่อยลูกปลา


และจาก http://www.sakulthai.com มีเรื่องเล่าดังนี้

ปลาช่อนนั้นชอบลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ ครีบใต้ท้องและข้างหัวทั้งสองด้านกระพือน้อย ๆ พอให้ลอยตัวอยู่ได้เท่านั้น เวลาจะโผล่ขึ้นหายใจก็ค่อยๆลอยตัวขึ้นฮุบอากาศเบา ๆ ต่างจากปลาหมอที่ฮุบแรงจนคนเข้าใจผิดว่าเป็นปลาตัวใหญ่จน “ตายเพราะปาก” แต่เวลาปลาช่อนตกใจหรือพุ่งเข้าหาเหยื่อจะรวดเร็วเหมือนกระสุนปืน พรวดเดียวหายจากสายตาไปแล้ว

ปลาช่อนเลี้ยงลูกใกล้ชิด ลูกปลาช่อนตัวเล็ก ๆ  เรียกว่า “ลูกครอก” ที่ผมเห็นบ่อยๆตัวเท่าปลายตะเกียบ ยาวสัก ๒ องคุลี สีน้ำตาลค่อนไปทางส้ม อย่างที่เรียกกันว่า “สีแดงไฟ” ครอกหนึ่งน่าจะมีเป็นร้อยตัว ว่ายหากินตามผิวน้ำเป็นฝูง ตาเล่าว่าด้านล่างของฝูงลูกครอกมีแม่ปลาช่อนว่ายดูแลอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ปลาอื่นมากินลูกครอก ถ้าใช้สวิงตาถี่ๆขนาดใหญ่ช้อนเร็วๆ ก็จะได้มาทั้งลูกทั้งแม่

ตาเล่าอีกว่าพรานเบ็ดบางคนใช้เบ็ดเกี่ยวหลังลูกปลาสร้อยหรือลูกปลาหมอปล่อยให้ว่ายเข้าหาฝูงลูกครอก แม่ปลาช่อนคงคิดว่าปลาอื่นจะเข้ามาทำร้ายลูกของตัวก็พุ่งเข้าฮุบเบ็ด พรานเบ็ดใจร้ายเหล่านี้ก็ได้ปลาช่อนไปทำกับข้าวง่าย ๆ ส่วนลูกครอกของปลาช่อนเองก็คงต้องตกเป็นเหยื่อของปลาหรือสัตว์น้ำอื่นจนหมดครอกในที่สุด จะมีเหลือรอดไปบ้างก็น้อยตัว ตาสอนว่าปลาเป็นอาหารของคนก็จริง แต่ยังมีปลาอื่นอีกมากมายในแม่น้ำให้จับมากิน คนที่หากินอย่างง่าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงชีวิตลูกปลาอีกนับร้อยนั้นเป็นบาปมหันต์

ในหน้าน้ำหลากน้ำท่วมพื้นดินใต้ถุนบ้านผมสูงจนมิดหัว บางปีก็ท่วมพื้นบ้าน แต่ละปีมีลูกครอกปลาช่อนหลายฝูงมาอาศัยอยู่ใต้ถุนบ้าน แม่ปลาช่อนคงรู้ว่าบ้านนี้อาศัยได้ ไม่มีใครรบกวนเขาแน่ อย่างดีก็จะถูกเด็กผู้ชายซน ๆ ๓ คน แอบมองโดยการนอนคว่ำกับพื้นชานบ้าน หลิ่วตาข้างหนึ่งมองผ่านร่องกระดานลงไป บางทีถ้าน้าสาวเผลอเราก็แอบเอากะลาตักรำข้าวที่น้าซื้อไว้เลี้ยงหมูค่อย ๆ โรยบาง ๆ ลงไปให้ลูกครอกกิน
โดย รวิทัต
ฉบับที่   ๒๖๐๒ ปีที่ ๕๐ ประจำวัน อังคาร ที่ ๓๑ สิงหาคม  ๒๕๔๗

เป็นอันว่าเด็กผู้ชายซนๆ สามคนนี้ ใจบุญ และมีเมตตาปราณีต่อผู้อื่น พลอยโพยมขอชื่นชม




ช่อน (ชื่อสามัญ)
ค้อ (ชื่อสามัญ)
STRIPED SNAKE-HEAD FISH (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Channa striatus (ชื่อวิทยาศาสตร์)

ลักษณะทั่วไป
ปลาช่อน ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae)

มีส่วนหัวค่อนข้างโต รูปร่างทรงกระบอกยาว ลำตัวอวบกลมยาว ท่อนหางแบนข้าง ครีบหางเรียวปลายมน หัวแบนลง ปากกว้างมาก ภายในปากมีฟันเขี้ยวบนเพดาน ฟันซี่เล็ก ๆ อยู่บนขากรรไกรทั้งสองข้าง

ลำตัวสีคล้ำอมมะกอกหรือน้ำตาลอ่อน มีลายเส้นทแยงสีคล้ำตลอดทั้งลำตัว  ๖-๗ เส้น ด้านท้องสีจางตัดกับด้านบน ครีบสีคล้ำมีขอบสีเหลืองอ่อน ครีบท้องจาง มีขนาดลำตัวประมาณ ๓๐-๔๐ เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง ๑ เมตร

ครีบทุกครีบไม่มีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นยาวจนเกือบถึงโคนหาง ครีบหางกลม ลำตัวส่วนหลังสีดำ ท้องสีขาว ด้านข้างลำตัวมีลายดำพาดเฉียงลำตัว
เกล็ดมีขนาดใหญ่

โดยปลาช่อนชนิดนี้มีความพิเศษไปกว่าปลาช่อนชนิดอื่น ๆ คือ สามารถแถกไถตัวคืบคลานไปบนบกเพื่อหาที่อยู่ใหม่ได้ รวมทั้งสามารถหลบอยู่ใต้ดินในฤดูฝนแล้งเพื่อรอฝนมาได้เป็นแรมเดือน โดยสะสมพลังงานและไขมันไว้ ที่เรียกว่า "ปลาช่อนจำศีล"
พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย พบไปจนถึงเอเชียใต้, พม่าและอินโดนีเซีย

นิยมนำมาบริโภค ปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายทั้งสดและตากแห้ง เป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญจนอาจเรียกได้ว่าเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง เลี้ยงได้ทั้งในบ่อและกระชังตามริมแม่น้ำ
นอกจากนี้ยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามด้วย โดยเฉพาะตัวที่สีกลายเป็นสีเผือกหรือปลาที่พิการตัวสั้นกว่าปกติ

ปลาช่อนในบางพื้นที่ เช่น ที่จังหวัดสิงห์บุรี ขึ้นชื่อมาก ที่เรียกว่า "ปลาช่อนแม่ลา" มีประเพณีพื้นถิ่นคือเทศกาลกินปลา
ปลาช่อน มีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นในแต่ละภาคว่า "หลิม" ในภาษาเหนือ "ค้อ" หรือ "ก๊วน" ในภาษาอีสาน เป็นต้น
ส่วนหัวของปลาวงศ์ปลาช่อนนี้มีลักษณะคล้ายงู จึงมี ชื่อ Snake อยู่ในชื่อ

ปลาช่อนเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคา ใช้ทำอาหารได้หลายรูปแบบ เช่น ตากแห้ง ปลาร้า ปลารมควัน
อาหารของปลาช่อน กินเนื้อสัตว์ต่าง ๆ

ดังนั้น ปลาช่อนเองก็ถือเป็นนักล่า สำหรับสัตว์อื่นๆ เช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นวงจรวัฎจักร ของ การเป็นผู้ล่า และผู้ถูกล่า เพียงแต่ เมื่อผู้ล่า เป็นมนุษย์ ที่ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มนุษย์ มีวิธีการต่างๆมากมาย ที่เรานิยมใช้คำว่า ภูมิปัญญา ประดิษฐ์สร้างสรรค์ สิ่งต่าง ๆ มากมาย
ภูมิปัญญาทางโลกก็ก่อเรื่องโศกเศร้าขึ้นได้




ลูกครอกปลาชะโด

ขอตัดลอกข้อความของผู้มีประสบการณ์ เกี่ยวกับลูกครอกปลาชะโดกับตนเองมาด้งนี้

ปลาชะโดออกลูกทั้งปี ช่วงกลาง ฝน จนถึงกลาง หนาว จะออกมากเป็นพิเศษ
ชะโดลูกครอกถ้ายังตัวแดง ๆ โดยมากจะไม่ออกไปที่น้ำลึกมากจะหากินอยู่ริม ๆ กอสาหร่าย หญ้ารก ๆ

ปลาชะโด ตอนที่เป็นลูกครอก จะมีทั้งพ่อ แล้วก็แม่ อยู่ด้วยกันทั้ง ๒ ตัว ตัวพ่อจะคอยคุ้มครองอยู่รอบๆ บ้างเป็นครั้งคราว แต่ตัวแม่จะอยู่ใต้ฝูงลูกเลย ปลาชะโดดุมาก กัดเหมือนหมา ผมเคยโดนไล่งับสมัยเด็กๆ เล่นน้ำกับเพื่อน แล้วไม่ทันเห็นฝูงลูกครอก ปลาชะโดกัดที่หลัง โดนเข้าไปหลายที แค่ถลอกๆ ไม่ได้โดนคนเดียวครับ เพื่อน ๆ ในกลุ่มโดนไล่กัดกระเจิงเลย ปลากราย นี่ก็ดุ โดนไล่กัดเหมือนกัน

วิธีแยก ลูกครอกปลาชะโด และลูกครอกปลาช่อน ตอนยังเล็กอยู่

ลูกครอกปลาชะโด จะขึ้นหายใจพร้อม ๆ กัน เป็นวง ๆ แล้วก็จมลงไปใต้น้ำ (กรณี ถูกรบกวน) ถ้าไม่มีคนรบกวน ลูกครอกก็จะเคลื่อนที่ไปเป็นแพไป ไปขึ้นหายใจที่จุดอื่นต่อไปเรื่อย ๆ แล้วก็จมลงไปใต้น้ำอีก (ถ้าถูกรบกวน)
ระยะห่างระหว่างการขึ้นหายใจของแต่ละครอกต่างกันไป

ส่วนลูกครอกปลาช่อน จะไม่จมลงไป แม้จะรบกวน ลูกครอกก็จะลอยกันเป็นแพหนีไป

จาก
http://www.sakulthai.com
http://www.siamscubadiving.com




ชะโด (ชื่อสามัญ)
อ้ายป๊อก (ชื่อสามัญ)
แมลงภู่ (ชื่อสามัญ)
GIANT SNAKE-HEAS FISH (ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ)
Channa micropeltes (ชื่อวิทยาศาสตร์)


ลักษณะทั่วไป
ทางภาคใต้เรียก โด ทางภาคกลาง เรียกปลาแมลงภู่ หรืออ้ายป๊อก ( เวลาที่ปลาชะโดฮุบกินเหยื่อ จะมีเสียงดัง ป๊อก)
เป็นปลาน้ำจืดที่ค่อนข้างดุ ลำตัวเรียวยาวเป็นรูปทรงกระบอก ลักษณะครีบต่าง ๆ คล้ายกับปลาช่อน แต่เมื่อเติบโตเต็มวัยมีขนาดใหญ่กว่า

ปลาชะโดอยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ โดยมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง ๑ เมตร หรือ ๑.๕ เมตร หนักถึง ๒๐กิโลกรัม มีรูปร่างมีรูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว

ปลาชะโด มีขนาดเกล็ดเล็กกว่า เกล็ดปลาช่อนแต่มีจำนวนเกล็ดมากกว่า โดยเฉพาะที่เส้นข้างลำตัว มี  ๘๒-๙๕ เกล็ด
ขณะยังเป็นปลาเล็กด้านข้างลำตัวจะมีแถบสีเหลืองอมส้มสดใสเรียงคู่กันจากนัยน์ตาถึงหาง ระหว่างกลางแถบคู่นี้ยังมีแถบสีแดงหรือส้มปรากฏให้เห็น ๑ แถบ พาดตามความยาวลำตัว

เมื่อปลาชะโดมีอายุมากขึ้นลายสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนดำ หรืออาจแตกเป็นแต้มหรือจุด พร้อมทั้งมีแถบสีดำสองแถบ เมื่อปลามีความยาวของลำตัวประมาณ  ๔๐-๕๐ ซ.ม.แล้ว แถบสีและลายต่าง ๆ ลบเลือนไป สีลำตัวของปลาก็จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มเหลือบเขียวตลอดตัว ดูคล้ายสีของหอยแมลงภู่ จึงเรียกกันว่า ปลาแมลงภู่

ถิ่นอาศัย

ในแม่น้ำ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และพบในประเทศใกล้เคียงเช่น มาเลเซีย, อินเดีย, อินโดนีเชีย ตอนใต้ของจีน และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วย


อาหาร

กินสัตว์น้ำต่าง ๆ


ประโยชน์

ปลาเศรษฐกิจสำคัญ เมื่อปลามีขนาดเล็กใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามโดยมีชื่อเรียกว่า "ปลาตอร์ปิโด" ส่วนปลาที่มีขนาดใหญ่ใช้บริโภคมีรสชาติดีเยี่ยม





นอกจากจะเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้แล้ว ยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูผสมพันธุ์ ปลาตัวผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิดที่ผ่านเข้ามาใกล้รัง ไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกชะโดกัดทำร้ายบ่อย ๆ ในช่วงนี้

มีชาวแม่น้ำน้อยเล่าว่า

ปลาชะโดบางตัวมีน้ำหนักถึง ๒๐ กิโลกรัม ยาวกว่า ๑ เมตร ฟันคม ไม่กลัวคนคล้ายกับปลาสากในทะเล ถือเป็นอสูรร้ายแห่งแม่น้ำน้อย พวกมีอาชีพล้อมซุ้มไม่ชอบเลย เพราะหากมีปลาชะโดขนาดใหญ่ติดอยู่ในซุ้มเวลาที่รุนอวนเป็นถุงแคบเข้ามันพุ่งเข้าชนผืนอวนจะทะลุเป็นรูกว้าง หรือไม่ก็พุ่งเข้ากัดเอาเป็นแผล ในช่วงฤดูปลาวางไข่มักมีข่าวคนที่ลงอาบน้ำในแม่น้ำถูกปลาชะโดกัดจนบาดเจ็บเสมอ


เคยอ่านพบในเวปไซด์ว่ามีนักดำน้ำไปพบฝูงลูกครอกปลาชะโด หน้ากากสะท้อนแสง แม่ปลาชะโดที่เฝ้าลูกอยู่ ได้พุ่งชนที่หน้ากากจนทำให้กระจกแตก และทิ่มตาจนบอด

และที่บางกรูดเองก็มีคำเล่าว่า ปลาชะโด เคยกัดคนนิ้วขาด

ฤดูผสมพันธุ์ของปลาชะโดจะมีราวเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปลาชะโดจะสร้างรังที่มีลักษณะที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าการตีแปลงใกล้ชายฝั่ง นี้ว่า "ชะโดตีแปลง"

ปลาชะโดมีการเลี้ยงในกระชังตามแม่น้ำสายใหญ่เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา, สะแกกรัง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์, เขื่อนวชิราลงกรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี มักจะบริโภคด้วยการทำเป็นปลาเค็มและตากแห้งมากกว่าปรุงสด เพราะเนื้อแข็งและมีก้างมาก

ข้อมูลจากภาพปลาและสัตว์น้ำของไทยกรมประมงและวิกิพีเดีย

ชะโดตีแปลง
ในหน้าฝน ปลาชะโด จะเตรียมทำรัง เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่

รังปลาชะโดจะเป็นพวกเศษไม้ ใบไม้เล็กๆ ที่ปลาชะโดจะเอามากองรวมๆกันบนผิวน้ำ โดยใช้จมูกแหลมๆขึ้นมาดันกิ่งไม้ในลักษณะใช้ปากด้านบนเกี่ยวไว้แล้วว่ายถอยหลังให้กิ่งไม้ ไปรวม ๆ กันไว้ ทำจนเป็นวงใหญ่ แล้วปลาชะโดพ่อแม่ ก็จะดูแลไข่อยู่ใต้รังนี้
ติดตาม ภาพรายละเอียดหลายขั้นตอนของชะโดตีแปลงนี้ได้ใน


http://www.siamfishing.com/

ยังมีการใช้คำว่าชะโดตีแปลง หมายความถึง หัวล้านประเภทหนึ่ง

ชะโดตีแปลง
คือล้านที่เป็นวงกลมกลางกบาล มีผมโดยรอบทั้งซ้ายขวา หน้าหลัง เหมือนปลาชะโดตีแปลงจนน้ำกระเซ็นออกไปรอบทิศหาก น้ำน้อยจนเกือบเป็นโคลนตมแล้วชะโดตีแปลงก็จะมีส่วนน้ำขังเป็น วงกลม ล้านแบบนี้จึงต้องมองด้านบนจึงจะชัดเจน

และยังมีความเชื่อเรื่องลักษณะของคนหัวล้านดังนี้
๑ ล้านเฉลิมรอยควาย คือ ล้านเว้าหน้า เชื่อว่า เป็นคนใจนักเลง ใจกว้างกับเพื่อนฝูง เพื่อนฝูงรัก ใคร่ ส่วนมากจะเป็นผู้นำคน

๒ ล้านชะโดตีแปลง หรือ ล้านกำแหง คือ ล้านตรงกลางหัว เชื่อว่าเป็นนักเลง คนดุ

๓. ล้านเศรษฐี คือ ล้านเลี่ยนเตียนโล่ง เหลือผมหลีกหวี หรือ เหลือผมเฉพาะเหนือใบหูข้างละนิด ล้านชนิดนี้เชื่อว่าเป็นคนร่ำรวยมีเงิน

๔. ล้านจัญไร คือ ล้านเป็นหย่อมๆ ล้านไม่สม่ำเสมอ ล้านแบบนี้เชื่อว่า ทำอะไรก็มีแต่จะล่มจมเสียหาย


คนไทยสมัยก่อนคงจะสนุกสนานกับคนหัวล้านกันมาก ในวรรณคดีไทยเก่าๆ หรือนิทานพื้นบ้าน จะพบเรื่องราวของคนหัวล้านอยู่หลายครั้ง แม้แต่คำพังเพยก็มีหลายวลี เช่น “ หัวล้านได้หวี ” “ หัวล้านนอกครู ” “ หัวล้านพลอยตาย ” “ คบเด็กสร้างบ้าน คบหัวล้านสร้างเมือง ” เป็นต้น
จาก หนังสือ“ตำนานหัวล้านไทย” จัดพิมพ์เนื่องในงาน ครบรอบ ๕ ปี พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย
http://www.moomkafae.com


ปลาที่อยู่ในวงศ์ Channidae มี กระสง ปลาชะโด ปลาช่อน ปลาช่อนข้าหลวง ปลาช่อนงูเห่า
ปลาช่อนดำ ปลาก้าง ปลาก้างอินเดีย ปลาช่อนงูเห่าอินเดีย ปลาช่อนจุดอินโด ปลาช่อนบาร์กา ปลาช่อนออแรนติ ปลาช่อนเจ็ดสี ปลาช่อนเชล

สำหรับลำน้ำบางปะกง มีปลาในวงศ์ปลาช่อน คือ ปลากระสง ปลาช่อน ปลาชะโด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น