วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
...นิทานความรักของ ดอกไม้ สายลม แสงแดด และก้อนเมฆ...
...นิทานความรักของ ดอกไม้ สายลม แสงแดด และก้อนเมฆ...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อครั้งที่แสงตะวัน สายลม และก้อนเมฆเดินทางมายังโลกใหม่ ๆ ทั้งสามชวนกันท่องเที่ยวไปทุกหนแห่ง จนกระทั่งพบกับดอกไม้เล็ก ๆ ดอกหนึ่ง
แสงตะวัน สายลม และก้อนเมฆไม่เคยรู้จักชีวิตเล็ก ๆ ที่งดงามอ่อนหวานและอ่อนโยนเช่นนี้มาก่อน ทั้งสามตกหลุมรักดอกไม้น้อนในทันที และต่างก็หมายมั่นที่จะได้หัวใจของดอกไม้มาครอบครอง
แสงตะวันนำของขวัญไปให้ดอกไม้แต่เช้าตรู่
“แสงแรกจากขอบฟ้า เธอคือสิ่งแรกที่ฉันมองหาจากฟากฟ้าแสนไกล” แสงตะวันอันอบอุ่นกล่าว
ส่วนสายลมนั่นล่ะก็ไม่ยอมแพ้
“มาสิดอกไม้น้อย ฉันจะสอนเธอให้เริงระบำ โอบล้อมด้วยสายลมหอมหวาน กล่อมเธอด้วยบทเพลงดอกไม้บาน แม่ดอกไม้แสนหวาน...นี่คือของขวัญแด่เธอ”
ก้อนเมฆเฝ้าดูคู่แข่งทั้งสองอย่างหนักใจ แต่ในที่สุดคิดได้ ก้อนเมฆค่อย ๆ ลอยต่ำลง...ต่ำลง แล้วกลั่นตัวเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ โปรยปราย
“ความรักของฉันคือสายฝนฉ่ำเย็น หวังเพียงเห็นเธอเติบโต งดงาม” ก้อนเมฆเอ่ย
ดอกไม้มองดู แสงตะวัน สายลม และก้อนเมฆด้วยสายตาอ่อนโยน หัวใจน้อย ๆ รับรู้ถึงความงดงามของความรัก แต่ทว่า...
“ขอบคุณสำหรับความรักที่พวกท่านมีให้ เป็นสิ่งดี ๆ ที่ฉันจะเก็บไว้ระลึกถึงตลอดไป หากแต่ฉันไม่สามารถรับของขวัญจากท่านได้ เพราะหัวใจของฉันนั้นเป็นของผืนดิน” ดอกไม้กล่าว “ฉันเสียใจ” ดอกไม้น้อยหลั่งน้ำตา
แสงตะวัน สายลม และก้อนเมฆ มองดูดอกไม้น้อยด้วยความรู้สึกที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
“เธอร้องไห้เพราะสงสารพวกเราอย่างนั้นหรือ” แสงตะวันรำพึง
“ฉันว่าเธอเสียใจที่ทำให้เราผิดหวังมากกว่า” สายลมกระซิบตอบ
“แต่ฉันว่า เธอช่างแสนดีกว่าใคร ๆ ที่พวกเราเคยตกหลุมรักมา” ก้อนเมฆสรุป “เราน่าจะช่วยกันทำให้ดอกไม้น้อย ๆ ที่รักของเราหายเศร้าและมีความสุขดังเดิมดีกว่า”
และแล้วแสงตะวันอันอบอุ่นก็ฉายส่อง สายลมอ่อน ๆ พัดโชย ก้อนเมฆโปรดหยาดฝนเป็นละออง
“อย่าเสียใจไปเลยดอกไม้น้อย พวกเรามีความสุขดีที่มีความรัก และจะมีความสุขมากหากได้เห็นเธอแย้มบาน” แสงตะวันกล่าว
“และนี่คือของขวัญสำหรับเธอ สำหรับความรัก ความรู้สึกดี ๆ ที่เราต่างมีให้แก่กัน” สายลมและก้อนเมฆกล่าวแก่ดอกไม้ซึ่งหยุดร้องไห้และยิ้มได้ทั้งน้ำตา
นับแต่นั้นมา...สามนักเดินทางจากฟากฟ้าก็ช่วยกันดูแลดอกไม้น้อย ๆ อันเป็นที่รักของพวกเราเสมอ และในทุกที่ซึ่งมีดอกไม้แย้มบาน...จะมีความรักอันอ่อนหวานของแสงตะวัน สายลม และก้อนเมฆโอบล้อมอยู่เป็นนิจ
ที่มา : รักษิตา
วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
...แก้วเจ้าจอม หอมรวยริน...
แก้วเจ้าจอม
ชื่อสามัญ Lignum Vitage
ชื่อวิทยาสาสตร์ Guaiacum Officinale Linn
วงศ์ ZYGOPHYLLACEAE
แก้วเจ้าจอมเป็นไม้ดอกประวัติศาสตร์ ต้นแรกในเมืองไทย มีอายุกว่า 100 ปี มีความเป็นมาว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจองเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้พันธุ์มาเมื่อคราวเสด็จประพาสอินเดีย ทรงนำมาปลูกไว้ในพระราชอุทยานวังสวนสุนันนทา ด้านหลังเนินพระนาง หรือพระบรมราชานุสรณ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันนทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี( ปัจจุบันตือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) เป็นต้นแก้วเจ้าจอมลักษณะใบประกอบ 2 คู่ ( คือสี่ใบ)
แก้วเจ้าจอม ได้ถูกจัดลำดับเป็นพืชพันธุ์อนุรักษ๋ในบัญชี 2 ภายใต้พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2525 กรมส่งเสริมการเกษตร ศาสตราจารย์ เต็ม สมิตินันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤษศาสตร์ เป็นผู้ตั้งชื่อไม้ชนิดนี้ว่า "แก้วเจ้าจอม" หรือ " น้ำอบฝรั่ง" ปัจจุบันเป็นดอกไม้สัญลักษร์ประจำมหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ยังมีแก้วเจ้าจอม ชนิด 3 ใบคู๋ คือ หกใบ ดังในภาพประกอบ เป็นไม้พุ่มสวย มีลักษณะใบประกอบ 3 คู่ ปลูกไว้ ณ ฝ่ายปฎิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ปัจจุบัน ไม้ต้นนี้มีอายุ 26 ปี (ณ วันลงข้อมูล ของ http://www.rdi.ku.ac.th/ โดย อุดม แก้วสุวรรณ และคณะ
แก้วเจ้าจอม เป็นพันธุ์ไม้จาก หมู่เกาะอินดีสตะวันออก จะออกดอกกลีบสีม่วงคราม (สีฟ้าอมม่วง)มีเกสรสีเหลือง ในช่วง เดือน สิงหาคม-ตุลาคม และ ธันวาคม - เมษายน มีกลิ่นหอม ผลของแก้วเจ้าจอม สีเหลือง เมล็ดสีน้ำตาลเข้ม การขายพันธุ์ โดย เมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำ การปลูก ควรปลูกในที่แสงแดดรำไร เป็นไม้ยืนต้น สูง 3-12 เมตร
แก้วเจ้าจอม เป็นพันธุ์ไม้ที่ปัจจุบันซื้อหาได้ทั่วไป เมื่อสิบกว่าปีก่อน พลอยโพยม พบต้นแก้วเจ้าจอมที่บ้านของลูกค้าธนาคาร ท่านเป็นอาจารย์คณะเภสัช จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ต้นสูงกว่าหลังคาบ้าน 2 ชั้น โดยพลอยโพยมไปยืนที่โคนต้น ซึ่งร่มเงาครึ้ม เมือแหงนขึ้นไป ก็ได้เห็น ใบของต้น ที่มีลักษณะแปลก ไม่ได้เห็นดอกด้วยซ้ำไปท่านอาจารย์ บอกว่า นี่คือต้นแก้วเจ้าจอม พลอยโพยม ชอบชื่อมาก และชอบลักษณะใบ จึงไปเดินหาซื้อที่สวนจตุจักร วันพุธก็พบว่าถ้าต้นสูง ประมาณ เกือบเมตร ราคา ประมาณ เจ็ดถึงแปดร้อยบาท ก็ซื้อไม่ลง เดินอีกหลายสัปดาห์ ก็ไปพบ ต้นชำเล็กๆ สูงประมาณ หนึ่งคืบ ( คืบของตัวพลอยโพยมเอง) ราคา หนึ่งร้อยห้าสิบบาท ซื้อ มาหลายเที่ยวหลายต้น ( ประมาณ 6 ต้น) มีทั้ง ชนิด สี่ใบ และชนิด หกใบ ตามแต่พ่อค้าคนขาย จะบรรยายสรรพคุณ แก้วเจ้าจอมชนิดที่ตัวเองมีขายในร้าน ว่า พันธุ์ ที่เขาขาย ออกดอกง่าย ดอกดก สีสวย ทนทาน ไปยาลใหญ่ จึงต้องซื้อมา ทั้ง สองชนิด ปัจจุบัน คงเหลือรอดชีวิต อยู่ สามต้น ชนิด หกใบ (ก็เลย คิดว่าชนิด หกใบ น่าจะทนทานปลูกง่ายกว่า ชนิด 4 ใบ( ตามต้นตอเดิม อายุ 100 ปี) ทั้งที่อยู่ในกระถางไม่ค่อยได้ดูแล จนมีคนใจดี นำมาปลูกลงดินให้ จึงเหลือรอดมาดังกล่าว แต่ มีนกรที่บ้าน ตัดแต่งกิ่งต้นไม้ทุกต้นไม่ให้เป็นทรงพุ่ม เป็นทรงสูงชลูดหมดทุกต้น ( แม้แต่ต้นตะขบ) ภาพดอกไม้สวนใหญ่ พลอยโพยม ต้องใช้ ม้าสูง (ประมาณ 1 เมตร ) ตั้งไว้ แล้วปีนป่ายขึ้นไปถ่ายภาพ ซึ่งคนในบ้านไม่เห็นด้วยกับความพยายามนี้ เพราะกลัวตกลงมา ไม่คุ้มความเสี่ยงที่จะพิการ พลอยโพยม เสียดายความงามของดอกไม้หลายชนิด ที่อยากนำมาสื่อให้ ผู้เข้ามาเยี่ยมชม เวปไซต์นี้ ได้เห็น แม้จะไม่มีฝีมือเรื่องการถ่ายภาพเลยก็ตามที
แก้วเจ้าจอม มีสรรพคุณในด้านสมุนไพรดังนี้
ใช้รักษา รูมาติซัมเรื้อรัง โรคไขข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคเก้าด์ ใช้เป็นยาตรวจครบเลือดในนิติเวชวิทยา เรียกว่า Gum Guaiacum แถบอเมริกาใต้ อินเดีย อินเดียตะวันตกและฟลอริดา
- ยางไม้ ใช้เป็นยาขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ซับเหงื่อ แก้ข้ออักเสบ หรือทำเป็นยาอมแก้หลอดลมอักเสบ
- ใบ ใช้คั้นน้ำ กินแก้อาการท้องเฟ้อ
- เปลือก เป็นยาระบาย
- ดอก ทำผงชา เป็นยาบำรุงกำลัง
ดอกแก้วกัลยาประดิษฐ์พระราชทาน
เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานนามดอกไม้ประดิษฐ์โดยคนพิการของศูนย์ส่งเสริมอ่ชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์ว่า "ดอกแก้วกัลยา" เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ตามที่ศูนย์ฯ ได้มีหนังสือขอพระราชทานพระอนุญาต
ดอกแก้วกัลยา มีการจดลิขสิทธิ์ 2 ฉบับ ดอกแก้วกัลยา เป็นดอกไม้ในจินตนาการ มาจากดอกไม้ 2 ชนิด คือดอกแก้ว และดอกแก้วเจ้าจอม มีกลีบดอกสีฟ้าคราม ดอกดแก้วและดอกแก้วเจ้าจอมออกดอกเป็นพวง ให้ความหมายเปรียบเทียบประดุจคนเราทุกคนมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียว ความหมายรวมของดอกแก้วกัลยา คือ ดอกไม้จากนางแก้วที่นมีน้ำพระหฤทัยสดใส ให้แสงสว่างอบอุ่นกับมวลหมู่คนพิการในแผ่นดินไทย ดั่งน้ำพระหฤทัยจากองค์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ที่มา : http://www.panyathai.or.th/
เพลงดอกแก้วกัลยา
[นิทานเรื่องเล่า]...นิทานดอกไม้...
...นิทานดอกไม้...
กาลครั้งหนึ่ง ยังไม่นาน ณ ทุ่งกว้างเขียวขจี ดอกไม้หลากสีเติบโตงดงามละลานตา
ในหมู่ดอกไม้เหล่านั้น ยังมีดอกไม้ธรรมดา ๆ อยู่ดอกหนึ่ง...ธรรมดามากเสียจนไม่มีใครใส่ใจ...
ถัดจากทุ่งดอกไม้ไปไม่ไกลนัก...มีชายหนุ่มคนหนึ่งปลูกกระท่อมอาศัยอยู่
ทุกวัน เขาเดินผ่านทุ่งดอกไม้ไปทำงานในตอนเช้า และเดินผ่านทุ่งดอกไม้กลับบ้านในตอนเย็น ในวันที่ไม่เร่งรีบ เขาจะหยุดแวะมองหมู่ดอกไม้ และทักทายด้วยรอยยิ้ม...แน่นอน เขาไม่ได้ยิ้มให้ดอกไม้ดอกไหนเป็นพิเศษ
ดอกไม้ธรรมดาดอกนั้น ก็มองเห็นชายหนุ่มทุกวัน เธอหลงใหลรอยยิ้มอบอุ่นของเขา
บางครั้งมีนักท่องเที่ยวผ่านมาแวะชมทุ่งดอกไม้ พวกเขาจะมองหาดอกไม้ที่ถูกใจ และบางครั้งก็จะเก็บเอาดอกไม้งามบางดอกกลับไปด้วย...
นาน ๆ ครั้ง... นานมาก ๆ จึงจะมีคนสังเกตเห็นดอกไม้ธรรมดา ๆ และขอเก็บมันกลับไปบ้าง
"ดอกไม้...เธอจะไปอยู่กับฉันไหม ?"
ดอกไม้เงยหน้ามอง...เธอไม่อาจคาดเดาแววตาของนักท่องเที่ยวได้...
พวกเขาจะจริงใจกับเธอแค่ไหนหรือ?...
และเมื่อ...ไม่มีคำตอบจากดอกไม้ พวกเขาก็จะพากันเดินจากไปอย่างรวดเร็ว
นาน ๆ ครั้ง และนานมาก ๆ จึงจะมีผู้คนบางคน...รอคำตอบจากดอกไม้
"ขอบคุณสำหรับความหวังดีที่เธอมีให้...แต่ฉันมีคนที่ชอบอยู่แล้ว..." นั่นคือคำตอบของดอกไม้
...เขาคือ...ชายหนุ่มที่กระท่อมนั่นไง...
ดอกไม้ไม่รู้ว่า...
นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะผิดหวังหรือไม่?
ไม่รู้ว่าเธอคิดผิดไหม?
และไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เมื่อไหร่ชายหนุ่มที่เธอแอบชอบอยู่จะสังเกตเห็นเธอสักที?
วันเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ... ดอกไม้ลดความสดใสงดงามลงตามกาลเวลา...
ชายหนุ่มยังคงเดินผ่านทุ่งดอกไม้เหมือนเดิมทุก ๆ วัน...และดอกไม้ก็ยังได้แต่มองเขาอยู่เช่นเดิม...
ผู้คนบางคนอาจจะคิดว่า...ดอกไม้ เธอช่างโง่นัก ที่ไม่ตัดสินใจไปกับนักท่องเที่ยว...เธอจะได้มีคนรักเฝ้าคอยดูแลเธอยังไงล่ะ...
แต่ดอกไม้ธรรมดากลับคิดว่า...ใช่สิ ! ฉันอาจเป็นดอกไม้ที่แสนโง่...แต่ก็ไม่แน่ว่านักท่องเที่ยวที่ผ่านมาและเก็บเอาพวกฉันไป...จะรักและดูแลฉันตลอดกาล...
ฉันยินดีจะอยู่ ณ ทุ่งดอกไม้แห่งนี้...ฉันอาจเหงาบ้างในบางเวลา...แต่ฉันจะได้เห็นรอยยิ้มอันอบอุ่นของชายผู้นั้นทุก ๆ วัน แค่นี้ฉันก็พอใจแล้ว...เพราะฉันจะได้มีความสุขอยู่ได้ตลอดไป...ตราบจนวันสุดท้ายตามอายุไขของฉันไงละ...
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า "การพอใจในสิ่งที่ตนมีนั้น คือความสุขที่แท้จริง"
ที่มา : siengyee / edit by ...Roytavan...
Flowers Show( Andre Rieu Strauss Medley)
Amazing Butterflies
วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
พรรณไม้ชายทุ่ง...ตะขบสวย ละลวยหอม...
...ตะขบฝรั่ง ...
ชื่อสามัญ JamaicanCcherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry
ชื่อวิทยาศาสตร์ Muntingia calabura L.
วงศ์ TILICEAE
ชื่อท้องถิ่น ครบฝรั่ง ตะขบ
วงศ์ตะขบฝรั่ง มีสมาชิกเพียง ๓ สกุล คือ Dicraaspidia Muntingia และ Neotessmannia ซึ่งแต่ละสกุลมีสมาชิกเพียงชนิดเดียว ( มีต้นจาก หนึ่งในสกุลปาล์ม ที่มีจากเป็นสมาชิกหนึ่งเดียวในวงศ์ย่อย) มีถิ่นกำเนิดและเขตการกระจายพันธุ์ใน แถบอเมริกากลางและใต้ พบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน ในไทยมีเพียงสกุลเดียวคือ สกุล ตะัขบฝรั่ง
Muntingia สมาชิกคือ Muntingia calabura L. ในไทย พบปลูกเป็นไม้ประดับ ไม้ผล หรือขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างทั่วไปเป็นไม้พุ่ม หรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ ๑๐ เมตร ใบเดี่ยวเรียงสลับในระนายเดียวกัน ขอบใบจักฟันเลื่อย โคนใบเบี้ยวมีหูใบร่วม ขนาดไม่เท่ากัน มีขนปกคลุมหนาแน่น ดอกออกเดี่ยวตามซอกใบ ผลกลมผิวบางเรียบ เมื่อดิบสีเขียวอมชมพู เมื่อสุกมีสีอดง มีเมล็ดเล็กๆภายในจำนวนมากภายใน ก้านผลยาว ๒-๓ ซ.ม. รสหวานกินได้ มีผลทั้งปี
หมายเหตุ ชื่อสามัญ Jamaican Cherry เนื่องจากพันธุ์ไม้ต้นแบบ (type specimens) เก็บจากจาไมก้า
ประโยชน์ของตะขบ : นอกจากกินได้รสหวานเย็นมีกลิ่นหอม บำรุงกำลังทำให้ชุ่มชื่นใจ ยังมีประโยชน์ทางสมุนไพรด้วยคือ
- เปลือก ใช้ต้มกินเป็นยาระบาย
- ราก แก้เสมหะ โรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว
- ต้น แก้โรคผิวหนัง
- เนื้อไม้ ใช้ขับไส้เดือน แก้ตานโขมย แก้ท้องร่วง บิด มูกเลือด แก้ไข้หวัด แก้ปวดศีรษะ
- ใบ รสฝาด ขับเหงื่อ
- ดอก นำมาตากแห้ง ชงน้ำ เป็นยาแก้ปวดศีรษะ ลดไข้ ใช้แก้หวัด แก้ปวดเกร็งในทางเดินอาหารต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ช่วยขับระดู แก้โรคตับอักเสบ ผล กินได้
ตะขบที่เราพบเห็นมากมาย จนบางครั้งก็กลายเป็นวัชพืช กลับไมใช่ ไม้พื้นเมือง ถือว่า เป็นพันธุ์ไม้นอก สาเหตุที่กลายเป็นวัชพืช ก็เพราะ ตะชบ มีผลขนาดเล็กเมื่อสุก สีแดงสวยงามสะดุดตา แถมมีกลิ่นหอมยวนยั่วใจเวลากัดกิน ดังนั้นบรรดานกทั้งหลายจึงชื่นชอบ เมื่อกินแล้วก็ ถ่ายออกมาขยายพันธ์ รวมทั้งสามารถคาบผลไปไหนมาไหนได้ง่าย ตะขบแต่ละต้นให้ผลตลอดปี และให้ผล คราวละเต็มต้น จึงมีปริมาณมากมาย พอให้มนุษย์ และนก แบ่งสรร กันเก็บกินได้ตามอัธยาสัย ไม่ต้องแย่งยื้อกัน
ที่บ้านพลอยโพยม ตั้งใจให้ตะขบ ขึ้นในเนื้อที่ เพื่อเป็นอาหารล่อนก เนื่องจากพลอยโพยมชอบนกมาส่งเสียงเจื้อยแจ้ว หากตะขบไม่มีลูกบางครั้งก็เอากล้วยน้ำว้าสุกไปแขวนที่ต้นตะขบ แต่น่าแปลกใจ ที่นกไม่ค่อยมากินกล้วยที่ต้นตะขบ เพราะนก เกิดระแวงภัย กระมัง ว่า ตะขบบ้านนี้ออกลูกเป็นกล้วยน้ำว้า มีนัยอย่างอื่นหรือเปล่า เลยไม่ค่อยยอมมาจิกกินกล้วย ก็จะมี กระรอกน้อย หนึ่งตัว กระโดดไปมาระหว่างต้นไม้ มาแทะกินบ้าง ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นหนูไต่ขึ้นมากกิน
ตะขบออกดอกชูหงายขึ้นเหนือใบรับแสงตะวัน แสงเดือน แสงดาว รับทั้งน้ำค้างและน้ำฝน แต่พอกลายเป็นผล กลับบิดผลห้อยลง เมื่อแก่เต็มที่ กลับเป็นการซ่อนผลไว้ใต้ใบ เวลาไปหาผล ถ้าต้นสูงก็แหงนเงยหน้าขึ้นไปหา แต่ถ้าเป็นกิ่งต่ำเตี้ย ต้องพลิกหงายใบหากัน เวลาถ่ายภาพ ภาพที่ได้ดูจะขัดธรรมชาติ
ข้อมูลจาก : สำนักหอพรรณไม้ / http://www.biogang.net/
...ลีลา...ตะขบ...Photo by Amorn Tun
พรรณไม้ชายทุ่ง...กกสามเหลี่ยม...
...กกสามเหลี่ยม กกตะกรับ หญ้าตะกรับ...
'ตะกรับ' ในพจนานุกรม ตะกรับ มี ๓ ความหมายคือ
๑. หมายถึง ดินเผาหรือเหล็กเป็นแผ่นเจาะเป็นรูสำหรับรองถ่านเพื่อให้ลมเดินผ่านได้และขี้เถ้าตกลงข้างล่าง ,รังผึ้งก็ว่า
๒. ปลาทะเลหรือน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง
๓. ชื่อกกชนิด Cyperus Procerus Rottb ในวงศ์ Cyperaceae ลำต้นเป็นสามเหลี่ยม ใบยาวและแคบ ดอกสีน้ำตาล
ในเอกสารหลายฉบับใช้เรียก "กกตะกรับ" ชื่อสามัญว่าActinoscirpus grossus (L.f.) Goetgh. & D.A. Simpson อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE และมีชื่ออื่นคือกก กกปรือ กกสานเสื่อ กกตะกรับ กกตาแดง กกคมบาง แห้วหิน แต่จากพรรณไม้น้ำเมืองไทยของกรมประมง "ตะกรับ" หมายถึง "หญ้าตะกรับ" ซึ่งทั้งชื่อและวงศ์ตรงกับ พจนานุกรม และถือเป็นกกชนิดหนึ่ง มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยม มีใบประดับรองรับช่อดอกจำนวน ๒-๔ ใบ
ส่วนกกสามเหลี่ยม มีชื่อสามัญว่า "Bulrus" ชื่อวิทยาศาตร์ Scirpus grossus L.f อยู่ในวงศ์ CYPERACEAE เป็นพืชล้มลุกอายุหลายฤดู ขึ้นได้ทั้งในน้ำนิ่งและน้ำไหล เช่นในนาข้าวและคันคูน้ำทั่วไป แตกเป็นกอสูง ๑-๒ เมตร ใบยาว ๕๐-๑๐๐ ซ.ม. ลักษณะใบค่อนข้างกว้างเป็นร่อง ปลายใบแหลม ดอกออกเป็นช่อรวม มีก้านช่อดอกเป็นรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีใบประดับ ๓ ใบรองรับช่อดอก ช่อดอกย่อยมีดอกขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก สีน้ำตาล ก้านช่อดอกยาว นิยมนำมาตากแห้งใช้ทอเสื่อ
กกสามเหลี่ยมนี้พบเห็นได้ทั่วไปไม่ต้องลงแรงปลูก บ้านในชนบททั่วไปแทบทุกภาค จะรู้จักการนำกกมาทอเสื่อ อุปกรณ์การทอเสื่อที่เรียกกันว่า ฟืม ซึ่งเป็นเครื่องมือในการทอเสื่อ ( อุปกรณ์ทอผ้า ก็เรียกฟืม เช่นเดียวกัน )เมื่อตัดต้นกกแล้ว จะต้องเอาไส้กกออก ลักษณะของกกสามเหลี่ยมนั้นลำต้นเป็นสามเหลี่ยม การเอาไส้กกออก ก็คือ ใช้มีดปลายแหลมกรีดเอาผิว กก ออกมา รอบต้นทั้งสามด้าน (หากคนไม่ชำนาญ ก็อาจได้ไม่ครบสามเส้น ) จะเหลือไส้กก สีขาว เนื่องจากต้นกกอยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นลำต้นจึงอุ้มน้ำ (ลักษณะคล้ายผักตบชวา แต่เนื้อของไส้ ละเอียดแน่นกว่าผักตบชวา ) ทำให้ ไส้กกมีความเย็น จนต้องใช้คำว่าเย็นฉ่ำ เด็กๆมักชอบนอนบนไส้กกเวลาที่ผู้ใหญ่ เอาผิวกกออกไปแล้ว
ที่บ้านของพลอยโพยม จะกรีดผิว กก ในตอนกลางคืน โดยตัดต้นกกและล้างน้ำเอาดินโคลนออกไปตั้งแต่ ในเวลากลางวัน พอหัวค่ำ ก็เริ่มทำกก กัน เด็กๆก็คอยเล่นไส้กกเอามากองที่นอกชาน แล้วนอนชมดาวเดือนเป็นเพื่อนพวกผู้ใหญ่ เย็นสบายใจเด็กกัน พอรุ่งเช้า ก็เอาผิวกก คลี่ตากแดดให้แห้ง ผิวกกโดนความร้อนก็จะห่อตัวกลายเป็น กก เส้นกลมๆสีน้ำตาล เมื่อแห้งดี ก็รวบกก มัดเป็นกำๆ แล้วแขวนห้อยลงตามความยาวไว้ รอนำไปใช้งานต่างๆ นอกจากทอเสื่อแล้ว กกนี้ก็ใช้ มัดข้าวต้มมัดผัด หรือใช้ต่างเชือก สำหรับ มัดของเล็กๆน้อยๆ ของพ่อค้าแม่ค้าขายผัก ขายของชำ
ส่วนการทอเสื่อกก นั้น แทบทุกบ้านก็ทอเสื่อกก กันเองในครัวเรือนไม่ต้องไปซื้อหาเสื่อให้เสียเงิน ขนาดความกว้างยาวของเสื่อ ก็ทำตามใจชอบของผู้ใช้งาน โดยใช้สายปอสอดลอดตามช่องของฟืม เป็นการกำหนดลายของเสื่อและขนาดความกว้างของเสื่อ ส่วนความยาวไม่จำกัด จะยาวเท่าไรก็ได้ ปัจจุบัน เสื่อกกที่ทอใช้กันในบ้านเรือน เปลี่ยนจากสายปอ เป็น เส้นเชือกพลาสติกกันหมดแล้ว มีโรงเรียนบางแห่งฝึกหัดนักเรียนให้ทอเสื่อกก นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นการทอเสื่อกกยังถูกจัดรวมเป็นกิจกรรมในงานจุลกฐิน เพื่อเป็นการจำลองวิถีไทยนอกจากประเพณีทำผ้าจีวรพระ ทั้งการปั่นด้าย กรอด้ายทอผ้า ย้อมผ้า ตัด เย็บ ต้องให้สำเร็จเสร็จเป็นจีวร ภายในวันเดียว และต้องทันหมายกำหนดการทอดกฐินด้วย บางครั้ง ก็ต้องทอดกฐินกันเวลา สองทุ่ม เพราะต่องรอการทำไตรจีวรให้แล้วเสร็จนั่นเอง...
...หญ้ากก ริมน้ำบางปะกง...Photo by Amorn Tun...
พรรณไม้ชายทุ่ง...ดอกขลู่...
พรรณไม้ชายทุ่ง...ขลู่บาน ตระการทุ่ง...
...ขลู่...พรรณไม้ชายทุ่ง...
ฃื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L ) less.
ชื่อสามัญ Indian Marsh Flebane
ฃื่อท้องถิ่น หนวดงั่ว หนวดงิ้ว หนาดงัว หนาดวัว คลู ขลู
เป็นไม้พุ่มสูง ๑- ๒.๕ เมตร ชอบขึ้นในที่แฉะ ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่กลับ ขอบใบหยักซี่ฟันห่างๆ ดอกช่อ ออกที่ยอดและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผล เป็นผลแห้ง ไม่แตก ต้นขลู่ที่ขึ้นอยู่รกเรื้อยากต่อการกำจัดทิ้ง มีอยู่ดาษดื่นทั่วท้องทุ่ง ชายคลอง ริมคูน้ำมีประโยขน์มากมาย เป็นสมุนไพรที่ไม่ต้องลงแรงปลูก หาได้ง่ายทั่วท้องถิ่น
สรรพคุณ : ตามตำราไทย ใช้ทั้งต้น ต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะ แก้เบาหวาน ต้มน้ำอาบแก้ผื่นคัน น้ำคั้นใบสดรักษาริดสีดวงทวาร การทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาชงทั้งต้นมีฤทธิ์ขับปัสสาวะมากกว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (hydrochlorothiazude) และมีข้อดีคือสูญเสียเกลือแร่น้อยกว่า
ร.ศ. วีณา เชิดบุญชาติ แยกสรรพคุณ ขลู่ออกมาดังนี้
- ดอก ใช้ต้มดื่มเพื่อขับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ทั้งต้น ใช้ต้มดื่มเพื่อแก้นิ่วในโรคไต ขับปัสสาวะ แก้ริดสีดวงทวาร
- ยอดอ่อน มีรสมันรับประทานเป็นผักสด
- เปลือกต้น มวนยาสูบแก้โรคริดสีดวงจมูก ใช้ต้มเอาไอบรรเทาการอักเสบริดสีดวงทวาร
- ใบ แก้ริดสีดวงทวาร แก้กษัย ขับนิ่ว ขับปัสสาวะ แก้ไข้ ขับเหงื่อและแก้เบาหวาน นำใบมาผึ่งให้แห้งและชงดื่มเพื่อลดน้ำหนัก บรรเทาอาการปวดเมื่อย ต้มน้ำอาบรักษาเส้นตึง ทำเป็นขี้ผึ้งรักษาแผลเรื้อรัง ใช้ลดน้ำหนักตัว ดื่มเป็นชาโดยใช้ใบสดหรือใบแห้งคั่วให้เหลือง ชงดื่มแทนชา
"พลอยโพยม" เห็นต้นขลู่นี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ไม่เคยสนใจใส่ใจต้นขลู่นี้เลย จนกระทั่งต้องหัดถ่ายภาพเองเพื่อประกอบหนังสือ เพิ่งมาสะดุดตากับดอกขลู่ที่พบเห็นมาเนิ่นนาน ก็เลยถ่ายภาพเป็นซีรี่ส์ดอกขลู่ไว้ เมื่อหลายเดือนก่อนพลอยโพยมขับรถไปที่วัดบางกรูด พบเห็นมีคนเช่ารถแท๊กซี่เขียวเหลืองมาเก็บต้นขลู่ เลยจอดแวะสอบถาม ผู้หญิงที่มาเก็บต้นขลู่บรรยายสรรพคุณของขลู่และตั้งใจจะเก็บต้นขลู่กลับกรุงเทพให้เต็มคันรถเพื่อให้คุ้มค่าที่มาไกล ยังแปลกใจว่าต้นขลู่มีออกดาษดื่นเหตุใดจึงมาเก็บไกลถึงวัดบางกรูด...
พลอยโพยมก็ได้ยินคนพูดถึงต้นขลู่กันมากเหมือนกัน นึกถึงสมัยเด็กๆ คุณยาย กับพ่อ นิยมยาไทยจากบรรดาต้นไม้พิ้นบ้านมาก เด็กๆ ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ก็กิน ยาไทยๆ นี่แหละ ที่ขาดไม่ได้ คือน้ำกระสายยา( เครื่องแทรกยา ส่วนใหญ่เป็นน้ำ) มีหลายชนิด เช่นเหล้า ( ส่วนใหญ่ใช้เป็นกระสายยา ทางผิวหนัง หรือแก้พิษ) น้ำแช่ดอกไม้ตากแห้ง ( หลายชนิดส่วนใหญ่เป็นมะลิ) มีที่แปลกหน่อยคือ แก่นท่อนไม้ ฝนกับฝาละมี โดยผสมน้ำนิดหน่อย กระสายยาก็จะเป็น น้ำผสมดินเผาจากฝาละมี และแก่นท่อนไม้ มีแก่นไม้ชนิดหนึ่ง คุณยายเรียกว่าไม้อีแทน เป็นแก่นไม้ยอดฮิตใช้บ่อยมากสำหรับคุณยาย พลอยโพยม หาไม่พบว่า ไม้อีแทน คือ ต้นไม้ใด...ทำให้นึกถึงคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ กรมประมง ที่บอกเสมอว่า พันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ ต้องรู้และจำชื่อภาษาอังกฤษ ถ้าใช้คำท้องถิ่นจะสับสน บางท้องถิ่น เรียกชื่อเหมือนกัน แต่กลายเป็นคนละสายพันธุ์กัน คนละชนิดกัน เถียงกันเปล่าๆ บางทีคำท้องถิ่นเอง ก็เพี้ยนไปจากเดิมที่เคยเรียกกันมา หากตอนเด็กเข้าใจเรื่องคำท้องถิ่น ก็คงได้รู้แล้ว ว่าไม้อีแทนของคุณยาย คือ ต้นอะไร...
ที่มาของข้อมูล : สารานุกรมไทย สมุนไพรสวนสิริรุกขชาติ
...ลีลาหญ้าขลู่...จากแรกเริ่มบาน จนกระทั่งเริ่มโรย...
...Photo by Amorn Tun...
วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
...หิ่งห้อย คอยฉิมพลี...
วาววาวหิ่งห้อยโบก บินบน
พราวพร่างลำพูยล ยิ่งแก้ว
แสงส่องสว่างยล ฉุนคิด คะนึงแม่
ฉุกว่าพวงเพชรแพร้ว เพริศพร้อยพรายกรรณ ฯ
วาบวาบสว่างฟ้า เฟือนดาว
แสงหิ่งห้อยแวมวาว วาบไม้
ลำพูพุ่มพฤกษพราว พรายเนตร เรียมเอย
พิศพร่างเพชรพี่ให้ ห่วงห้อยกรรณนาง ฯ
โคลงนิราศฉะเชิงเทราพระนิพนธ์: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์
หิ่งห้อยงามวามวับระยับระยิบ
เหมือนแสงทิพย์เทวามาสร้างสรรค์
กะพริบแสงกระจ่างพร่างพราวพรรณ
ค่ำคืนอันแสงงามอร่ามตา
บอกนิเวศน์อันอุดมสมบูรณ์มาก
หิ่งห้อยหลากหลายถ้วนล้วนมีค่า
แต่นับวันหิ่งห้อยลับดับชีวา
พระกรุณาคืนชีพอยู่คู่พงไพร
พระราชทานโครงการเร่งศึกษา
ทุกถิ่นท่าหิ่งห้อยพร้อมแสงใส
พระคุณพระปกเกล้าผองเผ่าไทย
คนและสัตว์สุขใต้พระบารมี
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริ และทรงสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องหิ่งห้อย จึงช่วยให้งานวิจัยหิ่งห้อยมีความก้าวหน้า และช่วยให้หิ่งห้อยได้ขยายพันธุ์ไม่สูญไปจากประเทศไทย
พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “หิ่งห้อย ชื่อแมลงปีกแข็งขนาดเล็กหรือขนาดกลางหลายชนิดในวงศ์แลมพายริดี (Lampyridae) สามารถทำแสงให้เกิดเป็นแสงกะพริบ เห็นได้ชัดในเวลากลางคืน ความถี่และช่วงของแสงนั้นแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด ลำตัวยาวเป็นรูปทรงกระบอก สันหลังปล้องอกมักจะขยายเป็นขอบออกไปคลุมหัว”
หิ่งห้อย ยังมีชื่ออื่นๆอีก ได้แก่แมงแสงหรือแมงคาเรือง ในภาคอีสาน เรียกว่า 'แมงทิ้งถ่อน' เพราะชอบมาอยู่ที่ต้นทิ้งถ่อน บางทีเรียกว่า 'หนอนกระสือ' หิ่งห้อยในโลกมีมากกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด กระจายอยู่ในทวีปเอเชียยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง พบทั้งในพื้นที่ระดับน้ำทะเลและบนภูเขา
นับแต่พุทธศักราช ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๓ คณะวิจัยตามโครงการในพระราชดำริได้สำเร็จ หิ่งห้อยใน ๔ ภาค รวม ๓๕ จังหวัดของไทย พบหิ่งห้อยรวม ๑๐ สกุล ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า ๑๐๐ ชนิด ได้แก่
๑. Diaphanes เป็นหิ่งห้อยหายาก ลำตัวยาว ๑๐-๑๕ มม. กว้าง ๓.๔ มม. ลำตัวค่อนข้างแบน พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเขตภูเขาสูงในภาคเหนือ เช่น ที่ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ พบหิ่งห้อยชนิดนี้ตัวแรกในประเทศไทย เมื่อปี ๒๔๘๑ ที่ห้วยช้าง จังหวัดแพร่
๒. Lamprigera เป็นหิ่งห้อยตัวใหญ่ที่สุด พบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ ตัวผู้มีปี ตัวเมียลักษณะคล้ายหนอน
๓. Lucidina เป็นหิ่งห้อยหายาก ขนาดตัวยาว ๑.๕ ซม. กว้าง ๐.๔ ซม. ถึงปัจจุบัน มีหิ่งห้อยสกุลนี้เพียง ๑ ตัว ที่พิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้มาจากอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๑
๔. Luciola เป็นหิ่งห้อยสกุลใหญ่ พบมากที่สุดและพบทุกภาคในประเทศไทยตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย คาดว่ามีมากกว่า ๙๐ ชนิด เพศผู้และเพศเมียเต็มวัยมีปีกบินได้ และเรืองแสง โดยปล้องผลิตแสงจะแตกต่างกันไป
๕. Pteroptyx พบทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวเต็มวัยขนาดยาว ๖-๑๐ มม.
๖. Pyrococlia พบในทุกภาค รูปร่างค่อนข้างแบน คล้ายกระดิ่งคว่ำ สีเหลืองทอง ตัวผู้บินได้ ลำตัวยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. กว้าง ๐.๔-๐.๗ ซม. เพศเมียปีกสั้น บินไม่ได้ ลำตัวยาว ๑.๘-๒.๐ ซม.
๗. Pyrophanes หิ่งห้อยขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๐.๖ ซม. กว้าง ๐.๓ ซม. พบในภาคกลางและภาคตะวันออก
๘. Rhagophthalmus ค่อนข้างหายาก พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพศเมียคล้ายตัวหนอน ทุกปล้องลำตัวเรืองแสง ตัวผู้มีปีกและไม่มีอวัยวะทำแสง
๙. Stenochadius พบที่จังหวัดขอนแก่น และที่สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เชียงใหม่ ตัวผู้มีปีก ลำตัวยาว ๕-๙ มม. ตัวเมียไม่มีปีกคล้ายหนอน ทั้งเพศผู้และเพศเมียผลิตแสงเรืองจางๆไม่เด่นชัด
๑๐. Vesta หิ่งห้อยสกุลหายาก พบบนที่สูงในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดตัวยาว ๒ ซม. กว้าง ๑.๕ ซม.
หิ่งห้อยบก มีวงจรชีวิตนานถึง ๑ ปี หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่วงจรชีวิตสั้น
ตัดย่อมาจาก http://www.sakulthai.com โดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ
หิ่งห้อยในภาคกลางบางท้องถิ่น เรียกว่า ถ่วงดับ บางแห่งรวมทั้งที่ตำบลบางกรูด เรียก ว่า ทิ้งถ่วง วงจรชีวิตของหิ่งห้อย เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก อาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้า และใต้ใบไม้ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามพื้นดินหรือที่ชื้นแฉะ หรือใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา ๔-๕ วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน เจริญเติบโตจนกระทั่งเข้าดักแด้ และออกเป็นตัวเต็มวัย หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตอยู่ ๓-๑๒เดือน แล้วแต่ชนิด โดยทั่วไปแล้ว หิ่งห้อยบกมีวงจรชีวิตนาน ถึง ๑ ปี ในขณะที่หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตสั้นกว่า ช่วงตัวอ่อน หิ่งห้อยอาศัยตามดินเลน ส่วนตัวเต็มวัย กลางวันหลบซ่อนอยู่ตามใบวัชพืชต้นเตี้ยๆ ใกล้พื้นดิน พอพลบค่ำจึงบินขึ้นไปเกาะตามต้นไม้สูงและกระพริบแสงพร้อมกัน
อาหารของหิ่งห้อย :
ระยะที่เป็นตัวหนอน หิ่งห้อยกินหอยขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งหอยหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น และหอยบางชนิดเป็นศัตรูที่สำคัญของเกษตรกร เช่น หอยเชอรี่ เป็นศัตรูสำคัญที่กัดกินต้นข้าวในระยะลงกล้าและปักดำใหม่ๆ
ตัวอ่อนของหิ่งห้อยจะทำหน้าที่เป็นตัวห้ำกัดกินหอยเชอรี่ ทั้งที่เป็นลูกหอยและโตเต็มวัย นอกจากหอยต่างๆ แล้ว พวกกิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงตัวเล็ก ก็ยังเป็นอาหารของหิ่งห้อยอีกด้วย ลักษณะอาหารมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของหิ่งห้อย ส่วนในระยะโตเต็มวัย หิ่งห้อยจะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้างเป็นอาหารเท่านั้น
การกะพริบแสงของหิ่งห้อย :
หิ่งห้อยแต่ละชนิดแตกต่างกันไป การกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีทั้งบินไปกระพริบไป เกาะทำแสงพร้อมกันบนต้นไม้ เช่น หิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนเกาะทำแสงเหมือนไฟต้นคริสต์มาส และเปิดแสงแช่เอาไว้ แล้วบินไปมาคล้ายกับผีกระสือ หิ่งห้อยยังสามารถบอกถึงฤดูกาลได้อีกด้วย จะพบเห็นหิ่งห้อยจำนวนมากบินออกมาผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณลดน้อยลงในฤดูแล้ง
หิ่งห้อยเริ่มทำแสงเมื่อพระอาทิตย์ตกดินประมาณ ๓0 นาที และสามารถเห็นแสงได้ชัดเจนในคืนข้างแรมเดือนมืด หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์ และสื่อสารกับเพศตรงข้าม โดยที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายกระพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นลีลากระพริบแสงแล้วพึงพอใจก็จะกระพริบตอบให้ตัวผู้รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะได้บินไปหาคู่ได้ถูก หิ่งห้อยรวมตัวกันเป็นฝูง ซึ่ง หิ่งห้อยแต่ละชนิดนั้นจะมีลีลาในการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การกระพริบแสงช้าเร็วต่างกัน และลีลาการเปล่งแสงของหิ่งห้อย อาจเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่หิ่งห้อยอยู่ หิ่งห้อยเพศผู้จะรู้ได้เองว่าหิ่งห้อยเพศเมียตัวใดกระพริบแสงตอบมา
หิ่งห้อยมักจะออกมาให้เห็นชัดในเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่หิ่งห้อยจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือตามพื้นที่ชุ่มน้ำใกล้หนองน้ำ หรือ ลำธารที่มีน้ำใสสะอาด และที่สำคัญตรงนั้นต้องเป็นน้ำนิ่ง ตลอดจนบริเวณป่าโกงกางชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะป่าชายเลนที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์
หิ่งห้อยที่พบเห็นบินว่อนตามพุ่มไม้ส่วนใหญ่มักเป็นตัวผู้ ส่วนหิ่งห้อยตัวเมียนั้นชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้เพื่อรอดูว่า ตัวผู้ตัวไหนที่ทำแสงได้ดีกว่าตัวอื่น และเข้าไปหาเพื่อผสมพันธุ์ มีหิ่งห้อยสายพันธุ์ ลูซิโอลา อควอติลิส (Luciola aquatilis) จะมีความพิเศษกว่าชนิดอื่นคือ ในระยะตัวหนอนจะมีรูปร่างและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ถึงสามแบบ และยังกะพริบแสงมีทั้งสีเหลือง เหลืองอำพัน และสีเขียว ขณะที่หิ่งห้อยชนิดอื่นมีรูปร่างเพียงแบบเดียวเท่านั้น
การที่หิ่งห้อยกะพริบแสงในยามค่ำคืน ก็เพื่อส่งสัญญาณ “ถ่ายทอดภาษารัก” ที่มีด้วยกันถึงสี่แบบ ขณะที่สายพันธุ์ในแถบยุโรปและอเมริกา จะกะพริบแสงเพียงแบบเดียว
สำหรับพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ แบ่งออกเป็น :
๑.ช่วงแต่งตัว โดยที่ตัวผู้ ซึ่งมีปล้องเรืองแสง ๒ ปล้อง จะทำความสะอาดร่างกาย ด้วยการกระพือปีก บิดก้นไปมาเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย
๒.พร้อมกะพริบแสงถี่เป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องเร็วและถี่มากขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจ และรอให้ หิ่งห้อยเพศเมียที่มีเพียงปล้องเดียวกะพริบตอบ
๓.เมื่อมีการกระพริบตอบ .จากนั้นจะเข้าใกล้ หิ่งห้อยเพศผู้ขี่หลังตัวเมียเพื่อจับจอง พร้อมทั้งเริ่มกะพริบแสงช้าลง ซึ่งเป็น ช่วงที่เกี้ยวพาราสี
๔.ท้ายสุดก็คือ ช่วงผสมพันธุ์ เป็นระยะที่มีการกะพริบแสงสว่างมากและ จังหวะมืดนานเพื่อเตือนภัย เพราะในช่วงผสมพันธุ์ หิ่งห้อยจะหยุดกะพริบแสง และจะกะพริบแสงขึ้นต่อเมื่อมีสิ่งภายนอกมารบกวน หรือมีหิ่งห้อยตัวผู้ตัวอื่นอยู่บริเวณใกล้เคียง
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ตัวเมียจะเริ่มบินหาผืนน้ำที่เงียบสงบ เพื่อออกไข่ครั้งละ ๔๗๐-๖๔๐ ฟอง ใช้ เวลาเพียงไม่กี่วัน จะเข้าสู่วัยที่เป็นตัวหนอน ในช่วงนี้จะอาศัยอยู่ใต้น้ำกินหอยเป็นอาหาร กระทั่งเข้าสู่ตัวหนอนระยะสุดท้ายจึงคืบคลานขึ้นบก มาเป็นระยะดักแด้ใต้พื้นดิน และเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลา ๓-๕ เดือน และกลับมาสู่วงจรชีวิตของแมลงที่สร้างมนต์เสน่ห์แห่งท้องน้ำต่อไป.
***ดังนั้นต้นไม้ต่างๆที่หิ่งห้อยพากันบินมาเกาะในเวลาค่ำคืนจึงเปรียบเสมือนดังวิมานฉิมพลีของหิ่งห้อย ไม่ว่าต้นทิ้งถ่อน ลำพู แสม โกงกาง หรืออื่นๆ แต่สำหรับที่บางกรูด จะมีแต่เพียงต้นลำพูเท่านั้นที่หิ่งห้อยหรือทิ้งถ่วง ของขาวบางกรูด บินมาเกาะ ทิ้งถ่วงที่บางกรูดจึงมีเพียงต้นลำพูเป็นวิมานฉิมพลี***
ข้อมูลจาก http://lumpoobangkrasorb.multiply.com และ http://www.arunsawat.com
พุ่มลำพู ชูดอก ออกสะพรั่ง
บานตูมตั้ง รั้งสาย พริ้งพรายสม
ชมพูขาว เย้ายวน ชวนชิดชม
น้ำค้างพรม พลันแย้ม แอร่มงาม
เส้นกระจาย ปลายฝอย ร้อยเกสร
อรชร แช่มช้อย พลอยวาบหวาม
หิ่งห้อยพราว พร่างกระพริบ วาบวิบยาม
สื่อนิยาม ถามถ้อย น้องน้อยเอย
เชิญโผผิน บินสู่ เป็นคู่สอง
จะประคอง เคียงคลอ รอเคล้าเอ๋ย
มาเถิดเจ้า เหงาไย อย่าเมินเลย
ขอชื่นเชย ชมลำพู คู่ดวงมาน
ลำพูพลิ้ว พระพาย สายสวยสด
ระทวยทด ทอดไหว ละไมหวาน
ระย้าย้อย แย้มฝอย พลอยเบ่งบาน
งามตระการ ม่านประดับ รับน้องยา
กลิ่นละมุน กรุ่นเอื้อ เจือหอมหวน
เร้ารัญจวน อย่าด่วนเห เสน่หา
ลำพูพร้อย คอยเจ้า บินเข้ามา
ดวงยิหวา แย้มยิ้ม สู่ฉิมพลี
ขอให้น้อง ปองเคียง เพียงกระพริบ
แสงวาววิบ ระยิบยับ รับคำพี่
สายสวาดิ์ สู่ขวัญ อันราตรี
ล้ำฤดี ด้วยคืน เรารื่นรมย์
จาก "วันวานของบางกรูด" โดย พลอยโพยม
ในสมัยเด็กๆมีคำทายปริศนา อะไรเอ่ย ถามกันสนุกๆว่า (แก้ไข) อะไรเอ่ย.... ตัวน้อยน้อย บ่ มีพิษ แข่งฤทธิ์กับพระจันทร์ ต้องแสงพระอาทิตย์ ก้นบิดไปทั้งวัน เด็กๆ ไม่เข้าใจ ธรรมชาติของหิ่งห้อย คิดว่า หิ่งห้อยส่องแสงแข่งกับพระจันทร์นั่นเอง
ในคืนเดือนหงายต้นลำพูไม่ดูงดงามเหมือนยามคืนข้างแรมด้วยประกายแวมวาววับวิบกระพริบแสงของทิ้งถ่วง....ดวงมณีแห่งลำพู มีข้อมูลเล่าว่า แสงจากหิ่งห้อยสามารถใช้เป็นตะเกียงให้แสงสว่างได้ ในอดีตคนจีนโบราณและคนบราซิลที่ยากจนมักจะจับหิ่งห้อยใส่ในขวดแก้วเพื่อใช้เป็นตะเกียง พบว่าหิ่งห้อยที่โตเต็มที่ประมาณ ๖ ตัว สามารถให้แสงสว่างที่เพียงพอเหมาะสำหรับการอ่านหนังสือในเวลากลางคืนได้ อีกทั้งคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนก็นิยมใช้ตะเกียงหิ่งห้อยเช่นเดียวกัน ความพิเศษในตัวของหิ่งห้อยก็นำเภทภัยมาสู่ตัวเอง ฉะนี้ นั่นเอง...