วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

...หิ่งห้อย คอยฉิมพลี...




หิ่งห้อย แมลงมหัศจรรย์

วาววาวหิ่งห้อยโบก บินบน
พราวพร่างลำพูยล ยิ่งแก้ว
แสงส่องสว่างยล ฉุนคิด คะนึงแม่
ฉุกว่าพวงเพชรแพร้ว เพริศพร้อยพรายกรรณ ฯ

วาบวาบสว่างฟ้า เฟือนดาว
แสงหิ่งห้อยแวมวาว วาบไม้
ลำพูพุ่มพฤกษพราว พรายเนตร เรียมเอย
พิศพร่างเพชรพี่ให้ ห่วงห้อยกรรณนาง ฯ


โคลงนิราศฉะเชิงเทราพระนิพนธ์: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์



หิ่งห้อยงามวามวับระยับระยิบ
เหมือนแสงทิพย์เทวามาสร้างสรรค์
กะพริบแสงกระจ่างพร่างพราวพรรณ
ค่ำคืนอันแสงงามอร่ามตา

บอกนิเวศน์อันอุดมสมบูรณ์มาก
หิ่งห้อยหลากหลายถ้วนล้วนมีค่า
แต่นับวันหิ่งห้อยลับดับชีวา
พระกรุณาคืนชีพอยู่คู่พงไพร

พระราชทานโครงการเร่งศึกษา
ทุกถิ่นท่าหิ่งห้อยพร้อมแสงใส
พระคุณพระปกเกล้าผองเผ่าไทย
คนและสัตว์สุขใต้พระบารมี


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริ และทรงสนับสนุนโครงการวิจัยเรื่องหิ่งห้อย จึงช่วยให้งานวิจัยหิ่งห้อยมีความก้าวหน้า และช่วยให้หิ่งห้อยได้ขยายพันธุ์ไม่สูญไปจากประเทศไทย

พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า “หิ่งห้อย ชื่อแมลงปีกแข็งขนาดเล็กหรือขนาดกลางหลายชนิดในวงศ์แลมพายริดี (Lampyridae) สามารถทำแสงให้เกิดเป็นแสงกะพริบ เห็นได้ชัดในเวลากลางคืน ความถี่และช่วงของแสงนั้นแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด ลำตัวยาวเป็นรูปทรงกระบอก สันหลังปล้องอกมักจะขยายเป็นขอบออกไปคลุมหัว”

หิ่งห้อย ยังมีชื่ออื่นๆอีก ได้แก่แมงแสงหรือแมงคาเรือง ในภาคอีสาน เรียกว่า 'แมงทิ้งถ่อน' เพราะชอบมาอยู่ที่ต้นทิ้งถ่อน บางทีเรียกว่า 'หนอนกระสือ' หิ่งห้อยในโลกมีมากกว่า ๒,๐๐๐ ชนิด กระจายอยู่ในทวีปเอเชียยุโรป ออสเตรเลีย อเมริกาเหนือและอเมริกากลาง พบทั้งในพื้นที่ระดับน้ำทะเลและบนภูเขา


นับแต่พุทธศักราช ๒๕๔๐ ถึง ๒๕๔๓ คณะวิจัยตามโครงการในพระราชดำริได้สำเร็จ หิ่งห้อยใน ๔ ภาค รวม ๓๕ จังหวัดของไทย พบหิ่งห้อยรวม ๑๐ สกุล ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า ๑๐๐ ชนิด ได้แก่

๑. Diaphanes เป็นหิ่งห้อยหายาก ลำตัวยาว ๑๐-๑๕ มม. กว้าง ๓.๔ มม. ลำตัวค่อนข้างแบน พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเขตภูเขาสูงในภาคเหนือ เช่น ที่ดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ พบหิ่งห้อยชนิดนี้ตัวแรกในประเทศไทย เมื่อปี ๒๔๘๑ ที่ห้วยช้าง จังหวัดแพร่

๒. Lamprigera เป็นหิ่งห้อยตัวใหญ่ที่สุด พบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคใต้ ตัวผู้มีปี ตัวเมียลักษณะคล้ายหนอน

๓. Lucidina เป็นหิ่งห้อยหายาก ขนาดตัวยาว ๑.๕ ซม. กว้าง ๐.๔ ซม. ถึงปัจจุบัน มีหิ่งห้อยสกุลนี้เพียง ๑ ตัว ที่พิพิธภัณฑ์แมลง กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้มาจากอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๑

๔. Luciola เป็นหิ่งห้อยสกุลใหญ่ พบมากที่สุดและพบทุกภาคในประเทศไทยตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย คาดว่ามีมากกว่า ๙๐ ชนิด เพศผู้และเพศเมียเต็มวัยมีปีกบินได้ และเรืองแสง โดยปล้องผลิตแสงจะแตกต่างกันไป

๕. Pteroptyx พบทั้งในภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตัวเต็มวัยขนาดยาว ๖-๑๐ มม.

๖. Pyrococlia พบในทุกภาค รูปร่างค่อนข้างแบน คล้ายกระดิ่งคว่ำ สีเหลืองทอง ตัวผู้บินได้ ลำตัวยาว ๑.๓-๑.๗ ซม. กว้าง ๐.๔-๐.๗ ซม. เพศเมียปีกสั้น บินไม่ได้ ลำตัวยาว ๑.๘-๒.๐ ซม.

๗. Pyrophanes หิ่งห้อยขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๐.๖ ซม. กว้าง ๐.๓ ซม. พบในภาคกลางและภาคตะวันออก

๘. Rhagophthalmus ค่อนข้างหายาก พบในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพศเมียคล้ายตัวหนอน ทุกปล้องลำตัวเรืองแสง ตัวผู้มีปีกและไม่มีอวัยวะทำแสง

๙. Stenochadius พบที่จังหวัดขอนแก่น และที่สวนพฤกษศาสตร์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่เชียงใหม่ ตัวผู้มีปีก ลำตัวยาว ๕-๙ มม. ตัวเมียไม่มีปีกคล้ายหนอน ทั้งเพศผู้และเพศเมียผลิตแสงเรืองจางๆไม่เด่นชัด

๑๐. Vesta หิ่งห้อยสกุลหายาก พบบนที่สูงในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาดตัวยาว ๒ ซม. กว้าง ๑.๕ ซม.
หิ่งห้อยบก มีวงจรชีวิตนานถึง ๑ ปี หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่วงจรชีวิตสั้น

ตัดย่อมาจาก http://www.sakulthai.com โดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ






หิ่งห้อยในภาคกลางบางท้องถิ่น เรียกว่า ถ่วงดับ บางแห่งรวมทั้งที่ตำบลบางกรูด เรียก ว่า ทิ้งถ่วง วงจรชีวิตของหิ่งห้อย เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก อาศัยเกาะอยู่ตามกอหญ้า และใต้ใบไม้ เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่ฟองเดี่ยวตามพื้นดินหรือที่ชื้นแฉะ หรือใบพืชน้ำ ไข่ใช้เวลา ๔-๕ วัน จึงฟักเป็นตัวหนอน เจริญเติบโตจนกระทั่งเข้าดักแด้ และออกเป็นตัวเต็มวัย หิ่งห้อยมีวงจรชีวิตอยู่ ๓-๑๒เดือน แล้วแต่ชนิด โดยทั่วไปแล้ว หิ่งห้อยบกมีวงจรชีวิตนาน ถึง ๑ ปี ในขณะที่หิ่งห้อยน้ำส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตสั้นกว่า ช่วงตัวอ่อน หิ่งห้อยอาศัยตามดินเลน ส่วนตัวเต็มวัย กลางวันหลบซ่อนอยู่ตามใบวัชพืชต้นเตี้ยๆ ใกล้พื้นดิน พอพลบค่ำจึงบินขึ้นไปเกาะตามต้นไม้สูงและกระพริบแสงพร้อมกัน


อาหารของหิ่งห้อย :

ระยะที่เป็นตัวหนอน หิ่งห้อยกินหอยขนาดเล็กเป็นอาหาร ซึ่งหอยหลายชนิดเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ เช่น โรคพยาธิใบไม้ในลำไส้ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น และหอยบางชนิดเป็นศัตรูที่สำคัญของเกษตรกร เช่น หอยเชอรี่ เป็นศัตรูสำคัญที่กัดกินต้นข้าวในระยะลงกล้าและปักดำใหม่ๆ

ตัวอ่อนของหิ่งห้อยจะทำหน้าที่เป็นตัวห้ำกัดกินหอยเชอรี่ ทั้งที่เป็นลูกหอยและโตเต็มวัย นอกจากหอยต่างๆ แล้ว พวกกิ้งกือ ไส้เดือน และแมลงตัวเล็ก ก็ยังเป็นอาหารของหิ่งห้อยอีกด้วย ลักษณะอาหารมีความแตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของหิ่งห้อย ส่วนในระยะโตเต็มวัย หิ่งห้อยจะอาศัยกินเฉพาะน้ำค้างเป็นอาหารเท่านั้น


การกะพริบแสงของหิ่งห้อย :

หิ่งห้อยแต่ละชนิดแตกต่างกันไป การกระพริบแสงของหิ่งห้อยมีทั้งบินไปกระพริบไป เกาะทำแสงพร้อมกันบนต้นไม้ เช่น หิ่งห้อยที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนเกาะทำแสงเหมือนไฟต้นคริสต์มาส และเปิดแสงแช่เอาไว้ แล้วบินไปมาคล้ายกับผีกระสือ หิ่งห้อยยังสามารถบอกถึงฤดูกาลได้อีกด้วย จะพบเห็นหิ่งห้อยจำนวนมากบินออกมาผสมพันธุ์กันในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณลดน้อยลงในฤดูแล้ง

หิ่งห้อยเริ่มทำแสงเมื่อพระอาทิตย์ตกดินประมาณ ๓0 นาที และสามารถเห็นแสงได้ชัดเจนในคืนข้างแรมเดือนมืด หิ่งห้อยกระพริบแสงเพื่อการผสมพันธุ์ และสื่อสารกับเพศตรงข้าม โดยที่ตัวผู้จะเป็นฝ่ายกระพริบแสงก่อน หากตัวเมียเห็นลีลากระพริบแสงแล้วพึงพอใจก็จะกระพริบตอบให้ตัวผู้รู้ว่าอยู่ที่ไหน จะได้บินไปหาคู่ได้ถูก หิ่งห้อยรวมตัวกันเป็นฝูง ซึ่ง หิ่งห้อยแต่ละชนิดนั้นจะมีลีลาในการกระพริบแสงที่แตกต่างกัน อาทิเช่น การกระพริบแสงช้าเร็วต่างกัน และลีลาการเปล่งแสงของหิ่งห้อย อาจเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่หิ่งห้อยอยู่ หิ่งห้อยเพศผู้จะรู้ได้เองว่าหิ่งห้อยเพศเมียตัวใดกระพริบแสงตอบมา

หิ่งห้อยมักจะออกมาให้เห็นชัดในเวลากลางคืน และหลบซ่อนตัวในเวลากลางวัน ส่วนใหญ่หิ่งห้อยจะอาศัยอยู่ตามพุ่มไม้ หรือตามพื้นที่ชุ่มน้ำใกล้หนองน้ำ หรือ ลำธารที่มีน้ำใสสะอาด และที่สำคัญตรงนั้นต้องเป็นน้ำนิ่ง ตลอดจนบริเวณป่าโกงกางชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะป่าชายเลนที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์

หิ่งห้อยที่พบเห็นบินว่อนตามพุ่มไม้ส่วนใหญ่มักเป็นตัวผู้ ส่วนหิ่งห้อยตัวเมียนั้นชอบเกาะนิ่งตามกิ่งไม้เพื่อรอดูว่า ตัวผู้ตัวไหนที่ทำแสงได้ดีกว่าตัวอื่น และเข้าไปหาเพื่อผสมพันธุ์ มีหิ่งห้อยสายพันธุ์ ลูซิโอลา อควอติลิส (Luciola aquatilis) จะมีความพิเศษกว่าชนิดอื่นคือ ในระยะตัวหนอนจะมีรูปร่างและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ถึงสามแบบ และยังกะพริบแสงมีทั้งสีเหลือง เหลืองอำพัน และสีเขียว ขณะที่หิ่งห้อยชนิดอื่นมีรูปร่างเพียงแบบเดียวเท่านั้น

การที่หิ่งห้อยกะพริบแสงในยามค่ำคืน ก็เพื่อส่งสัญญาณ “ถ่ายทอดภาษารัก” ที่มีด้วยกันถึงสี่แบบ ขณะที่สายพันธุ์ในแถบยุโรปและอเมริกา จะกะพริบแสงเพียงแบบเดียว



สำหรับพฤติกรรมการจับคู่ผสมพันธุ์ แบ่งออกเป็น :

๑.ช่วงแต่งตัว โดยที่ตัวผู้ ซึ่งมีปล้องเรืองแสง ๒ ปล้อง จะทำความสะอาดร่างกาย ด้วยการกระพือปีก บิดก้นไปมาเพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกาย
๒.พร้อมกะพริบแสงถี่เป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องเร็วและถี่มากขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจ และรอให้ หิ่งห้อยเพศเมียที่มีเพียงปล้องเดียวกะพริบตอบ

๓.เมื่อมีการกระพริบตอบ .จากนั้นจะเข้าใกล้ หิ่งห้อยเพศผู้ขี่หลังตัวเมียเพื่อจับจอง พร้อมทั้งเริ่มกะพริบแสงช้าลง ซึ่งเป็น ช่วงที่เกี้ยวพาราสี

๔.ท้ายสุดก็คือ ช่วงผสมพันธุ์ เป็นระยะที่มีการกะพริบแสงสว่างมากและ จังหวะมืดนานเพื่อเตือนภัย เพราะในช่วงผสมพันธุ์ หิ่งห้อยจะหยุดกะพริบแสง และจะกะพริบแสงขึ้นต่อเมื่อมีสิ่งภายนอกมารบกวน หรือมีหิ่งห้อยตัวผู้ตัวอื่นอยู่บริเวณใกล้เคียง

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจ ตัวเมียจะเริ่มบินหาผืนน้ำที่เงียบสงบ เพื่อออกไข่ครั้งละ ๔๗๐-๖๔๐ ฟอง ใช้ เวลาเพียงไม่กี่วัน จะเข้าสู่วัยที่เป็นตัวหนอน ในช่วงนี้จะอาศัยอยู่ใต้น้ำกินหอยเป็นอาหาร กระทั่งเข้าสู่ตัวหนอนระยะสุดท้ายจึงคืบคลานขึ้นบก มาเป็นระยะดักแด้ใต้พื้นดิน และเจริญเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งทั้งหมดจะใช้เวลา ๓-๕ เดือน และกลับมาสู่วงจรชีวิตของแมลงที่สร้างมนต์เสน่ห์แห่งท้องน้ำต่อไป.

***ดังนั้นต้นไม้ต่างๆที่หิ่งห้อยพากันบินมาเกาะในเวลาค่ำคืนจึงเปรียบเสมือนดังวิมานฉิมพลีของหิ่งห้อย ไม่ว่าต้นทิ้งถ่อน ลำพู แสม โกงกาง หรืออื่นๆ แต่สำหรับที่บางกรูด จะมีแต่เพียงต้นลำพูเท่านั้นที่หิ่งห้อยหรือทิ้งถ่วง ของขาวบางกรูด บินมาเกาะ ทิ้งถ่วงที่บางกรูดจึงมีเพียงต้นลำพูเป็นวิมานฉิมพลี***


ข้อมูลจาก http://lumpoobangkrasorb.multiply.com และ http://www.arunsawat.com






พุ่มลำพู ชูดอก ออกสะพรั่ง
บานตูมตั้ง รั้งสาย พริ้งพรายสม
ชมพูขาว เย้ายวน ชวนชิดชม
น้ำค้างพรม พลันแย้ม แอร่มงาม

เส้นกระจาย ปลายฝอย ร้อยเกสร
อรชร แช่มช้อย พลอยวาบหวาม
หิ่งห้อยพราว พร่างกระพริบ วาบวิบยาม
สื่อนิยาม ถามถ้อย น้องน้อยเอย

เชิญโผผิน บินสู่ เป็นคู่สอง
จะประคอง เคียงคลอ รอเคล้าเอ๋ย
มาเถิดเจ้า เหงาไย อย่าเมินเลย
ขอชื่นเชย ชมลำพู คู่ดวงมาน

ลำพูพลิ้ว พระพาย สายสวยสด
ระทวยทด ทอดไหว ละไมหวาน
ระย้าย้อย แย้มฝอย พลอยเบ่งบาน
งามตระการ ม่านประดับ รับน้องยา

กลิ่นละมุน กรุ่นเอื้อ เจือหอมหวน
เร้ารัญจวน อย่าด่วนเห เสน่หา
ลำพูพร้อย คอยเจ้า บินเข้ามา
ดวงยิหวา แย้มยิ้ม สู่ฉิมพลี

ขอให้น้อง ปองเคียง เพียงกระพริบ
แสงวาววิบ ระยิบยับ รับคำพี่
สายสวาดิ์ สู่ขวัญ อันราตรี
ล้ำฤดี ด้วยคืน เรารื่นรมย์


จาก "วันวานของบางกรูด" โดย พลอยโพยม





ในสมัยเด็กๆมีคำทายปริศนา อะไรเอ่ย ถามกันสนุกๆว่า (แก้ไข) อะไรเอ่ย.... ตัวน้อยน้อย บ่ มีพิษ แข่งฤทธิ์กับพระจันทร์ ต้องแสงพระอาทิตย์ ก้นบิดไปทั้งวัน เด็กๆ ไม่เข้าใจ ธรรมชาติของหิ่งห้อย คิดว่า หิ่งห้อยส่องแสงแข่งกับพระจันทร์นั่นเอง

ในคืนเดือนหงายต้นลำพูไม่ดูงดงามเหมือนยามคืนข้างแรมด้วยประกายแวมวาววับวิบกระพริบแสงของทิ้งถ่วง....ดวงมณีแห่งลำพู มีข้อมูลเล่าว่า แสงจากหิ่งห้อยสามารถใช้เป็นตะเกียงให้แสงสว่างได้ ในอดีตคนจีนโบราณและคนบราซิลที่ยากจนมักจะจับหิ่งห้อยใส่ในขวดแก้วเพื่อใช้เป็นตะเกียง พบว่าหิ่งห้อยที่โตเต็มที่ประมาณ ๖ ตัว สามารถให้แสงสว่างที่เพียงพอเหมาะสำหรับการอ่านหนังสือในเวลากลางคืนได้ อีกทั้งคนญี่ปุ่นในสมัยก่อนก็นิยมใช้ตะเกียงหิ่งห้อยเช่นเดียวกัน ความพิเศษในตัวของหิ่งห้อยก็นำเภทภัยมาสู่ตัวเอง ฉะนี้ นั่นเอง...



...ลีลา ลำพู (Photo by Amorn Tun)...











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น