วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากพระสูตร... ขอนไม้

เรื่องเล่าจากพระสูตร



คำสอนของพระบรมศาสดาที่ทรงสอนภิกษุทั้งหลายในการประพฤติพรหมจรรย์ไว้ในทารุกขันโธปมสูตร ที่ทรงยกเอาขอนไม้ที่ลอยอยู่ในแม่น้ำมาเป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรมะ จึงอยากจะยกมาเป็นเครื่องเตือนสติตนเองและผู้ปฏิบัติธรรมให้ได้รู้เท่าทันอารมณ์ของจิตจะได้รอดพ้นจากภัย ถึงจุดหมายปลายทางดังที่ปรารถนาและเป็นการศึกษาพุทธพจน์ไปด้วย โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า...

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำ คงคา เขตกรุงโกสัมพีได้ทอดพระเนตรเห็นขอนไม้ใหญ่ลอยมาตามกระแสแม่น้ำ คงคา จึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า



“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นขอนไม้ใหญ่โน้นที่ลอยมาตามกระแสแม่น้ำ คงคาหรือไม่” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า “เห็น พระพุทธเจ้าข้า” พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสถึงปัญหาและอุปสรรคที่จะทำ ให้ขอนไม้ล่องลอยไปไม่ถึงจุดหมายคือมหาสมุทรว่า

“ถ้าขอนไม้จะไม่ลอยเข้ามาใกล้ฝั่งนี้ ไม่ลอยเข้าไปใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมกลางแม่นำ ไม่เกยตื้น ไม่ถูกมนุษย์นำไป ไม่ถูกอมนุษย์นำ ไป ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ ไม่ผุภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้ขอนไม้นั้นก็จักลอยไปสู่สมุทรได้ ไหลไปสู่สมุทรได้ เลื่อนไปสู่สมุทรได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

ก็เพราะกระแสแม่น้ำคงคาลุ่มไปสู่สมุทร ลาดไปสู่สมุทร ไหลไปสู่สมุทร ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าแม้เธอทั้งหลายจะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้ ไม่เข้าไปใกล้ฝั่งโน้น ไม่จมในท่ามกลาง ไม่เกยตื้น ไม่ถูกมนุษย์จับไว้ ไม่ถูกอมนุษย์เข้าสิง ไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ ไม่เป็นผู้เน่าภายใน เมื่อเป็นเช่นนี้เธอทั้งหลายก็จักน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพานโอนไปสู่นิพพาน”



เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรชื่อว่าฝั่งนี้ อะไรชื่อว่าฝั่งโน้น อะไรชื่อว่าการจมในท่ามกลาง อะไรชื่อว่าการเกยตื้น การถูกมนุษย์จับไว้เป็นอย่างไร การถูกอมนุษย์เข้าสิงเป็นอย่างไร การถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้เป็นอย่างไร ความเน่าภายในเป็นอย่างไร” ดังนี้

พระผู้มีพระภาคจึงได้อธิบายขยายความข้ออุปมาอุปมัยดังต่อไปนี้ว่า
คำ ว่า “ฝั่งนี้” หมายถึง อายตนะภายใน
๖ ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


คำว่า “ฝั่งโน้น” หมายถึง อายตนะภายนอก ๖ ประการ คือ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์


คำว่า “การจมในท่ามกลาง” หมายถึงนันทิราคะ เป็นชื่อของกิเลสที่มีความยินดี หรือความกำ หนัดด้วยอำนาจความยินดี

คำ ว่า “การเกยตื้น” หมายถึง การถือตัวด้วยอำนาจมานะ เป็นหนึ่งในเครื่องผูกคือสังโยชน์เบื้องสูง ที่เรียกว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ มานะ หมายถึงความถือตัว ถือตน ทนงตนความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ จึงย่อมก่อให้เกิดการปรุงแต่งกิเลสต่างๆนานา ซึ่งไม่ใช่ มานะตามความหมายในภาษาไทยที่หมายถึง ความพยายาม ความตั้งใจแต่อย่างใด
มานะ ๓ คือ
๑) ความถือตัวว่าเสมอเขา
๒) ความถือตัวว่าเลวกว่าเขา
๓) ความถือตัวว่าดีกว่าเขา มานะทั้ง ๓ นี้ควรละ



คำว่า “การถูกมนุษย์จับไว้” หมายถึง ภิกษุในธรรมวินัยนี้อยู่คลุกคลี เพลิดเพลิน เศร้าโศก กับพวกคฤหัสถ์ เมื่อเขาสุขก็สุขด้วย เมื่อ เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย เมื่อเขามีกิจที่ควรทำ เกิดขึ้นก็ช่วยทำกิจนั้นด้วยตนเอง นี้เรียกว่า การถูกมนุษย์จับไว้

คำว่า “การถูกอมนุษย์เข้าสิง” หมายถึง ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ประพฤติพรหมจรรย์ปรารถนาหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่งว่า ‘ด้วยศีล ด้วยวัตร ด้วยตบะ หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ เราจักเป็นเทวดาหรือเทพเจ้าตนใดตนหนึ่ง’ นี้เรียกว่า การถูกอมนุษย์เข้าสิง

คำว่า “การถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้” หมายถึง ถูกกามคุณ ๕ ประการดึงดูดให้จมปลักอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและอารมณ์อันน่าหลงใหล

คำว่า“ความเน่าภายใน” หมายถึง ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้เป็นคนทุศีล คือไม่มีศีล มีธรรมเลวทราม ไม่สะอาด หมายถึง กายกรรม วจีกรรมและมโนกรรมไม่สะอาด มีความประพฤติที่น่ารังเกียจ มีการงานปกปิด ไม่ใช่สมณะแต่ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่รหมจารีแต่ปฏิญาณว่าเป็นพรหมจารี หมายถึงตนเองไม่มีศีล หมดสภาพความเป็นภิกษุแล้ว แต่ยังเรียกตนว่า“เป็นภิกษุ” แล้วร่วมอยู่ร่วมฉันกับภิกษุอื่นผู้มีศีล ยังใช้สิทธิ์ถือเอาลาภที่เกิดขึ้นในสงฆ์แต่ภายในชุ่มด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ อันหมายถึงกิเลสมีราคะเป็นต้น นี้เรียกว่า ความเน่าภายใน



เมื่อตรัสเรื่องนี้จบลง ขณะนั้นนายนันทโคบาล คือคนเลี้ยงโค ได้ยืนอยู่ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้ จักไม่เข้าไปใกล้ฝั่งโน้น จักไม่จมในท่ามกลาง จักไม่เกยตื้น จักไม่ถูกมนุษย์จับไว้ จักไม่ถูกอมนุษย์เข้าสิง จักไม่ถูกเกลียวน้ำวนดูดไว้ จักไม่เป็นผู้เน่าภายใน ข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
“นันทะ ถ้าอย่างนั้นเธอจงมอบโคให้เจ้าของเขาเถิด”


นายนันทโคบาลได้มอบโคให้แก่เจ้าของแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาค หลังจากท่านอุปสมบทได้ไม่นานก็หลีกออกไปอยู่คนเดียว ท่านได้เป็นพระอรหันต์องค์ หนึ่งในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย



บทความจาก “อาสภาสาส์น” วารสารรายสี่เดือน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๒๓ ประจำเดือน กันยายน -ธันวาคม ๒๕๕๓ สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดภัททันตะอาสภาราม
ขอขอบคุณภาพจาก อินเทอร์เนท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น