วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ท่านปรมาจารย์ อาชิน ชะนะกาภิวังสะ พระอาจารย์เชมเย สยาดอ

ชีวประวัติโดยย่อของท่านปรมาจารย์ อาชิน ชะนะกาภิวังสะเจ้าสำนักวิปัสสนากรรมฐาน เชมเย เยกต้า นครย่างกุ้ง ประเทศพม่า



ชื่อ/ฉายา :พระอาจารย์ เชมเย สยาดอ

ประวัติ :

ท่านอาจารย์ อาชิน ชะนะกะ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 ณ หมู่บ้าน พยินมา จังหวัดตองทวิงยิ ประเทศพม่า ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คนของ อู ฟยู มิน (บิดา) และ ดอว์ ชเว ยี (มารดา) บิดามารดาของท่านอาจารย์เป็นกสิกรเจ้าของผืนนากว้างใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์



จากวัยเยาว์สู่ร่มกาสาวพัสตร์
ในวัยเยาว์ ท่านสนุกสนานอย่างอิสระอยู่ในไร่นา และช่วยบิดามารดาในกิจกรรมที่เด็กพึงจะทำได้ ท่ามกลางธรรมชาติของผืนนานี่เองที่ท่านได้เริ่มเรียนรู้กฏเกณฑ์แห่งธรรมชาติที่ผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ประสบการณ์ที่ เด็ก ๆในไร่นาเท่านั้นจะได้สัมผัส บิดาของท่านขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ที่มีศรัทธายิ่งในพระพุทธศาสนา ได้ดูแลสั่งสอนบุตรธิดาอย่างเหมาะสม มิได้เข้มงวดจนเกินไป แต่ก็หาได้หย่อนยานในการอบรมไม่ ส่วนมารดาของท่านก็เป็นสตรีผู้มีความอ่อนโยน เอื้ออารีต่อทุกคนโดยรอบอยู่เป็นนิจ

เมื่อถึงวัยเข้าเรียน ท่านอาจารย์เริ่มต้นชีวิตการศึกษาที่โรงเรียนปฐมศึกษา ปยินมา ซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ จากนั้นก็มาต่อการศึกษาชั้นกลางที่โรงเรียน วัดเตายา เพียกมัน จนกระทั่งอายุได้ 15 ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรภายใต้การอบรมสั่งสอนของพระเดชพระคุณ อู มาละวังสะ เจ้าอาวาส วัดเตายา เพียกมัน ผู้มอบฉายาทางธรรมให้ท่านว่า ชิน ชะนะกะ



แม้จะเป็นเพียงสามเณร แต่ท่านก็มีความสนใจใคร่รู้ในธรรมะอย่างมาก ท่านอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการศึกษาคัมภีร์พระบาลี(ไตรปิฏก)อย่างลึกซึ้ง และยังได้ศึกษาคัมภีร์อังคุตตรนิกาย(ภาษิตสั้นๆ)ด้วยตนเองอีกด้วย จากความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาทำให้ความรู้ของท่านแตกฉานยิ่งในแง่มุมต่างๆของธรรมะในพระไตรปิฎก จนกระทั่งครูบาอาจารย์ของท่านมอบหมายให้ท่านสอนนักเรียนอื่นๆด้วย แม้ว่าท่านจะยังเป็นเพียงสามเณรอยู่ก็ตาม

สามเณร ชิน ชะนะกะ อุปสมบทเป็นพระภิกษุ อาชิน ชะนะกะ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2490 โดยมีพระเดชพระคุณ อาจารย์ อู ปทุมะ แห่งวัดเตายาเพียกมัน เป็นพระอุปัชฌาย์



การศึกษาที่สำคัญ
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่าน อาชิน ชะนะกะ ก็ได้ทุ่มเทศึกษาพระบาลีขั้นสูงต่อ โดยได้รับการสั่งสอนจากท่านอาจารย์สำคัญ ๆ ผู้มีชื่อเสียงหลายท่านด้วยกัน อาทิ
ท่านอาจารย์ สิ-ชิน แห่งมหาวิสุทธาราม มหาวิทยาลัยสงฆ์ฝั่งตะวันตกของมัณฑเลย์
ท่านอาจารย์ อู ชาเนยยพุทธิ
ท่านอาจารย์ อู สุวัณณโชติ แห่งอโสการาม
ท่านอาจารย์ อู อานันทปัณฑิตา จาก พาราณสี
ท่านอาจารย์ อู วาสวะ จาก ถันเดาสินทะ


เพียงศึกษาต่อมาไม่นาน ท่านก็สอบผ่านหลักสูตรต่าง ๆ อย่างง่ายดายโดยลำดับ ตั้งแต่หลักสูตรการศึกษาชั้นต้น (ปฐมแง) การศึกษาชั้นสูง(ปฐมจยี) และ หลักสูตรของสมาคมสักยสีหะ (พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 ด้วยวัยเพียง 24 ปี .

ท่านได้สอบผ่านการคัดเลือกเข้าเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบาลี(ซึ่งรัฐบาลรับรอง) ด้วยคะแนนยอดเยี่ยมถึง 5 วิชา และในกลางปีนั้นเอง ท่านได้เข้าเป็นอาจารย์บรรยายที่มหาวิทยาลัย มหาวิสุทธาราม ย่างเข้าวัยเพียง 27 ปี ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นขั้น ภิวังสะ(ภิวงศ์) โดย Pariyatti Sasana Hita Association of Mandalay สมณศักดิ์นี้จะมอบเป็นเกียรติเฉพาะพระภิกษุที่มีความรู้แตกฉานและมีความเชี่ยวชาญสูงยิ่งในพระไตรปิฎก อรรถกถา และ ฎีกาเท่านั้น

ผู้คนจึงเรียกขานท่านว่า อาชิน ชะนะกาภิวังสะ( ชะนะกาภิวงศ์) นับแต่นั้นมา
ท่านได้รับมอบหมายให้มีส่วนช่วยเหลือพุทธสมาคม ถึง 6 แห่ง ในการตรวจทานบาลีปกรณ์ หลังจากนั้นจึงได้เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับพระอาจารย์ อู ธัมมานันทะ จากมเยือง-มยา



ปี พ.ศ. 2500 ท่านเดินทางไปศึกษาต่อด้านภาษาอังกฤษ ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และภาษาสิงหล ที่วัดมหาวิสุทธารามกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เป็นเวลาเกือบ 6 ปี

ระหว่างนั้น ท่านได้สอบผ่านหลักสูตร London GCE ระดับ A ด้วย ที่กรุงโคลัมโบ มหาวิทยาลัยวิทโยทยะ สถาบันการศาสนาซึ่งอุปถัมภ์โดยรัฐบาลศรีลังกาได้เสนอให้ท่านเป็นผู้บรรยายอภิธรรมในการสอนทางไปรษณีย์ แต่เนื่องจากล้มป่วยลง ท่านจึงจำต้องปฏิเสธ





ศึกษากับ ปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐาน มหาสี สยาดอ
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ท่านจะได้ศึกษาและฝึกฝนการปฏิบัติสมถกรรมฐานมาบ้างแล้ว แต่ในปีพ.ศ. 2496 ขณะที่ท่านอายุได้ 25 ปี ท่านได้มีโอกาสพบกับปรมาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านมหาสี สยาดอ และได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างเข้มข้นที่สำนักวิปัสสนากรรมฐาน มหาสี สาสนะ เยกต้า นครย่างกุ้ง ภายใต้การอบรมดูแลของท่านอาจารย์ใหญ่ พระเดชพระคุณ มหาสี สยาดอ เป็นเวลาติดต่อกันนานถึง 4 เดือน

และในกาลต่อมา ท่านคือหนึ่งใน 5 ศิษย์เอกของท่านปรมาจารย์ มหาสี สยาดอ ท่านได้ทำหน้าที่ผู้ช่วยในการจัดพิมพ์หนังสือของท่านมหาสี สยาดอ หลายเล่มด้วยกัน
ในปี พ.ศ. 2510 เมื่ออายุได้ 39 ปี ท่านเข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนกรรมฐาน(นายะกะ สยาดอ) ที่สำนัก มหาสี สาสนะ เยกต้า โดยการถ่ายทอดความรู้จากท่านปรมาจารย์ มหาสี สยาดอ ผู้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้ช่วยทำหน้าที่ทั้งด้านปริยัติ และปฏิบัติ

ในขณะนั้น นิตยสาร World Buddhism ซึ่งตีพิมพ์ที่กรุงโคลัมโบ ได้ลงบทความวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติกรรมฐานในแนวของท่านมหาสี สยาดอ ว่าไม่เป็นไปตามพระคัมภีร์ ทั้งยังได้ท้าทายให้มีการพิสูจน์ความถูกต้องอีกด้วย ท่าน อาชิน ชะนะกาภิวังสะ จึงได้เขียนบทความโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น และได้โน้มน้าวให้ผู้อ่านพิสูจน์สัจจธรรม นิตยสาร World Buddhism ได้นำลงบทความโต้ตอบของท่านอย่างต่อเนื่องนานถึง 15 เดือน



ประสบการณ์การปฏิบัติธรรมในแนวมหาสีของท่านเองมีส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้บทความโต้ตอบของท่านมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และได้ช่วยสลายความลังเลสงสัยที่เคยมีอยู่จนหมดสิ้น
ความสนใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวมหาสีได้แพร่หลายกว้างขวางออกไป ไม่เพียงชาวพม่าเท่านั้นที่ให้ความสนใจ หากแต่มีชาวพุทธในเอเซียและซีกโลกตะวันตกเริ่มทยอยหลั่งไหลเข้ามาสู่สำนักวิปัสสนา มหาสี สาสนะ เยกต้า เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนที่ท่านปรมาจารย์ มหาสี สยาดอ จะละสังขารไม่นานนัก ท่านอาจารย์ใหญ่ได้รับเชิญให้จาริกเผยแพร่พระพุทธศาสนาและแนวการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของท่านในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในช่วงปีพ.ศ. 2522-2523 ท่านได้เลือกให้ อาชิน ชะนะกาภิวังสะ ร่วมเดินทางกับคณะธรรมฑูตของท่านด้วย ประหนึ่งจะเป็นการเพาะเมล็ดพันธ์ไว้ให้ท่านได้จาริกสั่งสอนและเผยแพร่ธรรมะไปทั่วโลกต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว (ขณะที่รวบรวมชีวประวัติของท่านอยู่นี้ เป็นปี พ.ศ. 2547 ด้วยวัย 76 ปีของท่าน ท่านอาชิน ชะนะกาภังสะ ก็ยังคงเปี่ยมด้วยเมตตาเดินทางเผยแพร่ธรรมะและสั่งสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปทั่วทุกทวีปถึง 28 ประเทศ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย)
ปัจจุบัน ณ ปี พ.ศ. 2555 ท่านมีอายุ 85 ปี






ก่อตั้งสำนักวิปัสสนา เชมเย เยกต้า
ในสายปฏิบัติ ท่าน อาชิน ชะนะกาภิวังสะ ได้ทำหน้าที่เป็น กัมมัฏฐานาจริยะ
ที่สำนัก มหาสี สาสนะ เยกต้า เป็นเวลา 5 ปี(พ.ศ. 2512-2517)
และที่สำนัก ยะทะโพน สาสนะ เยกต้า เมืองมัณฑเลย์ อีกหนึ่งปีครึ่ง(พ.ศ. 2517-2519)

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 ได้มีบุคคลหลายฝ่ายร่วมกันบริจาคที่ดินและทรัพย์ในการสร้างอาคาร ก่อตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแห่งใหม่ และนิมนต์ให้ท่าน อาชิน ชะนะกาภิวังสะ มาเป็นเจ้าสำนัก ท่านได้ตั้งชื่อศูนย์แห่งใหม่นี้ว่า สำนักวิปัสสนา เชมเย เยกต้า (เชมเย แปลว่า สงบ สันติ) นับแต่นั้นมาผู้คนจึงกล่าวขานถึงท่านด้วยตำแหน่งว่า ท่าน เชมเย สยาดอ ( เจ้าสำนัก เชมเย เยกต้า) ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ทั้งเป็นกัมมัฏฐานาจริยะในด้านปฏิบัติ และเป็นอาจารย์สอนปริยัติอีกด้วย

สำนักวิปัสสนา เชมเย เยกต้า มีชื่อเสียงกว้างขวางออกไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศพม่า และต่างประเทศ จึงได้มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ผู้มีจิตศรัทธาในนครย่างกุ้งและเมืองมอบีได้ร่วมกันบริจาคที่ดิน 15 เอเคอร์ท่ามกลางป่าโปร่ง สร้างเป็นสำนักวิปัสสนา สาขามอบี อันเงียบสงัด ร่มเย็น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่งขึ้น



ทุกวันนี้ ท่าน เชมเย สยาดอ อาชิน ชะนะกาภิวังสะ ปกครองดูแลสำนักวิปัสสนาเชมเย เยกต้า และสาขาต่างๆ ทั้งที่ มอบี, ปิน อู ลวิน(เมมิ้ว), เล เวย์, เมอ กาวง์, ฮิน ธาดา และ ตองยี อีกทั้งยังมีสำนักสาขาอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่เมือง แวนคูเวอร์ และ คาลการี่ ประเทศแคนาดา, อาฟริกาใต้ และประเทศไทย

ผลงานที่สำคัญยิ่ง
ในปี พ.ศ. 2497 ด้วยวัยเพียง 26 ปี ท่านได้รับเชิญจากองค์การพุทธศาสนาแห่งรัฐ ให้รับหน้าที่บาลีวิโสธกะ ในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 6
ปีพ.ศ. 2506 หลังจากเดินทางกลับจากกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา องค์การพุทธศาสนาแห่งรัฐได้เชิญให้ท่านพำนักที่ กบา เอ และทำหน้าที่บรรณาธิการในการพิมพ์ตำราพระบาลี ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เขียนคำนำ ยาวถึง 40 หน้า และเป็นผู้อ่านตรวจทานต้นฉบับหนังสือ “วิสุทธิมัคคมหาฎีกา นิสสยะ” ที่รจนาโดย ท่านปรมาจารย์ มหาสี สยาดอ

ขณะที่พระเดชพระคุณ พระอาจารย์ใหญ่ มหาสี สยาดอ อยู่ในระหว่างรับการผ่าตัดรักษาดวงตาอยู่นั้น ท่าน อาชิน ชะนะกาภิวังสะ ได้เขียนหนังสือ “วิสุทธิมัคค ในพม่า”(Visuddhimagga In Myanmar” ซึ่งเป็นการเขียนในนามของ ท่านอาจารย์ มหาสี สยาดอ



ในระหว่างปี พ.ศ. 2521-2523 ท่านมีรายการสนทนาธรรมทางวิทยุ ในรายการชื่อ “บรรลุสู่สันติสุขนิรันดรด้วยสัมมาทิฏฐิ” ตามคำขอของกระทรวงการศาสนา การสนทนานี้ได้มีการนำมาจัดพิมพ์รวมเล่มขึ้นในภายหลัง เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ท่านได้สร้างเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการเทศน์อันควรค่าแก่การจารึกไว้ โดย สมาคมชาวคริสเตียนแห่งกเล็มโยได้นิมนต์ให้ท่านเทศน์เรื่อง สันติภาพและความสุข การเทศน์กินเวลาต่อเนื่องถึง 3 วัน มีผู้เข้าฟังกว่า 6,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวคริสเตียน นับเป็นการเทศน์ที่ได้รับความสำเร็จควรค่าแก่การจดจำ ทั้งยังผลโน้มน้าวจูงใจท่านนายก อู มันกยิน แห่งกเล็มโย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ จนสนใจเข้าปฏิบัติวิปัสสนากกรรมฐานอย่างเข้มข้นภายใต้การดูแลสั่งสอนของท่าน หลังจากนั้น ได้กลับมานับถือพุทธศาสนาและบวชเป็นพระภิกษุอยู่ระยะหนึ่งด้วย ต่อมาภายหลังได้มีการรวบรวมบทความจากการเทศน์นี้จัดพิมพ์เป็นหนังสือออกมาแล้วกว่า 54,000 เล่ม

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2525 ท่านได้แสดงปาฐกถาที่วิหารชาวพุทธ นครลอนดอน เรื่อง อุปมาแห่งท่อนซุง (Parable of The Log) เป็นที่ไพเราะจับใจ จึงได้มีการนำบันทึกการแสดงธรรมครั้งนั้นมาตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Buddhist Forum ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์อีกหลายครั้ง และมีการแปลเป็นหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย

ในปี พ.ศ. 2525-2526 ท่านได้รับเชิญให้ไปปาฐกถาธรรมที่มหาวิทยาลัย 2 แห่งในสหรัฐอเมริกา อันได้แก่ มหาวิทยาลัย Western Illinois ในปี พ.ศ. 2525 และที่มหาวิทยาลัย ฮาวาย ในปี พ.ศ. 2526



ท่านเชมเย สยาดอ อาชิน ชะนะกาภิวังสะ เริ่มเดินทางเข้ามาเผยแพร่ธรรมะและสั่งสอนอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวมหาสี ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2534 และยังคงมีเมตตาเดินทางมาสอนอย่างต่อเนื่องปีละครั้งทุกปีจนถึงปัจจุบัน

ตำแหน่งและเกียรติประวัติ ด้วยผลงานมากมายเกินคำบรรยายที่ท่านเชมเย สยาดอ อาชิน ชะนะกาภิวังสะ ได้ทุ่มเทเพื่องานเผยแพร่ธรรมะมาโดยตลอด จึงได้มีการถวายตำแหน่งอันทรงเกียรติให้ท่านมากมาย อาทิ ในปีพ.ศ.2537 ได้ถวายตำแหน่ง Agga-Maha-Saddhamma Jotikadhaja (แปลว่า ปรมาจารย์แห่งแสงธรรม)
และปี พ.ศ. 2538 ได้ถวายตำแหน่ง อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ (แปลว่า ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญงานกัมมัฏฐาน)


ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและกตเวทิตาคุณต่อท่านที่ได้ทุ่มเททำงานเผยแพร่พุทธธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยตลอดมา
นอกจากจะเป็นบรมครู ผู้เชี่ยวชาญยิ่งในการอบรมวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ท่านยังมีชื่อเสียงในการสอน เมตตาภาวนา อีกด้วย ท่านได้ประยุกต์การเจริญกรรมฐานทั้งแบบสมถะและวิปัสสนา เข้าด้วยกัน ฃ่วยให้กายผ่อนคลาย ใจสงบ กระจ่างใส สมาธิก้าวหน้าไว เกิดปัญญาญาณเป็นที่น่าพึงพอใจ

ท่านดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยเมตตาเป็นแบบอย่างแก่ศิษย์ตลอดมา ท่านจาริกไปทั่วประเทศพม่า ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ แม้จะกันดารยากลำบากเพียงใดก็ตาม ทั้งยังเมตตาขยายสำนักของเชมเย ยิกต้า ทั้งที่เมือง ฮินตะดา ตองยี แลเว ตะมู เปียน อูลวิน และมอบี รวม 7 สำนัก ทุกแห่งสร้างขึ้นบนผืนดินที่ศิษยานุศิษย์ถวายทั้งสิ้น



ในต่างประเทศ กว่า 30 ปี ท่านอาจารย์จาริกธรรมยาตราแล้วกว่า 40 ครั้ง ในกว่า 30 ประเทศ ทุกทวีปทั่วโลก เปิดการอบรมในต่างประเทศกว่า 200 ครั้ง

ในปี พ.ศ. 2534 ศิษย์ชาวไทยที่เคยอบรมกับท่านที่ประเทศพม่าได้อาราธนานิมนต์ท่านมาสอนในเมืองไทยครั้งแรก โดยมีกรรมการบริหารและวิทยากรของยุวพุทธิกสมาคม เข้าร่วมอบรมด้วย และท่านได้เมตตามาเปิดการอบรมที่ยุวพุทธิกสมาคม ปีละ 15 วัน ทุกปีมิได้ขาด ท่านยังเมตตาไปสอนชาวเชียงใหม่ที่บ้านพพอ อำเภอแม่ริม และมูลนิธิศูนย์วิปัสสนา จังหวัดเชียงใหม่ อยู่หลายครั้ง ที่จังหวัดภูเก็ต ท่านเปิดการอบรมที่วัดสัฏฐิสนาราม และศูนย์ปฎินิสสัคโค ปีละครั้งจนถึง พ.ศ. 2543 ที่จังหวัดชลบุรี ท่านรับนิมนต์จากพระมหาทองมั่น สุทธจิตโต ไปเปิดวิปัสสนากรรมฐานที่วิเวกอาศรม 2 ปี ติดกัน ในปี พ.ศ. 2540 ได้มีผู้น้อมถวายสถานที่ในจังหวัดนครปฐมให้ก่อตั้งเป็นสำนักสาขาในเมืองไทย ชื่อว่าสำนักวิปัสสนากรรมฐานธัมโมทยะ



แม้ภาระจะหนักแสนหนัก ท่านอาจารย์ยังคงสงบเบิกบาน อิ่มเอิบด้วยเมตตา ความรักธรรมชาติ อ่อนโยนต่อทุกสรรพชีวิต เป็นภาพที่คุ้นตาของศิษยานุศิษย์เสมอมา บ่งบอกถึงจิตอันเป็นอิสระจากห้วงกิเลศที่เป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์ เป็นความพิสุทธิ์สูงส่ง ดุจประทีปส่องทางที่ศฺษญ์ทุกคนพึงน้อมไว้เป็นแบบอย่างแห่งชีวิต ดังสมณศักดิ์ที่รัฐบาลพม่าน้อมถวายไว้ว่า " พระชนกาภิวงศ์ อัครมหาสัทธัมมโชติกะธชะ " ซึ่งแปลว่า "ปรมาจารย์ผู้เป็นธงชัยแห่งแสงธรรม"

ที่มาของข้อมูล
http://bhaddanta.blogspot.com/2005/09/3_112746913639980816.html โดยพระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต
หนังสือสนทนาธรรม กับพระอาจารย์เชมเย สยาดอ จากนิตยสารประเทศสิงคโปร์ แปลโดย คุณพรกนก วิภูษณวรรณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น