โรงเรียนมูล สามัญ อันศึกษา
ปีสองสี่สามห้า คราเริ่มต้น
อยู่ศาลา อาราม นามสายชล
วัดแหลมบน เบื้อง ณ. ฉะเชิงเทรา
พระดำริ ตริตรอง ของผ่านฟ้า
พระมหาธิราชคุณ จุลจอมเกล้า
ลูกหลานไทย ได้รับ นับเนื่องเนา
ไม่โง่เขลา เท่ากัน อันหญิงชาย
เกิดมณฑล เทศา ปราจีนสร้าง
เมืองกึ่งกลาง ทางรถไฟ ใช้ขนถ่าย
ราชการ งานเมือง มีมากมาย
โปรดให้ย้าย อยู่เมืองฉะ นะเป็นคุณ
แผนอังกฤษ คิดดี สี่ระดับ
การเรียนรับ ปรับปรุง มุ่งเกื้อหนุน
มูล ประถม มัธยม อุดมดรุณ
สายชลรุ่น ประจำเมือง ฟุ้งเฟื่องจริง
ปีสองสี่สี่หก ยกฐานะ
ได้จังหวะ วางตัวอย่าง ช่างดียิ่ง
โรงเรียนหลวง มณฑลนี้ ที่อ้างอิง
นับเป็นสิ่ง เสริมสร้าง ช่างภูมิใจ
พระปัญญา ครูมั่ง ทั้งครูต่ำ
สอนประจำ จนเพรียก เรียกนามใหม่
อาณัตยาคม ค่าเกริกไกร
ใช้สอบไล่ ประถมชั้น อันรอบราย
วัดสายชล ณรังษี หลายปีผ่าน
ธรรมการ กระทรวงใหม่ ให้ผันผาย
มาวัดเมือง เหมาะชุมชน คนมากมาย
แล้วขยาย มัธยม สมมีครู
เดิมพระสงฆ์ สอนสั่ง ครั้งเริ่มแรก
ครูใหญ่แปลก เปลี่ยนส่ง ตรงมาอยู่
กรมขุนมรุพงษ์ ทรงชื่นชู
ย่างเข้าสู่ สร้างเสริม เพิ่มอาคาร
นามโรงเรียน เปลี่ยนใหม่ ให้เลิศหรู
“เบญจมราชูทิศ” ประดิษฐาน
มงกุฎเกล้า เจ้าภพ พระราชทาน
แล้วสืบสาน สร้างหลังใหม่ ไกลจากเดิม
พระราชทาน ขานใหม่ ไม่เรียกเก่า
“ฉะเชิงเทรารังสฤษฏิ์ “ ติดเฉลิม
สองโรงเรียน โทรมทรุด ชำรุดเติม
จึงริเริ่ม รวมรวบ ควบสองเลย
“เบญจมฉะเชิงเทรา” เขาสร้างใหม่
ชื่อส่งไป ให้เห็นชอบ ตอบเฉลย
“เบญจมราชรังสฤษฏิ์” เอย
นามอ้างเอ่ย เผยประวัติ ชัดเพริดพราย
โรงเรียนเก่า เลิกยุบ และโยกย้าย
ไปอยู่ค่าย ศรีโสธร ก่อนสมหมาย
ที่เล่าเรียน เรือนนอน ทหารชาย
กว่าคลี่คลาย ย้ายกลับ นับขวบปี
สร้างสำเร็จ เสร็จสิ้น แถวถิ่นใกล้
ได้ก้าวไกล สองสี่เก้าหกนี่
มัธยมวิสามัญประสมมี
แห่งแรกนี้ สี่แผนก แปลกกว่าใคร
แผนกหนึ่ง วิสามัญ นั้นไม่ต่าง
แผนกช่าง พาณิชย์ คิดแผนใหม่
การเกษตร เขตของ ครรลองไทย
องค์การให้ ผู้เชี่ยวชาญ งานปรับปรุง
สองพันห้าร้อยหนึ่ง จึงเปลี่ยนปรับ
เพิ่มระดับ รับอุดม ด้วยหมายมุ่ง
วิทยาศาสตร์ เสริมเติม เพิ่มผดุง
ชื่อเสียงฟุ้ง รุ่งเรือง ประเทืองจริง
เป็นสหศึกษา นารีรับ
หากเมื่อนับ น้อยนิด ศิษย์ผู้หญิง
ยังแปลกอยู่ หมู่ชาย คล้ายประวิง
คงเกรงกริ่ง กว่าคุ้น ลุ้นกันนาน
แผนการเรียน เปลี่ยนปรับ รับของใหม่
ก่อนจะได้ ดังเห็น เป็นที่ขาน
เรียนแผนเก่า เล่าถึง ซึ่งโบราณ
ทันเหตุการณ์ ผ่านมา น่าชมเชย
เบญจม วาระรุก ทุกกระแส
แต่แน่วแน่ นำศิษย์ คิดแผ่เผย
คุณธรรม คู่วิชา หาละเลย
แม้นเปรียบเปรย เป็นหนึ่ง ซึ่งศิษย์ดี
ยี่สิบเจ็ด ครูใหญ่ ได้ย้ายสู่
หลายร้อยครู หลายหมื่นศิษย์ สร้างศักดิ์ศรี
พระเกี้ยวบน บ.ฉ.ห้า สง่าที
พระภูมี จุลจอมเกล้า เจ้าแผ่นดิน
น้ำเงินเหลือง เรืองไร ในทุกด้าน
สอบเอนทรานซ์ การกีฬา พาเลิศสิ้น
ดุริยางค์ ดนตรีไทย ไกลระบิล
ขยายถิ่น ห้าสาขา น่านิยม
ร้อยยี่สิบปีผ่าน กาลสืบต่อ
ศิษย์ล้วนก่อ เกียรติยศ ปรากฏสม
รับใช้ชาติ ชื่นชู น่าชื่นชม
ตอบสังคม คืนกลับ นับเนื่องมา
สองพันห้าร้อยสี่ ที่ศิษย์เก่า
รวมตัวเข้า สมาคม นิยมค่า
อาจารย์สุบิน เริ่มต้น จนถึงครา
ท่านเชษฐา นายกล้วน ควรคู่จริง
มุ่งประสาน งานโรงเรียน เพียรเสริมสร้าง
เด่นสล้าง ล้ำหน้า สง่ายิ่ง
เป็นรุ่นพี่ ที่ให้ ได้พึ่งพิง
ทำแต่สิ่ง ประเสริฐ เกิดผลไกล
สมาคม ศิษย์เก่า เขาจัดใหม่
เรียงรุ่นไว้ วางลำดับ จับกลุ่มให้
ชื่อสายชล ชวนนึก ระลึกไป
เติบโตได้ ด้วยสายชล จนสืบมา
สายชลหนึ่ง ถึงห้า มาเริ่มยุค
ควรคิดรุก ร่วมสืบ สอดส่องหา
ศิษย์เก่าพร้อม พี่น้อง ผองเพื่อนยา
ได้เวลา สถาบัน นั้นรอคอย
เชิญเหล่าศิษย์ คิดถึง ซึ่งวันก่อน
เพื่อร่วมย้อน ยามเยาว์ เราสักหน่อย
ปีเดือนวัน นั้นเคลื่อน คล้อยเลื่อนลอย
ช้าจะพลอย พลาดไป ในชีวี
มาสร้างสรรค์ สิ่งดี กับพี่น้อง
พาเพื่อนพ้อง พร้อมหน้า อย่าหน่ายหนี
ร่วมวาระ เบญจม กตเวที
เสริมศักดิ์ศรี สืบสาน งานโรงเรียน .......
โดย ... พลอยโพยม สายชล 5 ( ศิษย์เก่ารุ่นที่ 79 )
ผดุง : [ผะดุง] ก. ประดุง, คํ้า, คํ้าจุน, ระวัง, อุดหนุน.
เรืองไร : ว. มีแสงสุกสว่างเหมือนทอง
ระบิล : น. เรื่อง, ความ, ฉบับ, อย่าง.
วัดเมือง คือวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
อาจารย์สุบิน หมายถึง อาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์
ท่านเชษฐา หมายถึงพลเอกเชษฐา ฐานะจาโร
โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
ตราประจำโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์
พระเกี้ยว เป็นตราพระเกี้ยวซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ 5 ใต้ตราพระเกี้ยวเป็นวงกลมด้านในมีอักษรย่อ บ.ฉ. ด้านล่างเป็นแถบแพรมีข้อความว่า เบญจมราชรังสฤษฎิ์ ฉะเชิงเทรา
สีประจำโรงเรียน คือ “สีน้ำเงินและสีเหลือง”
พุทธศาสนสุภาษิตประจำโรงเรียน“สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี” ความหมายคือ ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ นำมาซึ่งความสุข
ประวัติโรงเรียน
ช่วงที่1 พ.ศ. 2435 – พ.ศ.2449 (ที่วัดสายชล ณ รังษี)
การศึกษาของประชาชนชาวไทยในสมัยก่อนไม่มีแบบแผนที่แน่นอน ต้องอาศัยวัดเป็นแหล่งหลักในการให้การศึกษาโดยจะมีพระเถระผู้ทรงคุณความรู้ด้านการอ่านเขียน และอบรมสั่งสอนด้านคุณธรรมจริยธรรม ชาวบ้านจึงมักนำบุตรหลานมาบรรพชาฝากไว้เป็นศิษย์ ให้คอยปรนนิบัติรับใช้อาจารย์ และใช้เวลาว่างในการหัดอ่านหัดเขียนตามที่อาจารย์ท่านสั่งหรือต่อหนังสือให้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรกที่วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ.2427
ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศตั้ง “โรงเรียนมูลสามัญศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2435 ครูผู้สอนในสมัยนั้น ได้แก่พระภิกษุที่อยู่ในวัดและจัดสอนตามหลักสูตรสามัญ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือโรงเรียนมูลสามัญชั้นต่ำ และโรงเรียนมูลสามัญชั้นสูง ในระยะแรกให้อาจารย์ผู้สอนจัดเก็บค่าธรรมเนียมเอง ดังข้อความสำคัญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 9 ร.ศ. 111 (2435) หน้า 93-95 ตอนหนึ่ง ความว่า
“บรรดาอารามหลวง และวัดราษฎรทั้งในกรุงแลหัวเมือง ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่ในพระอารามและมีศิษย์ซึ่งชาวบ้านมาฝากไว้ในอารามแลวัดนั้นแล้ว ให้เจ้าอาวาศแลเจ้าอธิการเป็นภาระ ที่จัดการให้พระสงฆ์ให้พระสงฆ์สอนศิษย์ในวัด จะแบ่งเป็นกี่คณะกี่หมู่ก็ตาม ถ้าอาจาริยสอนศิษย์ตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ถึง 30 คน ให้นับเป็นโรงเรียน มูลสามัญขั้นต่ำโรงหนึ่ง จะเนียกชื่อโรงเรียนตามนามอาจารย์ในวัด ก็ได้...”
ตอนท้ายของประกาศยังเน้นชัดอีกว่า “บรรดาโรงเรียนซึ่งตั้งในพระอารามแลวัดต่าง ๆ ประกาศนี้ ถ้าสอนตามแบบเรียนหลวงแล้ว ให้นับเป็นโรงเรียนหลวงทั้งสิ้น” จากประกาศฉบับนี้มีผลทำการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย
วัดสายชล
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น แสดงว่าหลังประกาศตั้งโรงเรียนมูลสามัญศึกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2435 แล้ว การศึกษาที่วัดสายชลฯ จึงมีฐานะโรงเรียนมูลสามัญศึกษาโรงเรียนหนึ่งของเมืองฉะเชิงเทรา ในชื่อแรกคงใช้ชื่อโรงเรียนตามชื่อวัด โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนเปิดสอนทั้งชั้นมูลและชั้นประถม หรือกล่าวได้ว่า โรงเรียนวัดสายชล ณรังษี (แหลมบน) เป็นโรงเรียนหลวงของเมืองฉะเชิงเทรา
มีผู้ส่งบุตรหลานให้เข้ารับการศึกษามากขึ้น จึงต้องขยายที่เรียนให้เพียงพอแก่นักเรียน จึงใช้โรงทึมที่หลวงอาณัติจีนประชาสร้างขึ้นเพื่อบำเพ็ญกุศลศพของวิสูตรจีนชาติแล้วถวายให้วัดเมื่อ พ.ศ.2438
(ทีม (๑) โรงสำหรับตั้งศพ เรียกว่าโรงทีม)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดแบ่งหัวเมืองออกเป็นมณฑล (มณฑลเทศาภิบาล) และได้จัดตั้งมณฑลปราจีนขึ้นในปี 2437
วันที่ 8 มกราคม 2445 ทรงย้าย มณฑลปราจีนบุรี มาตั้งที่“เมืองฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีราชการมากกว่าเมืองอื่น ๆ ทั้งยังมีทางรถไฟ และเป็นเมืองท่ามกลางมณฑล เพื่อความสะดวกแก่การปกครองและการบังคับบัญชา
ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดการการศึกษาให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วทั้งประเทศ กระทรวงธรรมการได้จีด“โครงการจัดการการศึกษาตามแบบอย่างอังกฤษ พ.ศ.2441” แบ่งการศึกษาเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ชั้นมูล ชั้นประถม ชั้นมัธยม และอุดมศึกษา และจัดการศึกษาในโรงเรียนเพื่อให้เป็นแบบอย่างเฉพาะในเมืองที่เป็นที่ตั้งมณฑลขึ้นก่อน
โรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) ได้รับเลือกและยกฐานะขึ้นเป็นโรงเรียนรัฐบาลตัวอย่างประจำมณฑลปราจีน เมื่อปี พ.ศ. 2446 แบ่งนักเรียนตามประเภทความรู้ได้ 2 ระดับ คือชั้นมูลและชั้นประถม แต่ยังคงเรียนรวมกันอยู่ บนศาลาการเปรียญของวัด
เมื่อกระทรวงธรรมการส่งครูมาให้ 2 คน คือ ครูมั่ง พระปัญญา และครูต่ำ (ไม่ทราบนามสกุล) จึงได้แยกนักเรียนชั้นประถมลงมาที่โรงทึม แล้วขนานนามโรงเรียนวัดสายชลฯ เสียใหม่ว่า “โรงเรียนอาณัตยาคม”โดยชื่อสกุลของพระวิสูตรจีนชาติ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าสกุลสืบ
นับว่าโรงเรียนวัดสายชล ณ รังษี (แหลมบน) เป็นโรงเรียนที่เป็นรากฐานอันสำคัญอย่างยิ่งของเมืองฉะเชิงเทรา
หลังจากเปิดทำการสอนได้ 2 ปี โรงเรียนอาณัตยาคมกลายเป็นสนามสอบไล่ตามคำสั่งของท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศร เจ้าอาวาสวัดบางยี่เรือใต้คลองบางกอกใหญ่ ธนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าคณะมณฑลปราจีนบุรีด้วย ได้มีคำสั่งให้ครูโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มาสมทบสอบไล่ที่โรงเรียนอาณัตยาคม และท่านเจ้าคุณทักษิณคณิศรได้พาข้าหลวงและพนักงานสอบไล่มาทำการสอบเมื่อเดือนพฤษภาคมพ.ศ.2488 โดยมีหลวงบำนาญวรญาณเป็นหัวหน้าคณะสอบ โรงเรียนที่มาสอบไล่ดังนี้
• โรงเรียนเทพพิทยาคม วัดเทพนิมิตร
• โรงเรียนอุคมพิทยา วัดสมาน
• โรงเรียนดรุณพิทยาคาร วัดแหลมล่าง
• โรงเรียนอาณัตยาคม วัดสายชล ณ รังษี
แม้จะเปิดทำการสอน แต่อยู่ได้ไม่นานนักก็จำเป็นต้องย้ายด้วยอุปสรรคทางด้านการคมนาคม
ช่วงที่ 2 พ.ศ. 2450-พ.ศ.2480 (ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)
วัดเมือง
พ.ศ.2449 ทางราชการกำหนดให้มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯถึงฉะเชิงเทรา จึงมีการจัดวางผังเมืองให้รับกับความเจริญ ด้วยเหตุที่กล่าวทำให้ตัวเมืองเป็นย่านชุมชนมากกว่าที่วัดสายชล ณ รังษี กระทรวงธรรมการจึงมีคำสั่งให้ย้ายโรงเรียนประจำมณฑลปราจีน มาอยู่ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เมื่อ พ.ศ. 2450 โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เรียน และครูที่กระทรวงธรรมการส่งให้ไปประจำที่โรงเรียนอาณัตยาคม คือครูมั่ง พระปัญญา ก็มีคำสั่งให้ย้ายมาด้วย เมื่อโรงเรียนประจำมณฑลย้ายมาที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์นักเรียนส่วนหนึ่งย้ายตามมา บางส่วนยังเรียนที่เดิม
และได้มีการขยายชั้นเรียนเพิ่มขึ้นมีชั้นมัธยม โรงเรียนได้ชื่อตามวัดคือโรงเรียนปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ และมีครูแปลก เป็นครูใหญ่คนแรกที่กระทรวงธรรมการส่งมา
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ขุนวิธานดรุณกิจ เป็นผู้หาเงินสร้างโรงเรียนใหม่ ด้วยการบอกบุญเรี่ยไรบรรดาข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนในจังหวัด แต่ก็ยังไม่พอเพียงแก่การสร้างอาคารเรียน จึงโปรดอนุญาตประทานเงินที่เหลือจากการทำสังเค็ด ( ของที่ถวายแก่พระสงฆ์เมื่อเวลาปลงศพ) เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช สองพันเก้าร้อยบาทเศษ และเงินของพระอธิการแก้ว เจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (เวลามรณภาพแล้ว) ซึ่งเป็นเงินสงฆ์อีก สองพันแปดร้อยบาทเศษ ในการนี้เสด็จในกรม (กรมขุนมรุพงษ์ ฯ) ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์เข้าร่วมสมทบเพิ่มเติม
ใน พ.ศ. 2456 อาคารเรียนหลังนี้จึงสำเร็จเรียบร้อย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี
เสด็จในกรม (กรมขุนมรุพงษ์ ฯ ) จึงแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการ เพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลพระราชกรุณาขอพระราชทานนามโรงเรียนหลังนี้ และในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2456 กระทรวงธรรมการแจ้งกลับมาว่า ได้นำความกราบขึ้งบังคมทูลแล้ว พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนว่า “เบญจมราชูทิศ” ทางโรงเรียนได้ทำพิธีเปิดป้ายนามโรงเรียนไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2456 ใช้เป็นสถานที่เรียนสืบมา
โรงเรียนเบญจมราชูทิศมีสถานที่ไม่เพียงพอแก่การรับนักเรียนที่ทวีมากขึ้นแม้ว่าจะมีโรงเรียนอยู่ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ท่านธรรมการมณฑลจึงมีความดำริว่า จะต้องสร้างโรงเรียนเพิ่มขึ้นอีกหลังหนึ่ง
ม.จ.ธำรงศิริ ศรีธวัช (สมุหเทศาภิบาล) ในขณะนั้น ทรงดำเนินการก่อสร้าง (ในเนื้อที่ทางด้านตะวันออกของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ คือสนามฟุตบอลของโรงเรียนในปัจจุบัน) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2462 แล้วเสร็จ เปิดเป็นอาคารเรียนได้เมื่อเดือน ตุลาคม พ.ศ.2463
ม.จ.ธำรงศิริ ศรีธวัช จึงแจ้งไปยังกระทรวงธรรมการเพื่อนำความกราบขึ้นบังคมทูลขอพระทานนามโรงเรียน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “ฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์” จึงได้จัดงานพิธีฉลองอาคารใหม่ โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาชักแพรเปิดป้าย
พ.ศ. 2478 ขณะที่หลวงอาจวิชาสรร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และรั้งตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาธิการด้วย ได้ปรึกษาปัญหากับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด ว่าทั้งโรงเรียนเบญจมราชูทิศและโรงเรียนฉะเชิงเทรารังสฤษฎิ์ สร้างมานานปีชำรุดทรุดโทรมลงมาก นักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สภาพอาคารขาดความมั่นคงแข็งแรง ควรจะยุบโรงเรียนสองหลังแล้วปลูกสร้างขึ้นใหม่ในที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมชื่อโรงเรียนทั้งสองหลังตั้งเป็นชื่อใหม่ว่า “เบญจมฉะเชิงเทรา” ได้เสนอความดำรินี้ไปยังกระทรวงธรรมการ ได้รับความเห็นชอบ แต่นามโรงเรียนที่เสนอไปนั้น ให้นามใหม่ว่า " เบญจมราชรังสฤษฎิ์" โดยใช้นามเดิมของโรงเรียนเก่าทั้งสองรวมกัน
โรงเรียน“เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา
ช่วงที่ 3 พ.ศ.2480 จนถึงปัจจุบัน
วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2479 ทางราชการมีคำสั่งย้ายหลวงอาจวิชาสรร ไปดำรงตำแหน่งเลขานุการกรมการศาสนา และแต่งตั้งนายศิริพล (ย้อย) วรสินธุ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่แทน จึงเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ต่อจากโครงการเดิมร่วมกับนายสุบิน พิมพยะจันทร์ ธรรมการจังหวัด โดยรื้อโรงเรียนทั้งสองหลังลงเมื่อ พ.ศ.2480 เพื่อนำวัสดุเก่าที่ใช้ได้ มีเสา พื้น ฝา และกระเบื้อง เป็นต้นไปก่อสร้างร่วมกับโรงเรียนหลังใหม่
ในระหว่างที่ไม่มีอาคารเรียนนั้น คณะครู 13 คน และนักเรียน 310 คน ได้รับเมตตาจิตจาก ร.อ.หลวงกำจัดไพริน ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 2 (ค่ายศรีโสธร) ให้ยืมเรือนนอนทหาร 1 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาจนตลอดปีการศึกษา 2481 และ กลับมายังอาคารเรียนหลังใหม่ในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม พ.ศ.2481
พล.ร.ร.หลวงสินธุ์สงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้มาเป็นประธานพิธีชักแพรเปิดป้ายนามโรงเรียน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2482 ในปี พ.ศ. 2494 เปลี่ยนชื่อจากเดิมเป็น โรงเรียนประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา “เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา
ปี พ.ศ. 2496 เป็นโรงเรียนหนึ่งที่อยู่ในข่ายปรับปรุงขององค์การส่งเสริมการศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา มีแผนกเรียนจัดไว้เป็นวิชาเลือก แยกเรียน 4 แผนก คือแผนกวิสามัญ (แผนกหนังสือ) แผนกช่าง แผนกพาณิชย์ และแผนกเกษตร โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศประจำองค์การฯ ชื่อ ดร.ออสเซี่ยน ฟล้อค (Dr. Ossian Flock) คอยให้ความช่วยเหลือและแนะนำอยู่เสมอ เรียกกันในสมัยนั้นว่าโรงเรียนมัธยมวิสามัญแบบประสม (Comprehensive High School) นับเป็นโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการปรับปรุงทางด้านการศึกษา
ต้นปีการศึกษา 2501 ได้เปิดสอนระดับเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์เป็นแบบสหศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมเป็น โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ สืบมาจนปัจจุบันนี้
ปีการศึกษา 2511 เข้าโครงการโรงเรียนมัธยมแบบประสม (ค.ม.ส.) รุ่นที่ 2 เป็นโรงเรียนที่ 7 ของโครงการใช้หลักสูตร ค.ม.ส. ในระดับมศ.ต้น
ปีการศึกษา 2515 เริ่มใช้หลักสูตร ค.ม.ส.ในระดับ มศ.ปลาย แผนกทั่วไปและเริ่มเปิดรับนักเรียนเป็นสหศึกษา ตั้งแต่ชั้น มศ.1 เป็นต้นมา
ปีการศึกษา 2518 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษา ตอนปลาย พ.ศ.2518 ในชั้น มศ.4
ปีการศึกษา 2521 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ.2521 ในชั้นม.1
ปีการศึกษา 2524 เริ่มใช้หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2524 ในชั้น ม.4
งาน คืนสู่เหย้า 119 ปี เบญจม ฯ
จวบจนวันนี้ โรงเรียน“เบญจมราชรังสฤษฎิ์” จังหวัดฉะเชิงเทรา ครบวาระ 120 ปี สมาคมศิษย์เก่าและโรง้รียนได้มีการเรียงลำดับรุ่นศิษย์เก่า และจัดกลุ่มศิษย์เก่่าใหม่โดยใช้เลขท้ายของรุ่นมาจัด เช่น ลงท้ายรุ่นด้วยเลข 0 คู่กับ ลงท้ายรุ่นด้วยเลข 9 เป็นต้น จึงจัดได้เป็น 5 กลุุ่ม โดยใช้นามกลุ่ม ว่า สายชล 1-5 เพื่อย้อนรำลึกถึงประวัติความเป็นมาของโรงเรียน การจัดกลุ่มก็เพื่อความสะดวกในการติดต่อประสานงานของบรรดาศิษย์เก่าในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของรุ่น และการเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงของโรงเรียน
อาจารย์สุบิน พิมพยะจันทร์ นายกสมาคมศิษย์เก่า คนแรกของโรงเรียน
พลตรี ศิริ สัริโยธิน
ดร.โกวิท วรพิพัฒน์
พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 30
สมภพ เบญจาธิกุล นักแสดง
อุเทน พรมแดง นักเขียน
ทรงชัย รัตนสุบรรณ
รุ่งเรือง อนันตยะ นักแสดง
อำนวย สุนทรโชติ นักเคลื่อนไหวด้านการศึกษา
ธนพล นิ่มทัยสุข นักแสดง
ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล อธิการบดีจุฬาฯ และรัฐมนตรี หลายสมัย
ศาสตราจารย์ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ศาสตราจารย์สาขาวิจัยการศึกษา ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมิณคุณภาพการศึกษา
โรงเรียนที่ใช้นามว่าเบญจมราชรังสฤษฎิ์
เบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบญจมราชรังสฤษฎิ์2 (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
เบญจมราชรังสฤษฎิ์3 ชนะสงสารวิทยา (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
เบญจมราชรังสฤษฎิ์4 (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
เบญจมราชรังสฤษฎิ์5 (จังหวัดฉะเชิงเทรา)
มาสร้างสรรค์ สิ่งดี กับพี่น้อง
พาเพื่อนพ้อง พร้อมหน้า อย่าหน่ายหนี
ร่วมวาระ เบญจม กตเวที
เสริมศักดิ์ศรี สืบสาน งานโรงเรียน .......
ขอขอบคุณภาพจาก
http://www.brr.ac.th
http://www.vcharkarn.com/vcafe/194387 ภาพของคุณ นิรันดร์ เจริญกูล เพื่อนรุ่น 79 (สายชล5)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น